ลองจินตนาการว่าข้อเท้าของเราถูกดามแน่น ๆ ไม่ให้ขยับ และต้องใส่รองเท้าที่ทำด้วยไม้หนัก ๆ ตลอดเวลา นึกดูสิว่าการเดินแต่ละวันจะลำบากขนาดไหน 

นั่นคือสิ่งที่ผู้พิการเท้าขาดต้องเจอ หากไม่มีเงินแสนซื้อเท้าเทียมดี ๆ จากเมืองนอก 

เชื่อหรือไม่ว่าเท้าเทียมที่อยู่ในสิทธิ์เบิกประกันสุขภาพของภาครัฐทุกวันนี้ยังคงเป็นรุ่นเก่าแบบเดียวกับที่ใช้เมื่อ 40 ปีที่แล้ว นั่นคือทำจากไม้ หุ้มด้วยยาง น้ำหนักมาก ขยับข้อต่อไม่ได้ ทำให้เดินลำบาก เดินได้ไม่นานก็เหนื่อย – พูดง่าย ๆ ว่าเป็นเท้าเทียมรุ่นที่อยู่มานานพอ ๆ กับรถเมล์ครีม-แดงของไทย

แต่วันนี้ ก้าวใหม่ของเท้าเทียมในเมืองไทยกำลังมาถึง ด้วยผลงานของทีมวิศวกรจากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ภายใต้การนำของ รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ 

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ

เท้าเทียมรุ่นใหม่นี้เรียกว่า ‘เท้าเทียมไดนามิก’ ซึ่งหมายถึงเท้าเทียมที่มีความยืดหยุ่น ขยับได้เหมือนเท้าจริง บิดงอได้ มีน้ำหนักเบา แถมมีแรงส่ง ทำให้ผู้พิการกลับมาวิ่ง เดิน และใช้ชีวิตได้เหมือนปกติ ซึ่งวันนี้อยู่ระหว่างการผลักดันเพื่อให้เข้าไปอยู่ในสิทธิ์เบิกประกันสุขภาพถ้วนหน้าของ สปสช.

แต่ความน่าสนใจก็ไม่ได้อยู่ที่ตัวเท้าเทียมเท่านั้น แต่อาจารย์ยังได้สะท้อนมุมมองหลาย ๆ อย่าง ทั้งในเรื่องคุณภาพชีวิตของคนไทย ไปจนถึงศักยภาพของประเทศไทยในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ควรไปได้ไกลกว่านี้ หากปลดล็อกข้อจำกัดบางอย่างได้ 

เท้าเทียมเพื่อคน 95%

หากเราลองสุ่มผู้พิการที่สูญเสียเท้าในประเทศไทยขึ้นมาสัก 100 คน เราจะพบว่ามีแค่ราว ๆ 5 คนเท่านั้นที่มีทุนทรัพย์พอจะเข้าถึงเท้าเทียมดี ๆ จากเมืองนอก ขณะที่อีก 95 คนที่เหลือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากพึ่งเท้าเทียมที่อยู่ในสิทธิ์เบิกของภาครัฐ 

นั่นคือตัวเลขที่อาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาลประเมินคร่าว ๆ ให้อาจารย์ไพรัชฟัง 

“ด้วยความที่เป็นเท้าไม้แข็ง ๆ น้ำหนักเยอะ ผู้ป่วยเดินแป๊บเดียวก็เหนื่อย ทำงานสักพักก็ต้องหยุดพัก ทำให้เขาใช้ชีวิตไม่ได้ตามปกติ แล้วลองนึกดูว่าพอข้อเท้าขยับไม่ได้ บิดซ้ายขวาไม่ได้ หน้าแข้งกับเท้าก็ต้องตั้งฉากกันตลอดเวลา การเดินก็จะทื่อ ๆ สมมติเราเดินเหยียบหิน หน้าแข้งก็จะเอียงไปด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการล้ม” อาจารย์ไพรัชเล่าถึงปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรมชิ้นนี้ 

“ปัญหาด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่างเป็นเรื่องของกลศาสตร์ทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นด้านกระดูก ข้อต่อ หรือเวชศาสตร์ฟื้นฟูที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ซึ่งทั้งหมดนี้เราประยุกต์ใช้ความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลเพื่อแก้ปัญหาได้”

หลังจากอาจารย์ไพรัชเรียนจบปริญญาเอกด้านวิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) จากมหาวิทยาลัยโตเกียวและกลับมาเป็นอาจารย์ที่ไทย เขาก็นำความรู้จากห้องแล็บที่ทำเกี่ยวกับอุปกรณ์การแพทย์มาสานต่อเป็นนวัตกรรมหลายชิ้น หนึ่งในนั้นคือเท้าเทียมไดนามิก โดยมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นหัวข้อโครงงานสำหรับนิสิตปริญญาตรีปี 4 ซึ่งเขาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา จนกระทั่งต่อยอดมาเป็นงานวิจัยของนิสิตปริญญาโทและเอกที่มีการวิจัยร่วมกับอาจารย์แพทย์ในโรงพยาบาล จนมาสู่การแยกออกมาเป็นบริษัทที่ผลิตเท้าเทียมออกสู่ตลาดจริง

“เท้าเทียมตัวนี้ทำจากคาร์บอนไฟเบอร์ซึ่งแข็งแรงและมีน้ำหนักเบา โดยเราออกแบบให้มีความยืดหยุ่น เวลาน้ำหนักตัวกดลงไป ตัวเท้าจะสะสมพลังงานไว้ ทำให้มีแรงส่งเวลาก้าว ซึ่งช่วยทดแทนเรื่องกล้ามเนื้อเส้นเอ็นที่ขาดหายไป ทำให้เขาเดินดีขึ้น เหนื่อยน้อยลง”

อาจารย์ไพรัชชี้ให้ดูร่องเล็ก ๆ ตามแนวยาวด้านหน้าของเท้าเทียมพร้อมอธิบายว่าร่องเหล่านี้มีไว้เพื่อให้เท้าบิดเอียงได้ เช่น หากเราเหยียบหิน น้ำหนักตัวก็จะทำให้เท้าเทียมบิดนิด ๆ โดยที่แกนหน้าแข้งยังตั้งตรง หรือบริเวณส้นเท้าก็ออกแบบมาเพื่อให้กระดกเท้าได้เหมือนคนปกติ หากเดินตกหลุมก็มีตัวรองรับกันแรงกระแทก

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า

“ผู้ป่วยบางคนเป็นเกษตรกรที่ทำงานในสวนในไร่ ต้องเดินบนพื้นดินที่ไม่เรียบ หรือสวนยางที่เป็นเนินเขาชัน ๆ การใช้เท้านี้ก็จะทำให้เขาเดินสะดวกขึ้นและทำงานในไร่ได้เหมือนปกติ โดยมีทั้งหมด 11 ไซซ์ เพื่อให้เหมาะสำหรับแต่ละคน เพราะแรงส่งต้องคำนวณให้สอดคล้องกับน้ำหนักตัวและขนาดเท้า เพื่อให้แรงส่งของเท้าเทียมกับเท้าข้างปกติของเขาสมดุลกัน”

ความพิเศษของเท้าเทียมนี้ไม่ได้มีแค่ทำให้ผู้สูญเสียเท้ากลับมาเดินได้สบายเท่านั้น แต่บางคนถึงขั้นวิ่งออกกำลังกายได้ โดยอาจารย์ไพรัชเปิดคลิปให้เราดูถึงการวิ่งของชายวัย 60 ปีซึ่งเคยเป็นทหารแถวชายแดนและสูญเสียขาจากกับระเบิดตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ จนวันนี้เขากลับมาวิ่งได้อีกครั้งในรอบ 40 ปี

“สิ่งที่พวกเขาได้กลับมาไม่ใช่แค่เท้า แต่คือคุณภาพชีวิต เช่น น้องคนหนึ่งที่อายุแค่ 20 ต้น ๆ แต่เสียขาจากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์ล้ม พอเขาได้ใช้เท้านี้ก็กลับมาวิ่งได้ เล่นกีฬาได้ เตะบอลได้ เหมือนเขาไม่ได้พิการ ตอนที่เขามาทดสอบบนลู่วิ่ง เขาวิ่งได้ 8.8 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเลยนะ เร็วกว่าผมอีก” 

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า

แน่นอนว่าการวัดคุณภาพและประสิทธิภาพก็ไม่ควรเทียบกับเฉพาะเท้าเทียมรุ่นโบราณเท่านั้น แต่ต้องเทียบกับเท้าเทียมมาตรฐานสากลด้วย ซึ่งทางทีมของอาจารย์ร่วมกับอาจารย์แพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชในการทดสอบเปรียบเทียบระหว่างเท้ารุ่นนี้กับรุ่นที่นำเข้าจากเมืองนอก โดยเป็นการทดสอบแบบ Blind Test คือผู้ทดสอบจะได้ลองทั้ง 2 รุ่น แต่ไม่ทราบว่ารุ่นไหนผลิตจากที่ไหน 

 “เรามีการเปรียบเทียบทั้งเรื่องความพึงพอใจ รวมถึงการวัดค่า Oxygen Consumption (อัตราการใช้ออกซิเจน) ระหว่างเดินบนลู่วิ่ง เดินบนทางชัน พื้นขรุขระ เดินซิกแซ็ก ซึ่งก็พบว่าไม่มีความแตกต่างเชิงสถิติ”

หรือพูดภาษาชาวบ้านได้ว่าคุณภาพทัดเทียมกับของนอก ในขณะที่ข้อดีของรุ่นที่ผลิตในไทยคือต้นทุนต่ำกว่า 3 – 5 เท่า โดยราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 บาท ขณะที่รุ่นที่นำเข้าจากต่างประเทศอยู่ที่ราว ๆ 120,000 – 150,000 บาท 

“สาเหตุที่เราทำได้ถูกกว่า เพราะพอเราแยกออกมาเป็นบริษัท เราไม่ได้นำต้นทุน R&D มาคิดด้วย เนื่องจากขั้นตอนนี้เราใช้งบฯ ของจุฬาฯ และสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในการวิจัยพัฒนา ซึ่งเป็นทุนของภาครัฐอยู่แล้ว ราคาของเท้าเทียมนี้เลยมีแค่ค่าวัสดุ ค่าดำเนินการ และส่วนต่างนิดหน่อยเพื่อให้บริษัทอยู่ได้ เพราะเป้าหมายคืออยากช่วยคนให้มากที่สุด”

สำหรับบริษัทที่แยกตัวออกมาใหม่นี้ อาจารย์ตั้งชื่อให้ว่า ‘MUTHA’ (มุทา) ซึ่งเป็นภาษาบาลี แปลว่า ความปีติ ความเบิกบานใจ 

“ชื่อนี้มาจากความรู้สึกเวลาเรานำเท้าเทียมไปแจกตามโรงพยาบาล เราได้เห็นรอยยิ้มของผู้คน เราจะเห็นแววตาของเขาเลยว่าเขาดีใจ มีความสุข ล่าสุดตอนไปแจกที่สุราษฎร์ธานี มีกำหนดการแจกบ่ายโมงครึ่ง ปรากฏว่าคนไข้ตื่นเต้น มารอกันตั้งแต่ 9 โมงเช้า ทางหมอหรือนักกายภาพก็ตื่นเต้น เพราะหลายคนเคยเห็นที่ต่างประเทศ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้นำมาใช้กับผู้ป่วยในไทย” 

ส่วนเส้นทางในการเข้าไปอยู่ในสิทธิ์เบิกของภาครัฐนั้น อาจารย์บอกว่าตอนนี้มาได้ครึ่งทางแล้ว ขั้นต่อไปคือการลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลวิจัยถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ได้รับเท้าเทียม และนำมาคำนวณประสิทธิผลว่าต้นทุนที่ภาครัฐต้องจ่ายเพิ่มขึ้นในการเปลี่ยนจากเท้าไม้มาเป็นเท้าเทียมรุ่นนี้จะคุ้มค่าหรือไม่เมื่อเทียบกับคุณภาพชีวิตที่เพิ่มขึ้นของผู้พิการ ซึ่งได้รับงบประมาณจากศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (TCELS) มาสนับสนุนการดำเนินงานในส่วนนี้

“เรามีนักเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ทั้งสัมภาษณ์และเก็บสถิติต่าง ๆ เพื่อนำมาคำนวณ ซึ่งเราหวังว่า ถ้าเท้าเทียมนี้ได้เข้าไปอยู่ในสิทธิ์เบิก ผู้พิการขาขาดในประเทศไทยจะมีโอกาสเข้าถึงเท้าเทียมคุณภาพสูงอย่างทั่วถึง และคุณภาพชีวิตพวกเขาก็จะดีขึ้น” 

จากเท้าเทียมถึงข้อเข่า และก้าวต่อไป 

นอกจากเท้าเทียมแล้ว ยังมีอุปกรณ์การแพทย์อีก 2 ชิ้นจากห้องแล็บของอาจารย์ที่เข้าใกล้ความจริงแล้ว นั่นคือข้อเข่าของขาเทียม (Polycentric Knee Joint) และข้อสะโพกเทียมแบบฝังใน (Hip Implant) ซึ่งพัฒนาขึ้นเพื่อให้การเคลื่อนไหวสอดคล้องกับสรีระและใกล้เคียงกับการเคลื่อนไหวตามธรรมชาติที่สุด เช่น ข้อเข่าที่มีการงอตัวขณะเท้าลงน้ำหนัก (Stance Flexion) และมีสปริงช่วยดีดขาออกขณะก้าวเดินไปข้างหน้า โดยตอนนี้อยู่ในขั้นของการทดลองกับผู้ป่วยจริง (Clinical Trial) 

อาจารย์พาเราเดินชมห้องแล็บที่มีเครื่องมือต่าง ๆ มากมาย โดยมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นห้องสำหรับทดสอบคุณภาพ เช่น เครื่องวัดความกลม เครื่องวัดความเรียบของพื้นผิว และเครื่องทดสอบแรงกดการรับน้ำหนักของข้อสะโพกเทียม ซึ่งเป็นการทดสอบเบื้องต้นก่อนส่งไปทดสอบจริงที่ต่างประเทศเพื่อขอมาตรฐาน

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า
รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า

“หัวของข้อสะโพกเทียมต้องมีพื้นผิวที่เรียบระดับนาโน เพราะไม่งั้นมันจะไปขูดกับกระดูก ทำให้เนื้อกระดูกหลุดออกมา ส่วนการรับน้ำหนักต้องเป็นไปตามที่มาตรฐานสากลกำหนด แต่ความท้าทายคือ ด้วยสรีระคนไทยที่ตัวเล็ก เช่น คุณยายอายุ 60 ปี กระดูกส่วนนี้เล็กนิดเดียว เราก็ต้องทำให้ข้อสะโพกมีขนาดเล็ก ๆ แต่รับน้ำหนักได้ตามที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้” 

เมื่อถามถึงอุปสรรคยากที่สุดในการพัฒนานวัตกรรมการแพทย์ฝีมือคนไทย สิ่งที่อาจารย์ตอบมาไม่ต่างอะไรจากนักวิจัยหรือนักพัฒนานวัตกรรมอีกมากมายในประเทศ นั่นคือความยากไม่ได้อยู่ที่ขั้นตอนการออกแบบหรือขั้นตอนทางวิศวกรรม แต่อยู่ที่ข้อจำกัดด้านงบประมาณ 

“การพัฒนาอุปกรณ์การแพทย์แต่ละชิ้นใช้งบประมาณเยอะมาก อย่างเท้าเทียมตัวนี้ แค่การทดสอบเพื่อขอมาตรฐานก็หลายแสนแล้ว ยิ่งถ้าอุปกรณ์ที่ต้องไปฝังในร่างกายก็ยิ่งแพงขึ้นอีก อย่างข้อสะโพกเทียม ค่าทดสอบประมาณ 4 ล้านบาท มีรายการทดสอบยาวเป็นหางว่าว ทำมาเป็นสิบปีกว่าจะมีทุนได้ทดสอบ”

อาจารย์อธิบายว่าการที่ต้องใช้เวลานานมาจากการต้องรองบประมาณ กว่าจะโน้มน้าวแหล่งทุนได้ กว่าที่ทุนจะมาถึง เช่น เท้าเทียมรุ่นนี้ กว่าจะออกมาสู่ตลาดได้ใช้เวลา 6 – 7 ปี ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว หากได้รับทุนอย่างต่อเนื่อง อาจารย์ประเมินว่าใช้เวลาวิจัยจริง ๆ แค่ 3 – 4 ปีก็น่าจะสำเร็จแล้ว 

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า

นอกจากนั้น ยังมีอุปสรรคด้านการทดสอบเพื่อขอรับรองมาตรฐาน เนื่องจากในประเทศไทยไม่ค่อยมีเครื่องมือสำหรับการนี้ เช่น ในบรรดาการทดสอบหลายสิบรายการสำหรับข้อสะโพกเทียม ประเทศเรามีเครื่องทดสอบได้แค่ 2 – 3 รายการเท่านั้น ส่วนในการทดสอบเท้าเทียม แม้ในไทยจะมีตัวเครื่อง แต่ห้องปฏิบัติการที่เครื่องนั้นตั้งอยู่กลับไม่ได้รับมาตรฐาน ISO สุดท้ายจึงต้องส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศอยู่ดี ซึ่งแน่นอนว่าเสียค่าใช้จ่ายแพงกว่า 

“ผมเชื่อว่าความสามารถนักวิจัยไทยไม่น้อยหน้าใคร เรามีบุคลากรที่จบจากต่างประเทศมากมาย เพียงแต่ระบบนิเวศของเราสู้ไม่ได้ ทั้งเรื่องงบประมาณและการหาแหล่งทดสอบ”

แม้จะมีความท้าทายอยู่บ้าง แต่อาจารย์ก็มองว่าโอกาสในงานพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ฝีมือคนไทยนั้นยังไปได้อีกไกล และมีเรื่องต่าง ๆ ให้พัฒนาอีกมาก ซึ่งหากใครสนใจในงานสายนี้ก็ค้นหาหลักสูตรที่ชื่่อว่า Biomedical Engineering (BME) ซึ่งทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็มีหลักสูตรสำหรับปริญญาโทและเอก 

“ที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นในภาควิชาเรา เช่น เครื่องปั๊มหัวใจเทียมซึ่งอาศัยหลักกลศาสตร์ของไหล หรือเข็มฉีดยาระดับนาโนที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาทางเส้นเลือดโดยไม่เจ็บปวด หรือตอนนี้ก็มีอาจารย์คนหนึ่งกำลังพัฒนาหุ่นยนต์ฝึกการเคลื่อนไหวให้ผู้ป่วยที่เส้นเลือดในสมองแตก ถ้าผู้ป่วยไม่มีแรงขยับแขนขา หุ่นยนต์นี้จะช่วยออกแรงเสริม แต่พอผู้ป่วยออกแรงได้มากขึ้น หุ่นยนต์ก็จะออกแรงน้อยลง” 

ส่วนที่ต่างประเทศ อาจารย์เล่าว่าสมัยที่เรียนปริญญาเอกที่ญี่ปุ่น ห้องแล็บที่เขาอยู่ก็พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ผ่าตัดทางไกล ทำให้คุณหมอที่โตเกียวควบคุมหุ่นยนต์ผ่าตัดในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนหมอได้ หรือหากไปดูตามหน้าข่าวด้านเทคโนโลยีการแพทย์วันนี้จะเห็นนวัตกรรมล้ำ ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกระตุ้นระบบประสาท ช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตกลับมาเดิน วิ่ง ว่ายน้ำได้ หรือคอนแทกเลนส์อัจฉริยะที่วัดระดับกลูโคสจากน้ำตา หรือแผ่นแปะลิ้นที่ทำให้คนตาบอดรับรู้ภาพที่อยู่ตรงหน้า โดยการรับสัญญาณจากกล้องบนแว่นตาและแปลงเป็นสัญญาณไฟฟ้าที่กระตุ้นบนลิ้น เป็นต้น

เมื่อความรู้ไม่ถูกจำกัด และความรู้จากหลากหลายศาสตร์ได้มาผสานรวมกัน ความเป็นไปได้อีกมากมายก็รออยู่ข้าง

รศ.ดร.ไพรัช ตั้งพรประเสริฐ ผู้นำทีมวิศวกรไทยพัฒนา MUTHA เท้าเทียมไดนามิกที่คุณภาพดีเท่าของนอกในราคาต่ำกว่า 3 - 5 เท่า

หน้าFacebook : MUTHA – ขาเทียม

Writer

Avatar

เมธิรา เกษมสันต์

นักเขียนอิสระ เจ้าของเพจ ‘Nature Toon การ์ตูนสื่อความหมายธรรมชาติ’ สนใจเรื่องธรรมชาติ ระบบนิเวศ สรรพสัตว์ โลกใต้ทะเล และการใช้ชีวิตแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีผลงานหนังสือแล้ว 2 ชุด คือ ‘สายใยที่มองไม่เห็น’ และ ‘สายใยใต้สมุทร’

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ