คุณหลับตาแล้วเห็นอะไร

แน่นอน จักรวาลใต้เปลือกตาของ ‘คนปกติ’ มีสีดำสนิท

แต่ โม-กมลเนตร ตรีสุพัฒน์ศิลป์ หรือ MosaiZ ไม่เคยเห็นสีดำ นั่นทำให้เธอถูกมองว่า ‘ไม่ปกติ’ มาเกินครึ่งชีวิต

โมบอกว่าเธอเห็นเป็นสีวิ่งผ่านไปมาเต็มไปหมดทุกค่ำคืน ยิ่งฉูดฉาด เปล่งประกายในความฝัน และฉับพลันที่เธอแปลงสารออกมาบนผืนผ้าใบคล้ายจะทำสำเนาความฝัน รูปนั้นก็เต็มไปด้วยสีสันจัดจ้านแบบที่ ‘คนปกติ’ อย่างเราคาดไม่ถึง

เธอเป็นศิลปิน ออกหนังสือชื่อ แม้บิดเบี้ยวเพียงใด จงโอบกอดไว้เถิด จัดนิทรรศการศิลปะในชื่อเดียวกันที่ 6060 Arts Space เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อบอกเล่าความแตกต่างหลากหลายที่เธอเผชิญมาแต่กำเนิด 

โมมองเห็นเป็นเสียง ได้ยินเป็นสี เรียกว่ากลุ่มอาการ Chromesthesia หรือ Sound-to-color เป็นหนึ่งในอาการซินเนสทีเซีย แปลไทยไว้อย่างสวยงามว่า การรับรู้ข้ามช่องสัมผัส 

“ถ้าบ้านอยู่ติดถนนใหญ่ก็คงจะฝันแหลก” โมตอบแล้วหัวเราะ

ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่สตูดิโอศิลปะของเธอไม่ติดถนนใหญ่ แต่ขนาดกะทัดรัดพอให้โมจมจ่อมอยู่กับการบรรเลงฝีแปรง ปั้นดินให้เป็นเซรามิก จิบชา เล่นดนตรีบ้างบางเวลา และเอนกายฟังเสียงนกคุยกันแจ

“สีเขียว” เธอร้องทักตอนที่เสียงหม้อน้ำดังขึ้นระหว่างสนทนา

“สีน้ำตาล” คือสีที่เธอเห็นจากน้ำเสียงของเรา

โมเคยมองซินเนสทีเซียเป็นคำสาปที่ไม่มีวันอยู่ร่วมกันได้ในร่างกายนี้ เพราะมันทำให้เธอไม่เหมือนคนอื่นเขา

โมใช้เวลาหลายสิบปีเพื่อโอบรับโดยไม่มองว่ามันเป็นพรสวรรค์ แต่คือธรรมดาสามัญของชีวิต

กมลเนตร

กมลเนตร แปลว่า มีตางามเหมือนดอกบัว 

เหมือนตลกร้ายที่เธอเกิดมามีตาดี แต่ออกจะดีเกินไปเสียหน่อย

“ปกติชอบกินชา เพราะอร่อย มีกลิ่นหอม แต่ต้องกินตอนเย็น ๆ กินตอนร้อนแล้วรู้สึกกลิ่นออกไม่เยอะเท่าไหร่” โมเล่าขณะยกน้ำชาเย็นชื่นใจมาเสิร์ฟแขกผู้มาเยือน

พอมีอาการซินเนสทีเซียติดตัว ทำให้กินอาหารสนุกขึ้นไหม – เราจิบชา ส่วนโมพยักหน้า

อย่างชานี้ล่ะ – เราถามต่อ ส่วนโมตอบว่าเธอเห็นสีขึ้นมาจาง ๆ

“แต่ไม่เคยจำหรอกว่าเป็นสีอะไร เพราะเห็นกับทุกอย่างเลย เดี๋ยวจะเป็นบ้าไปซะก่อน” 

ได้เห็น ได้ยิน ได้กิน ได้กลิ่น ล้วนแล้วแต่เป็นสีลอยละลิ่วอยู่บนม่านตา ติดตัวมาแต่กำเนิด แต่เธอก็เลือกที่จะไม่เล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังแม้แต่คนเดียว

“เขาชอบบอกให้เราเป็นคนปกติ ทำตัวเหมือนคนอื่น อะไรที่ไม่เหมือนคนอื่นก็เอาใส่กล่องเก็บไว้” โมย้อนความถึงวัยเด็กซึ่งเป็นความทรงจำที่ไม่ดีเท่าไหร่นัก

“รองเท้าไม่เคยครบคู่ หนังสือเคยอยู่ในถังขยะ เราพูดไม่ค่อยเยอะมั้งเลยดูน่ารังแกเป็นพิเศษ แต่ก็เพราะคิดว่าเราแปลกแยก มองเห็นไม่เหมือนเพื่อน แล้วก็เป็นคนพูดช้าอยู่แล้ว ตามเขาไม่ทันหรอก”

ยิ่งพออายุเข้าเลข 2 ที่สมองกับร่างกายเจริญเติบโตเต็มที่ยิ่งแล้วใหญ่

“ตอนประมาน 20 นี่นรกเลย ใช้ชีวิตลำบาก เพราะสีชัดมาก เห็นเป็นก้อนวิ่งไปหมด แต่ก็ยังไม่ได้บอกใครอีก กลัวจะประหลาดมากไป

“มันเป็นเหมือนคำสาป เพราะครึ่งชีวิตแรกอยู่ด้วยความรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่เราเห็นคนเดียว แบ่งใครไม่ได้ แล้วพอเงียบไว้นาน ๆ เข้า กลายเป็นเรามีโลกอีกใบ เวลาออกไปเจอคนอื่นก็เหมือนต้องกั้้นโลกใบนั้นเอาไว้”

เธอเก็บงำความลับชั่วชีวิตจนเรียนจบจากรั้วสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก่อนระหกระเหินไปเรียนต่อที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ถึงได้รู้ว่าอาการที่เธอเป็นเรียกว่าอะไร

“เพื่อนที่นั่นบอกว่าเราเป็นซินเนสทีเซีย” และโลกที่เคยแบกไว้ก็แตก “คำตอบที่เราหาหล่นมาจากฟ้าง่าย ๆ เลยเหรอ แล้วไม่ใช่ฉันเป็นคนเดียวด้วยนะ มีคนเป็นตั้งเยอะแยะ”

แต่ถึงกระนั้น โมก็ยังไม่ปักใจเชื่อ

ด้วยความที่เธอมองเห็นสีไม่สม่ำเสมอ เดี๋ยวมา เดี๋ยวหาย โมเลยวนเวียนอยู่กับคำถามใหม่ที่ว่า มันใช่จริงหรือเธอแค่คิดไปเอง อีกเป็น 10 ปี จนอายุเข้าเลข 3 เธอก็ได้คำตอบมหัศจรรย์

“จริงไม่จริงแล้วไง ก็ฉันเห็น” โมหนักแน่นในน้ำเสียง

“ใครจะมาชี้ว่านี่พิสูจน์ไม่ได้ ก็แล้วไง ฉันเห็น ไม่ว่าจะเป็นยังไงก็ควรจะพอใจในสิ่งที่ตัวเราเป็นอยู่ เลยปล่อยวางและเริ่มพูดถึงมันมากขึ้น

“มีคนถามเยอะว่าต้องรักษายังไง เราตอบเขาว่าถ้ารักษาได้ก็รักษาไปตั้งนานแล้ว มันไม่ใช่โรค มันเป็นที่สมอง (หัวเราะ) ตาบอดสีมีคนเป็นเยอะ ถูกศึกษาจนทะลุปรุโปร่ง แต่คนเป็นแบบเราไม่มากพอให้ศึกษาจริงจังได้”

เธอกลับมาบ้าน มองภาพสเกตช์เก่า ๆ ของตัวเองที่ซีดเซียว ฉีกขาดไปบ้าง บรรจุช่วงเวลาการอยู่ต่างประเทศที่เธอบอกว่ามีความสุขที่สุดเอาไว้มากมาย และตัดสินใจรวบรวมมัน ตีพิมพ์เป็นหนังสือ 1 เล่มด้วยความกล้าหาญ

“อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด เผื่อจะมีคนที่เหมือนเรา” โมเปิดเผยจุดประสงค์

“เราเคยเกลียด อยู่กับมันไม่ได้ ไม่พอใจตัวเอง วาดรูปอะไรออกมาก็เห็นแต่จุดที่ไม่ดี คิดว่าฉันแบกโลกไว้ ฉันเพี้ยน บ้ารึเปล่า จนวันหนึ่งพบว่าไอ้ที่แบกไว้ไม่ได้ใหญ่ แทบไม่มีอะไรเลย”

MosaiZ

“แต่ไหนแต่ไร เพนต์เสร็จแล้วก็เอางานใส่ตู้เสื้อผ้า”

ด้วยวัยเด็กที่เก็บเงียบกับความลับที่เก็บงำ เลยทำให้โมเป็นศิลปินตัวน้อยที่รอวันเฉิดฉาย แม้จะเก็บรูปเอาไว้มากมายจนต้องสร้างสตูดิโอของตัวเองขึ้นมา

โมชอบวาดรูปตั้งแต่จำความได้ เลือกเรียนสถาปัตยฯ จุฬาฯ เพราะอยากให้ทักษะการวาดรูปของตัวเองกลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เรียนจบมาประกอบอาชีพออกแบบฉากละคร ทำ Motion Graphic เป็นนักออกแบบภายในราว ๆ 10 ปี และมีความสุขมากกับการเดินเข้าโรงแรมที่หลุดออกมาจากจินตนาการของตัวเอง

“แต่ทุกวันนี้รู้สึกว่าถ้าอยากทำงานศิลปะ ก็ทำงานศิลปะไปเลย โรงแรมสร้างมาสวยแค่ไหน 10 ปีก็ต้องถูกรีโนเวต แต่ถ้าเป็นเซรามิก เป็นศิลปะ อีก 100 ปีก็ยังอยู่ถ้ามีคนดูแลมันดี ๆ” 

น่าคิดว่าภาพประสบการณ์ชีวิตของเธอจะออกมาในรูปแบบไหน

“ไม่ใช่ค่ะ ปกติไม่วาดเรื่องตัวเองเลย” โมกลับตอบสวนทาง และบอกว่ามีเพียงนิทรรศการนี้เท่านั้นที่หยิบยกเรื่องเล่าจากหนังสือมาขยายความต่อเป็นภาพใหม่ จึงต้องเล่าเรื่องตัวเองอีกครั้ง

“ส่วนใหญ่จะวาดแบบบุคลาธิษฐาน ไม่มีตัวจริงบนโลก เป็นสายลม ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ 

เป็นความเชื่อ วาดนามธรรมออกมาเป็นคน” เธอว่าพลางเปิดรูปภาพหน้าตาของความอยากรู้อยากเห็น และภาพตัวละครแหวกม่านที่แทนถึงความกล้าหาญของเธอให้ดู

“เราเห็นเป็นก้อนอารมณ์แล้วตีความออกมาเป็นเส้น มากกว่าจะบอกว่าคนนี้เป็นฉัน ในงานจะมีแค่รูปเดียวที่วาดตัวเองจริง ๆ แล้วก็มีคนสังเกตว่าทำตัวละครมีผมสั้นกับผมยาว เราก็มานั่งคิด 

“ได้ความว่าคนผมยาวไม่ใช่เรานะ แต่เป็นนามธรรมของอะไรสักอย่าง ไม่ใช่คน แต่ถ้าผมสั้นเป็นเราแน่นอน เหมือนมีภาพทับซ้อนของตัวเองตลอดเวลา”

นิทรรศการของเธอชื่อเดียวกับหนังสือ แต่นอกจากจะเล่าเรื่องตัวเองแล้ว เป้าหมายอันยิ่งใหญ่คือการสร้างการรับรู้เรื่อง Neuro Diversity ว่าอะไรคือ ‘ความไม่ปกติ’ ที่ผู้คนกล่าวอ้าง และทุกคนต่างก็มีปัญหาของตัวเองที่ต้องจัดการก่อนจะโอบรับไว้

“มีคนที่จำหน้าคนอื่นไม่ได้เลย เพราะแทนที่จะเห็นเป็นหน้าคน เขาเห็นเป็นรูปทรง เป็นสี มีคนที่มาในนิทรรศการแล้วเป็นซินเนสทีเซีย เขาก็ไม่ได้เห็นเป็นภาพสีแบบเรา แต่เห็นเป็นเลเยอร์ในหัว มีคนที่เขาได้ยินเสียงแล้วรับรสได้ รู้สึกในปาก เช่น ได้ยินเสียงเราแล้วบอกว่าเหมือนเจเล่สีเขียว 

“หรือลองลบคำว่าซินเนสทีเซียทิ้งไป แล้วเอาก้อนอื่น ๆ ในใจเข้าไปแทนก็ยังได้ เราแค่ต้องอยู่กับมัน”

เราถามต่ออย่างนึกสงสัยว่าคนเผ่าพันธุ์เดียวกันเขาคุยกันยังไง เมื่อทราบว่ามีคนเป็นซินเนสทีเซียเข้ามาชมนิทรรศการของเธอด้วย โมยิ้มร่าก่อนจะเล่าให้ฟังอย่างมีความสุข

“เราเชื่อว่าสีของเรากับของเขาไม่เหมือนกัน แต่เราสัมผัสได้ถึงอะไรบางอย่าง 

“เขาก็เป็นศิลปินเหมือนกัน เราคุยกันว่าจะถ่ายทอดสิ่งที่เห็นออกมาได้ยังไง เพนต์เสียงยังไงให้ออกมาสวย เพราะสีมันสวยมากและเป็นภาพเคลื่อนไหว ยิ่งเวลาฟังเพลงที่ดนตรีหนักแน่นมาก ฉันเห็นสีป๊อปขึ้นมาไม่ขาดสาย เธอล่ะ ฟังแล้วได้รสอะไร”

โมบอกว่าดูจากคำถาม จากสายตา วิธีการมองศิลปะ เธอก็พอจะเดาออกแล้วว่าคนนี้มองเห็นเหมือนเธอ อย่างคนในแวดวงดนตรีที่มักพูดกันว่าคอร์ดเมเจอร์สว่างกว่าไมเนอร์ หรือนักชิมไวน์ที่บอกได้ว่ารสชาติกลม ดื่มแล้วเหมือนสีแดงก็เช่นกัน 

คิดว่าซินเนสทีเซียทำให้ทำงานศิลปะได้ดีรึเปล่า ในเมื่อตัวอย่างที่เธอหยิบยกมาดูจะเป็นคนในวงการแทบทั้งนั้น – เราถาม

“ไม่แน่ใจเหมือนกัน เราไม่เคยมีภาพชีวิตที่มองไม่เห็น” เธอตอบ ก่อนเปิดเผยความลับอีกข้อ 

“เราไม่ค่อยดึงสีมาใช้หรือใช้ขาวดำไปเลย เพราะเห็นสีมาเยอะมากแล้ว บางทีนั่งเพนต์รูปก็ต้องเปิดเพลง เพราะกลิ่นสีไปรบกวนการเลือกสีของเรา ถ้ากลิ่นออกไปทางสีน้ำเงิน เดี๋ยวมือจะไปจ้วงสีน้ำเงิน แล้วพอสีมันเละไปหมดก็จะไม่สนใจอีกต่อไป” โมหัวเราะ

แม้บิดเบี้ยวเพียงใด จงโอบกอดไว้เถิด

ถ้าคุณอ่านทั้งหมดนี้ออกได้ในปราดเดียว เราคิดว่าคุณต้องคุยกับโมสนุก

‘ดิสเล็กเซีย’ หรือภาวะผิดปกติทางด้านการอ่านและการเรียนรู้ภาษา คืออีกหนึ่งกลุ่มอาการที่โมมีติดตัวแต่กำเนิด 

นั่นทำให้เธออ่านหนังสือกลับหัวกลับหางได้สบาย เป็นเด็กที่ทำข้อสอบเก่งเพราะจดจำบทเรียนเป็นภาพ อ่านหนังสือไวมากจากการแบ่งคำเป็นชุดจนพ่อแม่ต้องซื้อพ็อกเกตบุ๊กเล่มหนาให้อ่านเพราะเปลืองหนังสือ แต่นั่นก็ทำให้เธอยืนร้องไห้หน้าสถานีรถไฟ เพราะสะกดชื่อสถานีไม่ได้จากการเรียงใหม่ของแป้นพิมพ์ที่ไม่คุ้นชิน

เราบอกว่าเธอมีทักษะหลายอย่างที่พิเศษมาก แต่โมไม่ได้มองเป็นทั้งคำสาปหรือพรสวรรค์ เราถามต่อสนุก ๆ ว่า หากถูกบอกมาตลอดชีวิตว่า ‘ไม่ปกติ’ แล้วโมเคยคิดถึงโลกที่มี ‘คนปกติ’ เป็นซินเนสทีเซียบ้างรึเปล่า

“ไม่เคยคิดถึงเลย เพราะเราเชื่อว่าไม่ควรจะแบ่งแยกว่าคนนี้ปกติ คนนี้ไม่ เราควรจะอยู่ร่วมกันได้ทั้งคนที่เห็นและไม่เห็น ถ้าโลกนี้มีแต่คนเป็นซินเนสทีเซียเป็นพลเมืองหลักของโลก คนที่ไม่เห็นก็คงรู้สึกเหมือนที่เรารู้สึกตอนนี้

“การมีภาวะนี้ทำให้เราโอบกอดความหลากหลายมากขึ้น ไม่ฟันธงว่าใครเป็นแบบไหน ทำให้เราใจกว้างขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องพยายาม เริ่มต้นจากการใจกว้างกับตัวเอง”

แม้จะมีวัยเด็็กที่โมบอกว่าบัดซบ แต่ก็ทำให้เธอเป็นได้อย่างทุกวันนี้ หรือแม้จะรอเวลากว่า 40 ปี เพื่อตกตะกอนชีวิตให้อยู่ร่วมกับตัวตนที่เคยชิงชังได้ในที่สุดก็ตาม

“ช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่มา” โมยิ้ม “มีคนอีกมากที่ยังหามุมนั้นในตัวเองไม่ได้ เขาต้องผ่านอะไรมาเยอะก่อน ถ้าชีวิตสวยงามมาตลอดแล้วตกหลุม 1 ทีก็คงเหมือนพังทลาย แต่เราผุพังมาแต่ไหนแต่ไรเลยมีภูมิคุ้มกันที่ดี

“เราชอบตัวเองทุกรูปแบบ กระทั่งเวอร์ชันที่ไม่พูดและอยู่เงียบ ๆ ถึงจะขม มีซอกเล็ก ๆ มืด ๆ ที่เราเกลียดซุกอยู่ แต่เราก็ชอบมัน

“เราเป็นคนเรื่อย ๆ ไม่ใช่คนยิ่งใหญ่อะไร แค่ใช้ความพยายามกับความกล้าหาญค่ะ”

Writer

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

ชลลดา โภคะอุดมทรัพย์

นักอยากเขียน บ้านอยู่ชานเมือง ไม่ชอบชื่อเล่นที่แม่ตั้งให้ มีคติประจำใจว่าอย่าเชื่ออะไรจนกว่าหมอบีจะทัก รักการดูหนังและเล่นกับแมว

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน