หม้อ กระทะ ตะหลิว ถ้วย ชาม และเสียงคุยโทรศัพท์กับคนที่บ้าน ทั้งหมดนี้คือนักแสดงนำที่ เค-คณิน พรรคติวงษ์ ใช้ในการถ่ายทำคลิปวิดีโอลงในเพจ แม่ เมนูนี้ทำไง แม้มีตัวละครไม่มาก ใช้ต้นทุนไม่สูง และถ่ายทำด้วยมุมกล้องแบบ Home Cooking แต่สิ่งที่เหล่าแฟนเพจรวมถึงตัวของเคเองได้กลับคืนมา ตีราคาได้เทียบเท่าระดับมิชลิน

หากคุณจะถามหาสูตรอาหารที่อร่อยตบโต๊ะ จนเชฟชั้นนำจากทั่วโลกต่างยกนิ้วให้ เคจะบอกให้คุณลองเปิด Cookbook หรือดูคลิปสอนทำอาหารอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่คลิปในเพจของเขา เพราะเชฟมือสมัครเล่นคนนี้ไม่ได้ต้องการนำเสนอว่าทำอย่างไรให้อาหารรสชาติดี แต่อยากเชื่อมให้คุณกับคนที่บ้านใกล้ชิดกันมากขึ้น ด้วยการโทรกลับไปถามพวกเขาว่าเมนูนี้ต้องทำอย่างไร

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

เคไม่ได้เป็นคนรักการทำอาหาร และไม่ได้ทำอาหารเก่งอย่างที่หลายคนรวมถึงเราเข้าใจ (เคบอกว่าแม่ของเขาก็ไม่ได้ทำอาหารเก่งเช่นกัน) ย้อนกลับไปเกือบ 9 ปีที่แล้ว เคเป็นเด็กหนุ่มจากจังหวัดสมุทรสาคร ย้ายมาอยู่ในเมืองเมื่อครั้งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย จนล่วงเลยไปถึงวัยทำงาน ปัจจุบันอาชีพหลักคือฟรีแลนซ์ครีเอทีฟโฆษณา และเริ่มมาเป็นเจ้าของเพจ ในวันที่รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่างเมื่อแม่ถูกรถชน

“ปลายปีที่แล้วแม่ถูกรถชน เกือบตายครับ เลยคิดว่าควรจะรีบทำอะไรสักอย่างกับแม่ ใช้เวลาให้มันคุ้มค่ากว่านี้”

ทำยังไงนะแม่

‘ฮัลโหล แม่ ถามไอ้หมูนั่นหน่อยดิ ชื่อหมูอะไรนะ หมูรวนเค็มเหรอ’

‘เออ ทำไม จะทำเหรอ’

‘เออ จะทำ เดี๋ยวพรุ่งนี้เช้าว่าจะทำ มันทำยังไงนะ’

ด้วยบทสนทนาที่เป็นธรรมชาติ เหมือนได้แอบฟังแม่ลูกคุยโทรศัพท์กันตามประสาคนไกลบ้าน ถามไถ่วิธีการทำอาหารและสารทุกข์สุขดิบของทั้งสองฝ่าย จึงทำให้ แม่ เมนูนี้ทำไง เติบโตขึ้นเร็วกว่าที่เคคาดคิด

เจ้าของห้องหยิบอุปกรณ์ในครัวออกมาตั้งเรียงรายทีละชิ้น ระหว่างนั้นเราจึงได้สำรวจสตูดิโอเล็กๆ แห่งนี้ไปด้วยอย่างตื่นตาตื่นใจ ไม่น่าเชื่อว่าภายในห้องพักเรียบๆ พื้นที่ไม่ได้กว้างขวางขนาดที่จะให้นอนเอกเขนกกันได้หลายสิบคน จะถูกใช้เป็นมุมภาพเคล้าคลอเสียงสนทนาระหว่างแม่ลูก และช่วยถ่ายทอดความคิดถึง ความอบอุ่น และความผูกพันไปสู่ปลายสายได้อย่างออกรสออกชาติ ไม่ต้องชิมก็รู้ว่ากลมกล่อมขนาดไหน

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่
แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

เหล่าลูกเพจที่ชื่นชอบสูตรการทำอาหารและบทสนทนาแบบห้วนๆ สั้นๆ แกมเสียงหัวเราะของครอบครัวนี้ หากไล่ระดับตามความอาวุโส ก็มีตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ ไปจนถึงรุ่นลูกในวัยทำงานหรือนักเรียนนักศึกษา แต่พวกเขาไม่ได้รู้จักเค แม่ และยายของเขาภายใต้ชื่อ แม่ เมนูนี้ทำไง มาตั้งแต่แรก 

เมื่อตัดสินใจว่าจะวางมือจากงานประจำที่ทำอยู่ เคจึงตั้งใจสร้างเพจที่มีชื่อเดียวกับชื่อจริงของตัวเองขึ้นมา เพื่อใช้ในการเก็บบันทึกผลงานด้านการทำครีเอทีฟ สองคลิปแรกอย่างหมูผัดปลาอินทรีย์เค็มและต้มผักกาดดองจึงถูกปล่อยออกมา โดยที่เขายังหันเหทิศทางได้ไม่ชัดเจนนัก แต่เมื่อต้องจับพลัดจับผลูนำผลงานในเพจไปส่งประกวดตามเวทีต่างๆ ประกอบกับถูกจริตของเหล่าผู้ดูทางหน้าจอแบบไม่ทันตั้งตัว เคจึงตัดสินใจเปลี่ยนชื่อเพจให้เรียกง่ายจำง่าย สื่อสารใจความได้ตรงประเด็น และหันมาเอาดีทางคลิปทำอาหารอย่างจริงจัง

“คลิปแรกลงไปเมื่อ 14 มีนาคม ของปีนี้เองครับ อยากจะทำเพจเพื่อเก็บผลงาน มีไอเดียอะไรก็กะว่าจะเอาลงเพจนี้แหละ แต่หลายอย่างมันก็เป็นเรื่องบังเอิญเหมือนกันนะ แม่เขารถชนตอนปลายปีที่แล้ว เราเลยคิดได้ว่า เฮ้ย ถ้าแม่ตายไปนี่ก็คือไม่ได้คุย ไม่ได้ทำอะไรให้เขาเลยนะ แต่พอนึกว่าจะคุย ก็ไม่รู้จะคุยเรื่องอะไร มันไม่เหลือเรื่องไหนให้คุยกับแม่แล้ว ถ้าเมื่อก่อนตอนเด็กๆ เราไม่รู้อะไรเรายังถามแม่ได้ แต่เดี๋ยวนี้เรารู้เองหมด มันก็เหลือแค่เรื่องกับข้าวนี่แหละ ที่น่าจะเป็นเรื่องให้คุยกันได้”

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

ครีเอทีฟโฆษณาที่กำลังฝึกทำอาหารให้คล่องขึ้นพบว่าการอัดคลิปทำอาหาร เป็นการรวมความสนใจทุกอย่าง ทั้งแม่และความฝันการเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ไว้ในที่เดียวกัน

โทรหาแม่

หากให้เคลองนึกย้อนกลับไปก่อนที่จะเริ่มทำเพจ เขาก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าคุยกับแม่ครั้งล่าสุดเรื่องอะไร แต่เมื่อ แม่ เมนูนี้ทำไง ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ แม่จึงกลายเป็นนักแสดงนำในคลิป และนักแสดงนำในหนังชีวิตที่เขากำกับเอง จากนั้นเคจึงจำได้เสมอว่าคุยกับแม่ครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ เรื่องอะไร

“คุยกันล่าสุดสามวันที่ผ่านมา ก็เรื่องงาน เรื่องทำคลิปนี่แหละครับ เดี๋ยวมีคนมาจ้างให้รีวิวอันนี้นะ แม่ว่างวันไหน โทรไปคุยได้ไหม เสร็จงานเราก็แบ่งตังค์กัน ถือว่าเขาเป็นนักแสดงในเพจ เราก็ต้องจ่ายค่าตัวให้เขาไป (หัวเราะ)”

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

สิ่งที่น่าแปลกใจคือ เคไม่เคยบอกแม่ก่อนเลยว่าจะทำเมนูอะไร อาศัยความเป็นธรรมชาติของแม่ในการนึกสูตร และบอกสูตรแบบจานต่อจาน บอกอีกครั้งก็อาจไม่เหมือนเดิม อาหารทุกอย่างที่เขาลงมือทำ จึงปรุงรสให้กลมกล่อมหอมละมุนด้วยบทสนทนาที่ไร้การปรุงแต่งใดๆ ซึ่งเคคิดว่านั่นเพียงพอแล้วที่จะทำให้คลิปออกมาสมบูรณ์ในแบบฉบับของมัน

ความเป็นธรรมชาติหรือสิ่งที่เคเรียกว่าความสด จึงอาจเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ แม่ เมนูนี้ทำไง เป็นที่รู้จักในบรรดาคนไกลบ้าน ลูกที่คิดถึงแม่ แม่ที่คิดถึงลูก รวมไปถึงคนที่ไม่กล้าโทรหาแม่

“มันอาจจะเป็นสิ่งที่คนเขารู้สึกกันอยู่แล้ว แต่แค่ไม่ได้ทำออกมา ลึกๆ ผมว่าคนเราก็อยากจะโทรหาแม่กันอยู่แล้วนะ”

พักหลังมา เคเพิ่มตัวละครลับที่มาช่วยสร้างสีสันในเพจได้อย่างเข้มข้มกลมกล่อมยิ่งกว่าเดิม คุณยายวัย 84 ปีที่เราเดาว่าแกอาจไม่ได้เมมเบอร์โทรศัพท์ของเคไว้ เพราะทุกครั้งที่หลานชายโทรไป ปลายสายจะทักทายด้วยประโยคเดิมทันทีว่า

‘ใครอะ’

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

หากเราลองเปิดคลิปปลาทูต้มเค็มและแกงเขียวหวาน จะพบว่ายายหลานคู่นี้หยอกล้อกันได้ถูกจังหวะจะโคนเหลือเกิน เหมือนคณะตลกตบมุกกันไม่มีผิด เราอยากทราบว่าทำไมเคถึงตัดสินใจแคสติ้งคุณยายให้มาเป็นนักแสดงนำร่วมด้วยอีกคน ในเมื่อเพจนี้ถูกตั้งชื่อจั่วหัวไว้แล้วว่า แม่ เมนูนี้ทำไง

“จริงๆ เพราะเพจมันเป็นเรื่องคนสองเจนฯ คุยกัน ยายก็เป็นเหมือนอีกเจนฯ หนึ่งที่เราก็ไม่ค่อยได้คุยกับเขา สำหรับหลายๆ คน ยายเป็นแม่อีกคนเหมือนกันนะ เพราะยายก็เลี้ยงมา กลัวคนเบื่อแม่ด้วยแหละ (หัวเราะ) เขาฟังแม่อย่างเดียวอาจจะเบื่อ เลยโทรหายายบ้าง คุยกับยายบ้าง”

เคเล่าว่าด้วยความที่แม่เป็นคนไม่ค่อยพูด ออกจะขรึมๆ และเงียบกว่าคุณยาย เขาจึงสนิทคุ้นเคยกับยายมากกว่า ซึ่งคลิปที่เคชอบมากที่สุด คือคลิปแกงเขียวหวานที่โทรไปถามสูตรจากยายเช่นกัน

“ยายตลกครับ ยายกวนตีน”

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่
ภาพ : www.facebook.com/mommenu.story

รสมือแม่

“แม่ไม่ได้ทำอาหารเก่งขนาดนั้นเลย แต่ผมว่าเราก็จะติดรสมือแม่กันทุกคน เหมือนฝีมือแม่ก็จะอร่อยที่สุดสำหรับเราอยู่แล้ว” 

แม้จะเป็นเพจที่บอกเล่าวิธีทำอาหารแบบต้ม ผัด แกง ทอด ตามแบบฉบับครัวไทยธรรมดาทั่วไป คลอไปกับเสียงสนทนาผ่านการยกหูโทรศัพท์แบบไม่มีสคริปต์ แต่ผู้กำกับหนังชีวิตของตัวเองท่านนี้ วางพล็อตเรื่องของคนไกลบ้าน ไกลครอบครัว และสะท้อนความเหลื่อมทับของสังคมไว้ในจานอาหารอย่างแนบเนียน หากชิมแบบไม่พิถีถันเท่าไหร่ ก็อาจจับลิ้นชิมรสไม่ได้ ว่าเชฟได้ซ่อนวัตถุดิบเหล่านี้ลงไปให้ลองรับประทานด้วย

“จริงๆ อยากพูดเรื่องคนต่างจังหวัด เพราะผมเองก็เป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาในเมือง เราก็มีคำถามนะว่าทำไมเราต้องเข้ามาในเมืองวะ ทำไมต่างจังหวัดถึงไม่มีอุตสาหกรรมดีๆ ให้เราได้ทำงานอยู่ใกล้บ้าน ได้อยู่ใกล้คนที่บ้าน ทำไมเราต้องห่างจากบ้าน แต่เราก็อยากหาความสวยงามของการใช้ชีวิตที่นี่ ให้เห็นมุมที่ดีของชีวิตในเมืองบ้าง”

แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่
แม่ เมนูนี้ทำไง : เพจกระชับพื้นที่ในบ้านของลูกชายที่โทรถามสูตรอาหารแทนการบอกรักแม่

 คุยกับแม่

“บางทีถ้าเราอยู่ด้วยกันมากๆ เราก็ทะเลาะกัน จริงๆ เราไม่ได้รักกันขนาดนั้นหรอกครับ (หัวเราะ) อยู่ห่างกันเรารักกันมากกว่าอีก แต่เราต้องแค่คุยกันเท่านั้นเอง”

ที่ผ่านมาแม่และงานเป็นถนนคู่ขนานในชีวิตของลูกชายมาตลอด แต่เมื่อวันหนึ่ง ทั้งสองสิ่งถูกจับต้นชนปลายให้มาอยู่บนถนนสายเดียวกัน ไม่เพียงแต่ทำให้ได้พูดคุย หัวเราะต่อกระซิก และเดินทางเข้าไปเรียนรู้ในหัวใจของกันและกันมากขึ้น ผู้กำกับหนุ่มยังได้รู้ว่าตัวละครสำคัญที่เขาควรเก็บไว้ในหนังเรื่องนี้อีกคนหนึ่งคือใคร

“บางครั้งเราจะชอบคิดไปเองว่าแม่ไม่รักเรา จริงๆ เขารัก แต่ก็รักในมุมของเขา ถ้าไม่คุยกันคงไม่รู้ว่าเขาคิดแบบไหน ถึงจะเป็นความสัมพันธ์แบบแม่ลูกก็ต้องคุยกันนะ ไม่รู้สิ เรามีแม่คนเดียว ก็ลองเก็บคนคนนี้ไว้ในความสัมพันธ์หน่อยไหม”

ลึกลงไปในบทสนทนาอันเรียบง่าย อย่างการถามเรื่องสุขภาพของแม่หลังพักฟื้นจากการถูกรถชน หรือการแกล้งขอยืมตังค์ยาย ลูกชายและหลานชายคนนี้กำลังพยายามกระชับพื้นที่ความห่างของช่วงวัย ซึ่งเปรียบเสมือนแบริเออร์ขนาดใหญ่ คอยกั้นไม่ให้คนสองรุ่นเขยิบเข้าใกล้กันได้มากไปกว่านี้ 

ในอนาคต เคยังมีไอเดียที่จะโทรถามสูตรอาหารจากแม่ แล้วให้แม่โทรถามสูตรจากยายอีกที เพราะหากว่ากันตามจริง แม่และยายก็ไม่มีจังหวะให้ได้พูดคุยกันสักเท่าไหร่ เหมือนความสัมพันธ์ของเขากับแม่ เมื่อครั้งที่ยังไม่ได้เริ่มทำเพจไม่มีผิด

ภาพ : www.facebook.com/mommenu.story

“อยากให้เป็นพื้นที่ที่คนสองเจนฯ ได้คุยกัน ผมไม่อยากให้มาดูตามสูตรผมร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่ได้อยากเป็นเพจ How to ทำอาหารอะไรแค่นั้น แต่อยากให้เป็นเพจที่ใช้อาหารนี่แหละ เชื่อมเรากับคนที่บ้าน แค่มาดูเมนูนี้แล้วก็แชร์กลับไปให้แม่ดู แม่อาจจะบอกว่า โอ๊ย ไอ้เพจนี้มั่ว จริงๆ มันต้องทำอย่างนี้ แค่นี้มันก็ได้คุยกันแล้ว

“มันไม่ใช่เพจแชร์สูตรทำอาหาร แต่เป็นเพจเชื่อมคนเข้าด้วยกันมากกว่า”

คิดถึงแม่

ประโยคบอกรักที่ไม่มีคำว่ารัก และการเขยิบเข้าใกล้กันมากขึ้นในแต่ละอีพีระหว่างเค แม่ และยาย ไม่เพียงแต่ทำให้กำแพงระยะทางระหว่างกรุงเทพฯ-สมุทรสาคร สั้นลง แต่กำแพงความเหินห่างระหว่างช่วงวัยในครอบครัวของเขาก็กำลังถูกทำลายลงอย่างช้าๆ เช่นเดียวกัน ยิ่งไปกว่านั้น รสชาติของความอบอุ่นละมุนละไม ยังส่งตรงถึงหน้าประตูบ้านของลูกเพจ ผ่านกดไลก์ กดแชร์ และแท็กให้คนที่บ้านมาดูคลิป

“ผมชอบที่คนเข้ามาดู แล้วเขาก็แท็กแม่ตัวเอง บางคนแชร์ไปแล้วเขียนว่า โทรหาแม่บ้างดีกว่า เออใช่ๆ ผมอยากเห็นอะไรแบบนี้เยอะๆ อยากให้คุยกับที่บ้านเยอะๆ จะคุยกันด้วยเรื่องอะไรก็คุยไปเถอะ”

ภาพ : www.facebook.com/mommenu.story

ครีเอทีฟหนุ่มควบตำแหน่งพ่อครัว ผละมือจากหม้อกระทะและถ้วยชาม หยิบโทรศัพท์ในกระเป๋ากางเกงเพื่อเปิดข้อความที่บรรดาลูกเพจทั้งรุ่นลูกและรุ่นแม่ ส่งเข้ามาพูดคุยถึงความประทับใจที่เขาตีแผ่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างแม่และลูกผ่านจานอาหาร ดูแล้วก็อมยิ้มตามทุกครั้งไป

“อ่านแล้วก็ชื่นใจนะครับ ตอนแรกแค่อยากทำเพจเพื่อเก็บพอร์ต ทำไว้ดูคนเดียว แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเราทำเพื่อคนอื่นได้ด้วย เขาก็มาขอบคุณเรา ขอบคุณที่ทำให้เขาได้คุยกับคนที่บ้านเยอะขึ้น ดูแล้วคิดถึงแม่เลยนะ บางทีคนสูงอายุเขาเข้ามาดู ก็อยากให้ลูกหลานกล้าโทรคุยกับเขามากขึ้น มันทำให้เราได้เห็นหลายๆ มุมมองจากการทำคลิปแค่ไม่กี่นาที”

นอกจากได้เก็บผลงานในสายครีเอทีฟของตัวเอง แน่นอนว่าผลพวงที่ตามมาหลังจากนั้น คือการได้คุยกับคนที่บ้านเยอะขึ้น มีอะไรอีกไหมที่เคได้เรียนรู้จาก แม่ เมนูนี้ทำไง

“รู้ว่ากับข้าวมันก็ไม่ได้ทำยากอย่างที่คิดนะ (หัวเราะ) แล้วก็ได้รู้ว่า รู้งี้ทำตั้งนานแล้ว ถ้ามันทำแล้วดีต่อใจเรา ดีต่อใจคนอื่นแบบนี้ ก็น่าจะทำมาตั้งนานแล้ว

“ที่ผ่านมาเราก็ขับเคลื่อนชีวิตด้วยเดดไลน์เหมือนกันนะ คุณอย่ารอให้แม่ตายเลยถึงจะทำ คิดอะไรได้ก็ทำเหอะ จะคุย จะบอกรัก จะขอบคุณ ก็ทำเลย ไม่ต้องรอวันแม่ ถ้าเขาไม่อยู่แล้ว จะทำหรือบอกอะไรไป คนอื่นเห็น คนอื่นได้ยิน แต่เขาไม่รับรู้อยู่ดี อยู่กับปัจจุบันครับ พอคิดเลยทำเลยมันคุ้มกว่ามาก ไม่ต้องรอเวลาตัดริบบิ้นแล้ว”

แล้วแม่กับยายล่ะ

“ผมว่ายายเขาเสียงสดใสขึ้นเรื่อยๆ นะ เขาเริ่มคุยกับผมนานขึ้น ผมจะวางสาย แกก็อยากคุยต่อ อย่างต่ำครึ่งชั่วโมงเวลาคุยกัน ส่วนแม่เหรอ (คิด) โห แม่นี่ยากมากเลย ปกติเขาไม่ค่อยพูด ถามว่าซึ้งไหม แม่ก็คงรู้ว่าลูกยังไม่ลืมเขา”

ต่อไปทำอะไรดีแม่

คนเราจะมีกับข้าวที่ชอบกินสักกี่อย่างกันในชีวิต ถ้าวันหนึ่ง เคลงมือทำอาหารที่เขาชอบตามสูตรของยายและแม่จนหมด จะเหลืออะไรให้โทรถามอีกล่ะ

“อาจจะกลับไปทำกับข้าวที่บ้านจริงๆ ให้เขาสอนจริงๆ เลย หรือไม่ก็อาจจะลองให้คนอื่นโทรคุยกับที่บ้านตัวเองบ้าง ไปสำรวจชีวิตของคนอื่นบ้างว่าเขาคุยกับที่บ้านยังไง บ้านอื่นเขากินอะไรกัน”

เราแอบแง้มฝาชีถามว่าเมนูต่อไปของ แม่ เมนูนี้ทำไง คืออะไร เจ้าของเพจชี้ให้ดูในจอคอมพิวเตอร์ว่าคือข้าวเหนียวทุเรียน เขาถ่ายคลิปเสร็จไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว คราวนี้โทรไปถามสูตรจากแม่บ้าง เหลือเพียงเก็บรายละเอียดในขั้นตอนการตัดต่อคลิปวิดีโออีกเล็กน้อย ก็พร้อมแบ่งปันสูตร (ไม่) ลับของแม่ให้ลองเอาไปทำตามกันได้ที่บ้าน เราคาดการณ์ว่าเมื่อบทความฉบับนี้เขียนเสร็จ คลิปข้าวเหนียวทุเรียน น่าจะฉายอยู่ในเพจเรียบร้อยแล้ว

ส่วนเรื่องความอร่อยหรือไม่อร่อย เคไม่อาจการันตีได้ เพราะแต่ละคนก็ชอบความหนักเบาของรสชาติแต่ละส่วนไม่เท่ากัน แต่สำหรับเขา สูตรจากรสมือแม่อร่อยเสมอ

รับชมสูตรทุเรียนต้มกะทิจาก แม่ เมนูนี้ทำไง ได้ที่ : EP.7 : ข้าวเหนียวทุเรียนภูเขาไฟ

ตะกอนก้นหม้อ

ด้วยตัวเลขของช่วงวัยที่เพิ่มขึ้น ในมุมหนึ่ง เคกำลังเติบโต เรียนรู้ และสนุกไปกับการทำงานที่ช่วยส่งให้เขาเข้าใกล้ความฝันของตัวเองไปอีกขั้น แต่อีกมุมหนึ่ง ความสนุกและความหวังในการขับเคลื่อนชีวิตของแม่และยาย ก็อาจกำลังแตกกระสานซ่านเซ็นไปคนละทิศคนละทาง การชวนแม่และยายมาทำกิจกรรมร่วมกัน แม้จะเป็นเพียงเสียงสนทนาจากปลายสาย แต่เคเชื่อว่านี่เป็นการจุดไฟดวงเล็กๆ ให้แกงถ้วยเดิมถูกอุ่นร้อนเดือดปุดด้วยความสุขและการเห็นคุณค่าในตัวเองอีกครั้ง

“พอเราแก่ขึ้น เราก็น่าจะอยู่ได้ด้วยความรู้สึกว่าเรามีคุณค่าต่ออะไรบางอย่าง เออ กูใช้ชีวิตแก่มาขนาดนี้แล้ว แม่ห้าสิบ ยายแปดสิบกว่าแล้วเนี่ย ลูกหลานเขารู้สึกว่าเราไม่ได้สำคัญเลยเหรอวะ ความรู้ของเรามันไม่มีความหมายแล้วเหรอ

“อย่างน้อยให้เขารู้ว่า เขาทำกับข้าวแล้วลูกคนหนึ่งจำได้ว่าอร่อย เขาคงรู้สึกได้แหละครับว่าชีวิตกูก็ยังมีคุณค่านี่หว่า”

ภาพ : www.facebook.com/mommenu.story

Writer

Avatar

ณัฐชา เกิดพงษ์

นักฝึกเขียน ผู้มีกาแฟและหมาปั๊กเป็นปัจจัยที่ 5 และเพิ่งค้นพบว่าการอยู่เฉยๆ ยากพอๆ กับการนอนให้ครบ 8 ชั่วโมง

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน