23 พฤศจิกายน 2023
3 K

มิ้น-สวรรยา แก้วมีชัย กับ มิ้น-รภัทร แก้วมีชัย คือคนเดียวกัน 

คนส่วนใหญ่จะรู้จักมิ้นจากการเป็นนักร้องในยุค 2000 มีเพลงฮิตที่หลายคนยังคิดถึงอย่าง สักวันคงเจอ (ปี 2008) ฉันคิดอย่างนั้น (ปี 2009) ด้านมืดของพระจันทร์ (ปี 2004) หรือ นานแล้ว (ปี 2004) 

และ 2 ปีมานี้ มิ้นก็มีงานพิธีกรรายการ Sounds Good ทาง Thairath Plus ที่มีแฟน ๆ ติดตามอยู่ไม่น้อย แต่ถ้าคุณเป็นแฟนตัวจริง ก็คงเคยดู YouTube หรือติดตาม Social Media อื่น ๆ ที่เธอทั้งเล่าเรื่องงาน เรื่องเที่ยว กิจกรรมที่ทำ ไปจนถึงรีวิวของใช้ที่ถูกใจเอาไว้ในนั้นอยู่บ้าง 

ไม่ว่าคุณจะรู้จักหรือติดตามเธอมาตั้งแต่ยุคไหน ในคอลัมน์คนคุยวันนี้ เราขอชวนมิ้นมาอัปเดตชีวิตที่เราสังเกตได้ว่าเธอตกตะกอนบางอย่าง คุยกันแบบเพื่อนเก่าที่คบกันมา 20 กว่าปี เห็นมิ้นขึ้นเวทีประกวดร้องเพลง ออกอัลบัมแรก เห็นมิ้นเป็นที่รัก มีแฟนคลับ มีความสุขกับการร้องเพลง แล้วก็เห็นมิ้นผ่านกาลเวลามาจนถึงวันนี้

หลังจากขอให้ช่างภาพกลับบ้านไปก่อนแล้วนั่งเอกเขนกคุยกันบนโซฟา เราได้เทปบันทึกบทสนทนาความยาว 2 ชั่วโมง แบบที่การคุยกันผ่านไลน์หรือเจอกันตามวาระโอกาสก็ไม่ได้พูดกันในเรื่องที่ลึกซึ้งแบบวันนี้ 

“อันนี้ห้ามเอาไปเขียนนะ” เป็นข้อตกลงที่โผล่ขึ้นมาถี่ขึ้นเรื่อย ๆ ตามความเข้มข้นของบทสนทนา

ทุกวันนี้ มิ้น รภัทร มีอาชีพอะไร

เป็นครูสอนร้องเพลงและสอนฝึกเสียง ออกเสียงในการพูดให้ถูกวิธี ส่วนใหญ่สอนที่บ้าน แต่ก็มีไปสอนตามองค์กรหรือตามมหาวิทยาลัยด้วย

คนเดี๋ยวนี้สนใจเรื่องการฝึกออกเสียงมากขึ้นมาก เพราะรู้แล้วว่าช่วยอะไรได้หลายอย่าง ที่เคยมีคนบอกว่าเวลาเราพูด คนจะฟังเนื้อหาคำพูดประมาณ 7% นอกนั้นเป็นน้ำเสียงและบุคลิกท่าทาง ถ้าเสียงดีจะทำให้คนฟังได้นานขึ้น โน้มน้าวคนได้มากขึ้น เลยมีคนที่มาเรียนฝึกเสียงหลายอาชีพ ทั้งหมอที่ต้องพูดกับคนไข้ หรือต้องนำเสนอความรู้ต่าง ๆ ล่ามที่ต้องพูดตลอดเวลา ทำยังไงให้ไม่เหนื่อย น้ำเสียงน่าฟัง เภสัชกรที่ต้องจ่ายยา หรือแม้แต่นักการเมือง ช่วงใกล้เลือกตั้งก็เคยมีคนชวนไปสอนถึงในพรรค

ส่วนที่สอนร้องเพลงก็มีคนหลายอาชีพเหมือนกัน รวมสอน 2 อย่างนี้แล้วคิดว่าสอนคนมาแล้วเกือบครบทุกอาชีพ (หัวเราะ) คนมาเรียนร้องเพลงกัน เหตุผลตั้งแต่สานฝันในวัยเด็ก แก้เครียด ร้องเพื่อเข้าสังคม เป็นต้น บางอาชีพที่อยู่กับหลักการมาก ๆ วิทยาศาสตร์มาก ๆ เวลามาเรียนร้องเพลงเขาจะชอบบอกว่าชีวิตไม่เคยได้สัมผัสศิลปะแบบนี้เลย นี่เป็นโลกอีกใบของเขา

ครูมิ้นเป็นครูแบบไหน

ชอบสอนแบบตัวต่อตัว เปิดบ้านให้คนมาเรียน อยากรู้จักตัวตนของนักเรียนจริง ๆ จะได้แนะนำเขาได้ถูก หลักการสอนเลยคือทำให้ทุกคนใช้เสียงได้อย่างเป็นธรรมชาติ

คนมาเรียนส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ บางคนมีความเป็นผู้ใหญ่มาก ๆ หรือเป็นผู้บริหารมาเลย เราต้องลดกำแพงเขาให้ได้ หน้าที่ของครูไม่ใช่การดัดให้นักเรียนเป็นอย่างงั้นอย่างงี้ แต่คือการแก้ไขการพูดหรือการร้องให้เป็นธรรมชาติ เบื้องต้นของการสอนใช้เสียงเลยต้องหัดหายใจ และต้องสำรวจจิตใจด้วย 

อย่างถ้าพูดแล้วเหนื่อยหรือร้องเพลงแล้วรู้สึกฝืน ก็หมายถึงความไม่สบายตัวซึ่งเกิดจากความไม่เป็นธรรมชาติ ฉะนั้นต้องแก้สิ่งที่ทำให้เขารู้สึกไม่เป็นธรรมชาติก่อน การหายใจหรือเปล่า หรือมีอะไรที่ทำให้จิตใจว้าวุ่นอยู่หรือเปล่า 

ชอบการเป็นครูไหม 

ไม่ได้คิดว่าทำสิ่งนี้เพราะชอบไหม แต่เป็นสิ่งที่เราทำได้และอยากส่งต่อความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้ผู้คน 

ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเคยได้เรียนรู้มาก่อน แล้วจึงนำมาสอนนักเรียนในทุกวันนี้ คือต้องแยกให้ออกระหว่าง ‘ตัวตน’ หรือความชอบ กับ ‘งาน’ หรือหน้าที่ 

อย่างคนที่มาเรียนฝึกใช้เสียง หลายคนเวลาต้องปรับน้ำเสียงการพูดก็กังวลว่าจะดูไม่จริงใจไหม ดูหลอกไหม จริง ๆ แล้วการฝึกใช้น้ำเสียงเป็นไปเพื่อตอบโจทย์สถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งเราอาจแค่ไม่ชิน เรื่องน้ำเสียงไม่ได้มีความเป็นตัวเราอยู่ในนั้น 

เรื่องที่ทำให้ได้ความคิดนี้คือตอนเป็นนักร้องได้สัก 3 – 4 ปี เคยมีนักร้องรุ่นพี่เห็นเรานั่งเศร้า ๆ อยู่ก็เดินมาถาม เราเล่าให้เขาฟังว่าไม่ค่อยแน่ใจเรื่องเพลงที่ค่ายแต่งให้ว่าเป็นตัวเองไหม พี่เขาก็บอกว่า นี่แกดูฉัน ฉันร้องเพลงด่าผู้ชายทั่วประเทศ ด่าเมียน้อย มันก็ไม่ใช่ตัวฉัน ฉันชอบร้องเพลงคลาสสิก เราก็ถามว่าแล้วพี่ทำใจยังไง เขาบอกว่านี่คืองาน บริษัทเขาอยากให้เราทำแบบนี้ เราก็ทำเต็มที่ ส่วนอยากร้องอะไรที่เราชอบส่วนตัวก็ไปร้องที่บ้าน

กลับมาเรื่องการสอน มันคือความจับพลัดจับผลู เห็นว่ามีเรื่องที่ตัวเองสอนได้ เป็นคนพูดรู้เรื่อง ก็เลยสอนเรื่อยมา

แล้วที่ชอบ ที่ชอบของมิ้นคืออะไร

สิ่งที่ทำแล้วมีความสุข อันดับ 1 เลยคือร้องเพลง ซึ่งเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยเท่นะ แต่การร้องเพลงทำให้อยู่ในสภาวะที่เรามีความสุขมาก 

และเป็นคนชอบหาคำตอบให้ทุกอย่าง พอโตแล้วมาคิดว่าทำไมถึงชอบ เลยรู้ว่าเพราะตอนร้องเพลงต้องใช้สมาธิมาก ทั้งการคุมเสียง จำเนื้อ ฟังเสียงดนตรีที่เล่น ฟังเสียงคนที่ร้องด้วยกัน ตั้งแต่เด็กโตมา ตอนร้องเพลงคือแทบเป็นกิจกรรมเดียวที่ทำไปแบบมีสติ 

รู้สึกว่าเป็นสภาวะลื่นไหล สารแห่งความสุขหลั่ง แบบนั้นไหม

ใช่ ๆ เป็นสภาวะคล้ายกับตอนนั่งสมาธิ ตอนที่ฝึกแล้วนั่งได้ดี คุมสมาธิได้ มันรู้สึกดีมาก

มิ้นศึกษาธรรมะสายปรัชญาหรือสายปฏิบัติ

ทั้งสอง (หัวเราะ) บอกแล้วว่าเป็นคนหาคำตอบให้กับทุกอย่าง ตอนเริ่มไปเริ่มจากสายปฏิบัติ คือหัดนั่งสมาธิ ตอนนั้นเพิ่งออกอัลบัมแรก เพื่อนสนิทขอให้ไปเป็นเพื่อน ตอนนั้นก็ไปด้วยความคิดว่า ไหน มันดียังไง ลองดูหน่อยซิ ไม่ได้มีปัญหา ไม่ได้มีความต้องการอะไร ตอนนั้นคิดว่าชีวิตก็ดีอยู่แล้ว แต่พอไปด้วยความอยากทำให้สุด ลองดูซิว่าเป็นอย่างที่เขาว่าไหม ก็กลายเป็นอินมาก ตั้งใจอย่างที่เขาสอน ทำให้ฝึกสมาธิได้ดีมาก พอกลับบ้านมาก็หาหนังสือเกี่ยวกับธรรมะมาอ่าน เข้าไปอ่านเรื่องการทำสมาธิในเว็บบอร์ด (ตอนนั้นยังไม่มีโซเชียลมีเดีย) ชอบอ่านเรื่องคำสอนและสนใจเรื่องจิตวิทยาด้วย

เราฝึกสมาธิเรื่อยมานะ แต่ชีวิตก็ยังใช้ไปปกติ 

เป็นชีวิตที่แยกออกจากธรรมะ เหมือนงานที่แยกออกจากตัวตนแบบนั้นหรือเปล่า

ไม่ใช่แบบนั้น เราอยากฝึกสมาธิ พยายามหาเวลาไปวัด ไปฝึกเพิ่มตลอด แต่ด้วยงานศิลปินทำให้ทำได้ไม่มาก ยิ่งช่วงที่พอมีคนรู้จักเยอะ งานก็เยอะตาม ใช้ชีวิตกลางคืน ไม่ใช่นอนดึกนะ นอนเช้า แล้วก็ตื่นบ่าย แบบนี้วน ๆ เรื่องไปปฏิบัติธรรม หายไป 8 วัน 10 วัน นี่ยากมาก 

เรื่องคนข้างตัวก็สำคัญ เพราะเป็นคนที่ติดคนมาก คนข้างตัวเลยมีอิทธิพลสูงกว่าอะไรทั้งหมด เลยยังใช้ชีวิตแบบหัวใจนำทางเป็นส่วนใหญ่

แต่ชีวิตก็ดีขึ้นนะ ก่อนหน้าจะมาฝึกสมาธิหรือรู้จักเรื่องธรรมะ รู้สึกว่าเป็นคนจำอะไรไม่ได้เลย แทบไม่มีความทรงจำอะไรที่ละเอียด ๆ จะจำได้แค่เรื่องหัว ๆ อะไรเด่น ๆ เพราะไม่มีสติ ใช้ชีวิตสุด ไม่มีความยับยั้งชั่งใจ คืนไหนอยากขับรถไปพัทยาก็ไป อยากกระโดดลงน้ำก็โดด ยิ่งตอนวัยรุ่นมีเรื่องความรักอกหักนะ โอ้โห สุด

พอรู้จักกับสมาธิ เริ่มมีสติ ก็เริ่มจำอะไรได้มากขึ้น ตอนเรียนปริญญาโทที่อังกฤษ อ่านหนังสือประวัติศาสตร์ปรัชญาเป็นเล่ม ๆ แล้วเข้าใจ จากที่เมื่อก่อนอ่านไม่รู้เรื่อง เหมือนสมองตื้อ

ตอนไปเรียนอังกฤษ คือตอนที่ออกจากวงการไปใช่ไหม ชีวิตที่อังกฤษเป็นไงบ้าง

ใช่ ตอนนั้นก็เสียดายนะ แต่ก็นั่นแหละ ทำตามหัวใจ ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องไปก็ได้ ได้เจอจุดเปลี่ยนชีวิตที่อังกฤษด้วย คือเริ่มเป็นซึมเศร้า เพราะตอนเป็นศิลปินนอนไม่เป็นเวลา ทำงานกลางคืนเยอะ แทบไม่เจอแดดเลย พอไปอังกฤษ บรรยากาศก็ทึม ๆ อยู่อะพาร์ตเมนต์ นอนเวลากลางวันแล้วตื่นกลางคืนอย่างต่อเนื่องเพราะติดเพื่อน รอคุยกับเพื่อนที่เมืองไทยที่เวลาห่างกัน 6 ชั่วโมง เคมีในสมองรวนไปหมด บวกกับตอนนั้นอยู่ใกล้พลังลบเยอะไปหน่อย รู้สึกโดนกดอยู่ตลอด คิดว่าตอนนั้นแหละที่ทำให้เริ่มเป็นซึมเศร้า 

แต่ช่วงท้าย ๆ เป็นช่วงที่ได้มีโอกาสอยู่กับตัวเอง กลับมานั่งสมาธิ ตกผลึกความคิดเหมือนกันนะ มีโมเมนต์หนึ่งซึ่งเป็นโมเมนต์สำคัญเลย คือเจอปัญหาที่ตอนนั้นรู้สึกว่าโลกถล่มมาก นั่งร้องไห้ทิชชูเป็นกอง แล้วก็ลุกไปอาบน้ำ ด้วยความเคยชิน พออาบน้ำก็ร้องเพลงออกมา แล้วก็เกิดปัญญาแวบขึ้นมาว่า นี่ไง เศร้าเดี๋ยวก็หาย เมื่อกี้ร้องไห้ ตอนนี้ก็ร้องเพลงได้แล้ว ไม่มีอะไรอยู่ตลอดไปจริง ๆ 

ตอนนั้นก็ใช้สติทั้งหมดจัดการกับปัญหาที่เจอด้วยการเผชิญหน้าแล้วกลับมาเมืองไทย ปรึกษาแพทย์เรื่องซึมเศร้า

ความรู้เรื่องธรรมะหรือการฝึกสมาธิมันเพียงพอจะรักษาโรคซึมเศร้าไหม 

(คำเตือน : เป็นเพียงคำแนะนำเท่านั้น ผู้ที่มีอาการป่วยควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์)

ส่วนตัวคิดว่าไม่พอ อันนี้ฟังดี ๆ เลยนะ เป็นซึมเศร้าต้องไปหาหมอ ให้หมอช่วย ต้องกินยา เพราะมันเป็นเรื่องเคมีในสมอง ปรับตรงนั้นให้อยู่ก่อน แล้วจากนั้นก็มาทำความเข้าใจเพื่อเปลี่ยน Mindset ถ้ายิ่งไปนั่งสมาธิแบบที่เคมีในสมองยังไม่สมดุลอยู่จะยิ่งไปกันใหญ่ และสมองในตอนนั้นคงไม่พร้อมทำความเข้าใจกับอะไรด้วย 

กรณีของเรา หมอบอกว่าอาจเป็นมาจากทั้งกรรมพันธุ์และพฤติกรรมที่นอนไม่เป็นเวลา ตอนนั้นหมอก็ดีมาก ให้ยามากินแล้วบอกให้คอยสังเกตตัวเอง คอยจดว่าเครียดเพราะอะไร อะไรที่ทำให้รู้สึกไม่ดี มันก็ได้สังเกตตัวเองมากขึ้น แล้วหมอก็จะคุยด้วยเรื่อง Mindset จนทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปเลย อย่างเช่น เราเป็นคนขี้เกรงใจมาก เรื่องง่าย ๆ อย่างการไปลองรองเท้า ก่อนหน้านั้นไม่กล้าเข้าร้านไปลองเลยนะ กลัวว่าถ้าลองแล้วไม่ซื้อเขาจะว่า แต่หมอก็บอกว่าให้ไป จงไปลอง แล้วก็ลองปฏิเสธคนดู ก็เลยไปลอง เหมือนตอนฝึกนั่งสมาธิแหละ ก็จริงจัง เข้าออกร้านรองเท้าทุกครั้งที่เจอ และมีจังหวะได้ไปอยู่ที่นิวยอร์กพักหนึ่งด้วย คนที่นั่นซื้อของแล้ว ถ้าไม่ถูกใจก็เอาไปคืนได้ ทำกันเป็นปกติ ความรู้สึกกดดันตัวเองเลยน้อยลง อาการซึมเศร้าก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ 

แต่เราคิดว่าการเรียนรู้เรื่องธรรมะทำให้การหายจากซึมเศร้าอย่างยั่งยืนนะ เพราะเราจะจับความคิดได้เร็ว จับแล้วปล่อย ไม่ไปต่อยอด ไม่คิดฟุ้ง ไม่คิดมาก 

เอาจริง ๆ เวลาไปหาจิตแพทย์ สิ่งที่เขาพูดนี่ก็ธรรมะทั้งนั้นนะ ช่วงนี้เราจัดพอดแคสต์คุยกับคนที่เคยป่วยด้านจิตเวช พวกเขาพูดเหมือนกันหมด คือสุดท้ายแล้วหมอก็สอนด้วยธรรมะ

คุยเรื่องธรรมะพอแล้ว อยากรู้ว่านักร้องเพลงรักในวัย 40+ มองเรื่องความรักยังไง

ความรักเป็นเหมือนที่หนังสือเขาเขียนเลย ความรักคือการให้และไม่มีเงื่อนไข จริง ๆ นะ ความรักที่จะไม่ทำให้ทุกข์ใจเป็นแบบนั้น เรารักเขาแล้วก็ให้เขาแบบที่เป็นเขา ถ้ากำหนดว่าอยากให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ นั่นคือรักตัวเอง 

เมื่อก่อนอยู่คนเดียวไม่ได้ ใครเข้ามาเลยยึดไว้หมด แล้วก็ยอมเขาหมด สติไม่มีก็เชื่อทุกอย่างที่เขาพูด หน้ามืดตามัว เพิ่งเข้าใจในวัยนี้แหละว่าต้องศึกษาดูใจกันก่อน สถานะคนคุยก็มีเหตุผลของมัน

พอคิดเรื่องแบบนี้ได้ เผลอ ๆ จะเข้าใจคนที่รักหลายคนได้ด้วยซ้ำ ไม่ได้หมายความว่ายอมรับการมีโลกหลายใบได้นะ แต่เชื่อว่าคนเรารักคนมากกว่า 1 คนได้ เพราะสุดท้ายความรักจะแปรเปลี่ยนมาเป็นความรักแบบเพื่อนร่วมโลก สามีภรรยาที่หมดฮอร์โมนแล้วก็เป็นความรักแบบมิตรสหาย คนที่จบความสัมพันธ์กันไปก็ยังมีความปรารถนาดีให้กันได้ ไม่ต้องโกรธเคือง และยินดีด้วยหากชีวิตเขามีความสุข

เมื่อไหร่ที่มึงเป็นแบบนั้นกับใครสักคน แสดงว่ามึงรักเขาจริง ๆ

ที่รู้สึกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ เกิดจากอะไร

ก่อนหน้านี้เป็นคนไม่ค่อยคุยกับพ่อแม่ เราเป็นลูกคนเดียวแต่ไม่ค่อยสนิท ไม่เปิดใจกับพ่อแม่ รู้สึกมีปัญหา ชีวิตเลยเหมือนไม่เต็ม ต้องไปยึดคนอื่น แต่คนอื่นที่มองเข้ามาจะไม่รู้สึกว่าครอบครัวเรามีปัญหานะ เพราะจริง ๆ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ปัญหาเดียวคือเราคิดไปเองว่าเป็นเด็กมีปัญหา 

เพิ่งคิดได้เมื่อไม่กี่ปีมานี้ว่าอาจเกิดจากที่ตอนเราเด็ก ๆ สื่อมักสร้างคาแรกเตอร์ตัวเอกให้เป็นเด็กมีปัญหา ทั้งหนังและละคร อย่างเพลง 18 ฝน ก็เท่เหลือเกิน เลยถูกชักจูงไปทางนั้น อาจเป็นพฤติกรรมลอกเลียนแบบ เคยหนีออกจากบ้าน ขึ้นรถทัวร์จากเชียงรายมากรุงเทพฯ ทิ้งจดหมายไว้ พ่อแม่คงเสียใจและงงมาก 

พอรู้สึกไปเองว่าไม่ได้มีครอบครัวที่แข็งแรง เลยห่างเหินจากครอบครัวไป รู้สึกเคว้ง ๆ มีเสาอะไรให้ยึดก็ยึดหมด ติดสังคม ติดเพื่อน จนไม่เคยยืนด้วยตัวเอง ไม่กล้าอยู่คนเดียว

มีคนเคยเปรียบเทียบว่าเราเหมือนดอกไม้ที่ไม่ตายแต่เหี่ยวเฉา คือดูไม่เต็ม มีอะไรขาดไป เมื่อ 2 ปีก่อนเลยตัดสินใจกลับไปสานสัมพันธ์กับครอบครัว กลับบ้านที่เชียงรายบ่อยขึ้น วันดีคืนดีก็ทำอะไรสุดโต่งเพื่อละลายพฤติกรรม อย่างชวนพ่อแม่มากอดกัน ช่วยพ่อถือกระเป๋า ประคองแม่ลงบันได รู้สึกว่าให้เวลากับคนอื่นมากไปแล้ว ต้องให้เวลากับพ่อแม่บ้าง แรก ๆ เขาคงแปลกใจแหละ แต่กำแพงตรงกลางคือสูญสลายไปเลย บรรยากาศที่บ้านเปลี่ยนไปเลย เดี๋ยวนี้จะโทรหาแม่ก็โทร คุยกันทีละนาน ๆ สัพเพเหระ 

ฟังดูเหมือนทุกอย่างเริ่มตกตะกอน ชีวิตเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทุกวันนี้ความสุขของมิ้นคืออะไร

มีเวลาได้ศึกษาธรรมะ หัดปฏิบัติมากขึ้น ไม่ได้อยากบรรลุอะไร แต่ชอบฝึกตัวเองให้มีสติ

เวลามีเรื่องดราม่าก็หายไวขึ้น เพราะดึงสติได้ ไม่ฟูมฟาย 

ทำงานได้อย่างมีความสุขมากขึ้น ปล่อยวางความคิดว่าคนจะมองเราเป็นยังไง 

เข้าใจว่านี่คืองาน นี่คือตัวเรา

สุขที่อยู่คนเดียวได้มากขึ้น ไม่กลัวการอยู่คนเดียวแล้ว

Writer

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

พิชญา อุทัยเจริญพงษ์

อดีตนักโฆษณาที่เปลี่ยนอาชีพมาเป็นนักเล่าเรื่องบนก้อนเมฆ เป็นนักดองหนังสือ ชอบดื่มกาแฟ และตั้งใจใช้ชีวิตวัยผู้ใหญ่ไปกับการสร้างสังคมที่ดีขึ้น

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์