บทความนี้โบจะชวนคนอ่านมาลองฝึกกินอย่างมีสติ ไม่ใช่เพียงเพื่อลดความอ้วนหรือลดน้ำหนักเท่านั้น แต่การกินอย่างมีสติหรือที่เรียกกันว่า ‘Mindful Eating’ ยังช่วยเติมเต็มความสุขทางใจและเปิดประสบการณ์การกินของเราได้อย่างไม่คาดคิด

สังคมปัจจุบันอาจหล่อหลอมให้เรากินข้าวคนเดียว กินอย่างเร่งรีบให้เสร็จสิ้นไปเร็ว ๆ หรือบางคนกลับเข้าใจว่ากิจกรรมการกินทำให้เสียเวลา จึงทำอย่างอื่นไปด้วยมากกว่ากินอย่างเดียว ไม่ว่าจะเล่นมือถือ ดูหนัง แชต หรือพิมพ์งาน และกระแสการกินให้คุ้มในร้านอาหารบุฟเฟต์ที่จำกัดเวลา ทำให้เราต้องกินมาก ๆ ในเวลาที่จำกัด เราจึงไม่ค่อยรู้เนื้อรู้ตัวว่ากำลังกินอะไรอยู่ และไม่ได้พิจารณาอาหารอย่างรอบด้าน

Jon Kabat-Zinn สร้างแบบฝึกหัดเพื่อการฝึกสมาธิอย่างง่าย ๆ โดยใช้การกินมาเป็นเครื่องมือฝึกสติ เขาให้เรากินผลองุ่นแห้งหรือลูกเกด 1 ลูกถ้วน เพื่อเป็นอุบายให้เราอยู่กับปัจจุบันผ่านการกิน ซึ่งทดลองทำตามได้ด้วยขั้นตอนง่าย ๆ ดังนี้

นำลูกเกด 1 ลูกวางไว้บนมือ แล้วสังเกตว่ามันหนักเบาแค่ไหน 

พิจารณาดูลูกเกดนั้นราวกับว่าไม่เคยเห็นมาก่อนว่าสีอะไร เหี่ยวแค่ไหน มีรอยย่นยังไง แล้วใช้นิ้วแตะ กด บีบ จนรู้สึกได้ว่ามันแห้ง หยุ่น นิ่ม หรือแข็งยังไง

ลองฝึก Mindful Eating พินิจอาหารและการกินแบบมีสติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการกิน

จากนั้นสูดหายใจเข้าลึก ๆ ดมลูกเกด แล้วค่อย ๆ พิจารณาว่ามีกลิ่นเช่นไร กลิ่นหอมแบบไหน กลิ่นออกหวาน หรือเป็นกลิ่นผลไม้แห้งอับ มีกลิ่นองุ่นสด ๆ เหลือไหม

เอาลูกเกดเข้าปาก วางไว้บนลิ้น ปิดปากลงแล้วอย่าเพิ่งเคี้ยว ให้ใช้ลิ้นสัมผัสลูกเกดแล้วสังเกตความรู้สึกในปาก

แล้วลองหายใจออกดูว่าได้กลิ่นมากขึ้นหรือเปลี่ยนไปไหม

เอาล่ะ ค่อย ๆ เคี้ยวได้ กัดครึ่งหนึ่งก่อน และค่อย ๆ รับรู้รสของลูกเกดทั้งรสชาติและรสสัมผัสของลูกเกดในปากเรา เมื่อเคี้ยวดีแล้วก็กลืนได้

ค่อย ๆ กลืนให้รู้สึกว่าลูกเกดเดินทางลงไปในหลอดอาหารยังไง

เมื่อกลืนลงแล้วให้สังเกตว่ามีความรู้สึกอะไรคงเหลือในปากไหม

แบบฝึกหัดนี้ทำให้เราสนใจทุกรายละเอียดของการรับรู้ในการกินทุกขณะ และรู้สึกตัวตามความเป็นจริง (ถ้าอธิบายแบบการฝึกสติสายพุทธ) หลายคนที่ได้ลองทำแปลกใจในรสชาติของลูกเกด แปลกใจในรายละเอียดระหว่างทาง ซึ่งสร้างประสบการณ์แบบใหม่ให้กับการกินและการฝึกสติ รู้สึกตัวผ่านอาหาร อยู่กับปัจจุบันโดยไม่รู้สึกอึดอัดหรือเพ่งกับลมหายใจมากไปนัก ถ้าผู้อ่านไม่ได้ชื่นชอบลูกเกดก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่นได้

ส่วนทางด้านมหาวิทยาลัย Harvard ให้คำจำกัดความกับคำว่า Mindful Eating ไว้ประมาณว่า เป็นการสร้างประสบการณ์การกินที่ต้องใช้ประสาทสัมผัสของเราทั้งทางร่างกายและอารมณ์ เพื่อให้เราได้เพลิดเพลินและมีความสุขกับอาหารที่ได้ตัดสินใจจะกิน

งานวิจัยของ Harvard นี้ยืนยันว่า เมื่อเราใช้ประสาทสัมผัสในทุก ๆ ด้าน เราจะได้รับประสบการณ์การกินที่ดีขึ้น รู้สึกซาบซึ้งในคุณค่าของอาหารที่ได้กิน และพึงพอใจกับอาหารที่เลือกเพื่อมาบำรุงร่างกายและเมื่อตระหนักรู้ว่ากินอะไรอยู่เสมอ ๆ เราก็จะเปลี่ยนพฤติกรรมการกินในระยะยาวได้ 

โดยรายงานจาก Harvard แนะนำการกินอย่างมีสติว่า ระหว่างที่กิน ให้เราขยายมุมมองที่มีต่ออาหารที่กำลังจะกินให้กว้างขึ้น และให้มองภาพใหญ่ของอาหารว่ามาจากไหน หน้าตา รสชาติ รสสัมผัส เป็นอย่างไร กินไปแล้วดีต่อร่างกายไหม ส่งผลกระทบอะไรให้สิ่งแวดล้อมบ้างรึเปล่า และรู้สึกขอบคุณที่ได้กินอาหารดี ๆ ขอบคุณธรรมชาติและขอบคุณผู้ผลิตอาหาร 

เมื่อนำการกินเพื่อฝึกสมาธิขั้นต้นมาผนวกรวมกับการกินอย่างมีสติแบบ Harvard แล้ว เราต้องได้การกินแบบมีโภชนสติ ซึ่งโบเชื่อว่าจะสร้างคุณค่าให้กับการกินอาหารในทุก ๆ มื้อได้อย่างมีความหมาย และการกินแบบนี้จะนำไปสู่สุขภาพที่ดีขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ 

ในขณะเดียวกัน การกินอย่างรู้ที่มาและพึ่งพาธรรมชาติยังสร้างความยั่งยืนให้กับฐานทรัพยากรอาหารของเราได้อีกด้วย

ลองฝึก Mindful Eating พินิจอาหารและการกินแบบมีสติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการกิน

โบจะชวนมาลองกินแบบโภชนสติด้วยก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม เลือกมื้ออาหารที่สบาย ๆ มีเวลาเต็มที่ให้กับมื้อนี้อย่างมื้อเที่ยงวันอาทิตย์ 

สั่งก๋วยเตี๋ยวสักชาม แล้วเริ่มด้วยการคีบลูกชิ้นปลาขึ้นมาพิจารณาความแน่น ความเด้ง กลม เบี้ยวมีรอยนิ้วบีบไหม สีขาวนวลหรือขาวเทา ดมดูว่าคาวหรือไม่คาว ค่อย ๆ กัด เคี้ยว แล้วกลืน

เป็นการเปิดการกินก๋วยเตี๋ยวชามนั้นอย่างมีสติ ระหว่างนั้นก็พิจารณาด้วยว่าลูกชิ้นปลานี้ทำมาจากปลาอะไร จับมายังไง ใช้เครื่องมือจับปลาอะไร ใครเป็นคนจับ แล้วคนที่ไปซื้อมาทำลูกชิ้นซื้อมาจากที่ไหน ได้ปลามาแล้วกระบวนการทำให้เป็นลูกชิ้นเขาทำกันยังไง ใช้น้ำในการผลิตเยอะไหม แล้วอุปกรณ์เครื่องครัวต้องใช้อะไรบ้าง เสร็จแล้วใครล้าง จากนั้นลวกยังไงก่อนที่ลงมาในชามก๋วยเตี๋ยวของเรา กินเข้าไปแล้วจะส่งผลต่อร่างกายเรายังไง ได้รับโปรตีนเท่าไหร่ ต้องกินกี่ลูกดีนะ 

ต่อด้วยคีบเส้นขึ้นมา พิจารณาความใส ความหนาบาง ความแคบกว้างของเส้น แล้วค่อยเอาเข้าปาก เมื่อเคี้ยวให้ความรู้สึกถึงความนุ่ม ความเหนียว หรือความไม่นุ่ม ไม่เหนียว กลิ่นของเส้น แล้วคิดตามไปด้วยว่าเส้นใช้แป้งข้าวเจ้าหรือแป้งสาลีทำ แป้งมาจากไหน เขาทำเส้นกันยังไง

พิจารณาส่วนประกอบแต่ละส่วนของก๋วยเตี๋ยว แล้วจึงเริ่มกินแบบไม่พิจารณามาก เมื่อกินเสร็จแล้ว กลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าที่กินแล้วรู้สึกหนักท้อง เบาท้อง หรือแน่นท้อง สบายท้องกำลังดี

ถ้ากินไม่หมดถ้วย อาจต้องพิจารณาต่อว่าของที่เหลือในชามเหล่านี้จะไปอยู่ที่ไหน ไม่จำเป็นต้องทำทั้งชาม ประเดี๋ยวเส้นจะอืดเสียหมด ลองดูแค่ส่วนประกอบสัก 2 – 3 อย่างก่อนก็ได้

เมื่อเราได้คำตอบจากการกินแบบที่เปิดทุกประสาทสัมผัส รับรู้ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการกิน จะได้คำตอบที่เหมาะสมว่าก๋วยเตี๋ยวชามที่กินไปนั้นสร้างประสบการณ์การกินให้เราได้ไหม อร่อยถูกใจมากน้อยแค่ไหน กินแล้วอิ่มมาก อิ่มน้อยเท่าใด ต้องสั่งอีกถ้วยไหม การกินก๋วยเตี๋ยวชามนี้ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางใจอย่างไร และก๋วยเตี๋ยวชามนี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวลดล้อมมากน้อยแค่ไหน เราก็จะได้ข้อมูลทั้งหมดนี้ผ่านการกิน และใช้ประกอบการตัดสินใจในการกินก๋วยเตี๋ยวของเราในครั้งหน้าได้เป็นอย่างดี

ถ้าใครตะขิดตะขวงใจหรือกลัวว่าคนอื่นจะมองว่าแปลก ก็ไม่ต้องรู้สึกว่าเราทำอะไรประหลาดเพราะแท้จริงแล้วธรรมเนียมการพิจารณาอาหารหรือขอบคุณอาหารมีอยู่ในหลายศาสนาและความเชื่อ

อย่างในศาสนาคริสต์ เราต้องกล่าวคำภาวนาก่อนกินอาหาร เป็นการกล่าว Grace เหมือนในหนังฝรั่งหลายเรื่องที่ต้องนั่งจับมือกันภาวนาก่อนจะเริ่มกินข้าวได้ ระหว่างการกล่าวคำขอบคุณนั้นเปรียบเสมือนการทำสมาธิย่อย ๆ เพื่อให้ระลึกถึงและซาบซึ้งในคุณค่าของอาหารที่จะได้กิน

หรือการกล่าวคำว่า ‘いただきます’ (Itadakimasu) ของคนญี่ปุ่นก็เช่นกัน คำนี้เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธเซนในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก เป็นการขอบคุณและเคารพความเสียสละของสัตว์และพืชผักต่าง ๆ เพื่อมาเป็นวัตถุดิบในอาหารของเรา และขออนุญาตรับอาหารเหล่านี้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต และคำกล่าวนี้ยังแสดงความซาบซึ้งถึงคนทุกคนที่มีส่วนร่วมทำให้เราได้กินอาหาร ทั้งคนปรุงอาหาร คนเสิร์ฟ คนปลูกผัก หรือคนจับปลา 

แม้แต่พระในศาสนาพุทธก็สวดบทที่ว่า ปะฏิสังขา โยนิโส ปิณฑะปาตัง ปะฏิเสวามิ เพื่อพิจารณาก่อนฉัน ก็เป็นตัวอย่างของธรรมเนียมปฏิบัติก่อนเริ่มกิน

โบจึงเห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่เราควรพิจารณาอาหาร และอยากชวนให้มาลองทำในมื้อที่มีโอกาส เราควรเจียดเวลาให้กับมื้ออาหารเหมือนที่การเจียดเวลาไปออกกำลังกาย เข้าฟิตเนส ทำเวทเทรนนิ่ง หรือเจียดเวลาสำหรับการสวดมนต์นั่งสมาธิ 

หันมาให้คุณค่ากับตัวเองและอาหารที่เลือกกิน แล้วรู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงด้วยการกินแบบมีโภชนสติไปด้วยกัน

ลองฝึก Mindful Eating พินิจอาหารและการกินแบบมีสติ เพื่อเพิ่มประสบการณ์ในการกิน

Writer

Avatar

ดวงพร ทรงวิศวะ

ดวงพร ทรงวิศวะ เกิดและโตที่กรุงเทพฯ จบการศึกษาทางด้านโภชนศาสตร์จากประเทศออสเตรเลีย อาหาร ประวัติศาสตร์ นโยบายการเมือง วัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น การทำเกษตร และเรื่องราวของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่เชฟโบสนใจและนำมาประยุกต์ใช้กับการปรุงอาหารที่โบ.ลาน เชฟโบได้รับเกียรติเป็นเชฟหญิงที่ดีที่สุดของเอเชีย เมื่อปีพุทธศักราช 2556 หลังจากเปิดโบ.ลานได้ 4 ปี ทุกวันนี้เชฟยังมีความสุขกับการค้นหาสูตรอาหารที่คนหลงลืม ชิมรสชาติของพืชผักพื้นบ้าน และตีความอาหารไทยไปในทิศทางต่างกันตามแต่ละกรณี

Photographer

Avatar

The Cloud

นิตยสารออนไลน์ที่เล่า 3 เรื่องหลักอย่าง Local, Creative Culture และ Better Living ส่งเนื้อหารายวัน แต่เสิร์ฟความประณีตแบบนิตยสารรายเดือน