ขึ้นชื่อว่าประเทศญี่ปุ่น เป็นเรื่องปกติมากที่สถานที่หนึ่งจะอยู่ที่เดิมมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะกิจการ ห้างร้าน หรือพื้นที่สาธารณะ

ปี 1966 ชิบูย่ามีสวนของรัฐบาลบนชั้นดาดฟ้าของอาคารจอดรถสูง 2 ชั้นนามว่า ‘Miyashita Park’ ตั้งอยู่ยังไง จนถึงปีนี้ 2023 สวนนี้ก็ยังคงอยู่อย่างนั้น 

แต่หากคุณตาคุณยายคนไหนอยากจะไปรำลึกความหลังสมัยหนุ่มสาว ก็จะพบว่าสวนดูแปลกหูแปลกตาไปจากแต่ก่อนมาก

วันเวลาผ่านไป มูลค่าที่ดินย่านชิบูย่าก็สูงขึ้น Miyashita Park เวอร์ชันใหม่ปี 2020 จึงเป็นโครงการที่เอกชนเป็นผู้ลงทุนและดูแล มีส่วนคอมเมอร์เชียลเสริมเข้าไป โดยที่สวนด้านบนยังมีสถานะเป็น Public Access อยู่ ตามกฎหมายพิเศษของญี่ปุ่น

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen
ภาพ : Nacása & Partners Inc.

สิ่งที่น่าสนใจของโปรเจกต์นี้ท่ามกลางหลากหลายพื้นที่สาธารณะที่ NIKKEN SEKKEI ออกแบบ คือความเป็น Public Space บนดาดฟ้าที่ตอบโจทย์บริบทชิบูย่ายุคใหม่ที่วิวัฒน์จนซับซ้อนไปตามกาลเวลา และการออกแบบสถาปัตยกรรมที่ผสานไปกับสวน ทำให้สเปซมีวอลุ่ม ไม่แบนแบบที่คุ้นเคยกัน 

ด้วยความที่ยังคงใช้ชื่อเดิมเหมือนเกือบ 60 ปีที่แล้ว ไม่มีเปลี่ยนแปลง ได้ยินทีแรกเราจึงคิดว่านี่คือโปรเจกต์รีโนเวตทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อได้คุยกับ Shoji Kaneko, Wataru Tanaka และ Demian Patience เหล่าดีไซเนอร์จากบริษัท NIKKEN SEKKEI ก็ได้เข้าใจว่าพวกเขาทุบโครงสร้างเดิมทิ้งแล้วคิดใหม่ ทำใหม่ สร้างใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ฐานราก

ไม่แน่ คุณตาคุณยายอาจถูกใจสวนเวอร์ชันใหม่มากกว่าก็เป็นได้

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen

จากอาคารจอดรถ 2 ชั้นเมื่อก่อน ปัจจุบัน Miyashita Park เป็นอาคารที่เต็มไปด้วยร้านรวงและ Co-working Space สูง 2 ชั้น และหากรวมชั้นจอดรถใต้ดินเข้าไปอีกก็จะมีทั้งหมด 4 ชั้น

ผู้คนจะขึ้นไปที่สวนได้โดยหลายทาง หลายประสบการณ์ โดยมีเส้น Green Wall นำสายตาให้เดินขึ้นไป ระหว่างที่เดินก็แวะดูร้านต่าง ๆ เหนื่อยก็แวะพักที่เทอเรสที่มีอยู่เป็นระยะ

อย่างที่เล่าไปเมื่อตอนเริ่ม ถึงเอกชนจะเป็นผู้ดูแล แต่สวนเป็น Public Access ถ้าตอนเช้า ๆ ร้านค้ายังไม่เปิดก็เดินขึ้นไปใช้สวนได้

“จริง ๆ แล้วมันเข้ากับบริบทพื้นที่ เพราะชิบูย่ามีลักษณะเป็นภูเขาอยู่แล้ว” Shoji อธิบายให้เราฟัง “เวลาออกแบบพื้นที่สาธารณะ เราไม่ควรคิดถึงแต่ Ground อย่างเดียวแล้ว”

หากถามว่าทำไมจะทำสวนทั้งที ยังต้องมีคอมเมอร์เชียลเข้ามาเกี่ยวอีกล่ะ

เราคิดว่าเป็นเรื่องของไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ บางคนมากินข้าว อิ่มแล้วก็อยากเดินช้อปปิ้ง เบื่อ ๆ ก็เดินขึ้นไปถ่ายรูปหรือเต้น TikTok ในสวน ถ้าเราไปแฮงก์เอาต์กับเพื่อนที่นี่ก็เรียกได้ว่าครบจบในที่เดียว กลายเป็นว่าพาร์กยุคใหม่ไม่จำเป็นต้องเป็นพื้นที่สีเขียว Stand Alone อย่างเดียวแล้ว

ในบริบทเมืองใหญ่ ต่อให้เป็นพาร์กแบน ๆ อยู่ด้านล่าง ปัจจุบันก็มักใส่องค์ประกอบอื่น ๆ ที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตเข้าไปด้วย เช่นเดียวกับ Kitaya Park อีกสวนที่ NIKKEN SEKKEI ออกแบบ

เสน่ห์ของย่านที่ชื่อว่าชิบูย่าคือเรื่องสเกลที่หลากหลาย ตั้งแต่สเกลของห้างใหญ่ ๆ ลดลงมาเป็นช็อปตามสตรีตและช็อปในตรอกซอกซอย พอหลายสเกลก็จะมีหลายบรรยากาศ แต่ละร้านจะแสดงความเป็นตัวตนออกมาได้

ส่วนเสน่ห์ของ Miyashita Park คือ ‘ซอฟต์แวร์’ หรือร้านต่าง ๆ ในแต่ละชั้นที่มีคาแรกเตอร์ต่างกันไปและดึงดูดผู้คนที่น่าสนใจเข้ามาเดินได้ จริง ๆ แค่มาดูผู้คนแต่งตัว ใช้ชีวิตที่นี่ก็สนุกพออยู่แล้ว

“ก่อนหน้านี้ไม่ได้มีสถานที่แฮงก์เอาต์แบบนี้ในชิบูย่าเลย ทุกวันนี้ Miyashita Park ของเราก็เลยป๊อปปูลาร์มาก โดยเฉพาะในหมู่เด็ก ๆ” ผู้ออกแบบกล่าวถึงผลตอบรับหลังเปิดใช้งานสวนด้วยรอยยิ้ม

ทั้ง ๆ ที่เป็นย่านท่องเที่ยว แต่หากดูในภาพรวม เงี่ยหูฟังสำเนียงภาษา จะพบว่าผู้ใช้งานที่นี่เป็นคนญี่ปุ่นในพื้นที่มากกว่านักท่องเที่ยวเสียอีก และคนญี่ปุ่นเหล่านั้นก็ประกอบไปด้วยผู้คนหลายวัย เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ โดยไม่ได้แบ่งแยกว่ากิจกรรมไหนเป็นของคนวัยไหน อย่างการเล่นสเกตก็ไม่ได้จำกัดไว้ให้เด็ก ๆ แต่อย่างใด

เหล่าผู้ออกแบบเล่าให้ฟังว่าการเล่นสเกตบอร์ดเป็นกิจกรรมที่ฮิตมากในย่านนั้น เมื่อทำพื้นที่สาธารณะขึ้นมาใหม่ ก็ได้เห็นบรรยากาศความสนุกสนานของเหล่า Skateboarder กันทุกวัน

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen

การทำพาร์กแบบที่นี่จะต้อง Integrate อาคารไปกับทุกองค์ประกอบ ทำให้คนไม่ต้องพยายาม หรือตั้งใจว่า ฉันจะไปพาร์ก แต่ให้มันอยู่กับเรา ให้เป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเมือง

หากไทยเราอยากทำแบบนี้บ้าง ก็ต้องกลับมาดูที่กฎหมายกันอีกสักครั้ง

Miyashita Park เกิดขึ้นได้เพราะกฎหมาย ‘3D City Park System’ ของญี่ปุ่นที่ใช้ในย่านความหนาแน่นสูง กฎหมายนี้ไม่ได้มองแยกว่า นั่นตึก นี่พาร์ก 

แต่ทุกอย่างคือก้อนเดียวกัน

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen
ภาพ : Nacása & Partners Inc.

เมื่อก่อนเวลาทำ Planning เราต้องมองเป็น 2 มิติ สีเหลืองเป็นย่านพักอาศัย สีเขียวคือพื้นที่สีเขียว สีแดงเป็นย่านคอมเมอร์เชียล สีน้ำเงินเป็นเรื่องสาธารณูปโภค เมื่อเป็น 3D หรือ 3 มิติ ก็ไม่ได้มองแพลนจากด้านบนอย่างเดียวแล้ว สีเขียวอาจซ้อนอยู่บนส่วนพักอาศัยก็ได้ ซ้อนอยู่บนคอมเมอร์เชียลก็ได้ ตรงไหนสีแดงก็อาจไม่ใช่แดงทั้งหมด แต่มีแดง เหลือง น้ำเงิน อยู่ในก้อนเดียวกัน เพื่อทำให้ก้อนหนึ่งมีความหลากหลายของการใช้กิจกรรม และเมืองมีความ Mixed-use มากยิ่งขึ้น

สำหรับกรุงเทพฯ ย่านหนาแน่นที่ดูมีความเป็นไปได้ที่จะเริ่มต้นที่สุดย่านหนึ่ง คือสยาม

สยามเป็นพื้นที่ที่มีเจ้าของเดียวคือจุฬาฯ การออก Micro Policy จึงไม่ใช่เรื่องยาก จริง ๆ สยามมีพื้นที่สาธารณะให้ใช้อยู่แล้วที่อาคาร SIAMSCAPE แต่ในภาพรวมของย่านก็ถือว่ายังน้อย และยังไม่มีการเชื่อมต่อมากนัก อาจทำให้มีการเชื่อมทางเดินให้แต่ละตึกเดินทะลุถึงกันมากขึ้น การมีทางเดินไม่เปียกฝนมากขึ้น รวมถึงการทำสวนบนดาดฟ้าให้มากขึ้น เพื่อให้คนเข้าถึงสวนได้ง่ายโดยไม่ต้องพยายาม เพราะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน เลิกงานก็ไปเดินเล่นออกกำลังกายได้

นอกจากนี้ยังนึกถึงย่านสีลมที่ปัจจุบันมีการปรับปรุงถนนหนทาง เริ่มมีระยะร่นหน้าอาคาร

ทุกวันนี้สีลมมีสกายวอล์กอยู่แล้ว แต่หากเชื่อมต่อเข้าอาคารไปยังชั้นต่าง ๆ ได้มากขึ้นก็จะทำให้มนุษย์เงินเดือนไปซื้อของได้โดยไม่ต้องลงข้างล่าง

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen
ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen

ตอนนี้ที่ไทยยังไม่ได้มีการชวนกันคิดเรื่อง ‘การมองเมืองแบบ 3 มิติ’ มากเท่าไหร่ มีบางโครงการในกรุงเทพฯ ที่พยายามทำสเปซให้ผู้คนเข้าไปใช้ แต่ด้วยความเป็นพื้นที่ของเอกชน จึงไม่ใช่ทุกคนที่เข้าไปใช้งานได้

การออกนโยบายเรื่องการมองเมืองแบบ 3 มิติ และ POPS (Privately Owned Public Spaces) คือสิ่งที่ควรทำ และถัดจากนั้นคือการประกาศให้ทราบโดยทั่วกันว่าทุกคนเข้ามาใช้พื้นที่นี้ได้

นอกจากโตเกียว NIKKEN SEKKEI ยังได้ออกแบบพื้นที่สาธารณะที่เมืองอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสวนแนวราบหรือสวนบนอาคาร ซึ่งล้วนแล้วแต่ Integrate กับสภาพแวดล้อมโดยรอบ กับเมือง ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะกฎหมายใหม่ ๆ ที่เข้ากับบริบทพื้นที่และยุคสมัย

ซึ่งโอซาก้าก็เป็นอีกเมืองหนาแน่นที่ NIKKEN SEKKEI ให้ความสนใจ

“ในขณะที่สิงคโปร์มีพื้นที่สีเขียว 66 ตารางเมตรต่อคน นิวยอร์กมี 29 โตเกียวมีแค่ 11 และโอซาก้ามีแค่ 5 เท่านั้น” เหล่าผู้ออกแบบเล่าพลางเปิดสไลด์ให้ดู

องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่าประชาชน 1 คน ต้องการพื้นที่สีเขียว 9 – 15 ตารางเมตร ซึ่งคนกรุงเทพฯ มีกันคนละ 6.9 ตารางเมตรต่อคน

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้เราจะมีรถไฟอีก 6 – 7 สาย มี TOD (Transit Oriented Development หรือการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟฟ้าหรือระบบขนส่งมวลชน) และกฎหมายเฉพาะในย่าน TOD ที่คนเยอะ กิจกรรมแยะ ตามมา ว่าจะต้องผสาน Public Green Space เข้าไปด้วย ถึงเวลานั้นเราอาจได้เห็นพื้นที่สีเขียวรูปแบบใหม่ ๆ เหมือนเคสของญี่ปุ่นที่ NIKKEN SEKKEI เล่าให้เราฟัง

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen
ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen

เรากำลังจะเห็นอนาคตของเราจากญี่ปุ่น

จริง ๆ แล้วสเปซเมืองโตเกียวก็ไม่ได้ต่างจากกรุงเทพฯ มากนัก เต็มไปด้วยตรอกซอกซอยเล็ก ๆ แต่เขาใช้สเปซเหล่านั้นได้อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้โตเกียวยังทำให้เรารู้ว่าดีไซน์ที่ดี ไม่ใช่ดีไซน์ที่สวย แต่ต้องเป็นดีไซน์ที่คิดมาดีและใส่ใจคนใช้งาน 

หวังว่าสักวันกรุงเทพฯ จะทำให้ผู้คนรู้สึกแบบนั้นได้เหมือนกัน

ตำนานบทใหม่ของ Miyashita Park สวนลอยฟ้าชิบูย่ายุค 60 หลังเปลี่ยนดีไซน์จนสนิทกับ Young Gen
ภาพ : Koji Horiuchi [Shin Shasin Kobo]

ภาพ : NIKKEN SEKKEI

Writers

ยศพล บุญสม

ยศพล บุญสม

ภูมิสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฉมาและกลุ่ม we!park นักเคลื่อนไหวผู้เห็นโอกาสในพื้นที่รกร้างและสนใจการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ทุกภาคส่วนในสังคม WIN ไปด้วยกัน

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

ยศพล บุญสม

ยศพล บุญสม

ภูมิสถาปนิกผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทฉมาและกลุ่ม we!park นักเคลื่อนไหวผู้เห็นโอกาสในพื้นที่รกร้างและสนใจการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนร่วมด้วยการสร้างพื้นที่สีเขียวที่ทุกภาคส่วนในสังคม WIN ไปด้วยกัน