“โรงหนังสมัยก่อนสนุกมาก เราเอาคัตเอาต์มาติดข้างรถกระบะ ขับแห่รอบเมืองชวนให้คนมาดู ฟิล์มหนังที่ส่งมาก็ไม่มีพากย์ไทย ต้องให้นักพากย์มาพากย์สด ๆ ในโรงทุกรอบ”
ชายวัย 55 ที่นั่งอยู่หลังพวงมาลัยพาผมย้อนกลับไปในยุคที่โรงหนังสแตนด์อโลนยังได้รับความนิยม พ่อของผมโตมากับ ‘ทวีผล’ โรงหนังหลังย่อมใจกลางอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ศูนย์รวมความบันเทิงของผู้คนเมื่อวันวาน พาให้พ่อในวัยเด็กหลงรักภาพเคลื่อนไหวบนจอขนาดยักษ์ ก่อนที่พ่อจะส่งต่อความชื่นชอบมายังผมผู้ที่กลายเป็นหนุ่มเนิร์ดหนังในหลายทศวรรษถัดมา
สองพ่อลูกเดินทางร่วม 2 ชั่วโมง 30 นาที ออกรถจากตัวเมืองภูเก็ต ข้ามสะพานท้าวเทพกระษัตรี เพื่อมุ่งหน้าสู่อำเภอตะกั่วป่า ห้วงเวลาบนพาหนะนั้นมากพอที่ผมจะขอให้พ่อช่วยปูพื้นความรู้เกี่ยวกับโรงหนัง เพราะในอีกไม่กี่อึดใจ เราจะถึงจุดหมายที่เป็นดั่งไทม์แมชชีนแห่งวงการภาพยนตร์
รถกระบะเลี้ยวขวาเข้าซอยด้านข้างโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีตะกั่วป่า อาคาร 2 ห้อง 1 ชั้น ประดับโคมไฟจีนเหนือประตูเหล็กตั้งเด่นสะดุดตา เตือนให้รู้ว่าพวกเรามาถึงแล้ว
‘เขียนสดไม่ใช่เครื่องพิมพ์’ คือข้อความที่แปะอยู่ข้างประตู ซึ่งมีชายวัย 63 ในเสื้อยืดสีเหลืองยืนยิ้มต้อนรับเราอยู่ตรงนั้น
ทั้งตะกั่วป่าไม่มีใครไม่รู้จัก โกอ้วน-สุรพล แซ่แต้ ช่างวาดคัตเอาต์ (ใบปิดหนังขนาดใหญ่) รุ่นสุดท้าย ผู้ผ่านเหตุการณ์มามากมาย ตั้งแต่วันที่วิกหนังเฟื่องฟู คนดูเต็มทุกที่นั่ง กระทั่งปิดกิจการ และถูกแทนที่ด้วยโรงภาพยนตร์ระบบมัลติเพล็กซ์ ซึ่งถือครองโดยนายทุนเจ้าใหญ่และเน้นให้บริการในห้างสรรพสินค้า
คุณลุงผู้วาดคัตเอาต์ให้กับโรงหนังครั้งแรกตอน ป.4 กวักมือชวนผมกับพ่อเข้าไปในบ้าน ห้องสี่เหลี่ยมซึ่งถูกแดดลมฝนแต่งแต้มมาช้านานแทบไม่ต่างอะไรกับสตูดิโอจัดแสดงงานศิลปะ ภาพวาดน้อยใหญ่แขวนและวางเรียงรายอยู่เต็มฝาผนัง ทักษะสารพัดปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัดโดยไม่จำเป็นต้องเข้าไปมองในระยะประชิด เพียงเท่านี้ก็พอยืนยันได้ว่าเจ้าของบ้านชาวตะกั่วป่าคือศิลปินมากฝีมือคนหนึ่ง
ผมขอพาพ่อมาด้วยนะครับ พ่อโตมากับโรงหนังทวีผล – ผมเอ่ย
“อ๋อ ทวีผล ตรงท้ายเหมืองใช่มั้ย เคยไป ๆ จะไปสมัครวาดคัตเอาต์นั่นแหละ แต่เห็นเขาว่ามีคนวาดแล้ว” ชายในเสื้อสีเหลืองตอบแบบติดสำเนียงใต้
เขาชื่อกานต์
‘เหตุใดเด็กคนหนึ่งจึงอยากวาดคัตเอาต์ให้โรงหนังทั้งที่อายุยังไม่ 10 ขวบ’ เชื่อว่าความสงสัยของผมคงไม่ต่างจากผู้อ่านสักเท่าไหร่ และโกอ้วนคงไม่อยากให้เราทนข้องใจนาน จึงนั่งลงหน้าโต๊ะที่ระบายสีค้างอยู่ ก่อนบรรจงพรั่งพรูความทรงจำตั้งแต่ พ.ศ. 2511 ให้เราฟัง
คุณลุงอารมณ์ดีเล่าว่าเริ่มสนใจงานศิลปะจากภาพวาดรถถังหลังสมุดของเพื่อนสมัย ป.2 ไม่ใช่ทุกวิชาในโรงเรียนที่เด็กชายวัย 8 ขวบจะสนใจ ดังนั้นเนื้อหาส่วนไหนที่มองว่าน่าเบื่อ เขาจะใช้สองหูฟังผ่าน ๆ ส่วนสองตาและสองมือจดจ่ออยู่กับดินสอแท่งโปรดและลายเส้นบนหน้ากระดาษ
เห็นเพื่อนวาดรถถัง เด็กชายสุรพลก็วาดตาม ก่อนลุกลามไปวาดเครื่องบิน มอเตอร์ไซค์ และของเล่นสารพัด เขาตอบตัวเองได้อย่างเต็มปากตั้งแต่ตอนนั้นว่าชอบวาดภาพ และการวาดของเขาก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่เพียงสมุดจดการบ้านวิชาสังคม
ท่ามกลางงานวาดซึ่งจัดวางอย่างคับคั่งภายในห้อง สิ่งที่เฉิดฉายและเชื้อเชิญให้ชายตามองมากที่สุดคือภาพการโอบกอดของ สรพงศ์ ชาตรี กับ นัยนา ชีวานันท์ และนั่นคือภาพที่พาเด็กชายในกางเกงขาสั้นสีกากีเข้าสู่โลกของเส้นและสีอันไม่มีจุดสิ้นสุด
“ได้เห็นคัตเอาต์เรื่อง เขาชื่อกานต์ อาจารย์สิทธิ์ วาด เราอยากวาดให้ได้แบบนั้น คลั่งอย่างแรงนิ” แววตาเปี่ยมสุขทาบอยู่บนใบหน้าของศิลปิน
ผังของวิกหนังในวันที่ภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ เข้าฉายไม่ได้เป็นอย่างโรงหนังในปัจจุบัน เพราะที่อยู่ติดกันกับที่นั่งพิเศษแถวบนสุดคือห้องวาดคัตเอาต์ หลังจากที่ตกหลุมรักภาพของชายในเสื้อเชิ้ตสีฟ้าสวมกอดกับหญิงในชุดสีเหลือง โกอ้วนที่เข้าไปดูหนังจะชะเง้อมองทุกครั้งว่าคนในห้องที่อยู่ติดกับที่นั่งพิเศษกำลังวาดภาพอะไร ไปทีไรก็เห็นวาดอยู่ตลอด ตอนกลางคืนก็ยังวาด
“สมัยนั้นเราเป็นเด็กตัวเล็ก ก็จะขอจับเสื้อผู้ใหญ่เข้าไปในโรง เหมือนเป็นลูกชายเขา นั่นแอ๊ะ แสบเหมือนกันแหละผม” โกอ้วนเล่าไปหัวเราะไป
แอบเข้าไปแบบนี้จะมีที่นั่งเหรอ – ผมถาม
“เราไม่ต้องนั่งหรอก ยืนดูก็บายใจแล้ว ขอให้ได้เข้าไปนิ” แกว่า
หลังจากไปด้อม ๆ มอง ๆ อยู่พักใหญ่ ในที่สุดเด็กชายก็รวบรวมความกล้า ยกมือไหว้ขอให้ช่างวาดรับเขาเป็นศิษย์ ซึ่งช่างวาดก็ตอบกลับว่า เอาสิ ด้วยความเอ็นดู
จากที่ครั้งหนึ่งเข้าไปดูหนังเพื่อแอบมองช่างวาด โกอ้วนจึงกลายมาเป็นผู้ช่วยช่างวาดที่แอบดูหนังจากห้องด้านหลังแทน
เจริญจิต กลั่นแก้ว ตะกั่วป่ารามา
แบบฝึกหัดแรกของช่างวาดคัตเอาต์วัยประถมคือทาสีลบหนังเรื่องเก่า และตีตารางรอวาดหนังเรื่องใหม่ เทคโนโลยีการพิมพ์ยุคนั้นไม่ได้ทันสมัยอย่างทุกวันนี้ โลกเรายังแทบไม่มีโปสเตอร์ขนาดใหญ่ที่จัดทำด้วยวัสดุอย่างไวนิล หรือหากมีก็ต้นทุนสูงและยังไม่ได้เป็นที่แพร่หลายมากนัก จึงเป็นโจทย์ให้กับเจ้าของวิกหนังที่ต้องรังสรรค์ป้ายประกาศเพื่อโฆษณาภาพยนตร์ที่กำลังจะเข้าฉาย ในเมื่อเทคนิคการพิมพ์ยังทำไม่ได้ ภาพทั้งหมดจึงเนรมิตจากปลายพู่กันและแปรงสีของช่างฝีมือล้วน ๆ
วิกหนังมีคัตเอาต์หลายแผ่นคอยหมุนเวียนใช้งาน ป้ายแผ่นหนึ่งจะแขวนไว้ 2 คืน แผ่นไหนว่างเว้นจากหน้าที่ก็จะทาสีขาวและตีตารางมาตราส่วน เพื่อให้พร้อมสำหรับการวาดภาพจากหนังที่จะเข้าฉายในสัปดาห์ถัดไป
“พอทาสีขาว วาดตาราง เราก็ลงกาวแป้งเคลือบ แล้วก็รอช่างมาลงสีน้ำมัน บางทีเขาวาดแล้วเว้นที่ไว้นิดหนึ่ง ให้เราลองวาดเสื้อบ้าง รองเท้าบ้าง เข็มขัดบ้าง ได้ทำแค่นี้ก็ดีใจอย่างแรงแล้ว”
ความสามารถของว่าที่ช่างวาดรุ่นเก๋าแปรผันตามระยะเวลาในการฝึกฝน หากเป็นวันจันทร์ถึงศุกร์ โกอ้วนจะแวะเข้าไปรับวิชาหลังเลิกเรียน แต่ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์จะไม่มีใครได้เห็นเด็กชายที่อื่น เพราะเขาทุ่มเวลาทั้งหมดให้กับแปรงสีและดินสอเสมือนว่าวิกหนังเป็นบ้านหลังที่ 2
ไม่นาน ช่างอาวุโสผู้เป็นอาจารย์ก็ลาสมรภูมิไป สอดรับกับขวบวัยและประสบการณ์ที่มากขึ้น โกอ้วนจึงได้เป็นผู้รับผิดชอบคัตเอาต์อย่างเต็มตัวในที่สุด
ปกติคัตเอาต์หนึ่งวาดกี่วัน – ผมถาม
“วันหนึ่งวาด 2 รูป 3 รูป หน้าโรงหนังอาจารย์วาด เราวาดป้ายเล็ก 2 ป้าย เอาไว้ติดรถแห่รอบเมือง ต้องทำให้ได้ เหนื่อยนิ วาดทั้งวัน คลุกคลีอยู่พันนั้น บางทีข้าวก็ไม่ได้กิน กลัวงานไม่เสร็จ” โกอ้วนตอบ
ไม่หิวเหรอ ผมถามต่อ ใจยังทึ่งกับการวาดภาพขนาดมหึมาด้วยตัวคนเดียว แถมในวันเดียวนั้นยังต้องวาดตั้งหลายภาพ
“หิว แต่มันวัยรุ่นนิ ก็สนุก เร่งสปีดกัน แล้วเงินเดือนไม่มีนะ ถือว่าไปหัด เขาถึงเรียกว่าศิลปินไส้แห้งไง ถ้าอยากได้วิชาก็ต้องทน บางวันต้องอด คอแห้งทั้งวัน”
โกอ้วนขวนขวายทั้งหมดเพราะรักในการวาดภาพจริง ๆ ยอมหิวกายเพื่อให้ได้อิ่มใจ ทุกหยดสีช่วยให้มีความสุขมากกว่าการออกไปเล่นสนุกกับเพื่อนฝูง พ่อแม่ของโกอ้วนที่คอยเฝ้าดูอยู่ห่าง ๆ ก็รู้ดีว่าลูกชายรักสิ่งนี้และน่าจะพอเอาดีทางนี้ได้ จึงไม่เคยขัดขวางอะไร และโกอ้วนเองก็ภูมิใจทุกครั้งที่ได้อวดเพื่อนกับคนที่บ้านว่านี่คือผลงานจากน้ำพักน้ำแรงของเขา
นอกจากฝีมือจะเป็นที่ประจักษ์ในกลุ่มคนรู้จักแล้ว เมื่อผลงานตระการตาวางแผ่หลาอยู่หน้าวิกหนัง คนที่ผ่านไปผ่านมาจึงตามหาว่าใครคือคนวาดภาพพวกนี้ ก่อนที่ภายหลังชาวบ้านก็ได้รับรู้ถึงความสามารถของเด็กชายสายเลือดตะกั่วป่า อย่างไรก็ดี โกอ้วนยังต้องพัฒนาทักษะอยู่เสมอ เพราะวิกหนังในย่านนี้ไม่ได้มีแค่ที่เดียว ทุกสัปดาห์ ทั้งโรงหนังเจริญจิต กลั่นแก้ว และตะกั่วป่ารามา ต่างต้องงัดทุกกลเม็ดเพื่อซื้อใจทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้เข้าไปดูหนังในโรงของตน นำมาสู่การประชันฝีมือของบรรดาช่างวาดคัตเอาต์ ที่แม้จะเป็นเพื่อนกันหมด แต่ทุกคนก็อยากพิสูจน์ว่าข้าคือที่ 1 ในยุทธภพ
“ทีแรกผมวาดที่เจริญจิต ทีหลังย้ายไปขอวาดที่กลั่นแก้ว เหมือนเดิม ก็ไปยืนดู เขาวาดอะไร แล้วก็ขอเขาวาด วาดที่นั่นพักหนึ่ง ก่อนไปจบที่โรงตะกั่วป่ารามา ผมวาดมาหลายที่ ก็รู้จักกันหมด แต่เรื่องฝีมือยอมไม่ได้ ต้องแข่งกัน” โกอ้วนยิ้มอย่างพอใจ
โชคซ้อนโชค
ย้อนอดีตเพลิน ๆ ตาผมก็เหลือบไปเห็นสิ่งที่ซุกซ่อนอยู่ตามมุมห้อง เพราะทุกอณูความสนใจถูกสะกดไว้ด้วยความงดงามของภาพวาด ก่อนหน้านี้ผมจึงสังเกตกองพู่กัน ดินสอหลากสี และหลอดสีใช้แล้วไม่ได้
เมื่อทอดตามอง สมองจึงรับรู้ถึงกลิ่นสีที่โชยมาตามลม
หลังเข้าสู่วงการวาดคัตเอาต์ตั้งแต่ ป.4 โกอ้วนก็เอาดีทางนี้จนจบ ป.7 แต่เพราะฐานะทางบ้านค่อนข้างยากจน เขาจึงไม่มีหนทางอื่นนอกเสียจากต้องเลิกเรียนและวิ่งตรงในสายวิกหนังต่อไปเรื่อย ๆ ซึ่งเขาก็ได้อยู่กับกลิ่นของสีและกาวแป้งที่โรงหนังตะกั่วป่ารามาเรื่อยมา จนกระทั่งโรงหนังสแตนด์อโลนสูญพันธุ์
“วันนี้ผมก็ยังไม่เคยไปโรงหนังแบบใหม่เลย ใจเสีย แต่จะทำไงได้ โรงหนังปิดหมด ก็ไปอยู่กับพรรคพวก ทำป้าย วาดรูปบ้านงาน ทำทุกอย่าง ทำไปสักพัก เขาก็เอาเราไปเป็นช่างศิลป์ให้กับเทศบาล”
ยุคสมัยอาจคร่าชีวิตของวิกหนังในวันวาน แต่กาลเวลาไม่อาจพรากการวาดไปจากโกอ้วนได้ การเข้ามาเป็นหนึ่งในทีมช่างศิลป์ของเทศบาลท้องถิ่นช่วยเพิ่มพูนทักษะที่ครั้งหนึ่งโกอ้วนเคยเบือนหน้าหนี หัวหน้างานในตอนนั้นอย่าง ช่างยุทธ คือผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการเขียนให้กับโกอ้วน หลากฟอนต์หลายอักษรก็ได้รุ่นพี่คนนี้ช่วยถ่ายทอดและขัดเกลา
“คัตเอาต์หนัง ผมวาดอย่างเดียว มีช่างอีกคนเขียนตัวหนังสือให้ ก็เลยไม่ได้ฝึก พอเข้าเทศบาล งานประชาสัมพันธ์เยอะ จะวาดอย่างเดียวไม่ได้แล้ว ต้องทำตัวหนังสือเป็นด้วย อยากดูตำราผมมั้ย”
ไม่ทันขาดคำ คุณลุงก็ลุกจากเก้าอี้ แล้วเดินไปคว้าสมุดวาดเขียนที่วางอยู่ใต้ชั้นวางพู่กัน เท่าที่พิจารณาจากสายตา รูปเล่มในมือโกอ้วนคงมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี ซึ่งสิ่งที่อัดแน่นภายในก็ช่วยแถลงไขว่าเราเดาไม่ผิด
ส่วนหนึ่งของแผ่นพับ เศษกระดาษที่ยับเพราะถูกตัดฉีกจากหนังสือพิมพ์ ตลอดจนพาดหัวของใบปลิวโฆษณาถูกนำมาประดับประดาลงในสมุดวาดเขียน นี่คือคู่มือที่โกอ้วนรวบรวมเองกับมือเพื่อใช้เป็นคลังข้อมูลของฟอนต์ประเภทต่าง ๆ เวลาว่างจะได้เชยชม ศึกษา และเขียนตาม อักษรของตัวเองจะได้วิจิตรงดงามยิ่งขึ้น เป็นแหล่งค้นคว้าในยุคที่ผู้คนยังไม่รู้จักคอมพิวเตอร์
“ความรู้ทั้งนั้น พวกนี้เป็นอาจารย์ผมเลย” โกอ้วนพูดพลางพลิกหน้ากระดาษ
จบจากสมุดวาดเขียน โกอ้วนก็เอื้อมไปหยิบสิ่งที่เขาเรียกเองว่า ‘แม่พิมพ์’ ให้เราดู ที่อยู่ในมืออดีตช่างศิลป์เทศบาลคือกระดาษขาวเทาซึ่งตัดอย่างละเอียดลออจนเป็นอักษร ล ลิง เขาร่างเอง ตัดเอง เพื่อเก็บเป็นแม่พิมพ์พยัญชนะสำหรับใช้ในวาระต่าง ๆ โดยยืนยันเด็ดขาดว่าต่อให้มีเครื่องพิมพ์ เขาก็ขอทำมือต่อไป เพราะความภูมิใจคงหาไม่ได้จากการคลิกเมาส์
“ผมยืนกรานกระต่ายขาเดียวว่าจะไม่พรินต์ ความภาคภูมิใจผิดกัน ผมเป็นนักวาดมาถึงจุดนี้แล้ว ก็อยากใช้ความสามารถของเรา ผมอยากอนุรักษ์ไว้ ผมเสียดาย”
เห้งเจีย
หลังผจญงานศิลปะร่วมกับเทศบาลตั้งแต่อายุ 20 ปลาย ชายที่เป็นดั่งครูพยัญชนะอย่างช่างยุทธก็เกษียณอายุราชการ และก็ไม่ต่างจากวันที่อยู่กับวิกหนัง โกอ้วนได้เลื่อนตำแหน่งมาเป็นหัวหน้างานอีกครั้ง พร้อมได้โอกาสวาดเขียนคัตเอาต์ในงานเทศกาลประจำปีด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก
ผมกับพ่อเปิดอัลบั้มรูปเพื่อชื่นชมส่วนผสมที่โกอ้วนเคยปรุงไว้ในอดีต มีตั้งแต่คัตเอาต์ขนาดมโหฬารรูปเห้งเจีย เจ้าพ่อกวนอู เจ้าแม่กวนอิม ไปจนถึงซุ้มประตูและป้ายบนเวที ที่แน่ ๆ ป้ายเทศกาลถือศีลกินผักของตะกั่วป่าทุกปี โกอ้วนรับจบ
“สมัยก่อนไม่มีไวนิล งานกินผัก ป้ายโรงเรียน ป้ายหาเสียง หนังสือการ์ตูน งานแต่งงาน งานศพ เป็นผมทุกงานเลย ประสบการณ์ข้างโรงศพนี่เยอะมาก เขียนชื่อผู้ตาย หัวโรง ท้ายโรง ลายพระเทพพนม กรอบรูป ผ่านมาหมดแล้ว”
ชายตรงหน้ากำลังเครื่องติด เขาเล่าทุกสิ่งที่คิดออกแบบน้ำไหลไฟดับ ทว่ายังสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนในน้ำเสียง เขาชี้ให้เราดูภาพที่เคยวาดบนก้อนหินและใบไม้ ชวนให้เรามองรูปที่สร้างจากสีโปสเตอร์ สีน้ำ สีไม้ หรือกระทั่งสีชอล์ก ผมได้แต่สงสัยว่าโกอ้วนมีเวลาพักผ่อนบ้างหรือไม่ หรืองานศิลปะซึ่งยึดไว้เป็นอาชีพคือการผ่อนคลายของเขาแล้ว แล้วเขาคิดจะส่งต่อภูมิปัญญาของตัวเองสู่เด็กรุ่นถัดไปบ้างรึเปล่า
วาดมาขนาดนี้เคยมีลูกศิษย์บ้างมั้ย – ผมถาม
“เคยนะ แต่เด็กก็มาแป๊บเดียว หาดาวรุ่งยาก เด็กเดี๋ยวนี้ดูแต่คอมพิวเตอร์ ถ้าเขาได้เห็นคัตเอาต์เหมือนเราสมัยก่อนสิ น่าจะคึกมาก มันไม่มีสื่อให้เขาเห็น” โกอ้วนว่า
โทน
นอกจากชีวิตที่คลุกคลีกับการวาดในแทบทุกลมหายใจ งานอดิเรกที่เราไม่ถามไม่ได้คือการสะสมใบปิดหนังเก่า ซึ่งจากการประเมินคร่าว ๆ ในบ้านกึ่งสตูดิโอแห่งนี้คงมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 500 แผ่น
“มันเหมือนเป็นครูอย่างหนึ่ง เราเห็นแล้วชื่นชมตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ ก็สะสมมาตั้งแต่ตอนอยู่วิกหนัง ผมมีพรรคพวกอยู่กรุงเทพฯ ก็ขอซื้อจากเขา เขาก็ส่งมาให้”
เนิร์ดหนังวัยเก๋าบอกเล่าพลางกางโปสเตอร์ที่สะสมให้ผมกับพ่อได้ชื่นชมทีละแผ่น มีหมดไม่ว่าจะเป็นหนังไทย ฮอลลีวูด หรืออินเดีย บางแผ่นเป็นฉบับจริงที่เก็บรักษาไว้ตั้งแต่วันที่หนังฉายครั้งแรก บางแผ่นก็เป็นฉบับที่พิมพ์ใหม่ภายหลัง โปสเตอร์แผ่นสุดท้ายของหนังบางเรื่องอาจมีอยู่แค่ที่นี่เท่านั้นก็เป็นได้
แผ่นที่นักสะสมชื่นชอบที่สุดเห็นทีจะเป็นใบปิดหนังเรื่อง โทน จาก พ.ศ. 2513 เขาเล่าว่า แม้ตอนได้มาจะ ‘ช้ำ’ หมดแล้ว เขาก็ยังอยากเก็บไว้อยู่ดี
พ่อของผมที่เก็บใบปิดหนังเก่าเหมือนกัน แหย่ถามโกอ้วนดูเล่น ๆ ว่าคิดจะขายโปสเตอร์ที่สะสมบ้างมั้ย โกอ้วนสวนทันควันว่าไม่คิดและไม่ขายแน่นอน ทั้งที่จริง ๆ หากขายน่าจะได้เงินหลักแสนก็ตาม
“ผมชอบ บรูซ ลี ชอบทุกเรื่อง หนังไทยชอบสรพงษ์ ชาตรี หนังแบบ แผลเก่า น่ะ แต่ถ้าเป็นหนังฝรั่งนิชอบคาวบอย ชาร์ลส์ บรอนสัน พวก อย่าแหย่เสือหลับ” โกอ้วนว่าขณะม้วนใบปิดให้เข้าที่
เขียนสด ไม่ใช้เครื่องพิมพ์
“ผมมาวาดตอนเกษียณ ขอสักทีวะ มันคาใจ เราก็มาถึงขึ้นนี้แล้ว น่าจะวาดได้แล้ว”
โกอ้วนตอบเมื่อเราถามถึงภาพวาดใบปิดของภาพยนตร์เรื่อง เขาชื่อกานต์ ที่วางเด่นอยู่ไม่ห่างจากโต๊ะทำงาน หลังจากได้ทักทายกันเมื่อ พ.ศ. 2516 ผ่านมา 50 ปี โกอ้วนในวัย 63 ก็ตัดสินใจลงมือร่างแรงบันดาลใจแรกที่ส่งให้เขาเป็นอย่างที่เป็นทุกวันนี้ ผมทึกทักเอาเองว่า ถ้าอายุมากขึ้น ฝีมือในการทำงานศิลป์น่าจะแย่ลง แต่ชายตะกั่วป่ากลับแย้งว่าพอแก่แล้วมือขึ้นกว่าเดิม
แม้จะเกษียณอายุราชการได้ 3 ปี โกอ้วนก็ยังคลุกคลีกับรูปภาพไม่ต่างจากตอนประถมที่วาดรถถัง ก่อนเราจะมาถึง สมาธิของเขาจดจ่ออยู่กับสามชิ้นงานที่ทำสลับกันอย่างสบายอารมณ์
ชิ้นแรก คือภาพเหมือนของหญิงสาวที่รอการเก็บรายละเอียด อีกภาพที่วางขนาบ คืองานที่ได้รับว่าจ้าง และสุดท้าย คือแผ่นโฟมซึ่งรอการแต่งแต้มตัวอักษรสีแดงเพื่อใช้ในงานปฐมนิเทศของโรงเรียนที่ตั้งอยู่หน้าปากซอย
“ผมนั่งทำงานตรงนี้แหละ ทำทีละอันก็เบื่อ จำเจไม่ได้ ต้องผ่อนคลาย ทำอันนี้ พัก เปลี่ยนมาทำอีกอัน”
ภาพเล็ก ๆ แบบนี้ วาดง่ายกว่าสมัยที่ทำคัตเอาต์หนังมั้ย – ผมถาม
“คัตเอาต์ง่ายกว่า มันใหญ่ บางทีเราทิ้งรอยแปรงไว้บนนั้นได้เลย เขาถึงเรียกกลิ่นสีทีแปรง ดูไกล ๆ ก็สวย แต่เดี๋ยวนี้วาดรูปเล็ก รายละเอียดเยอะ” คุณลุงตอบ
ก่อนเดินทางกลับ ผมกับพ่อเดินชมห้องสี่เหลี่ยมที่โกอ้วนใช้ทำงานเพื่อซึมซับรายละเอียดเป็นครั้งสุดท้าย ลายเส้นอ่อนเข้มเหล่านี้คงประทับอยู่ในความทรงจำของผมไปอีกสักพัก ก่อนจะเลือนรางจางไปตามเวลา เพราะฉะนั้น ผมจึงภูมิใจที่ได้มีโอกาสส่งต่อเรื่องราวของช่างวาดคัตเอาต์ผู้นี้ก่อนที่ตัวเองจะหลงลืม
หน้าที่ของภาพวาดมีหลากหลาย ในมุมหนึ่งก็เป็นช่องทางในการถ่ายทอดจินตนาการของเหล่าศิลปินสู่โลกกว้าง ในบางมุม ภารกิจของสีสันก็คือการประชาสัมพันธ์ให้ผู้คนตบเท้าเข้ามาดูหนังในโรง และอีกทาง มันคงเป็นหลักฐานราง ๆ บนหน้าประวัติศาสตร์ซึ่งช่วยหยุดเวลา ณ ห้วงนาทีหนึ่งเอาไว้
ภาพวาดทั้งหลายในสตูดิโอของศิลปินแห่งตะกั่วป่าช่วยให้ผมได้เข้าใจประวัติศาสตร์ซึ่งความเปลี่ยนแปลงพรากไปจากคนรุ่นใหม่ และวันนี้ แม้โลกจะมีอินเทอร์เน็ต เครื่องพิมพ์ และภาพถ่าย โกอ้วนก็ยังคงใช้พู่กันบันทึกเหตุการณ์มากมายเพื่อให้ลูกหลานได้รับรู้
“ยังวาดทุกวัน ผมไม่เคยหยุด ทุ่มเทเต็มที่ ตอนโควิดผมก็วาดบันทึกเรื่องราวโควิด วาดจนส่งลูกเรียนได้ 3 คน” โกอ้วนเอ่ยอย่างภาคภูมิเมื่อผมเดินมาถึงหน้าใบปริญญาของลูกชาย
วาดมา 50 ปี ไม่เบื่อบ้างเหรอ – ผมถามคำถามสุดท้าย
“ไม่เบื่อ มันคือความสุขของผม มันเสพเข้าไปแล้ว เหมือนคนติดยา เรื่องจริงนะ คนเล่นดนตรี วันไหนไม่ได้เล่นก็คันไม้คันมือ ถ้าไม่ได้วาด ผมอยู่ไม่ได้จริง ๆ”