ถ้ามาลุยกินที่จังหวัดตรังสักครั้ง อยากแนะนำให้ลองมาที่อำเภอกันตังด้วยครับ จะขับรถมา เช่าสามล้อมา หรือจะนั่งรถไฟมาก็ได้ อำเภอกันตังอยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองประมาณ 30 กิโลเมตร ไม่ใกล้ไม่ไกล และเป็นเมืองที่ผมคิดว่ามีของดีซ่อนอยู่เต็มไปหมด
เมืองนี้เป็นเมืองท่าและเคยเป็นศูนย์กลางในอดีตของตรัง มีคนจีนอยู่เยอะมาก เลยเป็นที่มาของวัฒนธรรมอาหารของกันตังซึ่งเป็นอาหารจีนที่มีอาหารทะเลเป็นส่วนประกอบ
หนึ่งในจุดหมายที่อยากแนะนำเป็นพิเศษถ้าจะมากันตังคือคาเฟ่ชื่อ ‘หลิงเฉิน’ ถ้าหากนั่งรถไฟมาลงที่สถานีกันตัง สถานีสุดท้ายของรถไฟสายอันดามัน เดินมาไม่ไกลจากสถานีจะพบคาเฟ่นี้
หลิงเฉินเป็นคาเฟ่จากตึกแถวสองชั้นห้องเดียว แต่ลึกตามสไตล์อาคารห้องแถวแบบจีนในสมัยก่อน ด้านหน้าเป็นคาเฟ่ที่ภาพรวมอาจดูว่าคล้ายกับคาเฟ่สไตล์จีนย่านเยาวราช เจริญกรุง หรือที่อื่นๆ แต่สิ่งที่ผมชอบคือการเอาวัตถุดิบของย่านต่าง ๆ ในอำเภอมาทำเป็นส่วนผสมของอาหาร ขนม และเครื่องดื่ม

หลิงเฉิน เป็นคาเฟ่ของ แจ็ค-ภัทร สกุลส่องบุญศิริ คนกันตังที่อยากกลับมาทำธุรกิจของตัวเองที่บ้านเกิดเหมือนความฝันของคนรุ่นใหม่อีกหลายคน ตึกแถวโบราณหลังที่แจ็คเอามาทำเป็นคาเฟ่เคยผ่านสายตาของเขามาตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่เด็กจนโตตึกแถวหลังนี้มีคนอาศัยอยู่เสมอ จนวันหนึ่งตึกนี้ว่างให้เช่า แจ็คบอกว่าเขาไม่ลังเลเลยที่จะเช่าไว้ ด้วยไอเดียแรกที่อยากทำเป็นคาเฟ่และโฮสเทลขนาดเล็ก แต่อาคารไม่เหมาะจะทำเป็นโฮสเทลเลยตัดสินใจทำเป็นคาเฟ่เท่านั้น
คาเฟ่ในตอนเริ่มต้นเต็มไปด้วยความคิดที่พรั่งพรูจากไอเดียของแจ็คทั้งหมด แจ็คเล่าว่าเขาขายกาแฟแบบที่กรุงเทพฯ มี ใช้แก้วกระดาษ และทำน้ำแข็งทรงลูกบาศก์ใช้ในร้านเอง


คาเฟ่เต็มรูปแบบกลายเป็นสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีในกันตังมาก่อน ได้รับความสนใจจากคนในพื้นที่โดยเฉพาะผู้ใหญ่ในตัวอำเภอ แต่ผลปรากฏว่าโดนลูกค้าบ่นเยอะมากจากความไม่คุ้นเคยกับกาแฟรสเปรี้ยว เสียงบ่นว่าให้กาแฟน้อย ดูดแป๊บเดียวก็หมดแล้ว น้ำแข็งก้อนใหญ่เกินไป ใส่แก้วกระดาษเหมือนกาแฟกดตามร้านสะดวกซื้อ แต่แจ็คขายกาแฟในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป และค่อย ๆ ทำความเข้าใจในแต่ละเรื่องตั้งแต่เรื่องธรรมชาติของกาแฟ น้ำแข็งที่ทำเองเพราะต้องการความสะอาด รวมถึงแก้วที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แจ็คเล่าว่าช่วงที่เริ่มเข้าที่เข้าทางคือช่วงที่ลูกหลานกลับมาบ้านในช่วงปีใหม่ แล้วพาครอบครัวมากินขนมกับกาแฟที่คาเฟ่ คนรุ่นใหม่ช่วยอธิบายถึงสิ่งที่แจ็คทำให้คนอีกรุ่นหนึ่งในครอบครัวได้มาก
ร้านหลิงเฉินเริ่มทำอาหารขายเพิ่มเติมจากกาแฟและขนม เป็นอาหารจีนแบบภัตตาคารสไตล์ฮ่องกงที่ครอบครัวมากินร่วมกันได้ แต่สุดท้ายแจ็คก็รู้สึกว่า อาหารแบบที่เขาทำไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับพื้นที่เลย ของก็ยังต้องเข้ามาซื้อในเยาวราช วัตถุดิบบางอย่างก็ซื้อจากห้าง ทั้งที่กันตังเป็นเมืองที่มีวัตถุดิบหลากหลายเต็มไปหมด
ความคิดที่แจ็คอยากให้หลิงเฉินกลายเป็นตัวแทนของชุมชนกันตังเลยเกิดขึ้นมา
ถ้าหากเรานั่งรถไปกันตัง ถนนจะขนานไปกับแม่น้ำตรังเกือบตลอดสาย แจ็คใช้วัตถุดิบของดีรอบตัวมาทำเมนูในร้าน เริ่มเอาลูกจาก น้ำตาลจาก มาทำเป็นคาราเมลและไซรัป ใช้ผสมกับขนมและเครื่องดื่ม กลายเป็นเมนูซิกเนเจอร์ของร้านที่ได้รับความนิยมจากทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
ไม่รู้โชคดีหรือโชคร้ายที่พ่อครัวคนเก่าหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย เป็นช่วงที่แจ็คคิดว่าควรปรับเปลี่ยนอาหารทั้งหมดในร้าน
หลิงเฉินได้รับความช่วยเหลือจาก เชฟอุ้ม จากร้านตรังโคอิ ร้านเชฟเทเบิ้ลอาหารสไตล์เพอรานากัน และ เชฟจิ๋ม ยอดฝีมืออาหารจีนจากภัตตาคารโกยาว สองผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารชาวตรังมาช่วยกันถ่ายทอดวิชาและปรับเมนูอาหารของหลิงเฉิน
ถ้าจะอธิบายอาหารของหลิงเฉินเท่าที่ผมเข้าใจ ที่นี่เสิร์ฟอาหารวัฒนธรรมจีนและอาหารท้องถิ่นของกันตัง ส่วนผสมของวัตถุดิบจากทะเลที่เป็นจุดเด่นของพื้นที่นี้ อาจไม่ได้เรียกว่าเป็นอาหารแบบเพอรานากันที่มีลักษณะเฉพาะตัวเสียทีเดียว แต่ก็มีความใกล้เคียงกันมาก เพราะกันตังเป็นเมืองที่คนจีนเลือกตั้งรกรากและเอาวัฒนธรรมอาหารจีนมาผสมกับการกินแบบท้องถิ่น อาหารของหลิงเฉินเลยยังเชื่อมโยงกับพื้นที่

คงต้องพูดถึงเชฟอุ้มและเชฟจิ๋มเป็นพิเศษ เชฟอุ้มประกาศวางมือจากร้านร้านตรังโคอิที่อนุรักษ์และต่อยอดอาหารแนวเพอรานากัน ผมรู้สึกเสียดายเหมือนกันที่เชฟอุ้มจะหยุดการทำอาหารที่ร้าน เพราะเป็นคนที่ศึกษาและทำอาหารแนวนี้อย่างเข้าใจ แต่โชคดีที่เชฟอุ้มยังถ่ายทอดสูตรและแนวคิดการทำอาหารส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่อย่างแจ็ค ให้คิดจากวัฒนธรรมจีนและอาหารการกินในพื้นที่ จึงได้เป็นเมนูชุดเริ่มต้นของหลิงเฉิน รวมถึงเชฟจิ๋มจากภัตตาคารโกยาว ที่มาช่วยสอนวิธีทำอาหารจีนให้กับเชฟและทีมครัวของหลิงเฉิน
เมนูที่อยากแนะนำเมื่อได้ไปคือกาแฟที่ผสมลูกจากกับขนมเค้กลูกจาก และครัวซองต์ลูกจากครีม กับแมคคาเดเมียกับซอสที่มีส่วนผสมของน้ำตาลจาก รสชาติจะหอมคนละแบบกับน้ำตาลอ้อยหรือน้ำตาลโตนด กินกับกาแฟของที่ร้าน
แต่ถ้าอยากลองกินอาหารแบบจีนฮกเกี้ยน เมนูหมูฮ้องของหลิงเฉินจะใช้สามชั้นมัดด้วยเชือกเพื่อให้หมูไม่เละเวลาตุ๋นกับเครื่องพะโล้นาน 3 ชั่วโมง เป็นเมนูที่ร้านแนะนำให้กินคู่กับแกงส้มปลาท้องถิ่น เป็นปลาที่ได้จากประมงพื้นบ้านของกันตัง ปลาจะไม่เหมือนกันในแต่ละวัน ถ้าวันนั้นได้ปลาอะไรก็จะเอามาแกง น้ำแกงส้มมีลักษณะข้น ตำกับเครื่องแกงแบบละเอียด ใส่ผักพื้นบ้านตามฤดูกาลเช่นกัน พิเศษตรงที่จะซอยเปลือกมะนาวทองดำ มะนาวของตรังที่กินได้ทั้งเปลือก เมื่อกินกับแกงส้มจะได้กลิ่นหอมเป็นพิเศษ ตัดความมันจากสามชั้นและเข้าคู่กับเครื่องเทศได้ดีมาก

หมูเจี๋ยนเคยฉลู เป็นเมนูพื้นบ้านของตรัง เคยหมักเกลือคั่วให้หอม ก่อนเอาไปผัดกับหมูสามชั้นกินกับข้าวสวยอร่อย
ออเจี๋ยน หรือหอยทอดแบบหลิงเฉิน ใช้หอยนางรมจากทั้งฟาร์มและธรรมชาติจากตำบลวังวน ที่มีรสชาติและเท็กซ์เจอร์เป็นของตัวเอง กับแป้งทอดกรอบเป็นอีกเมนูที่นำเสนอรสชาติกันตังได้ชัดเจน

มนูพิเศษ ๆ ที่หากินไม่ได้ทั่วไปอีกหลายเมนู เช่น ไก่ผัดซอสขาวเมืองท่า โลวหมี่ ฮกเกี้ยนหมี่แบบน้ำข้น กะหรี่ปูไหมฟ่าน แกงกะทิเนื้อปูกับเส้นหมี่หุ้น และไม่ใช่แค่อาหารเก่าแก่ หลิงเฉินยังลองเอาอาหารแบบดั้งเดิมมาปรับเป็นเมนูใหม่ ๆ อีก เช่น ยำอิ่วจาโก้ย ดัดแปลงจากยำวุ้นเส้นทะเลแต่ผสมอิ่วจาโก้ย หรือที่คุ้นในชื่อปาท่องโก๋แทนวุ้นเส้น วิธีกินคือผสมน้ำยำกับอิ่วจาโก้ย เคล้าให้เข้ากัน หรือผัดหมี่เมืองท่า ที่เอาหมี่ซั่วมาผัดแบบผัดหมี่ฮ่องกง หอมกลิ่นกระทะ และใส่กุ้งลายเสือกับหมึกหอมที่ได้จากท่าเรือกันตัง


น้องพนักงานในร้านที่เกือบทั้งหมดเป็นคนกันตัง เข้าใจเรื่องอาหารและวัตถุดิบ จนอธิบายอาหารให้กับลูกค้าตอนเสิร์ฟได้ และอาหารในร้านไม่ได้เน้นขายแค่นักท่องเที่ยว แต่แจ็คบอกว่าต้องให้คนในพื้นที่กินได้ด้วย บางเมนูเลยเป็นเมนูใหม่หรือหาที่อื่นไม่ได้ ส่วนเมนูดั้งเดิมก็ปรับให้พิเศษขึ้นด้วยวัตถุดิบและหน้าตา
สิ่งเหล่านี้ทำให้รู้สึกว่า หลิงเฉินกลายเป็นตัวแทนของกันตังอย่างที่แจ็คต้องการได้แล้ว ถ้ามากินอาหารที่หลิงเฉิน ก็น่าจะได้เข้าใจวัฒนธรรมและชิมรสชาติแบบกันตังไปด้วย
คงต้องใส่ร้านนี้เป็นหนึ่งร้านที่ต้องไปเมื่อไปเที่ยวตรังแล้วล่ะครับ

ภาพ : หลิงเฉิน คาเฟ่