ปฏิเสธไม่ได้จริง ๆ ว่าที่พักแห่งนี้และย่านที่ตั้งอยู่นั้นมีมนตร์สะกด ซึ่งมีผลกับผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาแบบเรา โดยไม่อาจนิยามได้ว่าบรรยากาศเหล่านี้คืออะไรกัน ที่แน่ ๆ มันทำให้เราอยากเดินมากกว่านั่งรถ มองซ้าย มองขวา ไม่ใช่เพียงเพื่อข้ามถนน แต่เพื่อสำรวจความเป็นเมืองเก่ารอบ ๆ 

ขณะเดียวกัน ที่พักย่านเสาชิงช้าแห่งนี้ก็ทำให้เราถึงกับต้องหยุดชะงักให้ความสวยงาม เมื่อสิ่งปลูกสร้างที่มีชื่อว่า ‘ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969)’ สะท้อนเข้ามายังนัยน์ตาของเรา กระทั่งเจ้าบ้านยังถามว่า

“มันว้าวใช่ไหมล่ะ” จะว่าไปก็เป็นอาคารร่วมสมัยที่กลมกลืนกับละแวกโดยรอบอย่างลงตัว

เราทราบภายหลังระหว่างพูดคุยกับ เนม-จิตรภัทร อิศรางกูร ณ อยุธยา และ หลิน-ชนิดา จึงเจริญชัยศักดิ์ สองเจ้าบ้าน ว่าความรู้สึกต่อตัวอาคารของเขาทั้งสองคนจากย่อหน้าข้างต้น คือความต้องการที่อยากให้ที่พักกลมกลืนไปกับบริบทและสภาพแวดล้อมอันมีเอกลักษณ์นี้ และยังคงล้อไปกับประวัติศาสตร์ของตัวอาคาร รวมถึงประวัติศาสตร์พื้นที่รอบ ๆ ได้โดยไม่แปลกแยกจากกัน

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน
เนม-จิตรภัทร อิศรางกูร ณ อยุธยา และ หลิน-ชนิดา จึงเจริญชัยศักดิ์

เขาทั้งคู่ย้ำกับเราเสมอว่า “ที่นี่ไม่ใช่โรงแรม” แต่เปรียบเสมือนบ้านเพื่อน และผู้เข้าพักทุกคนก็เปรียบเสมือนเพื่อน (ที่มาพักบ้านเพื่อน) ฉะนั้น จงมั่นใจเถิดว่าสองเจ้าบ้านจะทำให้ทุกคนที่มาเยือนรู้สึกถึงความเป็นบ้าน (Home) และโรงแรม (Hotel) ที่กลายเป็น ‘Hometel’ สุดอบอุ่นบนเกาะรัตนโกสินทร์

จากการพูดคุยกับเนมและหลินทำให้เรารู้ว่าพื้นที่ตรงนี้มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แต่เดิมทำเลของ ณ ตะนาว เคยเป็นซุ้มประตูทางเข้าบ้าน ซึ่งบ้านหลังนั้นเป็นบ้านคุณย่าของเนมที่เขาเกิดและใช้ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่ง จึงเป็นสาเหตุให้เขาเลือกใช้ ปี 1969 ซึ่งเป็นปีเกิดมาอยู่ในชื่อที่พัก

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

เวลาต่อมา คุณป้าของเนมขายบ้านไป เหลือไว้เพียงช่องทางรถเข้าที่ถูกทิ้งให้ทั้งรกและร้าง ใคร ๆ ต่างก็คิดว่าคงนำไปทำประโยชน์อื่นใดไม่ได้อีกแล้ว

ทว่า ‘ใคร ๆ’ ที่ว่านั้นไม่ได้รวมเนมเอาไว้ด้วย เพราะเมื่อ 4 ปีที่แล้วเขากลับมาพร้อมความคิดที่จะสร้างสถานที่แห่งนี้ให้มีสถานะเป็นบ้านให้คุณพ่อมาใช้ชีวิตยามเกษียณ

“เราสร้างมูลค่าให้พื้นที่ตรงนี้ได้มากกว่าแค่เป็นบ้านเฉย ๆ ถ้าทำเป็นที่พัก คุณพ่อจะได้เจอแขก พูดคุย แลกเปลี่ยน เราคิดว่ามันดีที่คุณพ่อจะมีกิจกรรมทำยามเกษียณ แต่คุณพ่อเสียก่อนอาคารสร้างเสร็จ จากเดิมตั้งใจทำที่นี่เป็นบ้านของคุณพ่อจึงปรับเปลี่ยนมาเป็นที่พัก โดยออกแบบบนพื้นฐานจากตัวตนของพี่เนม เลยเป็นอีกคอนเซปต์หนึ่งไปเลย” หลินอธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับ ณ ตะนาว หลังจากนั้น

เราถามต่อถึงตัวตนของเนมที่ใส่เข้ามาในที่พักแห่งนี้ว่ามีสิ่งใดบ้าง ทั้งสองคนเริ่มอธิบายจากสิ่งง่าย ๆ เช่น ข้าวของตกแต่ง เป็นของที่คนในครอบครัวและเนมเคยใช้ เช่น โทรศัพท์แบบหมุน วิทยุ เครื่องเล่นแผ่นเสียง จักรเย็บผ้าของคุณแม่ และไวโอลินของคุณพ่อ

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

เนมอยากให้สถานที่แห่งนี้เข้าถึงง่าย ทีแรกชื่อของที่พักแห่งนี้ต่อท้ายชื่อว่า Boutique Hotel แต่ด้วยความถ่อมตนของเนม บวกกับพวกเขาไม่ใช่นักการโรงแรม รวมถึงอยากให้สถานที่แห่งนี้ให้ความรู้สึกเหมือนบ้านที่มีคนอยู่อาศัยจริง ๆ ซึ่งถ้าใช้คำว่า ‘โรงแรม’ ก็ดูห่างเหินไปเสียหน่อย เมื่อลองเทียบเคียงกับความต้องการให้คนที่มาเข้าพักนั้นได้รู้สึกถึงเสน่ห์ท้องถิ่นของชุมชนย่านเมืองเก่า

การเรียกตัวเองว่าโรงแรมก็ยังดูขัดกับตัวตนของเจ้าของสถานที่ เหมือนจิ๊กซอว์ชิ้นสุดท้ายที่ไม่ลงล็อก แล้วทันใดนั้น หลินก็คิดคำว่า Hometel (Home + Hotel) ขึ้นมาได้ เป็นการต่อชิ้นส่วนสุดท้ายที่ทำให้ตัวตนของ ณ ตะนาว สมบูรณ์พร้อมทันที และเนมก็ไม่กดดันเวลาที่มีคนมาเข้าพัก เพราะเมื่อแปะป้าย Hometel ลูกค้าทุกท่านจะมีสถานะเป็นเพื่อนที่แวะมานอนค้างบ้านเพื่อนไปโดยปริยาย

“เป็นคำที่ดีมากเลยนะ ถ้าหลินไม่คิดคำนี้ขึ้นมา เราคงติดอยู่กับคำว่า Hotel” เนมบอก

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน
ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

“เราอยากสื่อสารให้คนเข้าใจตั้งแต่แรกว่าที่พักของเราเป็นแบบไหน ถึงเราไม่ใช่โรงแรม แต่มั่นใจได้เลยว่าคุณจะรู้สึกอบอุ่นแน่นอน แขกบางกลุ่มอาจต้องการแค่ห้องพักสบาย ๆ ไว้ทิ้งตัว ไม่ต้องการสระว่ายน้ำ ฟิตเนส หรือร้านอาหารหรูหรา” หลินเล่าให้เราฟังถึงเหตุผลที่ทำให้เธอนิยามที่นี่ด้วยคำคำหนึ่งที่เข้ากันอย่างพอดิบพอดี เหมือนกับว่า หากไม่ใช่คำนี้ ณ ตะนาว จะไม่ใช่ ณ ตะนาว ในแบบทุกวันนี้

หลินเสริมว่าที่มาที่ไปของชื่อ ส่วนหนึ่งเธอชอบ Homestay เป็นทุนเดิม แต่จะให้เรียกที่พักตัวเองแบบนั้นก็คงเกินความจริงไปสักหน่อย ณ ตะนาว 1969 จึงขอเป็น Hometel เล็ก ๆ เช่นนี้ดีกว่า

อีกสิ่งที่น่าสนใจและเป็นเอกลักษณ์ไม่น้อยของที่นี่ คือชื่อห้องพัก ไม่ได้เป็นตัวเลข แต่เป็นชื่อของคนในครอบครัวที่ช่วยเติมชีวิตชีวาให้บ้านหลังนี้ เราขอเริ่มต้นจากชั้น 4 ก่อนจะไล่เลียงชื่อห้อง เราสังเกตเห็นการออกแบบของที่นี่ มีช่องให้ลมธรรมชาติพัดผ่านทุกชั้น เดินขึ้นเดินลงแล้วสบายเนื้อสบายตัว

ชั้น 4 มีห้อง JITTA จากชื่อ จิตรา ของคุณแม่ และ KITTA จากชื่อ กิตติพงษ์ ของน้องชาย

ชั้น 3 มีห้อง JIRA จากชื่อ จิรพันธ์ ของคุณพ่อ และ NAMA มาจากชื่อเล่นของเนม ซึ่งเป็นห้องเดียวที่ใช้ชื่อเล่น เพราะชื่อจริงของเนมกับคุณแม่ใกล้เคียงกัน หากนำมาตั้งชื่อห้องจะซ้ำกันได้

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

เนมยังให้เกียรติคุณพ่อคุณแม่ด้วยการให้ชื่อของทั้งสองท่านเป็นชื่อห้อง Deluxe ที่มีขนาดใหญ่สุด ซึ่งอยู่ด้านหน้าของแต่ละชั้น ส่วนเขาและน้องชายป็นชื่อห้อง Superior อยู่ด้านหลังของแต่ละชั้น (แอบกระซิบว่าห้อง Superior ชั้น 3 เห็นวิวตึกโบราณที่อยู่มาตั้งแต่สมัยราชการที่ 5)

“การตั้งชื่อห้องเป็นชื่อสมาชิกครอบครัว แขกจะได้ทำความรู้จักครอบครัวของเราไปด้วยในตัวและยิ่งทำให้เขารู้สึกถึงการมาพักที่ ‘บ้าน’ จริง ๆ” หลินเสริมเหตุผลถึงไอเดียตั้งชื่อห้องต่าง ๆ

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

จุดเด่นที่สะดุดตาของ ณ ตะนาว 1969 คืออาคารที่ตั้งแห่งนี้มีหน้ากว้างเพียง 3.5 เมตร

“สิ่งหนึ่งที่เราอยากแบ่งปันให้กับทุกคนที่กำลังจะทำบ้านหรือรีโนเวตบ้านแล้วอยากมาดูสถานที่ของเราเพื่อเป็นแรงบันดาลใจ เราอยากย้ำเตือนว่าความงามกับการใช้งานต้องสมดุลกัน” หลินเปรย

“สิ่งที่ยากที่สุดคือการวางแผนในพื้นที่ที่จำกัด จะเอาข้าวของเข้าออกอย่างไร สมมติเอาทรายมากองที่พื้น เราก็เทพื้นไม่ได้เพราะมีกองทรายอยู่ แต่ถ้าไม่มีทรายก็ทำพื้นไม่ได้อีก

“ถ้าขึ้นไปด้านบนจะเจออ่างอาบน้ำใน 2 ห้องด้านหน้า รวมห้องที่เราอยู่ด้วยเป็น 3 ห้อง ซึ่งอ่างดันใหญ่กว่าประตู เราเลยต้องซื้ออ่างก่อนใส่กระจกและประตู พอทำห้องเสร็จถึงค่อยย้ายอ่างเข้าไปไว้ในห้อง ด้วยการอ้อมจากด้านนอกเข้ามาทางหน้าต่าง ความสวยงามที่เราเห็นกันยังไม่ถึงเสี้ยวหนึ่งของสิ่งที่เราต้องผ่านมาตลอด 4 ปี” เนมเล่าอย่างออกรสเมื่อพูดถึงประเด็นการออกแบบ

เนมเสริมว่าต้องยกความดีความชอบให้สถาปนิกจาก POAR ที่จัดสรรพื้นที่อันจำกัดได้อย่างดีเยี่ยม แต่สิ่งหนึ่งที่เขาอยากให้ทุกคนเห็นคุณค่าคือผู้ที่ทำให้สถานที่นี้เกิดขึ้นจริง เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างถึง 4 ปี

หลายคนอาจมองว่า ณ ตะนาว 1969 เป็นที่พักขนาดจำกัด แท้จริงอาคารหลังนี้บรรจุเรื่องราวมากมาย พร้อมด้วยร้านกาแฟเล็ก ๆ ที่ชั้น 1 ห้องรับแขกที่ชั้น 2 ในอนาคตอันใกล้นี้อาจเสริมเติมแต่งให้กลายเป็นไวน์บาร์ มีห้องพักที่ชั้น 3 และ 4 อย่างละ 2 ห้อง แถมที่นี่ตั้งใจเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนด้วย

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน
ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

“ข้อดีอย่างหนึ่งที่ Hometel ของเราไม่มีร้านอาหาร นั่นทำให้เราสนับสนุนผู้ประกอบการรอบข้างได้เต็มที่ ทุกครั้งที่มีแขก เราจะส่งลิงก์ที่เป็นไกด์ลิสต์ให้เขาเสมอ ‘ตรงนี้มีร้านอาหารอร่อยนะ คาเฟ่ตรงนั้นกาแฟดีนะ บาร์ตรงนู้นน่าสนใจจนะ เผื่ออยากไปลองนั่ง’ เป็นการสนับสนุนท้องถิ่นในแบบของเรา ซึ่งเราเชื่อว่านักท่องเที่ยวไม่น่าค้นหาร้านเหล่านี้เจอจากอินเทอร์เน็ต” หลินอธิบายถึงสิ่งที่เธอพยายามทำด้วยรอยยิ้ม เพราะเธออยากให้สถานที่ของเธอและพื้นที่โดยรอบเติบโตไปพร้อมกัน 

เนมเสริมว่าข้าวผัดปูด้านหน้าโรงแรมอร่อยมาก เสียดายที่ปิดในวันที่เราพูดคุยกัน

นี่คือสิ่งที่หลินอ่านให้เราฟัง เพื่อบ่งบอกตัวตนของที่พักแห่งนี้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

เราอาจไม่ได้หรูหราเหมือนโรงแรม 5 ดาวที่เพียบพร้อมด้วยรูมเซอร์วิส

แต่เรามีความ ‘อบอุ่น’ มาแบ่งปัน และมี ‘เรื่องราว’ มาให้ทุกคนได้จดจำ

หวังว่าสถานที่ของเราจะทำให้ทุกคนนึกถึงวันเวลาที่ได้มานอน ‘บ้านเพื่อน’

เราเปรียบตัวเองดั่งบทเพลงยุคก่อน ได้กลับมาฟังทีไรก็รื่นหู ร้องคลอตามในทุกช่วงจังหวะ

เราไม่อาจคาดหวังว่า ‘บ้านพัก’ แห่งนี้จะได้รางวัลที่ 1 หรืออย่างไร

แต่เราคาดหวังว่าจะถูกบันทึกอยู่ใน ‘ดวงใจ’ เพื่อนของเรา

เรารออยู่นะ มาบ้านเพื่อนคนนี้ไหม

ณ ตะนาว 1969 (Na Tanao1969) อดีตช่องทางเข้ารกร้างสู่ Hometel ที่พักอันชวนแขกสำรวจย่านเสาชิงช้าและดูแลอย่างอบอุ่นเหมือนนอนบ้านเพื่อน

3 Things you should do

at  Na Tanao1969

01

เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าบ้านทั้งสองคนได้เสมอ

02

จองคิวดูดวงกับหมอดูของ Na Tanao1969

03

เรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าจากหน้าที่พักไปเยาวราช เพื่อสัมผัสบรรยากาศที่หาไม่ได้จากการนั่งรถยนต์

 Na Tanao 1969

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์