การสืบทอดกิจการถือเป็นคุณลักษณะสำคัญประการหนึ่งของธุรกิจครอบครัว ซึ่งธุรกิจครอบครัวจำนวนมากพยายามส่งต่อกิจการให้ลูกหลานรับช่วงไปบริหารต่อ

โดยทั่วไปแล้วลูกหลานที่เป็นทายาททางสายเลือดมักมีข้อได้เปรียบกว่าผู้บริหารจากภายนอกครอบครัวหลายประการ เช่น การได้รับการฝึกฝนบ่มเพาะประสบการณ์มาตั้งแต่ยังเล็ก หรือการมีความผูกพันกับกิจการ ลูกจ้าง คู่ค้า และชุมชน มายาวนาน แต่การจำกัดตัวเลือกของทายาทธุรกิจให้อยู่เฉพาะทายาททางสายเลือดก็มีข้อเสีย เพราะเป็นการจำกัดตัวเลือกของผู้บริหารที่มีความสามารถ

ตัวอย่างจากหลายธุรกิจครอบครัวแสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารจากภายนอกครอบครัวนั้นอาจมีความสามารถในการจัดการธุรกิจครอบครัวมากกว่าทายาททางสายเลือดเสียอีก ตัวอย่างหนึ่งได้แก่ธุรกิจของครอบครัว Strauss-Stern-Haas ผู้ผลิตกางเกงยีน Levi’s ซึ่งเป็นที่รู้จักกันทั่วโลกในปัจจุบัน

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

จาก Loeb สู่ Levi

ผู้ก่อตั้งธุรกิจกางเกงยีน Levi’s มีชื่อว่า Loeb Strauss เขาเกิดเมื่อปี 1829 ในบาวาเรียที่ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของประเทศเยอรมนี พ่อกับแม่ของ Loeb มีลูกด้วยกัน 2 คน แต่พ่อของเขามีลูกกับภรรยาคนก่อนอีก 5 คน

ชีวิตในวัยเด็กของ Loeb ค่อนข้างยากลำบาก เขาเติบโตในครอบครัวขนาดใหญ่ที่ไม่ได้มีฐานะดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นชาวยิวในบาวาเรียในสมัยนั้นซึ่งถูกกีดกันและมีข้อจำกัดในการประกอบอาชีพต่าง ๆ

เมื่อ Loeb อายุ 16 ปี พ่อของเขาเสียชีวิต Loeb กับแม่และพี่สาวอีก 2 คนจึงอพยพไปนิวยอร์ก และเมื่อเดินทางขึ้นฝั่งที่สหรัฐอเมริกาแล้ว Loeb Strauss ก็เปลี่ยนชื่อของตัวเอง โดยชื่อใหม่ของเขาก็คือ Levi Strauss

Levi เริ่มทำงานกับ Jonas กับ Louis Strauss พี่ชายต่างมารดาอีก 2 คนที่เปิดร้านขายส่งสินค้าที่ชื่อว่า J. Strauss Brothers & Co. ที่นิวยอร์กอยู่ก่อนแล้ว

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

โอกาสทองจากการตื่นทอง

ในช่วงทศวรรษ 1850 มีการค้นพบทองคำในแคลิฟอร์เนีย ทำให้เกิดกระแสตื่นทอง (Gold Rush) ที่ผู้คนจำนวนมากอพยพไปแสวงโชคขุดทอง

Fanny Strauss และ David Stern พี่สาวและพี่เขยของ Levi ก็เล็งเห็นโอกาสทางธุรกิจนี้ จึงอพยพไปแคลิฟอร์เนียและเปิดร้านค้าที่เมืองซานฟรานซิสโก ซึ่งต่อมาในปี 1853 Levi ได้ย้ายตามพี่สาวและพี่เขยของเขาไป

Levi ทำธุรกิจเป็นตัวแทนในเขตชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาให้กับกิจการขายส่งสินค้าของพี่ชายที่นิวยอร์ก โดย David พี่เขย ก็ได้เข้ามาร่วมทำธุรกิจนี้ด้วย ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อธุรกิจนี้เป็น Levi Strauss & Co. ซึ่งกิจการนี้เป็นที่รู้จักกันในชื่อการค้าว่า Levi’s ในเวลาต่อมา

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร
เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

กำเนิดกางเกงยีน

จุดพลิกผันสำคัญของกิจการ Levi’s และอุตสาหกรรมเสื้อผ้าของโลกเกิดขึ้นในปี 1872 เมื่อ Levi ได้รับจดหมายจาก Jacob W. Davis ช่างตัดเสื้อในเมืองรีโน รัฐเนวาดา ซึ่งเป็นลูกค้าประจำ

Jacob บอกว่าเขาคิดค้นวิธีตัดกางเกงแบบใหม่ที่มีความคงทนโดยการใช้หมุดโลหะยึดผ้า เป็นการแก้ปัญหากระเป๋ากางเกงฉีกขาดง่ายเวลาใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ Jacob ต้องการจดสิทธิบัตรและทำการผลิตแต่ขาดคนร่วมลงทุน Levi จึงเชิญให้ Jacob มาคุยกับเขาที่เมืองซานฟรานซิสโก ทั้งคู่ผสานวิธีใช้หมุดโลหะของ Jacob กับผ้าที่มีความทนทานของ Levi และให้กำเนิดกางเกงยีนตัวแรกของโลก

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

กางเกงยีนของ Levi’s เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่คนงาน คาวบอย และทหาร เพราะมีความคงทนและมีกระเป๋าสำหรับใส่อุปกรณ์ต่าง ๆ ซึ่งบริษัท Levi Strauss & Co. ก็ได้สื่อสารความทนทานของกางเกงยีนนี้ผ่านเครื่องหมายบนแผ่นหนังที่เย็บติดกับขอบเอวกางเกง โดยออกแบบเป็นรูปม้า 2 ตัวพยายามดึงกางเกงยีนให้ฉีกออกจากกัน สัญลักษณ์ม้าคู่นี้ปรากฏโฉมครั้งแรกในปี 1892 ก่อนที่สิทธิบัตรกางเกงยีนที่ใช้หมุดโลหะยึดของ Levi’s จะหมดอายุพอดี

นอกจากนี้ ในทศวรรษ 1890 Levi’s ยังเริ่มใช้ตัวเลข 3 หลักในการบอกรุ่นของกางเกงยีน เช่น ตัวเลข 501 ใช้เรียกกางเกงยีนรุ่นที่ใช้หมุดทองแดง ซึ่งกลายเป็นรุ่นที่โด่งดังที่สุดของแบรนด์ในเวลาต่อมา

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

อยู่รอดเพราะหลานเขย

Levi Strauss ไม่มีลูก เมื่อเขาเสียชีวิตในปี 1902 เขาส่งมอบธุรกิจมูลค่า 6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ให้แก่หลานชาย 4 คนที่เป็นลูก ๆ ของ Fanny และ David Stern คือ Jacob, Sigmund, Louis และ Abraham แต่กิจการภายใต้การบริหารของทายาทรุ่นสองดำเนินไปได้ไม่ค่อยดี ถึงขนาดที่ว่าหลาน ๆ 4 คนเกือบตัดสินใจปิดกิจการเลยทีเดียว 

แต่สถานการณ์ได้เปลี่ยนไปเมื่อ Walter Haas สามีของ Elise Stern ทายาทรุ่นสาม ลูกสาวคนเดียวของ Sigmund เข้ามาช่วยกิจการในปี 1919 และขึ้นเป็น President ของบริษัทในอีก 9 ปีถัดมา และ Walter ยังให้ Daniel Koshland สามีของ Eleanor Haas น้องสาวของเขาเข้ามาช่วยงานที่บริษัท Levi Strauss & Co. อีกด้วย

ต่อมา Daniel ได้ขึ้นเป็น President ต่อจาก Walter ในปี 1955 ส่วน Walter ยังคงเป็น Chairman เรื่อยมาจนกระทั่งปี 1970 ก่อนที่จะเขาจะเสียชีวิตในอีก 9 ปีต่อมา

เส้นทางโลดโผนของ Levi’s ผู้นำธุรกิจยีน ไม่มีลูก เกือบเจ๊งเพราะหลาน เข้าตลาด 2 ครั้ง รอดมาได้เพราะใช้คนนอกบริหาร

จากเหมืองสู่เมือง

ในช่วงที่ Walter และ Daniel บริหารกิจการนั้น ธุรกิจของ Levi Strauss & Co. ไม่เพียงพลิกฟื้นจากสภาพซบเซา แต่ยังอยู่รอดผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ (The Great Depression) และสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมถึงเติบโตจนเป็นธุรกิจชั้นนำระดับโลกในยุคหลังสงครามโลกอีกด้วย

การที่ธุรกิจของบริษัท Levi Strauss & Co. ทำกำไรอย่างมากในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดจากการตัดสินใจครั้งสำคัญของ Walter ที่เปลี่ยนธุรกิจขายส่งสินค้าไปเน้นทำธุรกิจการผลิตเสื้อผ้าอย่างเดียว

การเปลี่ยนแปลงนี้นับว่าเสี่ยงต่อความเป็นความตายของบริษัทเลยทีเดียว เพราะกำไรจากกิจการขายส่งในขณะนั้นคิดเป็นสัดส่วนมากถึง 75% ของกำไรทั้งหมดของบริษัท นอกจากนี้ Walter ยังมุ่งขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ โดยเฉพาะการขายกางเกงยีนให้เด็กรุ่นใหม่

เมื่อภาพ James Dean ดาราฮอลลีวูดชื่อดังสวมเสื้อยืด แจ็กเกตหนัง และกางเกงยีน Levi’s 501 ในภาพยนตร์ Rebel Without a Cause ออกสู่สาธารณชนในปี 1955 กางเกงยีน Levi’s ก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนเมืองอย่างเต็มตัว และเมื่อวัฒนธรรมอเมริกันแพร่ขยายไปทั่วโลกในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ธุรกิจนี้ก็เติบโตไปทั่วโลกด้วยเช่นกัน

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท

เข้าตลาด

ในด้านครอบครัว Walter Haas มีลูก 3 คน คือ Walter Haas Jr., Peter Haas และ Rhoda Haas Goldman

Walter Jr. ลูกชายคนโต เป็นทายาทรุ่นสี่ผู้รับช่วงต่อกิจการ เขาเริ่มเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัวตั้งแต่ปี 1936 และเป็น CEO ต่อจาก Daniel Koshland ในปี 1958 เขาอยู่ในตำแหน่งต่อมา 18 ปี Walter Jr. ร่วมกับ Peter น้องชายคนรอง ขยายธุรกิจไปต่างประเทศ และนำบริษัทไประดมทุนโดยเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 1971

หลังจากที่ Walter Jr. ก้าวลงจากตำแหน่ง CEO แล้ว Robert Haas ลูกชายคนโตของเขาได้รับช่วงต่อกิจการ นับเป็นทายาทรุ่นห้าของธุรกิจครอบครัว Strauss-Stern-Haas แต่ธุรกิจเริ่มมีปัญหาเพราะมีความซับซ้อนเกินไป มีคนตัดสินใจหลายคน ส่งผลให้กำไรของบริษัทลดลงอย่างต่อเนื่อง

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท

ออกจากตลาด

ในปี 1984 Robert จึงตัดสินใจกู้เงิน 1.7 พันล้านเหรียญฯ มาซื้อหุ้นของ Levi Strauss & Co. และเอาบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์ แต่ปัญหาของบริษัทก็ยังคงไม่ได้รับการแก้ไข ตลอดช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ยอดขายยังคงต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการแข่งขันในอุตสาหกรรมทวีความรุนแรงขึ้น

ในช่วงแรก Robert ลังเลที่จะย้ายฐานการผลิตไปประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าดังเช่นคู่แข่ง เพราะเขาไม่ต้องการปิดโรงงานและเลิกจ้างคนงานในสหรัฐอเมริกา แต่ในที่สุด Robert ก็ต้องยอม บริษัททยอยปิดโรงงานในช่วงทศวรรษ 1990 และปิดฉากการผลิตกางเกงยีน Levi’s ในสหรัฐอเมริกาลง เมื่อโรงงานแห่งสุดท้ายที่เมืองซานอันโตนิโอ รัฐเท็กซัส ปิดไปในปี 2003

ถึงแม้ว่าผลประกอบการของ Levi’s จะไม่ดีนัก แต่บริษัทก็ยังกู้ยืมเงินหลายพันล้านเหรียญฯ ในปี 1996 เพื่อมาซื้อหุ้นคืนจากลูกจ้างและคนนอกครอบครัวอีกครั้ง ในที่สุดหุ้นแทบทั้งหมดของบริษัทก็กลับมาอยู่ในมือของทายาทของ Levi Strauss อีกครั้งหนึ่ง

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท

เข้าตลาด (อีกครั้ง)

ปัญหาผลประกอบการตกต่ำดำเนินต่อมาในช่วงทศวรรษ 2000 จนในที่สุดบริษัทตัดสินใจจ้าง Chip Bergh มืออาชีพจากนอกครอบครัวที่มีประสบการณ์เกือบ 30 ปีจากบริษัท Procter & Gamble มาช่วยกอบกู้สถานการณ์ในปี 2011

ถือเป็นครั้งแรกในรอบ 100 กว่าปีที่ Levi Strauss & Co. ไม่ได้อยู่ภายใต้การบริหารของคนในครอบครัว

Bergh เป็น CEO ที่เข้ามาปรับเปลี่ยนธุรกิจจนผลประกอบการดีขึ้น ยอดขายและกำไรเติบโต หนี้สินลดลงเหลือเพียง 1 ใน 6 เมื่อเทียบกับก่อนที่เขาเข้ามาบริหาร จนในที่สุด Bergh ได้นำ Levi Strauss & Co. เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์กอีกเป็นครั้งที่ 2 ในปี 2019

สาเหตุในการนำบริษัทเข้าซื้อขายในตลาดในครั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการบริหารทรัพย์สิน และกระจายความเสี่ยงให้แก่สมาชิกครอบครัวที่มีหุ้นในบริษัท ซึ่งสมาชิกครอบครัวเหล่านี้มีจำนวนมากกว่า 200 คน

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท
Chip Bergh for Harvard Business Review

ธุรกิจครอบครัวที่เป็นบริษัทมหาชน

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ Bergh ปฏิรูปกิจการ Levi’s สำเร็จ คือการที่ Levi Strauss & Co. ไม่ได้เป็นบริษัทมหาชนที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์

Bergh กล่าวว่า เขาวางแผนธุรกิจระยะยาวได้โดยไม่ต้องพยายามปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อตอบสนองต่อการคาดการณ์ผลประกอบการบริษัทของนักวิเคราะห์หุ้น

การมองการณ์ไกลหรือ Longtermism เป็นสิ่งที่ Bergh ยังคงรักษาไว้ แม้ว่าบริษัทจะกลับมาจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อีกครั้งแล้วก็ตาม ซึ่งเขาทำได้เพราะในปัจจุบันสมาชิกครอบครัว Haas ยังถือหุ้นและสิทธิในการออกเสียงในบริษัท Levi Strauss & Co. มากเกิน 75% จึงยังควบคุมการบริหารกิจการไว้ได้

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท

เมื่อความสามารถสำคัญกว่าสายเลือด

Walter Haas, Daniel Koshland และ Chip Bergh ล้วนเป็นผู้ที่ฟื้นฟูและพลิกโฉมธุรกิจ Levi’s ให้อยู่รอดและเติบโตมากว่า 170 ปี ทั้ง 3 คนนี้นับว่าเป็นผู้บริหารที่ไม่ได้สืบสายเลือดโดยตรงจากคนในตระกูล โดย Walter เป็นหลานเขยของ Jacob Stern ในขณะที่ Daniel เป็นน้องเขยของ Walter อีกทอดหนึ่ง ส่วน Chip Bergh เป็นคนนอกที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับครอบครัวเลย

ประสบการณ์จากธุรกิจครอบครัว Strauss-Stern-Haas นี้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริหารจากภายนอกครอบครัวนั้นอาจจะจัดการธุรกิจครอบครัวได้ดีกว่าทายาททางสายเลือดที่แม้จะมีข้อดีอื่น ๆ มากกว่าหลายประการ

การจำกัดตัวเลือกของทายาทธุรกิจให้อยู่แต่เฉพาะในบรรดาทายาทของตระกูลนั้น จึงเป็นการจำกัดตัวเลือกของผู้ที่มีความสามารถในการบริหารธุรกิจครอบครัวด้วยเช่นกัน

Levi’s ธุรกิจครอบครัวที่ไม่มีลูก เกือบปิดตัวเพราะหลาน และใช้คนนอกบริหารดีกว่าทายาท
ข้อมูลอ้างอิง
  • “The Story of Levi Strauss” www.levistrauss.com/2013/03/14/the-story-of-levi-strauss
  • “LEVI STRAUSS: How the Haas Family Revived Its 169-Year-Old Business” cmgpartners.ca
  • “Levi Strauss: From Family Business to American Icon” www.tharawat-magazine.com/sustain
  • “Levi Strauss” www.referenceforbusiness.com/businesses
  • “Haas to Keep Hand on Levi’s / Last of Family to Run Jeansmaker to Stay Active in S.F. Firm” www.sfgate.com/business/article
  • “Why the Heck Does 165-Year-Old Levi Want to Be Public Again?” www.wsj.com/articles
  • “As Jeans Giant Levi Strauss Prepares To Go Public, New Billionaire Emerges” www.forbes.com/sites/willyakowicz
  • truewestmagazine.com/article
  • blog.myntra.com
  • timesofindia.indiatimes.com/life-style/fashion/buzz
  • en.wikipedia.org/wiki/Jacob_W._Davis
  • haassr.org/our-identity/historylegacy
  • www.standard.co.uk/culture/film
  • www.sfgate.com/business/article
  • www.referenceforbusiness.com
  • news.lafayette.edu
  • wwd.com/fashion-news/sportswear

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต