เราเปิดเจอกิจกรรมบนเฟซบุ๊ก ชื่อ ‘เสียง สร้าง สุข’ เป็นกลุ่มจิตอาสาที่หัวใจยังหนุ่มยังสาว มาชวนคนสูงวัยเล่นเปียโน แถมการันตีด้วยว่าเล่นเพลงแรกได้ภายใน 5 นาที โดยไม่ต้องมีพื้นฐานมาก่อน

พอกดเข้าไปดูก็เจอเพจ ‘ฉลุยส์เปียโน’ (มี ส์ นะคะ) เห็นเบอร์โทรศัพท์ก็รีบยกหูติดต่อสอบถามความเป็นมาทันที ปลายสายเป็นผู้หญิง เธอเล่าที่มาที่ไปด้วยน้ำเสียงสดใส ก่อนวางสาย เธอแจ้งสถานที่นัดหมายสัมภาษณ์ เราจะเจอกันที่ Amadeus Piano ร้านเช่า-ขายเปียโนมือสองแถวทาวน์อินทาวน์

เราเปิดประตูร้านเปียโน เจอทีมงานของฉลุยส์เปียโนในเสื้อสีดำปักข้อความ ‘MuzixMath’ ก่อนจะนั่งทำความรู้จักกัน เธอชวนเราให้ลองเล่นเปียโนด้วยโค้ดที่ปรับมาแล้วว่าเล่นง่ายที่สุด เราบอกว่าไม่มีพื้นฐานทางดนตรี เธอพลิกสมุดโน้ตหาเพลงที่คิดว่าเราพอจะฮัมได้ เพลงแรกที่เราเล่นคือ

Happy Birthday เพลงวันเกิดที่ร้องมาตั้งแต่เด็ก เธอสอนให้ใช้นิ้วแทนตัวเลข 1 – 5 แล้วค่อย ๆ วางลงบนแป้นสีขาวทีละนิ้ว เริ่มจากนิ้วโป้งซ้าย-ขวาติดกัน ไล่เลียงออกไปจนทั้ง 5 นิ้วเรียงชิดติดกัน ในแผ่นโน้ตเพลงด้านหน้ามีแถบสี 2 แถบ เพื่อแทนมือซ้ายและมือขวา วิธีการง่ายมาก เห็นตัวเลขอะไรบนแถบสีไหนก็ใช้นิ้วกดลงไป ไม่ถึง 5 นาที เราก็เล่นเปียโนเพลงแรกในชีวิตได้จริง ๆ (ง่ายกว่าที่คิด)

รอยยิ้มแห่งความสุข ความประหลาดใจ และความตื่นเต้น แต้มขึ้นบนใบหน้าของเรา

คงถึงเวลาที่จะนั่งทำความรู้จักพวกเขาทั้ง 3 คน ก่อนเราจะติดใจ เล่นเปียโนจนหมดเล่มสมุดเพลง เราย้ายไปนั่งคุยกันบนชั้น 2 ของร้าน แต่ละคนค่อย ๆ ผลัดกันแนะนำตัว เริ่มจาก เอก-วิโมกข์ อัคคธรรมวงศ์, กล้วย-อดิศร ออเจริญ และ ปุ้ย-พัชรา ยุบล ทั้ง 3 คนเป็นคนสายงานไอที เทเลคอม ก่อนหน้านี้ไม่มีพื้นฐานเปียโนกันเลย แปลกใจใช่ไหม เรารู้สึกเช่นนั้นในทีแรก พอค่อย ๆ ทำความรู้จักพวกเขา ความแปลกใจนั้นหายไป เปลี่ยนเป็นความดีใจที่มีกลุ่มคนเล็ก ๆ ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่เพื่อสังคมแทน

ซึ่งพวกเขาออกตัวก่อนว่า ไม่ใช่ครูสอนเปียโน แต่เป็นผู้สอนให้ใช้ ‘เปียโน’ ในการบริหารสมองสองซีก

แปลงโน้ตเป็นโค้ด

“ตอนช่วงอายุ 40 ผมมีโอกาสเรียนเปียโนกับคุณแม่อายุ 72 ว่าง่าย ๆ คุณแม่ให้เป็นบัดดี้เรียนด้วย เลยตั้งคำถามขึ้นว่า ทำยังไงให้ผู้ใหญ่เล่นเปียโนได้โดยง่าย” วิโมกข์เกริ่นถึงจุดเริ่มต้นความคิด

วิโมกข์จับพลัดจับผลูมาเจอกับกล้วย หนุ่มแว่นที่ประกอบอาชีพสายงานคอมพิวเตอร์

กล้วยตอบรับคำชวนจากวิโมกข์ และไปชวนปุ้ยมาลงเปียโนหลังเดียวกัน (ติ๊งต่างว่าลงเรือลำเดียวกันค่ะ) ปุ้ยตอบรับคำชวนกล้วย และทั้ง 3 คนก็ระดมปัญญา ไขปริศนาที่โมกข์ตั้งต้นเอาไว้ในทีแรก

พวกเขารีเสิร์ชข้อมูลอย่างหนัก ลงเรียนเปียโน ดนตรีสากล ดนตรีบำบัด เพื่อให้เข้าใจโน้ตและเข้าใจคนเล่นดนตรี นำกลับมาพัฒนา เปลี่ยนหน้าตา สมัยนี้เปรียบกับ UX / UI โดยใช้สิ่งถนัดจากสายงานมาต่อยอดในครั้งนี้

“เราทำการเปลี่ยน UX / UI ให้กับโน้ตดนตรีสากลครับ” กล้วยเปรย

“เราได้แรงบันดาลใจมาจาก Roll Up อธิบายเส้นทางรถไฟฟ้าแต่ละสถานี ลองปรับและพัฒนามาเรื่อย ๆ จนลองให้คนมาเล่นจริง ๆ บางคนไม่มีพื้นฐาน พอวางนิ้วบนคีย์บอร์ด นิ้วร่วงบ้าง นิ้วเลื่อนบ้าง ทำให้คนเล่นรวน พอรวนก็ไม่สนุก พี่เอกเลยคิดขึ้นว่า หรือลองเอามือมาติดกันดูดีไหม” ปุ้ยเสริม

“นี่ไม่ใช่สิ่งประดิษฐ์ของผมนะ” วิโมกข์ออกตัวพร้อมเสียงหัวเราะ “ผมไปเจอครูสอนเปียโนจากประเทศสวีเดน เขามีโน้ตเปียโนที่เรียกว่า Prior สำหรับสอนเด็กตัวเปี๊ยก ผมพอจะอ่านโน้ต 5 เส้นได้ เลยรู้เจตนาของเขาครูคนนั้นที่เขาให้เอามือมาติดกัน และมันทำให้ผมนึกถึงขลุ่ยที่นิ้วมือเรียงติดกัน เป่าเป็นเพลงได้เป็นสิบเป็นร้อยเพลง เลยคิดว่าเปียโนก็จะทำแบบนั้นได้เหมือนกัน ซึ่งทำได้จริง ๆ”

เมื่อเข้าใจการอ่านโน้ต 5 เส้น พวกเขาก็จับโน้ตมาเข้าโค้ดดิง (Coding) ให้เป็นตัวเลข โดยอาศัยหลักคณิตศาสตร์ด้วย นี่เลยเป็นที่มาของชื่อ MuzixMath 2 ศาสตร์ระดับสากลที่คนทั่วโลกรู้จัก

“โน้ต 1 ตัวเลขของเรามาจากโน้ตเพลง 5 เส้น ถ้าเล่นโน้ตของเราแล้วอยากกลับไปเล่นโน้ต 5 เส้น ก็ทำได้ เหมือน Encode มา ก็ต้อง Decode ได้ แถมทำให้เล่นเป็นเร็วกว่าเดิมด้วย” ปุ้ยบอก

ซึ่งโค้ดที่พวกเขาสร้างขึ้น ชื่อว่า ‘Extra Transposition’ นั่นเอง

แปลงดนตรีเป็นความสุข

จากทำเล่นกันเองในกลุ่ม พวกเขารู้สึกเสียดายหากทำแล้วไม่ต่อยอดหรือแบ่งปัน

“ตอนแรกจะทำเป็นธุรกิจค่ะ ทำไปทำมาผ่านไป 5 ปีก็ยังเป็นการกุศลอยู่ เพราะกลุ่มทดลองของเราส่วนใหญ่ไม่มีกำลังทรัพย์ เช่น ผู้สูงวัย ผู้ป่วยจิตเวช หรือเด็กพิเศษ เวลาออกสอนนอกสถานที่ กลายเป็นว่า 70% คือผู้สูงวัยที่เข้ามาเรียนด้วย บางคนติดใจอยู่กับเราเป็นวันเลยก็มี” ปุ้ยเล่ายิ้ม ๆ

เราถามทั้ง 3 คนว่าการเล่นเปียโนส่งเสริมคนสูงวัยด้านไหน นอกจากความเพลินใจ

“ผู้สูงอายุมาเล่นเพราะเขากลัวสมองเสื่อม พอสัมผัสคีย์บอร์ดปุ๊บ มันดีนะ กันสมองเสื่อมได้ และเขาได้ใช้ประสาทสัมผัส ประสานสายตา อ่านตัวโน้ต ควบคุมนิ้วมือ ที่สำคัญต้องมีสติ” กล้วยอธิบาย

“มีบุคลากรทางการแพทย์มาเล่น แล้วเขาแนะนำว่าสิ่งที่พวกเราทำ มากกว่าดนตรีหรือ เสียงบำบัด แต่คือการบริหารสมอง 2 ซีกโดยมีเปียโนเป็นเครื่องมือ ซึ่งตรงกับทฤษฎีการแพทย์ที่เรียกว่า Visual Motor เพราะเวลาเล่น ต้องเปิดโน้ตเพลงตลอด สายตาจ้องที่สมุดโน้ตเพลง เปรียบสมุดโน้ตเพลงคือเป้าของ Visual จากนั้นสมองจะประมวลผลว่าต้องใช้นิ้วไหนกดถึงจะถูก เลยเป็นที่มาของการบริหารสมอง และพยาบาลท่านหนึ่งเคยบอกว่านี่คือหนึ่งในกระบวนการที่ทำให้เกิดสมาธิและสติได้” วิโมกข์เสริม

MuzixMath จิตอาสาสาย IT แปลงโน้ตเป็นโค้ดตัวเลข สอนสูงวัยเล่นเปียโนเพลงแรกได้ใน 5 นาที
MuzixMath จิตอาสาสาย IT แปลงโน้ตเป็นโค้ดตัวเลข สอนสูงวัยเล่นเปียโนเพลงแรกได้ใน 5 นาที

ความพิเศษของ Extra Transposition Piano Code นอกจากใช้กับเปียโน พวกเขายังใช้กับเครื่องดนตรีกลม ๆ จิ๋ว ๆ เรียกว่า กลองกระทะ และอนาคตจะประยุกต์โค้ดให้ใช้กับเครื่องดนตรีอื่น ๆ ได้

ทีม MuzixMath กระซิบว่าคนที่มาเรียนมีตั้งแต่ 3 ขวบ จนถึง 90 เลยนะ ทีเด็ดอยู่ตรงที่คอมเมนต์ของบรรดาสูงวัย เช่น ขอขนาดฟอนต์ที่ใหญ่เห็นชัด พวกเขาก็จัดให้ ตอนนี้แผ่นโน้ตสำหรับสูงวัยมีขนาดใหญ่แบบ A3 เรียกว่าชัดแจ่ม มีบางคนขอเพลงจีนด้วย เพราะทีมงานไปสอนที่ห้าง I’m Chinatown

แล้วก็มีสอนที่สมาคมบ้านปันรัก (อารีย์) และ คลินิกวัยทอง โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

อ้อ อีกอย่างนะคะ เพื่อน ๆ วัย สว. (สูงวัย) ยังได้สร้างเพื่อนและคอมมูนิตี้จากการมาล้อมวงเล่นเปียโนด้วย ปุ้ย กล้วย และวิโมกข์บอกว่า พี่ ๆ มักติดขนมมาฝากเสมอ ทอดมันบ้าง คัปเค้กบ้าง

แปลงรอยยิ้มเป็นแรงขับเคลื่อน

“มีหลายคนถามพวกเราว่า ทำแบบนี้แล้วได้อะไร” วิโมกข์เปรย, แล้วคุณตอบคำถามนั้นอย่างไร

“ผมรู้สึกว่าชีวิตของผมช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ผมเห็นคนวัยเดียวกันกับผมอาจจะเสพสุรา เสพของมีค่า แต่เวลาที่ผมออกไปทำกิจกรรมกับกล้วย กับปุ้ย ผมกำลังเสพอะไรบางอย่างที่มันเกินกว่าสิ่งเหล่านั้นที่ผมพูดถึง นั่นคือ รอยยิ้ม รอยยิ้มของผู้คนคือแรงขับเคลื่อนให้พวกเราทำ MuzixMath จนมาถึงวันนี้” วิโมกข์เล่าด้วยรอยยิ้ม

MuzixMath จิตอาสาสาย IT แปลงโน้ตเป็นโค้ดตัวเลข สอนสูงวัยเล่นเปียโนเพลงแรกได้ใน 5 นาที
MuzixMath จิตอาสาสาย IT แปลงโน้ตเป็นโค้ดตัวเลข สอนสูงวัยเล่นเปียโนเพลงแรกได้ใน 5 นาที

เราถามคำถามสั้น ๆ ว่า จะทำสิ่งนี้ไปอีกนานเท่าไหร่

ปุ้ยตอบทันทีว่าจะทำไปเรื่อย ๆ แววตาใสสุกสกาวฟ้องว่าเธอหมายความอย่างที่พูด

“ถ้าจะบอกว่า ทำจนถึงลมหายใจสุดท้าย คงดูลิเกอยู่หน่อย แต่ผมก็หมายถึงอย่างนั้น” วิโมกข์ตอบ

เป้าหมายของวิโมกข์ กล้วย และ ปุ้ย คือ อยากให้เกิดการเผยแพร่สิ่งที่พวกเขาทำมากขึ้น ทั้งสอนจิตอาสา แล้วจิตอาสาไปสอนคนอื่นต่อ ถ้าต่อยอดและสร้างรายได้จากโค้ดเปียโนของพวกเขาได้ ทั้งสามก็ยินดี วิโมกข์คิดเล่น ๆ ว่า น่าทำ Co-Playing Space พื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางดนตรี โดยมีโค้ดเปียโนของพวกเขาเป็นสื่อการสอน

อนาคต ในวันที่พวกเขาอายุหลัก 6 คงนั่งแปลงโน้ตเพลงเป็นโค้ดตัวเลข ด้วยกันที่ไหนสักที โดยมีเจนเนเรชันใหม่มาสานต่อ MuzixMath ตามเจตนารมณ์ที่พวกเขาทั้งสามคนวางเอาไว้

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ 

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘จิตอาสา’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่อง MuzixMath คนวัยอิสระสายไอทีที่รวมตัวกันใช้ความรู้จากวิชาชีพ ผสานศาสตร์ดนตรีและคณิตศาสตร์ (คีตคณิต) พัฒนาโน้ตเปียโนเป็นโค้ดตัวเลข เพื่อให้ทุกเพศทุกวัยเล่นเปียโนได้ง่ายขึ้น และยังตั้งใจเป็นกลุ่มจิตอาสา สอนเปียโนฟรีให้กับผู้สูงวัย ผู้ป่วยจิตเวช และเด็กพิเศษ เพื่อสร้างความสุข สร้างสมาธิ สร้างสติ และยังได้บริหารสมองทั้ง 2 ซีกด้วย

Writer

เสาวนีย์ วนสุนทรเมธี

เสาวนีย์ วนสุนทรเมธี

อดีตอาจารย์และ Senior Executive Assistant บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ปัจจุบันเป็นแม่บ้านที่สนใจ ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ทำความรู้จักผู้คนผ่านบทสัมภาษณ์ และแบ่งปันเรื่องราวดี ๆ ลงในกลุ่มคนฝั่งธนฯ, คนฝั่งพระนคร, รักษ์คลองฝั่งธน และภาพเก่าเล่าเรื่อง

Photographer

สิทธิชัย กิตยายุคกะ

สิทธิชัย กิตยายุคกะ

ประกอบอาชีพเกี่ยวกับความสวยงามมาตลอดชีวิตตั้งแต่วันแรกของการทำงาน อดีตสไตลิสต์และคนถ่ายรูปในช่วงรุ่งเรืองของนิตยสารไทย ปัจจุบันกลายเป็นคนออกแบบเสื้อผ้า ที่ยังถ่ายรูปอยู่เสมอ