เมื่อพูดถึงการซ่อมบ้านเก่า สำหรับเรา คำนี้ให้ความรู้สึกทั้งใกล้และไกลในเวลาเดียวกัน 

ในแง่ที่ ‘บ้าน’ เป็นสถานที่ที่คุ้นเคย 

แต่ ‘การซ่อม’ เป็นสถานการณ์ที่ไม่เคยคุ้น 

โดยเฉพาะเมื่อเป็นบ้านเก่าอายุร่วม 100 ปีที่ได้รับเป็นมรดกตกทอดมาจากอากง การซ่อมจึงไม่ใช่แค่ให้พออยู่ได้หรือพอผ่านไป แต่เป็นการซ่อมเพื่อรักษาร่องรอยความทรงจำที่สมาชิกใช้ร่วมกัน และเตรียมพร้อมสำหรับเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ที่อยากชวนทุกคนเข้ามาลองใช้เวลาสำรวจและทำกิจกรรมร่วมกันในอนาคต

แต่สิ่งธรรมดาซึ่งน่าสนใจเป็นพิเศษที่ทำให้เราอยากชวนท่านผู้อ่านติดตามผ่านเรื่องเล่าในบทความนี้ คือการซ่อมบ้านแบบคนธรรมดาที่มีงบประมาณจำกัดของ ‘ครอบครัวรุจิธรรมกุล’ กับ ‘บ้านโล้วเฮียบเส็ง’ ว่าทำอย่างไรให้การซ่อมครั้งนี้ ถึงแม้ไม่หมดจด แต่งดงาม

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน
โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

พบกันอีกครั้งที่ท่าเตียน

บ้านโล้วเฮียบเส็ง ตั้งอยู่ในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน เป็นตึกแถวขนาด 3 คูหา สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 7 ผ่านร้อนผ่านหนาวในฐานะบ้านและที่ทำกิจการขายน้ำหวาน-น้ำตาลของตระกูลภายใต้แบรนด์โล้วเฮียบเส็งมาหลายสิบปี ก่อนจะปิดกิจการแล้วเปลี่ยนเป็นเป็นที่อยู่อาศัย 100% จนกระทั่งอากงจากไป บ้านส่งต่อมาสู่มือทายาทรุ่นที่ 2 อย่าง คุณพ่อ-ยืนยง รุจิธรรมกุล, คุณแม่-เสาวภา รุจิธรรมกุล และ จูน-ยลภัทร รุจิธรรมกุล อินทีเรียดีไซเนอร์ควบตำแหน่งลูกสาวคนโตของบ้าน  

จูนเล่าให้ฟังว่า ถึงแม้ตัวเองจะทำงานเป็นอินทีเรียดีไซเนอร์อยู่แล้ว แต่การเริ่มต้นซ่อมแซมบ้านเก่าร่วม 100 ปีก็ไม่ใช่เรื่องง่าย จูนพยายามศึกษาเรื่องราวประวัติศาสตร์ของบ้านย่านท่าเตียน เพื่อจะได้ฟื้นฟูอาคารอย่างถูกต้อง จนได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ อาจารย์บุ๋ม-รศ.ดร.พีรยา บุญประสงค์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์อาคารและอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เมื่อยกหูโทรศัพท์บอกเล่าเรื่องราวและสถานที่ อาจารย์ก็ตอบกลับมาทันทีว่า เคยนั่งอยู่ในบ้านจูน! เพราะเคยทำวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประโยชน์ใช้สอยตึกแถวท่าเตียน และมีโอกาสนั่งคุยกับ อากงอาคม รุจิธรรมกุล ในบ้านหลังนี้ โดยตอนนั้นไม่รู้ตัวเลยว่าอีก 6 ปีให้หลัง จะต้องกลับมาอีกครั้งเพื่อช่วยทายาทรุ่นถัดไปฟื้นคืนชีวิตให้กับบ้าน  

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

ตามหาความทรงจำ

เราเคยเข้าใจว่าสิ่งสำคัญอันดับแรกสำหรับการปรับปรุงอาคารเก่าคือการสำรวจและจัดการเรื่องโครงสร้าง แต่อาจารย์บุ๋มบอกว่าถูกต้องแต่ไม่ทั้งหมด ถ้าจะให้ดี สิ่งที่ต้องทำควบคู่กันไปคือการทำความเข้าใจอาคารในหลาย ๆ มิติ ทั้งในเชิงกายภาพ ประวัติศาสตร์ พัฒนาการของบ้าน เพื่อตามหาคุณค่าและความทรงจำ 

กระบวนการทั้งหมดเริ่มต้นจากคำถาม

“แรก ๆ เวลาคุยกับเจ้าของบ้านเขาจะไม่ค่อยรู้สึก ต้องพาเดินสำรวจกันสัก 2 – 3 รอบ เขาจะชอบมองว่าบ้านตัวเองไม่สวยเพราะอยู่มานาน จะมองว่าตรงนี้ก็รก ตรงนี้ก็อึดอัด แต่ในฐานะที่เราเป็นคนให้คำปรึกษา เราต้องไปคุ้ยว่าเจ้าของบ้านผูกพันกับบ้านยังไง การเล่าเรื่องของเจ้าของบ้านเป็นหนึ่งในกระบวนการการทำความเข้าใจอาคาร พอเราถามว่าตรงนี้เคยเป็นอะไร มันจะทำให้เจ้าของเริ่ม Tracing History บ้านตัวเอง 

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

“อย่างบ้านนี้ ช่วงแรก ๆ คุณพ่อยังไม่ค่อยตื่นเต้นนะ จนวันหนึ่งเห็นรองเท้าสมัยเด็กของลูก เห็นลายมือของตัวเองในสมุดแบบฝึกหัดสมัยเรียน ก็เริ่มตื่นเต้นตรงที่มันยังอยู่อีกเหรอ จากตอนแรกที่เขามองว่าหลาย ๆ อย่างเก่า ใช้การไม่ได้แล้ว ปัดฝุ่นเตรียมทิ้ง พอเห็นตรงนี้ ทำให้รู้สึกว่าบ้านนี้พอจะมีร่องรอยอะไรอยู่บ้าง คราวนี้มันจะทำให้อื่น ๆ ตามมา เห็นอะไรที่ลึกไปมากกว่านั้น แล้วพอเห็นคุณค่าก็รู้ว่ามันจะไปต่อยังไง” 

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

จำกัด-จัดการ

“อีกอันหนึ่งที่สำคัญมากเลยคือสัญญาเช่า เพราะเป็นความยั่งยืนของการอยู่อาศัย ซึ่งส่งผลต่อระดับการปรับปรุงและจำนวนเงินที่ใช้” อาจารย์บุ๋มยกอีกประเด็นสำคัญสำหรับคนคิดจะซ่อมบ้านเก่า ควรคำนึงถึงก่อนเริ่มลงมือปรับปรุงบ้าน โดยเฉพาะบ้านที่เช่าพื้นที่จากรัฐหรือวัดแบบบ้านโล้วเฮียบเส็ง ถ้าสัญญาเช่ายาว 5 – 10 ปี ก็เหมาะสมที่จะลงทุนทำเต็มที่ แต่ถ้าหากเป็นสัญญาเช่าระยะสั้นหรือสัญญาปีต่อปี ต้องลองนึกดี ๆ ว่าส่วนไหนสำคัญ 

กรณีของบ้านนี้ที่มีข้อจำกัดทั้งในเรื่องกรรมสิทธิ์สัญญาเช่าและงบซ่อมบ้านที่มีอยู่ประมาณ 300,000 บาท เลยตัดสินใจจัดการด้วยการแบ่งการปรับปรุงเป็นเฟส ๆ โดยทำเฉพาะส่วนที่สำคัญก่อน คือการทำบ้านให้ถูกสุขลักษณะและเติมเต็มฟังก์ชันที่หายไป อย่างบันไดทางขึ้นชั้น 2 เพื่อให้ใช้อาคารได้ต่อเนื่องสมบูรณ์

“อาจารย์แนะนำไปว่าให้ทำกิจการอะไรที่เล็ก ง่าย ปัง เสร็จแล้วค่อยเอารายได้จากตรงนั้นมาทำบ้าน เพิ่มเงินเข้าไปทีละน้อย ค่อย ๆ ทำทีละนิด ไม่ต้องโยนงบลงไปทั้งหมดทีเดียวโดยที่ไม่รู้ว่า Return มันคืออะไร แบบนี้จะดีกับผู้ประกอบการรายย่อยนะ เพราะถ้าเขายังดูบริบทของอาคารไม่ออก หรือเห็นข้อจำกัดของตัวอาคารไม่ครบ ระยะนี้มันคือ Sampling ที่เจ้าของบ้านจะได้ลองว่าสเปซของเขาคืออะไร งานถนัดคือแบบไหน ค้าขายหรือให้บริการ ซึ่งไม่เหมือนกัน”

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

อาการ-อาคาร

“การจะปรับปรุงอาคารเก่า ต้องเข้าใจก่อนว่าอาคารมีการ Suffer จากอะไรบ้าง เพราะอาคารเก่าก็เหมือนคน พอผ่านเวลานานไปก็เสื่อมสภาพตามอายุขัย ที่เจอหลัก ๆ มี 2 แบบ คือป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อ กับป่วยแบบเป็นโรคติดต่อ”

กรณีป่วยแบบไม่ติดต่อ มักเป็นอาการที่แสดงออกผ่านโครงสร้างหลักของอาคาร ไม่ว่าจะเป็นการโก่งงอ บิดตัว ทรุดตัว หรือมีรอยร้าว 

ส่วนการป่วยแบบติดต่อของอาคาร สาเหตุหลักมักมาจากความชื้น ซึ่งเกิดได้จาก 3 – 4 ปัจจัย

  1. อาคารปิดตัวไม่ได้ใช้งานมานาน แบบนี้สังเกตได้จากกลิ่นความชื้น อุณหภูมิภายในอาคารที่เย็นกว่าปกติ และคราบต่าง ๆ ที่จับตัวอยู่บนไม้ไปจนถึงผนัง 
  2. โครงสร้างแบบผนังรับน้ำหนัก (Bearing Wall) พบมากในตึกแถวเก่า โดยส่วนล่างของผนังอิฐมักแช่อยู่ในชั้นดิน แล้วดูดน้ำขึ้นมาตามกระบวนการ Capillary ผ่านอิฐ ผ่านปูน มาออกอาการที่ผนังด้านบน ส่วนใหญ่เห็นเป็นคราบอยู่ตามผนังต่อเนื่องกันเป็นลูกคลื่น 
  3. การรั่วซึม เป็นอีกหนึ่งอาการของอาคารเก่าที่ปูนก่อ-ปูนฉาบเดิมหมดสภาพ ทำให้ผนังรั่วแล้วน้ำไหลซึมเข้ามา สะสมทำให้เกิดความชื้น
  4. การซ่อมแซมผิดประเภท บางครั้งการซ่อมเฉพาะโดยช่างที่ไม่มีความรู้เฉพาะทาง ก็นำไปสู่อาการที่แย่ลงของอาคารได้ เช่น การเอาซีเมนต์ไปฉาบทับผนังเดิม ทำให้ผนังที่เคยหายใจได้กลับหายใจไม่ได้ หลาย ๆ ครั้งทำให้ผนังระเบิดออกเพราะความชื้นเข้าไปสะสม

ปัจจัยเหล่านี้นำไปสู่การเกิดรา ไม่ว่าจะราสีน้ำตาลที่กินเนื้อไม้จนเปื่อย หรือราดำซุกซ่อนอยู่ตามมุมต่าง ๆ ส่งผลต่อระบบหายใจของผู้ใช้งานอาคาร 

อาจารย์บอกว่าเรื่องรามักเป็นปัญหาที่คนมองข้ามเพราะดูยาก และบางโครงการที่เคยเจอก็อยากประหยัดงบประมาณเสียจนไม่ยอมลงทุนจัดการเรื่องรา แล้วบอกว่านั่นคือการโชว์ร่องรอยประวัติศาสตร์ ทั้งที่จริงแล้วหัวใจของการปรับปรุงบ้านเก่าไม่ว่าจะงบมากหรือน้อย คือการรักษาสมดุลระหว่างการรักษา Patina of Time หรือร่องรอยของกาลเวลาให้อาคารยังคงเสน่ห์ไปพร้อม ๆ กับทำให้อาคารหายใจได้ สะอาด ปลอดภัย เหมาะสมกับการใช้งาน

“ถ้าติดเครื่องปรับอากาศ ต้องมีช่วงเวลาเปิดหน้าต่างระบายอากาศออกบ้าง เพราะการเปิดเครื่องปรับอากาศติดต่อกันทั้งปี ตลอด 24 ชั่วโมง แปลว่ามีโอกาสทำให้อาคารชื้น สปอร์ของราที่ไม่ได้รับการดูแลจะเข้าไปอยู่ในแอร์ แล้วผู้คนที่เข้ามาใช้งานสูดเข้าไป อาคารก็จะกลายเป็นแหล่งผลิตเชื้อโรค เราจึงควรให้ความสำคัญกับการเตรียมอาคารในส่วนนี้ก่อน”

อีกส่วนที่ส่งผลต่อความปลอดภัยของอาคาร คือควรสืบให้รู้ว่าตึกเก่าที่เอามาปรับปรุงเคยเป็นอาคารประกอบกิจการซึ่งทำให้เกิดอันตรายมาก่อนหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น อาคารอาจเคยเป็นที่เก็บสารเคมีอันตราย แล้วเจ้าของคนถัดไปนำไปประกอบกิจการอาหาร โดยไม่ได้ทิ้งช่วงให้สารพิษระเหยออกไป อาจารย์บอกว่าถ้าเป็นเมืองนอกจะมีกฎหมายบอกไว้ชัดเจนว่าต้องทิ้งไว้กี่ปี ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่มีกฎข้อนี้ ซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายกับคนที่มาใช้งาน

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

วันก่อนที่ซอยประตูนกยูง

“ถนนข้างหน้านี้ก็เป็นปูนทั่ว ๆ ไป แบ่งเป็นบล็อก ๆ เป็นเส้น จำได้เพราะสมัยก่อนเล่นทอยเส้น เล่นทั้งลูกหิน ลูกข่าง เฉพาะถนนนี้ที่เราจะเล่นแบบนี้

“สุดซอย สมัยก่อนไม่มีศาลานี้ หลังหนึ่งเป็นบ้านพักอาศัย อีกร้านหนึ่งขายกาแฟ พอเลยร้านกาแฟจะมีสะพานไม้ลงไปที่โป๊ะ แล้วเวลาเรือมาจอด ลำหนึ่งกินเนื้อที่ประมาณ 2 โป๊ะ คือท่าเรือแดงกับท่าเรือเขียว พอเลยจากโป๊ะนี้ไปมีบ้านคนงานที่รับจ้างขนสินค้าขึ้นเรือ แล้วก็ไปเล่นแถวนั้น อย่างหน้ามะม่วง ตอนเด็ก ๆ ไม่มีตังค์ เขาก็จะเปิดฝา แหวกออกมาแบ่งเราบ้าง ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงแรด มะม่วงเปรี้ยว ๆ 

“แล้วริมน้ำจะมีสะพานยาวเหยียดเลย เพราะมีโกดังเก็บข้าวสารใหญ่อยู่ท้ายซอยที่ทุกวันนี้โกดังก็ยังอยู่ เวลาเล่นซ่อนแอบพยายามเข้าไปอยู่ข้างในเพราะเพื่อนจะหาไม่เจอ แต่ไม่กล้าไปคนเดียวเพราะไม่รู้เขาจะปิดตอนไหน 

“พอหน้าน้ำทะเลหนุน ในซอยนี้ทุกบ้านจะซื้อสวิงไว้ช้อนกุ้ง เพราะกุ้งมันลอย มันเมาน้ำ กุ้งแชบ๊วยไซซ์ไม่เล็ก เราไปซื้อสวิงที่มหานาคแล้วต่อไม้เอา แต่ละบ้านก็แย่งกัน ใครเห็นก่อนได้ก่อน หน้านั้นไม่ต้องซื้อกุ้งกินเลย

“หลังกลับจากโรงเรียน บ่าย ๆ เวลาน้ำลงก็ไปว่ายน้ำ ไปหาของเก่า เสร็จ 5 โมงเย็นกลับบ้าน ถ้าไม่อยากกินข้าวบ้านก็ไปนั่งริมน้ำ อยู่ตรงนั้นยังไงก็มีของกิน กลางวันจะมีก๋วยเตี๋ยวเรือมาขาย บ่าย ๆ มีขนมจีบ กลางคืนมีเรือขายข้าวต้ม มีแต่ของอร่อย

“ในอดีตยังไม่มีคนต่อเติมอะไรออกมาก็จะดูสะอาดสะอ้าน ทุกคนเอาเตียงผ้าใบไปกางนอน มี 2 แบบ แบบบางแสนที่ไปนั่งเล่นชายทะเล กับแบบนอนค้างคืนจะมีเสาไม้เสียบสี่ขา เอาไว้กางมุ้ง เขานอนตรงนั้นกัน เพราะลมเย็นสบาย”

คุณพ่อเล่า เมื่อเราถามถึงวันวานสมัยที่ถนนซอยประตูนกยูงยังเป็นปูน และพื้นที่โล่งท้ายซอยยังเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจประจำซอย ก่อนที่จะมีการสร้างบ้านติดริมน้ำ

โล้วเฮียบเส็ง

“จริง ๆ แถวนี้ยังรู้จักกันหมด ต่างแค่เมื่อก่อนแถวนี้ทุกบ้านทำธุรกิจ บ้านนี้ขายน้ำตาล บ้านนี้ขายทอฟฟี่ หรือตรง The Deck ดั้งเดิมขายหอม กระเทียม พอใครจะย้ายออกก็มาเสนอเซ้งให้เรา อย่างญาติผมแถวนี้ก็ 10 กว่าห้อง จนคนแถวนี้เค้าประชดว่า จะเปลี่ยนชื่อซอยจากประตูนกยูงเป็นซอยโล้วเฮียบเส็งให้พวกเอ็งละ”

ทายาทรุ่นสองของโล้วเฮียบเส็งหัวเราะปิดท้าย หลังพูดถึงพัฒนาการการเปลี่ยนเจ้าของบ้านและกิจการต่าง ๆ ในย่านซอยประตูนกยูง ตั้งแต่สมัยยังเป็นกงสีโล้วเฮียบเส็ง ก่อนอากงจะแยกออกมาเป็นโล้วเฮียบเส็ง แบบที่ปรากฏอยู่บนป้ายร้านภายในบ้าน

“ตรงนี้ใช้พื้นที่ข้างหลัง วางกระทะทองแดงเอาไว้ทำน้ำหวาน ใส่น้ำตาลครั้งละ 10 กระสอบ เคี่ยวจนละลายเป็นน้ำเชื่อม จะใช้ถังน้ำมันตัดครึ่ง แล้วตักให้มันไหลลงมาแล้วต่อท่อมาวางในบ้าน เป่าพัดลมให้มันเย็น แล้วถึงจะปิดฝาปี๊บ นี่คือการทำน้ำหวาน” 

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

กิจการดั้งเดิมของบ้านโล้วเฮียบเส็งคือการทำน้ำหวาน ก่อนขยับมาทำน้ำตาลปี๊บ โดยหลังเปลี่ยนกิจการก็มีการปรับพื้นที่หลักในการทำงานจากหลังบ้านมาอยู่ภายในบ้านแทน พื้นที่นั่งเล่นโล่ง ๆ ที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน สมัยก่อนเคยเต็มไปด้วยปี๊บน้ำตาลสูงร่วม 5 ชั้น สูงเท่าที่คนงานตัวสูงที่สุดจะเทินขึ้นไปได้ เพราะเน้นการขายส่งออกไปต่างอำเภอ จะค้าปลีกบ้างก็เป็นคนในละแวกนี้มาขอซื้อ 

“มี้แต่งเข้ามา พ.ศ. 2533 ช่วยอากงทำบัญชีอยู่ 2 – 3 ปี ตอนท้องจูน เราอยู่บ้านฝั่งนี้ ตอนกลางวันจะอยู่ชั้นบนที่เชื่อมถึงกันทั้ง 3 คูหา เพราะข้างล่างมันร้อน เขาทำน้ำตาลกัน โดนไม่ได้เลย ต้องมีไม้กั้นกันตก”

คุณแม่เล่าถึงการใช้พื้นที่ในบ้านสมัยทุกครอบครัวยังอยู่ในตึกแถวแห่งนี้ โดยครอบครัวของคุณพ่อคุณแม่อยู่ฝั่งคูหาที่ 3 ด้านใน ที่ปัจจุบันแบ่งไปเป็นของญาติ ชั้นล่างโล่ง ๆ ใช้ทำน้ำตาล ส่วนเหล่าเต๊งหรือชั้น 2 ของบ้านเป็นที่อยู่อาศัย ซอยเป็นห้องนอน 2 ชั้น ทำให้ระยะระหว่างพื้นถึงฝ้าไม่สูงมากนัก

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

“ส่วนใหญ่เราจะมาเยี่ยมอากงวันอาทิตย์ ตอนอาม่าอยู่ก็จะทำเมนูโปรดรอหลาน ๆ 

“ที่ประจำของอากงจะอยู่ใต้บันได เป็นโต๊ะทำงาน ตรงผนังปูกระเบื้องที่เดียวของบ้าน” คุณพ่อเสริม

LOU HIEB SENG

พอตัดสินใจซ่อมบ้าน โลโก้ LOU HIEB SENG สีแดงฝีมือของจูนก็เริ่มปรากฏในสื่อโซเชียล เหมือนเป็นสัญญาณการเริ่มบทใหม่ของบ้าน จากป้ายไม้เก่าแก่ภาษาจีนที่ติดอยู่ในร้าน สู่ป้ายภาษาอังกฤษส่งเสียงทักทายในโลกออนไลน์ในสังคมสมัยใหม่

“ตอนแรกไม่ได้คิดเลยว่าจะทำอะไร เพราะปกติเราต้องมีพิธี ไหว้สารทจีน ตรุษจีน วันครบรอบอาม่า วันครบรอบอากง คือเราต้องมาใช้พื้นที่เพราะบรรพบุรุษอยู่ที่นี่เพราะอากงก็อยากให้ทำตามประเพณีจีน แล้วพอดีจูนเค้ามีไอเดีย ซึ่งมองแล้วว่าถ้าให้เขาทำ เรายังใช้พื้นที่มาดูแล กราบไหว้อากงได้ ทุกวันนี้ก็ต้องมาเปลี่ยนดอกไม้ มาไหว้อากงอาม่าตลอด สมมติว่าจะให้ใครเช่า เราต้องมาคุยว่าถึงวันที่เรามีพิธีกรรมคุณอาจจะต้องหยุดขายนะ ซึ่งมันน่าจะไม่สะดวก”

คุณพ่อเกริ่นถึงที่มาที่ทางครอบครัวตัดสินใจว่าจะลงมือซ่อมบ้าน แล้วสร้างฟังก์ชันการใช้งานใหม่เอง 

สิ่งแรกที่ต้องทำคือบันได เพราะบันไดเดิมที่ใช้ขึ้นชั้น 2 อยู่ในห้องคูหาที่ 3 ซึ่งปัจจุบันกั้นเป็นพื้นที่ของญาติไปเรียบร้อยแล้ว 

จูนย้ำกับเราอีกครั้งว่าการสำรวจร่วมกับผู้เชี่ยวชาญเป็นสิ่งจำเป็น นอกจากตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยแล้ว ยังทำให้การปรับปรุงประหยัดขึ้นได้ เพราะการสำรวจครั้งนี้พาไปเจอช่องบันไดเก่าภายในบ้าน ทำให้ไม่ต้องเสียเงินทำบันไดใหม่ภายนอกอาคารที่จะทำให้งบประมาณบานปลาย 

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

“ตอนแรกดูจากชั้นล่างไม่รู้ว่าเคยมีช่องบันไดเพราะชั้นล่างมีฝ้าบังอยู่ แต่พอสำรวจพื้นไม้ชั้น 2 เห็นรอยที่พื้น แต่มีตู้ทับเลยลองยกขึ้นดู ทำให้รู้ว่ามีพื้นส่วนหนึ่งที่ปูแนวทแยงไม่เหมือนบริเวณอื่น จากตรงนั้นเลยค่อย ๆ แกะรอยลงมาข้างล่าง จนมาเจอรอยเส้นเฉียงที่น่าจะเป็นรอยบันไดเดิมที่ผนังปูนด้านล่าง”

การพบร่องรอยการเคยมีอยู่ของบันไดครั้งนี้ ทำให้จูนคุยกับคุณพ่อว่าน่าจะต้องรื้อฝ้าออก โดยหวังว่าพื้นแนวทแยงที่เห็นจะเป็นช่องบันไดเดิมจริง ๆ เพราะถ้าเปิดขึ้นไปแล้วเป็นพื้นธรรมดา การทำบันไดใหม่จะกลายเป็นเรื่องยากและใช้เงินเยอะขึ้นมาทันที แต่ครั้งนี้โชคเข้าข้างจูน 

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน
โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

บันไดใหม่ที่จูนออกแบบเองเลยเกิดขึ้นมาบนพื้นที่เดิม ด้วยการเสริมคานเหล็กรับน้ำหนักสีเขียวละมุน 1 อัน รับกับโครงสร้างบันไดเหล็กหุ้มด้วยสังกะสี และราวมือจับไม้เนื้อแข็งที่ทายาทรุ่นสามลงมือขัดผิวด้วยตัวเอง วัสดุที่เลือกมาทั้ง 2 อย่างนอกจากคุณสมบัติที่ทำงานง่าย ทนทานแล้ว ยังสะท้อนถึงแรงบันดาลใจจากปี๊บน้ำตาลที่วางคั่นด้วยไม้ทีละชั้น ตั้งเรียงรายอยู่ในพื้นที่นี้สมัยยังทำกิจการน้ำตาลอยู่ เป็นการบอกเล่าประวัติศาสตร์ของบ้านผ่านวัสดุใหม่ได้อย่างแยบยล เพราะผู้มาเยือนจำแนกส่วนที่ทำใหม่ได้ไปพร้อม ๆ กับรับรู้เรื่องราวเก่าของบ้านในคราวเดียว พื้นไม้ที่ปิดช่องบันไดก็ยังไม่หายไปไหน ถูกย้ายมาเป็นพื้นชานพัก เข้ากันได้ดีกับพื้นเหล็กใหม่สีดำของบันได

ฝ้าสีเขียว พื้นสีแดง เป็นของเดิมที่คุณพ่อเล่าว่าเป็นการปรับปรุงตั้งแต่สมัยอากงได้บ้านหลังนี้มา เป็นพื้นคอนกรีตผสมสารเคลือบแกร่งที่ใช้ในโรงงาน เพราะการทำธุรกิจน้ำตาลของที่บ้านต้องการความทนทาน ทั้งจากการสต็อกของ ขนส่ง ไปจนถึงการทุ่มลงกับพื้นให้น้ำตาลในปี๊บแตก เพื่อทำให้ลูกค้าตักไปใช้ได้ง่าย ส่วนฝ้าสีเขียวที่มีทั้งเขียวแก่เขียวอ่อน สันนิษฐานว่าเคยเป็นเขียวเดียว แต่เขียวที่เข้มขึ้นเกิดจากเขม่าควันจากขั้นตอนการทำน้ำตาล

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

“เรื่องถัดมาคืองานระบบ มีเรื่องของฟังก์ชันที่เราต้องใช้ น้ำ ไฟ และสุขภาวะทางอากาศ เพราะบ้านนี้มีเชื้อรา อันดับแรกคือต้องขูดทิ้งเลย แล้วเคลือบน้ำยา TOA ช่วยกันความชื้น อันนี้แล้วแต่สไตล์คน อย่างเราเห็นคุณค่าของของเก่า เลยอยากเก็บเทกซ์เจอร์เก่าเอาไว้ เลยเลือกน้ำยาเคลือบแบบเคลือบด้าน” จูนว่า พร้อมชี้ให้เราดูสีบริเวณบันไดที่ขูดออกไปเพื่อกำจัดเชื้อรา แต่ยังรักษาร่องรอยของกาลเวลาให้เห็นเส้นบันไดเดิม

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

เมื่อถามถึงงานระบบ จูนบอกว่ายากมาก ต้องไล่เช็กใหม่ทั้งหมด โดยเฉพาะส่วนห้องน้ำที่ญาติต่อเติมไว้ให้อากงใช้ แต่ขาดปั๊มน้ำทำให้ที่ผ่านมาใช้การไม่ได้ พอปรับปรุงครั้งนี้เลยต้องเดินท่อใหม่จากหน้าบ้าน ทะลุกำแพงกลางบ้านเข้าไปผ่านปั๊มก่อน จูนตัดสินใจเดินท่อลอยแบบเก่าแทนการกรีดฝังในผนัง เพราะบ้านอายุเยอะแล้ว การเดินท่อลอยรบกวนผนังน้อยและดูแลง่ายกว่า แค่ทาสีท่อแล้วอาศัยเฟอร์นิเจอร์บางส่วนช่วยบัง ก็ทำให้การเดินท่อลอยเนียนไปกับบ้านเรียบร้อยดี

ระบบระบายน้ำเป็นอีกเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะถ้าจัดการรางระบายได้ไม่ดี มีโอกาสที่น้ำจะย้อนเข้ามาในอาคาร แล้วทำให้เกิดความชื้นสะสมและอาคารวิกฤตแบบที่อาจารย์บุ๋มบอกไว้ตอนต้น 

ส่วนระบบระบายอากาศ ทั้งจูนและคุณพ่อเห็นตรงกันว่าจะไม่ติดแอร์ บ้านนี้มีช่องลมเยอะอยู่แล้ว จากการทำธุรกิจน้ำหวานและน้ำตาล ทำให้ภายในบ้านเย็นสบาย มีลมพัดผ่านตลอด โดยเฉพาะตอนเปิดประตูหลังบ้านแล้วได้ลมจากแม่น้ำ

“เรื่องไฟและปลั๊ก พอเราแพลนว่าจะเปิดบ้านเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมรองรับคนหลาย ๆ คน ก็ต้องดูว่ามันเพียงพอมั้ย ตอนแรกแพลนไฟไว้แบบหนึ่ง แต่พอเปิดพื้นที่ให้คนเข้ามาดูบ้าน ช่วงจัดแสดงงาน Bangkok Design Week แล้ว เราก็เริ่มเห็นว่าตรงไหนพอหรือไม่พอ การเปิดสเปซครั้งนี้เหมือนได้ลองรันระบบของบ้าน ซึ่งเป็นข้อดีที่เรายังไม่ได้ทำไฟเสร็จเรียบร้อยดี เพราะถ้าทำแล้วต้องมาเติม ก็เหมือนต้องเปิดแผลใหม่”

ส่วนมุมโซฟากับโต๊ะไม้ใต้หิ้งบรรพบุรุษ เป็นส่วนที่ตั้งใจให้เป็นพื้นที่แฮงก์เอาต์ของครอบครัวและเพื่อน ๆ จูนจัดวางเฟอร์นิเจอร์เหมือนสมัยที่อากงยังอยู่ แม้จะต้องขยับที่มา 1 คูหา แต่ก็ตั้งใจรักษาบรรยากาศบ้านแบบเดิม เลยกรุกระเบื้องดินเผาสีแดงเข้มใหม่ไว้ที่ผนังให้คล้ายแบบเดิมด้วย

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง
โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

“มันเป็น Elements บ้าน ๆ ที่ทำให้รู้สึกว่านี่เป็นมุมของเขา เป็นมุมที่นั่งคุยกับลูกหลาน แจกอั่งเปา มันมีเรื่องราวอยู่”

โซฟาสีเทาหน้าตาแสนเชยจากอิเกีย เป็นสิ่งที่จูนบอกว่าเวลาทำงานในฐานะอินทีเรียดีไซเนอร์ไม่เคยคิดเลือกโซฟาหน้าตาประมาณนี้ให้ลูกค้าเลย แต่พอมาอยู่ในบ้านเก่า มันกลับเข้ากันดีมาก ๆ และเหตุผลที่เลือกโซฟามาวาง ไม่ใช่เพราะความสบายที่ตั้งใจเติมเข้ามาใหม่ แต่สมัยก่อนเคยมีโซฟาอยู่ตรงนี้ เป็นที่รับแขก นั่งพักผ่อน อากงใช้พูดคุยกับลูกหลาน ทำให้สเปซตรงนี้เป็นเหมือน Living Room ของบ้าน 

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

“ปฏิทินนี่ก็ยังทำตามอากงอยู่”

จูนชี้ไปที่ผนังหลังโซฟาที่มีนาฬิกาและปฏิทินฉีกแบบจีนแขวนอยู่เหมือนตั้งใจจัดวางใหม่ แต่จริง ๆ แล้วใช้ตำแหน่งนอต-ตะปูเดิมที่เคยเจาะไว้ 

“ปฏิทินที่ฉีกแล้วอากงจะเก็บไว้ในลิ้นชักโต๊ะไม้ จริง ๆ เก็บไว้จดโน้ตกับรองเศษอาหารเพื่อเอาไปทิ้ง แต่สำหรับเรา ตอนเด็กเวลามาหาอากง กระดาษพวกนี้คือกระดาษวาดรูป” 

แต่ใครจะรู้ว่าเศษกระดาษจากปฏิทินซึ่งทำหน้าที่เป็นกระดาษวาดรูปของเด็กผู้หญิงตัวน้อยในวันนั้นจะทำหน้าที่ได้ดีจนพาทายาทรุ่นสามกลับมาลงมือปรับปรุงบ้าน แล้วเก็บรักษาดีเทลเอาไว้อย่างครบถ้วนเหมือนเดิม

“เพราะมันทำให้เรานึกถึงบ้านอากง” 

วันนี้ที่ซอยประตูนกยูง

หลังจากเริ่มการสำรวจซ่อมแซมมาร่วมปี โล้วเฮียบเส็งก็ได้ฤกษ์ดีในการเปิดบ้านต้อนรับแขกเป็นครั้งแรกในช่วง Bangkok Design Week เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยทำหน้าที่จัด Exhibition ร่วมกันกับนักออกแบบ 5 คนในโปรเจกต์ Coollaboration ที่ให้นักออกแบบร่วมสำรวจบ้าน แล้วดีไซน์เฟอร์นิเจอร์ใหม่ที่ได้แรงบันดาลใจจากองค์ประกอบต่าง ๆ ในบ้านโล้วเฮียบเส็ง ไม่ว่าจะเป็นโต๊ะ เก้าอี้ โคมไฟ ทำออกมาได้น่าสนใจจนมีคนมาเยี่ยมเยียนอย่างอบอุ่น เราจึงอดถามทายาททั้ง 2 รุ่นถึงความรู้สึกในการเปิดบ้านไม่ได้  

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

“พอใจและภูมิใจเวลาที่ใครมาบ้าน เค้าจะชมศิลปะอะไรก็แล้วแต่ แต่หลาย ๆ คนที่อยู่ยุคเดียวกันกับผมยังมาเที่ยว ทั้งที่คนรุ่นนี้ไม่เที่ยวบ้านเก่ากันเท่าไหร่เพราะโตมากับมัน แล้วเขาชื่นชมที่เราเก็บของเดิมเอาไว้ ในขณะเดียวกันเขาก็ไม่ติงกับบันไดสมัยใหม่ เพราะเราก็มีเรื่องว่าทำไมถึงเลือกใช้วัสดุนี้ คนมาแล้วยังเห็นความเป็นบ้านอยู่ พอเป็นตึกแถว ไม่ใช่พิพิธภัณฑ์ เขาจะได้เห็นของดิบ ๆ เดิม ๆ” คุณพ่อตอบพร้อมรอยยิ้ม ซึ่งเรารับรู้ได้ว่าเขาภูมิใจกับการปรับปรุงบ้านครั้งนี้มากจริง ๆ เพราะคุณแม่แอบกระซิบว่า ฉายาของคุณพ่อคือ ‘ย้งยิ้มยาก’

โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน
โล้วเฮียบเส็ง : โปรเจกต์ชุบชีวิตโรงงานน้ำตาลสมัย ร.7 สู่ Creative Space แห่งใหม่ในย่านท่าเตียน

“ตอนแรกไม่ได้คาดหวังมาก คิดเป็นบรรยากาศมากกว่า แต่การเปิดบ้านครั้งนี้ทำให้เห็นศักยภาพของบ้านอากงว่ามันมีบรรยากาศบางอย่างที่ดึงทั้งคนรุ่นเก่ารุ่นใหม่เข้ามา 

“ที่เกินคาดคือตอนแรกตั้งใจให้เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ในชุมชนเก่า ไม่ได้คิดว่าคนในชุมชนจะให้ความสนใจ แต่กลายเป็นว่าเขาก็เข้ามาใช้พื้นที่ด้วย เป็นคนเดิมที่เราเคยรู้จักกัน หรือแม้กระทั่งญาติที่ไม่ได้เจอกันนานแล้วก็มาเยี่ยมเรา กลับมานั่งคุยกันที่มุมใหม่ในบ้านเก่า 

“บางทีเรารู้จักรุ่นลุก แต่ยังไม่รู้ว่าพ่อเขาคนไหน แต่พอเปิดหน้าบ้านแล้วเอาทั้ง 2 รุ่นมาเจอกัน เลยมีโอกาสนั่งคุยว่าไหน ๆ คนรุ่นเราอยู่แถวนี้หลายบ้าน น่าจะรวมตัวกันทำประโยชน์ให้ชุมชนแห่งนี้ได้ด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง”

จูนปิดท้ายด้วยความตั้งใจที่อยากให้การปรับปรุงบ้านโล้วเฮียบเส็งได้เป็นพื้นที่ที่รองรับกิจกรรมหลายรูปแบบ ทั้งการทำหน้าที่บ้านเก็บความทรงจำของครอบครัว เป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของของนักออกแบบ เป็นพื้นที่พบปะพูดคุยของคนในชุมชนและผู้คนที่สนใจอยากแวะเวียนมานั่งเล่น 

ความตั้งใจนี้เองที่ทำให้บ้านโล้วเฮียบเส็งถึงแม้ไม่ได้มีงบประมาณมากมาย 

ไม่ได้ปรับปรุงแบบเบ็ดเสร็จหมดจด 

แต่งดงาม

โปรเจกต์ปรับ ‘โล้วเฮียบเส็ง’ จากโรงงานน้ำตาลในซอยประตูนกยูง ย่านท่าเตียน สู่พื้นที่สร้างสรรค์ที่ยังคงกลิ่นอายของอากง

สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมกิจกรรมหรืออยากใช้พื้นที่บ้านโล้วเฮียบเส็ง ติดต่อสอบถามได้ที่ LOU HIEB SENG 

ส่วนผู้อ่านที่อยากปรับปรุงบ้านเก่าแต่ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ติดต่อขอคำปรึกษาได้ที่ BRICC – Building Rehabilitation and Innovative Conservation Centre ศูนย์นวัตกรรมการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคาร คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

Writer

Avatar

นิปุณ แสงอุทัยวณิชกุล

สถาปนิกที่สนใจในงานเขียน สถาปัตยกรรม ที่ว่าง เวลา และหมาฟลัฟฟี่

Photographer

Avatar

ผลาณุสนธิ์ ผดุงทศ

ช่างภาพที่โตมาจากเมืองทอง รักแมว ชอบฤดูฝน และฝันอยากไปดูบอลที่แมนเชสเตอร์