สิ่งสำคัญในชีวิตที่คุณอยากรักษาไว้สุดหัวใจ มีอะไรบ้าง
แต่ละคนคงมีคำตอบแตกต่างกัน แต่เชื่อว่า ‘สุขภาพ’ และ ‘ครอบครัว’ เป็น 2 เรื่องที่นึกถึงกันเป็นอันดับต้น ๆ
หากสุขภาพไม่แข็งแรง ไม่มีผู้คนร่วมทุกข์สุข แบ่งปันเวลาด้วยกัน หลายอย่างคงขาดหายไปจากชีวิต
นี่เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ ‘Lemon Farm’ หรือ บริษัท สังคมสุขภาพ จำกัด มุ่งเน้นการนำเสนออาหารที่เป็นมิตรต่อสุขภาพ อาหารวิถีเกษตรอินทรีย์หรือออร์แกนิก ตั้งแต่ยุคสมัยที่คนยังไม่คุ้นกับคำนี้ ทำงานเพื่อรักษา 2 เรื่องสำคัญมาตลอด 25 ปี ด้วยความตั้งใจเป็น ‘ร้านสุขภาพของครอบครัว’
Lemon Farm พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เกิดขึ้นกับคนทั้งสองฝั่ง ผ่านพลังของอาหารและการบริโภค

ในฝั่งคนต้นทาง Lemon Farm ทำงานคลุกคลีกับเกษตรกรรายย่อย ร่วมกันพัฒนาโอกาสให้ชุมชนมีสุขภาพกายและการเงินที่ดีขึ้น พร้อมกับการรักษา ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ด้วยการชวนกันทำเกษตรอินทรีย์
ส่วนปลายทาง ร้านทำหน้าที่คัดสรร พัฒนาอาหารที่ปลอดภัยให้ผู้บริโภค สร้างตลาด ผ่านหน้าร้าน 18 สาขาในกรุงเทพมหานครและช่องทางออนไลน์ สื่อสารให้คนเข้าใจที่มาที่ไปและเห็นถึงพลังของอาหารธรรมชาติ พร้อมช่วยสร้างรายได้ให้เกษตรกรและธุรกิจที่มีแนวคิดเรื่องการดูแลสุขภาพให้เติบโต
ภารกิจการสร้างกลไกเชื่อมโยงคนทั้งสองฝั่งนี้ นำทีมโดย สุวรรณา หลั่งน้ำสังข์ หญิงแกร่งที่ขยันทำงานอย่างเข้มแข็ง
พี่เล็ก คุณสุวรรณา เป็นคำเรียกของเธอที่ผมได้ยินอยู่เรื่อย ๆ
ส่วนผมเรียกเธอว่า ‘แม่’ ผู้ดูแลผมและร้านที่เกิดมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ผ่านช่วงเวลาดีร้ายในการดูแล 2 เรื่องนี้มาได้จนถึงวัยเบญจเพส
ผมเคยไม่สนใจว่าแม่และร้านทำอะไร จนเติบโตขึ้น เห็นความยากของการทำธุรกิจให้รอดในโลกนี้ ไม่นับเรื่องความท้าทายในการรักษาแนวคิดด้านสังคมให้คงอยู่ ผมจึงอดสงสัยไม่ได้ว่า เธอบริหารจัดการร้านมาจนถึงปัจจุบันอย่างไร โดยยังรักษาจุดยืนตั้งแต่วันแรกไว้ได้อย่างมั่นคง
ขอชวนคุณแวะเข้ามาเดินเล่นที่ร้าน เลือกซื้ออาหารด้วยความสบายใจ แล้วมาตามหาจิตวิญญาณของธุรกิจที่อยากดูแลสุขภาพและครอบครัวของคุณให้ดีที่สุดไปพร้อมกันกับผม
Lemon Farm สวัสดีครับ

อนาคตอยู่ที่ชุมชน
Lemon Farm ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพราะตั้งใจเป็นธุรกิจ และถ้าใครเห็นประวัติชีวิตของสุวรรณา ก็น่าจะดูห่างไกลจากความเป็นนักธุรกิจอยู่พอสมควร
เรียนจบจากสาขาพฤกษศาสตร์ ใช้เวลาสมัยเรียนลงพื้นที่ทำค่ายอาสา อยู่กับธรรมชาติ ศึกษาพุทธศาสนา
หลังเรียนจบ ไปทำงานสอนผู้อพยพที่พนัสนิคม กว่าจะเริ่มทำงานบริษัทจริงจังก็อายุ 28 ปี
“พอเราเรียนด้านนี้และทำงานพัฒนาชนบท เราเห็นธรรมชาติ เห็นความยากจนและความเหลื่อมล้ำ เราฝันถึงสังคมที่ดีขึ้น ถามหาความหมายของชีวิตมากกว่าการอยู่ไปเรื่อย ๆ แต่ตอนที่ยังไม่โตพอ ยังทำอะไรไม่ค่อยเป็น มันอาจเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ และบ้านเราไม่ได้ร่ำรวย ถึงจุดหนึ่งก็ต้องคิดเรื่องการเลี้ยงชีพ” สุวรรณาเล่าชีวิตวัยสาวที่ตั้งใจอุทิศให้กับภารกิจหนึ่ง แม้ไม่ได้เป็นไปตามหวัง แต่ประสบการณ์ช่วงนี้ของชีวิตทำให้เธอบอกผมเสมอว่า ไม่ต้องรีบ ทุกอย่างมีเวลาของมัน ขอเพียงรักษาความตั้งใจของเราไว้
หลังจับพลัดจับผลู เริ่มงานในบริษัทน้ำมันใหญ่แห่งหนึ่ง ค่อย ๆ เก็บประสบการณ์ไป 10 กว่าปี จังหวะเวลาก็มาถึง
เมื่อผู้ใหญ่ของบ้านเมืองที่มีวิสัยทัศน์ เช่น นายแพทย์ประเวศ วะสี, ศาสตราจารย์ระพี สาคริก, ศาสตราจารย์นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว, คุณโสภณ สุภาพงษ์ ร่วมกันคิดสร้างเครื่องมือการทำงานที่จะสอดคล้องไปกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 – 2544)

“ช่วงนั้น ประเทศเรามีแนวคิดว่าถ้าพัฒนาเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมต่อไปเรื่อย ๆ คงไม่ใช่ เพราะคนมากมายยังลำบากอยู่ จะทำอย่างไรให้คนตัวเล็กจำนวนมากมีพื้นที่ ไม่ยากจน ไม่ต้องทิ้งบ้านช่อง ครอบครัวกระจัดกระจาย ซึ่งเราต้องกระจายความมั่นคงออกไป ผู้ใหญ่หลายท่านจึงมาช่วยกันออกแบบธุรกิจที่สนับสนุนชาวบ้านให้มีพื้นที่ขายผลผลิตและรายได้ที่มั่นคง”
นั่นคือจุดเริ่มต้นของ Lemon Farm เมื่อ พ.ศ. 2541
สุวรรณาที่สนใจการพัฒนาชุมชนตลอดมา ได้รับโอกาสในการบริหารจากแนวคิดของผู้ใหญ่ตั้งแต่วันนั้น
25 ปีที่แล้ว สินค้าชุมชนยังไม่น่าเชื่อถือมาก หน้าที่ของสุวรรณาและทีม Lemon Farm คือการตระเวนหาผลิตภัณฑ์จากชุมชนทั่วประเทศ พยายามสร้างตลาดให้เกิดขึ้น เป็นที่มาที่ทำให้ลูกค้ารุ่นแรก ๆ มักรู้จักร้านจากสินค้าชุมชน เช่น ข้าวสายพันธุ์ท้องถิ่น ผักพื้นบ้าน ขนม เช่น มันอาลู ที่ไม่ค่อยพบเห็นในซูเปอร์มาร์เก็ตหรือห้างอื่น
“ตอนที่คนยังไม่รู้จักร้านและไม่มีข้อมูลอะไรในอินเทอร์เน็ต เราอาศัยการเข้าไปจุ่มตัวกับเพื่อนนักพัฒนาที่รู้จักกันมา เทียวไปหาชาวบ้านอยู่หลายรอบ อยู่กับเขาจริง ๆ จนเชื่อใจและกลายเป็นเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน” สุวรรณาเล่าถึงช่วงเวลาที่เธอออกไปต่างจังหวัดบ่อย ๆ เมื่อผมยังเป็นเด็ก การทำงานกับชุมชนต้องอาศัยเวลากว่าที่คิด
หลังจากนั้นไม่กี่ปี เกิดโครงการ OTOP จากภาครัฐ และผลิตภัณฑ์ชุมชนกลายเป็นเสน่ห์ที่คนอยากตามหาและสนับสนุน

เคารพชีวิตด้วยเกษตรอินทรีย์
“เรามองเห็นความเจ็บป่วยของคนทั้งสองฝั่ง”
การตระเวนพบชุมชนและมีพื้นที่หน้าร้านให้พบปะลูกค้า ทำให้ Lemon Farm พบปัญหาเรื้อรังที่กำลังเกิดขึ้นในวงจรอาหาร
“ฝั่งหนึ่ง เราพบว่าเกษตรกรเจ็บป่วยจากการผลิตอาหารที่ใช้สารเคมีเยอะ ขาดโอกาสทางอาชีพที่ดี ติดอยู่ในวงจรหนี้สิน เรามักบอกว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก แต่ถ้าคนที่ผลิตอาหารให้เราอยู่ไม่ได้ เราจะยังเป็นครัวของโลกได้หรือเปล่า ในขณะเดียวกัน เราเห็นคนเมืองเจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากวิถีชีวิตและอาหารที่รับประทานมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น มะเร็ง เบาหวาน
“เรามองว่า 2 ปัญหานี้สามารถแก้ด้วยการอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารที่ดี หมายถึงผักผลไม้ที่ปลอดภัยเป็นหลัก ซึ่งจริง ๆ เกษตรกรเป็นผู้ผลิตอาหารเหล่านี้ที่เก่งที่สุด พวกเขามีความสามารถมาก และพวกเขาควรมีคุณภาพชีวิตที่ดี” สุวรรณาอธิบายแนวคิดแรกเริ่มของ Lemon Farm
หนึ่งต้นตอของความเจ็บป่วย เกิดจากการผลิตอาหารด้วยการใช้สารเคมีเกินขนาด เช่น ยาฆ่าหญ้า ยาฆ่าแมลง สารเร่งโต แม้จะช่วยทุ่นแรง เพิ่มจำนวนผลผลิตสำหรับเกษตรกร ราคาไม่แพงสำหรับผู้บริโภค
แต่ต้นทุนที่แอบแฝง คือความเสี่ยงต่อสารเคมีอันตรายที่ตกค้างในอาหาร แถมยังอยู่ในผืนดิน น้ำ ป่า อากาศ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรม เชื่อมโยงไปถึงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงด้วย
“เราเคยเข้าไปทำงานกับชุมชนหนึ่งที่เพชรบูรณ์ ทุกคนป่วย มีสารพิษตกค้างในเลือด มีแค่ 2 คนที่ไม่เป็น เพราะป่วยอยู่แล้ว เลยไม่ได้ออกไปทำเกษตรเคมี พอเป็นแบบนี้ หนุ่มสาวก็ไม่กลับมาทำงานที่บ้านเกิด เพราะไม่เห็นหนทางไปต่อ สุดท้าย ครอบครัวและชุมชนก็ไม่แข็งแรง”
ถ้าอยากให้คนหลุดพ้นจากวงจรนี้ ต้องมีตัวช่วยให้อะไรเปลี่ยนไป และคำตอบนั้นอยู่ในธรรมชาติ หรือเกษตรอินทรีย์

“เกษตรอินทรีย์ คือการเกษตรที่เคารพธรรมชาติและผู้คน เป็นการสร้างอาหารที่ดีที่สุดแก่มนุษย์และสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช้สารเคมีอันตราย ให้อาหารได้เติบโตจากดินที่อุดมสมบูรณ์ แสงแดด น้ำ อากาศที่สะอาด ไม่ฝืนความเป็นจริงของธรรมชาติ และดูแลทั้งระบบนิเวศให้ยั่งยืน”
ความท้าทายคือช่วง 10 กว่าปีก่อน คนยังเพิ่งพูดถึงผักปลอดภัยจากสารพิษใหม่ ๆ ซึ่งแปลว่ายังมีการใช้สารเคมี เพียงแต่อยู่ในระดับการควบคุม การพยายามสรรหา สนับสนุน และผลักดันผลผลิตออร์แกนิก จึงเหมือนสร้างตลาดขึ้นมาใหม่ทั้งสองฝั่งพร้อมกัน
“เกษตรอินทรีย์เป็นงานประณีต ทำเยอะไม่ได้ ต้องใจหนักแน่น เวลาเกษตรกรเห็นแมลง ต้องอดทนอดกลั้นไม่ใช้ยาฆ่า ต้องถอนหญ้าด้วยมือ ถ้าเคยปลูกแบบเคมีมาก่อน การต้องพักดินรออย่างน้อย 1 – 3 ปี ให้สารตกค้างจางลง ก็ถือว่ามีความเสี่ยง ยิ่งสมัยก่อน คนยังไม่รู้จักคำว่าออร์แกนิก เกษตรกรจะมั่นใจได้อย่างไร เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องทำให้เขาเห็นว่ามีทางเลือกที่ดีกว่าและอยู่ได้จริง ซึ่งต้องสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภค เพื่อให้มีตลาดรองรับผลผลิตและกลไกสมบูรณ์
“เราไม่อยากให้การทำงานกับชาวบ้านเป็นการเอางบไปช่วยเป็นครั้งคราว การอยู่อย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้น เมื่อเราชวนคนมาดูแลตัวเองและคนรอบตัวได้ ผ่านการบริโภคในทุก ๆ วัน”
ผมเคยถามแม่ว่า ทำไมถึงมั่นใจว่าสินค้าที่ยังไม่ค่อยมีตลาดจะเติบโตได้อย่างดี
เธอไม่ได้วิเคราะห์ตลาดอะไรซับซ้อน แค่ยึดจากความเป็นจริงของชีวิต
สุดท้าย ธรรมชาติยิ่งใหญ่ที่สุด และเราคงต่างอยากให้คนที่เรารักสุขภาพดี อยู่ในสังคมที่ดี ถ้าเราทำให้คนเข้าใจพลังของอาหารที่ดี ตลาดจะเกิดขึ้น
เมื่อรู้ว่าการขายผลผลิตเกษตรอินทรีย์สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้กับหลายภาคส่วน ปัจจุบัน ข้าวทั้งหมดและผักผลไม้กว่า 80 เปอร์เซ็นต์ที่ Lemon Farm สรรหาจึงเป็นไปตามวิถีออร์แกนิก มั่นใจได้ว่าปลอดภัย

เคียงข้างคนต้นทาง
แม้เกษตรอินทรีย์จะเป็นเรื่องดี แต่การเปลี่ยนจากเกษตรเคมีไม่ใช่เรื่องง่าย มีความน่ากังวลใจหลายประการระหว่างทาง ถ้าเราอยากให้เกษตรกรที่ปลูกวิถีออร์แกนิกอยู่รอดอย่างมั่นคง ต้องมีเพื่อนคู่คิดเดินเคียงข้างกันไป
Lemon Farm จึงสร้างทีมส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ที่เข้าไปทำงานกับพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อหาหนทางการปรับเปลี่ยนจากเกษตรเคมีให้เกิดขึ้นจริง โดยอาศัยการทำงานแบบ PGS (Participatory Guarantee System หรือระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม)
“PGS เป็นกระบวนการที่ชวนชาวบ้านมารวมกลุ่มเพื่อเรียนรู้ พัฒนา และดำเนินการตามมาตรฐานการทำเกษตรอินทรีย์ร่วมกันอย่างเคร่งครัด ว่าอะไรทำได้ ไม่ได้บ้าง เหมือนการรับรองฉลากเบอร์ 5 โดยมีสมาชิกกลุ่มและ Lemon Farm ร่วมกันตรวจสอบสม่ำเสมอ เมื่อเกษตรกรทำตามข้อกำหนดของกลุ่ม ยึดมั่นในหลักการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเคร่งครัด ทาง Lemon Farm ก็ทำหน้าที่เป็นตลาดรองรับผลผลิต”
“มันไม่ใช่งานที่เข้าไปในชุมชนที่พร้อมแล้วและหยิบของมาขายเฉย ๆ แต่เรานึกถึงงานพัฒนาพื้นที่จากสิ่งที่เป็น ผู้คนเป็นอย่างไร พร้อมทำแค่ไหน อยากเห็นอะไรต่อไป วิธีนี้เกษตรกรจะได้เรียนรู้ร่วมกัน ตั้งแต่การวางแผน ดูแลผลผลิต เก็บเกี่ยว รวมทั้งการตรวจสอบ ที่ถือว่าทำหน้าที่แทนผู้บริโภคด้วย
“ถ้าตรวจสอบพบใครปลอมแปลงผลผลิตเกษตรเคมี เราเลิกรับผลผลิตทันที เพราะถือว่าไม่ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค” สุวรรณาเอ่ยถึงความเข้มข้นของกระบวนการ

มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ในท้องตลาดมีหลายระดับ สำหรับ Lemon Farm มาตรฐาน PGS นี้ยึดมาตรฐานระดับสากลอย่าง IFOAM เป็นแนวทาง ปรับให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ โดยที่เกษตรกรไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรับรอง และมาตรฐานนี้ได้รับการตรวจสอบรับรองจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) มั่นใจได้ว่าปลอดภัยจริง
หลังจากทำงานด้วยแนวคิดนี้ ตั้งแต่ พ.ศ. 2557 ปัจจุบัน Lemon Farm ทำงานโดยตรงกับ 9 กลุ่ม เกษตรกร รวมกว่า 330 ชีวิต สร้างพื้นที่เกษตรอินทรีย์มากกว่า 4,300 ไร่ ช่วยให้เกษตรกรมีโอกาสออกจากวงจรเดิม สุขภาพดีขึ้น หายป่วย และรักษาสิ่งสำคัญของพวกเขาไว้ได้
“หนึ่งกลุ่มที่เราทำงานด้วยคือบ้านงิ้วเฒ่า จังหวัดเชียงราย เป็นพื้นที่อยู่ต้นแม่น้ำวัง แต่แห้งแล้งมาก เป็นภูเขาหัวโล้นจากการปลูกข้าวโพดเคมี ตัดไม้ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ชาวบ้านต้องซื้อน้ำอาบ ตอนเราไปเจอ พวกเขาบอกว่าไม่อยากทำแบบนั้นแล้ว พอเราเห็นว่าพื้นที่นี้ปลูกถั่วเหลืองอินทรีย์ได้ ซึ่งทนแล้งและหาได้ยากมากในประเทศไทย ส่วนใหญ่ต้องนำเข้า ก็สนับสนุนพวกเขา ทำงานกันมา 2 ปีกว่า ตอนนี้ส่งถั่วเหลืองอินทรีย์ให้เราได้ 4 ตันต่อปี”
“อีกที่คือกลุ่มวนเกษตร จังหวัดอุตรดิตถ์ ที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องลางสาด และชาวบ้านกลุ่มหนึ่งหวงแหนมาก เป็นมรดกของพ่อแม่และอัตลักษณ์ของพื้นที่ แต่กำลังจะหายไปเพราะคนโค่นไปปลูกทุเรียนเคมีที่ทำลายหน้าดินกัน และคนรุ่นใหม่อาจไม่รู้จักแล้ว พวกเขาจึงพยายามสร้างกลุ่ม ปลูกลางสาดคู่กับพืชหลายอย่างภายใต้ผืนป่าใหญ่ด้วยแนวคิดวนเกษตร เราทำงานร่วมกันและ Lemon Farm รับหน้าที่เป็นตลาด เพื่อให้พวกเขารักษามรดกนี้ไว้ได้


“นอกจากชาวบ้านมีรายได้เพียงพอในการดำรงชีพ ยังเป็นการส่งเสริมให้เขาเป็นนักอนุรักษ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมแทนคนเมืองด้วย” สุวรรณาย้ำถึงความสำคัญของงาน
ในวันที่สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังแปรปรวน การรักษาพื้นที่สีเขียวทุกตารางและไม่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อโลกไปมากกว่านี้ เป็นเรื่องที่ต้องทำงานร่วมกันทุกฝ่าย
ทุกการบริโภคจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้น และผู้บริโภครับรู้ได้ด้วยว่าผักผลไม้ที่ซื้อมาจากใคร กำลังช่วยสนับสนุนเกษตรกรคนใด เพราะมีรหัสเกษตรกร 6 หลักติดไว้ที่แพ็กเกจจิงของ Lemon Farm เป็นการกระตุ้นให้เกษตรกรตั้งใจดูแลผลผลิตให้ดีด้วย เพราะคนรู้ได้หมดว่าผลผลิตมาจากที่ใด
และเราคงไม่อยากให้สิ่งที่เป็นพิษภัยกับคนที่เรารัก
“มีเคสหนึ่ง ชื่อ แม่ทัศนีย์ อยู่ที่อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ เคยปลูกผักเคมีมานานจนป่วย หนี้พอกพูน เมื่อหันมาปลูกผักอินทรีย์ส่งเรา พอเข้าปีที่ 2 เธอปลดหนี้ได้ และลูกสาวที่มาทำงานที่กรุงเทพฯ เดินเข้ามาที่ร้านได้และรู้ว่าผักอันไหนมาจากแปลงของแม่ มันเป็นความเชื่อมโยงระหว่างเกษตรกรและผู้บริโภค
“เกษตรอินทรีย์จึงไม่ใช่แค่สินค้า แต่เป็นเรื่องวิถีชีวิต วิถีของการเกษตรที่อยู่บนฐานของความรัก ความปรารถนาดี”
ร้านสุขภาพของครอบครัว
“ร่างกายและชีวิตเราเป็นสิ่งมีค่าที่สุด แต่ถ้าไม่ป่วย เราอาจละเลยไป จริง ๆ โครงสร้างร่างกายมนุษย์โดยรวมยังคงเป็นเหมือนมนุษย์สมัยก่อนอยู่ อาหารที่เหมาะและร่างกายเรารู้จักคืออาหารจากธรรมชาติ เราจึงเน้นเรื่องผักผลไม้และการทำอาหารเองมาก” กัปตันทีมผู้ตระเวนคัดเลือกผลิตภัณฑ์จากทั่วประเทศเล่าถึงปรัชญาการนำเสนอผลิตภัณฑ์และวิถีชีวิตที่อยากส่งเสริม
“อาจมีคนที่รู้สึกว่าผักผลไม้ไม่อร่อย และพอยุคสมัยเปลี่ยน ชีวิตคนเร่งรีบ ไม่ค่อยทำอาหารกัน เน้นอาหารแปรรูป ก็คงขายผักผลไม้หรือวัตถุดิบทำอาหารยากขึ้น แต่เรารู้สึกว่าเมื่อรู้เรื่องสำคัญของชีวิตแล้ว ไม่ทำก็ไม่ถูกต้องเท่าไรนะ”
“ถ้าเรากินนอกบ้านอย่างเดียว เราจะควบคุมได้ยากว่าแต่ละมื้อมีอะไรเข้าร่างกายบ้าง ถ้าเราอยากเห็นคนสุขภาพดี เราต้องช่วยให้คนอยากทำอาหารและเข้าไปที่ครัว ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมโยงของคนทั้งบ้าน”

นอกจากเน้นชักชวนให้คนทำอาหารร่วมกันและทานผักผลไม้เป็นพิเศษ เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคที่ป้องกันได้ Lemon Farm ยังเลือกจะไม่ขายทุกอย่าง เช่น ไม่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่มีสารปรุงแต่งเยอะ เพราะมองเห็นถึงผลเสียต่อสุขภาพ และพยายามเลือกผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบธรรมชาติหรือปรุงแต่งน้อยให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้สำหรับการบริหารจัดการร้านค้าปลีก รวมกว่า 2,500 รายการ โดยมีการตรวจสอบรายละเอียดกับนักโภชนาการ
“ของที่เรากล้าซื้อให้ครอบครัวและคนที่เรารักกิน” สุวรรณาสรุปวิธีคัดสรรผลิตภัณฑ์แบบง่าย ๆ และเน้นว่าอย่ามองสินค้าเป็นเพียงสินค้าอีกชิ้นหนึ่ง แต่ให้มองว่าสิ่งที่เราจะส่งมอบคืออะไร
ถ้าเป็นอาหาร มันคือพลังของร่างกาย ซึ่งควรเป็นพลังที่ดีที่โอบอุ้มชีวิต
เป็นเหตุผลให้ Lemon Farm นำเสนอเนื้อสัตว์ที่เลี้ยงตามวิถีธรรมชาติ คำนึงถึงสวัสดิภาพสัตว์
วัตถุดิบอาหารและเครื่องปรุงที่น้ำตาลน้อย โซเดียมต่ำ หลีกเลี่ยงสารเคมีสังเคราะห์
ข้าวที่ปลูกและดูแลตามวิถีออร์แกนิกทุกแพ็ก หลากหลายสายพันธุ์และคุณประโยชน์จากชุมชน
Lemon Farm ยังมองว่าการขายของเป็นงานหนึ่งเท่านั้น ต้องทำงานให้ความรู้และแชร์ความคิดระหว่างผู้คนด้วย เพราะถ้าคนไม่รับรู้ เขาจะไม่ให้ค่าและไม่ดูแลสิ่งที่สำคัญ
ที่ผ่านมา ร้านจึงจัดเวิร์กช็อปเรื่อย ๆ ทั้งสอนปลูกผักง่าย ๆ สอนทำอาหารแมคโครไบโอติกส์ รวมทั้งโยคะ การเจริญสติ พาไปปฏิบัติธรรมที่วัดป่า เพื่อให้คนทุกเพศทุกวัยได้ดูแลสุขภาพทั้งองค์รวม
และเป็นร้านสุขภาพของครอบครัว

หัวใจที่ดีงาม
“เราไม่ได้ทำสิ่งนี้ขึ้นมาเอง แต่โชคดีมากที่ระหว่างทางมีคนช่วยเหลือและสนับสนุนมาโดยตลอด” สุวรรณาที่บอกว่าตัวเองแทบเริ่มจากศูนย์ในเชิงการบริหารธุรกิจ ผ่านเหตุการณ์หลังชนฝานับไม่ถ้วน เคยคิดจะเลิกทำอยู่หลายครั้ง บอกสิ่งนี้ให้ผมฟังเสมอ
หนึ่งในกำลังสำคัญของร้านค้าปลีกที่ไม่ได้ใหญ่หรือมีทรัพยากรเท่าร้านค้าปลีกรายใหญ่ คือผู้คนที่ร่วมหัวจมท้ายกันมา พนักงานหลายคนทำงานมาเป็นสิบปี ตั้งแต่ผมยังเป็นเด็กตัวเล็ก ๆ วิ่งอยู่ในออฟฟิศ บางคนออกไปแล้ว กลับเข้ามาใหม่ก็มี
“ทีมงานของ Lemon Farm เป็นคนที่มีจิตใจดี ผูกพันกับการตั้งใจช่วยเหลือเกษตรกรและทำอาหารที่ดีให้ผู้คน แต่ละคนมีความถนัดของตัวเอง เรามารวมกันเพื่อทำงานแบบทีมวิ่งผลัด ตั้งแต่คนที่ลงพื้นที่ไปทำงานกับชุมชน ส่งกันต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงผู้บริโภค” เธอกล่าว
“เราเคยออกไปแล้วกลับเข้ามา แน่นอนว่าถ้าเราไปอยู่บริษัทใหญ่ อาจจะเติบโตไปไกลกว่านี้ แต่เรารู้สึกว่าเรายังทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายที่นี่ได้ และอยากเห็นสิ่งนี้สำเร็จไปด้วยกันกับคนที่อยู่ที่นี่” พี่พนักงานคนหนึ่งที่ทำงานมา 10 ปีเคยเล่าให้ผมฟัง
การบริหารคนไม่เคยเป็นเรื่องง่าย ต้องอาศัยประสบการณ์และความเข้าใจมนุษย์ เพื่อทำให้เกิดการมีส่วนร่วม และสิ่งนี้เป็นทักษะหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดจากเธอ
“เราต้องพาคนไปอยู่กับเรื่องจริง ๆ ให้เข้าใจและเห็นถึงพลังของงานด้วย เรามักพาทีมไปรู้จักกับเกษตรกร ไปสัมผัสพื้นที่จริง ถ้าเขาไม่อินด้วย เขาจะไม่เข้าใจเลยว่าจะขายผักผลไม้ไปทำไม แล้วพี่น้องเกษตรกรตั้งใจกันแค่ไหน มันไม่ใช่เพื่อตัวเลขเฉย ๆ ซึ่งพอได้เห็น ได้รู้สึก และเห็นคุณค่าของงานร่วมกันแล้ว เราเห็นคนสู้กันสุดชีวิตเลย”
“แน่นอนว่าหน้าที่ของเรา คือดูแลคนพร้อมกับธุรกิจให้อยู่รอด และธุรกิจต้องเดินด้วยระบบการจัดการ ไม่มีสายลมแสงแดดในชีวิตจริง แต่สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยคือการสร้างและรักษาหัวใจที่ดีงาม หัวใจที่เชื่อมบางเรื่องของคนไว้
“เพราะงานที่มีหัวใจ มันจะทรงพลังมาจากข้างใน และจะทำให้คนมั่นคง เดินได้นาน และพาไปพบกับทางออกเสมอ”


ปรับตัวโดยรักษาแก่น
“เราต้องปรับตัวเหมือนกัน วิถีการบริโภคเปลี่ยนไป” ผู้บริหารที่ผ่านสุขทุกข์กับงานนี้มากว่า 2 ทศวรรษ กล่าวถึงโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
“ชีวิตเราเร่งขึ้น ถึงเราอยากให้คนทำอาหาร แต่เมื่อวิถีชีวิตทำให้เป็นไปได้ยาก เราจะอำนวยความสะดวกได้อย่างไรบ้าง เป็นโจทย์ที่เราต้องทำการบ้าน”
เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มใหม่ ๆ และไลฟ์สไตล์ที่หลากหลายมากขึ้น Lemon Farm ขยายสาขาใหม่เข้าไปอยู่ใจกลางเมืองมากขึ้น เช่น สามย่านมิตรทาวน์และสิงห์ คอมเพล็กซ์
เปิดโซนคาเฟ่ภายในร้าน นำวัตถุดิบธรรมชาติและออร์แกนิกมารังสรรค์เป็นเมนูที่ทานได้ง่าย ปรุงแต่งน้อย โดยคงคอนเซปต์ว่า ทุกการบริโภคจะเป็นมิตรต่อสุขภาพ และช่วยให้บางพื้นที่ชุมชนเกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้น


เช่น สมูทตี้ที่ออกแบบให้มีผักผลไม้รวมกันแล้วครบ 400 กรัม ซึ่งเป็นตัวเลขที่องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ทานในแต่ละวันเป็นขั้นต่ำ เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
กาแฟป่าที่สนับสนุนให้ชุมชนมีรายได้และรักษาป่าต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์ไว้
นอกจากนี้ เธอยังสร้างสินค้าภายใต้แบรนด์ Lemon Farm โดยยึดหลักสุขภาพเป็นที่ตั้ง เช่น ธัญพืชกว่า 40 ชนิด ชุดของขวัญรวมอาหารสุขภาพที่ใช้แทนความห่วงใยได้เป็นอย่างดี
การสั่งซื้อทางออนไลน์และการเริ่มจัดโซนผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์มากขึ้น เช่น คนที่ทานวีแกน คีโตเจนิก คนที่ต้องการโปรตีนสูง และอื่น ๆ
“รูปแบบงานของเราต้องเปลี่ยนตามยุคสมัย แต่ว่าแก่นของเรายังคงเหมือนเดิม คือการเติมสุขภาพดี ส่งต่อวิถียั่งยืน งานอะไรที่ทำให้คนสุขภาพดีผ่านสินค้าและความรู้ และดูแลสังคมกับสิ่งแวดล้อมได้ไปพร้อมกัน เป็นความฝันและหน้าที่ของเรา”
สังคมสุขภาพ
“เราไม่ได้สำคัญขนาดนั้น ไม่ว่ามีเราหรือไม่มีเรา โลกก็เดินต่อไป เพียงแค่ว่าวันนี้เราได้ทำหน้าที่บางอย่างที่ควรทำ บางสิ่งที่เป็นประโยชน์ ถือว่าดีมากแล้ว เป็นงานที่โชคดีที่ได้ทำ”
นี่เป็นประโยคที่ผมจำขึ้นใจ เมื่อมีคนถามสุวรรณาว่า ถ้าวันหนึ่งไม่ได้ทำหรือไม่มี Lemon Farm อีกต่อไปแล้ว จะเป็นอย่างไร
“ดีใจที่ได้ทำ”
ผมอยากรักษาความรู้สึกนี้ในการทำงานใด ๆ ไว้ให้ได้แบบเธอ เราอาจไม่ต้องสำเร็จอะไรยิ่งใหญ่ แค่ได้ทำสิ่งที่ควรทำในชีวิตนี้อย่างเต็มภาคภูมิ

นี่คือเรื่องราวการเดินทางฉบับย่อของร้านอายุ 25 ปีแห่งหนึ่ง ที่อยากลองทำงานมากกว่าการขายของ แต่รวมสุขภาพ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้เป็นส่วนหนึ่งของงานด้วย
คงไม่ได้เพอร์เฟกต์ไร้ที่ติ มีจุดให้แก้ไขปรับปรุงอีกมาก ที่ร้านยินดีรับฟังคำแนะนำเสมอ และอยากชวนคนที่มีแนวคิด ความฝันเดียวกัน มามีส่วนร่วมและพัฒนางานนี้ไปด้วยกัน
เพราะถ้าไม่มีคนเหล่านี้ Lemon Farm คงไม่อาจเดินทางมาได้จนถึงวันนี้
ผมอยากให้บทความนี้เป็นพื้นที่แทนคำขอบคุณผู้ใหญ่ ท่านอาจารย์ พนักงาน เกษตรกร ผู้บริโภค หน่วยงานที่ร่วมมือกัน และทุก ๆ ฝ่าย ที่ร่วมสร้างให้ Lemon Farm เติบโตและรักษาความตั้งใจ ยึดมั่นในภารกิจไว้ตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน
ขอให้สุขภาพดีครับ

