ลาวเด้อ’ คือเพจเล่าเรื่องอีสานผ่านคน เมือง วิถีชีวิต และวัฒนธรรม ที่ อ๊อฟ-กฤษฎิ์ บุญสาร เจ้าของเพจ มักหยิบประเด็นสังคม เทศกาลงานสร้างสรรค์ ไปจนถึงร้านน่าสนใจในภาคอีสาน มาเล่าผ่านบทความที่เขาบรรจงเขียนด้วยตัวเอง

ซึ่งแฟนของอ๊อฟอย่าง แก้ม-ฌัลลิกา ทิพย์ฝั้น นักเทคนิคการแพทย์ สาขากิจกรรมบำบัด ก็เป็นช่างภาพ-กราฟิกดีไซเนอร์คนสำคัญที่ช่วยออกไอเดียเรื่องเนื้อหา และถือเป็นเจ้าของลาวเด้ออีกคนด้วย

“ตั้งแต่เด็กเราคอยตั้งคำถามว่าทำไมปัญหาที่เคยเห็นมันยังอยู่” แก้มกล่าว

“ทำไมผู้สูงอายุต้องมารอเข้าคิวที่โรงพยาบาลตั้งแต่เช้า”

“ปัญหาครอบครัวแหว่งกลาง เพราะส่วนใหญ่พ่อแม่ไปทำงานที่กรุงเทพฯ”

“ฝุ่นควันเป็นปัญหาจากเกษตรกรจริงหรือเปล่า”

“เราจะช่วยอะไรเขาได้บ้าง”

ในปีนี้อ๊อฟและแก้มตั้งใจให้ลาวเด้อเล่าเรื่องคนตัวเล็ก ธุรกิจหรือแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จัก ภายใต้ธีม Local Business พวกเขาอยากส่งเสียงช่วยให้แบรนด์เหล่านี้มีพลัง และหวังให้ผู้คนเห็นถึงช่องทางทำมาหากินที่น่าสนใจ รวมไปถึงชวนคนเข้ามาทำงานในภาคอีสานและกลับมาอยู่ใกล้ชิดครอบครัว

“อาจจะไม่ต้องกลับมาอยู่บ้านก็ได้นะ เราแค่อยากเห็นเขากลับมาพัฒนาและอนุรักษ์พื้นที่ของตัวเอง” 

ลาวเด้อไม่เพียงแค่ส่งเสียงเรื่องปัญหา แต่ยังอยากให้ผู้คนได้เห็นว่าที่อีสานยังมีคนเก่งที่ไม่ถูกค้นพบ พวกเขาจึงอยากเล่า บอกต่อแนวทาง ไอเดีย มุมมองน่าสนใจของผู้คนเหล่านี้ด้วยเช่นกัน

ไม่ว่าจะเป็นงาน ทุ่งกุลา Film Festival เทศกาลการทำหนัง ตอน มูนมังสังขยา ทุ่งกุลาบ้านเฮา หรือค่ายอนุรักษ์อาหารพื้นบ้าน อย่าง Young Food และกิจกรรมล่าสุดอย่าง ปิดเทอมสร้างสรรค์ขอนแก่น กิจกรรมเขย่าเมืองที่ไม่ต้องการให้ช่วงปิดเทอมเป็นช่วงเวลาว่างเปล่าของเด็ก ๆ ลาวเด้อมีส่วนร่วมในโปรเจกต์น่าสนใจเหล่านี้ โดยมีหน้าที่หลักเป็นการสื่อสารให้รับรู้และส่งต่อภาพความประทับใจโดยทั่วกัน

“เราก็เป็นคนตัวเล็กเหมือนกัน ถึงแม้จะทำสื่อ แต่การทำเพจไม่ได้ทำให้เรามีสิทธิ์มีเสียงไปมากกว่าใคร ฉะนั้น การส่งเสียงให้คนตัวเล็กมีพลังคือสิ่งที่เราตั้งใจจะทำ”

ตั้งแต่ Young จนตัดสินใจ Louder

“ไม่คิดว่าจะมาทำเพจ” อ๊อฟเล่าว่าเขาไม่ได้โตมาในยุคที่คนคุ้นชินกับโซเชียลมีเดียมากนัก 

“ยิ่งเป็นเพจเกี่ยวกับอีสานก็ยิ่งแล้วใหญ่ ในตอนเด็กไม่ได้มีใครหรือสื่อไหนที่มาปลูกฝังให้เราต้องภาคภูมิใจในความเป็นอีสานเลย” เขาในวัยเด็กยังมองไม่เห็นภาพในวันนี้ และคงยากมากที่พวกเขาจะมาถึงตรงนี้ได้

อ๊อฟเป็นคนร้อยเอ็ดโดยกำเนิด ด้วยความเป็นคนหัวรั้นบวกเข้ากับการศึกษาในระบบที่เป็นพิษ ทำให้เขาต้องพึ่งพาการศึกษานอกระบบ (กศน.) อ๊อฟตัดสินใจเข้ากรุงเทพฯ เพื่อเรียนและทำงานควบคู่กันเรื่อยมาจนจบมหาวิทยาลัยในภาควิชาปรัชญา 

เขาเลือกทำงานเป็นช่างภาพตามความชอบส่วนตัว แต่ก็ยังมีอีกหลายอาชีพที่เขาทำ ทั้งงานโปรดักชัน ครีเอทีฟ หรือ Account Manager เขาก็ทำมาหมดแล้ว ในฐานะคนทำเพจนับว่าอ๊อฟเชี่ยวชาญเรื่อง Digital Marketing มาอย่างดี

แม้ไม่ได้โตมาในยุคโซเชียลมีเดีย แต่เฟซบุ๊กทำให้อ๊อฟและแก้มรู้จักกัน ด้วยความชอบที่คล้ายกันทำให้ทั้งคู่เข้ากันได้ดี จากเพื่อนในกลุ่มของคนชอบท่องเที่ยวจึงกลายมาเป็นคู่ชีวิต 

แก้มเล่าว่าที่บ้านของเธอทำงานในสายการแพทย์ “เราคิดว่าโตมาก็คงเป็นหมอ แต่เราชอบถ่ายรูป” แก้มเป็นนักเทคนิคการแพทย์ที่ควบตำแหน่งช่างภาพคนสำคัญของลาวเด้อ ถึงเธอจะเป็นคนเชียงใหม่ แต่ในวัยเด็กเคยมาท่องเที่ยวที่ภาคอีสานบ้างเป็นครั้งคราว ซึ่งตอนนั้นเธอมองว่าอีสานสวย และไม่ได้แห้งแล้งอย่างที่คิดไว้

พ.ศ. 2564 ทั้งคู่ตัดสินใจย้ายงานจากเมืองหลวงมาอยู่ที่ภาคอีสาน เพราะสถานการณ์โรคระบาดรุนแรง 

“ในตอนนั้นรู้สึกว่าไม่อยากอยู่กรุงเทพฯ แล้ว อยากกลับบ้าน” อ๊อฟที่กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดร้อยเอ็ดนั่งทบทวนกับตัวเองว่าหากเขากลับมาอยู่ที่บ้านจะทำอะไร 

ไม่นานโซเชียลก็บันดาลใจเขาอีกหน เจ้าของเพจเล่าว่าเขาบังเอิญได้ดูคลิปรายการ จริตอีสาน “เท่มาก อยากทำบ้าง” อ๊อฟบอกแบบนั้น 

แน่นอนว่าคนแรกที่รับรู้คงไม่พ้นคนสำคัญอย่างแก้ม ไม่เพียงแค่บอก แต่อ๊อฟวางแผนทำสไลด์ขึ้นมาขายงานอย่างจริงจัง โดยให้ลาวเด้อเป็นเพจที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับอีสาน เรื่องคน เมือง และวิถีชีวิต 

ส่วนชื่อเพจเป็นการเล่นคำว่า ‘ลาวเด้อ’ ซึ่งบ่งบอกตัวตนความเป็นอีสาน ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า ‘Louder’ ที่มีความหมายในภาษาอังกฤษว่า การส่งเสียง หรือ การทำให้ดัง ชื่อเพจสุดเท่นี้คือไอเดียจากเพื่อนร่วมงานของอ๊อฟ ซึ่งเจ้าของเพจบอกว่าซื้อเลยตั้งแต่ได้ยินในครั้งแรก เพราะตรงกับจุดประสงค์ของเพจ 

คนลาวเด้อ

ปัจจุบันลาวเด้ออายุ 1 ปี มีทีมงานหลังบ้านหลัก ๆ 2 คน นั่นคืออ๊อฟและแก้ม ทั้งที่บางครั้งเขาก็ทำงานที่สเกลใหญ่เกินกว่าทีมงาน 2 คนที่พ่วงด้วยงานประจำจะรับมือ อ๊อฟอธิบายว่าในโปรเจกต์ใหญ่หรืองานที่ทั้งคู่ทำไม่ไหว จะมีการจ้างทีมงานเข้ามาช่วย ในตอนนี้พวกเขาจึงเริ่มเปิดรับพนักงานประจำเข้ามาช่วยแล้ว

เพราะเป็นเพจที่เกิดขึ้นมาจากคน 2 คน ลาวเด้อจึงเป็นเสมือนกับลูกชาย แก้มบอกว่าถ้าลาวเด้อเป็นคน ก็คงเป็นคนขรึม ๆ และเท่บ้างในบางครั้ง

“เขาอยู่ในช่วงเรียนรู้ กำลังลองผิดลองถูก ถ้าผ่านช่วงนี้ไปได้ เขาคงมีความแหลมคมในการนำเสนอมากขึ้น” อ๊อฟเสริม

แต่นอกจากลูกชาย ยังมีเพจที่เป็นเหมือนกับลูกสาวด้วย แก้มเล่าว่าเป็นเพจใหม่ที่เพิ่งเปิดได้ 4 – 5 เดือน ด้วยความที่พวกเขาทั้งคู่อยู่ขอนแก่น จากความตั้งใจแรกที่เขียนเรื่องในขอนแก่นจึงถูกยกมาไว้ที่เพจใหม่อย่าง ‘Khon Kaen POP’ ที่จะพาทุกคนไปดื่ม กิน เที่ยว ผ่านไลฟ์สไตล์ของแก้มและอ๊อฟ โดยพูดถึงเรื่องขอนแก่นเป็นหลัก 

ในการทำเพจ การวางกลุ่มเป้าหมายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้รู้ว่ากำลังสื่อสารกับใคร ซึ่งอ๊อฟตั้งใจให้เป็นคนรุ่นใหม่ ทั้งคนที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานและคนทำงาน จะอยู่ภาคอีสานหรือไม่ก็ได้ เพราะพวกเขาอยากนำเสนอว่า ‘อีสานมีคนทำสิ่งนี้ด้วย’ สิ่งน่าสนใจที่เขาเจอ เขาอยากให้ทุกคนรับรู้เหมือนกับพวกเขา

“ตอนเขียนธีม Local Business แรก ๆ เราอยากทำเพื่อดึงคนกลับบ้าน” แต่รุ่นพี่คนหนึ่งเปลี่ยนความคิดของอ๊อฟ เขาบอกว่า “เราดึงคนอื่นที่ไม่ใช่คนอีสานก็ได้ เพราะมีหลายคนมากที่เขาไม่ใช่คนอีสานแต่มาอยู่อีสาน” อ๊อฟเห็นด้วยอย่างนั้น อ๊อฟชี้ทางต่อว่า “ถ้าเราทำให้เห็นว่ามาอาศัยอยู่ที่นี่ มาทำงานที่นี่ได้ หรือมาทำธุรกิจที่นี่ได้ก็คงจะดี” ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของลาวเด้อจึงเปลี่ยนไปจากตอนแรก 

คนตัวเล็ก เล่าเรื่องใหญ่

รูปแบบการนำเสนอหลักในเพจลาวเด้อเล่าผ่านบทความ ภาพ แทรกด้วยงานวิดีโอเล็กน้อย บางครั้งก็เป็น Photo Story และอนาคตจะทำเว็บไซต์เพื่อรองรับข้อมูลทั้งหมดที่เพจเคยทำมา

“แบรนด์ต้องมีความน่าสนใจ ถ้าเรื่องราวของเขาตรงกับอีสาน เราว่าขายได้ ลาวเด้อเล่าเรื่องออกมาได้สนุกแน่นอน” เขาเล่าถึงวิธีการเลือกประเด็น พร้อมกับเสริมว่า ‘ร้านข้อยเป็นข้อยไป’ ร้านอาหารฟิวชันอีสาน-อิตาเลียนเป็นตัวอย่างได้ดีในกรณีนี้

ในช่วงแรกลาวเด้อใช้ความบังเอิญและการบอกต่อให้เป็นประโยชน์ แต่บางครั้งอ๊อฟและแก้มก็ค้นพบด้วยตัวเอง อย่างร้านที่ไปกินแล้วชอบ หรือไถเจอบนฟีดแล้วเห็นว่าน่าสนใจ พวกเขาก็จะติดต่อขอสัมภาษณ์และคัดสรรมานำเสนอต่อไป

อย่างในปีนี้ที่ลาวเด้อกำหนดธีมให้อยู่ในเรื่อง Local Business เพราะพวกเขาเล็งเห็นศักยภาพและลู่ทางในการทำมาหากินในภาคอีสาน จึงเลือกเล่าเรื่องผ่านธุรกิจใหม่และแบรนด์เล็ก ๆ พวกเขามองว่าแบรนด์เล็กอาจมีพื้นที่ในการเล่าเรื่องของตัวเองน้อยกว่าแบรนด์ใหญ่ ๆ แต่ก็มีเอกลักษณ์บางอย่างที่น่าสนใจ แค่การเลือกบอกต่อเรื่องราวของร้านป้าที่ขายส้มตำในตึกแถวธรรมดาก็สร้างคุณค่าได้ 

“เราอยากเสริมพลังให้คนตัวเล็ก คนที่อาจจะไม่ได้มีอำนาจต่อรองมากมาย ไม่ได้เป็นคนมีชื่อเสียง การให้พื้นที่สื่อกับเขาก็เป็นการฮีลใจเราอย่างหนึ่ง”

นอกจากเรื่องธุรกิจและประเด็นทางสังคม ยังมีเรื่องที่ลาวเด้อสนใจแต่ยังไม่ได้ไปลองสัมผัส นั่นคืออีสานใต้ อ๊อฟเล่าว่าเขาเคยได้ยินมาว่าภาคในแถบนั้นน่าสนใจไม่น้อยไปกว่าหลายที่ที่เขาเคยไป เช่น พิธีแต่งงานในจังหวัดสุรินทร์ เสน่ห์ของศรีสะเกษหรืออำนาจเจริญ 

“ในตอนแรกคนยังไม่รู้ว่าเรากำลังทำอะไรก็เป็นการทำงานที่เหนื่อยมาก แต่พอเพจเริ่มเป็นที่รู้จักและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาทำ มันก็น่าชื่นใจและมีกำลังใจให้ทำต่อไป” อ๊อฟว่า 

ส่วนแก้ม เธอบอกว่าอยากให้ลาวเด้อขับเคลื่อนสังคมในแนวฐานราก เพราะลาวเด้อไม่ได้มองจากมุมของคนข้างบนที่มองลงมา แต่เข้าไปที่ชุมชน ได้ไปคุยกับคน เธอบอกว่าสื่อมีส่วนในการขับเคลื่อนสังคม แม้ลาวเด้อจะเป็นเสียงเล็ก ๆ ไม่ได้ทำให้รวดเร็ว จะเป็นการขับเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ แต่ทุกฝ่ายเติบโตไปพร้อมกัน 

อยากเห็นเด็กนักเรียนมีเงินกินข้าว ไม่อยากเห็นข่าวเด็กขาดสารอาหาร 

ไม่อยากเห็นข่าวอาชญากรรม เพราะที่นั่นไม่มีแสงสว่าง อยากให้มีแสงสว่างอยู่ทุกที่ 

ตากับยายมีเงินใช้ ไม่ต้องรอเงินเบี้ยผู้สูงอายุ

ไม่มีข่าวชาวนาฆ่าตัวตายเพราะไม่มีเงินใช้หนี้

นักศึกษามีเงินเรียนจนจบ 

ข้างต้น เป็นประโยคสะท้อนหลากหลายปัญหาที่มีอยู่ทั่วทุกภูมิภาคในประเทศไทย และเป็นเป้าหมายที่ทีมงานลาวเด้ออยากเห็นว่ามันได้รับการแก้ไขแล้ว 

ลูกอีสานสรรสร้าง

ในช่วงแรกคนจะเชื่อว่า ถ้าไปตามร้านที่ลาวเด้อรีวิวแล้วจะดี เพราะร้านที่เราเลือกทำส่วนใหญ่มีความเท่ ความป๊อป มีเอกลักษณ์ แต่ผู้คนชอบประเด็นที่อิงกระแสสังคม ทั้งการเมือง สุราก้าวหน้า เราจึงเขียนเรื่องที่ล้อกับสิ่งนั้น ๆ ด้วย แต่สิ่งที่คนขอนแก่นสนใจตอนนี้ ถ้าเป็นคนชนชั้นบนจะสนใจเรื่องการพัฒนาเมือง การจัดอีเวนต์ แต่ถ้าเป็นผู้ประกอบการ เขาสนใจเรื่องความอยู่รอดของร้านเขาในช่วงปิดเทอม ความสนใจของผู้คนมียิบย่อยหลากหลาย

ความท้าทายคือการที่อ๊อฟอยากจะเล่าเรื่องในลักษณะนี้ให้ครบทุกจังหวัดของภาคอีสาน ซึ่งสิ่งที่ยังขาดอยู่คือแหล่งทุน 

“ถ้ามีทุน เราก็ทำคอนเทนต์หรือเล่าประเด็นที่อยากพูดได้ รวมไปถึงมีทีมงานมาช่วยกันทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง ๆ

“นอกจากนี้ เรื่องราวที่เรานำเสนอต้องเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ ต้องเป็นเรื่องที่จะให้ประโยชน์กับคนอีสาน และทำหน้าที่ให้คนที่มาอ่านเปลี่ยนความคิด ไม่มองว่าอีสานแห้งแล้งไปเสียหมด” ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันว่าสิ่งเหล่านี้ทำให้ลาวเด้อยังคงอยู่ต่อไปได้

แก้มบอกว่าเธอยังอยากเห็นเพจที่บอกเล่าเรื่องราวของคนตัวเล็กเหมือนกับลาวเด้อในด้านต่าง ๆ และยินดีเป็นอย่างยิ่งหากคนที่คิดจะทำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน 

เป้าหมายต่อไปของลาวเด้อ คือ Area Editor เป็นโปรเจกต์ที่สื่อในอีสานทำงานร่วมกัน โดยแม่งานหลักคือ The Isaan Record เป็นการสร้างเครือข่ายสื่อในอีสาน และให้สื่อเหล่านี้นำเสนอเรื่องราวของจังหวัดตัวเอง บางครั้งก็อาจจะมาร่วมกันเล่าประเด็นที่สนใจร่วมกัน และช่วยกันตีแผ่ประเด็นนั้น ๆ

Facebook : ลาวเด้อ

Writer

พิชามญชุ์ ทองเปี่ยม

พิชามญชุ์ ทองเปี่ยม

เด็กฝึกช่างฝัน ที่มีชาพีช นิยาย รอยยิ้มของศิลปินคนโปรด และเตียงอุ่น ๆ ในฤดูหนาว เป็นความสุขเรียบง่ายในชีวิต

Photographer

กานต์ ตำสำสู

กานต์ ตำสำสู

หนุ่มใต้เมืองสตูลที่มาเรียนและอาศัยอยู่อีสาน 10 กว่าปี เปิดแล็บล้างฟิล์ม ห้องมืด และช็อปงานไม้ อยู่แถบชานเมืองขอนแก่น คลั่งไคล้ฟุตบอลไทยและร็อกแอนด์โรล