ก่อนจะพูดถึง Mackcha เจ้าของปราสาทที่เราจะพาคุณไปเยือน ขอย้อนกลับไปพูดถึง แม็กกี้ เด็กสาวผู้เป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทั้งหมดสักหน่อย

แม็กกี้-ชรารัตติ์ สาระอาภรณ์ เป็นอดีตเด็กเรียนเก่งจากจังหวัดนครสวรรค์ พอผู้ใหญ่รู้ว่าแม็กกี้ชอบวาดรูป ก็แนะนำให้เรียนสถาปัตยกรรมศาสตร์ไปตามที่ควรจะเป็น

ด้วยความสามารถและคุณสมบัติของแม็กกี้ ในที่สุดเธอก็บากบั่นจนเข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้สำเร็จ แต่ถามว่าเธอรู้จริง ๆ ไหมว่าคณะนี้เรียนอะไรกัน เธอไม่แน่ใจ เมื่อเรียนไปได้ 2 ปีจึงตกตะกอนว่า นี่ไม่ใช่วิชาที่เธออยากรู้เลย

แม็กกี้ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยด้วยความกล้าหาญ

ในขณะที่เพื่อน ๆ เลื่อนชั้นไปเรียนปี 3 – 4 เธอใช้ชีวิตนอกสถาบันการศึกษาเพื่อลองทำทุกอย่างที่อยากทำ ตั้งแต่ลองทำยูทูบ ลองเป็นผู้ช่วยช่างตัดผม ลองเป็นพนักงานขายรองเท้า ลองไปเรียนปั้นเซรามิก โดยเป้าหมายก็คือ ค้นหาว่าตัวเองชอบทำอะไรกันแน่

เมื่อเธอค้นพบว่าตัวเองอยากเป็นศิลปิน เธอก็ทุ่มสุดตัวในการพัฒนาทักษะด้านศิลปะ และทำยูทูบเกี่ยวกับการวาดรูปไปด้วย จนสุดท้ายความพยายามทั้งหมดก็ตอบแทนเป็นรางวัลที่ 1 โครงการ White Canvas Thailand

ทุกวันนี้เธอคือ Mackcha ศิลปินวัย 25 ปี ผู้มากับคาแรกเตอร์ครองใจคนอย่าง ‘Chalotte’

นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกในวัยต้น 20 ก็ได้เสียงตอบรับจากนักเสพงานศิลปะอย่างล้นหลาม และมีผู้คนมาประมูลผลงานไปรวมแล้วราวหลักล้านบาท ส่วนตอนนี้เธอกำลังจัดนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ในธีม ‘CHALOTTE’S CASTLE’ ที่ River City Bangkok เล่าเรื่องราวความทรงจำและความสัมพันธ์ในชีวิต

จากที่ดูเหมือนไปได้ช้ากว่าเพื่อนวัยเดียวกัน ตอนนี้ Mackcha กลายเป็นศิลปินอายุน้อยที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จในระดับนี้แล้ว

มาเถิด เข้าไปเยี่ยมชมความงามของปราสาทแห่งความทรงจำ แล้วคุณจะหลงรัก Mackcha และ Chalotte ไม่ต่างจากเรา

‘ลาออก’

แม็กกี้ว่าแพสชันคืออะไร คนเราควรหาแพสชันให้เจอจริงไหม – ในห้องโถงหลักของปราสาท เราเปิดบทสนทนากับแม็กกี้ ศิลปินที่เรามองว่าเป็นนักหาแพสชันตัวยง

“แม็กว่าเราไม่ต้องหาแพสชันเลย” เธอตอบ ผิดจากสิ่งที่คาดไปโข

“สำหรับแม็ก แพสชันคือแรงในการทำอะไรสักอย่าง เราอยากกินข้าวมันไก่ เราก็มีแพสชันกับข้าวมันไก่ เราอยากนอน เราก็มีแพสชันกับการนอนแล้ว มันคือความรู้สึกในใจที่เกิดขึ้นกับอะไรก็ได้”

“ถ้าจะเปรียบเทียบกับตอนที่อยากเข้าสถาปัตย์ ตอนนั้นแม็กก็มีแพสชันที่จะเข้าให้ได้ตามคำแนะนำของผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แม็กไม่มีความรู้เกี่ยวกับสถาปัตย์เลย ต้องเรียนวิชาอะไร สถาปนิกที่ชอบเป็นใคร สถาปัตยกรรมที่ชอบก็ไม่มี พอเข้าไปเห็นเพื่อนที่เขาอินมาก ๆ พักกลางวันเข้าห้องสมุดไปยืมหนังสือ ก็งงว่าทำได้ไง เราไม่มีความรู้สึกสนใจแบบนั้นเลย เลยออกมา

“อะไรแบบนี้น่าจะเป็นการหมดแพสชันนะคะ” ถ้าแพสชันของเธอเท่ากับการอยากทำอะไรสักอย่าง หมดแพสชันก็เท่ากับเธอไม่อยากทำอีกต่อไปแล้ว

ความพิเศษในบุคลิกของเธอคือการที่เธอยิ้มเบา ๆ ตลอดเวลา แต่ก็มั่นคงในความคิดจนคู่สนทนารู้สึกได้

สำหรับเราที่เรียนคณะเดียวกัน เรารู้ว่ามีใครหลายคนที่มีความรู้สึกทำนองนี้ เราเองก็เช่นกัน หากไม่ใช่ทุกคนที่คิดจนตกตะกอนและตัดสินใจทำอะไรบางอย่างแบบแม็ก คนคนนั้นต้องทำงานกับตัวเองเยอะและกล้าหาญเป็นอย่างมาก

แม็กกี้ไม่เพียงต้องแบกความกดดันในตัวเองไว้บนบ่า แต่เธอต้องแบกความคาดหวังของคนในครอบครัวไว้ด้วย เธอบอกว่า ณ ขณะนั้น ในครอบครัวที่นครสวรรค์ยังไม่มีใครเคยเรียนจบปริญญาตรี ยิ่งลูกสาวอย่างแม็กกี้เข้าไปเรียนจุฬาฯ ได้ ยิ่งภูมิใจและคาดหวังหนักไปพร้อมกัน

“เรากลัวว่าจะทำให้คนจำนวนมากผิดหวัง กลัวว่าเขาจะไปตอบคำถามคนอื่นยังไง ลูกเรียนไม่จบเหรอ”

แต่ตอนนั้นแม็กกี้อยู่ตัวคนเดียวในกรุงเทพฯ มวลความรู้สึกที่เกิดขึ้นจึงรวมตัวกันเป็นก้อนใหญ่มากสำหรับเธอ

“ไม่เรียนได้มั้ย” แม็กกี้ถามแม่ หลังจากเกิดเหตุการณ์ร้องไห้หนักขณะเขียนแบบ

“คนที่ทุกข์กับสิ่งนี้มีแค่แม็กคนเดียว เพราะฉะนั้นก็ให้แม็กตัดสินใจว่าจะเลือกทางไหน”

นั่นคือสิ่งที่แม่ผู้เป็นเหมือนเพื่อนของลูกตอบกลับมา และเป็นสิ่งที่ทำให้แม็กกี้หลุดจากพันธนาการทั้งปวงที่ผูกรัดเธอไว้

แม้แม็กกี้จะคิดว่าจริง ๆ แล้วแม่ไม่ได้อยากให้ลาออก แต่ด้วยความรักลูกสาว แม่ก็ไม่ได้นำความกังวลนั้นมาทุ่มใส่เธอ แม่รู้ว่าลำพังแค่ตัวเธอก็กังวลกับอนาคตอยู่ไม่น้อย

ฉันเป็นใครในโลกใบนี้

หลังจากลาออก แม็กกี้ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ แต่พยายามลิสต์ออกมาให้เห็นชัด ๆ ว่าเธอสนใจอะไรบ้าง ชอบดูการ์ตูน ชอบทำผม ชอบวาดรูป ชอบทำนั่นทำนี่ เธอเขียนออกมาทุกอย่าง แล้วดูว่ามีส่วนไหนที่พอจะเข้าไปทำได้บ้าง 

จนเมื่อเธอได้ดูซีรีส์เกาหลีเรื่อง Her Private Life ที่พระเอกเป็นศิลปินระดับโลก เธอก็ได้รู้ว่า “มีชีวิตแบบนี้ด้วย” มันมีนะ ชีวิตที่ได้ทำงานศิลปะเป็นอาชีพจริง ๆ

ตั้งแต่นั้นมาเธอก็กลับมาสนใจวาดรูปอย่างจริงจังจนหาแนวทางของตัวเองเจอ และระหว่างนั้นก็ปั้นช่องยูทูบที่มีคลิปแรกคือคลิปสอนม้วนผม ให้ทำคอนเทนต์พัฒนาการการวาดรูปไปด้วย จนเริ่มมีผู้ติดตามมากมาย

จริง ๆ แล้วหลังจากที่ลาออก แม็กกี้ที่ฝึกวิชาจนแน่นก็ได้สอบติดคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาฯ จนเกือบจะเข้าไปเรียนแล้ว แต่เมื่อมีเพื่อน ๆ พี่ ๆ ศิลปินให้คำแนะนำว่าศึกษาหลักสูตรให้ดีว่าเรียนอะไร เรียนกับใคร อาจารย์ชอบงานสไตล์เดียวกับเราไหม สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจไม่เข้าเรียน 

แม็กกี้รู้แล้วว่าตัวเองเป็นใคร ต้องการเรียนรู้อะไร และอยากไปทางไหนกันแน่

จากที่แอบคิดว่าอาจได้เข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยอีกครั้ง เธอก็ตัดสินใจออกมาสู่โลกภายนอกจริง ๆ จนได้ คราวนี้ นอกจากความกล้าหาญและการรู้จักตัวเองแล้ว สิ่งสำคัญที่พาเธอมาถึงจุดนี้คือการหาข้อมูลให้มากพอ

“ตอนนั้นแม็กอยากเข้าไปเรียนสินกำเพราะอยากรู้เรื่อง Screen Print แต่พอเพื่อนบอกว่ากว่าจะได้เรียนก็ปี 3 เลยนะ เราคิดได้ว่าจะเสียเวลาไป 3 ปี เพื่อรอเรียนเลยเหรอ” แม็กกี้เล่า “สุดท้ายก็เลือกไปเรียนคอร์สสั้น ๆ กับอาจารย์หรือคนที่เราอยากเรียนด้วยจริง ๆ”

เมื่อฐานมั่นคง ความสำเร็จก็ตบเท้าตามกันมา ทั้งได้รางวัลการันตีฝีมือ รายได้จาก NFT และการได้จัดนิทรรศการเดี่ยวในอายุที่ถือว่าน้อยมาก

ภูมิใจกับความสำเร็จไหนที่สุดในชีวิต ใช่การได้รางวัลที่ 1 จากการประกวดวาดภาพไหม – เราถาม

“ความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดดันไม่เกี่ยวกับศิลปะเลยค่ะ” เป็นอีกครั้งที่คำตอบของแม็กกี้ทำให้เราแปลกใจ 

“ตอนลาออก แม็กกลับไปอยู่บ้านกับคุณแม่ที่นครสวรรค์ ตอนนั้นเราไม่ได้เรียน หาเงินเลี้ยงตัวเองก็ไม่ได้ เราก็เลยขอค่าขนมเขาค่ะ” 

เธอรู้สึกผิด เหมือนว่าตัวเองกำลังเกาะแม่ ที่ผ่านมาก็ขอเงินไปเรียนมาตั้ง 2 ปี แต่ไม่ได้ออกผลอะไรให้แม่เห็นเลยแม้แต่นิด ราวกับว่าแม่หวังอะไรจากเธอไม่ได้เลย

“แม็กก็เลยพยายามหาเงินเลี้ยงตัวเองให้ได้จากสปอนเซอร์คลิปยูทูบ” แม็กกี้เล่ายิ้ม ๆ

“จนจุดหนึ่งตอนวันเกิดอายุ 22 ปี แม็กไปบอกแม่ว่าไม่ต้องให้เงินแม็กแล้วนะ ตอนนี้แม็กหาเงินเลี้ยงตัวเองได้แล้ว จากนั้นก็พัฒนามาเรื่อย ๆ สุดท้ายก็ให้แม่หยุดขายของ แล้วเลี้ยงแม่แทน”

ด้วยความตื้นตันหรืออะไรก็แล้วแต่ ชั่วขณะนั้น ทุกคนในห้องโถงพร้อมใจกันเงียบ

ในประเทศไทยที่กดดันให้เด็กทุกคนต้องเรียนให้จบภายในเวลาที่วางไว้ ไม่ว่าวิชาที่เรียนจะ ‘ใช่’ หรือ ‘ไม่ใช่’ ก็ตาม เธอใช้ชีวิตเหนือค่านิยมนั้น ทั้งยังพิสูจน์ให้เห็นว่าเธอไปได้ดีในเส้นทางที่วาดเอง และดูแลคนที่เธอรักได้ด้วย

นี่คือความสำเร็จที่ภูมิใจที่สุดสำหรับ Mackcha

แด่เรื่องราวในปราสาทแห่งความทรงจำ

คาแรกเตอร์ Chalotte เกิดขึ้นมาด้วยความบังเอิญ

แม็กกี้ชอบวาดผู้หญิงอยู่แล้ว แต่มีอยู่วันหนึ่งที่เริ่มอยากตั้งโปรไฟล์เป็นภาพวาดเหมือนศิลปินคนอื่น ๆ ในทวิตเตอร์เธอจึงวาดภาพแทนตัวเองขึ้นมา 

ไม่ใช่ภาพเหมือน แต่เป็นตัวเองในอุดมคติที่อยากเป็น ผมสีขาว ตาสีฟ้า ซึ่ง ‘Chalotte’ ก็เป็นชื่อที่อาจารย์ที่คณะตั้งให้จากชื่อ ‘ชรารัตติ์’ ของเธอเอง

เดิมที Chalotte ดูโตเป็นสาวกว่านี้ เพราะเธอวาดจากตัวเอง แต่ก็ค่อย ๆ พัฒนาให้เด็กลง จนเป็นอย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน ซึ่งเหตุผลที่เธอยังคงวาดคาแรกเตอร์นี้ต่อไปเรื่อย ๆ เพราะเธอว่า Chalotte ถ่ายทอดชีวิตเธอได้ดี 

“มันก้ำกึ่งมากค่ะว่า Chalotte เขาเป็นแม็กไหม บางทีเราก็รู้สึกว่าเขาไม่ใช่เราขนาดนั้น แต่บางทีก็รู้สึกว่าเขาไม่ใช่คนอื่น เหมือนว่าเป็นเราในอีกมิติหนึ่ง”

แม้ว่า Chalotte จะไม่ยิ้มเลยก็ตาม

เพราะแม็กกี้ชอบทะเล เธอคิดว่าทะเลปลอบประโลมได้ทุกความรู้สึกและเป็นสถานที่ที่สำรวจได้ไม่รู้จบ สาวน้อย Chalotte จึงอาศัยในโลกใต้ทะเล ซึ่งนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกก็ใช้ชื่อว่า ‘DEEP IN MIND SEA’ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตัวเธอและ Chalotte

ส่วนนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 นี้ใช้ชื่อว่า ‘CHALOTTE’S CASTLE’ จากคราวที่แล้วที่เล่าเรื่องส่วนตัว คราวนี้ขยายไปสู่คนรอบข้าง โดยที่เป็นปราสาทก็เพราะความชอบในการ์ตูนดิสนีย์ แม็กกี้มีฉากปราสาทในภาพฝันมาตั้งแต่เด็ก

“สำหรับแม็ก บ้านเป็นสถานที่ที่เก็บความทรงจำเอาไว้ เราอยากเล่ามันผ่านภาพของเรา ไม่ได้เลือกเลยค่ะว่าจะวาดอะไร เราวาดทุกอย่างที่นึกได้ ถ้านึกได้ก็แสดงว่ามันชัดมาก”

ศิลปินพูดถึงหนังเกี่ยวกับอัลไซเมอร์เรื่องหนึ่งที่เคยดู แล้วทำให้เธอคิดขึ้นได้ว่า การที่เราเป็นใครสักคนหนึ่งได้ในทุกวันนี้ ประกอบไปด้วยความทรงจำและความสัมพันธ์กับคนรอบตัว หากปราศจากสิ่งเหล่านั้นที่สะสมมาตลอด เธอไม่แน่ใจว่าเรายังจะเป็นเราอยู่รึเปล่า

ความทรงจำไหนที่ส่งผลกับความเป็นแม็กกี้ในทุกวันนี้มากที่สุด

“อย่างแรกน่าจะเป็นความทรงจำกับครอบครัวค่ะ ครอบครัวแม็กไม่ได้สมบูรณ์แบบ ทุกคนแยกกันอยู่หมดเลย ไม่มีความเป็นกลุ่มก้อน แต่การเป็นแบบนี้ทำให้แม็กกล้าตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตัวเองอยากทำ อาจจะดูเป็นเรื่องเศร้านะคะที่แม็กอยู่คนเดียว แต่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้แม็กเป็นคนกล้าฟังเสียงตัวเองแบบนี้”

4 ภาพสีน้ำมันในห้องโถงหลัก

01 Friendmily (2024)

‘Friendmily’ มาจาก Friend กับ Family รูปนี้เป็นรูปที่ใหญ่ที่สุดในห้องโถงหลัก ติดอยู่ตรงกลางห้องพอดิบพอดี

อย่างที่แม็กกี้เล่าว่าครอบครัวของเธอไม่ได้อยู่ด้วยกัน จะรวมตัวกันแต่ละทีก็เป็นเรื่องที่พิเศษมาก ทุกวันนี้คนที่ทำให้แม็กรู้สึกถึงครอบครัวได้คือเพื่อนที่เจอกันบ่อย ๆ ซึ่งทีมงานทั้งหมดของ Mackcha ล้วนแล้วแต่เป็น Friendmily ของเธอทั้งนั้น

“เพื่อนเป็นครอบครัวที่เราเลือกเอง” เธอบอกอย่างนั้น

แม้จะเหมือนอยู่คนเดียว แต่จริง ๆ แล้วศิลปินหญิงคนนี้รายล้อมไปด้วยแรงสนับสนุนจากผู้คนที่รักเธอ ทั้งครอบครัว เพื่อนฝูง รวมไปถึงแฟนที่คบกันมาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม

02 Adaptation (2024)

ภาพนี้เกิดจากการที่แม็กกี้พยายามเข้าใจทุกคน เธอคิดว่าทุกคนมีชีวิตที่แตกต่างกันออกไป มีเหตุมีผล และพยายามไม่ตัดสินการกระทำของใคร แม้ในที่สุดเธอจะเข้าใจทุกคนจริง ๆ ไม่ได้ แต่ก็ยอมรับได้ที่คนอื่นแตกต่างไปจากเธอ

อย่างที่เพื่อน ๆ ของเธอทุกคนไม่มีใครที่คิดเหมือนกัน

การสลับขา สลับหางในภาพ ก็คือการที่เธอลองเป็นคนอื่นเพื่อให้เข้าอกเข้าใจมากขึ้น

“เรามีคนรู้จักเป็นศิลปินเยอะมาก และความเป็นศิลปินมันโคตรยูนีกเลยค่ะ ไม่มีใครเหมือนกัน ไม่มียูนิฟอร์ม จุดเชื่อมโยงเดียวกันคือความเป็นตัวเอง มันเลยทำให้เราเห็นว่า อ๋อ เขาเป็นแบบไหนเขาก็สร้างงานได้นะ”

03 Rest in Paradise (2024)

ภาพนี้เล่าถึงความทรงจำที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้ ตอนที่น้าของศิลปินจากไป ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตเธอในการสูญเสียคนใกล้ชิด

เหตุการณ์นั้นทำให้เธอคิดว่าการที่คนคนหนึ่งจากไป สิ่งที่หลงเหลืออยู่คือความทรงจำดี ๆ ที่เขาทำให้คนอื่นและโลกใบนี้

เธอเองก็อยากทำอะไรให้มากที่สุดก่อนจะจากไปเช่นกัน

จากภาพ ‘น้าดาว’ ของแม็กกี้คือปลาดาว กำลังอยู่ในที่ที่เธอไม่รู้จัก แต่เธอคิดว่าจะต้องสวยงามแน่นอน

แม็กกี้คิดว่าชีวิตคืออะไร – เราถามเธอ

“ชีวิตคืออะไรเหรอคะ” เธอทวนคำถามก่อนเงียบไปพักใหญ่

“ชีวิตก็คือการมีชีวิตมั้งคะ เคยมีคนถามแม็กว่ากลัวตายรึเปล่า แม็กไม่กลัวความตาย แต่แม็กกลัวว่าเดี๋ยวเรา ‘จะตาย’ กลัวไม่ได้ใช้ชีวิตที่อยากใช้ ทำอะไรที่อยากทำ นี่อาจเป็นเหตุผลที่แม็กทำทุกอย่างที่ชอบเลยค่ะ”

04 Overshadow (2024)

ปลากระเบนเป็นตัวแทนของความสัมพันธ์ที่ไกลออกไป 

แม็กกี้พูดถึงศิลปินชาวเอเชียน-อเมริกันที่เธอชื่นชม แค่ได้ติดตาม ได้เห็นเขาพัฒนาไปในแบบของเขา เธอก็รู้สึกได้รับพลังแล้ว

“ล่าสุดเขามาจัดนิทรรศการที่จีน แล้วแม็กบังเอิญไปจีนช่วงนั้นพอดี เราช็อกมากที่เจอเขา โคตรจะพรหมลิขิต” เธอเล่าอย่างมีความสุข “มันเป็นช่วงเวลาที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ มีคนมากมายที่อยู่ตรงนั้น เราเป็นแค่หนึ่งในคนที่ยืนฟังเขาอยู่ แต่เราก็ได้รับพลังเยอะมากเลย”

จะเห็นว่าปลากระเบน (Ray) ที่อยู่ด้านบน ส่องแสง (Ray) ลงมาข้างล่าง แม้คนด้านบนจะไม่เห็นคนข้างล่าง แต่แสงก็ส่องถึง

“ถ้าเราได้เป็นปลากระเบนของใครสักคน เราคงดีใจมาก ๆ เลย เรารู้ว่าคนที่ได้รับพลังจะรู้สึกดีแค่ไหน”

อยากเป็นตัวเองอย่างนี้เรื่อยไป

หากถามว่าความฝันของ Mackcha คืออะไร เธอตอบได้ทันทีเลยว่า คือการได้เป็นตัวเอง แม้ที่ผ่านมาฝันเล็ก ๆ น้อย ๆ จะเปลี่ยนไปบ้างตามทาง แต่ทั้งหมดก็เกี่ยวข้องกับการที่เธออยากเป็นตัวเองทั้งนั้น

“นิทรรศการถัดไป ตอนนี้ยังไม่กล้ามองเลยค่ะ แม็กให้เกียรติช่วงเวลาปัจจุบัน อยากให้เป็นเรื่องของอนาคตว่าตอนนั้นเราสนใจอะไร เปลี่ยนไปยังไง เติบโตไปแค่ไหนแล้ว เราอยากทำในสิ่งที่ตอนนั้นรู้สึก”

ก่อนจากกัน เราแอบถามว่าคุณแม่ว่าคิดยังไงกับเธอในตอนนี้บ้าง แม็กกี้ก็ตอบว่าแม่ภูมิใจมาก แม้เธอจะไม่เคยเอ่ยปากถามแม่ตรง ๆ ก็ยังรู้สึกได้ แม่เองก็แบกความกังวลมาเยอะไม่ต่างจากเธอ แต่ทั้งหมดเกิดขึ้นได้คือความเชื่อใจของแม่ว่าลูกสาวจะทำสำเร็จ

“ต่อจากนี้แม็กก็อยากจะพา Chalotte สนุกไปกับชีวิตให้ได้มากที่สุดเลยค่ะ การที่เราเป็นเรา มันอาจจะส่องแสงถึงใครบางคนได้ เราอยากทำให้แสงของเรามันสว่างขึ้นเรื่อย ๆ ไปถึงคนที่มากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ได้

“แม็กจะทำทุกอย่างเพื่อสิ่งนั้น” ศิลปินเอ่ยอย่างหนักแน่น

หลังจากที่เต็มอิ่มกับบทสนทนา เราก็โบกมือลาเจ้าของปราสาทแล้วผ่านประตูออกมา ซึ่งภาพที่เราเห็นก็คือฝูงชนที่ต่อแถวยาวจนมองไม่เห็นปลายแถว กำลังรอเข้ามาเยี่ยมเยียนปราสาทแห่งความทรงจำ

ไม่แน่ Mackcha อาจเป็นกระเบนของใครสักคนในที่นี้ก็ได้

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์