ธุรกิจ : บริษัท นำง่ายฮง จำกัด และ บริษัท นำง่ายฮง อุตสาหกรรม จำกัด
ประเภทธุรกิจ : ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องใช้พลาสติกในครัวเรือน
ปีก่อตั้ง : ค.ศ. 1961
อายุ : 60 ปี
ผู้ก่อตั้ง : สิน นำศิริวิวัฒน์
ทายาทรุ่นสอง : พรเจษฎ์ นำศิริวิวัฒน์, ชุลีพร นำศิริวิวัฒน์, พิจักษณ์ นำศิริวิวัฒน์, เอกศักดิ์ นำศิริวิวัฒน์ และเจตภูมิ นำศิริวิวัฒน์
ทายาทรุ่นสาม : ณัฐหทัย นำศิริวิวัฒน์, อนันตชัย นำศิริวิวัฒน์, พีรดนย์ นำศิริวิวัฒน์, พิไลภรณ์ นำศิริวิวัฒน์, เจตนิพิฐ นำศิริวิวัฒน์ และ กฤติมา นำศิริวิวัฒน์ แบรนด์ boxbox และ Nameco
‘นำง่ายฮง’ คือธุรกิจผลิตพลาสติกที่ครองตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือนไทยมา 60 ปี เริ่มจากโรงงานเล็กๆ ในบ้านของอากงผู้ย้ายถิ่นฐานมาจากจีนแผ่นดินใหญ่ สินค้ามีทุกอย่างที่เราจะคิดออก เริ่มตั้งแต่หวี ขัน จาน ชาม แก้วน้ำ และกระป๋องขนาดเล็ก สู่กะละมังและถังใบใหญ่
พลาสติกสีสันสดใสและคุณภาพทนทานแบบ ‘ใช้จนลืม’ คือจุดแข็ง และเป็นจุดขายที่ทำให้นำง่ายฮงแตกต่างและโดดเด่นที่สุดในตลาด ณ ตอนนั้น
ยอดขายกึ่งหนึ่งคือการขายสินค้าของตัวเอง อีกกึ่งคือรับทำ OEM ให้บริษัทญี่ปุ่น จนถึงจุดที่ฐานการผลิตโยกย้ายออกนอกประเทศ พร้อมๆ กับทายาทรุ่นสามที่เริ่มทยอยเข้ามาบริหารงานอย่างเต็มตัว เพื่อพบว่าผู้ใช้งานจริง (End User) ไม่เคยรู้จักชื่อ นำง่ายฮง มาก่อน
ทายาทรุ่นนี้เริ่มจากการสร้างแบรนด์ boxbox เป็นอันดับแรก โดยมีคอนเซ็ปต์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนปัจจุบัน สินค้าชูโรงคือกล่องรองเท้าใสที่วันนี้มีใช้กันเกือบทุกครัวเรือน และมีหลายแบรนด์ออกสินค้าคล้ายๆ กัน boxbox ประสบความสำเร็จจนได้ส่งออกไปยัง 40 ประเทศ
ผ่านมาเกือบ 20 ปี นำง่ายฮงปรับตัวอีกครั้งเมื่อมีการรณรงค์เรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เป็นแบรนด์น้องใหม่ Nameco เครื่องใช้ในบ้านที่ลดใช้พลาสติกในการผลิต และพลาสติกสามารถย่อยสลายได้ เพื่อแสดงจุดยืนในฐานะโรงงานพลาสติกที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และความต้องการที่จะผลิตสินค้าคุณภาพให้เป็นอีกตัวเลือกหนึ่งในตลาด
ณ วันนี้ นำง่ายฮง boxbox และ Nameco เติบโตเป็นเส้นคู่ขนานไปพร้อมๆ กัน บนความคิด หลักการ และจิตใจตั้งมั่นแน่วแน่ ที่อยากผลิตสินค้าพลาสติกคุณภาพดีด้วยความซื่อสัตย์ไปตลอดชีวิต
‘สิ่งไหนมีคนใช้ ฉันจะทำ’
สิน นำศิริวิวัฒน์ หรือ อากง เดินทางมาไทยจากจีนแผ่นดินใหญ่ใน ค.ศ. 1961 เขาต้องการทำประโยชน์ให้ประเทศที่เป็นทั้งบ้านและที่ทำมาหากิน และการทำประโยชน์ในฐานะพ่อค้าคนหนึ่ง คือการผลิตบางอย่างให้คนไทยใช้ในทุกครัวเรือน อากงเห็นว่าธุรกิจพลาสติกกำลังจะเติบโตและยังมีช่องว่างในตลาดอยู่

สมัยนั้น อากงอาศัยอยู่บริเวณวัดทองนพคุณ ย่านคลองสาน ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานแห่งแรก โรงงานของเขาไม่เหมือนภาพจำของโรงงานในอุดมคติที่มีหลังคาสูง พื้นที่กว้าง และเต็มไปด้วยเครื่องจักรหน้าตาทันสมัย แต่เป็นอาคารขนาดเล็กๆ กับเครื่องจักรระบบ Manual แค่หนึ่งถึงสองเครื่อง
วิธีการผลิตพลาสติกในยุคแรกเริ่มจากเทเม็ดพลาสติกลงไปในเครื่องจักร เครื่องจะทำการบีบอัดเม็ดโดยใช้ความร้อน จนออกมาเป็นชิ้นงานตามลักษณะของแม่พิมพ์
อันต่ออัน อันต่ออัน บนวิสัยทัศน์ของอากงที่ว่า ‘สิ่งไหนมีคนใช้ ฉันจะทำ’
อากงเริ่มจากของใช้ชิ้นเล็กๆ อาทิ กระปุก กระป๋อง ขันน้ำ ถ้วยน้ำ และหวี ค่อยๆ ขยายกลุ่มลูกค้าจากผู้ใช้งานทั่วไป เป็นรับจ้างโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้พลาสติกเป็นส่วนประกอบผลิตภัณฑ์อย่างยาดมหรือขวดพลาสติก พอทำได้พักใหญ่ก็คิดอยากมีโชว์รูมเหมือนคนอื่น จากปลายถนนเยาวราชค่อยๆ ขยับมาเป็นกลางถนน และอยู่ตรงนั้นมาถึงปัจจุบัน
ต่างชาติรู้จักนำง่ายฮงจากดอกไม้พลาสติก
คุณพ่อพรเจษฎ์ นำศิริวิวัฒน์ เข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวตอนอายุประมาณ 8 ปี ไล่เลี่ยกับคุณอาชุลีพร นำศิริวิวัฒน์ และน้องชายคนอื่นๆ และเป็นรุ่นคุณพ่อที่ช่วยอากงพานำง่ายฮงไปสู่สายตาต่างชาติ ในยุคที่ประเทศไทยยังไม่มีชื่อเสียงในการส่งออกระดับโลก หากลูกค้าต่างประเทศต้องการซื้อสินค้า เขาจะเดินทางไปฮ่องกง เมืองท่าสำคัญที่ใกล้ที่สุด

ธุรกิจที่ฮ่องกงประสบความสำเร็จจนทำให้นำง่ายฮงมีโรงงานและออฟฟิศที่นั่น เริ่มจากการผลิตดอกไม้และต้นคริสต์มาสพลาสติกตามความต้องการของตลาด จนมีลูกค้ารายใหญ่ๆ เป็นผู้จัดจำหน่ายที่นำสินค้าพลาสติกของแบรนด์เข้าไปในตลาดเครื่องใช้ในครัวเรือน ทำให้ช่วงนั้นสินค้าจากประเทศไทยขายดีมาก
ต่างชาติเริ่มรู้จักนำง่ายฮงในฐานะผู้ผลิตสินค้าพลาสติกก็ตอนนั้น
นับเป็นการเปิดโลกให้ลูกค้ารู้จักกับของใช้พลาสติกสีสันสดใส โดยลวดลายซิกเนเจอร์ขายดีที่สุดเป็นลาย Merry Berry

แบรนด์ที่ครองตลาดแต่ไม่ค่อยมีคนรู้จัก
นำง่ายฮงดำเนินธุรกิจมาเรื่อยๆ จนได้รับจ้างทำ OEM (Original Equipment Manufacturer) ให้บริษัทจากประเทศญี่ปุ่น เริ่มจาก 4 ไอเท็มจนถึง 200 กว่า ถ้าคิดเป็นตัวเลขก็เท่ากับครึ่งหนึ่งของรายได้บริษัททั้งหมด
แต่ไม่มีอะไรยั่งยืน
หลังจากทำงานร่วมกันมากว่า 20 ปี หลายธุรกิจย้ายฐานผลิตไปยังประเทศจีนและเวียดนาม เช่นเดียวกับบริษัทญี่ปุ่นที่ร่วมงานด้วยก็ค่อยๆ ยกเลิกสัญญาจ้างผลิตทีละส่วน ไล่เลี่ยกับช่วงที่ทายาทรุ่นสามอย่างเจียว ปิง อ้น และคิม (พีรดนย์ นำศิริวิวัฒน์ ดูแลการขายในประเทศ) เข้ามารับช่วงต่ออย่างเต็มตัว

เจียว-ณัฐหทัย นำศิริวิวัฒน์ รับผิดชอบฝ่ายการเงินและการบัญชี
ปิง-อนันตชัย นำศิริวิวัฒน์ จัดการบริหารฝ่ายวิศวกรรม
อ้น-พิไลภรณ์ นำศิริวิวัฒน์ ดูแลฝ่ายการตลาดและงานออกแบบ
เจียว ผู้เป็นพี่ใหญ่ของบรรดาทายาทรุ่นสามทั้งหมดเล่าว่า ช่วงที่รุ่นสามเริ่มมาทำงาน นำง่ายฮงยังทำธุรกิจแบบเดิมอยู่ แบบเดิมที่ว่าคือการขายส่งผ่านยี่ปั๊วซาปั๊วทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ถ้าอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ยี่ปั๊วคือตัวแทนจังหวัด ซาปั๊วคือคนที่รับจากตัวแทนจังหวัดไปขายต่อ
อีกกลุ่มคือลูกค้าอุตสาหกรรมที่ซื้อสินค้าเพื่อไปใช้ต่อ อย่างโรงงานอุตสาหกรรมซื้อถาดไปใส่อาหารทะเลในรายการผลิต หรือห้างสรรพสินค้าซื้อถังขยะไปวางในห้องน้ำ
นำง่ายฮงในวันนั้นไม่มีแบรนด์ที่เด่นชัด นอกจากโลโก้ตรากระเช้าที่ลูกค้าพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘ทนและดี’
“ยี่ปั๊วซาปั๊วรู้จักเราหมด เขารู้กันว่าถ้าเป็นของนำง่ายฮงเมื่อไหร่ คุณภาพดีแน่นอน ตอนนี้คนก็ยังพูดแบบนี้ หนา แข็งแรง ใช้แล้วใช้ลืม แต่ End User จริงๆ ยังไม่รู้จัก”

เคยมีเพื่อนของอ้นเคยพลิกดูยี่ห้อถังน้ำที่บ้านถึงรู้ว่าเป็นแบรนด์ของนำง่ายฮง ถ้าไม่รู้จักอ้น ก็อาจจะไม่รู้จักแบรนด์นี้ เป้าหมายของทายาทรุ่นสามจึงไม่ใช่แค่การสานต่อ แต่เป็นการสร้างแบรนด์เพื่อให้คนจดจำได้
สิ่งแรกที่พวกเขาทำหลังจากเข้ามาดูแลธุรกิจครอบครัวเมื่อ 20 ปีก่อน คือสร้างแบรนด์ชื่อ boxbox ขึ้นมาใหม่
สอง เปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ สมัยก่อนเวลาแพ็กกล่องพลาสติกใส่ลังใหญ่ ใช้วิธีนำกระดาษขาวหนึ่งแผ่นวางคั่น เพื่อไม่ให้กล่องเสียดสีกันจนเป็นรอย ปัญหาคือเวลาตั้งโชว์ เราจะเห็นทั้งกล่องและกระดาษวางซ้อนกันเป็นตั้งๆ ดูไม่สวยงาม เลยเปลี่ยนมาใช้ Shrink Film หรือฟิล์มหด ทำให้หีบห่อพอดีแนบเนียนไปกับสินค้า ดูสวยงามและมีราคามากขึ้น
และสามคือ การนำแบรนด์เข้าห้างสรรพสินค้า
การขายที่ไม่มีคู่แข่ง
ในรุ่นคุณพ่อพรเจษฎ์ สินค้านำง่ายฮงเคยได้เข้าไปขายในห้างสรรพสินค้าอยู่บ้าง โดยผ่านเอเยนต์ที่มีค่านายหน้าและส่วนแบ่งเป็นอำนาจต่อรอง กำไรสุทธิถูกหักออกจนเกือบจะไม่คุ้มค่า แต่ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้น คือธุรกิจไม่เคยรู้เลยว่าลูกค้าต้องการอะไร สินค้าแบบไหนที่เขามองหา

เจียวเป็นคนแรกที่เข้ามารับช่วงต่อดูแลการขายในห้างสรรพสินค้า ตอนนั้นสินค้าพลาสติกให้ห้างชั้นนำอย่างเซ็นทรัลหรือเครือเดอะมอลล์กรุ๊ปแทบไม่มีให้เห็น ไม่ต้องพูดถึงแบรนด์ต่างชาติที่ไม่มีเลย การเจาะตลาดเข้าห้างสรรพสินค้าสำหรับ boxbox ในตอนนั้นจึงเรียกว่าไม่มีคู่แข่ง
“เราไม่กลัวตลาดเลย” เธอบอกด้วยเสียงหนักแน่น “ข้อดีคือเราอยากทำอะไรทำ อยากลองอะไรก็ลอง พยายามศึกษาว่าลูกค้ายังขาดอะไรอยู่ เขาขาดอะไร เราก็ไปนำเสนอ”
จากแบรนด์มือใหม่ในต่างชาติ สู่ธุรกิจที่ส่งออกไปกว่า 40 ประเทศ
ขณะที่นำง่ายฮงยังขายสินค้าแบบเดิมผ่านตัวแทนในกรุงเทพฯ และจังหวัดต่างๆ boxbox นำทัพไปเจาะตลาดใหม่โดยการไปร่วมงาน BIG (Bangkok International Gift Fair) เป็นครั้งแรก ก่อนจะบินไปออกงานที่ต่างประเทศหลังจากนั้นไม่กี่ปี
“พอไปงานแฟร์ต่างประเทศพบว่า ของเรายังไม่เหมาะกับตลาดนานาชาติ เราอยู่ในประเทศ คนไทยชอบของเรา คนไทยชอบสีสันสดใส แต่คนต่างชาติชอบแบบเรียบๆ สีพาสเทลและสีคลาสสิกอย่างสีขาว สีเบจ ถ้าเป็นลวดลายก็ผสมทรายไม่ก็ผสมทอง ผู้ใหญ่ในวงการก็แนะนำว่าให้ไปดูของคนอื่นๆ บ้าง ต้องเดินสำรวจ ไม่ใช่มาเพื่อขายของอยู่ที่บูทตัวเองอย่างเดียว ไปดูแล้วก็กลับมาพัฒนาตัวเอง”

ด้วยความที่บริษัทแม่อย่างนำง่ายฮงผลิตของใช้ภายในบ้านได้เกือบทุกอย่าง boxbox จึงอยากมีเป้าหมายที่สามารถตอบโจทย์การใช้งานของไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน หลังกลับไปคิดวิเคราะห์กันยกใหญ่ ก็พบว่ากล่องพลาสติกใสที่ต้องใช้เทคนิคการทำอย่างละเอียดลออคือคำตอบ
“การทำกล่องใสมันเป็นงานที่ยากและท้าทาย ไม่ใช่ใครๆ ก็ทำได้” ปิง วิศวกรประจำรุ่นพูดถึงที่มาและความตั้งใจของแบรนด์ “เราเห็นตรงนี้เป็นจุดแข็ง ในอดีตสมัยคุณพ่อ เราเป็นธุรกิจที่เน้นตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค เน้นฟังก์ชัน เขาอยากได้ถังก็ทำถัง อยากได้กล่องก็ทำกล่อง พอมาทำแบรนด์ เราก็ยังคงคุณภาพแบบเดิมไว้ แต่ต้องโฟกัสให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจนว่า boxbox ดีและแตกต่างยังไง และพยายามทำเป็นคอลเลกชันเพื่อดึงดูดคน”
คอนเซ็ปต์ของ boxbox คือบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ที่ใช้วัสดุเป็นพลาสติกใสเป็นหลัก เช่น กล่องใสไว้เก็บของ กล่องรองเท้า กล่องอเนกประสงค์ที่ผู้ใช้เห็นของได้ง่าย หยิบของได้ทันที ซ้อนกันได้เรียงตัวสวยงาม และต้องกันฝุ่น โดยคิดถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นใหม่ในคอนโดมิเนียม ให้เก็บของได้มากที่สุดในพื้นที่จำกัด

สโลแกนของแบรนด์คือ Let’s Organize
ทายาทรุ่นสามพยายามพาแบรนด์ไปปรากฏตัวที่งานแฟร์ต่างๆ ทุกปี หวังสร้างการรับรู้จากทั้งในและต่างประเทศ สะสมลูกค้ามาเรื่อยๆ ถึงปัจจุบันที่มีลูกค้าส่งออกจาก 40 ประเทศทั่วโลก สำหรับธุรกิจอื่น การเติบโตแบบก้าวกระโดดอาจส่งผลต่อการดำเนินการหลายอย่าง แต่ไม่ยากเลยสำหรับโรงงานที่ทำงานกับคนญี่ปุ่นมา 20 ปี เพราะทุกขั้นทุกตอนมีมาตรฐานสูงตั้งไว้วัดคุณภาพมาแต่แรก
ผู้ผลิตกล่องรองเท้าพลาสติกใสเจ้าแรกในประเทศ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณแม่
สินค้าที่เป็นพระเอกของ boxbox คือกล่องรองเท้า ที่ฟังแล้วดูไม่ข้องเกี่ยวกัน ถ้าไม่นับญาติและกลุ่มเพื่อนสนิท น้อยคนนักจะรู้ว่าโปรดักต์นี้พัฒนามาจากกล่องใส่อาหารแห้งของคุณแม่
“แม่เป็นคนชอบรองเท้า”
อ้นพูดถึงคุณแม่ที่มีรองเท้าในครอบครองหลายสิบ และรักทุกคู่เป็นชีวิตจิตใจ “วันหนึ่งแม่เอากล่อง boxbox มาใส่รองเท้าแล้วบอกว่า ‘ถ้ามันมีรูระบายก็ดีสิเนอะ’ พ่อเลยเอาธูปมาจิ้มเป็นรูๆ ให้ คุณแม่ก็ตั้งกล่องรองเท้าไว้หน้าบ้าน เวลามีเพื่อนๆ มาหา ทุกคนชอบ อยากได้บ้าง เราเลยคิดว่ามันก็น่าจะมีตลาด มีความต้องการอยู่นะ เลยผลิตจริงจังขึ้นมา เป็นเจ้าแรกในประเทศไทย ตอนแรกคนก็งงๆ นะว่าจะเอากล่องไปใส่รองเท้าเหรอ แต่ผ่านไปสี่ห้าปี แบรนด์เราก็ยังขายโปรดักต์นี้อยู่ ถึงเริ่มมีคนทำตาม แต่เนื้อพลาสติกยังไม่มีใครใสแจ๋วเท่าเรา”

กล่องรองเท้าพัฒนามาเรื่อยๆ ทั้งกล่องทรงสูงสำหรับรองเท้าส้นสูงหรือรองเท้าบูต กล่องฝาเปิดด้านข้างสำหรับนักสะสมสนีกเกอร์ที่ต้องการโชว์ลายและรุ่นรองเท้า หรือแม้แต่สินค้ารุ่นแรกๆ อย่างกล่องฝาปิดเรียบๆ ก็ปรับดีไซน์ใหม่ให้ดูมินิมอลและแข็งแรงมากขึ้น มีขอบรับกัน ซ้อนเรียงได้เป็นคอนโดหลายชั้น
มีคุณพ่อเป็นนักคิด และคุณแม่ ผู้ใช้คุณภาพที่มักให้แรงบันดาลใจจากประสบการณ์จริง สินค้าหลายอย่างของ boxbox จึงเกิดจากความรักที่พ่อมีต่อแม่ อยากให้แม่สะดวก อยากให้แม่สบาย กล่องรองเท้าที่เคยเป็นแบบฝาเปิดก็พัฒนาต่อเป็นลิ้นชัก
เอาชนะสงครามราคาด้วยคุณภาพที่ไม่เคยเปลี่ยน
เหมือนกับธุรกิจที่มีรายผลิตเพื่อรับทำ OEM อื่นๆ นำง่ายฮงต้องเข้าร่วมสงครามราคา เมื่อฐานการผลิตย้ายจากประเทศไทยออกไป หลายโรงงานต้องปิดตัวเพราะสู้กับค่าแรงและต้นทุนต่อหน่วยที่ต่ำกว่าไม่ไหว
พวกเขาไม่ได้สู้ด้วยราคาที่ต่ำลงไปอีก

“คุณภาพสินค้าและการบริการคือเรื่องที่เรารักษาไว้เสมอ” เจียวเล่าถึงเหตุผลข้อแรก “ไม่ว่าสถานการณ์จะเป็นยังไง ไม่ว่าคนอื่นจะเบียด จะขยี้ เราแค่ไหน เราไม่เคยเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ ไม่เคยเปลี่ยนวัสดุ ทุกอย่างต้องมีคุณภาพดี ถ้าต้องเปลี่ยนแปลง เราจะคุยกับลูกค้าก่อน ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลือกไม่เปลี่ยนนะ กล่องรองเท้าของเราแพงสุดในตลาด แต่ความคิดที่จะใช้พลาสติกให้บางลงไม่เคยอยู่ในหัวเลย”
วิศวกรหนึ่งเดียวอธิบายต่อว่า ไม่ใช่นำง่ายฮงไม่สนใจว่าลูกค้าต้องการอะไร หากคิดเร็วๆ ลูกค้าอาจอยากได้ต้นทุนที่ต่ำกว่า เขาจึงพยายามลดต้นทุนพร้อมกับคงคุณภาพไว้

“ยกตัวอย่าง เราออกแบบกล่องรองเท้า เราต้องคำนึงถึงต้นทุน น้ำหนัก ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบ หนักเท่านี้ ลูกค้ารับได้ไหม แพงไปไหม มันแข็งแรงพอไหม บางทีออกแบบมาดีมากเลย แต่ดีเกินไป ลูกค้ารับราคาไม่ได้ เราก็ต้องปรับแบบ จริงอยู่ที่เราเน้นเรื่องคุณภาพ แต่เราพยายามให้ตลาดรับได้มากที่สุดด้วย”
เหตุผลข้อสองคือบริษัทที่ยืดหยุ่น นำง่ายฮงพยายามดูแลลูกค้าและตอบสนองความต้องการให้ได้ใกล้ชิดที่สุด แม้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ตาม
‘พลาสติกคือผู้ร้าย’ อีกการปรับตัวสำคัญของนำง่ายฮง
ช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์สิ่งแวดล้อมเริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง มีการรณรงค์ให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ส่งผลเสีย แม้แต่ในแวดวงสมาคมพลาสติก ข่าวสารการเลิกใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้งก็เริ่มหนาหู
คำที่บอกว่า ‘พลาสติกคือผู้ร้าย’ ตีพิมพ์ในหนังสือและสื่อออนไลน์เกือบทุกสำนัก
อ้นว่าต่อให้สินค้าจะไม่ใช่แบบนั้นโดยตรง ได้ยินทีไรก็ ‘จี๊ดหัวใจ’ ทุกครั้ง

“จนวันหนึ่งเราไปเจอรูปเต่าที่โดนหลอดเสียบจมูก ดึงออกมาแล้วเลือดออก เลยกลับมาคิดว่าตัวเองจะทำอะไรได้ ตอนแรกก็ไม่แน่ใจว่า การที่เราเป็นลูกหลานในบริษัทพลาสติก พูดเรื่องนี้ขึ้นมาจะโอเคหรือเปล่า ทุกคนจะเห็นด้วยไหม แกอยู่โรงงานพลาสติก แกก็ต้องทำพลาสติกสิ”
Nameco เปิดตัวเมื่อต้น ค.ศ. 2019 เป็นแบรนด์น้องสุดท้องของนำง่ายฮงที่เกิดจากการระดมความคิดของทายาทรุ่นสาม ว่ามีวิธีไหนที่จะสร้างสินค้าพลาสติกรักษ์โลกจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เครื่องจักรเดิม แม่พิมพ์เดิม กระบวนการที่ไม่เปลี่ยนจากเดิมแบบหน้ามือเป็นหลังมือ
อ้นและปิงเป็นแม่ทัพของโปรเจกต์นี้ เฟ้นหาวัตถุดิบพลาสติกอีโค่หลายแบบ มีทั้งที่สารตั้งต้นเป็นพืชอย่างมันสำปะลังและข้าวโพด บางแบบแข็งแรงแต่ย่อยสลายไม่ได้ อีกแบบย่อยสลายได้ดีแต่แตกง่ายและเปราะบาง จนเจอวัสดุที่ตอบโจทย์ทั้งสองข้อ

หนึ่ง ช่วยลดการใช้พลาสติกและเป็นพลาสติกที่ย่อยสลายได้
สอง แข็งแรง ทนทาน ใช้งานได้จริง
“แบบแรกที่เราเลือกคือ Bio-based ผสมพืชหรือวัตถุดิบธรรมชาติบางอย่างเข้าไปเพื่อลดการใช้พลาสติก ส่วนอีกแบบคือการใช้พลาสติกเดิมของนำง่ายฮง ต่างกันตรงที่ใส่สารตัวหนึ่งเข้าไปให้ย่อยสลายได้ โดยการฝังกลบในอุณหภูมิที่เหมาะสม สารนี้จะทำหน้าที่เปลี่ยนโมเลกุลภายในตัวพลาสติก เมื่อเจอกับจุลินทรีย์ จุลินทรีย์จะกินจนย่อยสลายไปได้”
อ้นคิดต่อไปถึงเรื่องแพ็กเกจจิ้งที่อยากลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด จากเทคโนโลยีฟิล์มหดที่ใช้กับแบรนด์ boxbox อ้นเปลี่ยนเป็นการกระดาษบางๆ และหมึกพิมพ์ที่ทำจากถั่วเหลือง
การนำเรื่องนี้ไปเสนอรุ่นพ่อที่ทำธุรกิจพลาสติกตั้งแต่จำความได้ไม่ใช่เรื่องง่าย สองแม่ทัพต้องทดลองให้ครบกระบวนการเพื่อเตรียมตัวไปตอบคำถาม

“ตลาดต้องการสิ่งนี้จริงเหรอ” นี่คือคำถามพ่อ
ในเมื่อเครื่องใช้ในบ้านที่เป็นพลาสติกยังไม่ถูกโจมตี และความจริงแล้วผลิตภัณฑ์ของนำง่ายฮงทั้งหมดก็รีไซเคิลได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ คำตอบของทายาทรุ่นนี้คือ ตลาดอาจยังไม่ค่อยมีเลยด้วยซ้ำ
แต่เป้าหมายของพวกเขาไม่ได้ทำเพื่อขยายตลาด มันคือความรับผิดชอบต่อโลก ในฐานะโรงงานพลาสติกแห่งหนึ่งที่พอมีกำลังและองค์ความรู้ Nameco เรียนรู้จากความกล้าที่จะลองผิดลองถูก
“ถ้าถามว่ามันยุ่งยากกว่าไหม มันยุ่งยากกว่ากระบวนการการผลิตธรรมดาแน่นอน แต่เรามองว่ามันคุ้มค่า ฝ่ายผลิตทุกคนร้องโอ๊ยกันหมด ต้องทำขนาดนี้เลยเหรอ แล้วมันจะโอเคไหม เราก็ให้ความรู้กับเขาว่าสิ่งที่เขาทำคืออะไร จะช่วยโลกได้อย่างไร พนักงานทุกคนที่ทำอยู่มีส่วนช่วยโลกอยู่นะ เราบอกทั้งทีมผลิต ทั้งพนักงานขาย ตอนนี้เจอปัญหาอะไรก็สู้กันหมดแล้ว”
และแน่นอนว่า คำตอบของพ่อคือ Yes
ธุรกิจจะอยู่ได้ ครอบครัวต้องอยู่ได้ก่อน
ขณะที่หลายธุรกิจครอบครัวมักเจอปัญหาทายาทไม่อยากสืบทอด นำง่ายฮงกลับมีทายาทรุ่นสามถึง 6 คน จำนวนมากกว่าครึ่งเป็นลูกสาวลูกชายของคุณพ่อพรเจษฎ์ที่กลับมาทำงานที่บ้านทุกคน
“พ่อปลูกฝังให้พี่น้องรักกัน พี่ต้องรักน้อง น้องต้องรักพี่ อย่างเราเป็นพี่คนโต เราจะโตมากับธุรกิจที่บ้าน ช่วยยกของ แพ็กของ รับโทรศัพท์ ตั้งแต่ปอสี่ปอห้า ไม่ปลูกฝังก็เป็นสิ่งที่ต้องทำ”

เจียวเริ่มเข้ามาทำงานก่อน ตามด้วยปิง คิม อ้น และทายาทรุ่นสามคนอื่นๆ พอใครแต่งงาน ก็มีสะใภ้เข้ามาช่วยดูแลกิจการ จาก 6 คน 6 สมอง และ 12 มือ ก็เพิ่มเป็น 8 บริษัทเป็นทั้งร่างกายที่พวกเขาอยากดูแล เป็นเลือดเนื้อ เป็นเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน พอมีอะไรที่เป็นช่องโหว่ในบริษัท ใครคนใดคนหนึ่งเข้าไปช่วยได้ก็จะไม่รีรอ
นำง่ายฮงใช้ระบบใครชำนาญอะไร ตัดสินใจสิ่งนั้น โดยไม่สนว่าใครเป็นพี่ ใครเป็นน้อง
“อย่างผมดูแลเทคนิคการผลิต แม่พิมพ์ คนที่ดูแลหน่วยงานอื่นคอมเมนต์ได้ แต่ในที่สุดเขาจะฟัง มันเป็นหน้าที่เราที่ต้องทำให้เขาเห็นว่าอะไรที่เขาต้องฟังเรา แต่ไม่ใช่ไปดันทุรังนะ ทุกคนจะให้เกียรติคนที่ดูแลหน่วยงานนั้นๆ ถามว่ามีการคอมเมนต์ข้ามสายงานไหม มีอยู่แล้วเป็นเรื่องปกติ”
แล้วเคยทะเลาะกันบ้างไหม
“ทะเลาะกันคือไม่ได้ดั่งใจ” พี่สาวคนโตหันไปยิ้มให้น้องสาวคนเล็ก “อ้นเป็นคนสุดท้องแต่คิดก้าวหน้า”

ขัดใจกันไปเลิกงานก็จบ กลับบ้านไปก็ยังเจอกัน ยังกินข้าวด้วยกัน ยังผลัดกันเลี้ยงหลานให้ ที่สำคัญ แต่ละคนมีหน้าที่ของตัวเอง ไม่มีใครทำงานมากกว่าหรือน้อยกว่าใคร ทุกคนทำงานเต็มที่และเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท เหมือนกันกับรุ่นคุณพ่อที่แบ่งบทบาทกันอย่างชัดเจน มีคุณอาชุลีพรเป็นขุนพลคู่ใจ ขณะที่คุณอาคนอื่นๆ รับผิดชอบดูแลส่วนต่างๆ
และเป็นอย่างที่เจียวพูดไว้ “ธุรกิจจะอยู่ได้ ครอบครัวต้องอยู่ได้ก่อน”
บทเรียนสำคัญของพ่อ
เจียว ปิง และอ้น สืบทอดกิจการและแนวคิดของคุณพ่อพรเจษฎ์อย่างไม่มีผิดเพี้ยน และยอมรับว่าหลายๆ ครั้งก็ยังทำดีไม่เทียบเท่า
1. ละเอียด ประณีต พิถีพิถัน
คุณสมบัติของพ่อข้อนี้ตรงกันการทำงานด้านเทคนิคของปิงมากที่สุด เพราะกระบวนการผลิตต้องอาศัยความละเอียดอ่อน บางครั้งเข้มงวดมากจนฝ่ายขายยังตกใจ สำหรับปิง สินค้าแม้จะราคาสูงกว่า แต่เวลาได้สัมผัสของที่มีคุณภาพดี เราจะรู้ว่าทำไมถึงต้องจ่ายแพง
2. ซื่อตรงต่อลูกค้า
อ้นใช้แนวคิดของพ่อข้อนี้ในการทำการขายและการตลาด ถ้าลดหรือเพิ่มบางอย่างในสินค้าต้องรีบแจ้งลูกค้า และจะไม่ทำให้ใครเข้าใจผิดเกี่ยวกับโปรโมชันโดยเด็ดขาด คำไหนคำนั้น ถ้าบอกว่าจะส่งให้วันนี้ก็ต้องได้ของวันนี้
3. เข้าใจผู้อื่น
ความรับผิดชอบในการเงินและบัญชีต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่าย ต้องเจรจากับคู่ค้าหลายฝ่าย เจียวยึดความซื่อตรงและการเอาใจเขามาใส่ใจเราเป็นที่ตั้ง
เติบโตอย่างคู่ขนาน แต่สนับสนุนกันระหว่างทาง
นำง่ายฮง เป็นต้นกำเนิดที่รุ่นพ่อแม่อยากให้มีชื่อนี้อยู่เสมอ สินค้าของ boxbox และ Nameco ใช้แบรนด์ของตัวเองก็จริง แต่ถ้าลองพลิกสินค้าดูจะพบตรากระเช้าอยู่ด้านล่างเสมอ
นำง่ายฮง ไม่ใช่แค่ชื่อบริษัท แต่เป็นชื่อแซ่ ไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่เป็นครอบครัว เลียนเสียงมาจากคำว่า หน่าโหง่ยฮง (藍藝豐) ซึ่งแปลว่า ศูนย์รวมแห่งศิลปะ
นำง่ายฮง ไม่คิดจะเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่พร้อมรับไอเดียใหม่ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจก้าวหน้าและเติบโตขึ้นไปได้

แม้จะผ่านมา 60 ปีแล้ว ทายาทรุ่นสามยังหัวใจเต้น และนึกชมเซลล์ทุกครั้งที่เห็นสินค้าตัวเอง ไม่ว่าจะอยู่ในคลิปรายการของคนดังหรือห้องน้ำสาธารณะ
จุดเด่นของนำง่ายฮงคือสีสันสดใสที่ไม่มีการเจือปนใดๆ และเป็นพลาสติก Food Grade ทนความร้อนความเย็นได้ จุดเด่นของ boxbox คือความใสของกล่องพลาสติก และการออกแบบที่ผ่านกระบวนการคิดอย่างพิถีพิถัน จุดเด่นของ Nameco คือวัสดุที่พัฒนาจนสามารถตอบโจทย์การรักษาสิ่งแวดล้อมในวันนี้ได้อย่างดี
จุดเด่นของทายาทรุ่นนี้คือความเป็นพี่น้อง การปรับตัว และการไม่ยึดติด แต่ยึดถือหลักแนวคิดและความรักของครอบครัวที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากแบรนด์สู่แบรนด์

นำง่ายฮง boxbox และ Nameco ดำเนินธุรกิจด้วยหัวใจหลักเดียวกันคือ การทำสินค้าที่มีคุณภาพให้ผู้ใช้ด้วยความซื่อสัตย์
บทสนทนากับทั้งสามจบลงในร้านอาหารตามสั่งใกล้โรงงานที่สมุทรปราการ เราแอบกระซิบถามเจียวที่นั่งอยู่ข้างกันว่า “กล่องทิชชูนี้ใช่ของนำง่ายฮงไหมคะ”
เธอมองแวบเดียวก่อนจะกระซิบกลับมา
“อันนี้ไม่ใช่ค่ะ”