รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หรือที่เราเรียกกันติดปากว่ารถไฟใต้ดินบ้าง MRT บ้าง เป็นระบบรถไฟขนส่งมวลชนในเมือง (Metro) ที่มีทางวิ่งเป็นวงแหวนล้อมกรุงเทพฯ ชั้นในไว้ทั้งฝั่งพระนครและฝั่งธนบุรี ในเรื่องของโครงสร้างทางวิ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบ ส่วนแรกเป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินล้วน ๆ และเปิดใช้งานช่วงแรกตั้งแต่ พ.ศ. 2547 มีเส้นทางเริ่มจากสถานีหัวลำโพงไปจนถึงสถานีบางซื่อ ผ่านโซนตะวันออกของกรุงเทพฯ ชั้นในตามแนวถนนพระรามที่ 4 ถนนรัชดาภิเษก ถนนลาดพร้าว ถนนพหลโยธิน ถนนกำแพงเพชร ด้วยความที่ทางวิ่งอยู่ใต้ดินล้วน ๆ คนก็จะเรียกติดปากกันว่า ‘รถไฟฟ้าใต้ดิน’

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

ส่วนที่ 2 เป็นวงทางด้านตะวันตกของกรุงเทพฯ รวมถึงฝั่งธนบุรี ต่อขยายจากสถานีหัวลำโพง ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่สนามไชย ไปสุดสายที่สถานีหลักสอง ย่านบางแค อีกส่วนหนึ่งต่อจากสถานีบางซื่อ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บางโพ และไปบรรจบรวมกับเส้นที่ต่อออกจากหัวลำโพงที่สถานีท่าพระ มีโครงสร้างทางวิ่ง 2 แบบ คือ ช่วงใต้ดินจากหัวลำโพงไปถึงอิสรภาพ และบางซื่อขึ้นมาเตาปูน นอกนั้นในช่วงถนนเพชรเกษมและถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นทางวิ่งยกระดับทั้งหมด ทำให้รถไฟสายสีน้ำเงินนั้นมีทั้งส่วนที่วิ่งใต้ดินและลอยฟ้าในสายเดียวกัน

ด้วยความที่แนวทางวิ่งดูเหมือนเลข 6 บ้างก็ว่าเลข 9 หรือใครจะบอกว่าเป็นวงกลมมีหางก็ไม่ผิดอะไร การนั่งนั้นก็ต้องดูทิศทางดี ๆ ว่ารถจะวนไปทางไหน เพราะถ้าขึ้นผิดทิศก็จะได้นั่งเล่นรอบเมืองกันเลยทีเดียว

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

เส้นทางรถไฟที่ดูธรรมดา ๆ เป็นแค่ยานพาหนะที่คนพลุกพล่านสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามา แต่มันมีโค้ดลับอยู่ในสถานีของสายนั้น เราอาจจะไม่ได้สังเกต หรือเห็นแล้วแต่ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอะไร ทำไมต้องมีสีหรือรูปแบบนี้อยูในสถานีด้วย เดี๋ยวเราจะพาไปรู้จักกับรหัสลับที่อยู่ในสถานี MRT สายสีน้ำเงินกัน

รหัสลับแบ่งออกเป็น 2 แบบ

แบบแรก สถานีส่วนเหนือ ช่วงบางซื่อถึงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ใช้สีสื่อความหมาย

แบบสอง สถานีส่วนใต้ ช่วงพระรามเก้าถึงหัวลำโพง ใช้สัญลักษณ์พร้อมสีสื่อความหมาย

มารู้จักกับแบบแรกกันก่อน ซึ่งใช้แค่สีเป็นสัญลักษณ์ประจำสถานี ผ่านการตกแต่งสีสันตามขอบเสา ผนัง ขอบประตูกั้นชานชาลา และกระเบื้องที่ประดับในตัวสถานีและชานชาลา ซึ่งสีเหล่านี้ก็มีความเกี่ยวเนื่องกับสถานีส่วนใต้ที่มีภาพสัญลักษณ์ เพราะสัญลักษณ์แต่ละรูปนั้นก็จะใช้สีแทนความหมายของย่านด้วยเช่นกัน

สีแดง หมายถึง สถานีที่อยู่ในย่านธุรกิจหรือตลาด มีสถานีที่ใช้สีแดงคือ สถานีสุทธิสารที่เป็นย่านการค้า และสถานีกำแพงเพชรที่อยู่บริเวณตลาดนัดสวนจตุจักร และ อตก.

สีส้ม หมายถึง สถานีที่อยู่ในย่านการค้าหนาแน่น สถานีที่ใช้สีนี้คือสถานีห้วยขวาง ซึ่งเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและตลาด ถือได้ว่าเป็นย่านสำคัญแห่งหนึ่งของถนนรัชดาภิเษก

สีเหลือง หมายถึง สถานีที่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ สถานีที่ใช้สีนี้คือสถานีพหลโยธิน โดยส่วนหนึ่งของสถานีตั้งอยู่ในสวนสมเด็จย่า 84

สีน้ำเงิน หมายถึง สถานีที่มีการเชื่อมต่อกับรถไฟระบบอื่น ๆ สถานีที่ใช้สีนี้คือสถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรมฯ – แยกร่มเกล้า) สถานีสวนจตุจักร เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน (คูคต – เคหะฯ) สถานีบางซื่อ เชื่อมต่อกับสถานีกลางบางซื่อ รถไฟฟ้าสายสีแดง (บางซื่อ – รังสิต, บางซื่อ – ตลิ่งชัน) และรถไฟทางไกล

ส่วน สีฟ้า และ สีชมพู ในส่วนเหนือนี้ยังคงเป็นปริศนาในแง่ความหมาย สีฟ้าของสถานีส่วนใต้มีความหมายสื่อไปถึง ‘น้ำ’ และสีชมพู หมายถึง ‘จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย’ จึงทำให้สถานีลาดพร้าวที่ใช้สีฟ้า และสถานีรัชดาภิเษกที่ใช้สีชมพูยังคงเป็นปริศนา แม้แต่ในวงของเรลแฟนเองก็ตาม

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง
สถานีสุทธิสาร ใช้สีแดง
เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง
สถานีสวนจตุจักร ใช้สีน้ำเงิน

รหัสลับแบบที่ 2 สำหรับสถานีส่วนทิศใต้ที่เริ่มนับตั้งแต่พระรามเก้าไปจนถึงหัวลำโพง จะปรากฏเป็นรูปสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่นั้น ๆ มาให้เราได้เห็นได้ทายกันว่าที่นี่คือที่ไหน ซึ่งสัญลักษณ์บางอย่างมองปร๊าดเดียวก็รู้แล้วว่าที่นี่คือที่ไหน แต่กับบางแห่งต้องใช้เวลาสักนิดหนึ่ง ถ้าพร้อมแล้วเราไปตามรหัสลับที่ซ่อนอยู่ในสถานีส่วนใต้กันเลย

สถานีพระรามเก้า เราเห็นสัญลักษณ์รูปเลข ๙ สีแดง ซึ่งหมายถึงแยกพระรามเก้านี่แหละ สีแดงของเลข ๙ ก็หมายถึงพื้นที่ย่านธุรกิจและตลาด

แยกพระรามเก้าเป็นจุดตัดระหว่างถนนอโศก-ดินแดง ถนนรัชดาภิเษก และถนนพระรามเก้า ซึ่งถนนพระรามเก้านั้นมีระยะทาง 9 กิโลเมตร ไปสุดที่ต่างระดับศรีนครินทร์ ข้อที่อยากชวนสังเกตคือ ถนนตระกูลพระรามนั้นจะเรียกว่า พระรามที่ 1 พระรามที่ 2 พระรามที่ 3 แต่สำหรับพระราม 9 นั้น จะไม่มีคำว่า ‘ที่’ ปรากฏอยู่เพียงถนนเดียวเท่านั้น

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

สถานีเพชรบุรี ที่นี่ใช้สัญลักษณ์รูปคลื่นสีฟ้า ซึ่งหมายถึงคลองแสนแสบ ซึ่งเป็นคลองที่อยู่ติดกับสถานีเพชรบุรี และเป็นคลองสำคัญในกรุงเทพฯ ที่เป็นการสัญจรทางน้ำหลักไปทางฝั่งตะวันออกทางย่านรามคำแหง บางกะปิ ลำสาลี

นอกจากสถานีเพชรบุรีจะใช้เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่าง MRT และท่าเรืออโศกของคลองแสนแสบแล้ว ที่นี่ยังเป็นจุดเปลี่ยนไปรถไฟสายตะวันออก โดยเชื่อมกับป้ายหยุดรถอโศกของ รฟท. และรถไฟฟ้าเอราวันซิตี้สถานีมักกะสันอีกด้วย

ว่าแต่ว่า ที่เดียว 3 ชื่อเลยนะเนี่ย

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

สถานีสุขุมวิท สัญลักษณ์นี้อาจจะดูแปลกตาหน่อย เพราะเป็นรูปกาแลสีน้ำเงิน ซึ่งกาแลนี้เป็นส่วนประกอบของหน้าจั่วที่เห็นได้บ่อยตามบ้านเรือนทางภาคเหนือ มีความหมายถึงเรือนคำเที่ยง ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ในสยามสมาคม ซอยสุขุมวิท 21 ที่อยู่ไม่ห่างจากสถานี เรือนนี้เป็นเรือนเครื่องสับแบบล้านนาไทยดั้งเดิมที่เรียกกันว่าเรือนกาแล โดยดั้งเดิมตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำปิง จ.เชียงใหม่ ผู้สร้างคือ นางแซ้ด เป็นลูกหลานสืบเชื้อสายธิดาเจ้าเมืองแช่ ชาวไทลื้อจากแคว้นสิบสองปันนา ก่อนจะสืบทอดสมบัติมาถึงคุณกิมฮ้อ นิมมานเหมินทร์ ท่านก็ได้มอบเรือนเก่าแก่ของตระกูลให้แก่สยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์

สีน้ำเงินของรูปกาแล มีความหมายว่าที่นี่เป็นสถานีเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวอ่อน สถานีอโศก

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

สถานีศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีสัญลักษณ์เป็นรูปสามเหลี่ยมของศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ มีสีเหลืองซึ่งคงความหมายถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับราชวงศ์

เรารู้จักศูนย์ประชุมแห่งนี้เป็นอย่างดี เพราะเป็นสถานที่จัดงานสำคัญต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ งานคอนเสิร์ต งานไทยเที่ยวไทย การประชุมระดับชาติ การประกวดนางสาวไทย หรือแม้แต่การประกวดนางงามจักรวาลที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพใน พ.ศ. 2535

เฉลยที่มาของสีและภาพสัญลักษณ์ประจำสถานี MRT แต่ละแห่ง ที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง

สถานีคลองเตย มีสัญลักษณ์เป็นรูปจั่วหลังคาจั่วสีส้ม หมายถึงย่านการค้าหนาแน่น นั่นคือตลาดคลองเตย และจั่วหลังคาในสัญลักษณ์คือ ตำหนักปลายเนิน หรือที่รู้จักกันว่าวังคลองเตย ที่นี่เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์

ตำหนักปลายเนินเป็นเรือนไทย 2 ชั้น ชั้นล่างเป็นใต้ถุนสูงยกพื้นโล่งมีโครงสร้างเสาเป็นเสาปูน ตัวเรือนเป็นไม้ทั้งหมด หลังคาจั่วปีกนกมุงด้วยกระเบื้องดินเผา การวางผังนั้นแตกต่างไปจากเรือนไทยโบราณทั่วไป คือยืนตามตะวันทุกหลัง และวางเหลื่อมเยื้องกันเพื่อรับลมและเลี่ยงการรับแดด แทนการวางเรือนล้อมรอบนอกชาน ตำหนักปลายเนินเปิดให้เข้าชมทุกวันที่ 29 เมษายน ของทุกปี ไม่มีค่าใช้จ่าย

รู้จักรหัสสีและสัญลักษณ์ของรถไฟ สายสีน้ำเงิน แบบเซียนรถไฟ ที่จะทำให้เข้าใจที่มาของแต่ละสถานีและไม่หลงทิศหลงทาง

สถานีลุมพินี มีสัญลักษณ์เป็นรูปดอกบัวสีเขียว และเป็นสถานีเดียวในสายที่ใช้สีสัญลักษณ์แทนย่านเป็นสีเขียวด้วย ซึ่งหมายถึงสวนสาธารณะนั่นคือสวนลุมพินี ซึ่งชื่อนั้นนำมาจากสวนลุมพินีวัน สถานที่ประสูติของพระพุทธเจ้ามาตั้งชื่อ

สวนลุมพินีเป็นสวนสาธารณะแห่งแรก ๆ ของไทย เรียกกันสั้น ๆ ลำลองว่าสวนลุมเนี่ยแหละ ที่นี่นอกจากเป็นสวนสาธารณะแล้ว ในอดีตยังมีบทบาทในการจัดงานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์เพื่อใช้แสดงสินค้าไทยอีกด้วย

รู้จักรหัสสีและสัญลักษณ์ของรถไฟ สายสีน้ำเงิน แบบเซียนรถไฟ ที่จะทำให้เข้าใจที่มาของแต่ละสถานีและไม่หลงทิศหลงทาง

สถานีสีลม มีสัญลักษณ์เป็นรูปพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 6 สีน้ำเงิน สื่อความหมายว่าเป็นสถานีเชื่อมต่อกับสายสีเขียวเข้มสถานีศาลาแดง

สัญลักษณ์ของสถานีสีลม หมายถึงลานพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าของสวนลุม มักใช้เป็นพื้นที่นัดหมายหรือลานกิจกรรมสำหรับประชาชน ฝั่งตรงข้ามคือ รพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งสำหรับสถานีสีลมนั้นถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งสถานีที่มีการสร้างยากที่สุดและลึกถึง 30 เมตรจากระดับผิวถนน ด้วยสภาพพื้นที่ที่จำกัด การสร้างนั้นต้องตัดเสาเข็มตอม่อของสะพานลอยไทย-ญี่ปุ่นออก และถ่ายน้ำหนักตัวสะพานลงบนหลังคาของสถานีสีลม ว่ากันง่าย ๆ คือ สถานีสีลมทำหน้าที่เป็นเสาเข็มของสะพานลอยไทย-ญี่ปุ่นไปโดยปริยาย

รู้จักรหัสสีและสัญลักษณ์ของรถไฟ สายสีน้ำเงิน แบบเซียนรถไฟ ที่จะทำให้เข้าใจที่มาของแต่ละสถานีและไม่หลงทิศหลงทาง

สถานีสามย่าน ใช้สัญลักษณ์เป็นรูปทรงหลังคาหอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใช้สีชมพูซึ่งเป็นสีประจำมหาวิทยาลัยบนสัญลักษณ์นั้น

หอประชุมจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรียกโดยย่อว่า หอประชุมจุฬาฯ เป็นหอประชุมใหญ่ของมหาวิทยาลัย ใช้เป็นสถานที่จัดงานที่สำคัญ รวมถึงงานพระราชทานปริญญาบัตร สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ได้มอบรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่นให้แก่หอประชุมจุฬาฯ อีกด้วย

รู้จักรหัสสีและสัญลักษณ์ของรถไฟ สายสีน้ำเงิน แบบเซียนรถไฟ ที่จะทำให้เข้าใจที่มาของแต่ละสถานีและไม่หลงทิศหลงทาง

สถานีหัวลำโพง มีสัญลักษณ์เป็นรูปสถานีรถไฟกรุงเทพสีแดง หมายถึงพื้นที่ตลาดและย่านการค้า ซึ่งสถานีกรุงเทพหรือที่รู้จักกันว่าหัวลำโพงนั้นเป็นสถานที่สำคัญ และ MRT หัวลำโพงก็ยังเชื่อมต่อกับสถานีกรุงเทพอีกด้วย

สถานีรถไฟกรุงเทพเป็นสถานีรถไฟหลักของประเทศไทย เปิดใช้งานอาคารเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2459 หลังเปิดกิจการรถไฟ 20 ปี ตัวสถานีมีลักษณะสถาปัตยกรรมแบบคลาสสิก หลังคาโค้งประดับกระจกแก้วและนาฬิกาเรือนใหญ่ ด้านหน้ามีน้ำพุรูปช้างสามเศียรที่นับเป็นกิโลเมตรที่ 0 ของรถไฟในประเทศไทย

รู้ไหมว่าตำแหน่งของ MRT หัวลำโพง คือตำแหน่งเดียวกับสถานีรถไฟหัวลำโพง (ของจริง) ที่เป็นสถานีรถไฟต้นทางของเส้นทางสายปากน้ำ ซึ่งยุติการใช้งานไปเมื่อ พ.ศ. 2503 แต่กระนั้นแล้ว คนก็เรียกสถานีกรุงเทพว่าหัวลำโพงตามความเคยชิน เพราะพื้นที่ของหัวลำโพงกลายเป็นชื่อย่านไปเสียแล้ว

รู้จักรหัสสีและสัญลักษณ์ของรถไฟ สายสีน้ำเงิน แบบเซียนรถไฟ ที่จะทำให้เข้าใจที่มาของแต่ละสถานีและไม่หลงทิศหลงทาง

และนี่คือรหัสลับที่ซ่อนอยู่ใน MRT สายสีน้ำเงิน

เกร็ดท้ายขบวน

  1. มีหลายสถานีที่ถูกเปลี่ยนชื่อไปก่อนการก่อสร้างเสร็จ เช่น สถานีรัชดาภิเษก เดิมชื่อรัชดา, สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย เดิมชื่อเทียมร่วมมิตร, สถานีคลองเตย เดิมชื่อบ่อนไก่, สถานีวัดมังกร เดิมชื่อวัดมังกรกมลวาส และสถานีไฟฉาย เดิมชื่อแยกไฟฉาย
  2. สถานีบางไผ่และบางขุนนนท์ มีโครงสร้างสะพานคนเดินขนาดเล็กข้ามทางรถไฟในสถานี ใช้สำหรับการเชิญพระพุทธรูปผ่านตามประเพณี ซึ่งสถานีคร่อมคลองอยู่ ถือเป็นการออกแบบที่คำนึงถึงวัฒนธรรมและประเพณีพื้นถิ่น ซึ่งสะพานจะเปิดใช้ตอนมีการเชิญพระพุทธรูปเท่านั้น
  3. เรานั่ง MRT แล้วลงทุกสถานีไปเช็กอิน ถ่ายรูปคู่กับสัญลักษณ์ของทุกสถานีได้ เพราะตั๋ว MRT มีเวลาอยู่ในระบบได้ถึง 3 ชั่วโมง

Writer & Photographer

Avatar

วันวิสข์ เนียมปาน

มนุษย์ผู้มีรถไฟไทยเป็นเพื่อนสนิท และอยากแนะนำเพื่อนให้ชาวบ้านสนิทด้วย รักการเดินทางและชอบเดินเป็นชีวิตจิตใจ