สวนลุมพินีคือสวนสาธารณะแห่งแรกของประเทศไทย เป็นสวนอเนกประสงค์ ผู้คนนิยมเข้ามาทำกิจกรรมอย่างออกกำลังกาย หรือบางครั้งก็เป็นสถานที่จัดงานเฉลิมฉลอง แต่มี 1 อาคารที่หลายคนเกือบหลงลืมไปจากความทรงจำ นั่นคือ ‘ลุมพินีสถาน’

อาคารหลังนี้ตั้งตระหง่านอยู่ในสวนลุมพินี สร้างขึ้นมาเพื่อเป็นโรงลีลาศโดยเฉพาะ และถือเป็นโรงเต้นรำที่ทันสมัยที่สุดในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
ทั้ง ๆ ที่เป็นอาคารที่มีความสำคัญมากในยุคหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป สภาพสังคมเปลี่ยน ลีลาศกลายเป็นความสนใจของคนเฉพาะกลุ่มมากขึ้น มีอาคารจัดงานที่ทันสมัยและใหญ่กว่าผุดขึ้นมาหลายที่ ลุมพินีสถานก็เงียบเหงาลงและปิดไม่ให้ใช้งานในที่สุด จนสภาพทรุดโทรมลงไปตามกาลเวลา
คอลัมน์ Public Space ครั้งนี้ พา ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ หัวหน้าโครงการลุมพินีสถานฯ มาพูดคุยเรื่องราวของตัวอาคารก่อนถูกทิ้งร้างนานกว่า 10 ปี และแนวคิด Learning from The Past to Create the Future ที่ทำให้เกิดงาน ‘ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงยุค 50s – 60s’ ที่จะปลุกให้ผู้คนได้ร่วมคิดต่อยอดการใช้งานอาคารให้เหมาะสมกับปัจจุบัน ในวันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์นี้
โรงเต้นรำ
ในอดีต ลุมพินีสถานเคยเป็นโรงลีลาศกลางพระนคร แต่แปลกที่ประวัติไม่มีการบันทึกไว้แน่ชัดว่าก่อสร้างเมื่อไหร่ “ส่วนตัวผมประเมินว่าอาคารหลังนี้เริ่มสร้างประมาณ พ.ศ. 2495 แล้วเสร็จ พ.ศ. 2498” อาจารย์ชาตรีเริ่มต้นเล่าประวัติให้เราฟัง อาคารหลังนี้ปูพื้นด้วยไม้ปาร์เกต์ ซึ่งว่ากันว่าเป็นไม้ที่เหมาะกับการเต้นลีลาศมากที่สุด
ในช่วงรุ่งเรืองของอาคารหลังนี้ ที่นี่มีลีลาศทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละครั้ง เป็นการพบปะสังสรรค์ของหนุ่มสาว ในยุคนั้นลีลาศเป็นการเต้นที่นิยมมากที่สุด ซึ่งวงดนตรีที่คู่เคียงมากับลีลาศอย่าง ‘สุนทราภรณ์’ ก็แจ้งเกิดทั้งนักลีลาศและนักร้องหลายคน
“ไฮไลต์ที่สำคัญที่สุดคือเวทีกลม มันหมุนได้” อาจารย์ชาตรีนำเสนอ

สิ่งนี้สร้างเพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักดนตรี และเพื่อไม่ให้ดนตรีขาดช่วงตอนเปลี่ยนวงดนตรี เมื่อวงแรกกำลังจะเล่นจบ วงที่ 2 ก็เตรียมตัวอยู่บนเวทีอีกด้านและบรรเลงเพลงไปพร้อมกับวงแรก จากนั้นเวทีก็หมุนพาวงที่ 2 มาอยู่ด้านหน้าแทน สิ่งนี้ทำให้เสียงดนตรีไม่ขาดช่วง และนักเต้นลีลาศก็จะเต้นต่อได้โดยไม่ต้องหยุด ไม่มีประวัติแน่ชัดว่าสถาปนิกหรือวิศวกรคนไหนเป็นผู้ออกแบบเวทีกลมนี้
แล้วเวทีนี้ยังหมุนได้ไหม – เราถาม
“หมุนไม่ได้แล้ว แต่ผมเชื่อว่าถ้าบูรณะ เครื่องจักรข้างล่างนี้อาจกลับมาหมุนได้อีกครั้ง” หลังจากเล่าเรื่องเวทีจบ อาจารย์พาเราเดินลงไปที่ห้องใต้ดินที่มีเครื่องจักรอยู่ด้านล่าง เมื่อได้เห็นเครื่องจักร เรารู้สึกประหลาดใจมากว่าในสมัยนั้นทำได้ขนาดนี้ ถือว่าทันสมัยจริงอย่างที่อาจารย์เล่า

“พ.ศ. 2499 Benny Goodman ราชาเพลงสวิงเดินทางมาเล่นคอนเสิร์ตที่ประเทศไทย แต่เขาไม่ได้มาทัวร์คอนเสิร์ตเหมือน BLACKPINK สมัยนี้นะ มันมีนัยทางการเมือง”
เขาเข้ามาโดยการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น เพราะต้องการใช้ดนตรีเป็นสื่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และสื่อถึงความเป็น ‘โลกเสรี’ ด้วยดนตรีแจ๊สที่มีความลื่นไหล ไม่ต้องเล่นตามโน้ต และอิมโพรไวส์ได้ตามใจชอบ
ราวหลังทศวรรษ 2520 แม้จะยังเป็นที่เต้นลีลาศเรื่อยมา แต่ความนิยมก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง จากนั้นบริเวณชั้นลอยของลุมพินีสถานก็ถูกเปลี่ยนเป็นนิทรรศการสัตว์สตัฟฟ์ และในช่วงหลังกลายเป็นห้องจัดงานเลี้ยง ฟังก์ชันเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามยุคสมัย จนมาถึงยุคที่มีกลุ่มชุมนุมทางการเมืองที่ใช้สวนลุมพินีเป็นพื้นที่หลัก รวมถึงเข้ามาใช้ลุมพินีสถานในการทำกิจกรรม จึงเกิดความเสียหายในหลาย ๆ จุด

ท้ายที่สุดใน พ.ศ. 2556 เมื่อมีการตรวจสอบโครงสร้างข้างใต้ พบว่าบางส่วนได้เสื่อมสภาพ สุดท้าย กทม. จึงตัดสินใจระงับการใช้ตึกนี้ใน พ.ศ. 2557 และถูกทิ้งร้างจนถึงปัจจุบัน เป็นการปิดตำนานลุมพินีสถาน สถานที่เข้าสังคมของหนุ่มสาวยุคก่อนไปอย่างน่าเสียดาย
อาคารสงครามเย็น
ก่อนมาที่นี่ เราได้รู้มาว่าอาคารนี้เป็นสถาปัตยกรรมแบบทันสมัยยุคสงครามเย็น จึงถามอาจารย์ชาตรีว่าในยุคนั้นอาคารเป็นประมาณนี้หมดเลยไหม
“เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ Modern Architecture” เขาตอบ ในยุคสงครามเย็น วัฒนธรรมอเมริกันเข้ามามีอิทธิพลมากต่อวัฒนธรรมไทย ทั้งในแง่ดนตรี ภาพยนตร์ วัฒนธรรม การแต่งกาย และสถาปัตยกรรม ซึ่งการสร้างพื้นที่วัฒนธรรมบันเทิงก็เป็นส่วนหนึ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอเมริกันเช่นกัน

ลุมพินีสถานเป็นอาคาร 2 ชั้น รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เป็นโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก พื้นที่ใช้สอยประมาณ 5,500 ตารางเมตร พื้นที่บริเวณชั้น 1 สร้างขึ้นมาเพื่อใช้เป็นฟลอร์เต้นลีลาศและจัดกิจกรรมต่าง ๆ ส่วนบริเวณชั้น 2 มีลักษณะเป็นชั้นลอยรอบอาคาร กั้นห้องขนาดใหญ่ 6 ห้อง
“จะสังเกตว่าผมไม่ได้พูดถึงความสวยงามเลย เพราะอาคารนี้เน้นฟังก์ชันมากกว่า” ถึงไม่ได้เน้นความสวย แต่มี Ornament ที่สำคัญ คือเวทีหมุนและป้ายลุมพินีสถานที่มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษขนาบอยู่ทั้งสองข้าง เป็นฟอนต์ตามเอกลักษณ์ของยุคนั้น ซึ่งป้ายก็เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ควรเก็บรักษา
ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงยุค 50s – 60s
“จริง ๆ เป้าหมายไม่ได้กำหนดอยู่ที่นี่” อาจารย์ชาตรีเล่าให้ฟังว่า เขาเริ่มทำวิจัย ‘ศิลปะกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในทศวรรษ 2470 – 2520’ ตัวงานวิจัยจะเลือกผลงานศิลปะ โดยศิลปะในที่นี้อาจเป็น Art Objects สถาปัตยกรรม หรือดนตรีในยุคนี้ขึ้นมา 50 ชิ้น ไปจัดเป็นนิทรรศการว่าด้วยประวัติศาสตร์ สังคม วัตถุ และสิ่งของ แต่ความมุ่งมั่นของอาจารย์ที่ทำวิจัยเสนอว่า ในวัตถุที่เลือกมา 50 ชิ้น จะดึงมาสักอันที่เป็นงานสถาปัตยกรรมซึ่งอาจถูกทิ้งร้างหรือหลงลืมไปในสังคมไทย เพื่อนำมาจัดกิจกรรมสาธารณะที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะและผู้คนในสังคม
สุดท้ายแล้ว เขาตัดสินใจเลือกลุมพินีสถาน เพราะคิดว่าที่นี่มีศักยภาพและมีความสำคัญต่อสังคม ซึ่งงานนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสนใจแรกเริ่มที่มีต่อลีลาศ แต่เป็นเพราะตัวตึกที่นำพามาสู่ลีลาศ งานที่เกิดขึ้นจึงมีความพิเศษ เหมือนได้ย้อนกลับไปในยุคที่วัฒนธรรมรุ่งเรืองผ่านตัวอาคารลุมพินีสถาน
“Jim Thompson Art Center ยินดีให้ผมนำชุดผ้าไหมของ Jim Thompson มาให้เราใช้งาน” จิม ทอมป์สัน (Jim Thompson) เป็นคนที่ทำให้ผ้าไหมไทยโด่งดังไปทั่วโลก และอาจารย์ก็ได้ประสานไปยังพี่เจี๊ยบ กฤติยา กาวีวงศ์ ผู้อำนวยการ Jim Thompson Art Center ซึ่งได้รับการช่วยเหลือเป็นอย่างดี จนสุดท้ายจึงได้เสื้อผ้าในคอลเลกชันยุคแรกที่เป็นชุดผ้าไหมในดีไซน์ยุค 50 – 60 มา และตัดสินใจให้วงสุนทราภรณ์ได้สวมใส่ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2566 พร้อมกับทีมงานบางคนที่คัดเลือกมา
นอกจากนี้ ภายในงานจะมีการสร้างบรรยากาศด้วยการนำรถคลาสสิกในยุคนั้นมาจอดโชว์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสมาคมรถโบราณแห่งประเทศไทย
งานวันแรก วันที่ 4 กุมภาพันธ์ จะพูดถึงคุณค่า ความทรงจำ สิ่งที่ไม่ควรลืมของพื้นที่ส่วนนี้ กับกิจกรรม ‘Walking Tour’ มีการเล่าถึงอดีตและอนาคตของลุมพินีสถานผ่านแสงและมัลติมีเดีย ในกิจกรรม ‘A Walk Through Time’ รวมถึงรื้อฟื้นความทรงจำไปกับราชาลีลาศเมืองไทย ‘บุญเลิศลีลาศ’ และ สุนทราภรณ์ บนเวทีที่สร้างขึ้นใหม่เพื่องานนี้โดยเฉพาะ หน้าอาคารลุมพินีสถาน

ส่วนวันที่ 5 กุมภาพันธ์ จะเป็นการส่งต่ออนาคตของพื้นที่ เปิดเวทีระดมความเห็นว่าประชาชนอยากให้อาคารหลังนี้เป็นอย่างไร มีการแสดงดนตรีโดย ป๊อด โมเดิร์นด็อก ร่วมกับวงดนตรีบิ๊กแบนด์จากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และปิดท้ายด้วยการเต้น Stumbling Swingout ที่มาพร้อมครูสอนเต้น (สำหรับใครที่ไม่เคยเต้นมาก่อน) จาก Jelly Roll Dance Club
รื้อทิ้งหรือรื้อฟื้น
“ส่วนตัวผมอยากให้รีโนเวตแบบ Adaptive Reuse” เขาอยากให้มีฟังก์ชันเหมาะกับคนรุ่นใหม่ และมีพื้นที่ให้ผู้สูงวัยได้แสดงออก ด้วยความที่ลุมพินีสถานมีประวัติน้อย ทำให้หลายคนเชื่อว่าฐานรากของอาคารเป็นไม้ทั้งหมด ดังนั้นจินตนาการถึงอนาคตของตึกนี้จึงมีข้อจำกัดมากเพราะความเชื่อดังกล่าว แต่อาจารย์ชาตรีบอกว่า ถ้าดูจากรูปแบบของอาคารและหลักฐานแวดล้อมทางประวัติศาสตร์อื่น ๆ ประกอบ เขาเชื่อว่ามันไม่ได้เก่าขนาดนั้น และฐานรากไม่น่าจะเป็นไม้ แต่ถ้าไม่ได้ขุดสำรวจก็ไม่มีหลักฐานแน่ชัด
“ถ้าเป็นอย่างที่ผมคิดจริง ทางเลือกในการปรับปรุงอาคารจะเปิดกว้างมากขึ้น” อาจารย์บอกว่าสิ่งที่ควรให้ความสำคัญและควรเก็บ คือเวทีกลมและเครื่องจักรด้านล่าง เพราะเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์และความทรงจำ สะท้อนถึงความทันสมัยในอดีต หลายคนอาจมีความเห็นว่าอายุแค่ 60 ปีเอง ไม่เห็นเก่าเลย แต่สำหรับอาจารย์ชาตรีผู้รักตึกเก่า อีกไม่นานลุมพินีสถานจะครบ 100 ปี พอถึงเวลานั้น สิ่งนี้จะมีคุณค่ามากขนาดไหน

ช่วง 10 ปีที่อาคารถูกทิ้งร้าง ทำให้เกิดหลายความเห็นต่ออาคารหลังนี้ บางความเห็นอ้างรายงานการสำรวจความเสียหายที่ทำขึ้นใน พ.ศ. 2556 ว่าโครงสร้างเสื่อมโทรมแล้ว ควรรื้อทิ้งไปดีกว่า แล้วสร้างอาคารใหม่ขึ้นมาแทน หลายคนที่เชื่อว่ารากฐานเป็นไม้ ก็มีความเห็นว่ารื้อทิ้งแล้วสร้างใหม่ให้คล้ายเดิม แต่หากคิดว่าสถานที่นี้คือประวัติศาสตร์ “ผมว่ามันแข็งแรงกว่าที่คิด ควรเก็บอะไรได้มากกว่านั้น”
อาจารย์คิดอย่างไรกับเหล่าอาคารยุคโมเดิร์นที่ผู้คนถกเถียงกันว่าทุบหรือไม่ – เราถาม
“ผมเป็นหนึ่งในคนที่รณรงค์เรื่องตึกโมเดิร์นมานาน เพราะมันเป็นตึกกลางเก่ากลางใหม่ที่ถึงเวลาแล้วสำหรับการต้องเริ่มคิดเก็บรักษาเอาไว้” อาจารย์ตอบเราด้วยความมั่นใจและให้เหตุผลอีกว่า ตึกโมเดิร์นยุคนี้เป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ของโลกจากยุคโบราณสู่ยุคโมเดิร์น ซึ่งเราก็เห็นด้วย เพราะตึกยุคโมเดิร์นเป็นเหมือนสัญลักษณ์แห่งความเปลี่ยนแปลง

ที่ผ่านมา หลายคนที่วิ่งออกกำลังกายในสวนลุมอาจผ่านลุมพินีสถานไปโดยไม่ทันสังเกต ทั้งที่อาคารทิ้งร้างแห่งนี้มีประวัติ เหตุการณ์ รวมถึงคุณค่าทางสถาปัตยกรรมมากมายให้ได้เรียนรู้ เช่นเดียวกับเราที่จินตนาการถึงความรุ่งเรืองของอาคารนี้ในอดีตตลอดเวลาที่เข้าไปเดินชมอาคาร
วันที่ 4 – 5 กุมภาพันธ์นี้ งาน ‘ลุมพินีสถาน : วัฒนธรรมบันเทิงยุค 50s – 60s’ จึงเป็นโอกาสดีที่ทุกคนจะได้ปลุกความทรงจำในอดีตขึ้นมาอีกครั้ง รวมทั้งคิดถึงอนาคตของอาคารแห่งนี้ร่วมกันด้วย
ภาพ : foto_momo