30 พฤศจิกายน 2023
1 K

คงจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ถ้าคาเฟ่สักแห่งจะมีตู้ไม้น้ำเป็นของตกแต่งร้าน เพราะร้านอาหารอีกมากก็มีตู้ลักษณะนี้ช่วยขับบรรยากาศผ่อนคลายให้ร้านเป็นปกติ

แต่การที่ ‘ไม้น้ำช็อปเฮาส์’ ร้านกาแฟและขนมหวานที่ตั้งอยู่ในตึกแถวสไตล์ชิโน-ยูโรเปียน กลางเมืองภูเก็ต เลือกที่จะมีตู้ไม้น้ำไซซ์มหึมาอยู่หน้าร้าน แถมยังนำมาตั้งเป็นชื่อร้าน ย่อมบ่งบอกว่าพืชเหล่านี้มีสถานะพิเศษกว่าการเป็นแค่ของประดับร้านชิ้นหนึ่งเป็นแน่แท้

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

ร้านในห้องแถวคูหาเดียวริมถนนกระบี่แห่งนี้ คือธุรกิจในฝันที่ภรรยาสาวไทย ไอซิ่ง-อชิรญาณ์ หวังเกียรติ กับสามีชาวสิงคโปร์ เจิ้น-เฉิน เจิ้นเจี๋ย (Chen Zhenjie) เพิ่งตัดริบบิ้นเริ่มกิจการเมื่อปลาย พ.ศ. 2565 ตามความปรารถนาของคนหนุ่มสาวที่ต้องการจะมีร้านกาแฟของตัวเองสักแห่ง ซึ่งแทนที่พวกเขา 2 คนจะเนรมิตร้านแรกออกมาตามใจตนเองไปหมดทุกอย่าง ไอซิ่งและเจิ้นกลับเลือกรวบรวมความชอบ ความสนใจ และความเป็นตัวเองของหลาย ๆ คนในตระกูลเข้าไว้ในร้าน ด้วยแนวคิดว่า “อยากให้ลูกค้าทุกคนรู้จักครอบครัวเรา แค่คุณเดินเข้ามา”

ไม่ต้องบอกคงพอเดากันได้ว่า ‘ไม้น้ำ’ ก็เป็นส่วนสำคัญในชีวิตพวกเขา นี่คือความพิเศษหนึ่งในหลาย ๆ เรื่องที่ทำให้ The Cloud อยากชวนมาทำความรู้จักคาเฟ่แห่งนี้กัน

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

ร้านเสริมสวยเก่าของเจ็กก้อง

ไอซิ่งเกิดและโตที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของคุณแม่ หากสายเลือดครึ่งกายเธอเป็นชาวภูเก็ต เพราะ คุณพ่อสุวัฒน์ หวังเกียรติ ผู้ให้กำเนิดเธอเป็นลูกหลานชาวจีนรุ่นสี่ที่อพยพมาสร้างชีวิตใหม่บนเกาะสวรรค์เมืองใต้แห่งนี้เมื่อ 100 กว่าปีก่อน เพราะเหตุนี้เธอจึงมีเครือญาติมากมายที่อาศัยอยู่ในเมืองภูเก็ต ท่านหนึ่งที่มีความสำคัญต่อไม้น้ำช็อปเฮาส์คือ เจ็กกองทุ้ย-ขนัด หวังเกียรติ ผู้มีศักดิ์เป็นน้องคุณปู่ หรือ ‘เจ็กก้อง’ ที่คนจีนฮกเกี้ยนเรียก

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

“ช็อปเฮาส์ (ตึกแถว) นี้เป็นที่ของมูลนิธิที่เขาไม่ขายค่ะ หลังนี้เจ็กกองทุ้ยเคยเช่าอยู่ประมาณ 40 กว่าปีได้ แกทำร้าน ‘ขนัด’ ซึ่งเป็นร้านทำผมและร้านเสริมสวยแบบโบราณ” ไอซิ่งพาเราหวนรำลึกถึงความหลังยุคที่ญาติผู้ใหญ่ของเธอยังเพลิดเพลินกับการนวดและสางผมหญิงสาวอยู่ในตึกแถวห้องนี้

“แกมีชื่อเสียงเรื่องทำผมทรงชักอีโบยของผู้หญิงบ้าบ๋า-ย่าหยา ตอนที่เราแต่งงาน จัดงานที่ภูเก็ต เจ็กก้องก็เป็นคนทำผมเจ้าสาวให้เรา”

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

ร้านขนัดสร้างเสริมเติมความงามบนเรือนผมของสตรีภูเก็ตมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970 จวบจน 2020 เจ้าของร้านก็ลาโลกนี้ไป เป็นเหตุให้ร้านว่างลง ไม่มีคนเช่าต่อ พอเรื่องไปถึงหูของหลานสาวที่ไปใช้ชีวิตอยู่สิงคโปร์เป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา เธอกับสามีที่พบรักกันที่นั่นจึงสนใจเช่าที่ร้านขนัดเก่าเพื่อต่อเติมความตั้งใจของพวกเธอเอง

“ตอนนั้นเรา 2 คนอินกับช็อปเฮาส์มาก เพราะว่าที่สิงคโปร์ก็มีช็อปเฮาส์หน้าตาคล้าย ๆ แบบนี้ แล้วตอนนั้นมีเทรนด์ที่ร้านค้าชอบรีโนเวตตึกเก่าทำร้านกาแฟ คนรุ่นใหม่สนใจจะปรับปรุงร้านเพื่ออยู่ในย่านที่มีเรื่องราวมากกว่าย่านสร้างใหม่ นี่เป็นไอเดียที่ไม่คิดว่าจะทำได้ ถ้าจะทำสิ่งนี้ในสิงคโปร์คงเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับคนที่ทำงานธรรมดา เพราะมันแพงมาก ๆ ค่ะ” ไอซิ่งเผยสาเหตุที่ทำให้เธอชักชวนเจิ้นย้ายมาอยู่ที่บ้านเกิดคุณพ่อเมื่อกลางปี 2022 พลันเปรยถึงแนวคิดที่เธอนำไม้น้ำเข้ามาเป็นจุดเด่นของร้าน

ต้นไม้น้ำของคุณพ่อ

ก่อนย่างเข้าวัยเกษียณ คุณพ่อสุวัฒน์เคยมีอาชีพเป็นวิศวกรไฟฟ้า ทว่าความชอบส่วนตัวของเขาคือการอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ เดินท่องป่าเขา ก่อนต่อยอดมาเป็นการจำลองต้นไม้ใบหญ้าในตู้กระจกใส ให้รู้สึกราวกับได้ชมน้ำตกที่มีน้ำไหลกับร่มไม้ใกล้ตัวตลอดเวลา

เพื่อรักษาน้ำในตู้ให้สะอาดใสแจ๋วตลอดเวลา ทุกวันพฤหัสบดีจะมีคนของฟาร์มไม้น้ำมาทำความสะอาดตู้ ทุกวันพฤหัสบดีจึงเป็นวันหยุดของร้าน

ไอซิ่งเล่าด้วยความภูมิใจว่าคุณพ่อของเธอเป็นผู้บุกเบิกการเพาะเลี้ยงต้นไม้น้ำ เป็นงานอดิเรกที่นำไปสู่การสร้างธุรกิจฟาร์ม ‘ไม้น้ำภูเก็ต’ ที่มีมานานกว่า 25 ปี และยังสร้างรายได้ให้ครอบครัวมาจนทุกวันนี้

“เรากับน้องชายโตมาในบ้านที่มีตู้ปลา คุ้นเคยกับตู้ปลาที่มีต้นไม้น้ำอยู่ในตู้ ไม่ได้รู้สึกว่าแปลกอะไร จนกระทั่งโตขึ้นมาถึงได้รู้ว่าไม้น้ำเป็นอะไรที่คนยังไม่ค่อยรู้จัก”

เมื่อจะมีร้านกาแฟเป็นของตัวเอง ไอซิ่งจึงได้เลือกตู้ไม้น้ำมาประดับร้านไว้หลายตู้ และไม่อายที่จะใช้ชื่อพืชชนิดโปรดของคุณพ่อมาเป็นชื่อร้าน นับว่าต่างจากร้านอื่น ๆ ในย่านที่มักกำหนดธีมและชื่อให้สอดคล้องกับความเป็นอดีตของเมืองภูเก็ตอย่างสุดกู่

“ธีมของร้านเราเลยจะเป็นไม้น้ำ เราเรียกมันว่า ‘ไม้น้ำช็อปเฮาส์’ เพราะไม่มีร้านไหนที่มีต้นไม้น้ำมากขนาดนี้ในคาเฟ่ของเขาหรอก เราโชคดีเพราะคุณพ่อมีฟาร์ม มีธุรกิจ เรานำของพวกนี้มาใช้ได้ ข้างหลังร้านก็ยังมีตู้ไม้น้ำมากกว่านี้

“จุดประสงค์หนึ่งของเราคือเพื่อโปรโมตต้นไม้น้ำให้คนได้รู้จักการปลูกพวกมันมากขึ้น เพราะแต่ก่อนนี้เวลาบอกใครว่าคุณพ่อทำฟาร์มไม้น้ำ ทุกคนจะสงสัยว่าเหมือนสาหร่ายมั้ย กินได้รึเปล่า นี่คือวิธีการหนึ่งที่จะสร้างความรับรู้เกี่ยวกับไม้น้ำ เพราะมันยังเป็นงานอดิเรกเฉพาะกลุ่มมากค่ะ”

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต
จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

เพื่อแสดงตัวตนของคุณพ่อให้ลูกค้าเห็น ไอซิ่งกับเจิ้นเลือกวางตู้ไม้น้ำไว้ในร้านถึง 3 ตู้ แน่นอนว่าตู้ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงมากที่สุดคือตู้ใหญ่หน้าร้านที่เป็นตู้แบบ Paludarium ครึ่งบกครึ่งน้ำที่ทำได้ยาก ภายในอัดแน่นไปด้วยเฟิร์น มอสส์ ฯลฯ ที่ง่ายต่อการเลี้ยงดู ทำระบบปั๊มน้ำให้มีความเคลื่อนไหวของสายน้ำสมกับเป็นธรรมชาติ และอยู่ได้ด้วยตัวเอง

“ตอนแรกตู้ไม้น้ำใหญ่อยู่ตรงนี้เลยค่ะ แต่พอทำไปแล้วคนไม่เข้าใจว่าคืออะไร เพราะเราเน้นตู้ไม้น้ำเยอะไป เขาไม่รู้ว่าเป็นคาเฟ่ นึกว่าเป็นสตูดิโอหรือบริษัทรับออกแบบภายใน” ลูกสาวเจ้าของฟาร์มไม้น้ำภูเก็ตบอกด้วยยิ้มระรื่น 

“มีคนมาถามเยอะมากว่าเรารับออกแบบรึเปล่า เปล่าค่ะ เราตั้งใจขายกาแฟนี่แหละ”

เมนูอาหารของลูกเขย

ถ้าจะต้องนิยามว่าเมนูส่วนใหญ่ในร้านไม้น้ำช็อปเฮาส์เป็นอย่างไร คำจำกัดความเข้าใจง่ายที่สุดคือเป็นเมนูที่คิดและลงมือทำโดยเจิ้น ผู้เป็นต้นคิดอยากเปิดร้านกาแฟ

หนุ่มวัย 30 กลาง ๆ คนนี้เคยมีอาชีพเป็นครูพลศึกษาและคณิตศาสตร์ที่โรงเรียนมัธยมในบ้านเกิด แต่ความฝันอยากจะชงกาแฟเป็นอาชีพอาจเริ่มตั้งแต่สมัยที่เขายังเป็นวัยรุ่น

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

“วัฒนธรรมการกินกาแฟที่สิงคโปร์เหมือนจะเข้มแข็งกว่าไทยนิด ๆ นะครับ คนส่วนใหญ่โตมากับการดื่มกาแฟโบราณ ดังนั้นผู้คนที่นั่นจึงมีพื้นฐานการดื่มกาแฟอยู่แล้ว จะปรับรสนิยมมาดื่มกาแฟพิเศษ โดยเฉพาะถ้าชอบดื่มกาแฟร้อน” เจิ้นให้ทัศนะ

อาจเป็นด้วยสายเลือดคนจีนไหหลำที่นิยมทำร้านกาแฟและอาหารเช้าในสิงคโปร์มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด หนุ่มสิงคโปร์เชื้อสายไหหลำคนนี้เริ่มศึกษาเรื่องกาแฟอย่างเป็นจริงเป็นจังเมื่อตัวเขาเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2010 ยุคที่คนรุ่นใหม่ในสิงคโปร์พากันตื่นตัวเรื่องกาแฟ เจิ้นกล่าวว่าคาเฟ่มีมากมายผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดในยุคนั้น หลายแห่งมีนักคั่วนักชงมืออาชีพที่ให้ความรู้กับลูกค้าได้ละเอียดยิบ พวกเขาสืบรากเมล็ดกาแฟ แหล่งปลูก วิธีต้มและชงได้ ทั้งหมดนี้จุดประกายให้ตัวเขากลายเป็นผู้สนใจต้นกำเนิดเมล็ดพันธุ์กาแฟและการคั่วบด ซึ่งเป็น 2 ส่วนประกอบสำคัญของร้าน

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต
จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

ด้วยเครื่องคั่วอันเล็กที่ส่งตรงมาจากประเทศนอร์เวย์ เจิ้นตั้งใจสรรหากาแฟสายพันธุ์ที่ต่างกัน ทั้งบราซิล กัวเตมาลา เอธิโอเปีย มาคั่วและบดด้วยวิชาความรู้ของเขาโดยไม่มีเมนูแนะนำตายตัว สารสำคัญที่เขาต้องการจะบอกกับทุกคน คือความแท้ในกาแฟทุกแก้วที่เขาทำให้ลูกค้าได้ดื่ม

“สำคัญสุดคือผมอยากนำเสนอกาแฟของผมในรูปแบบดั้งเดิมที่สุด เป็นของแท้ที่สุด ซึ่งตรงนี้คนสิงคโปร์ชอบมาก แต่คนไทยชอบพวกกาแฟเย็น ใส่น้ำตาล ใส่น้ำแข็งเยอะ ๆ ผมก็จำเป็นต้องมีกาแฟเหล่านั้นไว้ตอบสนองตลาดบ้าง แต่จะบอกว่ากาแฟที่ผมทำครอบคลุมทุกอย่างในร้านกาแฟที่มีอยู่ เรามี Filter Coffee มี Cold Brew มี Cappuccino และ Latte แต่ยังไงก็ตาม ผมยังอยากให้กาแฟของผมเป็นกาแฟบริสุทธิ์ แม้ไม่ใส่น้ำตาลก็อร่อยครับ”

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต
จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

ใช่แค่กาแฟเท่านั้น อาหารที่ไม้น้ำช็อปเฮาส์เสิร์ฟลูกค้าส่วนใหญ่ก็เป็นเมนูที่ได้รับอิทธิพลจากของกินที่เจิ้นคุ้นเคยเมื่อตนเองยังเด็ก ขอยกตัวอย่าง ‘กายา’ กับ ‘วอฟเฟิล’ ซึ่งเป็นดั่งพระเอกและนางเอกประจำร้านที่ทั้งสองสามีภรรยาภูมิใจนำเสนอ

เริ่มกันที่ กายา (Kaya) หรือแยมมะพร้าวกวนที่คล้ายกับ ‘สังขยา’ บ้านเรา สิ่งนี้คือเคล็ดลับความอร่อยของเมนูท้องถิ่นมากมายในสิงคโปร์และมาเลเซีย เจิ้นทดลองนำกายามาราดบนเนื้อเบเกิล กลายเป็นเมนู ‘กายาเบเกิล’ ที่ถูกอกถูกใจลูกค้าถ้วนหน้า รวมถึงทำขนมปังปิ้งรูปแบบต่าง ๆ ที่มีท็อปปิ้งเป็นกายา ให้รสชาติแตกต่างจากสังขยาทั่วไปในไทย ชาวต่างชาติมากมายชื่นชอบ เพราะหลายคนมุ่งหน้ามาไทยเพื่อลิ้มลองรสชาติอาหารที่มีมะพร้าวเป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว

จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต
จิบกาแฟ-ชมตู้ไม้น้ำใน Mai Nam Shophouse คาเฟ่ที่รีโนเวตจากร้านเสริมสวยในตึกเก่าภูเก็ต

หรืออย่างวอฟเฟิลทั้งหมดในร้านก็ทำเองโดยคู่รักต่างเชื้อชาติคู่นี้ เจิ้นกล่าวว่าวอฟเฟิลในสิงคโปร์เป็นเมนูสำคัญที่คาเฟ่ทุกแห่งขาดไม่ได้ แม้แต่ร้านไอศกรีมก็ต้องมี และที่น่าทึ่งกว่านั้นคือทุกร้านทำได้อร่อยเหมือนกันหมด เมื่อมาอยู่ภูเก็ต เจิ้นก็ลองผิดลองถูกทำวอฟเฟิลอยู่หลายสูตร กว่าจะได้สูตรที่กลมกล่อมลงตัว สะท้อนรากเหง้าความเป็นสิงคโปร์ให้คนไทยรู้จักกัน

“วอฟเฟิลที่นี่ไม่เหมือนวอฟเฟิลร้านอื่นที่คุณได้พบ มันจะกรอบนอก นุ่มใน มีน้ำหนักเบา เพราะข้างในโปร่ง ไม่เหมือนวอฟเฟิลส่วนใหญ่ที่เนื้อแน่น ๆ นิ่ม ๆ ช่วงแรกจะขายให้คนไทยกินยากหน่อย แต่ผมว่าตอนนี้มีคนชอบมากขึ้นแล้ว เข้ามาสั่งวอฟเฟิลที่ร้านโดยเฉพาะเลยก็มีครับ”

คาเฟ่ของทุกคน

“ร้านนี้หลัก ๆ คือความชอบของคุณพ่อกับพี่เจิ้น แล้วเรามาช่วยสานฝัน” ไอซิ่งบอกพลางนำกาแฟร้อนมาเสิร์ฟที่โต๊ะ ท่ามกลางเสียงหยดติ๋ง ๆ จากตู้ไม้น้ำที่เริ่มดังขึ้นมาอีกครั้งเมื่อถึงรอบเวลา

“ภรรยาของผมคือคนที่นำทุกอย่างเข้ามารวมไว้ด้วยกัน การทำให้ฝันของพวกเราเป็นจริงนั่นแหละครับหน้าที่ของเธอ” เจิ้นพูดทั้งรอยยิ้มเมื่อกาแฟโดยเขาส่งกลิ่นหอมฟุ้งกำจายไปทั่วร้านบทบาทของไอซิ่งเริ่มตั้งแต่รู้ข่าวว่าร้านทำผมเก่าของเจ็กก้องต้องปิดตัวลง เมื่อต้องคิดชื่อร้าน เธอก็นำความชอบของคนในครอบครัว 2 คนที่เธอรักมาผสมกันเป็นร้านใหม่ ทั้งไม้น้ำของคุณพ่อ ทั้งกาแฟของสามี ไม้น้ำช็อปเฮาส์ที่ถือกำเนิดขึ้นใต้ชายคาตึกแถวใจกลางเมืองภูเก็ตแห่งนี้จึงมีสโลแกนประจำร้านว่า Coffee and Plants (กาแฟและต้นไม้) ที่อวดโฉมอยู่บนป้ายหน้าร้าน

เมื่อมองไปที่ป้ายร้านรวมถึงโปสเตอร์ที่ใช้โปรโมตต่าง ๆ เราจะได้พบกับมาสคอตหรือตัวการ์ตูนประจำร้านหน้าตาน่ารักน่ากอด 3 ตัว ประกอบด้วยหยดน้ำตัวสีฟ้า เมล็ดกาแฟตัวสีน้ำตาล และใบไม้ตัวสีเขียว ซึ่งทั้งหมดเกิดจากการร่างแบบและวาดขึ้นมาโดยไอซิ่งเอง เช่นเดียวกับภาพถ่าย ภาพโปรโมตต่าง ๆ ในร้านนี้ที่เกิดขึ้นจากมันสมองของหญิงสาวเจ้าของร้าน

นอกจากตู้ Paludarium ที่ตั้งใจเป็นตัวอย่างให้ลูกค้าได้รู้จักและหลงรักไม้น้ำ ภายในร้านยังมี ‘ไม้น้ำมินิ’ หรือสวนในขวดโหล (Terarium) ที่ไอซิ่งลองใช้พืชพันธุ์จากสวนคุณพ่อมาทำ และบางครั้งก็ยังจัดเวิร์กช็อปให้คนมาเรียนรู้วิธีการจัดสวนขวดกับทางร้าน

และนอกจากกายา เบเกิล และวอฟเฟิลที่ได้กล่าวถึงไปแล้วนั้น ไม้น้ำช็อปเฮาส์ยังมีอีกหลายเมนูที่ตั้งใจเป็นอาหารเช้าและกลางวันให้ลูกค้า ทั้งหมดเป็นเมนูมังสวิรัติ ไร้เนื้อสัตว์ทุกชนิด แต่มีคุณค่าทางโปรตีน ไม่ว่าจะเป็นไข่กวน มายองเนส ไข่ดาว ชีส อะโวคาโด ที่พร้อมให้พลังงานแก่ผู้รับประทานทั้งหมด บางเมนูก็เป็นของหายาก เช่น ขนมเข่งหรือ ‘เหนียนเกา’ ที่ทั้งภูเก็ตแทบไม่มีขาย หากไม่ได้อยู่ในระยะเทศกาลสำคัญอย่างตรุษจีน

ที่ประหลาดที่สุดอาจเป็นรายการอาหารของร้านซึ่งไม่เคยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘เมนูแนะนำ’ ในสารบบ

“เราไม่ได้มีเมนูซิกเนเจอร์ มีลูกค้าเยอะเหมือนกันที่มาถามหาว่าอะไรคือ Signature Coffee ของร้านนี้ เพราะทุกคนมีเมนู มีสไตล์ที่ชอบไม่เหมือนกันอยู่แล้ว บางทีเราแนะนำอะไรไปคุณอาจจะไม่ชอบ ก็จะใช้วิธีถามกลับว่าปกติชอบดื่มอะไร แล้วเราค่อยแนะนำเมนูที่เราจะทำให้เขา”

ทั้งเจิ้นและไอซิ่งต่างช่วยกันและกันในการรังสรรค์คาเฟ่แห่งนี้ออกมาให้ดีที่สุด ไม่ใช่แค่เพื่อตัวพวกเขาเอง แต่ยังรวมไปถึงครอบครัวพวกเขา ตลอดจนถึงลูกค้าทุกคนที่ก้าวเท้าเข้ามาที่นี่

“เราไม่ได้มีเมนูอาหารเยอะนะคะ เพราะเราทำกันอยู่แค่ 2 คน ทุกอย่างทำโดยพวกเรา มีผู้ช่วยอีกแค่คนเดียวในตอนนี้ แต่ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ภาคปฏิบัติ มีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้า และถามไถ่พวกเขาดูว่าต้องการอะไร ในเวลาเดียวกัน เราก็มั่นใจในฝีมือการทำอาหารที่เรารักและสบายใจที่ได้ทำ”

จากการปิดตัวลงของร้านเสริมสวยโดยคนรุ่นปู่ สู่การเกิดใหม่ของคาเฟ่ที่คนรุ่นหลานสานฝันโดยนำเอาสิ่งละอันพันละน้อยที่เป็นความชอบของแต่ละคนในครอบครัวมารวมเข้าไว้ด้วยกัน ไม้น้ำช็อปเฮาส์จึงเป็นสถานที่ผ่อนคลายไม่เหมือนคาเฟ่อีกมากมายในย่านนี้ เป็นร้านที่ทุกคนมาอิ่มอร่อยกับของคาวหวาน เติมพลังจากกาแฟที่มีรากจากต่างแดน และชื่นชมความงามของต้นไม้ในตู้ใสได้โดยมีเจ้าของร้านคอยให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย

“ทุกอย่างในร้านนี้คือเรา เราเป็นคนเลือก เป็นคนทำเอง เวลาลูกค้าเข้ามา เราก็อยากเป็นเจ้าของบ้านที่ต้อนรับเหมือนเพื่อนหรือครอบครัว นี่คือร้านที่รวมทุกอย่างที่ครอบครัวเราชอบ ทุกอย่างที่เราทำ ทุกอย่างที่คุณเห็น และทุก ๆ อย่างที่คุณได้รับประสบการณ์จากที่นี่ แม้แต่ดนตรีหรือภาพประดับข้างฝาล้วนมาจากการเลือกสรรของพวกเราเอง และเรามีเรื่องราวที่อยากจะแชร์กับลูกค้าทุกคน ถ้าคุณมา คุณจะได้เห็นโอกาสใหม่ ๆ และสิ่งใหม่ ๆ จากความเป็นเรานี้”

สองสามีภรรยาที่มาจากครอบครัวต่างเชื้อชาติ ต่างภูมิลำเนา และต่างความสนใจฝากไว้ ราวจะบอกว่าที่ไม้น้ำช็อปเฮาส์แห่งนี้ยังมีอีกหลายความพิเศษที่บอกไม่ได้ จนกว่าจะได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง

Mai Nam Shophouse
  • 16 ถนนกระบี่ ตำบลตลาดเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต (แผนที่)
  • เปิดวันจันทร์-พุธ, ศุกร์-อาทิตย์ (หยุดทุกวันพฤหัสบดี) เวลา 09.00 – 17.30 น.
  • www.mainamshophouse.com
  • mainamshophouse

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ทยาวีร์ สุพันธ์

ช่างภาพอิสระ บ้านอยู่ภูเก็ต หลงรักการดื่มกาแฟ ขับรถเที่ยว ชมธรรมชาติ การถ่ายรูปทะเลและผู้คน ชอบดนตรี ตีกลองเป็นงานอดิเรก