ปกติเราไม่ค่อยไปตลาดน้อยสักเท่าไหร่ แถมยังจำครั้งแรกและครั้งล่าสุดที่ไปก่อนหน้านี้ไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม ภารกิจของเราในวันนี้ไม่ใช่การไปเดินเที่ยวเล่น หาของกิน กระทบไหล่กับชาวต่างชาติในละแวกนั้น แต่จะว่าไปแล้ว ภารกิจที่นำมาสู่บทความนี้ก็มีชาวต่างชาติเกี่ยวข้องอยู่จริง ๆ นั่นแหละ

โดยภารกิจของเราคือการไปพูดคุยกับ Morris Robinson ชายหนุ่มจากเยอรมนีที่พูดไทยได้นิดหน่อย มีชื่อเล่นภาษาไทยว่า โมโม เป็นเจ้าของแบรนด์เสื้อผ้าทำมือจากมหานครนิวยอร์ก และเขาคือเจ้าของ ‘MOMO TALAT NOI’ ร้านเสื้อผ้าแฮนด์เมดที่ย่านตลาดน้อย กรุงเทพมหานคร 

MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อยที่สร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น สนับสนุนช่างฝีมือไทย ผ้าท้องถิ่นไทยและอินเดีย
MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อย

ตัวร้านมีขนาดกะทัดรัดจัดว่าน่ารัก เต็มไปด้วยเสื้อผ้าและกระเป๋า มีรองเท้าวางเรียงราย ผ้าลายไม่คุ้นตา พร้อมโซนตัดเย็บอยู่ด้านหลังร้านซึ่งแบ่งพื้นที่ด้วยม่านกั้นฉาก ที่ต้องมีม่าน เพราะเป็นส่วนให้ลูกค้าเข้าไปลองชุดอีกต่อหนึ่ง และสิ่งหนึ่งที่เขาย้ำกับเราเมื่อพูดถึงตัวร้านก็คือ ร้านนี้ต้องมีต้นไม้

ก่อนไปไกลกว่านี้ เราขอแนะนำให้รู้จักกับร้าน ‘MOMO TALAT NOI’

นี่เป็นร้านเสื้อผ้าแฮนด์เมดไม่ทั่วไป อยู่ท่ามกลางร้านอะไหล่เซียงกง ที่บอกว่า ‘ไม่ทั่วไป’ เพราะผ้าลายไม่คุ้นตาเหล่านี้มีที่มาจากประเทศอินเดีย โดยลูกค้าเดินไปเลือกผ้าที่ชอบ แล้วบอกเขาได้เลยว่า อยากนำผ้าผืนนั้นไปตัดเย็บเป็นเสื้อคลุมกิโมโน เพราะอย่างที่บอกไป ร้านนี้มีช่างฝีมืออยู่ในร้าน

อีกหนึ่งสิ่งที่ทำให้ร้านนี้ไม่ทั่วไปและแตกต่าง จะว่าเป็นข้อสำคัญก็ไม่ผิดนัก

สิ่งนั้นคือ แบรนด์โมโม ทั้ง MOMO NEW YORK และ MOMO TALAT NOI ให้ความสำคัญกับ Slow Fashion เน้นสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและอุตสาหกรรมแฟชั่น มีจริยธรรมต่อแรงงาน ซึ่งมอริสอยากให้บรรดาช่างตัดเย็บทุกคนของเขาภูมิใจในชิ้นงานของตน มากกว่าการเป็นแค่แรงงานในอุตสาหกรรม Fast Fashion ที่นอกจากผ่านมือคนทำอย่างเร็วแล้ว ยังผ่านตัวผู้สวมใส่ไปอย่างรวดเร็วกว่าอีก

Style from Me 

เราเริ่มต้นการพูดคุยด้วยคำถามง่าย ๆ และเป็นข้อสงสัยเบื้องต้น นั่นคือ ทำไมแบรนด์ MOMO NEW YORK (ต้นกำเนิดของแบรนด์อยู่ที่นิวยอร์ก ซึ่งมอริสย้ายจากเยอรมนีไปอยู่ที่นั่น) ที่เคยขายทางออนไลน์มาโดยตลอด ถึงเลือกมาเปิดหน้าร้านที่ประเทศไทยในชื่อ MOMO TALAT NOI 

มอริสตอบกลับคำถามง่าย ๆ ด้วยท่าทีสบาย ๆ ว่า เพราะเขาชอบบรรยากาศของย่านนี้ แน่นอนว่านั่นไม่ใช่ทั้งหมด มอริสอธิบายต่อเพื่อขยายความประโยคข้างต้นให้ครบถ้วนทุกใจความที่อยากสื่อ

MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อยที่สร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น สนับสนุนช่างฝีมือไทย ผ้าท้องถิ่นไทยและอินเดีย

“เราเปิดหน้าร้านเพราะต้องการพื้นที่ตัดเย็บเป็นหลัก ด้วยความที่สินค้าของเราเป็นงานทำมือและตัดเย็บกันเองภายในร้าน จึงต้องการพื้นที่รองรับลูกค้า เมื่อเขามา ก็จะเลือกผ้าที่มีอยู่ภายในร้าน แล้วส่งต่อให้ช่างตัดเย็บตามแบบที่ต้องการได้ทันที บางครั้งเสื้อผ้าที่ออกมาจากความต้องการของลูกค้าก็มาจากสไตล์ของเราเป็นหลัก แต่บางครั้งเรากลับได้สร้างสรรค์สไตล์ใหม่ ๆ ร่วมกับลูกค้าเสียอย่างนั้น”

มอริสไม่ได้เจาะจงว่าสไตล์เสื้อผ้าที่เขาออกแบบต้องเป็นอย่างไร มีหน้าตาแบบไหน และจุดขายหลักคืออะไร เพราะความต้องการของลูกค้าลื่นไหลและหลากหลาย อีกส่วนหนึ่งมาจากการที่เขาเป็นนักออกแบบผู้ไม่ได้สนใจแฟชั่นกระแสหลักมากนัก แต่เขาเลือกใส่ใจกับเนื้อผ้าและให้คุณค่างานฝีมือมากกว่าตอบรับความต้องการของตลาด และนั่นก็ส่งผลให้ชิ้นงานของเขาออกมามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

หากต้องจำกัดความสไตล์ที่ว่าจริง ๆ มอริสบอกว่า ‘โบฮีเมียน’ น่าจะเข้าเค้าที่สุดเมื่อมองจากภาพรวมของร้าน แต่เขาเชื่อว่าการออกแบบบางสิ่งบางอย่างนั้นไม่ต่างอะไรจากการสะท้อนความเป็นตัวเองลงไปบนผลงานที่ออกมา เพราะอาจเป็นไปไม่ได้เลยที่จะจำกัดความคนใดคนหนึ่งด้วยคำคำเดียว

Material from Them 

เราเขียนในช่วงเปิดว่า ผ้ามาจากประเทศอินเดีย ทันทีที่ได้ยินก็รู้สึกถึงความน่าสนใจ และอาจมีข้อมูลเบื้องลึกเบื้องหลังที่ทำให้ ‘ผ้า’ มีความหมายมากกว่าเป็นวัสดุรอเข้ากระบวนการตัดเย็บ

“เพราะผ้าอินเดียมีสีสันสดใสและสวยงามมากครับ” มอริสตอบคำถามเราในทันที

“เพราะเราอยากสนับสนุนช่างฝีมือท้องถิ่นในประเทศอินเดีย ซึ่งผ้าที่เราสนับสนุนก็มาจากธุรกิจครอบครัวขนาดเล็ก บางคนเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวที่ทำงานหาเลี้ยงทั้งครอบครัว และอีกหนึ่งเหตุผล คือเราต้องการกระจายรายได้จากประเทศที่มีรายได้สูงไปยังส่วนอื่น ๆ ของโลก” เขาขยายความเพิ่มเติม

แน่นอนว่าไม่ได้มีแค่อินเดีย แต่ประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในแหล่งที่มาของผ้าที่มอริสเลือกใช้ เขาสนับสนุนผ้าไหมไทย ผ้าทอจากเมืองน่าน และผ้าจากชนเผ่าต่าง ๆ ในภาคเหนือ เพื่อนำมาแปลงโฉมเป็นเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า รวมถึงรับซื้องานผ้าทอมือจากชนเผ่ามาวางขายที่หน้าร้านอีกต่อหนึ่ง

“เรารู้สึกดีเสมอที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนงานฝีมือ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่นในพื้นที่นั้น ๆ และเรายังได้มีส่วนช่วยให้วัฒนธรรมที่แฝงอยู่ในลายผ้าเหล่านั้นได้ออกสู่สายตาผู้คนทั่วโลก”

หากผู้อ่านเดินชมร้าน แล้วเกิดแรกพบสบตากับลวดลายของผ้าที่ถูกใจใช่เลย จงอย่าลังเล เราแนะนำให้เดินไปทักทายและบอกกับร้านว่า อยากใช้ผ้าผืนนี้มาเป็นวัสดุหลักในการตัดเย็บเสื้อคลุมกิโมโน (ที่มีตัวเดียวในโลก) และหนึ่งในไฮไลต์ของร้าน ก็คือการเลือกเสื้อผ้าตามใจปรารถนานี่แหละ

“ในต่างประเทศเราขายรองเท้าบูตเป็นส่วนใหญ่ แต่เราเดาว่าคนไทยคงไม่นิยมสวมบูต เพราะอากาศร้อนมาก” มอริสหัวเราะ “หลายคนน่าจะชื่นชอบกิโมโนมากกว่า เพราะเนื้อผ้าบาง ลวดลายไม่ตายตัว ใช้ผ้าหลายแบบมาเย็บรวมกันได้ และใส่ได้หลายโอกาส จะทางการหรือวันสบาย ๆ ก็ได้”

Sustainable & Ethical Fashion for You

เมื่อเราชวนสนทนาถึงความยั่งยืน มอริสอธิบายว่าเขาไม่สต็อกสินค้าจำนวนมาก เพราะผ้าหรือผลิตภัณฑ์เหล่านั้นจะกลายเป็นของเหลือเก็บที่ไม่ถูกนำไปใช้ประโยชน์ กลับกัน เขาเลือกใช้ผ้ารีไซเคิลเป็นวัสดุหลักในการผลิต บางชิ้นเป็นเพียงเศษผ้าชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่นำมาเย็บรวมกันให้กลายเป็นผ้าผืนใหญ่และผืนใหม่ เพราะเขาอยากสร้างขยะให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ พร้อม ๆ กันยังก่อให้เกิดกระบวนการหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีความรับผิดชอบต่อโลกในฐานะแบรนด์เสื้อผ้ารักษ์โลก

MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อยที่สร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น สนับสนุนช่างฝีมือไทย ผ้าท้องถิ่นไทยและอินเดีย
MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อยที่สร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น สนับสนุนช่างฝีมือไทย ผ้าท้องถิ่นไทยและอินเดีย

ต่อมาคือจริยธรรม มอริสบอกเราด้วยน้ำเสียงหนักแน่นว่าคนจำนวนมากที่ทำงานให้เขาไม่ได้กำลังทำมาหากินเพื่อเลี้ยงแค่ตัวเองเท่านั้น แต่ใครหลายคนต่างเป็นแรงงานที่กำลังหาเลี้ยงคนทั้งครอบครัวซึ่งการจ่ายค่าจ้างเพียงน้อยนิด ย่อมเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ในแง่จริยธรรมที่มีต่อแรงงาน ฉะนั้นแล้ว แบรนด์ของเขาจึงเต็มใจจ่ายค่าแรงด้วยความเป็นธรรม เพื่อสนับสนุนพนักงานที่ทำงานด้วยกัน

“สิ่งที่เราให้ความสำคัญมากที่สุดคือแนวทางในการทำงาน เพราะนั่นนำไปสู่ความพึงพอใจ และทุกครั้งที่ลูกค้ากลับมาหาเรา เขามักบอกว่าพวกเขาชื่นชอบและรักในสินค้าของเรามากขนาดไหน

“ความประทับใจของลูกค้ามีค่ามากสำหรับเราและช่างตัดเย็บของเรา เรานำคำชมจากลูกค้าไปบอกช่างฝีมือเสมอ ซึ่งตรงข้ามกับกระบวนการผลิตแบบ Fast Fashion ที่ผู้คนต้องนั่งทำงานอยู่ในโรงงานขนาดใหญ่ ผลิตของเป็นพัน ๆ ชิ้น โดยไร้ความรู้สึกต่อสิ่งของที่ผ่านมือของพวกเขาแม้แต่น้อย”

มอริสเสริมว่า ไม่ใช่แค่กับคนทำ แต่เขาอยากให้ผู้สวมใส่ ไม่ว่าจะเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า หรือเสื้อคลุมกิโมโน ภูมิใจกับผลงานที่ตัดเย็บและสร้างสรรค์ขึ้นมาจากวัสดุที่พวกเขาเลือกกันเองกับมือ

และเขาเชื่อว่า เขาและทุกคนสร้างความยั่งยืนได้ เช่นเดียวกับแบรนด์ของเขาที่เต็มไปด้วยไอเดียกว่า 1,000 อย่างที่รอการสร้างสรรค์ออกมา เราหวังว่านอกจากแฟชั่นของเขาจะมีคำว่า Slow แปะนำหน้าชื่อแล้ว ตัวเขาจะมีเวลามากขึ้นเพื่อสร้างไอเดียกว่า 1,000 อย่างให้ออกมาเป็นจริงดังที่เขาต้องการ

MOMO TALAT NOI ร้านเสื้อผ้า Slow Fashion จากนิวยอร์กสู่ตลาดน้อยที่สร้างความยั่งยืนในวงการแฟชั่น สนับสนุนช่างฝีมือไทย ผ้าท้องถิ่นไทยและอินเดีย
MOMO Talat Noi
  • 928 ซอยวานิช 2 แขวงตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร (แผนที่)
  • เปิดทุกวัน เวลา 10.00 – 20.00 น. 
  • 08 3530 1220
  • momonewyork.com
  • momotalatnoi

Writer

Avatar

พัทธนันท์ สวนมะลิ

เด็กกรุงเทพฯ ผู้เป็น Sneakerhead และ Cinephile ที่หอบเสื่อผืนหมอนใบมาเรียนเชียงใหม่ แล้วสุดท้ายก็กลับไปตายรังที่กรุงเทพฯ

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์