เวลาผ่านไปเร็วจริงๆ

ดิฉันรู้สึกถึงประโยคนี้ตอนพี่ก้อง ทรงกลด บ.ก. The Cloud ทวงต้นฉบับสัปดาห์นี้ ดิฉันรู้สึกเหมือนเพิ่งส่งงานชิ้นก่อนไปเมื่อวานเอง ถึงเวลาส่งต้นฉบับอีกแล้ว

คุณผู้อ่านรู้สึกว่า เราทำงานหนักขึ้นทุกวันๆ และมีเวลาให้ตัวเองน้อยลงเรื่อยๆ บ้างไหมคะ

มีบริษัทญี่ปุ่นแห่งหนึ่งที่พยายามสร้างระบบเวลาของตนเอง โดยให้พนักงานมาทำงานแค่สัปดาห์ละ 4 วันเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของบริษัททำของเล่น

บริษัท Aki Kosaku เป็นบริษัททำของเล่นและงานคราฟต์จากลังกระดาษ ผู้ก่อตั้งคือ ยูกิ มัตสึโอกะ อดีตสถาปนิกชาวญี่ปุ่น

ภรรยาของมัตสึโอกะเป็นนักถักนิตติ้งชื่อดัง วันหนึ่งเธออยากได้หุ่นลองเสื้อที่รูปทรงแตกต่างและน่าสนใจกับงานของเธอ มัตสึโอกะจึงลองออกแบบให้ และสร้างหุ่นจากลังกระดาษเพื่อประหยัดต้นทุน

Aki Kosaku
oita-katete.pref.oita.jp

เจ้าหุ่นลองเสื้อรูปทรงแปลกตานี้เป็นที่พูดถึงมากในงานแสดงผลงานนั้น มีนักออกแบบเสื้อผ้าหลายคนต้องการหุ่นลองเสื้อเช่นนี้บ้าง มัตสึโอกะจึงเริ่มทำหุ่นขาย และประสบความสำเร็จมากขึ้นเรื่อย ๆ

Aki Kosaku
oita-katete.pref.oita.jp

เขาเริ่มขยายสินค้าจากหุ่นลองเสื้อมาเป็นตุ๊กตาตัวเล็กๆ ตั้งโชว์และให้คนประกอบเอง

นอกจากนี้ บริษัทยังทำแพ็คเกจจิ้งด้วย เช่น กล่องใส่แฮมเป็นรูปหมู

Aki Kosaku
www.wtv.co.jp

หรือ ‘แชมเปญกิ้น’ ที่ใส่ขวดแชมเปญซึ่งเป็นรูปนกเพนกวิน

Aki Kosaku
www.wtv.co.jp

ในปี ค.ศ. 2009 มัตสึโอกะตัดสินใจย้ายออฟฟิศจากโตเกียวกลับมาที่บ้านเกิดของตนเองที่จังหวัดโออิตะ เขาดัดแปลงโรงเรียนเก่าๆ แห่งหนึ่งมาเป็นออฟฟิศและโรงงาน ด้านหน้าออฟฟิศเป็นสนามเด็กเล่น มีภูเขาโอบล้อมสีเขียว

Aki Kosaku
oita-katete.pref.oita.jp

แต่สิ่งหนึ่งที่มัตสึโอกะพบคือ บริษัทเขางานยุ่งขึ้นทุกวันๆ เขาแทบไม่มีเวลาทำงานอดิเรกหรือพักผ่อนอะไรเลย

นอกจากนี้ มัตสึโอกะยังทำงานกับบริษัทต่างชาติ ทั้งบริษัทในนิวยอร์ก ปารีส เกาหลี ตอนกลางคืนของญี่ปุ่นจะกลายเป็นตอนกลางวันของนิวยอร์ก อาจมีโทรศัพท์หรืออีเมลหลายฉบับจากฝั่งอเมริกาและยุโรปได้ มัตสึโอกะและพนักงานรู้สึกเหมือนต้องทำงานตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งที่บริษัทเราตั้งอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ แต่เรากลับไม่มีเวลาชื่นชม และไม่มีเวลาเป็นของเราเลย” นั่นคือสิ่งที่มัตสึโอกะคิด

ทำงานเพียงสัปดาห์ละ 4 วัน

ในปี ค.ศ. 2011 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ภูมิภาคโทโฮคุในญี่ปุ่น มัตสึโอกะเห็นภาพทรัพย์สิน ตึก อาคารทั้งหมดสูญหายไปภายในชั่วพริบตา ขณะเดียวกันเขาเห็นชาวโทโฮคุร่วมมือร่วมใจลุกขึ้นมาปรับปรุง ซ่อมแซม รื้อสร้างสิ่งต่างๆ ใหม่

ในตอนนั้น มัตสึโอกะสัมผัสถึงพลังสามัคคีของคนในชุมชน พลังของการช่วยเหลือกันและกันเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันช่วงปี ค.ศ. 2012 นั้น ยอดขายบริษัทกลับลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน โจทย์สำคัญที่บริษัท Aki Kosaku ต้องเผชิญคือ จะสร้างยอดขายต่อไปได้อย่างไร

“ถ้าคิดแบบปกติ ผมควรต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อผลิตให้ได้มากขึ้นใช่ไหมครับ แต่ผมกลับรู้สึกไม่ค่อยดีกับแนวคิดแบบนี้ หากเราอยู่ต่างจังหวัด แต่ยังทำงานแบบโตเกียว เราก็จะเหนื่อยเปล่าๆ ขณะเดียวกันหากเราไล่ล่าแต่ยอดขาย คิดถึงแต่งาน เราจะไม่มีเวลามาคิดสิ่งใหม่ๆ ในที่สุดเราก็จะไม่สนุกกับงาน”

นั่นเป็นจุดที่มัตสึโอกะตัดสินใจนำระบบหยุดงาน 3 วันเข้ามาใช้ เขาถามความเห็นของพนักงาน และทุกคนก็เห็นว่าน่าลองดี

ในปีแรกนั้น มัตสึโอกะให้พนักงานทำงานทุกวันจันทร์ถึงวันพฤหัสบดี วันละ 10 ชั่วโมง เพื่อให้ได้เวลาทำงาน 40 ชั่วโมง เทียบเท่ากับทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง

ช่วงแรกยังมีปัญหา พนักงานบางคนยังไม่ถนัดทำงานระบบเช่นนี้ ทำให้ผลการทำงานของพนักงานแต่ละคนแตกต่างกันค่อนข้างมาก แต่เมื่อผ่านไปได้ 4 ปี ทุกอย่างเริ่มเข้าที่มากขึ้น มัตสึโอกะก็ตัดสินใจให้พนักงานทำงานแค่ 32 ชั่วโมง กล่าวคือ ทำ 4 วัน วันละ 8 ชั่วโมง

สิ่งที่น่าสนใจคือ ทั้งที่เวลาทำงานน้อยลง แต่พนักงานกลับทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สมาธิดีขึ้น ในปีถัดไปยอดขายบริษัทเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 หลังจากเริ่มระบบทำงาน 4 วันนี้

เวลาที่เป็นเส้นตรง กับเวลาที่เป็นวงกลม

เวลา 1 วันที่พนักงานได้หยุดเพิ่มนั้น มิได้แค่ให้พนักงานได้พักผ่อนธรรมดาๆ

มัตสึโอกะกระตุ้นให้พนักงานนำเวลาที่มีไปใช้เพื่อท้องถิ่น เช่น ช่วยชาวนาบริเวณนั้นเกี่ยวข้าว ช่วยจัดงานเทศกาลประจำหมู่บ้าน หรือช่วยงานโรงเรียน

นอกจากนี้ เขายังสนับสนุนให้พนักงานนำเวลาที่มีไปเรียนหรือเพิ่มพูนความรู้ตนเองได้ พนักงานบางคนก็ไปเข้าสัมมนาต่างๆ บางคนใช้เวลาเหล่านี้ไปสัมภาษณ์หรือพูดคุยกับดีไซเนอร์ชื่อดังในญี่ปุ่น

ทุกเช้าวันจันทร์ พนักงานบริษัท Aki Kosaku จึงมาทำงานด้วยสีหน้าสดใส เนื่องจากได้ใช้เวลากับครอบครัว ได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ ตลอดจนได้ช่วยเหลือคนในชุมชนอย่างเต็มที่

“เวลาในโลกทุนนิยมนั้นเป็นเส้นตรง คนเราเกิด ทำงาน แก่ ตายจากไป ระยะห่างระหว่างคนในชุมชนก็กว้างเหลือเกิน อย่างโตเกียว…ทั้งที่คนเดินเบียดกันแน่น แต่เรากลับไม่รู้จักกัน ระแวงกัน

เวลาที่ผมอยากจะสร้างให้เกิดขึ้นนั้น เป็นเวลาที่หมุนเป็นวงกลมครับ เราแบ่งเวลาของเราไปช่วยคนอื่น คนอื่นให้เวลาของพวกเขาแก่พวกเรากลับคืนมา ความสัมพันธ์เราแน่นแฟ้นขึ้น ระยะห่างระหว่างคนลดลง ผมอยากให้เวลาเป็นวงกลม หมุนและแบ่งปันให้แก่กันและกันเช่นนี้ มันงดงามกว่ามากครับ”

สุขจากภายใน (บริษัท)

ในวิชาการตลาด เรามักจะพูดว่า ลูกค้าสำคัญที่สุด หรือ Customer-centered แต่จากกรณีของบริษัท Aki Kosaku คนที่สำคัญที่สุดของบริษัทคือ พนักงาน

หากพนักงานมีความสุข ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม พนักงานก็จะมีแรงจูงใจสูงขึ้น และตั้งใจทำงานมากขึ้น

ในมุมมองของนักบัญชีหรือนักการเงินนั้น การที่พนักงานทำงานในระยะเวลาน้อยลง อาจเสี่ยงต่อจำนวนผลผลิตที่ลดลง แต่มัตสึโอกะได้พิสูจน์แล้วว่า การที่เขายอมสละ ‘เวลา’ ของตัวเขาเองและพนักงานนั้น เขากลับได้กำไรยิ่งกว่า แน่นอน ยอดขายสูงขึ้น แต่สิ่งที่มีค่ากว่านั้น คือ ความสุขของพนักงาน และความสุขของคนในชุมชน

ยอดขายและกำไรที่สูงขึ้นไม่ใช่เป้าหมาย แต่เป็นผลลัพธ์ที่เกิดจากความสุขของพนักงานนั่นเอง

สุดท้ายนี้ อย่าลืมส่งบทความนี้ให้เจ้านายของท่านนะคะ

 

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Photographer