ทุกวันนี้คุณยังใช้ผ้ากันเปื้อนอยู่รึเปล่า

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่วัฒนธรรมการใช้ผ้ากันเปื้อนยังแข็งแรงมาก เวลาเราไปเดินช้อปสินค้าหมวดนี้ จะได้พบกับสินค้าหลากสไตล์หลายเนื้อผ้าและราคา มีกิมมิกสารพัดที่จะพลิกแพลงเพื่อเสริมความเก๋และเพิ่มความสะดวกในการใช้งาน

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัวสไตล์ดั้งเดิมอย่าง Maekake ก็ยังอยู่รอด และได้รับความนิยมขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งในและนอกประเทศ

หากนึกภาพไม่ออก ขอให้ลองกลับไปดูฉาก Q ทำอาหารในภาพยนตร์ James Bond ภาค No Time to Die

ถ้าผ้ากันเปื้อนสีน้ำเงินเข้มพร้อมลายภูเขาไฟฟูจิและสายเชือกถักสีส้มทำให้คุณรู้สึกสนใจขึ้นมานิดหน่อย เราอยากชวนไปทำความรู้จักกับ ‘Anything’ แบรนด์ผ้ากันเปื้อนที่พางานฝีมือโบราณในท้องถิ่นของเมืองโทโยฮาชิ (Toyohashi) จังหวัดชิซูโอกะ (Shizuoka) กลับมาป๊อปในยุคปัจจุบันอีกครั้ง ถึงขนาด The British Museum และ Museum of Modern Art New York ยังรับไปวางขายในช็อป!

Maekake คืองานคราฟต์ผ้าทอแห่งเมืองโทโยฮาชิ

Mae แปลว่าข้างหน้า Kake แปลว่าผูก ผูกไว้ข้างหน้า เท่ากับ ผ้ากันเปื้อน

Anything โรงงานทอ Maekake ผ้ากันเปื้อนแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ยังใช้เครื่องทอผ้ายุคสงครามโลก

Maekake แบบดั้งเดิมคือผ้ากันเปื้อนแบบครึ่งตัว ว่ากันว่าต้นกำเนิดย้อนกลับไปไกลถึงสมัย Muromachi (ปี 1336 – 1573) เพราะค้นพบภาพวาดที่มีคนใส่ผ้ากันเปื้อนแบบนี้ ผ้าที่ใช้เป็นผ้าทอแบบเดียวกับที่ทำกิโมโน หน้ากว้างเท่า ๆ กัน แต่สมัยนั้นยังเป็นผ้าเรียบ ๆ พอถึงสมัย Edo (ปี 1603 – 1868) คนที่ทำงานค้าต่าง ๆ เช่น ร้านอิซากะยะ ร้านขายข้าว เริ่มนำมาใส่เวลาทำงานมากขึ้น เพราะผ้าฝ้ายหนา ทนทาน และซัพพอร์ตสะโพกเวลายกของหนัก ส่วนการพิมพ์ชื่อและโลโก้แบบที่เราคุ้นตาในปัจจุบันเพิ่งเป็นที่นิยมในสมัย Meiji (ปี 1868 – 1912) ที่มะเอะคะเคะรับบทเป็นยูนิฟอร์มและพีอาร์โฆษณาร้านไปในตัว 

แหล่งทอผ้าแบบนี้ที่ใหญ่สุดในญี่ปุ่นคือเมืองโทโยฮาชิ จะบอกว่าเป็นที่เดียวที่ยังทอผ้าแบบนี้เป็นล่ำเป็นสันก็ว่าได้ เครื่องจักรที่ใช้คือเครื่องทอผ้าแบบโบราณของแบรนด์ดังอย่างโตโยต้าและซูซูกิ ซึ่งสมัยก่อนยังทำธุรกิจเครื่องจักรทอผ้าและตั้งอยู่ในจังหวัดเดียวกันเป็นชุมชนชาวทอ ในช่วงปี 1950 – 1970 ยุครุ่งเรืองของมะเอะคะเคะ ขายดิบขายดี ร้านค้าและบริษัทต่างอยากได้ผ้ากันเปื้อนชื่อตัวเองกันทั้งนั้น เหล่าช่างต้องเร่งทอและทำส่งสินค้าวันละ 10,000 ผืนก็ทำมาแล้ว

น่าเสียดายที่กระแสเงียบไปในช่วงปลายของยุค Showa จนเหลือช่างและเครื่องจักรแบบนั้นน้อยลงทุกที จนกระทั่ง Kazuhiro Nishimura อดีตเซลส์จากบริษัทขนมญี่ปุ่นชื่อดังตัดสินใจลาออกมาก่อตั้ง Anything ในปี 2005 และเปิดทางเดินเส้นใหม่ให้ผ้าทอโบราณประเภทนี้

Anything โรงงานทอ Maekake ผ้ากันเปื้อนแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ยังใช้เครื่องทอผ้ายุคสงครามโลก

ทอ

“จริง ๆ แล้วผมไม่ได้สนใจมะเอะคะเคะสักเท่าไหร่นะครับ แต่สนใจเรื่องการเผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นไปต่างประเทศ” คะซึฮิโระเริ่มเล่าด้วยรอยยิ้ม

เขาเคยไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาตอนเรียนมหาวิทยาลัย หลังจากนั้นก็คิดมาตลอดว่าอยากทำงานที่เกี่ยวข้องกับการนำวัฒนธรรมญี่ปุ่นมาเผยแพร่ในต่างประเทศ พอลาออกจากบริษัทผลิตขนมก็เริ่มทำเสื้อยืดขายก่อน จนกระทั่งมาเจอกับมะเอะคะเคะ ถึงรู้สึกว่าใช่เลย! แต่ในบรรดางานคราฟต์ญี่ปุ่นตั้งมากมายที่น่าจะขายง่ายกว่านี้ ทำไมเขากลับเลือกงานคราฟต์ที่แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็ความนิยมตกลงเรื่อย ๆ กันนะ

“มีเหตุผลอยู่ครับ ตอนผมทำเสื้อยืด เคยเช็กว่าเสื้อยืดแพร่หลายไปทั่วได้อย่างไร เสื้อยืดพิมพ์ลายแบบที่เราใส่กันอยู่นั้นเกิดขึ้นครั้งแรกที่สหรัฐฯ ตอนแรกใช้ใส่ข้างในเสื้อเชิ้ตอีกที ไม่ได้ใส่แบบทุกวันนี้ เสื้อยืดมาแพร่หลายเพราะว่าคนพิมพ์ข้อความบนเสื้อยืดเพื่อใช้หาเสียงเลือกตั้ง จากนั้นเสื้อยืดพิมพ์ลายเลยเป็นที่นิยมและนำไปใช้กันหลายแบบ สรุปคือเสื้อยืดในตอนนั้นถูกใช้เพื่อโปรโมต พอผมเจอมะเอะคะเคะก็รู้สึกว่าสตอรี่เหมือนกันเลย เพราะคนพิมพ์โลโก้ ชื่อบริษัท และข้อความต่าง ๆ ลงบนมะเอะคะเคะ ผมเลยคิดว่าสิ่งนี้ก็คือ ‘สื่อ’ ของญี่ปุ่นอย่างหนึ่ง ซึ่งน่าสนใจมาก ๆ”

คะซึฮิโระเลยมุ่งปั้นมะเอะคะเคะอย่างจริงจัง นำงานคราฟต์ 3 จังหวัดมารวมกัน ผ้าทอของชิซูโอกะ เชือกทอจากฮิโระชิมะ ซึ่งเป็นแหล่งทอผ้าที่ถนัดทอผ้าหน้าแคบ และสุดท้ายคืองานย้อมผ้าของโตเกียวซึ่งดังเรื่องการย้อมเช่นกัน เพราะเขาเชื่อว่าผ้ากันเปื้อนนี้ไม่ใช่สินค้า แต่เป็นวัฒนธรรมและเครื่องมือสื่อสารชั้นดีที่มีเสน่ห์ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสนทนาที่น่าสนุก

Anything โรงงานทอ Maekake ผ้ากันเปื้อนแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ยังใช้เครื่องทอผ้ายุคสงครามโลก
Anything โรงงานทอ Maekake ผ้ากันเปื้อนแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่นที่ยังใช้เครื่องทอผ้ายุคสงครามโลก

สู้

ตอนแรก Anything ยังไม่สร้างโรงงานของตัวเอง แต่จ้างช่างในท้องถิ่นทำให้

ช่วงแรก ๆ ขายได้เดือนละ 10 ผืนเท่านั้น

พวกคุณลุงช่างเจ้าของเครื่องเองก็แย่ จากที่เคยมีลูกค้าเป็นร้อยบริษัทเหลือเพียง 3 แห่ง คะซึฮิโระรู้ทันทีว่าเขาต้องสู้ให้มากขึ้น เขาเริ่มไปทำการตลาดที่นิวยอร์ก รวมไปถึงจัดนิทรรศการมะเอะคะเคะต่าง ๆ จนเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในต่างประเทศ ส่วนในญี่ปุ่นเอง เขาใช้ทักษะเซลส์และมาร์เก็ตติ้งที่มีลุยเต็มที่

เริ่มจากสร้างทาร์เก็ตใหม่ ปรับภาพจำจากผู้ใช้ คือ ‘พนักงานร้านค้า’ มาสู่ ‘คนทั่วไป’ ใช้งานในบ้าน

“เมื่อประมาณ 15 – 20 ปีที่แล้ว พวกเราเป็นคนเริ่มพูดเองว่ามันใส่ทำงานบ้าน ทำอาหารก็ได้นะ ก่อนหน้านั้นไม่มีใครคิดว่าจะเอามะเอะคะเคะไปใช้ที่บ้านเท่าไหร่ แต่พวกเราเริ่มเน้นว่าผ้านี้เท่นะ เป็นของใช้ในครัวได้ ยิ่งตอนนี้ญี่ปุ่นฮิตแคมปิ้ง คนเลยเอาไปใช้กันเยอะขึ้นอีก เช่น ตอนทำบาร์บีคิว เพราะผ้าที่ใช้เป็นคอตตอนหนาและทนไฟ คนเลยเริ่มใช้เยอะขึ้น แคมปิ้งฮิตช่วงโควิดยิ่งขายดีขึ้นไปอีก”

Anything แบรนด์ที่อนุรักษ์ผ้ากันเปื้อนแบบเอโดะ และผลิตด้วยเครื่องทอของโตโยต้าและซูซูกิสมัยยังไม่เริ่มธุรกิจรถยนต์

นอกจากนี้เขายังตั้งราคาแบบวัดดวง สมัยก่อนในโตเกียวมีมะเอะคะเคะขายอยู่ไม่กี่ที่ เช่น ร้านขายของฝากในซึกิจิกับอาซากุสะ เพราะคนญี่ปุ่นไม่สนใจซื้อ ตอนนั้นถูกมาก ราคาประมาณ 1,500 เยน ร้านที่แพงหน่อยเต็มที่ก็ 2,000 เยน ซึ่งผู้บริหารหนุ่มไม่ขาย เขาตั้งราคาที่ 5,900 เยน!

“พวกเราตั้งราคา 5,900 เยนตอนประมาณปี 2005 ตอนนั้นช่างของโทโยฮาชิเตือนใหญ่เลยว่า ขายไม่ได้หรอก เปลี่ยนดีกว่า แต่โลกเปลี่ยนไป คนเห็นคุณค่างานคราฟต์ กลายเป็นว่าตอนนี้บอกว่าราคา 5,900 เยนถูกจัง ยุคสมัยเปลี่ยนไปแล้วครับ คนญี่ปุ่นหันมาใช้มะเอะคะเคะในบ้านมากยิ่งขึ้น ก็ต้องขอบคุณความเปลี่ยนแปลงนี้ที่ทำให้ธุรกิจของเราเดินหน้ามาได้

“ผมเคยไปเชียงใหม่ตอนหนุ่ม ๆ เจองานย้อมครามแบบดั้งเดิมของไทย ตอนนี้ยังใช้ได้อยู่เลย ราคา 1,500 บาทสำหรับเชียงใหม่เมื่อ 20 ปีที่แล้วถือว่าราคาสูงอยู่นะ แต่ของคุณภาพดีมาก แถมเป็นงานย้อมคราม สวยด้วย ทนทานด้วย ถ้าเราทำของดี คนก็อยากซื้อนะครับ”

Anything แบรนด์ที่อนุรักษ์ผ้ากันเปื้อนแบบเอโดะ และผลิตด้วยเครื่องทอของโตโยต้าและซูซูกิสมัยยังไม่เริ่มธุรกิจรถยนต์

สร้าง

แผนของคะซึฮิโระได้ผล ยอดขายมะเอะคะเคะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากที่ลุงช่างที่มีเครื่องจักร 20 เครื่องแต่ได้ใช้แค่ 3 เครื่องเพราะออร์เดอร์น้อย กลายเป็นต้องใช้ 8 เครื่องเพื่อทอผ้าให้เขา พอได้เจอคนหนุ่มที่พึ่งพาได้ ในที่สุดลุงช่างท่านนั้นก็เอ่ยปากคุยเรื่องแผนเกษียณ

“ในปี 2013 เขาบอกผมว่าลุงอยากเกษียณตอนอายุ 70 ซึ่งตอนนั้นลุงอายุ 65 แล้ว ถึงตอนนั้นจะคิดว่าเพิ่งเริ่มทำธุรกิจนี้ไม่นาน แต่ขายดีขึ้นเรื่อย ๆ ผมเลยคิดว่าน่าจะไปได้ จากนั้นก็เริ่มเตรียมเรื่องการสร้างโรงงานครับ 5 ปีถัดมาผมก็ขอซื้อเครื่องต่อจากลุงครับ”

มีเครื่องอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีช่างด้วย ซึ่งช่างส่วนมากก็อายุมากแล้ว ถ้าคิดจะทำธุรกิจนี้ไปนาน ๆ เขาต้องสร้างช่างไปพร้อม ๆ กับโรงงาน

“ก่อนลุงจะเลิกทำงาน ผมจ้างคนหนุ่มสาว 4 คนให้ไปเรียนวิธีทำจากลุง ช่างที่ทำในโรงงานผมตอนนี้เลยอายุไม่เยอะมากครับ นอกจากนี้ก็จ้างช่างรุ่นเก๋าอีกคนมาสอนทุกเดือน เดือนละ 2 ครั้ง ก่อนหน้านี้เพิ่งรับพนักงานใหม่มา อายุ 25 – 26 เองครับ”

Anything แบรนด์ที่อนุรักษ์ผ้ากันเปื้อนแบบเอโดะ และผลิตด้วยเครื่องทอของโตโยต้าและซูซูกิสมัยยังไม่เริ่มธุรกิจรถยนต์

คนหนุ่มสาวที่มาทำงานที่นี่น่าสนใจมาก มีคนมาสมัครทำงานจากทั่วประเทศเพราะอยากทำงานคราฟต์ของญี่ปุ่น ซึ่งการที่คนอายุน้อยย้ายบ้านไปอยู่เมืองเงียบ ๆ แทนที่จะเป็นเมืองใหญ่อย่างโตเกียวหรือโอซาก้าถือเป็นเรื่องน่าประหลาดใจ คนในท้องถิ่นก็มาสมัครด้วยหลายเหตุผล เช่น ผู้หญิงอาจจะสนใจงานอนุรักษ์งานคราฟต์ ส่วนผู้ชายชอบงานซ่อมบำรุงรักษาเครื่องเลยมาทำ

“จริง ๆ คนรุ่นใหม่ญี่ปุ่นก็เหมือนที่ประเทศอื่นนะครับ ไม่ค่อยมีใครอยากย้ายไปอยู่ชนบท แต่เหตุผลที่ทำให้คนอยากทำที่นี่อาจเป็นเพราะโรงงานใหม่ ดูดี สภาพแวดล้อมดี มีลูกค้าต่างชาติแวะมาเรื่อย ๆ ภาพลักษณ์ดี บรรยากาศทำงานดีของเราก็ขายแพง (หัวเราะ)”

นอกจากพาวัฒนธรรมญี่ปุ่นไปต่างประเทศ Anything ยังนำความเท่กระจายสู่ชุมชน พาหนุ่มสาวไปสร้างความคึกคักในท้องถิ่นด้วย ถึงเจ้าตัวจะไม่ได้หวังผลเรื่องนี้แต่แรก แต่นี่อาจเป็นการสื่อสารอีกแบบที่ช่วยแก้ปัญหาเมืองเหงาขาดคนหนุ่มสาวก็ได้นะ

Anything แบรนด์ที่อนุรักษ์ผ้ากันเปื้อนแบบเอโดะ และผลิตด้วยเครื่องทอของโตโยต้าและซูซูกิสมัยยังไม่เริ่มธุรกิจรถยนต์

ร่วมงาน

พอเครื่องติดแล้วต้องบอกว่าไปไกลมาก นอกจากมะเอะคะเคะจะมีร้าน Selected Shop นำไปขายในต่างประเทศ ยังมีร้านอาหาร บริษัทต่าง ๆ ติดต่อมาให้ผลิตสินค้าออริจินัลมากมาย เรียกว่าได้เผยแพร่วัฒนธรรมญี่ปุ่นสมความตั้งใจ ส่วนในประเทศเองก็ประสบความสำเร็จจนได้ร่วมงานกับสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงตัวการ์ตูนยอดฮิตอย่างโดราเอมอน เจ้าหนูอะตอม อุลตร้าแมน

ไม่น่าเชื่อว่าการไปปรากฏตัวในหนัง James Bond นั้นเป็นเรื่องบังเอิญ

“ตอนหนัง James Bond นี่เหมือนปาฏิหาริย์เลยครับ ทางทีมภาพยนตร์เขาไปเจอเองในร้าน Selected Shop ชื่อดังในลอนดอนที่เอางานของเราไปวางขาย ลายนั้นคือลายภูเขาไฟฟูจิ​ซึ่งทำมานานมาก เป็น 10 ปีแล้ว

“มันเหมือนเป็นหลักฐานว่าคนต่างชาติให้การยอมรับผ้ากันเปื้อนของเราทั้งที่อาจไม่ได้รู้สตอรี่ ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ผมดีใจที่สุดเลย แถมเอาไปใส่ตอนทำกับข้าวด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มมีร้านขายเครื่องครัวรับไปขายเยอะขึ้นครับ เพราะร้านแบบนั้นในยุโรปมีมากมาย ถือว่าเป็นส่วนช่วยให้แพร่หลายอย่างหนึ่งเลย”

ส่วนการร่วมงานกับบริษัทดังต่าง ๆ ตอนแรกเราคิดว่าคงเลือกตัวการ์ตูนที่ดังในต่างประเทศเพื่อส่งเสริมการขาย แต่จริง ๆ แล้วอีกฝั่งติดต่อมาเองทั้งหมด

“อันนั้นไม่ได้ชอบหรือเกลียดนะ ทำได้ เขาเป็นคนติดต่อมาว่าอยากทำ ขายดีจนรู้สึกว่าดีมั้ยเนี่ย (หัวเราะ) แต่ก็ดีนะครับ ทำให้คนที่ไม่เคยคิดจะซื้อมาก่อนหันมาสนใจ จริง ๆ แล้วอยากขายลายแบบดั้งเดิมมากกว่า แต่อันไหนก็ดีทั้งนั้น ตอนคนไทยมา ลายโดราเอมอนขายดีสุด ดีใจครับ (หัวเราะ)” คะซึฮิโระเล่าอย่างอารมณ์ดี

ถึงจะอยากขายลายแบบดั้งเดิมของญี่ปุ่น ผู้บริหารไฟแรงยังคงยืนยันว่าจะทำงานคอลแล็บต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเขามองว่าผ้ากันเปื้อนก็เหมือนเสื้อยืด แค่พิมพ์ลายลงไปก็ได้สินค้าใหม่ เป็นแพลตฟอร์มเปิดกว้างให้ร่วมงานกับใครก็ได้

ต่อยอด

มาไกลขนาดนี้แล้ว แน่นอนว่า Anything วางแผนลุยต่อยอดความเป็นไปได้ของมะเอะคะเคะและผ้าทอของเมืองโทโยฮาชิไปอีก

ตอนนี้ดูเหมือนว่าจะไปได้สวยในประเทศฝรั่งเศส ก่อนหน้านี้เขาเคยทำเป็นยูนิฟอร์มให้คาเฟ่และร้านอาหารหลายแห่งในฝรั่งเศสมาแล้ว และตอนนี้เริ่มลองร่วมงานกับศิลปินที่นั่นทำสินค้าลิมิเต็ดสำหรับฝรั่งเศสโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังเล็งลุยตลาดอินทีเรียด้วย เช่น การทอผ้าสำหรับใช้เป็นผ้าบุเก้าอี้ และเริ่มรับ R&D ผ้าออริจินัลให้ลูกค้าสำหรับใช้ทำเสื้อผ้าและอินทีเรียบ้างแล้ว

ปัญหาคือมีลูกค้า แต่ไม่มีเครื่องจักร

“ผมอยากขยายโรงงานมาก ๆ เลยครับ แต่หาเครื่องจักรยากมาก บริษัทเหล่านั้นเขาก็ไปทำธุรกิจอื่นแล้ว ตอนนี้เลยต้องหาพาร์ตเนอร์ที่มีเครื่องให้เขาช่วยผลิตด้วย แต่ก็หายากมากเช่นกัน ทางนั้นเองก็คนไม่พอ จะหาคนหนุ่มสาวมาทำงานก็ยากครับ นี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ต่อไป

จุดเด่นของมะเอะคะเคะ คือผ้าดี หนาแต่นุ่ม ถึงเปื้อนก็ซักออกง่าย ทนทานใช้ได้นาน และทนไฟกว่าใยสังเคราะห์ สุดท้ายแล้วถ้าต้องทำของไม่ดีออกมา ไม่ทำดีกว่าครับ”

สุดท้าย เราถามเจ้าของหนุ่มไฟแรงว่า หัวใจหลักในการต่อยอดผ้าทอที่นี่คืออะไร เขาตอบอย่างเรียบง่ายว่า “ขอแค่ลูกค้าชอบก็ดีใจแล้วครับ”

Website : maekake.myshopify.com

Lessons Learned

  • สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่สินค้าหรือการบริการ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่เคารพซึ่งกันและกัน
  • ถ้ามีทางสบายและทางลำบาก ให้เลือก ‘ทางลำบาก’ จะดีกว่า
  • สิ่งสำคัญไม่ใช่การแข่งขัน แต่การเป็น Only one

Writer

Avatar

ณิชมน หิรัญพฤกษ์

นักศึกษาเอกภาษาญี่ปุ่นที่คิดเลขไม่ได้ อ่านแผนที่ไม่ออก แต่รักการเดินทาง / ผู้ประสานงานใน a day และ HUMAN RIDE ฉบับญี่ปุ่น / เจ้าของคอลัมน์ made in japan และหนังสือ 'ซะกะ กัมบัตเตะ!' ปัจจุบันใช้เวลาว่างจากการหาร้านคาเฟ่กรุบกริบไปนั่งเรียนปริญญาโทที่โตเกียว และโดนยัดเยียดความเป็นไกด์เถื่อนให้อยู่เป็นระยะ

Photographer

Avatar

จิรณรงค์ วงษ์สุนทร

Art Director และนักวาดภาพประกอบ สนใจเรียนรู้เรื่องราวเบื้องหน้าเบื้องหลังของอาหารกับกาแฟ รวบรวมทั้งร้านที่คิดว่าอร่อย และความรู้เรื่องอาหารไว้ที่เพจถนัดหมี และรวมร้านกาแฟที่ชอบไปไว้ใน IG : jiranarong2