เหลือเชื่อจริง ๆ ว่ากำลังจะรับปริญญาในมหาวิหารเดอรัม (Durham Cathedral) มหาวิหารที่ UNESCO ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก และเหลือเชื่อจริง ๆ ว่าเมื่อเดินออกจากมหาวิหารแห่งนี้จะเป็นโลกแห่งความเป็นจริงที่บัณฑิตจบใหม่ต้องเผชิญ 

ชุดครุยที่ทิ้งน้ำหนักอยู่บนบ่าทำให้รู้ตัวว่าไม่ได้ฝันไป และแล้วภาพจำของการใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเดอรัม (Durham) แห่งนี้ก็เริ่มพรั่งพรูเข้ามาในความทรงจำ เสียงออร์แกนที่บรรเลงก้องอยู่ทั่วโบสถ์ ประสานกับน้ำเสียงกระซิบกระซาบด้วยความตื่นเต้นของนักศึกษาและผู้ปกครอง ประหนึ่งเป็นบทเพลงประกอบภาพอดีตเหล่านั้น

การเดินทางไปต่างแดนเป็นเสมือนการจำลองความตาย เพราะการมีตัวตนในบ้านเกิดของเราดับสูญ แล้วไปเกิดใหม่ในอีกประเทศหนึ่งแม้เพียงชั่วคราว การได้ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ประเทศอังกฤษจึงเป็นการ ‘เกิดใหม่’ ครั้งแรก ซึ่งหมายความว่าเป็นโอกาสในการประกอบร่างตัวเองขึ้นมาใหม่ จึงอยากนำบทเรียนและประสบการณ์ส่วนตัวที่ได้จากการ ‘ประกอบร่างใหม่’ ในต่างแดนมาแบ่งปันให้เป็นมุมมองหนึ่งจากอีกหลายชีวิตที่ได้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
ถ่ายภาพรับปริญญาบน Prebends Bridge มองเห็นยอด Durham Cathedral ทางขวา และ Framwellgate Bridge ทางซ้ายของภาพ

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 ปีที่แล้ว นางสาวส่วนสูง 163 เซนติเมตร ตุปัดตุเป๋ลากกระเป๋าสีเหลืองสูงเกือบครึ่งตัวขึ้นเครื่องบิน เพื่อไปศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่ประเทศอังกฤษ 

การเดินทางครั้งนั้นไม่เหมือนการเดินทางครั้งไหน ๆ เพราะเป็นการเดินทางที่ตรงกับรอยต่อชีวิตครั้งสำคัญ คือช่วงที่เพิ่งอายุ 20 หมาด ๆ และดันไปทาบทับกับช่วงเวลาการเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ของโลก คือช่วงที่ต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเพราะโควิด-19 เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาด ณ ขณะนั้นยังไม่ดีนัก จึงต้องไปกักตัวตามโรงแรมที่รัฐบาลอังกฤษจัดสรรไว้ให้เป็นเวลา 10 วันทันทีที่เครื่องบินลงจอด ก่อนจะได้เดินทางไปยังจุดหมาย ซึ่งคือเมืองเดอรัม (Durham) นั่นเอง

ถ้าให้สารภาพตรง ๆ ก่อนเดินทางไปเรียนเราไม่ได้รู้เกี่ยวกับเมืองที่ตัวเองกำลังจะไปศึกษาต่อสักเท่าไหร่ เพราะถ้าไปอังกฤษ ก็เคยไปแต่เมืองหลวงอย่างลอนดอน (London) และเมืองใกล้เคียงอย่างออกซฟอร์ด (Oxford) และบาธ (Bath) แต่เดอรัมนี่สิ ที่ไหน

เดอรัมเป็นเมืองเล็ก ๆ อยู่ทางเหนือของประเทศอังกฤษ อยู่ไม่ไกลสกอตแลนด์หากเดินทางด้วยรถไฟ โดยศูนย์กลางเมืองยกให้เป็นอาณาเขตของมหาวิทยาลัยเดอรัม (Durham University) มหาวิทยาลัยนี้ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสถานศึกษาในปี 1832 แต่เริ่มมีการเรียนการสอนตั้งแต่ปี 1657 จึงติดอันดับมหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุด 10 อันดับแรกของอังกฤษ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในสถานที่ถ่ายทำ แฮร์รี่ พอตเตอร์ (Harry Potter) และเป็นมหาวิทยาลัยที่ศาสตราจารย์มอริอาร์ตี คู่แข่งมันสมองตัวฉกาจของเชอร์ล็อก โฮล์มส์ เป็นอาจารย์อยู่ ตามที่ เซอร์อาร์เธอร์ โคนัน ดอยล์ ประพันธ์ไว้

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
การจัดแสดงพระจันทร์ (Moon Exhibition) ในมหาวิหารเดอรัม ถ่ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว

แต่อีกเรื่องที่โดดเด่นเกี่ยวกับมหาวิทยาลัยแห่งนี้ คือภายใต้มหาวิทยาลัยแบ่งย่อยเป็น ‘คอลเลจ’ (College) หรือ ‘Collegiate System’ คล้าย ๆ กับการที่โรงเรียนเวทมนตร์อย่างฮอกวอตส์ (Hogwarts) แบ่งนักเรียนออกเป็นบ้าน (House) เช่น สลิธีริน (Slytherin) และ กริฟฟินดอร์ (Gryffindor) นั่นเอง เพียงแต่แทนที่จะมีหมวกคัดสรรเป็นผู้เลือก นักศึกษาเลือกคอลเลจที่อยากอยู่ได้ตั้งแต่ตอนสมัคร โดยมหาวิทยาลัยอื่นที่ใช้ระบบเดียวกันนี้ก็เช่น มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด (Oxford) และเคมบริดจ์ (Cambridge) 

คอลเลจเป็นมากกว่าที่พำนักสำหรับนักศึกษา แต่เป็นระบบนิเวศอันเกื้อหนุนให้นักศึกษาที่ต่างมาเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิตได้สร้างสัมพันธ์และสนับสนุนซึ่งกันและกัน ผ่านการทำกิจกรรมของคอลเลจร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเข้าร่วมทีมกีฬาหรือวงดนตรีประจำคอลเลจนั้น ๆ หรือการเฉลิมฉลองร่วมกันในโอกาสสำคัญต่าง ๆ เช่น การแต่งตัวสวยหล่อมาร่วมรับประทานดินเนอร์วันวาเลนไทน์ หรือการจัด Winter Ball ให้นักศึกษาสนุกสนานเมื่อฤดูหนาวมาเยือน และสำหรับวันธรรมดา ทุกคอลเลจจะมีพื้นที่ส่วนกลาง อย่างเช่น บาร์ประจำคอลเลจ ให้นักศึกษาทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกของคอลเลจนั้น ๆ นั่งสนทนา ดื่ม หรือเล่นพูล (Pool) ร่วมกัน ส่งเสริมให้คอมมูนิตี้ของนักศึกษาแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
บรรยากาศทางเดินไปคอลเลจ

เมื่อก้าวเข้าสู่ชีวิตมหาวิทยาลัย ต่างคนต่างก็มีตารางชีวิตของตัวเอง ไม่เหมือนสมัยมัธยมที่มีตารางสอนร่วมกัน จึงทำให้การได้รู้จักเพื่อนสักคนจริง ๆ ไม่ง่ายอย่างที่เคย แต่การได้อยู่คอลเลจในปีแรกทำให้ได้กลุ่มเพื่อนกลุ่มแรกที่มาจากหลากหลายคณะ และทำให้การปรับตัวในช่วงแรกของการอยู่ต่างแดนง่ายขึ้นด้วย เพราะฉะนั้น ระบบคอลเลจคือองค์ประกอบสำคัญที่ถักทอประสบการณ์นักศึกษาเดอรัม ถึงขั้นว่า แม้จะเรียนมหาวิทยาลัยเดียวกัน แต่เป็นสมาชิกคนละคอลเลจ ชีวิตในมหาวิทยาลัยก็แทบจะต่างกันโดยสิ้นเชิง

มหาวิทยาลัยเดอรัมมีทั้งหมด 17 คอลเลจ กระจัดกระจายบนพื้นที่กว่า 1,618 ไร่ หรือราว 4 เท่าของสวนลุมพินี ไม่ว่าเดินไปที่ไหนก็จะพบนักศึกษาที่มาเริ่มต้นบทใหม่ของชีวิต เดอรัมจึงกลายเป็นเมืองมหาวิทยาลัยอย่างแท้จริง

ทว่าเมื่อย้อนกลับไปหลายร้อยปีที่แล้ว สถาปัตยกรรมเก่าทั้งหลายซึ่งปัจจุบันใช้เป็นตึกเรียนไม่ได้ต้อนรับนักศึกษา แต่เป็นสถานที่ซึ่งอุทิศให้แก่ศาสนจักร แต่เมื่อศาสนจักรเสื่อมอำนาจลง ‘ขุมอำนาจ’ ก็แปรเปลี่ยนจากความเชื่อมาเป็นความรู้ ปราสาทและป้อมปราการจึงกลายเป็นมหาวิทยาลัยให้กับปุถุชนทั่วไปได้มาขวนขวายวิชา

น่าคิดเหมือนกันว่าในยุคที่โลกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ในยุคที่ทำทุกอย่างได้ ‘From Home’ ในยุคที่องค์ความรู้อยู่อย่างกระจัดกระจาย เพราะแลกเปลี่ยนกันอย่างลื่นไหลผ่านเครื่องมือทันสมัยโดยไม่ต้องย้ายสังขาร ‘ขุมอำนาจ’ ซึ่งเคยรวมกันอยู่ที่สถานศึกษา ปัจจุบันอยู่ที่ไหน และสถานศึกษาซึ่งก่อตั้งมาเป็นเวลา 191 ปีอย่างมหาวิทยาลัยเดอรัม จะปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไรต่อไป

เริ่มต้นกระบวนการประกอบร่าง

‘Durham’ ป้ายสถานีบ่งบอกที่หมายเมื่อรถไฟเข้าเทียบชานชาลา ตอนนั้นไม่รู้เลยว่านั่นคือสัญญาณที่บ่งบอกว่าการประกอบร่างครั้งสำคัญกำลังจะเริ่มขึ้นแล้ว เพียงแต่ทำใจว่าคงต้องบอกลากิจกรรมอดิเรกสมัยมัธยมทั้งหลาย เพราะตั้งแต่นี้ต่อไปต้องศึกษากฎหมายอย่างเข้มข้น

แต่ไม่นานก็ได้รู้ว่าคิดผิดโดยสิ้นเชิง

เมื่อได้ใช้ชีวิตเป็นนักศึกษาจริง ก็พบว่านอกจากไม่ได้ทิ้งงานอดิเรกเก่าแล้ว ยังคันไม้คันมืออยากหยิบกิจกรรมใหม่ ๆ ขึ้นมาลองทำด้วย นี่เป็นเพราะรอบกายคือพลังงานจากนักศึกษารุ่นราวคราวเดียวกันซึ่งต่างมีความสนใจที่เฉพาะตัวและหลากหลาย เห็นได้จากการที่มหาวิทยาลัยเดอรัมมีสารพัด ‘Societies’ หรือชมรมที่ตั้งและดูแลโดยนักศึกษา เช่น ชมรมชิมช็อกโกแลต ชมรมศาสตร์ป้องกันตัว อย่างเคนโด (Kendo) และ ไอกิโด (Aikido) ชมรมกอสเปล (Gospel) ชมรมดาราศาสตร์ ชมรมขี่ม้า ชมรมโพลแดนซ์ (Pole Dancing) ชมรมเดินป่า (Hiking) และอื่น ๆ อีกมากมาย เรียกได้ว่านักศึกษาคนไหนอยากสร้างร่างกายให้เป็นนักกีฬาประเภทใด และจิตใจให้เป็นศิลปินแบบไหน ก็สามารถหยิบกิจกรรมชมรมต่าง ๆ ใส่ในตะกร้า แล้วจ่ายด้วยเวลาได้เลย

เวลาว่างจึงเป็นเวลาปล่อยผีของนักศึกษา เพราะทุกคนจะปลดปล่อยอีกด้านหนึ่งซึ่งอาจไม่ใช่นักศึกษานิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือฟิสิกส์ ออกมาอย่างเต็มที่ และการเป็นสมาชิกของชมรมต่าง ๆ จึงเป็นอีกส่วนสำคัญของชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัย และเป็นสิ่งที่ผลักให้นักศึกษาจากประเทศไทยคนหนึ่งอยากลองละทิ้งร่างเก่าเพื่อไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำดูบ้าง แม้ว่านั่นจะหมายถึงการสลัดสมญานามนักเรียนดีเด่นทิ้งไปก็ตาม

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
ทุ่งกว้างข้างตึกเรียน

ก่อนที่จะมาเดอรัม เราไม่ได้เป็นคนสนใจการเล่นกีฬาเลยสักนิด แต่เมื่อได้เห็นว่าเพื่อน ๆ แทบทุกคนต่างมีกีฬาอย่างน้อย 1 อย่างที่ตัวเองสนใจ และที่มหาวิทยาลัยก็มีกีฬาหลากหลายให้เล่น ทั้งฟันดาบ (Fencing ) โปโล (Polo) พายเรือ (Rowing) และยิงธนู (Archery) ฯลฯ ซึ่งต้อนรับตั้งแต่มือโปรกระทั่งผู้ที่ไม่มีพื้นฐาน พอรู้ตัวอีกที เด็กสมองหนักคนหนึ่งก็เริ่มสะพายกระเป๋ากีฬาไปศูนย์ฝึกแทบทุกวันเสาร์-อาทิตย์ และรู้สึกว่าชีวิตขาดอะไรไปหากไม่ได้ออกกำลังกาย

อีกความทรงจำโปรดที่สุดของชีวิตมหาวิทยาลัยนอกจากการเป็นสมาชิกของชมรมต่าง ๆ คือการได้ควงเพื่อนผู้คลั่งไคล้ดนตรีด้วยกันออกจากหอหลัง 3 ทุ่มเพื่อไปดื่มและแจมกัน ณ แจ๊สบาร์กลางเมืองที่ตั้งอยู่ชั้นบนของร้านอาหารอิตาเลียน เพราะการร้องเพลงแบบด้นสดร่วมกับ ‘นักดนตรี’ ซึ่งเป็น ‘นักศึกษา’ จากหลากคณะเป็นอีกอย่างที่ไม่เคยทำและฝันอยากทำมานาน ถึงแม้ว่ารู้สึกกลัวยามต้องยืนกลางเวทีโดยไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นท่ามกลางสายตาที่จับจ้องมา แต่เมื่ออ้ารับความไม่รู้นั้น แล้วปล่อยตัวไปตามจังหวะเสียบ้างก็สนุกดีเหมือนกัน 

และแล้วเสียงปรบมือในค่ำคืนนั้นก็ดังขึ้น แด่ความสนุก ผู้กล้า และเสียงเพลง

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
นักศึกษาฝึกซ้อมกีฬาภายเรือประจำวันบนแม่น้ำแวร์ (River Wear)

การได้เข้าร่วมชมรมที่ต่างออกไปจากความสนใจเดิม หรือการพาตัวเองออกไปทำในสิ่งที่ไม่เคยทำอาจน่ากลัวในตอนแรก เหมือนเป็นปูเสฉวนที่วิ่งตัวเปล่าอย่างไร้ทิศทางเพื่อหากระดองใหม่ แต่ทำให้เราได้พบเจอกับอีกวงสังคมหนึ่งที่มีค่านิยม บทสนทนา และวิธีแก้ปัญหาอันต่างออกไปจากวงสังคมเดิมของเรา นำไปสู่วิธีการมองโลกภายนอกที่เปลี่ยนไป และเมื่อได้มองโลกภายนอกผ่านเลนส์ใหม่ มุมมองเกี่ยวกับตัวตนภายในย่อมเปลี่ยนไปด้วย ในที่สุดภาพภายในที่เปลี่ยนไปจึงค่อย ๆ เบี่ยงเบนวิถีการกระทำของเรา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการประกอบร่างใหม่นั่นเอง

ผลัดเซลล์

ช่วงกลางเทอมเป็นช่วงที่เนื้อหาการเรียนเริ่มเข้มข้นขึ้น รายงานที่คั่งค้างก็เริ่มเยอะขึ้น และในขณะเดียวกันก็เป็นช่วงที่ทั้งคอลเลจ ชมรม และคณะต่าง ๆ จัดกิจกรรมแสนเย้ายวนชวนให้เข้าร่วมมากมาย จึงเป็นช่วงที่วุ่นวายช่วงหนึ่งของปีการศึกษา ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อไหร่ที่มีวันว่าง ก็รีบฉวยโอกาสซื้อตั๋วรถไฟ LNER ไปทริปสั้น ๆ นอกเมืองเดอรัมบ้างพอให้ชุ่มชื่นหัวใจ

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
เที่ยวชายหาด Tynemouth ของเมือง Newcastle upon Tyne ซึ่งอยู่ห่างจากเดอรัมโดยรถไฟเพียง 15 นาที (ฝีมือเพื่อนถ่าย)

เนื่องจากเดอรัมเป็นเมืองที่อยู่ทางเหนือ จึงทำให้ไปเที่ยวเมืองที่อยู่เหนือ ๆ ของอังกฤษได้สะดวก ทั้งเมืองที่มีความงามเป็นที่ร่ำลืออย่างเอดินบะระ (Edinburgh) เมืองประวัติศาสตร์อย่างยอร์ก (York) เมืองฟุตบอลอย่างนิวคาสเซิลอะพอนไทน์ (Newcastle upon Tyne) ซึ่งเป็นบ้านเกิดของตำนานแข้งอังกฤษอย่าง อลัน เชียร์เรอร์ (Alan Shearer)​ และแมนเชสเตอร์ (Manchester) เป็นต้น

แต่ที่ที่อยากเชียร์ให้ไปหากมีเวลาออกจากตัวเมืองเดอรัมยาวหน่อย คือเลกดิสตริกต์ (Lake Districts) เพราะเขตอุทยานแห่งนี้เป็นถิ่นกำเนิดของ ปีเตอร์ แรบบิท (Peter Rabbit) เจ้ากระต่ายในหนังสือนิทานเด็กสุดคลาสสิก และหลุมฝังศพของกวีดังอย่าง วิลเลียม เวิร์ดสเวิร์ธ (William Wordsworth) แถมยังเป็นแรงบันดาลใจให้นักร้อง-นักแต่งเพลงชื่อดังอย่าง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift) แต่งเพลง The Lake ในอัลบัม Folklore อีกด้วย 

การได้นอนค้างในบ้านพักเล็ก ๆ สไตล์ ‘English Countryside’ และล่องเรือตามทะเลสาบยามบ่ายในโบว์เนสออนวินเดอร์เมียร์ (Bowness-On-Windermere – เมืองหนึ่งในเลกดิสตริกต์) ทำให้รู้สึกว่าได้แปลงร่างเป็นคนอังกฤษอย่างสมบูรณ์ แม้เพียงชั่วระยะเวลา 2 คืนที่ได้ไปพักที่นั่นก็ตาม

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
ทะเลสาบของเมือง Bowness-on-Windermere ใน Windermere, Lake Districts

แม้ว่าไม่ได้มีเวลาไปเที่ยวเยอะอย่างที่ใจหวัง แต่การนั่งรถไฟออกไปเปิดหูเปิดตานอกเมืองเดอรัมแต่ละครั้งคือโอกาสในการทาบภาพที่จินตนาการไว้เข้ากับภาพความเป็นจริงของดินแดนใหม่ที่ได้ไปอยู่ ทำให้เด็กนอกคนหนึ่งได้ค่อย ๆ ทำความรู้จักวิถีชีวิตของคนอังกฤษอย่างที่เป็น และทุก ๆ ครั้งของการได้ตระหนัก คือการผลัดเซลล์ครั้งใหม่นั่นเอง

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
York Minster ที่เมืองยอร์ก ซึ่งอยู่ห่างจากเดอรัมโดยรถไฟประมาณชั่วโมงนิด ๆ
เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
รูปปั้น Duke of Wellington ในเมืองกลาสโกว์ (Glasgow)

นาฬิกาบนรถไฟ

ช่วงที่ใช้ชีวิตอยู่อังกฤษเป็นช่วงที่นั่งรถไฟข้ามจังหวัดบ่อยที่สุดในชีวิต การเดินทางโดยยานพาหนะสาธารณะอย่างรถไฟ LNER นอกจากเป็นวิธีที่ทำให้ได้สัมผัสชีวิตของคนอังกฤษแบบปราศจากการรีทัชแล้ว ยังเป็นวิธีการสัมผัส ‘เวลา’ ในแบบใหม่อีกด้วย เมื่ออยู่บนรถไฟ ร่างกายของเรานั่งนิ่งบนพาหนะที่เคลื่อนที่ ทำให้รู้สึกเหมือนเวลาผ่านไปช้า แต่ในขณะเดียวกันรถไฟที่เรานั่งอยู่ก็กำลังเคลื่อนที่ผ่านแต่ละเมืองด้วยความเร็วสูง แป๊บ ๆ ก็ถึงที่หมาย ภาพวิวทิวทัศน์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงทำให้รู้สึกเหมือนว่าเวลาผ่านไปเร็ว

เพราะอย่างนี้เลยอดสงสัยไม่ได้ว่านาฬิกาเรือนที่ใช้บนรถไฟกับที่ใช้ตอนอาศัยอยู่ต่างแดนจะเป็นเรือนเดียวกันหรือเปล่า เพราะยามอยู่ต่างแดนมักรู้สึกว่าเวลาเดินเร็วกว่าที่บ้าน เนื่องจากมีเหตุการณ์ที่แปรเปลี่ยนตลอดเวลาเข้ามาปะทะไม่หยุดหย่อน แต่ก็รู้สึกว่าเวลาเดินช้ากว่าปกติ เพราะเป็นช่วงชีวิตที่มีเศษเวลาว่างเปล่าให้อยู่กับตัวเองและทบทวนสิ่งรอบตัวมากกว่าหลายปีที่ผ่านมา และการได้ใช้เศษเวลาว่างเปล่านั้นนั่งนิ่ง ๆ บนรถไฟ สังเกตภาพที่แล่นผ่านสายตานอกหน้าต่างบ้าง ก็เป็นวิธีที่ดีในการสร้างพื้นที่ในสมองสำหรับกลั่นกรองบทเรียนที่ได้สัมผัสจากการใช้ชีวิตอยู่ต่างแดน

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
มองวิวนอกหน้าต่างรถไฟขณะเดินทางไปยอร์ก (ฝีมือเพื่อนถ่าย)

กระบวนการเผาไหม้

การทำงานในร้านหนังสือเป็นความฝันเล็ก ๆ ความฝันหนึ่งที่เก็บไว้ในใจมาตั้งแต่เด็ก เมื่อได้โอกาสมาเกิดใหม่ ณ ต่างแดนในทศวรรษใหม่ของชีวิตแล้ว จึงคิดว่าเป็นฤกษ์งามยามดีสำหรับการทำความฝันนั้นให้เป็นจริงเสียที นำไปสู่การสมัครเป็นพนักงานอาสาสมัครที่ร้านขายหนังสือและของจิปาถะมือสองขององค์การ Oxfam ซึ่งจะนำรายได้จากการจำหน่ายสินค้าไปพัฒนาชุมชนในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนอยู่ และแม้ว่าการสมัครไปทำงานจะหมายความว่าทุก ๆ วันหลังจากเลิกงานตอน 5 โมงเย็นต้องรีบกลับไปท่องหนังสือให้ทันการเรียนวันรุ่งขึ้นก็ยอมทำ เพื่อสานฝันของเด็กหญิงคนหนึ่งให้เป็นจริง

การทำงานในร้านหนังสือมีรูปแบบค่อนข้างคงตัว เริ่มต้นด้วยการจัดหนังสือเข้าชั้น เพื่อให้ลูกค้าหาหนังสือที่ต้องการได้สะดวก หลังจากนั้นลงไปห้องเก็บของชั้นใต้ดิน เพื่อไปจัดของที่ย้ายมาจากร้านเก่าและจัดการออร์เดอร์ออนไลน์ และสุดท้ายก็กลับขึ้นไปหน้าร้านเพื่อไปดูแลงานแคชเชียร์ เพราะฉะนั้น เพื่อเป็นการผ่อนคลายจากกิจวัตรประจำวันเหล่านี้ ทุกบ่ายของวันทำงานจึงเป็นช่วง ‘พักจิบน้ำชาและกินบิสกิต’ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ตั้งหน้าตั้งตารอที่สุดของวัน เพราะเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ ที่เพื่อนร่วมงานอายุตั้งแต่ 18 ยัน 72 ปีจากหลากหลายพื้นเพตั้งวงสนทนาเรื่องสัพเพเหระ

การสนทนาสัพเพเหระทำให้รู้ว่า เกรย์แฮม เพื่อนร่วมงานวัย 72 ปี ผู้มักช่วยเด็กอายุ 20 (ในขณะนั้น) ขนโต๊ะไม้และของหนักอื่น ๆ ขึ้นลงบันไดที่สุดแสนจะชันของร้านอย่างคล่องแคล่ว เคยเป็นตำรวจมาก่อนสมัยหนุ่ม ๆ แต่เมื่อเกษียณแล้วจึงสมัครมาเป็นพนักงานอาสา พร้อม ๆ กับเป็นคุณปู่เต็มเวลาให้กับหลาน ๆ

การสนทนาสัพเพเหระทำให้รู้ว่า โจแอน นักบัญชีคนเก่งของร้าน มักชวนคุณแม่ของเธอมาเป็นผู้ช่วยแพ็กของที่กำลังจะจัดส่งทางไปรษณีย์ แล้วเดินกลับพร้อมกับคุณแม่ผู้ ‘ขับ’ รถเข็นส่วนตัวลงเนินเขาของเมืองด้วยความช่ำชองและการสนทนาสัพเพเหระยังทำให้รู้ว่า ไมเคิล เพื่อนร่วมงานซึ่งเป็นรุ่นน้องของเกรย์แฮมไม่กี่ปี ทำงานด้านสาธารณสุขมาก่อน ปัจจุบันจึงนำทักษะที่ชำนาญมาใช้ยามที่ไปเป็นผู้ฉีดวัคซีนโควิดตามศูนย์บริการของเดอรัมในวันที่ไม่ได้มาทำงานที่ร้าน Oxfam

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่
ดอกไม้ในเมืองเดอรัมบานสะพรั่งในฤดูใบไม้ผลิ

จริงอยู่ที่เมืองเดอรัมมีจำนวนนักศึกษาไฟแรงหนาแน่นเนื่องจากเป็นเมืองมหาวิทยาลัย แต่ในขณะเดียวกันก็มีประชากรผู้สูงอายุ ซึ่งใช้ชีวิตห่างไกลจากคำว่าหมดไฟจำนวนมาก การให้พื้นที่ซึ่งพวกเขานำทักษะที่ฝึกฝนมาอย่างโชกโชนเกือบทั้งชีวิตมาใช้ประโยชน์ เป็นการนำไฟที่คุกรุ่นอยู่ข้างในพวกเขาอยู่แล้วมาทำให้เกิดกระบวนการเผาไหม้ และสร้างพลังงานใหม่ ๆ ให้กับเมืองในที่สุด

สรุปแล้ว การสนทนาสัพเพเหระช่วงพักเบรกดื่มชาและกินบิสกิตทำให้รู้ว่า ถึงแม้เราต่างมีอัตราการเผาไหม้ภายในที่ไม่เหมือนกันตามฤดูกาลของชีวิต แต่กระบวนการเผาไหม้เพื่อสร้างพลังงานใหม่ยังคงเกิดขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะย่างเข้าสู่ทศวรรษใดของชีวิตก็ตาม

บทเรียนจากคนไกลบ้าน

ครั้นฤดูใบไม้ร่วงเริ่มเปลี่ยนเป็นฤดูหนาว เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าใกล้ถึงช่วงปิดเทอม Michaelmas หรือเทอมแรกของปีการศึกษาแล้ว นักศึกษาค่อย ๆ ทยอยกันกลับบ้าน บ้างก็อยู่ต่างจังหวัดและบ้างก็อยู่ต่างประเทศ เมื่อจำนวนประชากรเดอรัมลดลงอย่างถนัดตา ความคิดถึงบ้านสำหรับคนที่ยังไม่ได้กลับบ้านจึงพุ่งสูงขึ้นด้วย เพราะเมืองมหาวิทยาลัยที่ไร้นักศึกษาย่อมไร้ชีวิต

ความรู้สึกโดดเดี่ยวมักเป็นความรู้สึกที่มาเยี่ยมเยียนบ่อย ๆ เมื่อการ ‘กลับบ้าน’ กลายเป็นเรื่องยากลำบาก การอยู่ไกลบ้านทำให้เพิ่งจะรู้ตัวว่า ตลอดมาเราไม่เคยอยู่ตัวคนเดียวจริง ๆ เลย แต่ห้อมล้อมด้วยคนที่คิดถึง ใส่ใจ และดูแลเราอยู่เสมอ แต่เมื่อย้ายออกจากคอลเลจแล้วมาอยู่หอคนเดียว ก็เริ่มต้องรับมือกับการ ‘จำลอง’ การเป็นผู้ใหญ่ด้วยตัวเอง เพราะนอกจากการเรียนแล้ว ยังต้องวุ่นวายกับเรื่องการจ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าโทรศัพท์ สัญญาเช่าบ้าน ทำกับข้าว การเข้าสังคม ความปลอดภัย และเรื่องดูแลสุขภาพอีกด้วย อยู่ดี ๆ ความผันผวนด้านสภาพอากาศ ค่าเงิน การเมือง และปากท้องก็ไม่ใช่เรื่องในห้องเรียนอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบกับการใช้ชีวิตของเราโดยตรง และเราต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบผลกระทบดังกล่าวด้วยตัวเอง เรียกได้ว่าเล่นเอง เจ็บเอง และเจ็บจริง ๆ

แต่ก็เพราะได้รู้สึกโดดเดี่ยวอย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน จึงทำให้ได้เข้าใจความอบอุ่นที่มากับมิตรภาพที่ได้รับจากคนที่อยู่ไกลบ้านเหมือนกัน ระหว่างอยู่ที่มหาวิทยาลัยได้รู้จักกับเพื่อนร่วมชะตากรรมผู้มาจากพื้นหลังและวัฒนธรรมที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง จนบางครั้งก็อดสงสัยไม่ได้ว่า ทำไมเด็กจากไทยแลนด์ ตุรกี เยอรมนี อังกฤษ ฮ่องกง และจีน ถึงได้มานั่งปรับทุกข์กันอย่างเข้าอกเข้าใจทั้ง ๆ ที่เติบโตมาคนละแบบ 

มิตรภาพในแบบของพวกเราเป็นมิตรภาพที่ส่งต่อกันผ่านความเงอะ ๆ งะ ๆ ช่วยกันทำอาหารฝีมือคุณแม่ของแต่ละประเทศ เพื่อให้รู้สึกเหมือนได้กินกับข้าวที่บ้าน การหาเรื่องตลกเล่าให้กันฟังระหว่างรอรถไฟที่ดีเลย์ และการผลัดกันเดินไปส่งเพื่อนที่หอ แม้ว่าทุกคนจะกลัวคนเมาและความมืดเหมือนกัน เป็นมิตรภาพที่ช่วยทุเลาอาการแสบ ๆ คัน ๆ ของการลอกคราบเด็กให้เป็นผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

แต่ที่สำคัญที่สุด การมีเพื่อน ๆ ที่เปลี่ยนละครโศกนาฏกรรม (Tragedy) ให้เป็นละครชวนหัว (Comedy) ได้อย่างมืออาชีพอยู่รอบกาย ทำให้รู้ว่าการประกอบร่างใหม่ไม่จำเป็นต้องโดดเดี่ยว และการเปลี่ยนผ่านจากฤดูหนาวสู่ฤดูใบไม้ผลิในต่างประเทศไม่จำเป็นต้องเดียวดาย

เปิดบันทึกชีวิตปริญญาตรีใน Durham University มหาวิทยาลัยเก่าติดท็อป 10 ของอังกฤษ โดยบัณฑิตสาวไทยที่ได้ประกอบร่างใหม่จากการเรียนที่นี่

แต่แล้วเวลาก็ผ่านไปไวเหมือนโกหก พริบตาเดียวก็จบเป็นบัณฑิตกฎหมายผู้นั่งโบกมือลาเมืองเดอรัมที่ค่อย ๆ ห่างออกไปเรื่อย ๆ จากหน้าต่างรถไฟ

พอกลับถึงประเทศไทยก็ว้าวุ่นเลยทีนี้ เพราะกลายเป็นคิดถึงเพื่อนแทน…​

แม้ว่าการมีเพื่อนกระจัดกระจายตามที่ต่าง ๆ จะทำให้ไปเมาท์หรือหาเรื่องกวนได้ไม่ถนัดอย่างที่เคย แต่ก็รู้สึกอบอุ่นหัวใจทุกครั้งเมื่อนึกขึ้นได้ว่ามีเพื่อนอยู่รอบโลก (แถมที่พักฟรีเวลาไปเที่ยวอีกต่างหาก) อีกอย่างหนึ่ง ยิ่งอยู่ไกล ก็ยิ่งมีข้ออ้างในการหาวิธีสร้างสรรค์เพื่อแสดงความคิดถึง จะใช้วิธีที่รวดเร็วทันใจอย่างการสื่อสารหากันผ่านโซเชียลมีเดียอย่าง Instagram หรือ Snapchat ก็ได้ จะใช้วิธีที่เรโทรหน่อยอย่างการส่งจดหมายหรือส่งของให้กันทางไปรษณีย์ก็ได้ หรือจะฝากก้อนเมฆส่งความคิดถึงให้เพื่อน ๆ ที่อยู่ต่างแดน อย่างที่กำลังทำอยู่ตอนนี้ก็ได้เหมือนกัน

สรุปบทเรียนจากต่างแดน

เคยคิดว่าถ้าหากประสบการณ์การอยู่ต่างแดนยาวขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย ก็คงมีโอกาสออกไปสำรวจหลายเมืองมากกว่านี้ ได้ลองทำกิจกรรมอีกหลายกิจกรรมมากกว่านี้ และได้รู้จักผู้คนดีขึ้นกว่านี้ แต่ในอีกแง่หนึ่ง การที่เห็นจุดจบของช่วงเวลาหนึ่งในระยะใกล้ก็ทำให้พยายามใช้ทุกขณะของระยะเวลา 2 ปีที่ผ่านมาไปกับการประกอบร่างใหม่อย่างเต็มที่ที่สุด

ถึงแม้ว่ากระบวนการการประกอบร่างครั้งนี้ หลัก ๆ เริ่มต้นขึ้นที่เมืองเดอรัม ประเทศอังกฤษ แต่ความจริงแล้วกระบวนการนี้เกิดขึ้นได้ไม่ว่าที่ประเทศใดบนโลกก็ตาม ความสำคัญจึงไม่ได้อยู่ที่ว่าการประกอบร่างใหม่เกิดขึ้นที่ไหน หรือใช้เวลาเท่าใด หากแต่อยู่ที่เรา ‘เลือก’ จะประกอบร่างตัวเองให้เป็นใครเมื่อได้ ‘เกิดใหม่’ ในต่างแดน 

Write on The Cloud

บทเรียนจากต่างแดน

ถ้าคุณมีประสบการณ์เรียนรู้ใหม่ๆ จากการไปใช้ชีวิตในทั่วทุกมุมโลก เชิญแบ่งปันเรื่องราวความรู้ของคุณพร้อมภาพถ่ายประกอบบทความ รูปถ่ายผู้เขียน ประวัติส่วนตัวผู้เขียน ที่อยู่ เบอร์โทรติดต่อ และชื่อ Facebook มาที่อีเมล [email protected] ระบุหัวข้อว่า ‘ส่งต้นฉบับสำหรับคอลัมน์ บทเรียนจากต่างแดน’ ถ้าผลงานของคุณได้ตีพิมพ์ลงในเว็บไซต์ เรามีของขวัญส่งให้เป็นที่ระลึกด้วยนะ

Writer & Photographer

Avatar

จันท์จุฑา ลดาวัลย์ ณ อยุธยา

ตอนเป็นเด็กหญิงคิดว่าถ้ามีพลังวิเศษไม่ได้ก็ขอเขียน ถ้าเขียนไม่ได้ก็ขอร้องเพลง ปัจจุบันเป็นนางสาวนักฝึกฝนตนเองให้ไวต่อความจริงใจ เพราะดันไปแอบชอบพลังวิเศษชนิดนี้ในตัวคน