“ประกาศ ประกาศ 

ขณะนี้สถานการณ์น้ำเสียในคลองไทย ทำให้มนุษย์ปิดจมูกทุกครั้งที่เดินผ่าน (หรือว่าไม่จริงล่ะ) สิ่งมีชีวิตในน้ำล้มตาย ทัศนียภาพไม่น่ามอง รบกวนการสัญจรทางเรือ ซึ่งสาเหตุมาจากการปล่อยน้ำเสียในภาคธุรกิจ คมนาคม และอุตสาหกรรม”

นี่ไม่ใช่ข่าวต้นชั่วโมงแต่อย่างใด แต่เป็นการประกาศให้โลกรู้ว่า ปัญหาน้ำเสียในคลองตอนนี้กำลังทำลายความสวยงามของแลนด์สเคปที่อยู่คู่บ้านเรามาตั้งแต่สมัยก่อนนู้น หลายครั้งพวกเราโทษภาคอุตสาหกรรมว่าเป็นบิ๊กบอสที่ทิ้งสารเคมีลงคลอง แต่เรากลับไม่เคยมอง ‘ตัวเอง’

ถ้าลองมองสิ่งใกล้ตัวสักนิดที่ใกล้ชิดกันอยู่บ่อยๆ อย่างการ ‘ซักผ้า’ กิจวัตรประจำวันที่ทุกบ้านต้องทำ จะรู้ว่ามันก็สามารถทำลายสิ่งแวดล้อมได้เหมือนกัน

เพราะอะไรน่ะเหรอ? ให้เวลาคิด 10 วิ 

ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก ติ๊กต็อก 

หมดเวลา

เฉลยคือ น้ำที่ใช้แล้วในบ้านจะไหลลงท่อระบายน้ำสู่คลองสาธารณะข้างเคียง โดยที่เราแทบไม่ฉุกคิดเลยว่า สารเคมีตกค้างจากการซักผ้าจะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติ แต่เรียนผูกก็ต้องเรียนแก้ เพราะมือเล็กๆ ของเราก็สามารถปกป้องแหล่งน้ำได้

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

ผู้เขียนจึงขอแนะนำนักอนุรักษ์มีครีบ ‘magFish’ เพื่อนใหม่สายออร์แกนิกกับภารกิจช่วยรักษาคลองด้วยการว่ายวนขจัดคราบบนเสื้อที่ช่วยให้น้ำหลังซัก สะอาด ปราศจากสารเคมี โดยมีผู้ปกครองคือ ฝน-วริษา โทณะวณิก, อาย-อนัตตา โทณะวณิก และ อ้อม-สุญญตา ไพร์ค 3 สาวเพื่อนซี้ที่ชอบทำของใช้เองมากกว่าซื้อ ตั้งแต่อาหารยันเครื่องแต่งกาย ผู้นำแมกนีเซียมบริสุทธิ์ 99.95 เปอร์เซ็นต์ (อ่านไม่ผิดหรอก แมกนีเซียมนั่นแหละ) มาห่อหุ้มด้วย 12 สายพันธุ์ปลาบนเส้นใยธรรมชาติ จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ซักผ้าทำมือที่เย็บ ปัก ถักเอง ทดแทนการใช้ผงซักฟอกและน้ำยาปรับผ้านุ่มที่ใช้ได้ถึง 365 วัน 

ฝน-วริษา โทณะวณิก อาย-อนัตตา โทณะวณิก และ อ้อม-สุญญตา ไพร์ค

จริงๆ แล้วการนำแมกนีเซียมมาซักผ้าไม่ใช่เรื่องใหม่ในกลุ่มแม่บ้านญี่ปุ่น แต่ในไทยกลับใหม่และดูเข้าถึงยาก เจ้าของทั้งสามจึงขอลดช่องว่างความไกลให้ใกล้มากขึ้น ด้วยการสร้างฟังก์ชัน 2 in 1 ที่เปลี่ยนการซักผ้าในบ้านให้ได้ทั้งผ้าสะอาดและได้ช่วยเหลือสังคม

คนขี้แพ้ที่รักคลอง

ย้อนกลับไปวันหนึ่ง ถ้าหนึ่งในผู้ผลิตอย่างฝนเกิดไม่เบื่อการออกกำลังกายที่บ้านจนไปเดินเรียกเหงื่อเลียบคลองลาดพร้าว เธอคงมองไม่เห็นปัญหาของแหล่งน้ำตรงหน้าที่ส่งกลิ่นเหม็น ดำ และเต็มไปด้วยคราบสารเคมี จนเกิดคำถามในหัวทันทีว่า

‘ฉันจะช่วยเหลือคลองนี้ยังไงดี’

ฝนเล่าว่า สิ่งแรกที่เธอทำคือเริ่มสำรวจตัวเองก่อนว่าคนแพ้ง่าย เจออะไรนิดหน่อยก็ผื่นขึ้นอย่างเธอ หลังหันมาทำแชมพูมะกรูด คั่วกาแฟ หมักน้ำจากผลไม้ และทำยาสมุนไพรกินเองมา 20 ปี ยังขาดอะไรที่ไม่ได้ทำ แถมต้องมีฟังก์ชันช่วยคลองนี้ได้ด้วย

ประจวบเหมาะเหมือนโชคเข้าข้าง เมื่อเพื่อนสนิทที่ไปเที่ยวญี่ปุ่นเล็งเห็นว่าเธอเป็นแฟนพันธุ์แท้สินค้าออร์แกนิกและมีอาการแพ้ผงซักฟอกอยู่บ่อยครั้ง จึงซื้อแมกนีเซียมซักผ้ามาเป็นของฝากให้เธอ ไม่น่าเชื่อว่าเจ้าแมกนีเซียมเม็ดจิ๋วสีเงินตัวนี้จะขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่งในดวงใจแทนผลิตภัณฑ์ซักผ้าออร์แกนิกที่เธอใช้เป็นประจำได้ ที่สำคัญ เธอไม่แพ้มันซะด้วยสิ

แต่คนเดียวหัวหาย 2 คนเพื่อนตาย 3 คนยิ่งเวิร์กเลย! เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ได้คิดไปเอง เธอจึงลองสั่งแมกนีเซียมครึ่งกิโลกรัมจากโรงงาน มาให้คนที่เธอรักได้ทดลองใช้ ทั้งบ้านอาย บ้านอ้อม และบ้านแม่ 

คุณแม่ของฝนและอายส่งฟีดแบ็กกลับมาเป็นเสียงเดียวกันว่าดีเกินคาด เพราะคราบปัสสาวะลูกชาย คราบเหลืองบนคอเสื้อแฟน รวมไปถึงกลิ่นอับชื้นจากเหงื่อ หายไปอย่างปลิดทิ้งโดยไม่ต้องใช้แรงขยี้เลยด้วยซ้ำ 

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

เช่นเดียวกับอ้อมที่ตอนแรกไม่คิดจะหยิบมาใช้เพราะแมกนีเซียมพวกนี้ไม่มีกลิ่นหอมหวานชโลมใจเอาซะเลย อาจเป็นเพราะนิสัยติดกลิ่นน้ำยาปรับผ้านุ่มหนักมากของเธอ ที่หากวันไหนไม่ได้กลิ่นจะนำเสื้อไปซักใหม่ทันที ต้องขอบคุณอายที่โทรมาเล่าประสบการณ์การซักผ้าให้อ้อมฟังจนยอมเปิดใจ ไม่อย่างนั้นเธอคงไม่มีวันก้าวข้ามความหอมมาเจอกับประสิทธิภาพที่เธอหลงรักในปัจจุบัน 

เมื่อทุกคนแฮปปี้ ฝนก็แฮปปี้ จึงชวนอายและอ้อมมานั่งเสิร์ชหาประโยชน์ที่มากกว่าการขจัดสิ่งสกปรกของแมกนีเซียม จนพบว่าน้ำหลังซักผ้าด้วยแมกนีเซียมจะไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างเหมือนผงซักฟอกทั่วไป

ธาตุเม็ดจิ๋วที่เก่งเกินตัว

จากการค้นข้อมูลสมทบกับความรู้จากศาสตร์เคมีที่สามีของฝนและอ้อมเรียนมา ทำให้ 3 สาวได้รู้ว่าทำไมแมกนีเซียมจึงแตกต่างจากผงซักฟอกทั่วไป

“ปกติแมกนีเซียมจะมีอยู่ 3 ชั้น โดยชั้นที่ 3 มีอิเล็กตรอนเกินมาอยู่ 2 ตัว พอไปเจอกับ H2O ของน้ำ แมกนีเซียมที่มีวงใหญ่กว่าก็ไปดึงอิเล็กตรอนที่อยู่วงนอกของน้ำเข้ามา มันเลยทำปฏิกิริยากันจนเกิดแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ที่จุดนั้น โดยไม่ต้องใส่สารเคมีเพิ่ม หลังจากนั้นน้ำก็จะถูกย่อยออกมาเป็นหน่วยที่เล็กลง บวกกับแรงเหวี่ยงของถังซักผ้าหรือแรงขยี้ที่ช่วยดึงสิ่งสกปรกออก จนเกิดอิเล็กตรอนอิสระหรืออีออนที่เคลื่อนที่กระจัดกระจาย ไปดึงกลิ่นอับ กลิ่นเหงื่อทั้งหมดออกมา” ฝนอธิบายอย่างตั้งใจด้วยภาษาวิชาก๊ารวิชาการ

งงใช่ไหมล่ะ?

มา! ผู้เขียนสรุปง่ายๆ ให้ฟัง

เจ้าแมกนีเซียมเป็นธาตุที่พบมากในน้ำทะเลและมีอยู่มากเป็นอันดับ 8 ของโลก ออกฤทธิ์เป็นด่าง แถมเก่งกาจพอที่จะดึงสิ่งสกปรกบนผ้าออกได้ บวกกับแรงเหวี่ยงของเครื่องซักผ้าหรือกำลังมือขยี้ของคุณแม่บ้านจะทำให้เกิดอิเล็กตรอนอิสระที่ช่วยปราบกลิ่นอับ กลิ่นเหงื่อ และไม่ทิ้งสารเคมีตกค้างด้วยนะ

แล้วมันต่างจากการซักผ้าปกติยังไงล่ะ?

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

รู้นะว่าสงสัยอยู่

ผงซักฟอกที่เราใช้กันมีส่วนผสมของแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาย้อนกลับ หรือพูดง่ายๆ คือ เอฟเฟกต์ที่ทำให้เกิดคราบเหลืองบนเสื้อขาว หรือคราบตะกรันในเครื่องซักผ้า ซึ่งบางครั้งเราอาจคิดว่าเป็นที่ผ้าเราสกปรกเองหรือเปล่า แต่จริงๆ แล้วอีกสาเหตุหนึ่งมาจากตะกรันแมกนีเซียมไฮดรอกไซด์ และสารเคมีจากน้ำยาปรับผ้านุ่ม ซึ่งสารเคมีตกค้างพวกนี้เป็นศัตรูที่คอยบ่อนทำลายลำคลองอยู่เสมอ

ปลาตัวเล็กที่อยากให้คนตัวใหญ่

เมื่อตัวก็ไม่แพ้ แถมน้ำก็ไม่เสีย ถึงเวลาตั้งแผงตลาดปลา!

ทั้งสามสาวจึงตัดสินใจทำภารกิจส่งต่อความดีงามของผลิตภัณฑ์นี้ให้คนอื่นได้ใช้ แต่การมานั่งอธิบายการทำงานของแมกนีเซียมเฉยๆ ก็ดูจะเข้าใจยากเหลือเกิน เหมือนกับที่อ้อมเคยโดนคนรู้จักตอกกลับความตั้งใจนี้ว่า

“ใครจะซื้อนะ”

ทำให้อ้อมตั้งคำถามกลับไปนิ่มๆ ว่า “แล้วใครไม่ซักผ้าบ้าง” 

นี่จึงเป็นการจับเข่าคุยกันครั้งใหญ่ของ 3 สาวภายใต้โจทย์ที่ว่า ‘ทำอย่างไรให้คนรักสิ่งนี้’ และให้ลูกค้าได้รับสิ่งที่มากกว่าสรรพคุณของมัน

ฝนนึกย้อนกลับไปในจุดประสงค์แรกของเธอ คือการทำให้คลองกลับมาอุดมสุขอีกครั้ง พวกเธอจึงตัดสินใจนำสิ่งมีชีวิตในน้ำอย่างปลามาห่อหุ้มความดีงามบนแมกนีเซียม ให้คนตระหนักว่า ปลาที่พวกเขาซื้อไปสามารถช่วยลดน้ำเสียและปกป้องชีวิตของสัตว์น้ำได้

“เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นมิตรต่อลูกค้า เราเลยพยายามลองทุกรูปแบบ ทั้งลองน้ำเดียว ลอง 2 น้ำ ลองซักมือ เอาเครื่องวัดกรด-ด่างมาวัดทุกนาทีว่ามันขึ้นเท่าไหร่ ไปจนถึงโยนใส่เตาอบเพื่อดูว่ามันระเบิดไหมก็เคย (หัวเราะ) 

“พอแน่ใจเรื่องความปลอดภัย จึงเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมลงไป เพราะเราอยากให้ทุกคนรู้สึกว่าเขาตัวใหญ่ขึ้นจากการได้ทำสิ่งเล็กๆ ที่นอกเหนือจากตัวเอง” ทั้งสามเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

พลิกปลาให้เป็นปุ๋ย

เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์ธรรมชาติ แม้แต่รายละเอียดเล็กๆ อย่างการเลือกใช้วัสดุมาสร้างตัวปลาพวกเธอยังคำนึงถึงการย่อยสลายในระยะยาว ด้วยการปฏิเสธการใช้ผ้าประเภทไนลอนและโพลีเอสเตอร์ ที่ปล่อยพลาสติกเล็กๆ หรือไมโครไฟเบอร์ (Microfiber) ออกจากเสื้อผ้าทุกครั้งหลังซัก ซึ่งเจ้าไมโครไฟเบอร์ถึงจะเล็กแต่ร้ายไม่เบา เพราะสร้างมลพิษให้กับคลองและไม่สามารถย่อยสลายเองได้

ฉะนั้น การหยิบผ้าทอจากเส้นใยธรรมชาติก็ถือเป็นการสร้างความจริงใจให้แก่ลูกค้า พวกเธอเลือกผ้าป่านมัสลินมาเย็บเป็นถุงกระเพาะปลาที่บรรจุแมกนีเซียมไว้ และทับด้วยผ้าลินินที่เย็บแยกเป็นลำตัวปลาสีสันสวยงามด้านนอก ตบท้ายด้วยการใช้กระดุมไม้ธรรมชาติมาทำเป็นดวงตาอันจิ๋ว 

วัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติเหล่านี้รวมไปถึงแมกนีเซียมข้างใน เมื่อใช้งานครบ 1 ปี ยังสามารถนำเอาไปฝังลงดินเพื่อใช้เป็นปุ๋ยให้แก่ต้นไม้ได้

*หมายเหตุ เพราะแมกนีเซียมคือหนึ่งในธาตุอาหารที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืชนั่นเอง

ปลาทำมือ

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

“เรามองว่าเจ้าปลาพวกนี้ไม่ได้เป็นธุรกิจขนาดนั้น เพราะมันเกิดจากความสนุกและจุดมุ่งหมายการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม

“แค่เราได้ทำสิ่งที่เรารักอย่างการเย็บผ้าไปพร้อมๆ กับนั่งเม้ามอย กินไวน์กับเพื่อน แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว”

3 สาวเจ้าของแบรนด์พยายามสื่อสารให้เราทราบว่าธุรกิจที่เธอไม่เรียกว่าธุรกิจนี้ เป็นงานออร์แกนิกที่ค่อยเป็นค่อยไป ทั้งการจับคู่สีผ้า เย็บจักร เย็บมือ ปักกระดุม ก็ผ่านมือพวกเธอทุกตัว แม้ช่วงหลังออร์เดอร์จะเยอะขึ้น ก็ยังใช้คนใกล้ตัวช่วยเพิ่มแค่ 1 คน เพราะพวกเธอเชื่อว่า ‘การเติบโตที่เกิดจาก 2 มือของตัวเองมักสวยงามเสมอ’ 

เช่นเดียวกับอนาคตของปลาซักผ้าที่พวกเธอกำลังทดลองการใช้งานใหม่ๆ ทั้งอายที่เป็นห่วงสุขอนามัยเรื่องกลิ่นเท้าลูกชายเลยลองเอาน้ำหลังซักไปแช่เท้าลูก ปรากฏว่ากลิ่นหาย หรือการนำปลาไปแกว่งในน้ำสัก 2 – 3 นาที แล้วเอามาถูตัวแทนสบู่ก็ลดกลิ่นตัวได้ไม่ใช่ย่อย และยังมีอีกสารพัดการทดลองที่พวกเธอจะทำต่อไป เพื่อให้ปลาพวกนี้เติบโตไปพร้อมกับเด็กรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ตลาดปลาที่ ‘เดิร์น’ ที่สุด

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

ตอนนี้เหล่าพันธุ์ปลาที่ฝน อ้อม และอาย ร่วมสร้างมาด้วยกัน มีอยู่หลากหลายพันธุ์ให้ลูกค้าเลือปช้อป ทั้งปลาทู ปลาแรด ปลาปักเป้า ปลานกแก้ว ปลากระเบน ปลาจะละเม็ดขาว ปลานีโม ปลาการ์ตูน ปลาวัวจุด ปลาหน้าวัว ปลากระสูบ และปลาสินสมุทร พวกเธอพยายามเลือกปลาที่ตนเองคุ้นเคยในชีวิตประจำวันมาสร้างลำตัวปลาบนลายผ้าสุดน่ารักที่มีขนาดเท่าปลาจริงๆ และสร้างคาแรกเตอร์ให้คนรักปลาทุกตัวเท่าๆ กัน 

‘magFish ปลารักษ์น้ำ’ ผลิตภัณฑ์ที่จะทำให้ภารกิจซักผ้าได้รักษาโลก

อย่างปลากระเบนที่ดูเข้าถึงยาก พวกเธอก็หยิบไอเดียมาใส่ให้คนรักมากขึ้น โดยฝนขอความช่วยเหลือจากสามีของเธอผู้รักการวาดการ์ตูนเป็นชีวิตจิตใจ ให้สร้างคาแรกเตอร์ปลากระเบนที่เป็นเด็กพูดน้อยน่าเอ็นดู และอยู่ในทุกๆ เลย์เอาต์ของคอนเทนต์การ์ตูน 3 ช่องบนเพจเฟซบุ๊ก (ลองแอบเข้าไปดูในเพจก็ไม่เสียหาย) เพื่อให้คนได้เห็นปลากระเบนบ่อยๆ จนเป็นปลาที่เข้าไปอยู่ในใจทุกคน ไม่แพ้ปลาชนิดอื่น

และปิดท้ายด้วยพระเอกของพวกเธอ ‘ปลาทู’ ปลาท้องถิ่นตัวเล็กๆ หน้าตาธรรมดา แต่ข้างในเต็มเปี่ยมไปด้วยความพิเศษ ที่ช่วยสร้างรายได้มหาศาลให้กับอาชีพค้าขาย จนกลายเป็นของขึ้นชื่อที่ทั่วโลกรู้จัก จึงเป็นเหตุผลที่พวกเธอเปรียบปลาทูเป็นตัวแทนของคนตัวเล็กๆ ที่สามารถลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงโลก เหมือนกับสิ่งที่พวกเธอทำตอนนี้ นอกจากตอบโจทย์การได้ผ้าที่สะอาดไว้ใช้แล้ว ความตั้งใจแรกที่อยากช่วยเหลือคลองแสนเศร้าให้กลับมาสดใสอีกครั้ง ก็เป็นไปได้จริง

สร้าง (เพื่อน) บ้าน

“คลองใกล้บ้านคือคลองอะไร” 

ฝน อ้อม และอาย หันมาถามผู้เขียนพร้อมกันโดยไม่ได้นัดหมาย 

ฉันคิดอยู่นาน จะว่าไปแม้จำได้ลางๆ ว่าเคยเดินผ่านคลองแถวบ้านอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เคยอยากใส่ใจหรือทำความรู้จักมันเลยสักครั้ง (โถ เจ้าคลอง พี่ขอโทษ)

ไม่ใช่ฉันคนเดียวหรอกนะที่โดนถาม เพราะลูกค้าทุกคนที่ซื้อ magFish ก็โดนถามเช่นกัน

นั่นเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมปลาทุกตัวจึงมีเลขประจำตัวติดไว้คล้ายกับรหัสนักเรียน เพราะ 3 สาวอยากให้ลูกค้าส่งไอดีนี้กลับมาพร้อมกับพิกัดที่อยู่ลงในเพจเฟซบุ๊ก เพื่อเก็บข้อมูลว่าบ้านใครอยู่ใกล้คลองอะไร คลองไหนมีปลาแมกนีเซียมบ้าง โดยทุกๆ คนสามารถเช็กได้ตลอดว่าใกล้บ้านเรามีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นเท่าไหร่แล้ว 

แน่นอนว่าภารกิจรักษาคลองไม่ใช่เรื่องของใครคนหนึ่ง แต่ถ้ามันเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ไม่ทำให้ลำบาก ลองทำดูก็สนุกดีนะ

magFishปลารักษ์น้ำ

Facebook : magFishปลารักษ์น้ำ

โทร : 089 036 6886

อีเมล : [email protected]

ขอบคุณสถานที่

ร้าน Cupful

238/1 ซอย พหลโยธิน แขวง เสนานิคม เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร 10900

โทร : 082 089 3333

Facebook : Cupful

Writer

Avatar

พัชญ์สิตา ไพบูลย์ศิริ

นัก (ชอบ) เขียนบ้ากล้องที่ชอบถ่ายรูปตัวเองเป็นพิเศษ เสพติดเสียงธรรมชาติ กลิ่นฝน และสีเลือดฝาดบนใบหน้า ที่ใช้เวลาเขียนงานไปพร้อมๆ กับติ่งอปป้าอย่างใจเย็น

Photographers

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan

Avatar

กรริน วิจิตรประไพ

อดีตนักเรียนออกแบบที่สนใจการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ ศึกษาปริญญาโทด้านการถ่ายภาพที่มิลาน