ถ้าบ้านคือ LEGO
โครงการออกแบบบ้านแบบ Low Carbon ของ SC Asset ก็เปรียบเสมือนการต่อเลโก้ที่ไม่มีคู่มือ ไร้ต้นแบบ ประกอบร่างจากชิ้นส่วนที่หลากหลายแตกต่าง เป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
เลข 0 อาจดูไม่เป็นมงคล แต่โลกธุรกิจปัจจุบันต้องมีเลขตัวนี้ประกอบอยู่ในวิสัยทัศน์แทบทุกอุตสาหกรรม เพื่อบอกว่าบริษัทจริงจังกับลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ใกล้เคียงศูนย์ที่สุด หรือ Net Zero Emissions
กับบริษัทสร้างบ้าน เป้าหมายนี้ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการสร้างอาคาร 1 หลังเต็มไปด้วยผู้เล่นและปัจจัยมากมาย การกำหนดควบคุมทุกอย่างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมต้องอาศัยทั้งความรู้ ความเข้าใจ ความพิถีพิถัน ไม่ต่างจากการสร้างงานคราฟต์ดี ๆ สักชิ้น ยังไม่นับเงินทุนและเวลาที่ต้องทุ่มเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ยิ่งใหญ่
SC Asset เป็นบริษัทที่กล้าทำและเริ่มทำแล้ว ด้วยการออกแบบบ้านที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือ Low Carbon ควบคู่ไปกับโครงการอื่น ๆ ที่จะทำให้งานก่อสร้างยั่งยืนขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายเร่งด่วน คือ SCero Mission ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ภายในปี 2025
กานดิศักดิ์ รื่นใจชน หัวหน้าสายงานออกแบบผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมของ SC Asset มาสรุปภารกิจออกแบบบ้านที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อนในประเทศ และความรู้บางด้านที่คนรักโลกอยากมีบ้านควรรู้

ความรู้ที่ถูกต้อง ข้อมูลที่แม่นยำ คือจุดเริ่มต้น
ศาสตร์การก่อสร้างบ้านวันนี้ ถูกศึกษาและกำหนดเป็นตำรามาหลายสิบปี
การทำบ้านแบบ Low Carbon คือการย้อนกลับมาดูความรู้ชุดนี้ใหม่ว่ายังใช้ได้กับบริบทโลกยุคนี้อยู่มั้ย
กานดิศักดิ์เล่าว่าการทำบ้านคาร์บอนต่ำเป็นส่วนหนึ่งของวิธีการสร้างให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนหน้านี้สิ่งที่คนทำบ้านทำ คือการเลือกใช้วัสดุที่ประหยัดขึ้น ทำให้บ้านเย็นลง ลดการใช้พลังงานภายในบ้าน โดยไม่ได้เปลี่ยนวิธีการสร้างบ้านนัก ยังคงใช้หลักคิดเดิมเป็นเสาหลักในการทำงาน
แต่การออกแบบบ้านคาร์บอน คือการเปลี่ยนวิธีคิดสร้างบ้านเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตสภาพอากาศ Climate Change อย่างตรงไปตรงมา
การมองการสร้างบ้านทั้งระบบว่าปลดปล่อยคาร์บอนจากขั้นตอนไหน และพยายามลดให้ได้มากที่สุด ตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ อิฐ หิน ปูน ทรายที่นำมาใช้ถูกต้องตั้งแต่แรก นำมาสู่การออกแบบ ก่อสร้าง เพื่อการใช้งานที่ยั่งยืนจริง ๆ

ปัจจุบันศาสตร์การทำบ้านคาร์บอนต่ำยังอยู่ในขั้นตอนศึกษาตามสถาบันด้านวิศวกรรม ยังไม่มีบริษัทไหนทดลองทำเพื่อการขายจริง SC Asset อาจเป็นบริษัทแรก ๆ ที่คิดและทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
แต่การเป็นเจ้าแรกก็ไม่ง่าย กานดิศักดิ์เล่าว่าทีมทดลองหาต้นแบบบ้านในหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลียหรือบ้านในทวีปอเมริกาใต้ที่มีภูมิอากาศคล้ายเรา สิ่งที่ท้าทายคือธรรมชาติของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน เช่น ทิศทางแดดของประเทศอื่นเป็น ‘แดดอ้อมเหนือ’ แต่ไทยเป็น ‘แดดอ้อมใต้’ แสงสว่างที่ทำให้บ้านร้อนมาทางทิศใต้ ซึ่งส่งผลต่อการใช้พลังงานภายในบ้าน
สุดท้าย SC Asset ต้องคิดจากบริบทของบ้านเราเป็นหลัก นำความรู้ข้อมูลจากประเทศอื่นเฉพาะส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์ เพื่อสร้างต้นแบบบ้านในไทยที่ไม่เคยอยู่ในตำรามาก่อน

สร้างบ้านอย่างเข้าใจ ยั่งยืนตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ
ความยากของงานนี้ คือต้องรู้จริง มีข้อมูลเพียงพอที่จะลดคาร์บอนได้เป็นรูปธรรม
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะปลดปล่อยคาร์บอนใน 2 รูปแบบ แบบแรกเรียกว่า Embodied Emission คิดจากขั้นตอนการเลือกวัสดุมาสร้างบ้าน และ Operational Emission เชื่อมโยงกับการสร้างบ้านทุกขั้นตอน
ในขั้นตอนเลือกวัสดุ ต้องคิดทุกรูปแบบ กระเบื้อง 1 แผ่นผ่านขั้นตอนมาอย่างไร ขนส่งอย่างไร ข้อมูลชุดนี้หายากที่สุด เมืองไทยยังไม่มีใครเก็บอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก แม้จะมีวัสดุที่เรียกว่า Premium Green โปรโมตว่าเป็นวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำ แต่ของกลุ่มนี้ก็ยังแพงมากอยู่ดี จนนำมาใช้ในการสร้างบ้านสเกลที่ SC Asset กำลังดำเนินการอยู่ไม่ได้
สิ่งที่บริษัทพอจะควบคุมได้มากที่สุดคือการสร้าง กานดิศักดิ์เล่าว่าเขาเริ่มจากการเอาบ้านต้นแบบของ SC Asset มา 1 หลัง ใช้โปรแกรมคำนวณค่าการใช้พลังงาน ใส่ตัวแปรวัสดุก่อสร้างเข้าไป ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ช่วยวิจัยให้ส่งคนมาให้ความรู้ด้านนี้ เพื่อให้ข้อมูลไม่เคลม มีความแม่นยำมากที่สุด

ขั้นต่อมา คือการนำบ้านหลังเดิมมาออกแบบเพิ่ม เติมจุดบังแดด แล้วดูว่าลดพลังงานไปเท่าไหร่ ขั้นตอนที่ 3 คือการล้างกระดานออกแบบบ้านหลังใหม่ ใช้ความรู้จาก 2 ขั้นตอนแรก ยึดผัง Floor Plan เดิม ปรับรูปทรงอาคารให้ตอบโจทย์ที่สุด
ในขั้นตอนการสร้าง อีกส่วนที่พอทำได้ คือการออกแบบวิธีสร้างบ้านให้สิ้นเปลืองพลังงานน้อย เช่น เวลาจะใช้เหล็กเส้นก่อเสาหรือทำฐานราก ในอดีตทีมงานจะขนเหล็กทั้งเส้นมาที่ไซต์ก่อสร้างและตัดหน้างานให้พอดี แต่ตอนนี้ SC Asset ปรับให้โรงงานตัดเหล็กทั้งเส้นมาก่อน วัดให้พอดี แล้วค่อยขนมาที่ไซต์ เศษเหล็กที่เหลือจะอยู่ในโรงงาน นำไปใช้หลอมเหล็กเส้นใหม่ได้เลย ไม่ต้องขนกลับจากโครงการ ลดการปล่อยคาร์บอนจากรถยนต์ได้อีกทาง
“การทำบ้านคาร์บอนต่ำ แบ่งออกเป็น 3 เรื่อง คืออาคาร อุปกรณ์ และอุปนิสัย เรื่องอาคารเราพยายามออกแบบด้วยหลัก Passive Design ให้บ้านป้องกันความร้อนได้มากที่สุด ซึ่งจะทำให้บ้านเย็นขึ้น เรื่องอุปกรณ์ก็พยายามหาอุปกรณ์ที่ทำอย่างไรให้ลดการใช้พลังงานได้บ้าง ออกแบบและคำนวณ จำลองโมเดลเพื่อหาค่าพลังงาน จนเราได้ต้นแบบที่เชื่อว่าไม่น่าจะปล่อยพลังงานได้ต่ำกว่านี้แล้ว” กานดิศักดิ์เล่า
ในส่วนอุปนิสัย คือการดูว่าคนใช้บ้านมีพฤติกรรมอย่างไร ใช้พลังงานมากแค่ไหน ซึ่งเป็นโจทย์ที่แทบจะพลิกหลักการสร้างบ้านคาร์บอนต่ำไปอีกทางทีเดียว

เริ่มจากทฤษฎี ยืดหยุ่นต่อบริบท เพื่อบ้านที่อยู่ได้จริง
ในศาสตร์การสร้างบ้าน มีคำศัพท์หนึ่งเรียกว่า ‘ภาวะน่าสบาย’ หมายถึงการที่เราอยู่ในบ้านในอุณหภูมิที่สบายจนไม่ต้องเปิดแอร์
มีปัจจัย 3 ข้อที่ทำให้บ้านเกิดภาวะน่าสบาย คืออุณหภูมิ ความชื้น และการระบายอากาศ ยิ่งลมผ่านดี บ้านยิ่งสบาย
การทำให้บ้านคาร์บอนต่ำถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำให้บ้านอยู่สบายด้วย ยากกว่ามาก เพราะ 2 หลักการนี้ขัดแย้งอยู่ในตัวเอง
เวลาร้อน ถ้ามีแอร์ คนไทยเลือกเปิดแน่นอน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้พลังงานมากที่สุด
“ถ้าเราต้องการให้อาคารเป็นแบบคาร์บอนต่ำ ในแง่ Passive Design ช่องเปิดจะต้องไม่เยอะ เพราะต้องกันแสง แต่ในความเป็นจริง คนมีบ้านอยากได้หน้าต่างกว้าง ๆ เพราะเราอยากเห็นแสงธรรมชาติจากข้างนอก ให้บ้านสว่าง ๆ แต่เมืองไทยแสงธรรมชาติคือความร้อน กระตุ้นให้คนอยู่ไม่สบาย ต้องเปิดแอร์ ใช้พลังงานเพิ่ม ในต่างประเทศจะกลับกัน เขาต้องการแสงธรรมชาติซึ่งให้ความอบอุ่น สำหรับเมืองร้อนมันจะเปลี่ยนวิธีคิดแบบนี้ เราจะได้แบบบ้านที่ทึบหน่อย อัตราส่วนระหว่างช่องเปิดกับอาคารต้องลดลงกว่านี้ เพื่อที่จะได้ลดการใช้พลังงานให้มากขึ้น” หัวหน้าโครงการเล่า
กานดิศักดิ์ยอมรับว่า ถ้าจะทำให้บ้านแบบนี้เป็นจริง โซลาร์เซลล์จะเป็นพระเอก เพราะไฟที่ได้ชดเชยกับพลังงานที่เสียไป (Offset) ได้ โดยที่แบบบ้านไม่ขัดใจเจ้าของมากนัก ยังคงเป็นบ้านที่มีความรื่นรมย์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไปพร้อม ๆ กัน

หากบรรลุเป้าหมายยากที่สุด เราจะเป็นผู้นำที่ทุกคนต้องตาม
ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั่วโลก บ้านคาร์บอนต่ำยังเป็นแค่แนวคิด ยังไม่นำไปสู่การขายจริง
การทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน ยากและท้าทายที่สุด แต่ถ้าทำได้ รางวัลของมันคือการที่เราเป็นผู้นำในการตลาด เป็นผู้บุกเบิกที่ทุกคนจะทำตามหากอยากประสบความสำเร็จ
SC Asset กำลังไปสู่เป้าหมายนี้ แม้ในปัจจุบันการออกแบบยังไม่แล้วเสร็จ มีเรื่องต้องคิดและทำอีกมาก กานดิศักดิ์และทีมยังมุ่งมั่นพัฒนาต่อไป เพื่อเป้าหมายในการทำ SCero Mission ให้เป็นจริง
หากมองให้ดี วิธีคิดที่ได้จากการศึกษาโครงการนี้ถูกนำไปปรับใช้ในโครงการปัจจุบันบ้างแล้วเหมือนกัน เช่น ทีมที่ดูแลเรื่องโซลาร์เซลล์เริ่มนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปเล่าให้ทีมขายและการตลาดเพื่อบอกข้อมูลที่แม่นยำที่สุดกับลูกค้า รวมถึงแผนกอื่น ๆ ก็พยายามทำงานเพื่อเป้าหมายเดียวกัน
“ผมว่าบ้านคาร์บอนต่ำสำคัญต่อวิสัยทัศน์แบรนด์และแนวคิดของ SC Asset เราอยากเติบโตไปพร้อมกับลูกค้า วันนี้ทุกคนพร้อมใจกันทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพื่อความยั่งยืนในอนาคต SC Asset ก็เห็นเรื่องนี้เช่นเดียวกัน อยากให้ทุกฝ่ายโตไปพร้อมกัน ไม่งั้นมันคงไม่ใช่ความยั่งยืนที่เราอยากจะได้”
