‘ศาลเจ้าจีน’ ในจินตภาพของใครหลายคนคงไพล่ถึงสิงโตคู่ที่ยืนแยกเขี้ยวอยู่ปากทางเข้า ประตูไม้เขียนลายเทพทวารบาลสวมชุดเกราะดูน่าเกรงขาม มังกรตัวใหญ่ที่เกี่ยวกระหวัดพันเสาหินขัด กระถางธูปเก่าคร่ำซึ่งผ่านการรมควันมานานปี เทวรูปองค์เทพซึ่งมีพระพักตร์ดุดัน กับแสงไฟสลัวที่ช่วยสร้างความขรึมขลังต่อสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ จนบางคนไม่นึกอยากเข้าใกล้

ยิ่งถ้าเติมคำว่า ‘ร้าง’ ไว้ขยายความอีกคำหนึ่ง ความน่ากลัวของศาลเจ้าดังกล่าวก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทบทวี เพราะบางทีที่แห่งนั้นอาจมีสิ่งลี้ลับบางอย่างที่มองไม่เห็นด้วยตาเข้ามาสิงสู่แทนเทพเจ้าก็ได้

เหล่านี้คงเป็นความรู้สึกบางประการที่ชาวพิษณุโลกมีต่อศาลเจ้าแม่ทับทิมริมแม่น้ำน่านหลังหนึ่งซึ่งตกอยู่ในสภาพปิดร้างนานเกือบ 20 ปี ทิ้งให้ตึกทรงจีนหลังกำแพงสูงเสื่อมสภาพไปตามบุญกรรม ก่อนที่สามีภรรยาคู่หนึ่งผ่านมาพบเข้าและตกลงปลงใจเลือกเช่าศาลเจ้าปิดตายหลังนี้เป็นที่ทำร้านกาแฟแห่งใหม่ที่ใช้ชื่อสั้น ๆ ง่าย ๆ แต่มากด้วยความหมายอย่าง ‘หลง คาเฟ่’

การรีโนเวตสถานที่เป็นไปอย่างรวดเร็ว ภายใต้คอนเซปต์ว่าจะไม่แก้ไข ไม่เปลี่ยนแปลงอะไรโดยไม่จำเป็น แต่จะปรับปรุงให้ดีขึ้นภายใต้บริบทและอัตลักษณ์ของพื้นที่

ชวนไปรู้จักคาเฟ่ริมแม่น้ำที่ไม่ว่าใครผ่านมาเห็นเป็นต้องยกมือไหว้ กับโปรเจกต์ดัดแปลงศาสนสถานสิ้นสภาพให้กลายเป็นของดีประจำเมืองสองแคว

ศาลที่เคยผ่าน

อยู่ติดแม่น้ำน่าน ฝั่งเดียวกับวัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหารที่เรียกติดปากกันว่า ‘วัดใหญ่’ ใกล้กันมีร้านก๋วยเตี๋ยวห้อยขาอันโด่งดังเป็นสัญลักษณ์ของเมืองพิษณุโลกอยู่ 3 – 4 ร้าน ตรงข้ามเป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างพระราชวังจันทน์

คือพิกัดบอกที่ตั้งของ หลง คาเฟ่ หรือศาลเจ้าแม่ทับทิมในอดีตที่ชัดเจนที่สุด

“ขับตรงจากวัดใหญ่เลาะริมน้ำมาเรื่อย ๆ ประมาณ 400 เมตร จะเห็นร้านอยู่ทางขวามือ หันหน้าเข้าทางแม่น้ำน่านเลยค่ะ” อ๊อบ-อรุณรัตน์ รัตนพันธุ์ ผู้เป็นเจ้าของร้าน ขยายความผ่านโทรศัพท์

เมื่อเดินทางตามที่เธอระบุไว้ ทุกคนก็จะมาถึงหน้าซุ้มประตูที่ปลายหลังคาโค้งงอน แขวนโคมแดงเป็นคู่ กับป้ายชื่อร้านที่ถ้าไม่บอกคงไม่รู้ว่าที่นี่เป็นร้านขายกาแฟ

ประมาณ พ.ศ. 2520 คนไทยเชื้อสายจีนในจังหวัดพิษณุโลกได้สร้างศาลเจ้าเพื่อเป็นที่สักการะองค์เจ้าแม่ทับทิมผู้คุ้มครองนักเดินเรือและท้องทะเลบนที่ดินผืนนี้ซึ่งเป็นที่ดินของเอกชน เคยเป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านชาวเมืองที่ศรัทธาต่อเทพเจ้าจีนและเจ้าแม่ทับทิมอยู่ระยะหนึ่ง แต่เนื่องจากภายในศาลเคยมีผู้ดูแลมาอาศัยอยู่เป็นเวลานานหลายปี ก่อให้เกิดข้อพิพาททางกฎหมายและเป็นคดีฟ้องร้องกันในชั้นศาล

ผลลงเอยที่เจ้าของที่ดินเลือกจะปิดศาลเจ้านี้จากสาธารณชนเป็นการถาวร ยังผลให้ศาลเจ้าแม่ทับทิมใกล้วัดใหญ่กลายเป็นศาลร้างซึ่งไม่มีใครเข้ามายุ่งเกี่ยว หลายคนจึงลืมเลือนการมีอยู่ของศาสนสถานแห่งนี้ บ้างก็ไม่เคยรู้จักศาลนี้มากไปกว่าการได้ผ่านมาเห็นเป็นครั้งคราว

อ๊อบจัดอยู่ในจำพวกหลัง ความทรงจำของเธอซึ่งเป็นคนพิษณุโลกโดยกำเนิดมีเพียงประตูทางเข้าที่ถูกปิดไว้ กับสภาพกำแพงเก่า แต่ไม่เคยเยี่ยมกรายเข้าไปแม้แต่ครั้งเดียว

“แต่เดิมจะไม่ค่อยมีผู้คนผ่านตรงนี้ เนื่องจากเป็นซอยเล็ก แล้วไม่มีสะพานสร้างใหม่ตรงพระราชวังจันทน์ การไปมาเลยไม่สะดวก คนเลยไม่ค่อยรู้จักศาลนี้” เธอไล่เลียงความจำ “เราแค่ผ่าน แต่ไม่เคยได้เข้า รับรู้ว่าที่นี่มีศาลเจ้า แต่ไม่เคยมาไหว้ เป็นศาลเจ้าพ่อเจ้าแม่อะไรก็ไม่ทราบ เพราะเท่าที่จำได้คือที่นี่ปิดมาตลอดเลย เป็นศาลเจ้าที่มีกำแพงสูง แล้วก็ค่อนข้างน่ากลัวค่ะ”

แต่แล้ววันหนึ่ง ชะตาก็นำพาอ๊อบมาผูกพันกับศาลเจ้าแม่ทับทิมร้างจากการที่เพื่อนสนิทคนหนึ่งของเธอมีคู่รักเป็นผู้ได้รับมรดกที่ดินแปลงนี้

ร้านที่อยากมี

อ๊อบเคยทำงานด้านประกันภัยมาก่อน จนกระทั่งเธอเป็นคุณแม่ จึงลาออกจากงานประจำมาเปิดสำนักงานนายหน้าประกันภัยของตัวเองเป็นธุรกิจแรก ก่อนจะมีร้านกาแฟทั้ง ๆ ที่เธอไม่ใช่คนดื่มกาแฟ

“เราไม่ดื่มกาแฟ แต่แฟน เบนซ์-ปรเมษฐ์ รัตนพันธุ์ เขาชอบค่ะ” ภรรยาคอกาแฟเฉลยเหตุผลทั้งรอยยิ้ม “ก่อนหน้านั้นเขาไปซื้อเครื่องดริป เครื่องบดมาลองทำที่บ้าน เขาก็ทำกินของเขาไป ส่วนเราไม่กิน เวลาไปร้านคาเฟ่ด้วยกัน เราสั่งแต่ชาเขียวหรือชาอะไรที่ไม่ใช่กาแฟ แต่เพราะแฟนค่อย ๆ ศึกษาเรื่องกาแฟ เลยตัดสินใจลองดูกันสักตั้งหนึ่ง”

ความหลงใหลในกาแฟของเบนซ์แปรเปลี่ยนเป็นความใฝ่ฝันที่จะเปิดร้านกาแฟของครอบครัวสักร้านหนึ่ง ทั้งเบนซ์และอ๊อบจึงชักชวนกันไปตระเวนหาทำเลที่คิดว่าน่าจะมีผู้คนพลุกพล่านที่พวกเขาทำกาแฟขายได้ สิ่งที่ทั้งสองพบคือพื้นที่ให้เช่าส่วนใหญ่เป็นตึกแถวซึ่งพบได้ดาษดื่นทั่วไปในพิษณุโลก ไม่ว่าใครที่อยากทำคาเฟ่ก็จะตั้งต้นที่ห้องแถวทั้งนั้น อ๊อบกับเบนซ์เลยต้องมาคิดคำนึงถึงโจทย์ของตัวเองกันใหม่ว่าควรทำร้านแบบที่คนทั่วไปนิยมทำกันจริงหรือ

และแล้ววันหนึ่ง เมื่ออ๊อบขับรถผ่านศาลเจ้าแม่ทับทิมริมแม่น้ำน่าน เธอก็ฉุกใจนึกได้ว่าเพื่อนของเธอเคยเล่าว่าที่ดินนี้เป็นของแฟน และถูกปล่อยทิ้งร้างมานานเกือบ 20 ปีแล้ว เนื่องจากเคยมีคดีฟ้องร้องเกิดขึ้น ทำให้ครอบครัวแฟนเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าของที่ไม่สะดวกใจที่จะให้ใครติดต่อขอเช่าที่ ด้วยเกรงว่าจะมีใครนำสถานที่แห่งนี้มาหาผลประโยชน์ส่วนตัว

“เท่าที่ฟังมาก็เหมือนเคยมีคนขอเช่า จะทำร้านอาหาร ขอทุบศาลเจ้าทิ้งไปเลย เจ้าของเขาก็ไม่ให้เช่า ไม่อยากให้ทำอะไร เลือกปิดร้างไปดีกว่าค่ะ”

แต่เพราะสถานการณ์บีบคั้น คนมีฝันอยากทำร้านของตัวเอง เลยจำใจยกหูโทรศัพท์หาเพื่อน

“เราหาทำเลที่จะเปิดร้านกาแฟมาหลายเดือนแล้วค่ะ ก็คิดว่าเดี๋ยวลองโทรหาเพื่อนดูซิ ถ้าได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เราก็ไปหาที่อื่นต่อ ปรากฏว่าแฟนเขาก็ตอบกลับมารวดเร็วทันใจมากว่าอนุญาต อาจเพราะเห็นว่าเรารู้จักกันมานาน แล้วบ้านก็อยู่ข้าง ๆ กัน ประกอบกับเราคงทำให้เขาเห็นหลายอย่างว่าเราตั้งใจทำจริงในหลายเรื่องที่ผ่านมา เขาเลยให้เราเช่าคนเดียวค่ะ”

สัญญาเช่าที่ 10 ปีจึงถูกร่างขึ้นหลังจากนั้น พร้อมกับโจทย์ข้อใหญ่ที่สองสามีภรรยาต้องคิดต่อไปว่าพวกตนต้องทำอย่างไรให้อาคารศาลเจ้าอายุกว่า 40 ปีหลังนี้เปลี่ยนเป็นคาเฟ่ดังใจต้องการ

โจทย์ที่ต้องคิด

ศาลเจ้าไร้ผู้ดูแลและกิจกรรมทางศาสนาทรุดโทรมไวมาก นอกเหนือจากโครงอาคารที่สร้างอย่างดีด้วยปูนแล้ว ข้าวของต่าง ๆ ที่อยู่คู่สถานที่แห่งนี้มาแต่เดิมก็ผุพังไปเสียหมด อ๊อบกับเบนซ์ได้หารือกันถึงทางออกในประเด็นนี้ ก่อนจะได้ข้อสรุปตรงกันว่าจะเก็บรักษาสิ่งที่ยังมีอยู่ให้ดีที่สุด

“เราจะทำร้านกาแฟแนวที่ไม่เหมือนกับคนอื่น เพราะเราได้ศาลเจ้าที่ทำเลดีมาก เป็นศาลเจ้าซึ่งเขาปล่อยร้างมา เราจะเอาอัตลักษณ์หรือบริบทอะไรที่อยู่ตรงนี้มาชู ทำยังไงให้มันโดดเด่นขึ้นมา” อ๊อบกล่าวอย่างหนักแน่น

“คอนเซปต์ของพวกเราคือจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรโดยที่ไม่จำเป็น ไม่แก้ไข แต่จะปรับปรุงให้มันดีขึ้น ให้มันคงสภาพและใช้งานได้ดีตลอดระยะเวลาสัญญาเช่า แล้วเราจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรให้มันขัดแย้งกับบริบทรอบ ๆ บริเวณศาลเจ้านี้”

ระหว่างที่อ๊อบติดต่อผู้รับเหมาในจังหวัด เบนซ์ก็ถ่ายรูปหน้าศาลเจ้าและโพสต์ลงโซเชียลมีเดียทำนองว่าเขากำลังมีแผนการจะเปลี่ยนแปลงพื้นที่แห่งนี้ โพสต์ของเขาไปสะดุดตา อาจารย์เอ็ด-ผศ.ดร.วิสิฐ จันมา เพื่อนผู้เป็นอาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร อาจารย์เอ็ดจึงออกอาสามาดูสถานที่และช่วยออกไอเดียอีกเสียงว่าจะทำศาลเจ้านี้อย่างไรให้ออกมาเป็นคาเฟ่ได้

สิ่งแรกที่ทั้งผู้รับเหมา ทั้งอาจารย์เอ็ด เล็งเห็นตรงกันว่าต้องเร่งแก้ไขให้ไวที่สุดคือหลังคาซึ่งค่อนข้างเก่า ทำจากไม้ตามวิธีการสร้างแบบโบราณ กาลเวลาที่ล่วงเลยสร้างความเสียหายแก่มันมาก แต่ที่เร่งให้มันผุพังไวขึ้นคือปลวกที่แทะกินชิ้นส่วนไม้จนไม่เหลือดี

“พอเราเปิดประตูเข้ามา ฝ้าร่วง คานหล่นลงมา เพราะโดนปลวกกินหมด ในนี้จะมีตี่จู่เอี๊ยเก่า ๆ โดนปลวกกิน ตู้ไม้ก็โดนปลวกกิน” อ๊อบพรรณนาภาพที่เธอพบเมื่อ พ.ศ. 2564

เพราะเหตุนี้ หลังคาส่วนที่เป็นไม้ทั้งหมดจึงถูกยกเครื่องใหม่เป็นเหล็ก ก่อนจะแก้ไขฝ้าทั้งหมด เคราะห์ดีที่กรอบประตูและหน้าต่างของเดิมทำจากไม้เนื้อแข็ง จึงรอดพ้นจากการกัดกินของปลวก เธอเลยเลือกอนุรักษ์กรอบประตูหน้าต่างแบบเดิมที่ไม่ได้รับความเสียหายเอาไว้

เช่นเดียวกับผนัง เพดาน ถ้าใครได้มาเห็นจะพบว่า หลง คาเฟ่ ยังเก็บรักษาของเก่าไว้แทบทุกกระเบียดนิ้ว ไม่เว้นรอยปลวกแทะทำลาย ทั้งหมดก็ยังคงอยู่อย่างนั้น ไม่ได้ถูกทาสีทับ ซึ่งก็ได้ความสวยแบบดิบ ๆ ตามสไตล์ Loft อันเป็นที่นิยมในปัจจุบัน

“เราต้องประหยัดต้นทุนด้วยว่าอันไหนควรเก็บ อันไหนควรซื้อใหม่ และอันไหนที่ควรปรับปรุง เพื่อให้มันอยู่ยงกับเราไปตลอด ซึ่งเราไม่ได้เปลี่ยนหมด เปลี่ยนน้อยมาก และจะรีโนเวตยังไงให้เข้ากับตัวอาคาร ทำยังไงให้ดูไม่น่ากลัว เหมือนเราไปแต่งเติมสีสันศาลเจ้าที่คนอื่นคิดว่าน่ากลัวเพราะเคยร้างมา ชุบชีวิตให้มันเกิดขึ้นมาใหม่ค่ะ”

ด้วยความคิดเช่นนี้เอง เกือบทุกอย่างที่เคยมีอยู่ในศาลเจ้าแม่ทับทิมเดิมจึงถูกส่งต่อมาถึงร้านกาแฟของอ๊อบกับเบนซ์ มีเพียงหลังคา ฝ้า ผนังห้องน้ำ และชักโครกที่ได้รับการเปลี่ยนใหม่

สิ่งที่เพิ่มมา

ตั้งแต่ขอเช่าที่จากเพื่อนจวบจนขั้นตอนการบูรณะปรับปรุงสถานที่ดำเนินไป อ๊อบเก็บโปรเจกต์เปิดร้านกาแฟแห่งแรกของเธอไว้เป็นความลับ ระหว่างนั้นก็หมั่นเก็บรายละเอียด สะสมโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องใช้ไม้สอยอื่น ๆ ที่เธอคิดว่าจะเข้ากับร้านใหม่ได้จนเต็มบ้าน ไม่เคยปริปากบอกใครนอกจากญาติมิตรสนิทตัวจริงเพียงไม่กี่คนที่จะรู้ ตลอดเวลาที่การซ่อมแซมคืบหน้าไป เธอเฝ้ารอด้วยความตื่นเต้นในใจว่าคาเฟ่ในตึกศาลเจ้าจะเผยโฉมออกมาในรูปแบบไหนเมื่อทุกอย่างเสร็จลุล่วง

แต่เพราะรูปแบบการใช้งานพื้นที่ศาลเจ้ากับร้านกาแฟแตกต่างกัน หลายอย่างเธอกับสามีก็ต้องสร้างต่อเติมจากส่วนที่มีอยู่ สำคัญว่าต้องสร้างล้อไปกับรูปลักษณ์อาคารเก่าเพื่อคงคอนเซปต์ที่ต้องการเก็บรักษาอัตลักษณ์เดิมไว้ เคาน์เตอร์กาแฟสไตล์ศาลเจ้าจึงถูกคิดค้นขึ้น

“ที่สร้างใหม่เลยคือเคาน์เตอร์กาแฟ ที่นี่จะมีซุ้มประตูที่ทำจากหินขัดสีแดง ๆ เป็นโค้ง ๆ ซุ้มซ้ายขวา เป็นของเดิมที่มีมาแต่แรกแล้ว พอเรามาทำปุ๊บ ก็ล้อเลียนจากซุ้มหินขัดที่มีมาก่อน ตอนนี้ช่างทำหินขัดยังมีอยู่ เราก็ล้อจากซุ้มนั้นมา เพื่อจะได้เข้ากันค่ะ”

กับอีกหนึ่งจุดเด่นของร้านคือรูปวาดสไตล์จีนบริเวณรอบร้าน สิ่งนี้เป็นอานิสงส์จากอาจารย์เอ็ดซึ่งทาบทามรุ่นพี่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ชื่อ หนุ่ม-วันสงก์ สิทธิพรหม เข้ามาออกแบบและเพนต์ลายให้ตามคำแนะนำของตน

“ส่วนมากงานของพี่หนุ่มเขาจะเป็นงานศิลปะที่กะเทาะผนังตามภาคใต้ กะเทาะเป็นรูป มาริลีน มอนโร แล้วเห็นอิฐแดงข้างในอะไรอย่างนี้ค่ะ เราก็สนใจ แต่ถ้ากะเทาะผนังอย่างเดียวอาจซ้ำกันหรือดูจืดชืดไป ไม่มีสีสัน เลยลองคุยว่าให้กะเทาะด้วย เพนต์ด้วย ให้มันมีสีอยู่ในผนัง ทุกคนก็ได้คุยกัน อาจารย์เอ็ดกับพี่หนุ่มเขาเลยส่ง Reference มาให้เราดูว่าต้องการธีมแบบไหน เป็นจีนโบราณ จีนคอมมิวนิสต์ หรือจีนร่วมสมัย ก็ได้แบบจีนร่วมสมัย ไม่เก่าไป ไม่ใหม่ไป เข้ากับศาลเจ้า”

ภาพเขียนทั้งหมดที่ทำโดยพี่หนุ่มจึงปรากฏมาในลักษณะของภาพที่ไม่เก่าและไม่ใหม่เกินไป คนรุ่นเก่าเข้าถึงได้ คนรุ่นใหม่ก็ไม่รู้สึกเชย แบบรูปที่ได้มาจากอินเทอร์เน็ตจึงถูกนำมาปรับหน้างานโดยมีอ๊อบคอยเป็นแม่งานให้คำติชมพี่หนุ่มเสมอ ทำให้เกิดงานศิลปะชิ้นโบแดงประจำร้านของเธอ

“เรามาคุมงานเองทุกวัน เพราะอุปกรณ์ทุกอย่างแม้กระทั่งฝ้า เราไปเลือกมาเอง เราชอบเป็นการส่วนตัว ชอบดูว่าวัสดุอะไรที่ดูดีและไม่แพง อย่างตรงฝ้าจะใช้ไม้ เป็นแค่ไม้อัดธรรมดาแค่ 3 มิลลิเมตร แผ่นละ 34 บาท เราซื้อของเองหมดทุกอย่าง” เธอเบนสายตาไปที่ภาพวาดสตรีในชุดกี่เพ้ากลางร้าน

 “ตรงกลางที่เป็นรูปผู้หญิงนั่นน่ะ มีลูกค้าถามตลอดว่าใช่รูปพี่มั้ย ถามบ่อยมาก บางทีลูกค้าหันไปมองกำแพงแล้วหันมองหน้าเรา บอกว่าเหมือนน้องเลย! เราเลยไปถามพี่หนุ่ม เขาบอกว่าเอามานิดหนึ่ง เพราะเห็นหน้าอยู่ทุกวันตอนเรามาคุมงาน”

อ๊อบตั้งชื่อร้านว่า ‘หลง’ เพราะต้องการชื่อสั้นแค่พยางค์เดียว เพื่อให้ง่ายต่อการจำและขานเรียก รวมถึงอยากให้มีความหมายทั้งภาษาจีนและไทยในเสียงเดียวกัน เธอเสียเวลาไป 2 อาทิตย์กับการเสาะหาคำที่เข้าท่า ก่อนมาลงเอยที่ภาษาจีนกลางว่า ‘หลง’ (隆) อันหมายถึง เจริญรุ่งเรือง ส่วน หลง ในภาษาไทยก็มีนัยสื่อถึงความหลงใหลต่อร้าน ต่อบรรยากาศ หรือต่อกาแฟที่เธอปรุง

ตลอดเวลา 5 เดือนนับจากจุดเริ่มต้นในวันที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2564 ถึงวันที่ 8 สิงหาคมปีเดียวกันที่พร้อมเปิดให้บริการ อ๊อบสรุปให้เราฟังว่าสิ่งที่ยากกว่าการสร้างใหม่คือการหาวัสดุให้ไปด้วยกันกับสภาพเดิมที่เป็นศาลเจ้าได้ ควบคู่กับอีกหนึ่งคอนเซปต์ที่เธอตั้งไว้

“ให้มันดูดี อยู่ได้นาน แล้วก็ไม่แพง อะไรเอากลับมาใช้ได้ก็ใช้ อย่างที่บอกไปว่ากรอบวงกบประตูหน้าต่าง เราก็เก็บไม้เก่าไว้ แล้วให้ช่างทำเป็นกรอบกระจกในห้องน้ำ เป็นชั้นใส่ของ อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ”

ผลที่เกิดขึ้น

พอได้รู้ว่าศาลเจ้าแม่ทับทิมที่เคยถูกปิดมานานเนามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงต่างก็ให้ความสนใจ และติดตามดูความเปลี่ยนแปลงของที่นี่อยู่เสมอ เป็นเช่นที่อ๊อบเล่าว่าในช่วงที่กำลังรีโนเวตอยู่นั้น บางครั้งเวลาเธอไม่อยู่ที่ไซต์ก่อสร้าง เคยมีคนขออนุญาตช่างเข้าไปชมและถ่ายรูปภายในร้าน ก่อนนำไปโพสต์ในเพจ พิษณุโลกบ้านเรา และเฝ้ารอกันว่าจะเกิดอะไรต่อไป หลังการปรับปรุงครั้งใหญ่นี้ อดีตศาลเจ้าร้างริมลำน้ำน่านจะกลายเป็นอะไรต่อ

“เสียงวิจารณ์มีแต่แง่บวกทั้งนั้นค่ะ หลายคนที่เขาเคยผ่าน เคยไหว้ ก็อยากเห็นมันมีชีวิตชีวาขึ้นมา รอบ ๆ นี้จะได้ครึกครื้น เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหรือดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาได้” เจ้าของร้านกาแฟผู้ไม่ดื่มกาแฟยิ้มระรื่น “คนส่วนหนึ่งเขาก็สงสัยว่ามันทำได้เหรอ จะน่ากลัวมั้ย เขาอาจคิดว่าในศาลนี้มีสิ่งลี้ลับที่เรามองไม่เห็น เราก็บอกเขาว่าศาลเจ้าคือเทพเจ้าอยู่ ไม่ใช่ผีสางนางไม้ที่ไหนนะ”

ครั้น หลง คาเฟ่ เริ่มเปิดขายอย่างเป็นทางการ ร้านกาแฟของคู่รักอ๊อบกับเบนซ์ก็เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าความคิดที่จะบูรณะศาลเจ้าร้างมาทำร้านใหม่เป็นความคิดที่ถูกต้องเพียงไร

“คนที่ไม่เคยเข้ามาเขาเห็นจากภายนอกแล้วก็ยกมือไหว้กันใหญ่เลย เพราะคิดว่าเป็นศาลเจ้าเดิม เพราะเราไม่ได้ปิดป้ายข้างหน้าว่ามันคือคาเฟ่ รูปทรงตัวอาคารหรือซุ้มประตูก็เหมือนเดิมค่ะ

“ช่วงแรก ๆ ที่เปิดร้าน จะมีอากงอาม่าหรือคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ที่เขาเคยมาไหว้กลับมา พอเขารู้ว่าที่นี่ทำเป็นร้านกาแฟ เขาก็ให้ลูกหลานพามา พอเข้ามาเขาก็จะชี้ว่าตรงนี้เคยเป็นแบบนี้ ตรงนั้นเมื่อก่อนเป็นแบบนั้น อะไรเคยอยู่ตรงไหนมาก่อน ก็เล่าความเป็นมาให้เราฟัง เคยมีลูกค้ามาจากพิจิตร เขาเล่าว่าเคยมาขอลูกที่นี่แล้วได้ เลยเสียดายที่ศาลปิดไป พอรู้ว่าศาลที่เขาเคยมาขอลูกเปิดเป็นคาเฟ่ เขาก็กลับมาเล่าให้ฟัง เราก็ได้รับฟังเรื่องราวในอดีตจากลูกค้าด้วยส่วนหนึ่งค่ะ”

เธอเล่าอีกว่าลูกค้าส่วนใหญ่ของ หลง คาเฟ่ มักเป็นคนต่างจังหวัดที่เดินทางมาพิษณุโลกเพื่อขอพรพระวัดใหญ่ ออกมารับประทานก๋วยเตี๋ยวห้อยขาสักร้านหนึ่งที่อยู่รายรอบ ก่อนตบท้ายมื้ออาหารด้วยเครื่องดื่มสักแก้วในคาเฟ่ทรงจีนหน้าแม่น้ำ จนคนจังหวัดอื่นอาจรู้จักร้านเธอดีกว่าคนในจังหวัดเสียอีก

ซึ่งเมื่อปลายเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 หลง คาเฟ่ ก็ได้รับคัดเลือกโดยผู้ทรงคุณวุฒิหลาย ๆ ภาคส่วนในเมืองสองแควให้เป็นร้านที่มีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ ถือเป็นของดีประจำถนนเลียบแม่น้ำซึ่งได้รับการยกสถานะเป็นถนนสายวัฒนธรรมประจำจังหวัด

จากสักการสถานที่เคยคุ้มครองคนท้องถิ่น ผ่านวันคืนที่ถูกปล่อยร้างมานานปี จนถึงวันนี้ที่ได้รับการชุบชีวิตขึ้นใหม่เป็นคาเฟ่สุดชิกที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยวต่างถิ่น เป็นที่พิสูจน์แล้วว่าพื้นที่แห่งนี้ได้สร้างความสุขแก่ผู้คนมากมายที่ได้แวะเวียนมา ไม่ว่าความสุขนั้นจะมาในรูปของพรสักข้อที่สมหวัง หรือกาแฟดี ๆ ที่ได้ดื่มก็ตาม

Writer

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

พัทธดนย์ กิจชัยนุกูล

ชอบอ่านเขียนตั้งแต่จำความได้ สนใจวิชาสังคมศึกษาตั้งแต่จบอนุบาล ใฝ่รู้ประวัติศาสตร์ตั้งแต่อยู่ประถม หัดแต่งนวนิยายตั้งแต่เรียนมัธยม เขียนงานสารพัดด้วยนามปากกา “แพทริก เหล่า” ตั้งแต่เข้ามหา’ลัย

Photographer

Avatar

ภาณุวิช ขวัญยืน

ช่างภาพจากสุโขทัย