เขาวังเคเบิลคาร์ เป็นทั้งสถานีรถรางไฟฟ้าเพื่อชมอุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี และแหล่งร้านขายของที่ระลึกนักท่องเที่ยวมานมนาน นอกจากเป็นแหล่งช้อปปิ้งมาหลายทศวรรษ ปัจจุบันเคเบิลคาร์ อาเขต ด้านล่างยังเป็นที่ตั้งคาเฟ่เก๋และจุดถ่ายรูปสวย 

มากไปกว่านั้น ที่นี่ยังเป็นแหล่งข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวเพชรบุรีแบบครบครัน มีนิทรรศการงานช่างศิลป์สกุลเมืองเพชร จุดเวิร์กชอปทำพวงมโหตร ตอกกระดาษ ทำขนมไทย ไปจนถึงวาดรูประบายสีและพิมพ์ลงบนผลงานอย่างกระเป๋าผ้า แก้วน้ำ ปั้นเซรามิก แถมยังมีมุมขายของคราฟต์ของที่ระลึกจากลุงป้าในชุมชนทั่วเพชรบุรี เรียกได้ว่ามาที่เดียว ได้ครบทุกสิ่งอัน เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมที่เหมาะกับครอบครัวที่มีเด็ก ๆ และน่าจะถูกใจคนรักศิลปวัฒนธรรม

ผู้อยู่เบื้องหลังการแปลงโฉมพื้นที่ว่างที่นี่คือ ‘โรงเรียนลูกหว้า’ โดย ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ และบรรดาลูกศิษย์ อย่าง หนูแดง-สุนิสา ประทุมเทือง, ป๊อป-สุดาลักษณ์ บัวคลี่ และ นัท-ภริตา บุตรเจียมใจ ที่ยืนหยัดเผยแพร่ศิลปะให้ทั้งเยาวชนเมืองเพชร และนักท่องเที่ยวทุกวัยได้สนุกกับศิลป์เมืองพริบพรี

กว่า ‘กลุ่มลูกหว้า’ จะสุกงอมเป็นโรงเรียนศิลปวัฒนธรรมที่มีอายุเกือบ 2 ทศวรรษ พวกเขาทำได้อย่างไร และหยัดยืนแบบไหนถึงประคองโมเดลนี้มาอย่างยั่งยืน เราพาไปหาคำตอบจากเหล่าคุณครูที่ใจกลางเมืองเพชร

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

เป็นความผิดของอินเทอร์เน็ต ที่ทำให้ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ครูสอนภาษาอังกฤษชั้นมัธยม 1- 6 ของโรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ คิดอ่านไม่เหมือนคนอื่น ๆ 

ย้อนเวลาไปในยุคที่อินเทอร์เน็ตเป็นของใหม่ในเมืองไทย โดยเริ่มเข้ามาในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ครูจำลองวานเพื่อนที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ช่วยต่อแอกเคาน์เข้าโมเด็มอินเทอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์ส่วนตัว การเชื่อมต่อกับโลกกว้างภายนอกนาทีละ 9 บาทนั้นแพงระยับ แต่ทำให้หนุ่มเมืองเพชรเป็นบุคคลแรก ๆ ในจังหวัดที่มีอีเมล และริเริ่มโครงการให้นักเรียนเพชรบุรีใช้คอมพิวเตอร์แชทพูดคุยภาษาอังกฤษกับนักเรียนอเมริกันผ่านระบบ ICQ โดยมุ่งหวังให้เด็ก ๆ พูดภาษาตะวันตกได้เก่งขึ้น แต่ผลลัพธ์ที่ประจักษ์นั้นกระแทกใจอย่างบอกไม่ถูก

“โลกมันกว้างมาก แต่ตอนนั้นเวลาพูดคุยกับฝรั่ง เวลาแนะนำตัวก็ 4 ประโยค Hello, My name is Chumlong. I am 14 years old. I study in Phetchaburi. I live in Phetchaburi Thailand. เด็กไทยถามเด็กอเมริกาว่า ดาราคนโปรดของคุณชื่ออะไร สีที่คุณชอบคือสีอะไร เด็กฝรั่งถามว่า ในวันหยุดคุณไปมั่วสุมกันที่ไหน วัยรุ่นนุ่งกางเกงยีนส์ยี่ห้ออะไรกัน โห เด็กเราหงายตึง เสียหน้า มันเห็นได้ชัดมาก ๆ ว่าโลกการศึกษาที่เราอยู่ มันแคบมาก ๆ เลย” 

นับตั้งแต่นั้น โจทย์ใหญ่ของครูไฟแรง ไม่ใช่แค่ทำอย่างไรให้เยาวชนในเมืองเล็ก ๆ อย่างเพชรบุรีได้การศึกษาทัดเทียมนักเรียนในเมืองหลวง แต่ทำอย่างไรถึงจะสร้างเด็ก ๆ เพชรบุรีให้มีศักยภาพไม่แพ้ประชากรโลกคนอื่น ๆ 

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

เป็นความคิดที่ไม่แปลกประหลาดอันใดในยุคนี้ แต่ในยุคที่ยังไม่มีระบบ Windows ใช้ในเมืองไทยเสียด้วยซ้ำ แนวทางการสอนหนังสือของครูจำลอง ซึ่งตอนนี้อายุ 60 กว่าปีแล้ว ถูกมองว่าแปลกพิลึก

“ครูเป็นครูภาษาอังกฤษที่พูดภาษาอังกฤษไม่เหมือนฝรั่ง ก็เลยถูกตำหนิติติงอย่างรุนแรงว่า accent ไม่ได้ แต่โชคดีที่ตอนบรรจุครูปีแรก ครูได้เพื่อนเป็นครูจากอเมริกา เขาให้กำลังใจเราว่าเขาก็พูดภาษาไทยสู้เราไม่ได้ เพราะฉะนั้นไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องนี้ ครูก็เลย เอ้อ สอนไม่เหมือนใครในโรงเรียนไม่เป็นไร สอนเหมือนไอ้แจ็ค”

“การเรียนรู้เนี่ย มันถูกใครไม่รู้แยกว่าไอ้นี่เป็นเรื่องนี้ ไอ้นี่เป็นเรื่องนั้น จริง ๆ แล้วเราก็ใช้ชีวิตบูรณาการมาตลอดใช่มั้ย ครูไม่เคยแยกชีวิตว่าเลยว่าตรงนี้ภาษาอังกฤษ ตรงนี้ศิลปะ ตรงนี้สุขศึกษา มันบูรณาการกันหมด งั้นของที่ถูกทิ้งก็เอามาทำประโยชน์ ห้องว่างเยอะแยะในโรงเรียนเราก็เอามาใช้งาน แล้วชวนเด็ก ๆ มาช่วยภารกิจ ซึ่งพอมาอยู่แล้วมันเพลินจะตาย ใครมาช่วยไม่ต้องเข้าแถวหน้าเสาธงช่วงเช้า ก็สนุกใหญ่”

จากการเรียนนอกเวลาเรียน นำไปสู่การเรียนรู้หลังเลิกเรียนและการเรียนรู้ในวันหยุด โดยครูจำลองเริ่มพาเด็ก ๆ ไปเรียนรู้กับครูช่างศิลป์ เพราะยังจำได้ดีว่าตอนเขายังเยาว์วัย ไม่เคยมีพื้นที่ให้เด็กเรียนรู้ศิลปะท้องถิ่นอย่างจริงจัง ต้องเรียนรู้แบบครูพักลักจำ แถมเขายังเสียดายแทนเด็กยุคหลัง ๆ ที่ไม่ได้โอกาสกระโดดน้ำตามคลอง วิ่งตามทุ่ง ไปปักเบ็ด ดักผึ้งในป่า เหมือนสมัยเขาเด็ก ๆ อีกต่อไปแล้ว 

“การเรียนรู้ในห้องเรียนมันไม่พอในการใช้ชีวิตที่เกื้อกูลกัน มันต้องมากกว่านั้น เนื้อหาความรู้ที่เรียนมันถูกกำหนดจากที่อื่น จริงหรือไม่จริงบางทีก็ไม่รู้ แต่ว่าความรู้จากชุมชนเนี่ยมันหาข้อมูลได้ เรียนรู้ได้เลย ครูก็เลยมองว่ามันต้องเปลี่ยน ให้เมืองเป็นเมืองที่คนรู้จักเรียนรู้ คือไม่ต้องไปเรียนรู้ที่อื่น เรียนรู้ในชุมชนก็ได้ เพราะว่าเรื่องที่เรามีอยู่มันเยอะ และก็เป็นทุนอย่างดีของการเรียนรู้ แล้วเราค่อย ๆ สะสมทุนในพื้นที่กันไป ใช้ศิลปวัฒนธรรมมาสร้างศิลปะสร้างสรรค์”

ไอเดียที่สุกงอม ทำให้ ‘กลุ่มลูกหว้า’ คลับของเยาวชนเพชรบุรีได้กำเนิดขึ้น

ครูจำลองมองว่าการพานักเรียนไปเรียนรู้งานศิลป์ และออกไปพูดคุย สอนงานศิลปะเบื้องต้นกับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติ จะช่วยสร้างเสริมทักษะชีวิตจำเป็นให้เด็กนักเรียนไทยขี้อายได้ โดยเริ่มจากพาลูกหว้าทั้งหลายไปออกงานราชการ ไปสาธิตงานศิลปะที่ชะอำ แต่ด้วยระยะทางไกล เดินทางบ่อย ๆ ไม่สะดวก และเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยด้วย จึงตระเวนหาสถานที่ใกล้ ๆ ในที่สุดทางเขาวังเคเบิลคาร์ก็เป็นผู้ใหญ่ใจดี อนุเคราะห์พื้นที่ว่างให้เหล่าลูกหว้าได้ปล่อยของกันที่นี่ตั้งแต่ พ.ศ. 2549 หรือราว ๆ 17 ปีก่อน 

แรกเริ่มเด็ก ๆ สอนนักท่องเที่ยวทำธงราวฉลุลายสิงห์สาราสัตว์ ตามอัตลักษณ์ช่างสกุลเมืองเพชร แต่ไม่ประสบผลสำเร็จนักเพราะคลาสยากเกินไป จึงปรับมาสอนทำพวงมโหตร ปรากฎว่าฮิตฮอตเป็นปรากฏการณ์ฟื้นคืนชีพภูมิปัญญา ได้รับความสนใจล้นหลามจากนักท่องเที่ยวทั่วสารทิศ จากจัดเดือนละครั้ง ต้องเปลี่ยนเป็นจัดทุกวันเสาร์เพราะมีเด็ก ๆ มารอเรียน ยิ่งทำใบปลิวใส่กระดาษโรเนียวแจก ไป ๆ มา ๆ ข้อมูลเรื่องพวงมโหตรของกลุ่มลูกหว้าก็กลายเป็นความรู้มาตรฐานของชาติที่แพร่หลายไปทั่วอินเทอร์เน็ต

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

ด้วยวิธีการปรับผู้เรียนเปลี่ยนเป็นผู้สอน การสร้างพื้นที่เรียนรู้ของนักท่องเที่ยวจึงเป็นรูปเป็นร่างชัดเจนขึ้น จาก 1 ห้อง ที่ได้ใช้สอนวิชาพวงมโหตรฟรี ๆ ก็ขยับขยายเป็นอิสระมากขึ้นเมื่อทางเขาวังให้พื้นที่เก็บของเพิ่มเติม นอกจากเรียนวิชาทำพวงมโหตรได้ฟรีแล้ว ห้องด้านหน้านี้ยังใช้จัดนิทรรศการ เช่น นิทรรศการ ‘การถอดลายช่างเมืองเพ็ชร์ สร้างงานศิลป์สู่เมืองสร้างสรรค์’ ที่ช่างศิลป์ชั้นครูที่สอนเด็ก ๆ ลูกหว้าก็ได้นำตัวอย่างผลงานมาจัดแสดง หรือสาธิตวิธีการทำงานช่างแบบต่าง ๆ เช่นงานช่างไม้ งานประดับกระจก งานแกะสลักต่าง ๆ 

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี
โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

“ครูมีความฝันมานานแล้วว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดที่ใคร ๆ ควรจะมา มันเป็นพื้นที่ที่เรียนรู้ได้ทุกตารางนิ้วเหมือนเมือง Oxford” ชาวเมืองเพชรผู้เกษียณก่อนกำหนดมามุ่งมั่นกับโครงการลูกหว้า เอ่ยเสียงจริงจัง ไม่มีล้อเล่น

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

เพื่อขยับเข้าใกล้ความฝันขึ้นอย่างยั่งยืน ซึ่งครูจำลองนิยามสั้น ๆ ว่า “ไม่เลิก ถึงไม่มีเงินก็ไม่เลิก ยังไงก็ไม่เลิก ยั่งยืนแน่” กลุ่มเด็ก ๆ ที่มาเป็นอาสาสมัครในวันเสาร์อย่างกลุ่มลูกหว้า ซึ่งพ่วงงานรับจัดกิจกรรม ติวหนังสือ ติวนักเรียนเข้ามหาวิทยาลัย จึงแตกสาขาเป็น ‘โรงเรียนลูกหว้า’ ซึ่งปักหลักตั้งพื้นที่อยู่ที่เขาวังเคเบิลคาร์ และจากที่มีครูใหญ่คนเดียว ก็มีครูรุ่นใหม่อีก 3 คน อดีตลูกหว้าที่เรียนกับครูจำลองตั้งแต่สมัยมัธยม รับหน้าที่ดูแลเวิร์กช็อปคนละอย่าง 

เวิร์กช็อปทำขนมจากตาลโตนดสุก เป็นเวิร์กช็อปวันหยุดที่เด็ก ๆ โปรดปราน ทำให้แขกไปใครมาได้รู้จักเมืองแห่งต้นตาลและขนมหวาน นอกจากชิมขนมร้อน ๆ แล้วก็ยังขอเรียนวิชาได้เต็มที่จากนัท 

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี
โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

“ตาลโตนดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของเพชรบุรี สำคัญมากขนาดรุ่นปู่ย่าตายายเขาเก็บภาษีตาลโตนดมาสร้างวังได้เมื่อร้อยปีก่อนบนยอดเขา มันเยอะขนาดไหน แล้วทำไมเราไม่ใช้เรื่องโตนดมาสร้างเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โตนดที่เราปั้นเป็นโตนดสุก เหมาะกับครูผู้หญิง เพราะไม่ต้องปีน พอมันสุกก็หล่นเอง เราก็ไปเก็บลูกสุกมาแกะเนื้อออก เนื้อโตนดนี่ก็น่าวิจัยเป็นแป้งโตนดนะ เราเคยทดลองใช้แป้งโตนดแทนแป้งข้าวเจ้า เอามาย้อมใบเตยทำขนมชั้นสีเขียวก็ได้ นี่เป็นการรณรงค์แบบลูกหว้า พูดเรื่องหัวใจหลักพื้นฐาน 3 อย่างของขนมไทย คือแป้ง น้ำตาล แล้วก็มะพร้าว” ครูจำลองอธิบายอย่างคล่องแคล่ว

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

เวิร์กช็อปปั้นเซรามิกของหนูแดง เกิดจากความร่วมมือกับคณาจารย์มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำให้โรงเรียนลูกหว้ามีเตาเผาเซรามิกด้วย ใครมาปลดปล่อยจินตนาการด้วยการปั้น ก็รอเผา ลงสี และเผาอีกครั้งจนได้ผลงานกลับบ้านที่สวยเรียบร้อย แต่ว่าต้องใช้เวลาสักหน่อยนะ 

โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี
โรงเรียนลูกหว้า : รร.ช่างศิลป์ที่ทำให้เด็กจากทุกที่สนุกกับศิลปะเมื่อมาเยือนเพชรบุรี

สุดท้ายคือเวิร์กช็อปภาพวาดภาพพิมพ์ของป๊อป รูปวาดระบายสีของเด็ก ๆ ไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ในกระดาษ พ่อแม่ผู้ปกครองและน้อง ๆ เลือกได้ว่าอยากพิมพ์ภาพเหล่านั้นลงเสื้อ กระเป๋า แก้วน้ำ หรือแต่งเติมภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้ตามสะดวก โดยภาพเหล่านี้เป็นลิขสิทธิ์ของเด็ก ๆ ที่ผู้ใหญ่ที่สนใจ ติดต่อเช่านำไปใช้ได้ตามโอกาส

คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี
คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี

เวิร์กช็อปทั้งหมดมีค่าใช้จ่ายเรื่องวัสดุอุปกรณ์เล็ก ๆ น้อย ๆ ถือว่าถูกมาก สำหรับกิจกรรมที่เด็ก ๆ จะได้สนุกและมีสมาธิกับสิ่งประดิษฐ์นับครึ่งค่อนวัน 

“พ่อแม่ยุคนี้เขาไม่ไว้ใจระบบการศึกษาที่รัฐจัดให้ แต่ไม่มีทางเลือก เขาจึงต้องการหาพื้นที่เรียนรู้แบบปฏิบัติให้เด็ก ๆ”

“ที่เราใช้คำว่าโรงเรียนลูกหว้า หลายคนถามว่าทำไมไม่ใช้คำอย่างอื่น อย่าง สถาบัน แหล่งเรียนรู้ เพราะเราอยากจะชนกับโรงเรียนเลย แต่ว่าการเรียนการสอนของเราต่าง เราลงมือปฏิบัติจริง ประเมินผลได้เมื่อจบ ป๊อปเรียนสายวิทย์มา เขาทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่อง ‘ความน่าจะเป็น’ ได้ภายใน 2 ชั่วโมง อุปสรรคของโรงเรียนคือการสงวนเวลา แบบนั้นมันไม่ควรจะมี วันนี้อยากเรียนอันนี้ก็เรียนไปเถอะ”

โรงเรียนนี้ไม่ต้องส่งใบสมัคร ไม่บังคับอะไรถ้าจะไม่มาซ้ำ แต่ครูจำลองมั่นใจว่าการแสดงออกนั้นบอกได้ ถ้าแววตาเด็ก ๆ เรียกร้อง หรือยังจดจ่อแม้พ่อแม่ชวนกลับ เป็นสัญญาณบอกเสมอว่าการเรียนรู้แบบนี้แหละที่เด็กต้องการ

คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี

โรงเรียนลูกหว้า เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘พื้นที่นี้ดีจัง’ ร่วมกับเครือข่ายพื้นที่สร้างสรรค์ทั่วประเทศ ซึ่งแม้ดำเนินโครงการมาแล้วสิบกว่าปี แต่ไอเดียเรื่องพื้นที่เล่น ริเริ่ม เรียนรู้ ร่วมทำ แบ่งปัน ยังไม่จางไป หนำซ้ำยังขยายออกไปเรื่อย ๆ เช่น โครงการน่ารัก ๆ อย่าง ‘เพชรบุรีดีจัง’ ที่ชวนเด็ก ๆ 14 กลุ่มใน 8 อำเภอของเพชรบุรีค้นหาสื่อศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจในชุมชน แล้วออกแบบการสื่อสารเรื่องราวนั้น ๆ กับคนภายนอก งานนี้ต่อยอดให้โรงเรียนลูกหว้าได้มีเครือข่ายทั่วทั้งจังหวัด เกิดการเรียนรู้ชุมชนและความสนิทชิดเชื้อกับชุมชน 

คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี

หลายปีต่อมา ครูจำลองพบว่าผลิตภัณฑ์หัตถกรรมมากมายตกค้างอยู่ในชุมชน เพราะทำแล้วไม่มีการจัดการเรื่องตลาด ชาวลูกหว้าเลยเปิดห้องหนึ่งไว้จัดแสดงและขายสินค้าคราฟต์จากช่างฝีมือทั่วเพชรบุรี อย่างผ้ามัดย้อมป่าชายเลนบางตะบูน อำเภอบ้านแหลม ผ้าทอท่าโล้ฝีมือป้าติ๋ม ใบตาลสานเป็นสัตว์ทะเลตัวจิ๋ว ฝีมือลุงอุดมศักดิ์ อำเภอเมืองเพชร เข่งและงอบไม้ไผ่ บ้านดงห้วยหลวง และตุ๊กตากระดองตาลฝีมือลุงผุด บ้านม่วงงาม อำเภอบ้านลาด เห็นผลิตภัณฑ์มากมายอย่างนี้ ของบางชิ้นก็ไม่ขาย อย่างบุ้งกี๋หาบเกลือฝีมือลุงหอม มือหนึ่งด้านการสานผู้ล่วงลับ งานแบบนี้ครูจำลองขอเก็บไว้เป็นตัวอย่างงานฝีมือประจำจังหวัด ผลงานแต่ละชิ้นมีประวัติศาสตร์ย่อม ๆ ของเพชรบุรีอยู่ในทุกร่องสานและรอยทอ

คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี
คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี

“อยากใช้คำว่า ‘สถานีดีจัง’ แล้วตอนนี้ สถานีดีจังเป็นสารบัญของเพชรบุรี เป็นสถานีที่ทุกคนต้องแวะ เป็นพื้นที่เรียนรู้ศิลปะวัฒนธรรมเมืองเพชรสำหรับทุกคน ถ้าใครอยากรู้จักว่าเพชรบุรีเป็นยังไง ก็มาที่นี่ได้ อยากรู้เรื่องไรก็มาแวะได้เลย โดยเฉพาะเรื่องชุมชน เรามั่นใจว่าเราไปมาเป็นร้อยชุมชน อยากได้ที่ท่องเที่ยวแบบไหนก็มาถามเราได้ จะไปไหว้พระ จะกินข้าวแช่ จะหากิจกรรมสำหรับเด็ก จะชี้ทางให้แบบที่ไม่มีในกูเกิล” ครูจำลองยิ้ม

“ที่นี่มีโรงเรียน มีห้องนิทรรศการ มีร้านกาแฟ มีศาลาเป็นห้องประชุม มีร้านค้า มีที่จอดรถ ห้องน้ำ แถมหน้าถนนยังมีโรงแรม นอนพักฝั่งตรงข้ามได้เลย” ครูใหญ่แห่งโรงเรียนลูกหว้าอธิบายความครบวงจรของสถานีนี้

“พออันนี้เสร็จแล้ว เราก็จะเป็น ‘เมืองนี้ดีจัง’ เพราะเราทำงานที่วัดใหญ่สุวรรณารามวรวิหารด้วย ที่วัดเป็นหอศิลป์งานช่างสกุลเมืองเพชร จากกุฏิพระ 7 หลังที่หลวงพ่อไม่ได้ใช้ เป็นเรือนไทยหมู่ เราก็เลยขอใช้ ชวนคนขึ้นไปเรียนรู้อะไรหลายอย่าง นอกจากนี้ยังมีหมู่บ้านช่างทำทอง อยากให้เด็ก ๆ ไปชักลวดรีดทอง หลอมทอง เป่าทอง มีบ้านเล็กบ้านน้อยที่เราชวนเปิดบ้านให้คนเรียนรู้ แผงแม่ค้าในตลาดก็เป็นแหล่งเรียนรู้  กุ้งแห้งจากมหาชัยต่างจากของชุมพรยังไง ปลาตัวไหนควรเอาไปทำอะไร นี่คือความรู้ที่มันมีทุกหัวระแหง คือความรู้สำคัญด้วย เศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้เพราะคนมีความรู้แบบนี้นะ” 

คุยกับ ครูจำลอง บัวสุวรรณ์ ถึงการสร้างห้องเรียนศิลปะ วัฒนธรรม และชีวิต ให้เด็ก ๆ ชาวเพชรบุรี

“ที่นี่มีพื้นที่ว่างอยู่เยอะ ศิลปินท่านใดประสงค์จะทำกิจกรรมอะไร ก็ติดต่อกลุ่มลูกหว้าได้เลย ใครอยากอบรม จัดกิจกรรมนู่นนี่นั่น เรามีกลุ่มผู้ปกครองที่ติดตามกันอยู่ ชักชวนกันมาเรียนรู้หรือว่าทำอะไรได้ ห้องที่ยังว่าง ๆ อยู่จะมาเช่าก็ได้ มาเปิดพื้นที่เรียนรู้ด้วยกันได้นะ”

ผู้ก่อตั้งโรงเรียนลูกหว้าปิดท้ายว่าเปิดกว้างที่จะรับผู้ลงทุนอนาคตไปด้วยกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นแค่เม็ดเงิน ถ้าสนใจมอบความช่วยเหลือหรือความร่วมมือต่าง ๆ ทางโรงเรียนลูกหว้ายินดีเปิดรับโอกาสเสมอ

โรงเรียนลูกหว้า

Writer

ภัทรียา พัวพงศกร

ภัทรียา พัวพงศกร

บรรณาธิการ นักเขียน ที่สนใจตึกเก่า เสื้อผ้า งานคราฟต์ กลิ่น และละครเวที พอๆ กับการเดินทาง

Photographer

Avatar

ปฏิพล รัชตอาภา

ช่างภาพอิสระที่สนใจอาหาร วัฒนธรรมและศิลปะร่วมสมัย มีความฝันว่าอยากทำงานศิลปะเล็กๆ ไปเรื่อยๆ