หน้ากากดีไซน์สวย เข็มขัดหลากลูกเล่น ท่าแปลงร่างอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว จักรยานยนต์มากอุปกรณ์เสริมที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการสยบเหล่าร้าย ตลอดจนท่าไม้ตายอันทรงประสิทธิภาพ คงเป็นเหตุผลเบื้องต้นที่ยอดมนุษย์สัญชาติญี่ปุ่นอย่าง ‘มาสค์ไรเดอร์ (Masked Rider)’ หรือ ‘คาเมนไรเดอร์ (Kamen Rider)’ ครอบครองหัวใจเยาวชนที่รักหนังซูเปอร์ฮีโร่มาทุกยุคทุกสมัย

เด็กชายไทยนับล้านคนเติบโตมากับการชื่นชมเหล่านักปราบอธรรมที่เรียกกันว่า ‘ไอ้มดแดง’ บ้างเคยสวมเข็มขัดพลางทำท่าบิด ๆ เบี้ยว ๆ เพื่อแปลงกายเป็นพวกเขา บ้างเคยวาดฝันใหญ่โตว่าจะออกไปทำลายล้างองค์กรช็อคเกอร์เพื่อคืนความสุขแก่โลกนี้ บ้างตั้งมั่นแค่อยากมีมอเตอร์ไซค์ไอพ่นแบบพวกเขาไว้ขี่เล่นสักคัน ก่อนที่ฝันอันบรรเจิดเหล่านี้จะถูกลบลืมไป พร้อมกับช่วงวัยที่เพิ่มพูนจนมองเห็นนักสู้ในโลกสมมติอย่างเหล่าไอ้มดแดงเป็นเพียงเรื่องหลอกเด็ก จุดตั้งต้นในความชอบฮีโร่บนหลังมอเตอร์ไซค์ของชายชื่อ พิเชฐ เดชครุฑ ก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ แต่สิ่งที่ทำให้เขาต่างไปจากทุกคน คือความหลงใหลที่มีให้คาเมนไรเดอร์ไม่เคยจืดจางลงเลย หนำซ้ำยังมีแต่จะเพิ่มพูนขึ้นทุกวัน จนเป็นสิ่งสำคัญของชีวิต!

The Cloud นัดคุยกับเจ้าของบ้านหลังนี้ครั้งแรกผ่านแพลตฟอร์มสนทนาออนไลน์ พร้อมกับที่ใบหน้าของเขาฉายขึ้นบนหน้าจอ เราเห็นตุ๊กตุ่นตุ๊กตามากมายรายเรียงเต็มตู้ที่อยู่ข้างหลัง พิเชฐเล่าว่าเขาเกิดใน พ.ศ. 2515 เป็นน้องไอ้มดแดง 1 ปี เพราะ ‘คาเมนไรเดอร์ 1ที่คนไทยออกชื่อผิดเป็น ‘V1’ มานานเนา ปรากฏตัวบนโทรทัศน์ครั้งแรกใน พ.ศ. 2514

“ผมตามดูไอ้มดแดงตั้งแต่จอโทรทัศน์ธานินทร์สีขาวดำสมัยก่อน ทีวีที่บ้านจะเป็นสีขาวดำ ถ้าจะดูแบบมีสีต้องไปอาศัยดูข้างบ้านที่พ่อเขามีสตางค์ ที่บ้านมีโทรทัศน์สีจอเล็ก ๆ” พิเชฐเริ่มเปิดเผยที่มาความคลั่งไคล้ของตนเองด้วยแววตาเปี่ยมสุข

“ไรเดอร์คนแรกที่ได้ดูคือ V5 ไรเดอร์ X หรือที่บ้านเราเรียก ‘ไอ้มดเอกซ์’ ตอนประมาณ 6 – 7 ขวบสมัยนั้นมีอุลตร้าแมน หุ่นยนต์ซูเปอร์โรบอต เราก็ดูหมด อ่านหนังสือการ์ตูนด้วย แต่ไอ้มดแดงจะใกล้ตัว เพราะตัวเท่าเรา มีหมวก มีผ้าพันคอ มีชุด มีรถมอเตอร์ไซค์ สมัยก่อนผมว่าไอ้มดแดงมันเท่ตรงที่ขี่มอเตอร์ไซค์และมีท่าแปลงร่างนี่แหละ”

ในสมัยที่ความบันเทิงของไทยมักวนเวียนอยู่แค่หนังละครจักร ๆ วงศ์ ๆ การเข้ามาของฮีโร่ญี่ปุ่นที่มีรูปแบบ เนื้อเรื่อง และรายละเอียดลูกเล่นที่ดูแปลกตาออกไป เรียกความตื่นเต้นแก่พิเชฐในวัยเด็กได้ชะงัด เขาพยายามทำการบ้านให้เสร็จทุกวันศุกร์ เพื่อมารอชมยอดมนุษย์คนโปรดที่หน้าจอทุกวันเสาร์-อาทิตย์

สิ่งที่เข้ามาพร้อมกับละครทางโทรทัศน์คือของเล่น ไม่ว่าใครที่ติดตามวีรกรรมปราบสัตว์ประหลาดของไอ้มดแดง ก็อยากจะมีฮีโร่คนนี้อยู่ในการครอบครองด้วยกันทั้งนั้น พิเชฐก็เป็นเช่นเดียวกัน เขายังจำวันและคืนที่เคยอ้อนขอให้พ่อแม่ซื้อของเล่นไอ้มดแดงตามหน้าโรงหนังได้แม่น กับการที่ต้องหมั่นตั้งใจเรียนให้ได้ผลการเรียนที่ดี เพื่อรอรับของรางวัลที่ผู้ใหญ่จะมอบให้

“ของสะสมไอ้มดแดง ผมเริ่มเก็บตั้งแต่เด็กเลย พวกขนมถุง สมัยก่อนมีกาก้า คำคำ จะมีแถมของเล่นเป็นพวกยางลบบ้าง ตามหนังสือแมกาซีนมีตัดรูปสติกเกอร์ ก็เก็บมาเรื่อย ๆ ของเล่นสมัยก่อนอย่างพวกหุ่นพลาสติก หุ่นทอยเส้น ก็เก็บตั้งแต่นั้น แต่ที่เป็นชิ้นใหญ่ที่เริ่มเก็บจริงจังขึ้นมาตั้งแต่สมัย ม.2 – 3 แต่ที่มาจริงจังมาก ๆ มีของชิ้นใหญ่ เป็นตอนทำงานแล้ว”

ผู้ครอบครองบ้านไอ้มดแดงนำทางเราเข้าสู่ห้องเก็บของสะสมที่อัดแน่นด้วยตู้โชว์และของเล่นทุกตารางนิ้ว ก่อนอวดของสะสมเก่าที่สุดที่เขายังมีอยู่กับตัว เป็นหุ่นกาชาปองไรเดอร์หมายเลข 1 ซึ่งอยู่กับเขามาแต่เด็ก ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่ใช่ชิ้นแรกสุดที่พิเชฐตั้งใจสะสมอยู่ดี

“สมัยก่อนยังไม่ได้ทำงานทำการ แล้วอยู่ต่างจังหวัดด้วย จะหาเก็บของยาก ต้องฝากคนที่เข้ากรุงเทพฯ ซื้อมา แต่ที่เก็บเองก็จะเป็นพวกกาชาปองเล็ก ๆ ชิ้นแรกสุดที่ซื้อไม่อยู่แล้ว เพราะว่าย้ายบ้านหลายครั้ง ของก็จะหายไปตามเวลากับอายุของมัน แต่ชิ้นนี้ที่เป็น V1 ยังอยู่ ได้มาตั้งแต่เด็ก ๆ แล้ว พวกนี้จะได้จากการซื้อตามหน้าโรงเรียน”

ภายในตู้โชว์ที่แน่นขนัดไปด้วยไอ้มดแดงหรือคาเมนไรเดอร์แต่ละรุ่น ข้อแตกต่างระหว่างไรเดอร์แต่ละยุคคือการออกแบบชุดที่นับวันก็ยิ่งเพิ่มความพิสดารขึ้นโดยลำดับ จากไอ้มดแดงรุ่นแรกที่ออกแบบโดยใช้แมลงปอเป็นแรงบันดาลใจ (แต่คนไทยสมัยก่อนเห็นเป็นมด) พอผ่านไปถึงไรเดอร์ตัวที่ 15 หรือ 16 ดีไซน์ก็เปลี่ยนแปลงเป็นสัตว์ชนิดอื่น จนกระทั่งยุคปัจจุบันที่ไร้รูปแบบตายตัว

ความเปลี่ยนแปลงของไรเดอร์ที่เกิดขึ้นตลอด 50 กว่าปีที่ผ่านมา แบ่งตามรัชสมัยของจักรพรรดิญี่ปุ่นได้เป็น 3 ยุค อันประกอบไปด้วยยุคโชวะ (Showa Era) ยุคเฮเซ (Heisei Era) และล่าสุดคือยุคเรวะ (Reiwa Era) ที่เริ่มนับเมื่อ พ.ศ. 2562

“ถ้าเป็นสมัยโชวะ ไอ้มดแดงยุค 1970 คือคนขี่มอเตอร์ไซค์ ใส่หน้ากาก ปราบอธรรม มีศัตรูตอนละตัว คนรุ่นผมส่วนใหญ่จะชอบดูยุคโชวะ เพราะใกล้ตัว ดูง่าย ไม่ต้องตีความมาก และมีคาแรกเตอร์ชัดเจน ในยุคนั้นจะมีดีไซน์ที่ชัดเจนว่ามาจากแมลงปอ มีผ้าพันคอ ต้องมีมอเตอร์ไซค์ที่สัมพันธ์กับตัวนั้น แก่นของมันคือการต่อสู้กับฝ่ายร้าย สอนคุณธรรม สอนให้มีกำลังใจในการต่อสู้”

ไรเดอร์ในยุคโชวะจนถึงเฮเซระยะแรก

แต่พอเริ่มเข้ายุคเฮเซ รูปแบบของไรเดอร์แต่ละตัวก็พลิกผันไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

“ยุคเฮเซเริ่มจะเป็นฮีโร่อีกแบบแล้ว เหมือนเริ่มเน้นขายของเล่น เราเข้าใจเลยว่าจะผลิตอะไรมาสักอันต้องสัมพันธ์กับการขายของ ฮีโร่จะเริ่มเปลี่ยนแนวจากผู้ชายเท่ ๆ เปลี่ยนไปเป็นแบบหล่อ ๆ เรียกกลุ่มคนดูอีกกลุ่มมาดูได้มากขึ้น ของเล่นจะมีลูกเล่นเยอะขึ้น มีส่วนประกอบ มีตัวเสียบนู่นเสียบนี่ ท่าแปลงร่างก็จะพิสดารมากขึ้น”

พิเชฐแอบเล่าว่ายุคสมัยเฮเซนี้เองที่เขาเริ่มสร้างครอบครัว ภรรยากับลูกสาวของเขาก็เริ่มเข้าสู่วงการคาเมนไรเดอร์กับพ่อไปด้วย โดยเริ่มในยุค มาสค์ไรเดอร์ไฟซ์ เนื่องจากพระเอกหล่อ ทั้งบ้านเลยชักชวนกันดูแฟรนไชส์ไรเดอร์กันตั้งแต่นั้นมา

ซึ่งยุคเฮเซยังแบ่งเป็น 2 ระยะ ระยะแรกมีจุดสิ้นสุดอยู่ที่ซีรีส์ มาสค์ไรเดอร์ดีเคด ที่เริ่มไปเรียกพลังจากไรเดอร์รุ่นพี่มาใช้ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นระยะหลังซึ่งการเรียกพลังจากไรเดอร์คนก่อนยิ่งปรากฏถี่ขึ้น ซ้ำยังมีการผสมอาวุธ และเชิญนักแสดงรุ่นก่อน ๆ กลับมาโชว์ตัวให้แฟนคลับหายคิดถึงบ่อยครั้ง

“พอเริ่มยุคเรวะ อันนี้เน้นขายของเล่นหนักใหญ่เลย อย่าง มาสค์ไรเดอร์เซโร่วัน เข็มขัดตั้ง 10 กว่าเส้น คนเก็บเข็มขัดไรเดอร์ทุกเส้นก็เหนื่อยหน่อย เพราะบางทีเราไม่ได้ดูตอนต่อตอน มาดูอีกทีก็จะเห็นว่าเข็มขัดมันเปลี่ยนไป บางทีก็ต้องไล่หากลับมา ลักษณะเรื่องก็เหมือนใกล้ตัวมากขึ้น เป็นชีวิตวัยรุ่น ชีวิตใกล้ตัว แต่จุดขายคือการขายสินค้า ทุกคนก็จะบ่นว่าการออกสินค้าบางทีไม่ได้แมตช์กับการเป็นไรเดอร์แล้ว ดีไซน์มันต่างกันหมด”

หากเยี่ยมสายตาดูในตู้ของพิเชฐ จะพบว่าฟิกเกอร์ไอ้มดแดงจำนวนมากของเขาอยู่ในอิริยาบถนั่งบนหลังอานมอเตอร์ไซค์ บ้างใช้สองมือบิดแฮนด์เตรียมพร้อมขับตะบึงไปประจัญบานวายร้าย นี่คือแนวทางสะสมแนวหนึ่งที่เจ้าตัวให้ความสำคัญ

“หัวใจในการเก็บของผมคือไอ้มดแดงขี่มอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นต้องหามอเตอร์ไซค์ให้ อันไหนที่ออกมาแล้วมีมอเตอร์ไซค์พ่วง ผมเก็บหมด”

ทว่าของสะสมไลน์หลักของเขาที่คนในวงการต่างทราบกันดี คือเข็มขัดไอ้มดแดง

“สมัยก่อนเข็มขัดเป็นอะไรที่อยากเก็บมากที่สุดในชีวิต เพราะเป็นของเล่นที่แปลกกว่าเขา แต่ว่าเราบุญไม่ถึง ก็ฝากพี่ที่เขาเข้ากรุงเทพฯ ไปร้านขายการ์ตูน ให้เขาหิ้วมาฝากทุกอาทิตย์ ต้องแคะกระปุกไปซื้อ มาเก็บจริงจังก็เมื่อ 20 กว่าปีนี้

“ตอนที่ยังไม่มีเฟซบุ๊ก เราคุยหรือหาข้อมูลผ่านบล็อก ผ่านเว็บบอร์ด มีไปโชว์ของกัน ทุกคนในนั้นก็จะรู้ว่าผมเก็บเข็มขัดไอ้มดแดง ถ้าอยากดูก็ต้องมาดูที่บ้านนี้ ผมเก็บตั้งแต่เส้นแรกที่ออกขายจนถึงเส้นปัจจุบันที่มี แล้วแบ่งหมวดหมู่ไว้หมดเลย อย่างเข็มขัดนี่คือไลน์หลักที่ผมเก็บ ถ้าไม่เลิกขาย ผมก็ไม่เลิกเก็บ เอากันแบบนี้แหละ”

เมื่อครั้งยังเป็นมือใหม่หัดสะสมเข็มขัด พิเชฐต้องเพียรหาของที่ต้องการจากห้างสรรพสินค้า โดยเริ่มจากเข็มขัด มาสค์ไรเดอร์ริวคิ เส้นเก่า หัวเส้นเดียว จากห้างในตัวจังหวัดนครสวรรค์ ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการเลือกไลน์สะสมหลักของเขา ก่อนที่อีกหลายปีให้หลังเขาจะกลายเป็นนักสะสมเข็มขัดไอ้มดแดงซึ่งครบครันที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย

“ของที่ได้มายากที่สุดของผมเป็นพวกเข็มขัดงาน POPY งานประมูลในต่างประเทศ ซึ่งต้องถอยหลังไปเมื่อ 20 กว่าปีไปแล้ว มันได้ยากเพราะนาน ๆ มาที กว่าจะครบเหนื่อยมาก กับการที่ปีหนึ่งมีเส้นหนึ่ง 3 ปีมีเส้นหนึ่ง และกับการที่ประมูลแล้วก็ไม่ชนะ พอหลุดเสร็จมันจะหายไปเลย เราก็นั่งตามหาทุกวัน”

เข็มขัด POPY ของเก่า หายากตั้งแต่เส้นแรกที่ออกขาย ต้องซื้อหามาจากการประมูล

พิเชฐสาธยายความยุ่งยากของการสะสมเข็มขัดแนวนี้ว่าของที่หมายตามักสวนทางกับทุนทรัพย์ของเขาเสมอ อย่างยุคหนึ่งที่เขาตั้งใจตามเก็บเข็มขัดไรเดอร์ยุคโชวะที่เป็นงานประมูลให้ครบ ตอนนั้นค่าย Bandai นิยมออกแบบเข็มขัดย้อนยุคของสมัยก่อนหน้านั้นวางขายเป็นกล่อง เรียกกันว่า ‘งานวินเทจ’ นานทีปีหนจึงจะหลุดประมูลออกมาสักครั้งหนึ่ง ซึ่งก็จะมาในช่วงที่เขาขาดแคลนทุนไปเสนอราคาสู้ แต่สุดท้ายก็ได้เข็มขัดของ V3 ที่เจออันสุดท้ายมาครองจากการท่องเว็บไซต์ Yahoo Auction บางเส้นก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยผ่านตาเขามาก่อน เป็นต้นว่าเข็มขัดไร้ลูกเล่นที่ซื้อต่อจากเพื่อนคนไทย

เข็มขัดเสมือนจริงรุ่น CS ไลน์ (Complete Selection) มีในไลน์นี้แค่ 7 แบบที่ออกขายแล้วเปลี่ยนมาเป็น CSM ในปัจจุบันเข็มขัดมาสค์ไรเดอร์คูกะรุ่นแรกเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ราคา 25,000 บาท

“ชุดที่เรียกว่าเข็มขัด POPY นี่ยากสุดแล้ว มูลค่ามันค่อนข้างเยอะ แล้วระยะเวลากว่าจะหาได้มันนาน หาแบบที่เล่นได้สมบูรณ์ก็จะยาก” เขาสรุปก่อนนำทางไปหาของชิ้นต่อไปที่ตนภูมิใจนำเสนอ

“ส่วนของสะสมแพงที่สุดเป็นพวกเข็มขัด CS สมัยก่อน CS ของ มาสค์ไรเดอร์คูกะ แพงที่สุด ประมาณ 2 – 3 หมื่นบาท แต่ ณ วันนี้ CSM รุ่นใหม่ ๆ ก็แพงเท่ากันแล้ว แค่หาไม่ยากเหมือนแต่ก่อน ตอนนั้นราคาเฉลี่ยของเข็มขัดพวกนี้ตกเส้นละ 2 – 3 หมื่น แต่ถ้าเข็มขัด CS ของคูกะที่ผมไปประมูลมา ตอนนั้นจบที่เส้นละ 4 หมื่นกว่า เกือบแตะ 5 หมื่นบาท”

CS ริวคิ สั่งจากญี่ปุ่นรุ่นแรก ๆ

เจ้าของบ้านไอ้มดแดงอวดเข็มขัด CSM บางส่วนให้ได้ชม

“นี่ประมาณ 20 ปีที่แล้ว แถว ๆ นั้น น่าจะเป็นของชิ้นแรกที่ผมได้มาจากต่างประเทศ ฝากเขาประมูลที่ญี่ปุ่น เป็นของริวคิ ตอนนั้นฝากประมูล มันจะมาพร้อม ๆ กัน มีริวคิ มีไฟซ์ เป็น CSM รุ่นแรก ๆ มี 7 เส้น ชุดนี้ประมูลใกล้กัน หามาพร้อมกัน แต่พวกงานประมูลชิ้นหลัง ๆ เริ่มมาถอยประมูลแล้ว”
ถัดจากบรรดาเข็มขัดซึ่งพิเชฐได้ชื่อว่าเป็นมือวางอันดับต้น ๆ ของวงการนักสะสมคนไทย ในบ้านของเขายังมีหุ่นโมเดลอีกหลายชุด หลายประเภท เป็นต้นว่า Figuarts หรือหุ่นฟิกเกอร์ขนาดประมาณ 6 นิ้ว มีจุดขยับ เขารวบรวมไว้ได้ครบทุกตัวหลัก ยกเว้นชุดในภาคเสริมบางตัว

“อย่างที่บอกว่าถ้าตัวไหนมีรถมอเตอร์ไซค์พ่วงมาด้วย ผมก็จะเก็บตัวนั้น นี่คือลักษณะของการเก็บ แต่ถ้า Figuarts ตัวไหนไม่มีรถมาด้วย ผมก็จะโมดิฟายขึ้นมาเอง บนโต๊ะทำงานผมมีโมเดล มีงานปั้นอยู่บนโต๊ะ ในตู้ก็จะมีที่โมฯ เองแบบที่ไม่เห็นมีขาย พวกนี้ผมจะเล่นบ่อย เพราะอยู่บนโต๊ะ ส่วนพวกเข็มขัดนี่ได้มาแล้วเก็บใส่ตู้ ไม่ค่อยได้เล่นหรอก”

ของเล่นโมดิฟายเองบนโต๊ะทำงาน

กล่าวถึงของสะสมที่หยิบจับบ่อยที่สุดไปแล้ว พิเชฐก็หันมาเล่าเรื่องของสะสมหายากที่สุดเท่าที่ตัวเขาจะขวนขวายหามาอยู่ในบ้านไอ้มดแดงแห่งนี้ได้

“Rare Item สุด ๆ น่าจะเป็น Kamen Rider SD คือไรเดอร์ตัวเล็กหัวโต มันจะมีในแค็ตตาล็อกครบ รู้สึกจะ 8 ตัว แต่คราวนี้ในแค็ตตาล็อกมันหายไป 2 ตัว คือไม่ได้ออกขาย มี V4 กับ V8 ที่ไม่เคยเห็น จนผมเก็บครบก็ไม่เคยเห็น ผลสรุปคือเพิ่งมีน้องไปที่ฮ่องกงแล้วไปเจอมันแพ็กอยู่ ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเป็นของที่ออกมาจากบริษัทหรือว่าของที่แฟนเมด ก็เลยได้ 2 ตัวนี้มา เท่าที่รู้คือ 2 ตัวนี้ที่เห็นในประเทศไทยก็มีไม่กี่ชุด มีแค่ 2 – 3 ชุดที่เห็น ๆ กันอยู่ น่าจะหายากหน่อย แต่ถ้าใครไม่มีก็คือไม่ครบชุดของแค็ตตาล็อก”

พิเชฐไม่ได้เป็นแค่นักเก็บสะสมธรรมดา หากเป็นนักออกแบบและประดิษฐ์ครบจบในตัวคนเดียว นอกเหนือจากมอเตอร์ไซค์คันเล็กสำหรับ Figuarts เขายังโมดิฟายมอเตอร์ไซค์คันน้อยใหญ่ให้กับโมเดลในตู้และบนโต๊ะของเขาอีกหลายชิ้น ตัดเย็บชุดไอ้มดแดงด้วยตัวเอง กระทั่งมอเตอร์ไซค์สำหรับขี่ได้ทั้งคัน เขาก็ยังซื้อหามาปรับทำเป็นรถมอเตอร์ไซค์ของเหล่านักรบไรเดอร์มาแล้ว

“พอดีจังหวะลูกสาวจบ ป.6 เราอายุครบ 40 ปี มันก็ใกล้ ๆ กับปีอีเวนต์ของ 40 ปีไอ้มดแดง ก็เลยทำชุดขึ้นมา ตอนแรกทำเล่น ๆ สนุก ๆ ชุดเดียว ผลสรุปคือมันจบที่ 3 ชุดเลย มี V1 ถึง V3 ใน มาสค์ไรเดอร์ เดอะเฟิร์ส กับ มาสค์ไรเดอร์ เดอะเน็กซ์ ก็ใส่ชุดนี้ไปงานวันจบ ป.6 ของลูกสาว แล้วก็ถ่ายรูปด้วยกันที่โรงเรียน อันนั้นคือสนุกสุดแล้วในชีวิต”

แล้วจากที่แค่ตัดชุด ทำไมมันยังบานปลายมาถึงมอเตอร์ไซค์อีกล่ะ – เรานึกสงสัยเลยถามออกไป

“ก็มานั่งคุยกัน มันก็น่าจะมีมอเตอร์ไซค์เนอะ นี่คือฝันสูงสุดของคนเก็บของแล้ว เลยคุยกับแฟนว่าขอซื้อมอเตอร์ไซค์เก่ามาโมดิฟายได้มั้ย แฟนบอกโอเค ถ้าจะทำก็ทำไป คือเราก็ไปหาซื้อมอเตอร์ไซค์มาเทียบรุ่น ปรับ ติดต่อคนหลาย ๆ คนมาทำไฟเบอร์อะไรพวกนี้ มันไม่มีของสำเร็จ เป็นปีกว่าจะได้ ก็จบ ถือว่าสุดกับการทำตรงนี้แล้ว”

Cyclone พาหนะคู่ใจคาเมนไรเดอร์ 1 หรือ V1 ที่คนไทยเรียก

มากกว่าเหล่ายอดมนุษย์ในแฟรนไชส์คาเมนไรเดอร์ บ้านไอ้มดแดงที่จังหวัดนครสวรรค์ยังละลานตาด้วยของสะสมจากการ์ตูนเรื่องอื่นหรือซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นอยู่ประปราย ที่เห็นเด่นชัดคือบรรดานักรบแห่งแสงจากกาแล็กซี M78 อุลตร้าแมน ซึ่งโด่งดังตีคู่กันมากับไอ้มดแดงตลอด 50 กว่าปีที่ล่วงมานี้

“ที่จริงที่บ้านผมเองก็ค่อนข้างเก็บของสะเปะสะปะเหมือนกัน ไอ้มดแดงคือไลน์หลัก หุ่นเหล็กก็มี กาโร่ก็มี มีทุกอย่าง กลายเป็นเรารู้จักคนหลายกลุ่ม” พิเชฐกล่าวยิ้ม ๆ

กระดาษแผ่นใหญ่คือลายเซ็น คุณซาซากิ ทาเคชิ ไรเดอร์หมายเลข 2 ซึ่งต้องไปรับประทานอาหารที่ร้านของเขา เขาถึงจะเซ็นให้

“โชคดีที่มีลูกสาวช่วยจัด เขาดูไอ้มดแดง เก็บพวก ซูเปอร์เซ็นไต (ขบวนการ 5 สี) ด้วย ตอนนี้ไปลงไลน์ อุลตร้าแมน แล้ว ลูกก็จะช่วยขยับตู้ให้ ช่วยดูให้ว่าของเล่นแต่ละชิ้นที่ซื้อมาเก็บเล่นยังไง บางทีผมยังต้องถามเขาเลยว่าไอ้ตัวนี้เล่นยังไง เพราะบางตัวผมยังไม่ได้ดูในโทรทัศน์ แต่เขาก็จะช่วยเล่นช่วยดูให้”

ของสะสมส่วนใหญ่ผู้ซื้อหามาเก็บได้จดบันทึกไว้อย่างละเอียดว่าซื้อเมื่อไหร่ ได้จากไหน ราคาเท่าใด เผื่อว่าในอนาคตกลายเป็นของมีค่าหายาก บางครั้งเขาก็ยินดีขายให้กับผู้ที่ต้องการจริง หรือเก็บไว้ให้ลูกสาวได้ใช้เป็นประโยชน์กับตัวเธอเองในภายหน้า

ใช่ว่านักสะสมไอ้มดแดงอย่างพิเชฐจะไม่เคยเบื่อหน่ายหรือปันใจออกหากจากเหล่าฮีโร่บนรถมอเตอร์ไซค์เลย เขาก็เป็นเหมือนเช่นทุกคนที่ชีวิตดำเนินไปข้างหน้า มีเหตุการณ์ใหม่เข้ามากระทบ ส่งผลต่อความสนใจที่เปลี่ยนผันไปในบางช่วงอายุ แต่นิสัยช่างเก็บสะสมนี้ ที่สุดแล้วตัวเขาก็ยังต้องหวนกลับมาหาบรรดาคาเมนไรเดอร์อยู่ดี ด้วยเหตุผลง่าย ๆ เพียงคำเดียว คือความสุข

“ไอ้มดแดงคือจุดเริ่มของจินตนาการสมัยเด็ก พอเป็นเด็ก เรามีจินตนาการ เรื่องคุณธรรมก็ส่วนหนึ่ง มันสอนเรื่องการใช้ชีวิต อุปสรรคในชีวิต บางทีเราก็เอาสิ่งที่ได้จากการดูไอ้มดแดงมาเป็นแนวคิดในการสู้ชีวิต เหมือนท้ายหนังที่ชอบพูดว่า สู้ต่อไป…ไอ้มดแดง ที่จริงในภาษาญี่ปุ่นคือ ทัตสึ ทัตสึ แปลว่า ติดตามตอนต่อไป เฉย ๆ แต่ประเทศเรามาใช้คำนี้

“สิ่งที่เรียกว่าจินตนาการ ทุกวันนี้ผมก็ยังต้องใช้อยู่ ทำงานก็ต้องใช้จินตนาการในการทำงาน ของเล่นบนโต๊ะนี้คือจุดผ่อนคลายเราอย่างหนึ่ง เหมือนกับความเป็นเด็กของเรา ตอนนี้เราเป็นผู้ใหญ่ ต้องทำงานแล้ว หันไปอีกหน่อยก็เห็นความเป็นเด็กแล้ว ได้พักสมองนิดหนึ่งแล้วกลับมาทำงานแบบผู้ใหญ่ต่อ ต้องหารายได้เพื่อจุนเจือครอบครัว เราเลยพยายามสร้างบาลานซ์ระหว่างความเป็นเด็กกับผู้ใหญ่ไปจนตลอดชีวิตเรา เราก็จะแฮปปี้ไปตลอดชีวิต บางคนจะมุ่งทำงานเสร็จ หาเงิน ใช้ชีวิตดี ๆ แต่บางทีลืมเรื่องชีวิตความสุขสมัยเด็กของเราไป ซึ่งผมยังหาได้อยู่ทุกวันนี้ นี่แหละคือจุดสำคัญของผม”

นาฬิกาหายาก

บ้านที่ครอบครัวเดชครุฑอาศัยอยู่ทุกวันนี้ พิเชฐตั้งใจให้เป็นกึ่งพิพิธภัณฑ์ อนุญาตให้คนนอกที่อยากเห็นของสะสมของเขาติดต่อมาขอเข้าชมได้ เขายกตัวอย่างกรณีเด็กพิเศษคนหนึ่งซึ่งเคยดูเขาออกอากาศในรายการทีวี จึงออกปากขอให้คุณพ่อคุณแม่พามาชมของสะสมของจริงในตู้ ซึ่งพิเชฐก็เต็มใจให้เด็กคนนั้นได้ลองจับเล่นดูได้ หรืออย่างบางครั้งมีคนขอยืมของที่เขาเก็บไปจัดแสดง เขาก็ยินดีให้ยืม เพราะถือว่าบ้านของเขาคือแหล่งรวมข้าวของไอ้มดแดงที่ครบเครื่อง บางชิ้นอาจหาดูที่อื่นไม่ได้ ก็ยังมีอยู่ที่บ้านของเขาในจังหวัดนครสวรรค์

“ไหน ๆ ใคร ๆ ก็เรียกบ้านนี้ว่า ‘บ้านไอ้มดแดง’ แล้ว เราก็ไปต่อให้สุดทาง”ผู้ประกอบการสื่อสิ่งพิมพ์แห่งเมืองปากน้ำโพยืดอกบอกกับเราว่า นอกจากเก็บของแล้ว เขายังดูซีรีส์ คาเมนไรเดอร์ กับครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ เหมือนที่ทำมาตั้งแต่ยุคโทรทัศน์ธานินทร์สีขาวดำ ผ่านพ้นยุคเช่าเทป VHS เปลี่ยนเป็นแผ่นซีดี ดีวีดี บลูเรย์ จวบจนวันนี้ที่เข้าสู่ยุค Streaming แล้ว

“คนเราให้โตขนาดไหนก็ยังมีความเป็นเด็กกันทุกคน แต่เราเลือกที่จะลืมมันรึเปล่า แค่นั้นเอง”

พิเชฐ เดชครุฑ แจงเหตุผลที่ทำให้เขาเป็นสุดยอดนักสะสมไอ้มดแดงตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา

“ความเป็นเด็กในตัวผมคงจะมีไปจนแก่แหละ ไอ้มดแดงก็เหมือนกัน มันคงไม่หายไป อาจหยุดบ้าง พักบ้าง ต้องเหนื่อย ต้องขาดทุน ต้องไม่ไหวแล้ว แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาแบบ สู้ต่อไปไอ้มดแดง เพราะบริษัทเขายังต้องหาเงินเหมือนกัน”

คนเราให้โตขนาดไหนก็ยังมีความเป็นเด็กกันทุกคน แต่เราเลือกที่จะลืมมันรึเปล่า แค่นั้นเอง

Writers

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย