“ไปฟลอเรนซ์ ถ้าไม่ได้เข้าไปดูรูปปั้นเดวิดที่ Accademia Gallery ก็เหมือนมาไม่ถึงฟลอเรนซ์” และใช่ฮะ เมื่อเดือนก่อนผมเพิ่งไปไม่ถึงฟลอเรนซ์มา

ฟลอเรนซ์เป็นเมืองทางตอนเหนือในอิตาลี คนรู้จักที่นี่ในฐานะเมืองแห่งศิลปะ มีคอลเลกชันงานศิลปะดี ๆ จัดแสดงอยู่หลายชุด ถ้าเอาชิ้นที่ดัง ก็เช่น รูปปั้นเดวิดหรือภาพวาดกำเนิดวีนัส ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ดูคร่าว ๆ ก็จะรู้ว่าคอลเลกชันพวกนี้ส่วนมากเป็นสมบัติของตระกูลเมดิซี เศรษฐีใหญ่แห่งเมืองในยุคเรอเนซองส์ คนรวยกับการสะสมศิลปะก็เป็นของคู่กันมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งคนรวยเมืองนี้เขาไม่ได้สะสมแต่งานศิลปะ เขายังสะสมเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ด้วย

ท่ามกลางแกลเลอรีชื่อดังมากมายในฟลอเรนซ์ ยังมีคอลเลกชันสิ่งประดิษฐ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ชุดใหญ่จัดแสดงอยู่ถัดออกไปจากกลางเมืองไม่ไกล ที่ ‘Museo Galileo’

เยือน Museo Galileo ในอิตาลี ชมมิวเซียมที่จัดแสดงตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ยันนิ้วกลางของกาลิเลโอ

พูดถึงชื่อ กาลิเลโอ กาลิเลอี (Galileo Galilei) เขาเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ ได้รับการขนานนามให้เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เขาเกิดและโตในปิซ่า ไม่ห่างไปจากฟลอเรนซ์มากนัก ศพของกาลิเลโอถูกฝังอยู่ในมหาวิหารซันตาโกรเช ถัดไปจาก Museo Galileo ไม่กี่แยก รวมอยู่กับคนดังอีกหลาย ๆ คน อย่าง มีเกลันเจโล มาเกียเวลลี และ ดันเต้ 

แม้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะชื่อ ‘Galileo Museum’ แต่ไม่ได้จัดแสดงเพียงแค่เครื่องไม้เครื่องมือของกาลิเลโอเท่านั้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เล่าเรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ตั้งแต่ยุคก่อนกาลิเลโอ ยุคกาลิเลโอ และหลังจากนั้น มาจนถึงสมัยใหม่ ผ่านเครื่องมือเครื่องไม้ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นตามแต่ละยุคสมัย โดยเริ่มต้นเล่าจากยุคที่มนุษย์เริ่มอยากวัดเวลา จากนาฬิกาจับเวลาสู่ปฏิทินที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับดวงดาว มนุษย์เริ่มสร้างเครื่องมือสังเกตดวงดาว เริ่มทำนาฬิกา แผนที่ ลูกโลก แบบจำลองระบบสุริยะซึ่งยังมีโลกอยู่ตรงกลาง มาจนถึงยุคของกาลิเลโอ นั่นคือช่วงศตวรรษที่ 16

ในสมัยนั้น ชนชั้นปกครองเริ่มตระหนักว่าความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือทางการเมืองชั้นดี การผลิตเครื่องมือทางคณิตศาสตร์จึงมีความสำคัญมากขึ้น พอพูดว่าเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ สมัยนี้อาจนึกภาพไม่ออกว่าหมายถึงอะไร แต่ต้องนึกภาพว่าในสมัยนั้นเราไม่มีคอมพิวเตอร์หรือไอแพดให้ใช้ ดังนั้นการจะวาดหรือวัดสิ่งต่าง ๆ ต้องใช้เครื่องมือที่สร้างขึ้นมาเฉพาะเท่านั้น วงเวียน เครื่องวัดมุมก้มมุมเงย ไม้บรรทัด เครื่องมือสำหรับวาดรูปหลายเหลี่ยมแบบต่าง ๆ ซึ่งจัดแสดงไว้ในห้อง ‘The Science of Warfare’

ที่ตั้งชื่อห้องว่า Warfare เพราะในยุคนั้น เครื่องมือเหล่านี้สร้างขึ้นมาเพื่อใช้ในการสงคราม การคำนวณมุมที่ลูกกระสุนจะตก การออกแบบบันได ป้อมค่าย สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการวัดและคำนวณทางคณิตศาสตร์ที่แม่นยำทั้งสิ้น ถึงขนาดที่กาลิเลโอเคยพูดกับเหล่าขุนนางในห้องเรียนคณิตศาสตร์ของเขาว่า “ทหารที่ดีควรจะมีความรู้พีชคณิตและเรขาคณิตด้วย” 

เยือน Museo Galileo ในอิตาลี ชมมิวเซียมที่จัดแสดงตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ยันนิ้วกลางของกาลิเลโอ

สาเหตุที่ทำให้กาลิเลโอได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ยุคใหม่ เพราะเขาริเริ่มทำ 2 สิ่งในวงการวิทยาศาสตร์ อย่างแรกคือการทดลอง – ใช่ครับ นักวิทยาศาสตร์ยุคก่อนหน้านั้นไม่นิยมทดลองกัน กาลิเลโอพยายามเข้าใจปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในธรรมชาติด้วยการออกแบบการทดลองที่รัดกุม ผนวกกับเครื่องมือการวัดที่แม่นยำในสมัยนั้น ทำให้ข้อสรุปหลายอย่างของกาลิเลโอนั้นยังถูกต้องมาถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเข้าใจเกี่ยวกับการตกของวัตถุอย่างอิสระ ที่ความเร่งของมันจะคงที่ ไม่ขึ้นต่อมวล ซึ่งขัดกับแนวคิดของ อริสโตเติล ที่บอกว่าของที่หนักกว่าก็ควรจะตกเร็วกว่าของที่เบากว่า 

เยือน Museo Galileo ในอิตาลี ชมมิวเซียมที่จัดแสดงตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ยันนิ้วกลางของกาลิเลโอ

ในห้อง ‘The Science of Motion’ จัดแสดงอุปกรณ์การทดลองของกาลิเลโอไว้หลายชิ้น ตั้งแต่รางรูปครึ่งวงกลม เสี้ยววงกลม สำหรับปล่อยวัตถุเพื่อศึกษาการเคลื่อนที่ ลูกตุ้ม ไปจนถึงกล้องโทรทรรศน์คุณภาพสูงที่กาลิเลโอสร้างขึ้นเอง เพื่อส่องดูดวงจันทร์บริวารของดาวพฤหัสบดี อันนำไปสู่การยืนยันสมมติฐานแสนอื้อฉาวของ โคเปอร์นิคัส ที่ว่า ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล ไม่ใช่โลก

และอีกสิ่งที่กาลิเลโอเป็นคนริเริ่มนำมาใช้ในวงการวิทยาศาสตร์ นั่นคือคณิตศาสตร์ – ใช่ครับนอกจากนักวิทยาศาสตร์โบราณจะไม่ทดลองกันแล้ว พวกเขายังไม่ใช้คณิตศาสตร์กันด้วย ในยุคก่อนหน้านั้นวิทยาศาสตร์อยู่คู่กับปรัชญา ไม่ใช่คณิตศาสตร์ แต่กาลิเลโอพยายามอธิบายปรากฏการณ์ในธรรมชาติด้วยเรขาคณิต ตัวแปร และสมการ ทำให้เขาเข้าใจคอนเซปต์สำคัญ ๆ หลายอย่าง เช่น โมเมนตัม ความโน้มถ่วง การลอย การควบแน่น ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ และเป็นรากฐานสำคัญของกฎการเคลื่อนที่ของ นิวตัน กฎการโคจรของ เคปเลอร์ และสูตรฟิสิกส์ที่แสนยุบยับต่าง ๆ ที่เราใช้กันในปัจจุบันนั่นเอง 

เยือน Museo Galileo ในอิตาลี ชมมิวเซียมที่จัดแสดงตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ยันนิ้วกลางของกาลิเลโอ

ในห้องถัด ๆ จากนั้น พิพิธภัณฑ์จัดแสดงเครื่องไม้เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ไล่ไปตามยุคสมัย มนุษย์เริ่มรู้จักการทดลองทางเคมี เครื่องแก้วต่าง ๆ เริ่มวัดค่าทางเทอร์โมไดนามิกส์ ตั้งแต่อุณหภูมิ ความดัน ความหนืด ไฟฟ้า แม่เหล็ก แสง เสียง และอีกมากมาย

จวบจนถึงทุกวันนี้ วิทยาศาสตร์ก็ไม่เคยอยู่โดยปราศจากคณิตศาสตร์ได้เลย คณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือสำคัญของวิทยาศาสตร์มาทุกยุคทุกสมัย จนถูกขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งวิทยาศาสตร์ด้วยซ้ำ ความจริงไม่เพียงแค่วิทยาศาสตร์ แต่คณิตศาสตร์ยังแทรกซึมไปเป็นเครื่องมือของศาสตร์นั้นศาสตร์นี้ทั่วไปหมด วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สถาปัตยกรรมศาสตร์ วิทยาการคอมพิวเตอร์

เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ปี 1737 ตอนที่ศพของกาลิเลโอถูกย้ายไปไว้ที่สุสานในมหาวิหารซันตาโกรเช ได้มีการตัดนิ้วโป้ง ชี้ และกลางของมือข้างขวา กระดูกสันหลัง 1 ท่อน และฟัน 1 ซี่ของเขาออกมาเก็บไว้ที่มหาวิทยาลัยปาดัวที่เขาเคยสอนอยู่หลายปี แต่ทั้งหมดได้หายไปในปี 1905 และนำกลับมาได้แค่เพียงนิ้วกลาง 

และใช่ฮะ นิ้วกลางของกาลิเลโอได้ถูกจัดแสดงอยู่กลางห้อง ‘Galileo’s New World’ ท่ามกลางประดิษฐกรรมของเขา 

เยือน Museo Galileo ในอิตาลี ชมมิวเซียมที่จัดแสดงตั้งแต่สิ่งประดิษฐ์ยันนิ้วกลางของกาลิเลโอ

ผมพูดทุกครั้งเมื่อมีโอกาสว่า ไม่ว่าคุณจะเกลียดคณิตศาสตร์แค่ไหน คณิตศาสตร์จะตามหลอกหลอนคุณไปทุกที่ และใครก็ตามที่กำลังหัวเสียกับการต้องสู้รบปรบมือกับคณิตศาสตร์ในศาสตร์ของคุณอยู่ แล้วนึกอยากชูนิ้วกลางใส่ใครสักคนที่พาคณิตศาสตร์เข้ามาพัวพันกับแทบทุกศาสตร์ในทุกวันนี้ ผมแนะนำให้ลองแวะไปที่ Museo Galileo ดู เพราะเขาคนนั้นรอชูนิ้วกลางกลับใส่คุณอยู่ที่นั่น

ภาพ : Niti Vatiwutipong

Write on The Cloud

Travelogue

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ Travelogue’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เราจะส่งสมุดลิมิเต็ดอิดิชัน จาก ZEQUENZ แบรนด์สมุดสัญชาติไทย ทำมือ 100 % เปิดได้ 360 องศา ให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer

พรรษ วติวุฒิพงศ์

พรรษ วติวุฒิพงศ์

นักคณิตศาสตร์ฟรีแลนซ์ ทำวิจัยคณิตศาสตร์ประยุกต์ ที่ถนัดสุดคือวิเคราะห์อนุกรมเวลา เป็นแอดมิน 'เพจคณิตศาสตร์อย่างที่ควรจะเป็น' สอน พูด เขียน เล่า และสื่อสารทุกอย่างที่เป็นคณิตศาสตร์