‘ยุทธการเปลี่ยนบ้านแปลงเมือง เปลี่ยนบ้านเกิดของเรา เพื่อเป็นเมืองนอนต้อนรับทุกคน’ 

คือสโลแกนแสนสนุกของ ‘ลองลำพูน’ กิจกรรมพัฒนาพื้นที่ย่านเมืองเก่าในคูเมือง หนึ่งในโปรเจกต์น่าสนใจที่เราอยากหยิบมาเล่าให้ฟัง คือการปรับโกดังร้างให้เป็น Creative Space และห้องพักตัวอย่าง เพื่อต้อนรับแขกผู้มาเยือน ซึ่งเปิดให้ผู้คนที่อยากสัมผัสความเป็นลำพูนแต๊ ๆ ในหลากหลายมิติที่สะท้อนความคิดของชาวลำพูนรุ่นใหม่ (และรุ่นเก่า) เอาไว้ โดยเปิดให้เข้าพักและร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม – 17 กันยายน พ.ศ. 2566

แปลงโกดังร้าง ให้เป็นห้องตัวอย่างกลางย่านเก่าเมืองลำพูน 

“เรามีการสำรวจว่ามีตึกร้าง ซึ่งเคยเป็นอาคารที่มีคุณค่า แล้วเราจะทำยังไงให้อาคารเหล่านี้ยังคงมีคุณค่าในบริบทที่เปลี่ยนไป เป็นที่มาที่ไปของโครงการนี้ว่าจะทำยังไงให้สินทรัพย์ที่ถูกมองข้ามไปให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่สร้างความสดชื่น สร้างอนาคตใหม่ให้กับเมือง” เอก-ไชยยง รัตนอังกูร Executive Director โปรเจกต์ลองลำพูน เล่าถึงความคิดเบื้องหลังการพัฒนาย่านเมืองเก่าของเมืองลำพูนให้เติบโตในทิศทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ 

จากสถิติที่มีการบันทึกว่านักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้ามาใช้เวลาในลำพูนเพียง 40 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ทีมงาน Lamphun City Lab จึงร่วมกันคิดว่าจะทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวอยู่ในลำพูนได้นานขึ้น ทำความรู้จักเมืองนี้ให้ลึกซึ้งขึ้น จากที่รับรู้เพียงผ่านเรื่องเล่าประวัติศาสตร์เมื่อพันปีที่แล้ว แต่มารับรู้และสัมผัสความเป็นลำพูนในวันนี้ ทางทีมงานร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) และเทศบาลลำพูน ได้ออกแบบ 6 โปรแกรมที่จะเกิดขึ้นในโกดังร้างกลางย่านเมืองเก่า ซึ่งห่างเพียงไม่กี่ก้าวจากวัดพระธาตุหริภุญชัย 

6 โปรแกรมที่ว่า คือหนึ่ง นิทรรศการภาพถ่าย ‘บ้านเกิดเมืองนอน’ สอง การออกแบบบริการต้นแบบห้องพัก ‘ลองลำพูน’ สาม อาร์ตแกลเลอรี งานศิลปะร่วมสมัยโดยศิลปินที่พำนักในลำพูน สี่ Landscape of Home ภูมิทัศน์แห่งบ้านเกิดเมืองนอน ห้า เฟสติวัล โซน พื้นที่สำหรับเทศกาลที่มีเนื้อหาสาระ และหก Creative Communitiy Spcace : Co-working Space, Communnity Meeting Room 

โกดังร้างของ ‘ลองลำพูน’ ครั้งนี้เป็นโกดังเก่าของธนาคารกรุงไทย บนถนนมุกดา ซึ่งเดิมนั้นเคยเป็นร้านขายวัสดุก่อสร้างมาก่อน พื้นที่ด้านในกว้างขวาง โล่ง โปร่ง สบาย เหมาะแก่การรังสรรค์ให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ ด้านในโกดังนี้มีบ้านไม้ขนาดเล็กภายใต้หลังคาโกดังใหญ่ที่สร้างครอบไว้ และนี่คือพื้นที่ของห้องพักต้นแบบที่ทีมงานตั้งใจพัฒนาให้เป็นห้องพักแบบลำพูนดีไซน์ 

เรือนไม้สักยกพื้นสีเข้มดูเนี้ยบแห่งนี้ กรุกระจกสีตามบานหน้าต่าง ทำให้ลดความเคร่งขรึมลง บันไดทางขึ้นแยกสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่รอบนอก นำขึ้นไปสู่ระเบียงเล็ก ๆ ก่อนเข้าตัวห้องพัก เมื่อยืนมองจากระเบียงชานพักแห่งนี้มายังพื้นที่สร้างสรรค์ที่เกิดขึ้น จะเห็นบรรยากาศของความสนุกและกิจกรรมตามโปรแกรมทั้งหมดกำลังเกิดขึ้น การได้เข้าพักใน ลองลำพูน จึงเป็นการพักท่ามกลางงานศิลปะและวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวา 

“จะเรียกว่าเป็น Living in Gallery ก็ได้นะคะ” อัญ-อัญมณี มาตยาบุญ Creative Director ช่วยสรุปความคิดและขยายความต่อว่า การสร้างครีเอทีฟสเปซจากโกดังร้างทั้ง 6 โปรแกรมเป็นการสร้างหลักฐานที่เป็นของลำพูนในปัจจุบัน “เพราะก่อนหน้านี้ ลำพูนเหมือนถูกเล่าเรื่องของพันปีที่แล้ว เจ้าแม่ พระธาตุ พระรอด แต่ลำพูนที่เป็นปัจจุบันจะเล่าผ่านโปรเจกต์นี้ 

  “นี่เป็นงานทดลองและเป็นเป้าหมายของเราด้วยที่จะให้นักท่องเที่ยวได้เห็นเมืองนี้ในอีกมิติหนึ่ง ขณะอีกทางหนึ่งคือการทำให้คนลำพูนได้เห็นศักยภาพของตัวเองในการทำบ้านให้นักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่ร่วม ภายใต้การออกแบบบริการอย่างสร้างสรรค์ ห้องพักนี้จึงเป็นเหมือนห้องตัวอย่างที่พักได้จริง ขณะเดียวกันเจ้าของบ้านในย่านเมืองเก่าก็จะเกิดไอเดียหรือมั่นใจได้ว่าเราทำห้องพักได้ เพราะในระหว่าง 1 เดือนของ ลองลำพูน นี้ เรามีดีไซเนอร์ มีสถาปนิกที่พร้อมให้คำปรึกษากับพี่ป้าน้าอาชาวลำพูนที่สนใจอยากปรับปรุงบ้านของตัวเองให้กลายเป็นห้องพัก เพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ขึ้น” คุณเอกอธิบายต่อ 

“เราไม่ได้ทำห้องพักให้ดูยุ่งยาก แต่เป็นการ Styling ของที่มีอยู่เดิมมาจัดวาง ผ่านสายตาของดีไซเนอร์ และผ่านความคิดของทีมงาน เป็นลำพูนออริจินัล เลือกสรรเฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งที่เป็นของเมืองลำพูนแท้ ๆ มาใช้ เป็นบ้านของคนหละปูนแต้ ๆ เลย” อัญพูดทิ้งท้ายด้วยสำเนียงคนลำพูน ด้วยน้ำเสียงยืนยันหนักแน่นว่ามาพักที่นี่คือการได้พักอาศัยเหมือนชาวเมืองลำพูนที่แท้จริง 

เฟอร์นิเจอร์หนึ่งที่หลายคนเคยคุ้นอย่างชุดเก้าอี้ไม้สักแขนอ่อน ถูกจัดวางทั่วโกดังให้ได้นั่งเล่นและได้สัมผัสเนื้อไม้ และเป็นหนึ่งในเฟอร์นิเจอร์ The Must ที่ต้องนำมาตกแต่งห้องพักแห่งนี้ เพราะนี่คือเฟอร์นิเจอร์ดั้งเดิมที่สร้างสรรค์ขึ้นด้วยฝีมือช่างชาวลำพูนจนโด่งดังทั่วภาคเหนือและทั่วประเทศ คุณเอกบอกว่า สมัยก่อนช่างไม้หรือสล่าแห่งตำบลมะเขือแจ้ได้จัดทำเป็นครั้งแรก แล้วบรรทุกขึ้นจักรยานขี่ขายไปทั่วจังหวัดและที่อื่น ๆ 

ไม่เพียงแต่เก้าอี้แขนอ่อน แต่ข้าวของเครื่องใช้อื่น ๆ ภายในห้องพักยังสะท้อนความประณีตแบบท้องถิ่นและวัฒนธรรมอันมีเอกลักษณ์ที่ปรับตัวเข้ากับยุคสมัย ผ่านฝีมือช่างชาวลำพูน อาทิ ผ้าปูเตียงกี๋คู่ ผ้าทอย้อมสีธรรมชาติ สลิปเปอร์ผ้าฝ้าย ผ้าคลุมอาบน้ำ ตุ๊กตาไม้แกะสลัก และเซรามิกเตาชวนหลง ทุกอย่างมาจากลำพูนแท้ ๆ 

ทว่าเป็นลำพูนร่วมสมัยด้วยการเลือกสรรงานศิลปะของลูกหลานชาวลำพูนรุ่นใหม่ อย่างงานของ พลัม บุญสวน และ ประสิทธิ ศิลปะเดชากุล มาปรับดับตกแต่งห้องให้มีสีสันสนุกสนานมากขึ้น และโดดเด่นด้วยพรมผืนใหญ่ที่เชื้อเชิญให้เข้ามาสัมผัสห้องพัก อันเป็นผลงานของ รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ที่วันนี้ทุกคนก็เรียกตัวเองว่าเป็นชาวลำพูนไปแล้วด้วยความภาคภูมิใจ 

การได้มาพักในห้องตัวอย่างแห่งนี้ คือการเปิดประสบการณ์ใหม่ โดยนำตัวเองมาอยู่ในความเป็นปัจจุบันของลำพูน 

“คนที่อยู่ตรงนี้จะเห็นเมืองทั้งเมืองในพื้นที่ขนาดย่อม ตื่นเช้ามาจะเห็นเพื่อนบ้าน ร้าน ตลาด และหากต้องการตักบาตรแบบชาวลำพูน กลุ่มป้า ๆ ลุง ๆ ที่ร่วมงานกับเราในโปรเจกต์นี้ก็พร้อมตระเตรียมและชักชวนให้คุณได้สัมผัสวิถีชีวิตอย่างที่เป็นอยู่จริง อาหารเช้าก็เป็นอาหารพื้นเมืองลำพูน” 

ห้องพัก ลองลำพูน พักได้ 2 – 4 คน ด้านในเป็นห้อง Connecting Room ที่แสนสะดวกสบาย ทว่าเป็นประสบการณ์ใหม่ในบรรยากาศของเมืองลำพูนขนาดย่อมที่มีเพื่อนบ้านเป็น Community Space ตลาดงานคราฟต์ แกลเลอรี กาแฟ อาหาร เครื่องดื่มชุมชน และทุกวันเสาร์-อาทิตย์ยังได้รื่นเริงกับงานอีเวนต์ที่มีตลอดเดือน 

การเข้าพักก็เลือกเป็นโปรแกรมจองห้องพักอย่างเดียวหรือโปรแกรมจองห้องพักพร้อมทัวร์ในย่านเมืองเก่าได้ ทางทีมงานก็พร้อมรองรับและออกแบบให้เหมาะกับความต้องการและไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน 

“เราใช้คำว่า บ้านเกิดของเรา เมืองนอนของทุกคน เพราะอยากบอกว่า เราพร้อมที่จะต้อนรับแล้วนะ อยากให้ทุกคนได้มาเที่ยว มาอยู่ในลำพูนให้นานขึ้น” 

ไชยยง รัตนอังกูร (Executive Director), ดร.สิงห์ อินทรชูโต (Design Principle), อัญมณี มาตยาบุญ (Creative Director), ขวัญชนก ปาละพงศ์ (Architect), เบญจมาภรณ์ ดวงเกิด (Project Coordinator) และ ชาญสิทธิ์ สุทธธง (Project Coordinator)

อยู่ลำพูนให้นานขึ้น 

นอกจากโปรแกรมกิจกรรมต่าง ๆ และห้องพักแล้ว ทีมงานยังตระเตรียมแผนที่ท่องเที่ยว โดยแบ่งตามระยะเวลาที่เลือกได้ คุณเอกอธิบายว่า 

“เราจัดทำแผนที่ไปตามแหล่งต่าง ๆ ที่เราอยากให้คุณได้ใช้เวลาที่นั่น ได้เห็นพื้นที่ต่าง ๆ ของเมืองลำพูนโดยเอาเวลาเป็นตัวกำหนด เช่น 15 นาทีในตัวเมือง ย่านเก่า มีแผนที่ไปเที่ยวไหนได้บ้าง 20 นาที ได้ดูอะไรบ้าง ไปไหนบ้าง ครึ่งชั่วโมงถึงไหนได้บ้าง 1 ชั่วโมงได้เห็นอะไรบ้าง เที่ยวอะไรได้บ้าง ไม่ว่าจะเป็นระยะการเดินเท้า ปั่นจักรยาน ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถ เพราะจากสถิติ 40 นาทีนั้น 

“เรามาคิดว่า จริง ๆ จากวัดพระธาตุฯ คุณไปไหนได้เยอะแยะไปหมด เดินได้ ขี่จักรยานได้ ขี่มอเตอร์ไซค์ ขับรถ คือหากิมมิกให้อยู่ได้นานขึ้น แสดงให้เห็นว่าคุณอยู่ที่ได้ได้เป็นวัน ๆ และอาจนานมากกว่านั้น คือนอนที่นี่ก็ได้”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของกิจกรรมได้ที่ Facebook : ลองลำพูน Long Lamphun

Writer

Avatar

สกุณี ณัฐพูลวัฒน์

จบเกษตร แล้วต่อด้านสิ่งแวดล้อม แต่เติบโตด้านการงานด้วยการเขียนหนังสือมาตลอด ชอบพูดคุยกับผู้คน ชอบต้นไม้ ชอบสวน ชอบอ่าน ชอบงานศิลปะและชอบหนังสือภาพ ทุกวันนี้จึงพาตัวเองคลุกคลีอยู่กับสิ่งที่ชอบที่ชอบ ด้วยการเขียนหนังสือ ทำงานศิลปะ เดินทาง และเปิดร้านหนังสือ(ภาพ)ออนไลน์ Of Books and Bar

Photographer

Avatar

กรินทร์ มงคลพันธ์

ช่างภาพอิสระชาวเชียงใหม่ ร่ำเรียนมาทางศิลปะจากคณะที่ได้ชื่อว่ามีวงดนตรีลูกทุ่งแสนบันเทิงของเมืองเหนือ มีความสุขกับการกดชัตเตอร์ในแสงเงาธรรมชาติ ชอบแมว หมา และบ้าจักรยานไม่แพ้กิจกรรมกลางแจ้งอื่น ๆ