26 กุมภาพันธ์ 2024
700

หนึ่งในกิจกรรมซึ่งได้รับความสนใจมากที่สุดในงาน Thailand Rice Fest 2023 คือการประกวดตั้งชื่อข้าวเหนียวที่ปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นใหม่ กระทั่งได้ชื่อ ‘แก้วพิชิต’ มาเป็นชื่อเรียก แต่กว่าข้าวเหนียวแก้วพิชิตจะเดินทางมาถึงวันที่มีชื่อ ก่อนหน้านั้นมันได้รับการฟูมฟักด้วยกลุ่มชาวนาอินทรีย์นานถึง 6 ปี ด้วยการนำข้าวเหนียวพันธุ์ดังจากจังหวัดเชียงราย อย่าง ‘เขี้ยวงู’ และข้าวเหนียวพันธุ์เก่าแก่ของภาคอีสานอย่าง ‘เล้าแตก’ มาผสมสายพันธุ์กันและทดลองปลูกซ้ำ ๆ หลายฤดูกาล จนได้ข้าวเหนียวนาปรังเนื้อนุ่ม กลิ่นหอม เหมาะกับการทำสาโท และเป็นข้าวเหนียวชนิดแรกในรอบหลายสิบปีที่ปรับปรุงสายพันธุ์ขึ้นในท้องนาของจังหวัดนครสวรรค์

เจ้าของผลงานดังกล่าว คือ ‘เครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์’ กลุ่มชาวนาอินทรีย์ที่มีเครือข่ายเกษตรกรมากถึง 4,000 ครัวเรือน และมีสายพันธุ์ข้าวที่ได้รับรองมาตรฐานระดับสากลจากทั้ง USDA และ IFOAM มากกว่านั้น ยังเป็นกลุ่มชาวนาที่ได้รับการยอมรับจากเหล่าคนข้าวว่าเชี่ยวชาญในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้ออกมาดีทั้งคุณภาพและปริมาณ ตอบโจทย์ทั้งความมั่นคงด้านอาหารและมิติทางเศรษฐกิจ

จุดเริ่มต้นของเครือข่ายโรงเรียนชาวนานั้นเกิดเมื่อทศวรรษก่อน ขณะกลุ่มคนทำงานเพื่อสังคมในจังหวัดนครสวรรค์เริ่มตั้งคำถามถึงสุขภาพของเกษตรกรในบ้านเกิด และพบว่าสุขภาพอันย่ำแย่ของเกษตรกรนั้นมีสาเหตุจากการใช้สารเคมีในแปลงเกษตรมายาวนาน ทางออกจึงหนีไม่พ้นการพัฒนาระบบเกษตรในพื้นที่ให้เป็นมิตรกับทั้งสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกร และเมื่อนครสวรรค์มีพื้นที่ปลูกข้าวถึง 2 ล้านไร่ การตั้งต้นพัฒนาเกษตรอินทรีย์จึงถูกปักหมุดไว้ในนาข้าว กระทั่งเติบโตเป็นเครือข่ายชาวนาที่มีสมาชิกมากเป็นลำดับต้น ๆ ของประเทศ

ความน่าสนใจข้างต้นกระตุ้นให้เราอยากทำความรู้จักเครือข่ายโรงเรียนชาวนาอย่างลงรายละเอียด และหากจะมีใครสักคนที่รู้ทั้งเรื่องประสบการณ์ที่ผ่านมา และเป้าหมายที่โรงเรียนชาวนากำลังจะเดินไปสู่ ใครคนนั้นย่อมคือ นพดล มั่นศักดิ์ ผู้จัดการมูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ หัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญของเครือข่ายโรงเรียนชาวนาตั้งแต่วันแรกถึงวันนี้ และมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมาตลอดเส้นทาง

ความสนใจเรื่องข้าวของเขาเกิดขึ้นเมื่อไร – เราเปิดบทสนทนาด้วยคำถามเรียบง่าย

อีกฝั่งยิ้ม ก่อนตอบว่า หากไม่มองเห็นปัญหา ข้าวก็คงไม่ได้เข้ามาอยู่ในสายตากระทั่งวันนี้

“ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ตอนนั้นเราเป็นหนึ่งในทีมงานของเครือข่ายสมัชชาสุขภาพ มีการจัดโครงการสุ่มตรวจสุขภาพเกษตรกรในจังหวัดนครสวรรค์ และพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่มีสุขภาพอยู่ในเกณฑ์ย่ำแย่มาก (ลากเสียง) ซึ่งเมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่าต้นทางสำคัญมาจากการใช้สารเคมีในการทำเกษตรแน่นอน ตอนนั้นก็กางแผนที่เลยว่าเกษตรกรในจังหวัดทำเกษตรประเภทไหนบ้าง ซึ่งหลัก ๆ ก็หนีไม่พ้นข้าว เพราะนครสวรรค์เป็นท่าข้าวแห่งแรกของประเทศไทย แต่ก็เป็นเมืองผลิตข้าวที่ถูกละเลยความสนใจมาโดยตลอดเช่นกัน”

เขาขยายความ ‘ท่าข้าว’ ว่าหมายถึงเมืองที่ปลูกข้าวเป็นหลักและมีระบบขนส่งข้าวทั้งทางเรือและรถไฟมาตั้งแต่อดีต เช่น นครสวรรค์ จึงเป็นที่ชุมนุมของบรรดาพ่อค้าข้าวและชาวนามาตั้งแต่อดีต ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีนิเวศหลากหลาย ทั้งนาข้าวที่เนินน้ำท่วมไม่ถึงหรือพื้นที่ ‘ปากกระทะ’ และนาข้าวที่ลุ่มน้ำขังหรือพื้นที่ ‘อ่างกระทะ’ ซึ่งกินบริเวณค่อนจังหวัด ด้วยบริบทเช่นนี้เองที่ทำให้ในอดีตนครสวรรค์มีสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองนับร้อย ทว่าลดจำนวนลงเรื่อย ๆ ตามกระแสการเปลี่ยนแปลงไปสู่การปลูกข้าวเชิงอุตสาหกรรมตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

“พอตัดสินใจว่าจะทำงานพัฒนาข้าวพื้นเมือง จากนั้นก็เริ่มออกเดินทางไปเรียนรู้จากกลุ่มชาวนาอินทรีย์ที่เขามีองค์ความรู้ชัดเจน หนึ่งในนั้นคือมูลนิธิข้าวขวัญของ อาจารย์เดชา (เดชา ศิริภัทร ปราชญ์ชาวบ้านและผู้ก่อตั้งมูลนิธิข้าวขวัญ) แล้วถึงกลับมาสำรวจในพื้นที่ของเราว่าเหมาะสมกับการปลูกข้าวสายพันธุ์ที่ลักษณะแบบไหน และชาวนากำลังเผชิญกับปัญหาอะไรอยู่” เขาไล่เรียงความคิดตั้งต้นให้เราฟังช้า ๆ 

“หลังพบว่านาข้าวในนครสวรรค์มีนิเวศแตกต่างหลากหลายมาก เกิดเป็นโจทย์ต่อมาว่า เราจะพัฒนาสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เหมาะสมกับแต่ละนิเวศ ที่สำคัญคือต้องปลูกแบบนาปรังได้ เรียกว่าคุณภาพข้าวต้องดี และปริมาณก็ต้องดีด้วย”

นักพัฒนาสายพันธุ์ข้าวลงรายละเอียดถึงความพิเศษของข้าวพื้นเมืองว่าอยู่ตรงความทนทานต่อโรคแมลง ทั้งยังเติบโตได้ดีในสภาพอากาศในท้องถิ่น ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีในการดูแลต้นข้าว นอกจากนั้น สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของนครสวรรค์ยังมีทั้งข้าวนาปีและข้าวนาปรัง ซึ่งเขาขยายความถึงข้อแตกต่างระหว่างข้าว 2 ชนิดนี้ว่า ข้าวนาปีส่วนมากเป็นการทำนาโดยใช้น้ำฝนและใช้เวลาปลูกยาวนานถึง 6 – 8 เดือน ในแต่ละปีจึงปลูกได้เพียง 1 ครั้ง แต่ข้อดีคือข้าวนาปีจะให้เนื้อสัมผัสที่นุ่มและกลิ่นหอมเป็นพิเศษ เนื่องจากต้นข้าวใช้เวลาสะสมสารอาหารเต็มที่ ส่วนข้าวนาปรังส่วนมากเป็นการทำนาโดยระบบชลประทาน ใช้เวลาในการปลูกเพียง 3 – 5 เดือน ปีหนึ่งปลูกได้ 2 – 3 ครั้ง ข้อด้อยคืออาจมีกลิ่นรสหอมและนุ่มไม่มากเท่ากับข้าวนาปี

“ข้าวนาปีและนาปรังมีจุดเด่นต่างกัน ดังนั้นการพัฒนาสายพันธุ์ข้าวของโรงเรียนชาวนาฯ จึงเลือกดึงเฉพาะจุดเด่นเหล่านั้นมาใช้ โดยมีเป้าหมายคือทำให้ข้าวนาปรังหอมอร่อยเหมือนข้าวนาปี แต่ปลูกได้ปีละหลายครั้ง และเหมาะกับสภาพภูมินิเวศทั้งที่เนินและที่ลุ่ม ฉะนั้น ฐานพันธุกรรมข้าวที่เราจะนำมาจับผสมกันจึงต้องหลากหลายมาก ซึ่งเป็นเหตุผลว่าทำไมจึงต้องทำงานอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวไปพร้อมกับการพัฒนาระบบเกษตรอินทรีย์”

นั่นทำให้ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี เครือข่ายโรงเรียนชาวนาฯ มีสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่อนุรักษ์ไว้มากถึง 400 สายพันธุ์ และตลอดทุก ๆ ฤดูกาลจะต้องแบ่งพื้นที่นาบางแปลงไว้สำหรับอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองเสมอ

“การพัฒนาสายพันธุ์ข้าวสักชนิดต้องเริ่มจากโจทย์ที่ชัดเจน เช่น เราอยากได้ข้าวหอม เนื้อหนึบ เมล็ดอ้วน หรืออยากได้ข้าวเมล็ดยาว หอม เนื้อร่วน พอโจทย์ชัดถึงจะคัดเลือกสายพันธุ์ข้าวตั้งต้นว่าต้องเป็นอะไรเจอกับอะไร อย่างข้าวหอมเกยไชย มีโจทย์ว่าอยากได้ข้าวเมล็ดยาว แต่หอมนุ่มเหมือนกับข้าวหอมมะลิ เราจึงจับสายพันธุ์ข้าวบาสมาติของอินเดียกับข้าวหอมมะลิมาเจอกัน นำมาผสมเกสรและคัดเมล็ดพันธุ์ปลูกซ้ำ ๆ 3 – 4 ฤดูกาล เพื่อให้ได้ลักษณะเด่นคงที่ จนออกมาเป็นข้าวเกยไชยที่เมล็ดยาวคล้ายบาสมาติ แต่หอมนุ่มแบบหอมมะลิไทย” 

นพดลเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้นเหมือนเรื่องราวเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน ก่อนไล่เรียงความภาคภูมิใจในข้าวอีกหลายสายพันธุ์ที่ชวนให้เราอมยิ้มตาม 

“อีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี คือช่อราตรี ข้าวสายพันธุ์ปรับปรุงชนิดแรกที่เราเปิดตัวตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ช่อราตรีมีจุดเด่นตรงที่ปลูกในนาขอบกระทะได้ เพราะใช้น้ำในการปลูกน้อยมาก ปีหนึ่งปลูกได้หลายรอบ แต่ยังให้ผลผลิตดีและรสชาติดี นำไปแปรรูปเป็นแป้งข้าวได้ด้วย ตอนนี้ช่อราตรีจึงไปเติบโตอยู่ในนาข้าวทั่วประเทศ ซึ่งนี่คือภาพที่โรงเรียนชาวนาฯ อยากเห็นมาตั้งแต่ต้นเลยล่ะ”

เขาสำทับว่า ยิ่งสายพันธุ์ข้าวจากเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ กระจายออกไปกว้างเท่าไหร่ ความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวในท้องนาไทยยิ่งเพิ่มขึ้นมากเท่านั้น และคุณภาพของข้าวพื้นพื้นเมืองที่ดีขึ้นเรื่อย ๆ ยังส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้มั่นคงขึ้นเช่นกัน ซึ่งนั่นคือเป้าหมายหลักข้อหนึ่งของการก่อตั้งโรงเรียนชาวนาฯ 

“ปัจจุบันโรงเรียนชาวนาฯ ทำงานอนุรักษ์และปรับปรุงสายพันธุ์ข้าว และพัฒนาตลาดข้าวพื้นเมืองไปพร้อมกัน เพราะต้องยอมรับว่าเรื่องปากท้องของชาวนาเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาข้าวอินทรีย์ประสบความสำเร็จ เพราะยิ่งตลาดข้าวพื้นเมืองเติบโตเท่าไร สมาชิกในเครือข่ายก็จะยิ่งเพิ่มขึ้นเช่นกัน”

เขาอธิบายเพิ่มถึงวิธีการส่งเสริมตลาดว่า ต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจจุดเด่นของสินค้าในมือ และมองหากลุ่มเป้าหมายให้เจอ 

“จุดเด่นของข้าวจากเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ มี 2 ข้อหลัก คือคุณภาพของข้าวที่ใส่ใจทุกขั้นตอนการผลิต และความหลากหลายของสายพันธุ์ข้าวที่มีจุดเด่นแตกต่างกัน อย่างข้าวนิลสวรรค์ถือเป็นข้าวเพื่อสุขภาพ ข้าวชำมะนาดเด่นตรงกลิ่นหอม ส่วนข้าวเกยไชยเหมาะกับการทำเป็นแป้งข้าวเพื่อนำไปทำเป็นเบเกอรี เราจึงนำเสนอจุดเด่นของข้าวแต่ละตัวได้อย่างชัดเจน และตอบโจทย์ตลาดข้าวพรีเมียมที่คนให้ความสำคัญกับต้นทางการผลิตและคุณภาพของข้าวเป็นพิเศษ” 

และด้วยความเข้าใจตลาดเช่นนี้เองที่ทำให้มูลนิธิโรงเรียนชาวนารับซื้อข้าวจากชาวนาในเครือข่ายในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดกลาง ซึ่งสร้างรายได้ให้ชาวนายืนระยะในการปลูกและอนุรักษ์สายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองต่อไปได้อย่างยั่งยืน

อนาคตของเครือข่ายโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์ ที่มีสมาชิกหลายพันครัวเรือนต่อจากนี้จะก้าวไปสู่จุดไหน เราถามคนข้าวตัวจริงอย่างเขาเป็นคำถามสุดท้าย และเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นที่คำตอบถูกส่งกลับมาอย่างมั่นใจ

“ภาพที่อยากเห็นคงเป็นการที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวพื้นเมืองแบบอินทรีย์มีคุณภาพชีวิตดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสุดท้ายแล้ว ถ้าเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี คุณภาพข้าวก็ย่อมดี และคนไทยก็จะได้กินข้าวที่ดีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

Facebook : มูลนิธิโรงเรียนชาวนา จังหวัดนครสวรรค์

Writer

อรุณวตรี รัตนธารี

อรุณวตรี รัตนธารี

นักสื่อสารเรื่องราวของมนุษย์ผ่านอาหาร ผู้อยากเห็นระบบอาหารของไทยใส่ใจคนทุกกลุ่ม

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย