Neilson Hays Library คือห้องสมุดที่มีความพิเศษหลายประการ

ที่นี่เปิดทำการมาแล้วเกือบร้อยปี หนังสือภาษาอังกฤษจำนวนมากมายที่จัดวางเรียงรายอย่างเป็นระเบียบในห้องสมุดแห่งนี้ มีอายุหลายเดือนไปจนถึงหลายสิบปี แถมบางเล่มมีอายุเฉียดร้อยปีเสียด้วยซ้ำ

ความพิเศษประการสำคัญคือ สถาปนิกผู้ออกแบบห้องสมุดแห่งนี้เป็นผู้ออกแบบพระที่นั่งอนันตสมาคมและอาคารแบบฝรั่งอีกหลายแห่งในกรุงเทพฯ

เมื่อแรกสร้าง สถาปัตยกรรมนีโอคลาสสิกที่ได้รับการออกแบบและก่อสร้างอย่างประณีตหลังนี้คงโดดเด่นเตะตาน่าดู เพราะถนนสุรวงศ์เมื่อร้อยปีก่อนนั้นไม่ได้เต็มไปด้วยรถรา ตึกสูงเสียดฟ้า และผู้คนที่พากันเดินขวักไขว่อย่างรีบร้อนจนลืมสังเกตสิ่งต่างๆ รอบตัวเช่นทุกวันนี้

แม้พื้นที่รอบข้างจะเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา แต่ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ถูกเก็บรักษาและได้รับการดูแลอย่างดีเสมอมา จนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว ห้องสมุดแห่งนี้ตัดสินใจปิดปรับปรุงอาคารและพื้นที่รอบรั้วทั้งหมด ถือเป็นการบูรณะใหญ่ครั้งแรกนับจากการบูรณะครั้งล่าสุดหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หนังสือทุกเล่มต้องถูกขนย้ายออก เพื่อให้ขั้นตอนการบูรณะ ตั้งแต่ฐานรากไปจนถึงฝ้าหลังคาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

ตอนนี้ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส โฉมใหม่หลังการปรับปรุง กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง

เราจึงอยากชวนคุณมานั่งฟังเรื่องราวตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ก้าวต่อไป และแผนในการปรับตัวของห้องสมุดแห่งนี้ในวันที่คนไม่นิยมอ่านหนังสือกันอีกต่อไป ภายใต้ความร่มรื่นของต้นไม้ใหญ่ในรั้วที่เป็นเสมือนโอเอซิสผืนน้อยของย่านสีลม-สุรวงศ์ด้วยกัน

1

แรกรัก

เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2412 สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ (The Bangkok Ladies’ Library Association) ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสุภาพสตรีชาวอังกฤษและอเมริกันจำนวน 13 คน เพื่อให้บริการหนังสือและเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อเรื่องราวต่างๆ ในสังคมของเหล่าชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ

ในช่วงแรกเริ่ม สมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ ไม่มีสถานที่ตั้งแน่นอน หนังสือคอลเลกชันแรกๆ จึงถูกเก็บหมุนเวียนไปตามบ้านคน ใครอยากมาอ่านหรือหยิบยืมหนังสือ ก็ต้องมาที่บ้านหลังนั้นๆ โดยเปิดให้บริการเพียง 1 วันต่อสัปดาห์เท่านั้น

จากสมาคมห้องสมุดสตรีกรุงเทพฯ เปลี่ยนชื่อมาเป็นสมาคมห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ได้อย่างไร สุภาพสตรีที่กำลังจะกล่าวถึงคือที่มาของชื่อดังกล่าว

เจนนี่ เนลสัน (Jennie Neilson) เป็นชาวเดนมาร์ก ครอบครัวของเธออพยพไปอยู่อเมริกา และต่อมาได้เดินทางเข้ามาเป็นมิชชันนารีในประเทศไทยใน พ.ศ. 2427 เธอพบรักและแต่งงานกับนายแพทย์โทมัส เฮย์วอร์ด เฮย์ส (Thomas Heyward Hays) ใน พ.ศ. 2430

คนกรุงเทพฯ เรียกสามีของเธอว่า ‘หมอเฮย์’ เขาเดินทางมาเข้ารับราชการและได้เป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ รวมถึงเป็นอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช

เจนนี่เข้ามาทำงานให้กับสมาคมห้องสมุดตั้งแต่ พ.ศ. 2438 เธออุทิศตัวและเวลาอย่างแข็งขันในการทำกิจกรรมมากมายเพื่อให้ห้องสมุดสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ เธอทำงานให้กับห้องสมุดเป็นเวลาถึง 25 ปี ก่อนจะเสียชีวิตด้วยโรคอหิวาตกโรคในเดือนเมษายน พ.ศ. 2463

หมอเฮย์เห็นถึงความรักที่ภรรยาผู้จากไปมีต่องานห้องสมุดและหนังสือที่เธออุทิศตัวมาตลอดระยะเวลาหลายสิบปี และมีความประสงค์ที่จะสานต่อเจตนารมย์ของภรรยา เขาจึงตัดสินใจซื้อที่ดินริมถนนสุรวงศ์เพื่อยกให้เป็นสมบัติของห้องสมุด จากนั้นจึงว่าจ้าง มารีโอ ตามัญโญ (Mario Tamagno) สถาปนิกคนสำคัญของกรุงเทพฯ ในยุคนั้น มาออกแบบอาคารถาวรสำหรับใช้เก็บรักษาหนังสือและเป็นที่ทำการห้องสมุด

อาคารหลังใหม่เอี่ยมเลขที่ 193-195 ถนนสุรวงศ์ สร้างเสร็จและเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2465 มาจนถึงปัจจุบัน พร้อมกับชื่อที่ถูกตั้งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความรักของเจนนี่ เนลสัน ผู้ล่วงลับและ เฮย์วอร์ด เฮย์ส ว่า Neilson Heys

เมื่อหมอเฮย์สิ้นชีวิต เขาทำพินัยกรรมส่งมอบสิทธิ์ในคอลเลกชันหนังสืออ่านเล่นส่วนตัวทั้งหมดให้กับห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส และบริจาคตำราการแพทย์ให้ห้องสมุดคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2

แรกสร้าง

ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกชาวอิตาเลียนมารีโอ ตามัญโญ

มารีโอเกิดที่ตูริน ประเทศอิตาลี ภายหลังจบการศึกษาทางสถาปัตยกรรมจากสถาบันประณีตศิลป์อัลแบร์ติน่าแห่งตูริน เขามีโอกาสเดินทางเข้ามารับราชการกับกระทรวงโยธาธิการของสยามที่กรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2443 และทำสัญญาระยะเวลา 25 ปีกับรัฐบาลไทย

เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชนิยมในศิลปะอิตาเลียน ผู้บังคับบัญชาและผู้ร่วมงานของมารีโอในกระทรวงโยธาธิการจึงเป็นชาวอิตาเลียนเกือบทั้งหมด

ในการรับราชการในราชสำนักสยาม ฝีมือและผลงานของเขาเป็นที่ยกย่อง ผลงานการออกแบบของเขามีมากมาย เช่น สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอภิเษกดุสิตในพระราชวังดุสิต วังบางขุนพรหม ตำหนักปารุสกวัน ตำหนักจิตรลดา สะพานผ่านฟ้าลีลาศ พระที่นั่งราชฤทธิ์รุ่งโรจน์ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระราชวังพญาไท

รูปแบบทางสถาปัตยกรรมของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เป็นอาคารชั้นเดียวแบบนีโอคลาสสิก ผังอาคารสมมาตรความยาว ความกว้าง เท่ากันทุกด้าน

ทางเข้าเป็นโถงรูปกลมหลังคาโดมสไตล์อิตาเลียนแสนสวย ห้องอ่านหนังสือวางผังเป็นรูปตัว H โดดเด่นที่หลังคาปั้นหยามุงกระเบื้องว่าว และความวิจิตรของหัวเสาที่สลักลวยลายทุกต้น ผนังโดยรอบเป็นหน้าต่างบานเกล็ดในซุ้มโค้งคั่นด้วยเสาอิง  

เนื่องจากเป็นห้องสมุด มารีโอจึงออกแบบฐานรากโดยใช้ระบบคอนกรีตประเภทแผ่ฐานรับน้ำหนัก เพื่อการระบายลมและป้องกันความชื้น ห้องอ่านหนังสือสร้างด้วยระบบผนัง 2 ชั้น เพราะบรรจุหนังสือจำนวนนับพันเล่นเอาไว้ จึงต้องมั่นใจว่าภายในห้องแห้ง ระบายความชื้นได้ดี อากาศถ่ายเท เพื่อป้องกันแมลงเข้ามากัดกินหนังสือ และเพื่อป้องกันการเกิดสนิมในภายหลัง มารีโอเลือกใช้ตะปูทองเหลืองสำหรับยึดชั้นหนังสือ 

อาคารนี้มีสัดส่วนที่ลงตัว สง่างาม ด้วยทักษะฝีมือช่างระดับเดียวกับที่ใช้ในการก่อสร้างวัง ตำหนัก และสถานที่สำคัญของประเทศ และมีสภาพสมบูรณ์จนได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2525 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

มารีโอเคยกล่าวไว้ว่า ห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เป็นผลงานการออกแบบที่เขารักที่สุด

3

แรกพบ

เรานัดพบกับ นลิน วนาสิน ประธานคณะกรรมการบริหารห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส และ ประพันธ์ นภาวงศ์ดี ภูมิสถาปนิกจากบริษัท Shma ผู้ดูแลการปรับปรุงภูมิทัศน์ด้านนอกอาคารห้องสมุด เพื่อพูดคุยถึงขั้นตอนยุ่งยากมากมายในการบูรณะอาคารโบราณสถานหลังนี้

นลินเล่าว่า ที่ผ่านมามีการซ่อมแซมและปรับปรุงส่วนต่างๆ ของอาคารอยู่ตลอด เนื่องจากอาคารมีอายุเกือบร้อยปี ทำให้หลายองค์ประกอบผุพังและทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังไม่เคยบูรณะครั้งใหญ่ เน้นซ่อมจุกๆ จิกๆ แค่ตามความจำเป็นมากกว่า

การบูรณะใหญ่ครั้งแรกและครั้งเดียวของห้องสมุดแห่งนี้คือช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ใน พ.ศ. 2488

จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว พื้นไม้สักของห้องสมุดเกิดทรุดยวบลงไป นลินปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจากกรมศิลป์และสถาปนิกหลายคนถึงปัญหาที่เกิดขึ้น แต่จนแล้วจนรอดก็ยังหาต้นตอของปัญหาที่แท้จริงไม่ได้ จนได้พบกับ วทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกผู้มีความเชี่ยวชาญด้านการบูรณะตึกเก่า และ ดร.ยุวรัตน์ เหมะศิลปิน สถาปนิกอนุรักษ์สถาปัตยกรรม สองผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ลองเปิดพื้นเพื่อดูโครงสร้างข้างใต้ดู

ที่ต้องเปิดพื้นเพราะผังต่างๆ ของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส หายสาบสูญไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ไม่มีข้อมูลว่าโครงสร้างของอาคารหลังนี้ประกอบไปด้วยองค์ประกอบอะไรบ้าง

เมื่อลองเปิดพื้นดูก็พบว่าใต้พื้นด้านล่างมีถังเก็บน้ำล้อมรอบตัวอาคาร ซึ่งปรากฏว่าระดับน้ำนั้นสูงเกิดกว่าที่ควรจะเป็นไปมาก เกิดน้ำสะสมในดินเป็นพื้นที่น้ำขังและเกิดความชื้นปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางไปไหนต่อ จึงระเหยขึ้นด้านบนมาแตะกับตัวโครงสร้างพื้น ทำให้โครงสร้างอาคารมีความชื้นสะสมตั้งแต่ที่พื้นลามไปจนถึงผนัง

เมื่อรู้ต้นตอของปัญหา นลินจึงไม่แปลกใจว่าทำไมผนังและพื้นของห้องสมุดจึงผุพังตลอดเวลา

การซ่อมครั้งนี้ไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ ที่ซ่อมแค่ตามอาการ ผุก็ฉาบ พังก็ก่อ ใช้ปูนยุคปัจจุบันแทนการใช้ปูนขาวโบราณ โปะเข้าไปที่ผนังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เก็บอัดความชื้นชั้นแล้วชั้นเล่าไว้ตลอดหลายสิบปี การซ่อมครั้งนี้จึงถือเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ เพราะต้องลงไปแก้ไขตั้งแต่ที่รากของปัญหา

ขั้นตอนแรกกินระยะเวลา 6 เดือน ในการสำรวจเพื่อค้นหาข้อมูลเชิงลึกอย่างละเอียดและเขียนแบบ จากนั้นจึงเข้าสู่การบูรณะอาคารอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งใช้เวลาถึง 18 เดือน โดยมี วทัญญู เทพหัตถี และ ดร.ยุวรัต์ เหมะศิลปิน เป็นผู้ควบคุมดูแลอย่างละเอียด ช่วง 6 เดือนสุดท้าย ประพันธ์จึงเข้ามารับไม้ผลัดสุดท้ายในการดูแลปรับปรุงภูมิทัศน์ภายนอกที่จะช่วยส่งเสริมให้โบราณสถานแห่งนี้ทรงคุณค่าและงดงามยิ่งขึ้น

4

แรกบูรณะ

นลินเล่าว่า งบประมาณการบูรณะอยู่ที่ 12 ล้านบาท มาจากการระดมทุนจากองค์กร หน่วยงาน บริษัทเอกชน และบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ยังมีการทำ Crowd Funding ทางเว็บไซต์ Asiola เพราะนลินอยากให้คนทั่วไป คนตัวเล็กที่ปรารถนาดี ที่ไม่ต้องมีเงินเป็นแสนเป็นล้าน สามารถมีส่วนร่วมกับการซ่อมแซมใหญ่ของห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส ครั้งนี้ได้ด้วย ซึ่งก็สามารถระดมได้ถึง 8 แสนบาท มีคนบริจาคตั้งแต่หลักร้อยบาทจนถึงหลักหมื่นเลยทีเดียว

เมื่อเริ่มงานบูรณะ มีสิ่งต่างๆ มากมายที่ค้นพบหน้างาน ทั้งปัญหาและข้อมูลน่าสนใจของอาคารเก่างามหลังนี้ที่ไม่เคยได้รับการบันทึกมาก่อน

อย่างสีผนังดั้งเดิมที่เพิ่งมาค้นพบเมื่อมีการลอกสีผนังออกมาเป็นชั้นๆ ว่าเป็นสีชมพูและฟ้า ตอนนี้บริเวณด้านหลังสุดของห้องสมุดจึงถูกทาด้วยสีดั้งเดิม เพื่อส่งต่อชิ้นส่วนของประวัติศาสตร์นี้ให้กับคนรุ่นหลังต่อไป

อีกหนึ่งความน่าสนใจคือ ภายในห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เคยมีซุ้มประตูชัยที่ถูกทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเพิ่งค้นเมื่อศึกษาจากภาพถ่ายเก่า การบูรณะครั้งนี้จึงมีการนำประตูชัยตามรูปแบบเดิมกลับมาไว้ในห้องสมุดด้วย

ประพันธ์อธิบายว่า ในการปรับปรุงภูมิทัศน์ แนวคิดแรกสุดคือ ทำอย่างไรให้อาคารแสนสวยหลังนี้โดดเด่นขึ้น แต่ก่อน เวลาเข้ามาที่เนียลสัน เฮย์ส ต้นไม้และรูปแบบการใช้งานบริเวณลานด้านหน้า บดบังความสง่างามและการเข้าถึงตัวอาคาร สิ่งที่ต้องทำคือปรับแต่งให้ทุกอย่างเข้าที่เข้าทางและ Functional มากขึ้น

บริเวณทางเข้าอาคาร จากลานด้านหน้า แต่ก่อนเข้าถึงลำบากอาคารลำบาก ทีมภูมิสถาปนิกจึงออกแบบ Deck ไม้เชื่อมต่อพื้นที่ทั้งสองส่วนเสียเลย ส่วนพื้นด้านนอกทั้งหมดก็ปรับระดับเสียใหม่ เพราะพื้นเดิมไม่เรียบเสมอกัน เนื่องจากทรุดโทรมไปตามสภาพและอายุการใช้งาน ตอนนี้ทุกพื้นที่ของห้องสมุดเชื่อมต่อถึงกัน และเป็น Handicap Accessibility หรือพื้นที่ๆ ได้รับการออกแบบให้ผู้พิการหรือผู้ใช้รถเข็นสามารถเข้าถึงได้ด้วย

หากเทียบกับถนนด้านนอกจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าระดับถนนสูงกว่าระดับอาคารไปแล้ว เพราะถนนถูกถมให้สูงขึ้นอยู่เรื่อยๆ แต่อาคารตั้งอยู่ตรงนี้มาเกือบร้อยปีแล้ว เราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงระดับอาคารได้ ดังนั้น การป้องกันน้ำท่วมขังจึงเป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญ

หากสังเกตดีๆ จะเห็นว่า Deck ไม้และระดับพื้นที่ทำใหม่นั้นสูงกว่าระดับพื้นดินเดิมอยู่ราว 30 ซม. เพื่อเป็นทางระบายน้ำ เพราะอาคารเก่าส่วนใหญ่จะมีตัวระบายน้ำอยู่โดยรอบอาคาร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำไหลลงไปสู่ถังเก็บน้ำใต้พื้นอาคาร และทำให้พื้นที่รอบอาคารแห้งอยู่ตลอดเวลา

ต้นกระทิง สารภีทะเล หางนกยูงฝรั่ง คือต้นไม้ใหญ่ที่ให้ร่มเงาห้องสมุดแห่งนี้มาเป็นเวลาหลายสิบปี แทบจะต้องแหงนหน้าจนสุดจึงจะสามารถมองเห็นเรือนยอดของต้นไม้เก่าแก่เหล่านี้ได้ ไม้ประดับที่ใช้ให้อารมณ์เขตร้อนแบบ Tropical ซึ่งเข้ากับรูปแบบอาคารเป็นอย่างดี

ความน่าสนใจในการจัดการสเปซด้านนอก คือการทำให้ความเขียวชอุ่ม และความเป็นโอเอซิสที่เต็มไปด้วยพันธุ์ไม้กลางย่านสีลมของเนียลสัน เฮย์ส ยังคงอยู่ แต่ขณะเดียวกันก็มีพื้นที่พอสำหรับจัดอีเวนต์ต่างๆ ที่ปกติห้องสมุดรับจัดเพื่อหาเงินเข้ามาจุนเจือทางสมาคม

5

แรกเริ่ม (ใหม่)

สมาคมห้องสมุดเนียลสัน เฮย์ส เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร ในการหาทุนเพื่อนำมาใช้บริหารจัดการค่าใช้จ่ายส่วนต่างๆ ของห้องสมุด จึงมาจากการรับสมัครสมาชิก การระดมทุน การรับบริจาค และการจัดกิจกรรมต่างๆ

นลินอธิบายว่า นอกจากให้เช่าพื้นที่จัดอีเวนต์แล้ว สมัยก่อนที่นี่เปิดให้เช่าเป็นพื้นที่ถ่ายละครและภาพยนตร์ แต่ตอนนี้จำเป็นต้องยกเลิกไป เนื่องจากอุปกรณ์ในกองถ่ายละครมีน้ำหนักมาก ทำให้พื้นไม้ได้รับความเสียหาย แต่ถ้าเป็นการถ่ายทำภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวขนาดเล็ก ก็ยังคงเปิดให้เช่าพื้นที่อยู่

ความท้าทายในอนาคตของเนียลสัน เฮย์ส อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันแวดวงคนรักการอ่านหนังสือนั้นย่อเล็กลงอย่างรวดเร็ว ห้องสมุดจึงไม่สามารถจะดำรงความเป็นห้องสมุดเพียงอย่างเดียวได้

ต้องเป็นมากกว่าห้องสมุด… 

เนียลสัน เฮย์ส วางหมุดหมายไว้ว่า อยากเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนย่านบางรัก และเป็นพื้นที่ให้คนไทยได้เข้ามาเรียนรู้ภาษาอังกฤษได้มากขึ้นผ่านคลังหนังสือภาษาอังกฤษนับหมื่นเล่มและกิจกรรมมากมายที่จะจัดขึ้นอย่างสม่ำเสมอตลอดทั้งปี  

ปัญหาที่นลินตระหนักคือ สมัยก่อนกิจกรรมแทบทุกอย่างของเนียลสัน เฮย์ส เป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะมีจุดเริ่มต้นจากการเป็นพื้นที่ของกลุ่มชาวต่างชาติที่ย้ายมาทำงานในกรุงเทพฯ เลยอาจทำให้คนไทยที่ภาษาอังกฤษไม่คล่องแคล่วนักกริ่งเกรงที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับทางห้องสมุด

แผนในอนาคตของเนียลสัน เฮย์ส คือ การปรับกิจกรรมและการสื่อสารเป็นระบบ 2 ภาษา คืออังกฤษและไทย เพื่อเปิดกว้างให้คนไทยกล้าเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยกันมากขึ้น และถือเป็นการฝึกฝนทักษะภาษาอังกฤษไปด้วยในตัว

‘การอ่าน การเขียน การเรียนภาษาอังกฤษ’ คือแกนหลักที่จะถูกแตกออกไปเป็นกิจกรรมต่างๆ ของเนียลสัน เฮย์ส  เช่น กิจกรรมบรรยายประวัติศาสตร์ที่เน้นแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็น กิจกรรมอ่านนิทานภาษาอังกฤษให้เด็กเล็กที่ห้องสมุดทำติดต่อกันมานานแล้ว

ในปีนี้จะมีกิจกรรมใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาอีก เช่น เวิร์กช็อปสอนทักษะการเขียนบทความภาษาอังกฤษ รวมถึงสนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้อย่างเต็มที่สำหรับผู้ที่อยากโชว์ผลงานด้านศิลปะทุกแขนง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับเชื่อมต่อผู้คนเข้าหากัน และเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมสำหรับชุมชน

…ให้ห้องสมุดไม่เป็นเพียงแค่ห้องสมุดอีกต่อไป

Neilson Hays Library

ที่อยู่ : 195 ถนนสุรวงศ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพฯ 10500

เวลาเปิดทำการ : วันอังคาร-วันอาทิตย์ 09.30 – 17.00 น ปิดวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์

รายละเอียดการเข้าใช้ : สามารถเข้าชมบริเวณโดยรอบห้องสมุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่หากต้องการเข้าชมภายในห้องสมุด จะมีค่าบำรุงห้องสมุด 100 บาทต่อท่านในกรณีที่ไม่ใช่สมาชิก หรือจะเข้าไปนั่งคาเฟ่ที่เสิร์ฟกาแฟและขนมอร่อยๆ จาก British Club ด้วยก็ได้

Website : neilsonhayslibrary.org

Facebook : Neilson Hays Library

 

Writer

Avatar

มิ่งขวัญ รัตนคช

อดีต Urban Designer ผู้รักการเดินทางสำรวจโลกกว้าง สนใจงานออกแบบเชิงพฤติกรรมมนุษย์ และยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงเริ่มต้นจากน้ำหยดเล็กที่ไหลมารวมกัน

Photographer

Avatar

ธีรพันธ์ ลีลาวรรณสุข

ช่างภาพ นักออกแบบกราฟิก นัก(หัด)เขียน โปรดิวเซอร์และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ และอื่นๆอีกมากมายแล้วแต่ว่าไปเจออะไรน่าทำ IG : cteerapan