2 กุมภาพันธ์ 2022
11 K

แม้จะกล่าวตั้งแต่เริ่มต้นบทสนทนาว่าไม่ค่อยอยากพูดคุยเรื่องส่วนตัวมากเท่ากับการพูดถึงเรื่องงานนัก แต่ มาร์คูส โรเซลีบ (Markus Roselieb) ก็ยังเปิดโอกาสให้ The Cloud เจาะลึกถึงช่วงวันวัยแห่งการเดินทางของชีวิต ก่อนจะก้าวมาเป็นนักคิดและนักออกแบบที่มีผลงานโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผู้ก่อตั้งบริษัท CLC (Chiangmai Life Construction) และ Chiangmai Life Architects ผู้บุกเบิกเส้นทางสถาปัตยกรรมร่วมสมัยจากไม้ไผ่และดิน ซึ่งเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของผู้คนต่อวัสดุทั้งสองชนิดนี้ ให้กลายเป็นวัสดุแห่งอนาคตที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและความสวยงามเหนือกาลเวลา

ขออนุญาตพูดคุยเรื่องส่วนตัวสักหน่อยนะคะ

ผมไม่ค่อยอยากคุยเรื่องส่วนตัวนัก เราทำตรงนี้เพราะอยากช่วยโลกมากกว่า และที่สำคัญคือ เราทำงานนี้คนเดียวไม่ได้ เราทำกันเป็นทีม ร่วมกันคิด แลกเปลี่ยนกัน แต่ก็ถามได้นะครับ จะพยายามตอบครับ (ยิ้ม)

คุณมาร์คูสมาอยู่เมืองไทยได้อย่างไร

ผมมาครั้งแรกประมาณ 31 ปีที่แล้ว ประมาณปี 1991 (พ.ศ. 2534) ตอนนั้นผมยังเรียนแพทย์อยู่ ระบบการเรียนการสอนแพทย์ที่ออสเตรียกับเมืองไทยคล้าย ๆ กัน หลังจากเรียนจบเราต้องทำงานให้รัฐบาล 3 ปี 1 ปีจะถูกส่งไปทำงานที่ต่างประเทศและอีก 2 ปีกลับไปทำงานให้รัฐบาลออสเตรีย ตอนนั้นมีประเทศให้เลือกประมาณ 10 ประเทศ มีอเมริกาใต้ มียุโรปด้วยซึ่งผมไม่ได้สนใจ ผมสนใจเอเชียมาก เอเชียมีประเทศไทยประเทศเดียว ผมก็เลยได้มาแลกเปลี่ยนที่โรงพยาบาลรามาธิบดี 1 ปี

มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่

แล้วก็กลับมาหลังจากทำงานให้รัฐบาลออสเตรีย 2 ปีเหรอคะ

ครับ ผมมีครอบครัวที่เมืองไทย แล้วก็กลับไป ออสเตรีย หลังจากนั้น ผมก็กลับมาปักหลักที่เมืองไทยครับ

มาอยู่เมืองไทยได้นานแค่ไหนแล้วคะ

ประมาณ 25 – 26 ปี

มาอยู่เมืองไทยแรก ๆ คือมาเป็นแพทย์ใช่ไหมคะ

ครับ ครั้งแรกยังทำงานเป็นหมออยู่ ทำอยู่สักราว ๆ 5 ปี ครั้งแรกเป็นหมอที่ค่ายผู้ลี้ภัยแถว ๆ สุรินทร์ และทำงาน International SOS เป็นบริษัทที่บินส่งคนไข้ไปรักษาอีกประเทศหนึ่ง และก็ทำงานที่ประเทศพม่ากับเวียดนามด้วย

แล้วทำไมจากหมอมาทำงานด้านก่อสร้าง ด้านออกแบบได้คะ

เรื่องการออกแบบสร้างบ้านอยู่ในตัวผมมาตั้งแต่เด็กนะครับ เพราะออสเตรียไม่เหมือนเมืองไทย ไม่มีช่างเยอะ เราต้องทำทุกอย่างด้วยตัวเอง ซ่อมเอง สร้างเอง และผมชอบการสร้างบ้านอยู่แล้วด้วย ทำมาเรื่อย ๆ ตอนอยู่ต่างจังหวัดตรงกลางประเทศออสเตรีย เป็นเมืองในหุบเขา ตอนนั้นเราต้องซ่อมบ้านเก่าอยู่เรื่อย ๆ เราดูแล้วคิดเองว่าอันนี้ต้องซ่อมอะไร หรือเพิ่มห้อง คิดเอง ทำเอง คนมาช่วยก็คือเพื่อนบ้าน นั่นก็นานแล้วนะครับ 30 – 40 ปีที่แล้ว

เมืองในภูเขากลางออสเตรียแบบในหนัง The Sound of Music เหรอคะ

The Sound of Music สำหรับคนออสเตรียก็เหมือน เดอะคิงแอนด์ไอ ของคนไทย ไม่มีใครดู มันเป็นหนังอเมริกันที่มองคนออสเตรียเป็นอย่างนั้น ผมเองก็ยังไม่เคยดู (หัวเราะ) ที่ผมอยู่เป็นหุบเขาห่างจากซัลทซ์บวร์ค (Salzburg) ประมาณ 100 กิโลเมตร

จากอาชีพแพทย์แล้วเริ่มสนใจไม้ไผ่ได้ยังไงคะ

ตอนแรกอยู่กรุงเทพฯ ก่อน และมีบ้านพักผ่อนที่ศรีราชาเป็นบ้านเก่าติดทะเล เวลาเราไปเที่ยวทะเลกับครอบครัว คนอื่นสนุกสนาน แต่ผมต้องซ่อมแซมบ้านตลอดเวลา อากาศจากทะเลทำให้ปูนหายไป เหล็กก็ถูกกินตลอด ตอนนั้นเริ่มคิดว่าน่าจะมีวัสดุที่ดีกว่านี้ ที่ไม่ต้องซ่อมตลอด คือถ้าเราใช้เหล็กกับอากาศตรงนั้น ต้องเป็นเหล็กคุณภาพสูงเหมือนเหล็กที่ใช้กับเรือซึ่งแพงมาก ๆ

ผมพบว่าดินโดนเกลือก็ไม่เสีย ไม้ไผ่ก็ไม่เสีย ถ้าจะให้ทนต้องแช่ไม้ไผ่กับเกลือ เพื่อให้อยู่ได้นาน นั่นทำให้เราไม่พบปัญหาสนิม อากาศทะเลก็ไม่ทำให้ไม้ไผ่เป็นอะไร อยู่ได้นาน ตอนนั้นเริ่มตั้งคำถามว่า ในเมื่อฟังก์ชันของไม้ไผ่กับดินสูงกว่าเหล็กกับปูน ทำไมคนอื่นไม่ใช้ แล้วก็พบว่าเพราะเขาไม่มีความรู้ แค่นั้นแหละครับ ไม่ได้อยู่ที่ตัววัสดุ แต่อยู่ที่ความรู้ ถ้ามีความรู้ก็ใช้ได้

ตอนนั้นก็เริ่มศึกษาหาความรู้ ไปอ่าน ไปคุยกับคนที่ทำ สำคัญที่สุดคือลงมือทำเอง เมื่อมีอะไรผิด ก็จะได้เรียนรู้ ผมเชื่อมั่นว่าวัสดุนี้ฟังก์ชันสูงกว่า แต่คนทั่วไปรู้สึกว่าเป็นวัสดุสำหรับคนจน ไม่น่าจะเหมาะสำหรับคนทั่วไป คนคิดว่าคนจนใช้ไม้ไผ่เพราะถูก อีกไม่นานจะหักและพัง พังเพราะมอดกิน มอดกินเพราะอะไร ก็เพราะว่าเขาเลือกไม้ไผ่ที่อายุยังไม่ถึง เลือกไม้ไผ่ที่ยังเป็นอาหารอยู่ ยังไม่ใช่วัสดุก่อสร้าง หรือเขาสร้างบ้านดินด้วยการก่อสร้างที่ถูกหรือที่เร็วเกิน ทำให้ไม่สวย สุดท้ายก็อยู่ได้ใม่นาน ผมพบว่าแค่เพิ่มความรู้และความงาม เราจะเปลี่ยนความรู้สึกกับวัสดุได้ นี่คือสิ่งสำคัญ

มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่
มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่

ความรู้ ความงาม ความรู้สึกกับวัสดุ

ครับ ไม่ใช่แค่ฟังก์ชัน แต่สวย อยู่ได้สบายและเหมาะกับคนปัจจุบัน ไม่ใช่แค่เหมาะกับคนที่เป็นฮิปปี้หรือคนแก่หรือชาวบ้าน แต่เหมาะกับทุกคนเพราะมันอยู่ที่การออกแบบด้วย เราออกแบบให้สว่าง สะอาดได้ ความรู้สึกของคนทั่วไปคือ มันไม่สะอาดเพราะมอดกิน มีฝุ่นลงมา ดินก็มีฝุ่น เราต้องคิดว่าจะหาทางเปลี่ยนภาพในสมองของคนยังไงดี

ในยุคเริ่มต้นนั้นความรู้ด้านไม้ไผ่หาไม่ง่ายเหมือนทุกวันนี้ใช่ไหมคะ

ครั้งแรกก็ฟังคนอื่นนะ ผมเพิ่งรื้อศาลาแรกที่เราทำที่เคยอยู่ตรงนี้ เพราะครั้งแรกเราทำตามคนอื่น ไม้ไผ่ต้องวางอย่างนี้ อย่างนั้น แต่พอทำมาแล้ว ตรงนี้ดูอ่อนแอ ตรงนั้นก็ไม่สวย เราก็เรียนรู้แล้วทำต่อไป ช่วงนั้นความรู้ในเมืองไทยน้อยมาก ความรู้ด้านไม้ไผ่มีมากที่สุดในอเมริกาใต้ ที่ประเทศโคลอมเบีย มีสถาปนิก ซีโมน วิเลจ (Simon Velez) สร้างอาคารที่สวยและมีชี่อเสียงจากไม้ไผ่ เป็นคนแรกที่ใช้วิศวกรมาร่วมงานเพื่อใช้ไม้ไผ่ในการก่อสร้างอาคาร ความรู้ก็เกิดขึ้น และก็มีคนเยอรมันที่เป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัย เป็นโปรเฟสเซอร์ที่โน่นชื่อ ลีเซ่ (Prof. Walter Liese) เขาเป็นคนแรกที่ดูไม้ไผ่อย่างละเอียดว่า Micro Structure เป็นอย่างไร แล้วก็มีคนเยอรมันอีกคน ยัวสตัม (Jorg Stamm) ทำสะพานแรกที่รถผ่านได้จากไม้ไผ่ แต่ที่นั่นใช้ไม้ไผ่อีกชนิดหนึ่ง เป็นไม้ไผ่ต้นใหญ่ ซึ่งผมไม่ค่อยชอบ ผมชอบไม้ไผ่เส้นเล็ก เส้นมันสวยกว่า

ตอนนั้นเรียกได้ว่าเป็นแพทย์ที่สนใจไม้ไผ่เป็นงานอดิเรก

ไม่ใช่ครับ ตอนนั้นผมทำเป็นเรื่องหลักแล้ว ผมเรียนหมอมา ผมก็ยังดูแลครอบครัว เพื่อน สถานทูต คือ ความเป็นหมอก็ไม่หายไป เพียงแต่ไม่ได้ทำงานหลักเป็นหมอ

คุณเรียนรู้ด้วยตััวเองมาเรื่อย ๆ

เราก็อ่าน ทดลอง หาความรู้ หาคนที่เคยทำ ถ้าไม่ถูกต้องก็ต้องก็ลองใหม่ ผมเลือกแช่ไม้ไผ่ในบอแรกซ์ เพราะเป็นวัสดุธรรมชาติเหมือนกัน ไม่ใช่สารเคมี บอแรกซ์ใช้สำหรับทำให้ลูกชิ้นกรอบ กินได้ ไม่ได้เป็นพิษ แสดงว่าใช้กับโรงเรียนได้ ถ้าเด็กอยากเลีย ก็เลียได้ ไม่เป็นไร (คนฟังหัวเราะกันร่วน) ต้องพูดอย่างนี้เพราะผู้ปกครองเป็นอย่างนี้ จะพูดว่า มีบอแรกซ์ ๆ (หัวเราะกัน) แต่นี่เป็นเรื่องจริงนะครับ บอแรกซ์ใช้ในสารดับเพลิงด้วย ช่วยให้ติดไฟยาก และมีหลายประโยน์ เราก็เลือกตัวนี้ โชคดีที่เราเจอทีมที่ดี (หันไปทางเพื่อนทีมงาน) ทำงานด้วยกันได้ ไม่งั้นงานของเราก็จะไม่ไปไหนครับ

คุณใช้ไม้ไผ่จากที่ไหน

จากภาคเหนือ ใช้ประมาณ 5 – 6 ชนิด เราเป็นคนแรกที่ใช้ไม้ไผ่เส้นเล็กอย่างไผ่รวกดำ ที่เห็นมีแต้มปลายสีเหลืองกับสีแดง ตัวนั้นพิเศษหน่อยตรงที่เกือบไม่มีรู มีแต่ไฟเบอร์ ทำให้ไม้ไผ่ตัวนี้มีความแข็งแรงในการดึงสูงมาก สูงกว่าเหล็กอีก ถ้าเราทำเป็นมัดใหญ่ก็ใช้ทำงานใหญ่ ๆ คนอื่นชอบไม้ไผ่ใหญ่ แต่ผมใช้บ้าง แต่ใช้น้อยกว่า

มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่

คุณมีแหล่งวัตถุดิบที่ดีที่พร้อมจะส่งไม้ไผ่ให้ในระยะยาว

เรามี Supplier ที่ใช้มาตลอดสิบกว่าปี เราต้องสอนเขาว่า เราต้องการไม้ไผ่แบบไหน ตัดอย่างไรถึงจะมีคุณภาพดี ถ้าตัดเร็วเกินไป ปีหน้าเขาจะไม่มีอะไรขายให้เรา เมื่อก่อนเขาตัดมา เราใช้ได้แค่ 80 เปอร์เซ็นต์ต้องคืนที่เหลือไป แต่ตอนนี้เขาตัดมาถูกต้อง เราใช้ได้ทั้งหมด เราก็เพิ่มเงินให้เขาด้วย ถ้าตัดไม้ไผ่อย่างถูกต้องและมีคุณภาพดี สิ่งแวดล้อมก็ดีด้วย ไม้ไผ่ในป่าจะฟื้นตัว

ความรู้เกี่ยวกับไผ่อยู่ที่ตัวของคุณใช่ไหม

ผมกับเขาครับที่เป็นคนออกแบบ (ชี้ไปที่ทีมงานที่อยู่ในห้อง-คุณทศพลหรือที่คุณมาร์คูสเรียกว่าคุณสามารถ เพราะสามารถทำได้ทุกอย่าง) และก็มีคนที่แช่ไม้ไผ่ มีคนตรวจครั้งแรก มีโฟร์แมน มีทีมก่อสร้างที่มีประสบการณ์เฉพาะในการก่อสร้างไม้ไผ่ซึ่งมี 2 ทีม มีทีมดิน 2 ทีม ที่ทำงานกันมาตั้งแต่แรก ๆ ตอนนี้ก็เป็นสิบปี

ทุกอาคารที่เราสร้างเราต้องเรียนเพิ่มเติมจากอาคารที่เสร็จแล้ว เราจะมาคุยกันว่าเราได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม ความอ่อนแอตรงนี้เราทำยังไงให้มันหายไป ทุกคนได้เรียนรู้เพิ่มขึ้นและปรับตัว ตอนนี้โฟร์แมนในแต่ละทีมค่อนข้างเก่งและเรียนรู้จากการทำงาน จนเกิดความคิดด้วยว่าอันไหนเวิร์กไม่เวิร์ก ถ้าไม่เวิร์กเราจะปรับยังไง คือตัวผมเองผมชอบปรับปรุงตลอดเวลาให้มันมีอะไรใหม่เกิดขึ้น และสุดท้ายผมเห็นว่ามันอยู่ในความคิดของพวกเขาด้วยตอนนี้ พวกเขาต่างมีไอเดียใหม่ มีอะไรมาคุยมาเสนอกัน มันสนุกครับ และทำให้คุณภาพเพิ่มตลอด

ถ้าเราเปรียบเทียบไม้ไผ่กับเหล็ก เวลา 30 – 40 ปี ถ้าจะลงทุนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต้อบใช้เงินเป็นร้อยล้านบาทท แต่ความรู้ของไม้ไผ่ใช้แค่พันสองพัน (หัวเราะ) ผมเห็นว่ายิ่งมีเวลา ยิ่งมีสตางค์ ยิ่งมีคน ความรู้ก็จะเพิ่มขึ้น สิ่งที่เราทำกับไม้ไผ่ได้ก็จะมีมากขึ้น งานเก่ากับงานใหม่ของเราเป็นคนละอย่างเลย

อาคารแบบนี้ราคาสูงไหม

คำว่า ถูก กับ ไม่ทน มักมาคู่กันตลอด ถ้าผมบอกว่า ถูก กับ ดี ไม่มีใครเชื่อ เพราะฉะนั้นผมไม่เคยแข่งขันเรื่องราคา ผมจะเน้นการใช้คน ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องมือใหญ่ ๆ เพื่อแช่ เจาะรู คนที่ผมใช้ส่วนใหญ่เป็นชาวเขา เขาไม่มีเงิน ผมอยากให้เงินเข้ากระเป๋าเขามากกว่าจะใช้เครื่องใหญ่ การใช้คนทำให้ราคาสูงกว่าที่อื่นนิดหนึ่ง แต่ผมเรียกว่า Social Tax ผมอยากจะกระจายเงินนี้ ผมอธิบายลูกค้าว่าถ้าอยากได้คุณภาพก็ราคาสูงหน่อย แต่ได้อาคารที่ทุกคนเข้าไปแล้วยิ้ม ทนทาน มีฟังก์ชัน คนที่อยากได้คุณภาพเขาเข้าใจอยู่แล้ว

บางคนมาผมอยากได้คุณภาพ แต่ไม่อยากจ่ายตังค์ โอ้ อันนี้แพง อันนั้นแพง ก็ได้ครับ งั้นผมไม่ทำ เพื่อนสถาปนิกคนอื่นอาจจะรูู้สึกว่าต้องทำเพราะเป็นโอกาสหรือต้องช่วยเขา แต่สำหรับผม ถ้าผมเห็นว่าไม่เวิร์กก็จบ ไม่ทำ ถ้าเขาอยากได้ของถูก ๆ ผมช่วยไม่ได้ ผมไม่รู้จะสร้างอะไรถูก ๆ ที่จะทำให้คุณพอใจและผมก็พอใจด้วย ทำไม่เป็นจริง ๆ คนทำเป็นมีครับต้องไปหาคนนั้น เราต้องรู้ว่าเราถนัดอะไร ชอบอะไร และอยากทำอะไร

มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่
มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่

บ้านไม้ไผ่จะคุ้มค่ากว่าบ้านปูนไหมคะ

บ้านปูนในหมู่บ้าน อายุ 40 – 50 ปีก็เริ่มโทรมแล้ว พอถึงช่วงเวลานั้น ความคิดในการสร้าง การออกแบบก็เปลี่ยนไปแล้ว เช่น 20 ปีก่อนหน้าต่างบ้านต้องเล็ก เปิดยาก เพื่อป้องกันขโมย แต่ตอนนี้หน้าต่างใหญ่ขึ้น เพราะฉะนั้นหมู่บ้านทั่วไปอีก 50 ปีเขาก็จะรื้อไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี เพราะมันไม่เหมาะกับคนอีก 50 ปีข้างหน้า

แต่บ้านของเราอยู่ได้หลายร้อยปีและเขาไม่น่าจะรื้อ เพราะมันอยู่นอกความคิดของเวลา บ้านของเราเป็นสิ่งที่แปลกตลอดเวลา เป็นสิ่งที่สวยตลอดเวลา เพราะไม่ได้อยู่ในแฟชั่น ผมเห็นว่าบ้านของเราจะอยู่นานกว่า ถ้าเราดูบ้านที่แปลก ไม่ใช่เฉพาะแค่บ้านดินหรือบ้านไม้ไผ่ แต่เป็นบ้านที่สถาปนิกออกแบบนอกกระแสแฟชั่น เหมือนอย่าง แฟรงค์ ลอยด์ ไรท์ (Frank Lloyd Wright) บ้านของเขายังสวยอยู่สำหรับทุกคน เขาไม่ได้สร้างเหมือนคนอื่นในช่วงเวลานั้น 

บ้านที่ผมสร้างก็เช่นกัน ผมไม่ได้สร้างเหมือนคนอื่น ไม่ได้เป็นเหมือนบ้านในหมู่บ้านจัดสรร หรือบ้านคนรวยที่เขาสร้างเป็นบาวเฮาส์ (Bauhaus) ซึ่งอีก 20 ปี จะไม่มีคนสนใจ บ้านที่ทำจะกลายเป็นบ้านเก่า เพราะตอนนั้นเขาไม่ได้สร้างบ้านแบบนี้กันแล้ว เราต้องเห็นว่านี่คือความจริงเนอะ

วิธีคิดอย่างนี้เกิดมาได้อย่างไร มาจากการเป็นแพทย์หรืออะไร

ผมโชคดีที่เกิดที่กรุงเวียนนา เป็นเมืองที่มีอดีตยาวนาน มีอาคารที่สวยงามเยอะ และสวยงามในแต่ละช่วงเวลา ผมเองก็ไปดูเยอะ ตอนเด็ก ๆ ผมชอบเข้าไปในอาคารเก่าหรืออาคารใหญ่ ๆ และจับความรู้สึกว่าอาคารนี้ทำอะไรกับผมบ้าง ทำไมอาคารนี้จึงดึงดูดให้คนเข้ามา แต่ทำไมอาคารนั้นคนไม่ค่อยเข้า มันต่างกันยังไง ผมชอบทำอย่างนี้มานานแล้ว เข้าไปในอาคารและทำความเข้าใจกับสิ่งที่สถาปนิกออกแบบ คนที่เข้าไปในอาคารนั้นจะเกิดรีแอคอย่างไร สถาปนิกบางคนเก่งมาก ทุกสิ่งที่เขาสร้างดึงดูดทุกคนได้ แต่บางคนทำอะไรก็ไม่มีคนสนใจ

การออกแบบอาคารนี่เชื่อมต่อกับความรู้สึกนึกคิดของคนนะคะ

ถ้าเป็นสถาปนิกจริงเราต้องรับผิดชอบมนุษย์ มนุษย์จะใช้บ้านหลังนี้เพื่ออะไร ชอบยังไง จึงจะอยู่ได้สบาย แต่ละประเทศก็มีวิถีชีวิตที่เหมือนกันและไม่เหมือนกัน เราต้องดึงสิ่งที่มนุษย์ต้องการออกมา และพยายามสร้างให้ฟังก์ชันมาก่อน ให้เขาใช้บ้านหลังนี้อย่างจับใจ มีความอบอุ่น และทำให้ทุกคนอยากอยู่ตลอดเวลา ในหมู่บ้านจัดสรรทั่วไป สาย ๆ วันเสาร์คนจะออกจากบ้านประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ คนเอาเงินในกระเป๋ามาซื้อบ้านให้ครอบครัว แต่เวลาว่างต้องไปที่อื่น เพราะที่อื่นสวยกว่า มันแปลกเนอะ ถ้าเสาร์อาทิตย์ลูกค้าของผมอยู่บ้าน ผมจะดีใจ แต่ถ้าเขาไม่อยู่บ้าน ผมต้องกลับมาคิดแล้วว่าผมทำอะไรผิด

ตอนวัยเด็กก็ชอบเรื่องอาคารนะคะ ทำไมถึงได้มาเป็นคุณหมอไม่ใช่สถาปนิกแต่แรก

ก็เหมือนที่นี่ครับ ผมเป็นคนที่เรียนได้คะแนนสูง ที่เมืองไทยต้องเรียนหมอใช่ไหมครับ ที่ออสเตรียเมื่อ 40 – 50 ปีที่แล้วก็เป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้อาจจะเปลี่ยนแล้ว คุณตาของผมก็เป็นหมอ ผมก็ไม่มีคำถามอะไร ก็โอเคครับ ไม่ได้คิดอะไรมากมาย

มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่
มาคุส โรเซลีบ หมอจากเวียนนาเรียนด้วยตัวเองจนเป็นสถาปนิกงานไม้ไผ่ระดับโลกที่เชียงใหม่

งานที่ทำ ทำไมจึงใช้เส้นสายฟรีฟอร์ม

มันมาจาก 2 อย่าง หนึ่ง มาจากไอเดียที่เราสร้างอะไรในแต่ละพื้นที่ ผมไม่ค่อยชอบอะไรมาวางบนพื้นที่ ไม่ใช่คิดแล้วมาวางตรงไหนก็ได้ ผมเห็นว่าเราต้องเข้าใจพื้นที่ ต้องสร้างอะไรในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว ทำให้ธรรมชาติของพื้นที่มันจะเจริญด้วย และมีความรู้สึกจากพื้นที่เกิดขึ้นมากขึ้นด้วย

บางทีเรามีสเปซอย่างนี้ เราก็ต้องใช้โฟลว์ของสเปซหาทรงของอาคารที่เข้าสเปซ บางทีผมเห็นเกาะที่มีสภาพพื้นที่เป็นหิน แต่เขาสร้างอะไรที่เป็นแบบนี้ (ทำมือรูปทรงกล่องเหลี่ยม ๆ) เห็นแล้วคิดว่าทำไมต้องเป็นอย่างนี้ ทำไมไม่สร้างบ้านที่ล้อไปกับหินแล้วก็งอกออกมา อะไรอย่างนี้ (ทำมือทำไม้) เท่กว่าด้วย มันจะทำให้เกาะสวยกว่าเดิม ไม่ใช่มีเกาะแล้วบ้านต้องอยู่ข้างบน ฟรีฟอร์มาจากฟอร์มของธรรมชาติที่มีมาตั้งแต่แรก

และสอง ผมเห็นว่าชีวิตของเรา แต่ละคนก็มีหน้าตาไม่เหมือนกันใช่ไหมครับ ทำไมบ้านต้องเหมือนกัน มันมาจากไหนครับไอเดียนี้ ต้นไม้แต่ละต้นก็ไม่เหมือนกันใช่ไหมครับ แต่ทำไมบ้านต้องเหมือน ๆ กันไปหมด มันไม่ใช่!

เป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ

ครับ คนเข้าป่าแล้วบอกว่าสวย ป่าสวย ธรรมชาติสวย เพราะว่าอะไร เพราะว่าเหมือนกันใช่ไหม ไม่ใช่ เพราะเป็นภาพที่ทุกสิ่งทุกอย่างมีทรงของเขาเอง มีความรู้สึก มีความหนัก ความเบาของเขาเอง มันต่างกัน ความสวยที่ต่างกันหมด ไม่เหมือนกันหมด ถ้าเหมือนกันก็เข้าคุกสิ ไม่ต้องมีอะไรต่างกัน ไม่มีใครชอบใช่ไหมครับ บ้านก็เหมือนกัน

คุณสร้างสมดุลทางธุรกิจอย่างไรคะ

เราต้องทำกำไร แต่ทำให้พอดี ถ้าแพงเกินไปไม่มีใครทำ ถ้าถูกเกินไปสิ่งที่เราต้องการจะไม่เกิดขึ้น เราต้องหาตรงกลางว่าอยู่ตรงไหน ครั้งแรกเราอาจจะไม่รู้ แต่เราทำธุรกิจนี้สิบปีแล้ว เราก็โอเค ลูกค้ายังรับได้ และก็มีกำไรพอสำหรับทีมงานเราอยู่ได้ เราเองอยู่ได้

ที่สำคัญของเราคือ สนุก มีความสุข และมีความคิดสร้างสรรค์ เราเห็นว่าอันนี้เกิดขึ้น อันนั้นเกิดขึ้น คนชอบ แต่กำไรต้องมี เราก็เคยทำผิดมาหลายอย่าง ลูกค้าไม่จ่ายสตางค์ก็มี ต้องไปสู้ในศาล โดยรวมธุรกิจก็ปกติครับ อยู่ได้

จากในหุบเขาออสเตรียและอาคารเก่าในกรุงเวียนนา ถึงงานสถาปัตยกรรรมเหนือกาลเวลาที่สร้างจากไม้ไผ่และดิน ของ Markus Roselieb ผู้ก่อตั้ง CLC เมืองเชียงใหม่
จากในหุบเขาออสเตรียและอาคารเก่าในกรุงเวียนนา ถึงงานสถาปัตยกรรรมเหนือกาลเวลาที่สร้างจากไม้ไผ่และดิน ของ Markus Roselieb ผู้ก่อตั้ง CLC เมืองเชียงใหม่

ลูกค้าเริ่มต้นจากที่เห็นงานสร้างโรงเรียนปัญญาเด่น แล้วบอกต่อใช่ไหมคะ

ครับ เราโชคดีที่ได้ลงนิตยสารและได้รางวัลเร็ว เป็นรางวัลระดับโลกด้วย คนก็สนใจ มาจากทั่วโลก ตรงนี้ก็ช่วยเยอะเหมือนกัน และเราต้องทำเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย ต้องทำเรื่อย ๆ ผมเองก็ต้องไปบรรยายที่ฮ่องกง กัวลาลัมเปอร์ จีน ก็เป็นงานของเรา เขาเชิญเราก็ไป

ตอนนี้ทำงานไหนอยู่บ้าง

ตอนนี้ก็เงียบหน่อย เคยมีออกแบบที่เมืองจีน เรามีงานต่างประเทศที่แค่ออกแบบ ไม่ได้สร้าง และในเมืองไทยด้วย แต่สำหรับบริษัทก่อสร้างนี้ (CLC) เราทำแต่งานของเรา ส่วนงานออกแบบ (CLA) เรารับออกแบบได้ทุกอย่าง ไม่ต้องให้เราทำก็ได้ และไม่ต้องเป็นไม้ไผ่กับดินเราก็รับออกแบบครับ

การก่อสร้างด้วยไม้ไผ่กับดิน นานหรือเร็วกว่าการก่อสร้างทั่วไป

ส่วนมากเร็วกว่ารับเหมาทั่วไป แต่คนรับเหมาเมืองไทยก็แปลก เขาใช้เวลานาน ผมว่ากำไรมันอยู่ในเวลาเท่านั้นนะครับ ยิ่งเร็วยิ่งได้กำไร คนรับเหมาเมืองไทยเขาทำงานช้า แล้วเขาอยู่ได้ยังไง ผมยังนึกไม่ออก แต่ส่วนมากเราพยายามเริ่มแล้วทำให้จบ บ้านอย่างนี้สัก 3 เดือนจบ 4 เดือนเสร็จแน่นอน

มีอาร์ตโปรเจกต์ไหม

มีที่กฤษดาดอย ที่เคยทำเป็นแลนด์มาร์ก

ทุกวันนี้ยังรักษาคนไข้ไหมคะ

ดูแลเฉพาะครอบครัว คนงาน ไม่ได้รับคนที่ไม่รู้จัก

จากในหุบเขาออสเตรียและอาคารเก่าในกรุงเวียนนา ถึงงานสถาปัตยกรรรมเหนือกาลเวลาที่สร้างจากไม้ไผ่และดิน ของ Markus Roselieb ผู้ก่อตั้ง CLC เมืองเชียงใหม่

อยู่เมืองไทยมานาน ยังมีคัลเจอร์ช็อกอยู่ไหมคะ

ตอนนี้อยู่นานจนเห็นเป็นเรื่องปกติ แต่ก็มีเรื่องที่มีความเสียใจบ้างนะครับ คือเมืองไทยมีธรรมชาติสวยงามมาก แต่คนที่ดูแลธรรมชาติในเมืองไทยยังน้อยอยู่ ส่วนมากชอบเผา ชอบทิ้ง ตอนนี้เหมือนว่าประเทศอื่น ๆ ดูแลธรรมชาติมากกว่าเราแล้ว หลายอย่างคนไทยเก่ง แต่เรื่องดูแลสิ่งแวดล้อม น่าเสียใจ แค่นั้นแหละครับ นอกนั้นเห็นว่าชอบอยู่ที่นี่ สนุกดี ทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกันแหละ รัฐบาลไม่รู้เรื่อง ออสเตรียก็เหมือนกัน และที่คนบอกที่นี่แย่ ที่โน่นก็แย่เหมือนกัน ไม่ต้องห่วงครับ

ถ้ารัฐบาลแย่เหมือนกัน แล้วอะไรที่ทำให้เราต่างกันได้ละคะ

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญครับ แต่ถ้ามีเยอะเกินอาจจะทำให้ระดับความสุขลดลง ถ้าเรารู้เยอะเกิน เพราะฉะนั้นก็ เราอาจต้องหาสมดุลหน่อย ผมก็ไม่รู้ว่าที่ถูกต้องอยู่ตรงไหน แต่อาจจะเพิ่มการศึกษาในเมืองไทยอีกสักหน่อยก็ดี แต่ต้องเท่ากับที่โน่นไหม อาจจะไม่จำเป็น ไม่ทราบนะครับ

(คุณมาร์คูสพาชมโรงเรียนนานาชาติปัญญาเด่น ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ภรรยาและคุณมาร์คูสร่วมกันก่อตั้ง และเป็นผลงานอันโดดเด่นในด้านการออกแบบอาคารห้องเรียนต่าง ๆ ซึ่งได้รางวัลนานานาชาติหลากหลายรางวัลมาก)

นี่เป็นห้องสมุดสำหรับเด็กโต ตอนนี้โรงเรียนเราปรับการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้ไม่ต้องใช้เครื่องปรับอากาศ แต่ใช้เป็นระบบ Room Climate เทคโนโลยีล่าสุด (พูดด้วยน้ำเสียงสนุก) ผมเป็นคนชอบเทคโนโลยีและชอบวัสดุธรรมชาติด้วย ผมชอบทั้งสองอย่าง

บางคนชอบธรรมชาติ จะไม่ค่อยชอบเทคโนโลยี

ไม่จำเป็นต้องเป็นอย่างนั้นนะครับ ผมชอบทั้งสองอย่าง มันไปด้วยกันได้ เราก็ชอบทำอย่างนี้ เห็นว่ามันโอเค ถ้าเราวางให้สวย ใช้เทคโนโลยีทันสมัยให้เหมาะสม สุดท้ายอารมณ์ของอาคารและคนเข้าไปใช้งานก็โอเค

อาคารต่าง ๆ ผมออกแบบให้เด็กรู้สึกใกล้ชิดกับธรรมชาติ ตอนเป็นเด็กผมไม่ได้สนใจอาคารหรือความสวยงามต่าง ๆ แต่พอได้เห็นตลอดความรู้และความรู้สึกก็เกิดขึ้นเอง โดยเฉพาะธรรมชาติ บางคนอาจคิดว่าธรรมชาติเป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับเรา แต่ไม่ใช่เลย ไม่จำเป็นว่าธรรมชาติต้องสกปรกหรือน่ากลัว เท่าที่ผมสังเกตพ่อแม่ในกรุงเทพฯ เห็นลูกถอดรองเท้าก็กลัวสกปรก อันตราย เด็ก ๆ ไม่เคยถอดรองเท้าสัมผัสดินเลย พ่อแม่ก็เหมือนกัน อยู่บ้านปูนตลอด และเห็นว่าดินเป็นสิ่งที่ ‘อันตราย’ นี่เรื่องจริงนะ!

อะไรเป็นแรงบันดาลใจที่สุดในเรื่องการใช้ชีวิต หรือมีสถาปนิกที่ชอบมาก ๆ ที่นับถือไหมคะ

ตอบยาก ที่เห็นว่าที่ช่วยเยอะคือ ผมนั่งสมาธิตั้งแต่อายุน้อย ผมเคยไปอินเดียและบวชเป็นพระอยู่ที่อินเดีย พอมาเมืองไทยก็ได้ความรู้จากพระไทย ท่านชยสาโร ท่านอมโร สายหลวงพ่อชา มาจากวัดป่า ได้เรียนรู้เยอะเหมือนกัน นี่เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตของผมเอง เพราะทำให้มีความสงบในสมองเวลามีปัญหาเยอะ และเป็นส่วนที่ทำให้มีความคิดที่สำคัญว่า เราต้องเปิดสมองและเรียนรู้ตลอดเวลา นำข้อมูลเข้าไป ไม่ใช่เรารู้ว่าเรารู้ทุกอย่างแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็มาจากการที่เรานั่งสมาธิ

คิดว่าในชีวิตของเรา อันนี้คือสำคัญที่สุด ก็นั่งสมาธิทุกวันครับ

ตั้งแต่อายุเท่าไรคะ

อายุประมาณ 18 ตอนยังอยู่เวียนนา ไม่รู้ว่ายังไงครับ โชคดีได้เจอโยคีอินเดีย เขามาเที่ยวเจอกัน ก็สนใจ ตอนไปบวชที่อินเดีย บวชแถวราชสถานใกล้ทะเลสาบ ช่วงอายุประมาณ 26 หลังจากเรียนจบหมอ มีเวลาว่าง 1 ปีก่อนมาใช้ทุน 3 ปี ผมเรียนจบ ก็ขอว่าง 1 ปี แต่ไปบวช 6 เดือนและที่เหลือคือเที่ยว

ทุกวันนี้ผมไปเข้าคอร์สวิปัสสนา 10 วันทุกปี ดีมาก ชอบมาก อันนี้ผมคิดว่าช่วยผมเยอะ

ความสงบและธรรมชาติ เป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคุณมาร์คูส

ใช่ครับ ผมไม่รู้ว่าคนอื่นเป็นอย่างไร แต่ของผมเป็นอย่างนี้

จากในหุบเขาออสเตรียและอาคารเก่าในกรุงเวียนนา ถึงงานสถาปัตยกรรรมเหนือกาลเวลาที่สร้างจากไม้ไผ่และดิน ของ Markus Roselieb ผู้ก่อตั้ง CLC เมืองเชียงใหม่

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ