บนนามบัตรรูปร่างชวนให้นึกถึงลูกโป่งบิดเป็นรูปหมี ที่ ริเอะ โฮะโซะไค (Rie Hosokai) ยื่นให้เรา ระบุตำแหน่งหลังชื่อเธอว่า Balloon Artist เธอมาพร้อม ทะคะชิ คะวะดะ (Takashi Kawada) ผู้ทำหน้าที่กราฟิกดีไซเนอร์และอาร์ตไดเรกเตอร์
Daisy Balloon คือชื่อที่ทั้งสองใช้ทำงานร่วมกัน ประวัติของทั้งคู่อาจไม่สำคัญเท่าไหร่ เมื่อได้เห็นงานหลากหลายรูปแบบที่คาดไม่ถึงว่าถูกสร้างสรรค์จากลูกโป่งธรรมดาๆ ศิลปะจัดวางที่นำไปแสดงหลายแห่งทั่วญี่ปุ่น ประติมากรรมขนาดเล็ก หรือแม้กระทั่งชุดราตรีพลิ้วไหว ทั้งหมดเกิดจากความตั้งใจที่อยากให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับลูกโป่งต่างออกไปจากเดิม
คุณริเอะและคุณทะคะชิบินมาเตรียมงานและดูพื้นที่จริงก่อนจัดงานแสดงครั้งแรกในเมืองไทยที่ Open House @ Central Embassy ที่กำลังจะจัดขึ้นในวันที่ 1 – 10 มิถุนายนนี้ ศิลปะจัดวางภายใต้แนวคิด Forward การลื่นไหลของสรรพสิ่งที่จะถูกสร้างขึ้นจากลูกโป่งจำนวนอย่างน้อย 10,000 ลูก
“เราออกแบบชิ้นงานเรามาล่วงหน้าแล้วจากญี่ปุ่น แต่พอได้มาเห็นสถานที่จริง เราก็ได้แรงบันดาลใจเพิ่มเติม ทำให้สามารถปรับเปลี่ยนดีไซน์ได้ให้เข้ากับพื้นที่ได้อีก”
“มันคือความท้าทายของการทำงานศิลปะด้วยลูกโป่งใช่ไหม” เราถาม คุณริเอะและคุณทะคะชิพยักหน้าพร้อมกัน
ลูกโป่ง = ดอกไม้
จุดเริ่มต้นของ Daisy Balloon เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 1998 เมื่อคุณริเอะทำงานในร้านดอกไม้ ในจังหวัดคานากาวะ เธอเริ่มทำงานกับลูกโป่งที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งในการตกแต่งช่อดอกไม้ หลังจากได้สัมผัสและเรียนรู้งานลูกโป่งจนพัฒนาฝีมือได้ระดับหนึ่ง เธอจึงตัดสินใจออกมาเปิดกิจการของตัวเอง
“พอฉันเริ่มเปิดร้านลูกโป่งเอง ในช่วงแรกก็ยังเป็นงานธรรมดาทั่วไป เช่น การตกแต่งสถานที่ ทำช่อดอกไม้” คุณริเอะเล่าย้อนไปในช่วงปี ค.ศ. 2002 “หลังๆ ฉันก็เริ่มมีไอเดียว่าลูกโป่งน่าจะมีลูกเล่น และทำให้เป็นรูปทรงหลากหลายได้ ฉันเลยเริ่มนำลูกโป่งเส้นยาวมาทำเป็นสัตว์ชนิดต่างๆ และลองให้เด็กๆ เป็นของขวัญ หลังจากนั้นก็เริ่มมีลูกค้าเข้ามาสั่งเรื่อยๆ”
จากลูกโป่งแท่งยาวธรรมดาๆ คุณริเอะเริ่มนำลูกโป่งหลายๆ ลูกมาประกอบกัน ทำให้เกิดงานชิ้นใหญ่ และมีหลายรูปแบบมากขึ้น
“ตอนเด็กๆ คุณริเอะต้องคลุกคลีกับลูกโป่งบ่อยๆ แน่ๆ” เราถาม
“ไม่เลยค่ะ” เป็นคำตอบที่เซอร์ไพรส์เราไม่น้อย “ฉันจำความรู้สึกตอนที่ฉันเคยจับลูกโป่ง ฉันรู้สึกว่า ลูกโป่งเหมือนดอกไม้ พอถูกอัดก๊าซและเริ่มพอง เหมือนดอกไม้ที่เบ่งบานเต็มที่แล้วก็เริ่มร่วงโรย”
ลูกโป่ง x กราฟิกดีไซน์
หลังเริ่มเป็นศิลปินลูกโป่งที่มีคนรู้จักมากขึ้น คุณริเอะได้ไปร่วมการประชุมและออกงานแฟร์เกี่ยวกับลูกโป่งในต่างประเทศ เธอจึงมองหากราฟิกดีไซเนอร์ให้มาช่วยออกแบบเว็บไซต์และทำแบรนดิ้งให้ ดีไซน์สตูดิโอของคุณทะคะชิได้ทำงานนี้
“ด้วยพื้นฐานการเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ ผมเลยมองลูกโป่งในมุมมองที่แตกต่าง เวลาผมมีไอเดียแปลกๆ ผมก็มักจะนำเสนอให้คุณริเอะทดลองทำ”
เกิดเป็นงานคอลลาบอเรชันนอกกรอบ จากสองมุมมองที่แตกต่าง ในการทำงานร่วมกัน คุณริเอะเปรียบเทียบว่า คุณทะคะชิทำหน้าที่เป็น ‘สมอง’ ส่วนเธอเป็น ‘มือ’
เราเลยอดแซวไม่ได้ว่า แล้วใครเป็นคนเป่าลูกโป่งล่ะ “ฉันเองค่ะ” คุณริเอะหัวเราะ
“ผมไม่จับลูกโป่งเลย จับทีไรแตกทุกที”
ลูกโป่ง : แฟชั่น
ลูกโป่งแท่งยาวธรรมดาๆ จำนวน 500 แท่งถูกนำมาบิดรวมกันเป็นชุดยาว The Art of Layering เป็นงานชิ้นแรกที่ทั้งคู่ร่วมกันทำ ชุดราตรียาวพลิ้วไหวสะบัดสวยงามไม่ต่างจากผ้า เกิดจากไอเดียของคุณทะคะชิที่อยากสร้างงานจากลูกโป่งแบบหลุดกรอบ ลูกโป่งที่สวมใส่ได้ ลูกโป่งที่เคลื่อนไหว ลูกโป่งที่สร้างความเป็นไปได้ใหม่ๆ และอิสรภาพในการสร้างสรรค์
“ทั้งหมดเกิดจากการที่ผมอยากเห็นงานแบบนี้ ผมเลยเริ่มเสนอไอเดียให้คุณริเอะ ผมว่าแฟชั่นเป็นสิ่งที่ใกล้ชิดกับคน ทำให้คนสนใจได้ง่าย เราเลยเลือกตีความลูกโป่งเป็นงานแฟชั่นก่อนขยายเป็นงานร่วมสมัยในรูปแบบอื่นๆ เช่น ศิลปะจัดวาง หรือประติมากรรม”
อีกผลงานที่ทำให้ Daisy Balloon เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือ DNA Dress ที่ Björk สวมขึ้นเวทีในเทศกาล Fuji Rock Festival ปี ค.ศ. 2013 คุณริเอะเล่าย้อนไปว่า เธอได้รับการติดต่อจาก Björk ทางอีเมลว่าให้ช่วยออกแบบชุดจากลูกโป่งตามคอนเซปต์ Biophilia อัลบั้มชุดที่ 8 ของเธอที่สะท้อนชีวิต จักรวาล และสรรพสิ่งที่สัมพันธ์กัน Daisy Balloon จึงตีโจทย์อนาคตแห่งศตวรรษที่ 21 ผ่านชุดลูกโป่งรูปร่างเกลียวคู่จำลองรูปร่างของดีเอ็นเอสำหรับโชว์ครั้งนั้น
ลูกโป่ง = ฟรีฟอร์ม
เนื่องจากแต่ละชิ้นงานของ Daisy Balloon เกิดจากไอเดียสดใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน หลังวางคอนเซปต์ คุณทะคะชิจะทำหน้าที่ร่างแบบบนคอมพิวเตอร์ โดยมีคุณริเอะเป็นผู้ลงมือทำงาน
“ความท้าทายของการทำงานศิลปะกับลูกโป่งคือ ต้องพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ทุกชิ้นคือการลองผิดลองถูก เราต้องพัฒนาไปเรื่อยๆ ระหว่างลงมือทำ แต่ข้อดีของลูกโป่งคือ รูปแบบที่ไม่ตายตัว ความยืดหยุ่นของมันทำให้เรานำไปใช้ได้หลายรูปแบบ”
ในหลายๆ งานที่คุณริเอะและคุณทะคะชิได้สร้างสรรค์ มาสเตอร์พีซที่ทั้งสองภูมิใจมากที่สุด งานศิลปะที่ถูกจัดแสดงถาวรอยู่ภายในห้องหมายเลข 164 โรงแรม Anteroom ในเกียวโต ทำจากปากลูกโป่งนับพันชิ้น ที่ทั้งคู่ใช้เวลากว่าหนึ่งปีในการนำมาต่อกัน สะท้อนความสมบูรณ์ของปัจเจกที่เป็นส่วนหนึ่งในการร้อยรัดสังคมเข้าด้วยกัน
ลูกโป่ง = ธรรมชาติ
“ลูกโป่งแฟบและหดตัวในช่วงเวลาที่แตกต่างกันไปขึ้นกับสภาพแวดล้อม” คุณริเอะเล่าถึงธรรมชาติของลูกโป่งที่ทำให้เธอได้เรียนรู้เกี่ยวมุมมองในการใช้ชีวิต “ในการทำงานแต่ละครั้ง สภาพแวดล้อมการทำงานไม่เหมือนกัน เราต้องไม่ยึดติดกับเงื่อนไขเดิมตลอด การทำงานกับลูกโป่งฝึกให้เราเป็นคนไม่ยึดติด”