ใครชอบสั่งกาแฟหวานน้อยหรือไม่ใส่น้ำตาล

คุณกำลังพลาดของดีที่คนทั่วโลกต้องการ

น้ำตาลไทย เป็นหนึ่งในวัตถุดิบพรีเมียมของอุตสาหกรรมอาหารโลก ไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่อันดับต้น ๆ ในเอเชีย 

ตลาดน้ำตาลทั่วโลกบริโภค 175 ล้านตันต่อปี ตัวเลขนี้เติบโตขึ้น 1 – 1.5% ส่วนใหญ่จะโตในทวีปแอฟริกากับเอเชีย ยุโรปกับอเมริกาชะลอ ประเทศผลิตน้ำตาลอันดับ 1 คือบราซิล

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง คือหนึ่งในบริษัทที่ขับเคลื่อนวงการน้ำตาลไทย แบรนด์ที่เราและเจ้าของร้านกาแฟรู้จักดีคือ ‘Lin’ นี่คือธุรกิจครอบครัวที่ดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน

ความพิเศษของครอบครัวนี้ คือมีทายาทตั้งแต่รุ่นที่ 2, 3 และ 4 ยังทำงานร่วมกันจนถึงปัจจุบัน

ทายาทที่เป็นหัวเรือสำคัญ ได้แก่ รุ่นสอง ชนิดา อัษฎาธร รุ่นสาม ดี้-อัจฉรา งานทวี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายงานการตลาด และ โจ๋-สิริ อัษฎาธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานนวัตกรรมและเทคโนโลยี รุ่นสี่ จ๋า-ธานิดา เจนวาณิชย์ ผู้อำนวยการ ISD-Hedging and Derivatives, โชติ-สุโชติ ฉันท์วิภว Director, ISD-Physical Sales & Pricing, ต้า-ประพันธ์ศักดิ์ ว่องไพฑูรย์ ผู้อำนวยการส่วนงานการเงินและบัญชี, ไว-สมิทธิ ว่องไพฑูรย์ ผู้จัดการโครงการธุรกิจใหม่ และ เพ้นท์-ฐานรุ่ง ลามาติพานนท์ Business Analyst

เมื่อเทรนด์ดูแลสุขภาพเกิดขึ้น คนจึงกินน้ำตาลกันน้อยลง

บริษัทนี้ไปต่ออย่างไร ภายใต้การดูแลของทายาททั้ง 3 รุ่น

กินกาแฟก่อน เติมน้ำตาลสักหน่อย เดี๋ยวเราเล่าให้ฟัง

น้ำตาล Lin ธุรกิจน้ำตาลเอกชนไทยแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยทายาท 3 รุ่นตลอด 78 ปี

เกิดจากนวัตกรรม โตด้วยการร่วมมือ ต่อยอดด้วยเทคโนโลยี

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรือง ก่อตั้งโดย คุณสุรีย์ อัษฎาธร หรือ เถ้าแก่หลิ่น เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2488

สมัยนั้น ไทยเพิ่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 เส้นทางขนส่งระหว่างประเทศถูกทำลาย ต้องใช้เวลาฟื้นฟูใหม่ หลายประเทศเจอปัญหาขาดแคลนอาหารและวัตถุดิบ เมื่อนำเข้าผลผลิตไม่ได้ ก็ต้องหาทางผลิตเอง 

คุณสุรีย์มีความสำคัญต่อประเทศเรา 2 ข้อ หนึ่ง เขาเป็นผู้คิดและประดิษฐ์เครื่องจักรผลิตน้ำตาลของตัวเอง ไม่ต้องซื้อเครื่องจักรผลิตจากต่างประเทศ ทำให้ไทยนำอ้อยที่ขึ้นในประเทศมาแปรรูปเป็นน้ำตาลได้ เกิดสินค้าที่มีมูลค่ามากต่ออุตสาหกรรมอาหารโลก

สอง ทำให้เกิดระบบนิเวศหรือ Ecosystem การผลิตน้ำตาลในไทยเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค 

โรงงานผลิตน้ำตาลในบราซิลจะซื้อที่ดินเพื่อปลูกอ้อยเองด้วย สุรีย์คิดอีกแบบ เขายินดีรับซื้ออ้อยจากเกษตกรรายย่อยที่กระจายตัวในหลายจังหวัด เขามองว่าในเมื่อมีผู้ปลูกอยู่เยอะ ธุรกิจก็ควรจะเอื้อและนำพาทุกคนในวงจรการผลิตไปด้วยกัน 

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองโตอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับตลาดน้ำตาลในเมืองไทย 

ตอนนี้ตลาดบ้านเราแบ่งเป็น 2 ระดับ คือตลาดอุตสาหกรรมและตลาดค้าปลีกหรือ Retail น้ำตาลถูกใช้ในอุตสาหกรรมอาหารไม่น้อย โดยเฉพาะเครื่องดื่มให้ความหวาน น้ำอัดลม และเบเกอรี่

ฝั่งค้าปลีก แม้คนจะเริ่มระวังการกินหวาน แต่ความต้องการยังไม่หายไป ในตลาดโซนนี้ นอกจากจะสร้างแบรนด์น้ำตาล Lin ให้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค (Commodity Product) ยังพัฒนาสารให้ความหวานหรือ Sweetener เป็นทางเลือกให้คนมากขึ้น

ธุรกิจโรงงานน้ำตาลเป็นงานอุตสาหกรรมหนัก ไม่ได้ใกล้ชิดคนทั่วไปเท่าไหร่ แต่ผู้บริหารก็มีวิสัยทัศน์ว่าการตลาดของ Lin ควรทำตลาดลงไปหาผู้คน เน้นความแตกต่างที่เกิดขึ้นในตลาด

เริ่มจากการแตกไลน์สินค้าที่หลากหลาย ตอบความต้องการที่แตกต่าง กลยุทธ์ของสินค้าก็ไม่เหมือนกัน 

โดยจะกลับมาหาคำว่า Sweet Creation ทำให้ภาพของธุรกิจชัดเจนยิ่งขึ้น

“เหตุผลที่เราอยู่มานานมี 3 เรื่อง” ประพันธ์ศักดิ์เกริ่น 

“หนึ่ง คือสเกล เราเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างใหญ่ ได้เปรียบเรื่องการแข่งขัน สอง ความสามารถในการจัดหาวัตถุดิบ ความจริงมันยากมากที่จะได้วัตถุดิบเยอะพอที่จะผลิตน้ำตาลได้มาก ๆ ต้องสร้างความสัมพันธ์กับชาวไร่ ส่งเสริม ทำกันมาสิบ ๆ ปี รุ่นเราเลยสบายเพราะมันมีโครงสร้างพื้นฐานที่วางให้แล้ว สาม คงเป็นเรื่องของเครื่องจักรที่พร้อมหมดแล้ว เป็น 3 ปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเราแข็งแรง”

ทายาทอัษฎาธรรุ่นหลังเข้ามารับช่วงต่อ มีวิวัฒนาการที่ต่างกันไป

ทายาทรุ่นสองเป็นลูกหลานที่พูดภาษาอังกฤษคล่อง เจรจาต่างประเทศได้ จึงเริ่มทำงานส่งออกจริงจัง รุ่นสามริเริ่มธุรกิจ Retail ทำให้คนรู้จักแบรนด์มากขึ้น สร้างตัวตนใหม่ในลูกค้าสายร้านกาแฟและเบเกอรี่ รุ่นสี่นำนวัตกรรมใหม่ ๆ มาพัฒนาการจัดการภายในองค์กร ปรับปรุงระบบให้ตอบโจทย์ความต้องการของโลก และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น

น้ำตาล Lin ธุรกิจน้ำตาลเอกชนไทยแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยทายาท 3 รุ่นตลอด 78 ปี

ถ้ามองดี ๆ ความเปลี่ยนแปลงของกลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองในยุคหลัง ล้วนนำสิ่งที่คนรุ่นก่อนทำมาต่อยอดแทบทั้งสิ้น 

ยกตัวอย่างเรื่องความยั่งยืน ช่วงที่เรื่อง Climate Change เป็นกระแส รวมถึงฝุ่น PM 2.5 เริ่มเป็นปัญหา อุตสาหกรรมน้ำตาลถูกพูดถึงกึ่งโจมตี เพราะคนเข้าใจว่าโรงงานผลิตน้ำตาลทุกแห่งเผาอ้อยเพื่อนำมาทำน้ำตาล เป็นต้นตอของปัญหาฝุ่น

น้ำตาล Lin ยังรักษาความสัมพันธ์ระหว่างเกษตรกรที่บรรพบุรุษเริ่มต้นไว้ แต่หาทางปรับปรุงให้ดีขึ้น โรงงานมีนโยบายสนับสนุนการตัดอ้อยสดเพื่อลดต้นเหตุของฝุ่น

เหตุผลหนึ่งที่เกษตรกรต้องเผาอ้อย เพราะอ้อยสดตัดด้วยมือยาก การเผาแม้จะได้อ้อยง่ายขึ้น แต่ได้ผลผลิต (Yield) น้อยลง ดินเสื่อมลง โรงงานยังนำนวัตกรรมรถตัดอ้อยจากออสเตรเลียยี่ห้อ Tiger, John Deere และ Case IH ที่ได้รับการรับรองเรื่องสิ่งแวดล้อม มาให้บริการตัดอ้อยกับเกษตรกรพันธมิตร ช่วยแก้ปัญหาที่ต้นทางมากขึ้น

บริษัทผลิตน้ำตาลไม่ได้ทำแค่น้ำตาลอย่างเดียว ยังต่อยอดไปสู่การนำกากอ้อยมาแปรรูปเป็นไฟฟ้าชีวมวล ผลิตเอทานอล ทำโรงผลิตปุ๋ย ทำให้การผลิตน้ำตาลเป็นแบบ Zero Waste ไม่เกิดขยะสิ้นเปลืองตั้งแต่ต้นจนจบ

“เราเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากให้มันอยู่ต่อไป 100 หรือ 200 ปี ถ้าเราไม่ปรับตัวก็คงทำอย่างที่ตั้งใจไม่ได้ ผู้ประกอบการคนอื่นอาจสนใจแค่เรื่อง Short Term ใช้ปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าหญ้าเพื่อผลผลิตที่ดีเท่านั้น ซึ่งเราให้ความสำคัญกับดิน การทำเกษตรกรรมแบบยั่งยืน เพิ่มอินทรียวัตถุและจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในดิน” สุโชติเล่า

3 เคล็ดลับที่ทำให้คน 3 รุ่นอยู่ด้วยกันได้

ทุกบ้านมีไลน์กรุ๊ปครอบครัว 

เราคงตอบไลน์เหนื่อยหน่อย ถ้าอยู่ในตระกูลอัษฎาธร

ทายาทรุ่นที่ 2 – 4 ของตระกูลนี้รวมกันแล้วกว่า 80 คน ในมือถือทุกคนมีกรุ๊ปครอบครัวย่อย ๆ เป็นสิบ แยกตามรุ่นและการทำงาน 

“บางคนมีแค่ 2 เจนก็ยาก ทะเลาะกันแล้ว พวกเราโชคดีมากที่มี 3 รุ่น” ธานิดาเล่า

แทนที่จะเป็นจุดอ่อน บ้านนี้กลับมองว่าเป็นจุดแข็ง ทำให้ทั้งธุรกิจและครอบครัวมั่นคง

เคล็ดลับที่ทำให้คน 3 รุ่นอยู่กันได้กลมกลืน มีอยู่ 3 ข้อ

หนึ่ง การกินข้าวร่วมกันพร้อมหน้า

กลุ่มน้ำตาลไทยรุ่งเรืองเคยมีตึกสำนักงานที่ถนนกรุงเกษม ทุกเที่ยง สมาชิกครอบครัว ‘ทุกรุ่น’ จะขึ้นมากินข้าวเที่ยงด้วยกัน มีอะไรก็คุยกันตรงนั้น 

เมื่อองค์กรใหญ่ขึ้น สำนักงานย้ายมาอยู่แถวถนนพระราม 3 ธรรมเนียมการกินข้าวยังมีอยู่ แต่ลดเหลือเฉพาะวันศุกร์ เพื่อให้เข้ากับตารางชีวิตที่ยุ่งมากขึ้นของทุกคน

บ้านนี้ไม่แยกเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว มีอะไรคุยกันหมด โทรหาตอนดึก ๆ เป็นเรื่องปกติ แต่ในขณะเดียวกัน ทุกรุ่นก็มืออาชีพมากพอ ขัดแย้งเรื่องงาน ไม่ได้แปลว่าจะปรึกษาปัญหาชีวิตไม่ได้

น้ำตาล Lin ธุรกิจน้ำตาลเอกชนไทยแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยทายาท 3 รุ่นตลอด 78 ปี

กิจวัตรนี้ปลูกฝังให้คนในครอบครัวกล้าเปิดอกเปิดใจ แถมยังคุยกันได้ทุกรุ่น

สอง ผู้ใหญ่บ้านนี้เข้าใจคนต่างรุ่นดีมาก

คน 3 รุ่นมีความหลากหลายมาก ทั้งวัย เพศ นิสัยใจคอ การจะให้ใครสืบทอดกิจการจึงไม่ใช่เรื่องบังคับกัน แต่เป็นการปลูกฝังให้ทุกคนรู้สึกสมัครใจจะทำเอง 

 อุตสาหกรรมผลิตน้ำตาลไม่ใช่เรื่องเข้าใจง่าย การบีบให้มาทำโดยไม่มีใจจะส่งผลเสียมากกว่าดี เรื่องนี้อาจต่อเนื่องมาจากข้อแรก เมื่อคน 3 รุ่นเจอกันบ่อยบนโต๊ะกินข้าว ได้ซึมซับความคิด ทัศนคติ ความเข้าใจก็เริ่มตามมา

สาม จะมาทำงานที่บ้าน ต้องมีความเชี่ยวชาญด้วย

ทำงานบ้านนี้ไม่สบาย อย่าคิดว่ากลับมาดูแลกิจการครอบครัวแล้วจะชิลล์ไปวัน ๆ สมาชิกทุกคนจะถูกปลูกฝังว่า ออกไปหาประสบการณ์และความรู้ข้างนอกก่อน ให้เข้าใจตัวเองก่อนว่าถนัดเรื่องอะไร เส้นทางที่เหลือค่อยว่ากัน 

“ธุรกิจครอบครัวไม่ได้มีไว้สำหรับคนไม่รู้จักตัวเอง สู้ออกไปทำบริษัทข้างนอก ไปเรียนรู้ตัวเองก่อนจะดีกว่า” ฐานรุ่งเล่าจนทำให้เราฉุกคิด

ตอนนี้ทายาทรุ่นสองคือชนิดา อยู่ในตำแหน่งสูงสุดขององค์กร คนขับเคลื่อนหลักคือรุ่นสามและสี่ แต่ในแง่การแลกเปลี่ยนความรู้ ทุกรุ่นคุยกันหมด 

ตั้งแต่เรื่องบ้าน ๆ อย่างการใช้แท็บเลต ไปจนถึงเรื่องยาก ๆ อย่างระบบ ERP การเปลี่ยนโรงงานมาใช้ Solar Rooftop นวัตกรรมด้าน Carbon Neutral ทั้งหมดนี้คนทั้ง 3 รุ่นคุยแลกเปลี่ยนกันได้ 

คำว่า ‘นี่คือเรื่องของผู้ใหญ่’ แทบไม่เกิดในบ้านนี้ ทุกคนเชื่อมโยงถึงกันหมด 

น้ำตาล Lin ธุรกิจน้ำตาลเอกชนไทยแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยทายาท 3 รุ่นตลอด 78 ปี

คำแนะนำสำหรับคนทำธุรกิจครอบครัว

สร้างความโปร่งใส ไว้เนื้อเชื่อใจ ปรับตัวเก่ง มีความยุติธรรม มีแพสชัน คือคำตอบที่หล่นจากปากของทายาท เมื่อถามถึงคำแนะนำสำหรับคนทำธุรกิจครอบครัววันนี้ 

ไม่ว่าคุณจะมีคนในครอบครัวกี่รุ่น สิ่งที่เราเรียนรู้จากตระกูลอัษฎาธร คือความหมายของคำว่า ‘ธุรกิจครอบครัวที่ดี’

การนำสมาชิกในครอบครัวมาทำธุรกิจร่วมกันไม่ใช่เรื่องง่าย หลักการทำให้ดีนั้นมีอยู่ แต่การทำให้ได้จริง ต้องเปิดใจ เข้าใจ และรักษาน้ำใจกัน 

จะว่าไป การทำธุรกิจที่ดี กับการสร้างครอบครัวให้แข็งแรง ก็ดูเป็นเรื่องเดียวกันจริง ๆ

น้ำตาล Lin ธุรกิจน้ำตาลเอกชนไทยแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยทายาท 3 รุ่นตลอด 78 ปี

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก