ธุรกิจครอบครัวจำนวนมากล่มสลายลงเพราะสมาชิกครอบครัวขัดแย้งกัน การลดความขัดแย้งในครอบครัวจึงเป็นกลไกหนึ่งในการทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและยั่งยืน

วิธีลดความขัดแย้งวิธีหนึ่ง คือการวางระบบบริหารธุรกิจครอบครัวโดยออกแบบกฎระเบียบที่โปร่งใส ให้ทุกคนเข้าใจตรงกันถึงระเบียบปฏิบัติและบทบาทของตนในกิจการครอบครัวและกิจการธุรกิจ รวมถึงกำหนดแนวทางจัดการปัญหาความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น

ธุรกิจครอบครัวที่ขึ้นชื่อในเรื่องการวางกฎเกณฑ์เหล่านี้ คือธุรกิจ ‘Lee Kum Kee’ หรือ ลีกุมกี่ ผู้ผลิตซอสหอยนางรมหรือน้ำมันหอยรายแรกและรายใหญ่ที่สุดของโลก

ปัจจุบันธุรกิจนี้ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นตระกูลที่ร่ำรวยอันดับ 6 ของฮ่องกง

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

The Oyster Sauce King

อาณาจักรธุรกิจ Lee Kum Kee ถือกำเนิดขึ้นในปี 1888 โดย Lee Kum Sheung (หรือ Li Jintang) พ่อครัวของร้านอาหารเล็ก ๆ ในเมืองจูไห่ มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

วันหนึ่ง Lee Kum Sheung บังเอิญเคี่ยวน้ำซุปหอยนางรมทิ้งไว้นานเกินไป กว่าจะรู้ตัวน้ำซุปก็แปรสภาพกลายเป็นซอสเข้มข้นที่มีรสชาติดีและมีกลิ่นหอม เขาจึงเริ่มผลิตซอสหอยนางรมนี้ออกขายในชื่อแบรนด์ Lee Kum Kee

ในปี 1902 Lee Kum Sheung ย้ายธุรกิจของเขาไปยังมาเก๊าหลังจากที่ไฟไหม้หมู่บ้าน รวมถึงบ้านของเขาด้วย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ธุรกิจของเขาก็เผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นจากคู่แข่งรายใหม่ ๆ ที่มาผลิตซอสหอยนางรมขายด้วย ในขณะที่ลูกค้ามีจำนวนจำกัด เขาจึงขยายตลาดไปยังกวางตุ้งและฮ่องกงซึ่งลูกค้ามีกำลังซื้อสูง

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

Lee Kum Sheung ส่งมอบธุรกิจให้ Lee Siu Nam (หรือ Li Zhaonan) ลูกชายของเขารับช่วงกิจการต่อไปในปี 1920 ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตในอีก 9 ปีต่อมา

ธุรกิจภายใต้การบริหารของ Lee Siu Nam ทายาทรุ่นสอง ส่งออกซอสหอยนางรมไปขายในสหรัฐอเมริกา และในปี 1932 ได้ย้ายกิจการอีกครั้งจากมาเก๊าไปปักหลักที่ฮ่องกง เพื่อให้สะดวกต่อการส่งออกผลิตภัณฑ์ไปยังตลาดต่างประเทศ

ผู้นำธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ 3 คือ Lee Man Tat (หรือ Li Wenda) ซึ่งเป็นลูกคนโตของ Lee Siu Nam เขาเกิดในมาเก๊า แต่ไปช่วยธุรกิจครอบครัวที่กวางโจว จนกระทั่งปี 1949 ที่พรรคคอมมิวนิสต์เข้าปกครองประเทศจีน เขาจึงย้ายกลับไปยังฮ่องกง

Lee Man Tat ขึ้นเป็น Chairman ของธุรกิจ Lee Kum Kee ในปี 1972 และขยายตลาดซอสหอยนางรมไปขายชาวจีนโพ้นทะเลในอเมริกาเหนือ ยุโรป เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และญี่ปุ่น ก่อนจะกลับมาขายในตลาดจีนแผ่นดินใหญ่อีกครั้งในปี 1992

บทบาทในการทำให้ซอสหอยนางรมเป็นที่นิยมแพร่หลายไปทั่วโลก Lee Man Tat จึงได้รับสมญาว่า ‘The Oyster Sauce King’ หรือราชาซอยหอยนางรม

เขากับ Choi May ภรรยา มีลูกด้วยกัน 5 คน คือ Eddy, Elizabeth, David, Charlie และ Sammy ลูก ๆ เหล่านี้เรียนจบด้านต่าง ๆ ทั้งวิทยาศาสตร์การอาหาร วิศวกรรมเคมี การตลาด และการเงิน และเข้ามาช่วย Lee Man Tat ในธุรกิจครอบครัวกันทุกคน

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

ธุรกิจขยาย แต่ครอบครัวขัดแย้ง

ในช่วงหลายสิบปีที่ Lee Man Tat บริหารกิจการ Lee Kum Kee นั้น เขามีความขัดแย้งกับสมาชิกครอบครัวคนอื่นถึง 3 ครั้ง จนธุรกิจเกือบล่มสลายไป

ความขัดแย้งครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 1972 เมื่อ Lee Man Tat ขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจครอบครัว และต้องการขยายชนิดผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น แต่อา 2 คนของเขาไม่เห็นด้วย เขาจึงซื้อหุ้นจากอาทั้งสอง ซึ่งพ่อก็สนับสนุน

ความขัดแย้งครั้งที่ 2 เกิดขึ้นในเวลาอีกเพียงไม่กี่ปี เพราะ Lee Man Tat กับน้องชายมีความเห็นไม่ตรงกันอีก เพราะเขาต้องการขยายโรงงานเพื่อเพิ่มการผลิต แต่น้องชายไม่เห็นด้วย น้องชายจึงเสนอขายหุ้นที่ถืออยู่ 40% ในปี 1987

หลังจากฟ้องศาลกันยาวนาน 2 ปี ในที่สุด Lee Man Tat ก็ซื้อหุ้นทั้งหมดของน้องชาย แต่เขาต้องใช้เงินจำนวนมากจนธุรกิจประสบปัญหาทางการเงิน การผลิตต้องหยุดชะงัก แต่หลังจากนั้นเป็นต้นมา ธุรกิจ Lee Kum Kee ก็เป็นของ Lee Man Tat แต่เพียงผู้เดียว

ความขัดแย้งครั้งที่ 3 เกิดจาก Sammy ลูกคนสุดท้อง ชักจูงให้ Lee Man Tat ขยายกิจการไปทำธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพในปี 1992 แต่ธุรกิจขาดทุนมาโดยตลอดเป็นเวลา 7 ปี จนในที่สุด Lee Man Tat ต้องการขายธุรกิจนี้ออกไป

Sammy ไม่เห็นด้วยกับพ่อ ถึงขั้นจะยอมขายหุ้นของเขาเองในธุรกิจครอบครัว และแยกตัวออกมาทำธุรกิจด้านนี้เอง แต่พ่อลูกคู่นี้ตกลงกันไม่ได้ ความขัดแย้งยืดเยื้อออกไปอีกหลายปี

ในที่สุด Sammy ยื่นข้อเสนอว่า เขาขอเวลา 5 ปีที่จะทำให้ธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพมีกำไร ซึ่ง Lee Man Tat ตกลงรับข้อเสนอของลูกชายคนเล็ก

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

Sammy ไม่เพียงพิสูจน์ให้พ่อเห็นว่าธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพทำกำไรได้เท่านั้น แต่กิจการ LKK Health Products Group ที่ขายเครื่องดื่มสุขภาพและผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ Sammy รับผิดชอบนั้นยังเติบโตจนขึ้นแท่นเป็นธุรกิจขายตรงที่ใหญ่ติดอันดับโลก เป็นรองก็แค่ Amway, AVON และ Herbalife Nutrition เท่านั้น

LKK Health Products Group นี้ยังขยายกิจการไปสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และในปี 2017 ได้ซื้อตึก Walkie Talkie ในกรุงลอนดอน ผลงานออกแบบของ Rafael Vinõly สถาปนิกชื่อก้องโลก รวมถึงสร้างอาคารสำนักงานใหญ่ในเมืองกวางโจว ที่ออกแบบโดย Zaha Hadid สถาปนิกระดับโลกอีกคนหนึ่งด้วย

ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ Lee Man Tat อยากขายทิ้งไปนี้ กลับทำรายได้มากกว่าธุรกิจซอสปรุงรสที่เป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวเสียอีก

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจซอสปรุงรสที่บริหารโดย Charlie และ Eddy พี่ชายของ Sammy เองก็ไม่ได้หยุดนิ่งแต่อย่างใด ยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พัฒนานวัตกรรมจนในปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 200 ชนิด และส่งออกไปมากกว่า 100 ประเทศทั่วโลก

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

การจัดการครอบครัว

หลังจากที่ธุรกิจ Lee Kum Kee ผ่านเหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกครอบครัวมาถึง 3 ครั้ง ในปี 2002 ลูก ๆ ของ Lee Man Tat จึงเสนอให้จัดการบริหารธุรกิจครอบครัวให้เป็นระบบ เพื่อป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก

การบริหารกิจการครอบครัวของธุรกิจ Lee Kum Kee นี้นับเป็นการจัดโครงสร้างที่เป็นระบบมากที่สุดแห่งหนึ่งในบรรดาครอบครัวธุรกิจทั่วโลก โดยประกอบด้วยองคาพยพต่าง ๆ ดังนี้

สภาครอบครัว (Family Council) เป็นช่องทางสื่อสารกับสมาชิกครอบครัวทุกคน รวมถึงเขยและสะใภ้ด้วย มีการประชุมเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น และบังคับให้สมาชิกครอบครัวทุกคนต้องเข้าร่วม สภาครอบครัวนี้ยังทำหน้าที่เสนอชื่อและแต่งตั้งสมาชิกให้เป็นกรรมการครอบครัวอีกด้วย

คณะกรรมการครอบครัว (Family Committee) ทำหน้าที่เป็นผู้ตัดสินใจสูงสุดในกิจการครอบครัวแต่ไม่มีหน้าที่บริหารกิจการธุรกิจ มีบทบาทในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งภายในครอบครัวและปลูกฝังอบรมทายาทรุ่นถัดไป คณะกรรมการนี้ต่างจากการเลือกให้ทายาทคนใดคนหนึ่งเป็นผู้นำรุ่นถัดไป เพราะทายาทหลายคนจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจโดยไม่มีสมาชิกคนหนึ่งคนใดชี้ขาด และมีการผลัดกันเป็นประธาน 

ศูนย์การลงทุนของครอบครัว (Family Investment Center) รับผิดชอบการลงทุนของกงสีหรือทรัพย์สินส่วนกลางของครอบครัวที่นอกเหนือจากธุรกิจ

มูลนิธิครอบครัว (Family Foundation) รับผิดชอบกิจกรรมเพื่อการกุศลของครอบครัว

ศูนย์การเรียนรู้ของครอบครัว (Family Learning and Development Center) รับผิดชอบสอนและอบรมสมาชิกครอบครัวทุกคน รวมถึงสมาชิกรุ่นต่อ ๆ ไป โดยเน้นการปลูกฝังค่านิยมหลักของครอบครัว

สำนักงานครอบครัว (Family Office) เป็นหน่วยงานที่สนับสนุนการดำเนินกิจการของครอบครัวในด้านต่าง ๆ

การจัดระบบการบริหารกิจการครอบครัวนี้ทำให้สมาชิกทุกคนทราบว่าเรื่องใดควรหารือที่บ้าน ผ่านกรรมการครอบครัว และเรื่องใดควรหารือที่บริษัท ผ่านกรรมการบริษัท

Sammy กล่าวว่า “ถ้าคุณมารับประทานอาหารเที่ยงกับครอบครัวเรา คุณจะรู้สึกเหมือนกับว่าครอบครัวนี้ไม่มีธุรกิจ และถ้าคุณไปที่บริษัทเรา คุณจะรู้สึกว่าธุรกิจนี้ไม่ใช่ธุรกิจครอบครัว”

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

ธรรมนูญครอบครัว

ครอบครัวธุรกิจ Lee Kum Kee ยังร่างธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution) ที่ใช้เป็นกฎข้อบังคับกับสมาชิกครอบครัวอีกด้วย เช่น

ทายาททางสายเลือดเท่านั้นที่มีสิทธิ์ถือหุ้นบริษัท ธุรกิจครอบครัวห้ามจ้างเขยและสะใภ้ และทายาทรุ่นต่อไปต้องทำงานกับธุรกิจนอกครอบครัว 3 – 5 ปีก่อน จึงจะเข้ามาทำงานกับธุรกิจครอบครัวได้ โดยกระบวนการสมัครเข้าทำงานในธุรกิจครอบครัวเหมือนกับผู้สมัครจากนอกครอบครัว

กรรมการบริษัทต้องมีคนจากภายนอกครอบครัว แต่ประธานกรรมการของธุรกิจหลัก 2 ธุรกิจของกลุ่ม คือธุรกิจซอสปรุงรสและธุรกิจผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องเป็นสมาชิกครอบครัวเท่านั้น นอกจากนี้ประธานกลุ่มธุรกิจ Lee Kum Kee ต้องเป็นสมาชิกครอบครัว ส่วน CEO เป็นคนนอกได้ แต่ต้องเป็นผู้มีความสามารถจริง ๆ

นอกจากนี้ Lee Man Tat ยังมีคำสั่งบังคับทายาทอีก 3 ข้อ เรียกว่า ‘The Three Non-principles’ ได้แก่ ห้ามทายาทแต่งงานช้า ห้ามทายาทหย่าร้าง และห้ามทายาทนอกใจคู่สมรส หากใครไม่ปฏิบัติตามก็จะถูกปลดออกจากการเป็นกรรมการบริษัทโดยอัตโนมัติ

ถึงแม้ว่าสมาชิกหลายคนจะโต้แย้ง แต่ Lee Man Tat เชื่อว่ากฎเหล่านี้จะช่วยสร้างความราบรื่นในครอบครัวและลดความขัดแย้งที่เป็นสาเหตุให้ธุรกิจครอบครัวพังทลาย

Lee Man Tat เสียชีวิตในปี 2021 ด้วยวัย 92 ปี

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

แผนพันปี

ปัจจุบันธุรกิจ Lee Kum Kee มีทายาทรุ่นที่ 5 ทั้งหมด 14 คน ในช่วงแรก ๆ หลายคนไม่สนใจในธุรกิจครอบครัวนัก บางคนถึงขนาดที่ขอไม่อยู่ใน Mailing List ที่ส่งข่าวเรื่องเกี่ยวกับธุรกิจให้สมาชิกได้รับทราบ ในช่วงปี 2011 – 2013 งานพบปะประจำปีของครอบครัวก็ต้องยกเลิกไป เพราะสมาชิกจำนวนมากไม่สนใจ

การสร้างความผูกพันกับธุรกิจครอบครัวให้ทายาทจึงเป็นสิ่งสำคัญของผู้บริหารรุ่นที่ 4

ในปี 2018 ครอบครัวร่าง ‘The 1,000-year Plan’ หรือแผนพันปี เพื่อเป็นแนวทางให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดไปอีก 1,000 ปี หรือ 40 รุ่น โดยเน้นความคล่องตัวในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของทายาทรุ่นถัด ๆ ไป และอนุญาตให้แก้ไขธรรมนูญครอบครัวได้

Sammy กล่าวว่า “เราควรให้ความสำคัญกับ Legacy น้อยลง เพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่น ๆ สร้าง Legacy ของพวกเขาเองขึ้นมาใหม่” เขาเห็นว่าการที่ธุรกิจครอบครัวจะอยู่รอดได้นั้น ต้องสร้างความมั่งคั่งใหม่ ๆ ไม่ใช่แค่มุ่งแต่การรักษาธุรกิจเดิม

ในช่วงหลัง ๆ ทายาทรุ่นห้าจึงสนใจในธุรกิจครอบครัวมากขึ้น เริ่มด้วยการไปร่วมสังเกตการเจรจาธุรกิจกับ Happiness Capital ที่เป็น Venture Capital ของครอบครัว ร่วมพูดคุยกับสตาร์ทอัพ และนำเสนอการลงทุนให้กลุ่มผู้บริหารที่นำโดย Sammy

ในขณะเดียวกัน Lee Kum Kee ก็ไม่ทิ้งธุรกิจดั้งเดิม เพราะเชื่อว่าการละทิ้งรากเหง้าจะทำให้ทายาทขาดความผูกพันกับธุรกิจครอบครัว คิดแต่เรื่องเงิน ซึ่งในที่สุดจะทำให้ธุรกิจครอบครัวไร้จิตวิญญาณ

กลยุทธ์การลงทุนของธุรกิจ Lee Kum Kee จึงระบุให้มีการลงทุนผลกำไรของบริษัท 70% ในธุรกิจหลักของครอบครัว 20% ในธุรกิจที่กำลังเติบโต และที่เหลืออีก 10% ในธุรกิจใหม่ ๆ ผ่านกองทุน Happiness Capital ซึ่งสะท้อนถึงการไม่ละทิ้งรากเหง้าดั้งเดิม แต่ก็เปิดรับทางเลือกใหม่ ๆ ด้วยเช่นกัน

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก

ธุรกิจจะยั่งยืนได้ ครอบครัวต้องยั่งยืนก่อน

ความขัดแย้งภายในครอบครัวในอดีตที่เกิดจากเป้าหมายทางธุรกิจที่ต่างกันของสมาชิก ทำให้ทายาท Lee Kum Kee พยายามแยกเรื่องครอบครัวออกจากเรื่องธุรกิจ เพื่อป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นอีก และยังให้ความสำคัญกับความปรองดองในครอบครัวมาก

พี่น้องทายาทรุ่นสี่กล่าวว่า “ธุรกิจครอบครัวอื่น ๆ เน้นความยั่งยืนของธุรกิจ แต่เราเน้นความยั่งยืนของครอบครัว” พวกเขาให้เหตุผลว่า หากเราให้ความสำคัญแก่ธุรกิจก่อนครอบครัว ถ้าธุรกิจเกิดล้มเหลวขึ้นมา ครอบครัวก็จะล้มเหลวตามไปด้วย นอกจากนี้สมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้ร่วมทำธุรกิจก็จะรู้สึกแปลกแยก หรือรู้สึกว่าตนไร้ความสำคัญในครอบครัว

ดังนั้นครอบครัวธุรกิจจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการบริหารครอบครัวให้ดี ก่อนจะไปจัดการบริหารธุรกิจ

การวางกฎระเบียบให้สมาชิกทุกคนเข้าใจตรงกัน เป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยลดความขัดแย้งในครอบครัว ส่งเสริมให้ทายาทมีความผูกพันและมีส่วนร่วมในธุรกิจของครอบครัว ซึ่งในที่สุดแล้วจะทำให้ทั้งครอบครัวและธุรกิจมีความยั่งยืน

Lee Kum Kee ผู้คิดค้นน้ำมันหอยเจ้าแรกและโครงสร้างธุรกิจครอบครัวที่เป็นระบบที่สุดในโลก
ข้อมูลอ้างอิง
  • corporate.lkk.com/en/about-lkk/history-of-lkk
  • en.wikipedia.org/wiki/Lee_Kum_Kee
  • Lee Kum Kee’s third-generation leader, Lee Man Tat, dies, enjoys his 91-year-old life, leaving behind US$17.4 billion in assets
  • inf.news/en/economy
  • The Lee Kum Kee Family: 133 years of inheritance, four generations of mystery min.news/en/economy
  • What Saved Lee Kum Kee” business.inquirer.net/257663/saved-lee-kum-kee
  • A $15 billion oyster sauce family plots to survive 1,000 years www.bloomberg.com/professional/blog
  • Hong Kong’s Richest 2018: How LKK Group Plans To Be Around For A Thousand Years www.forbes.com/sites/shuchingjeanchen/2018/01/17
  • Lee Kum Kee: An accidental fortune macaomagazine.net/lee-kum-kee-an-accidental-fortune
  • www.forbes.com/sites/shuchingjeanchen
  • www.thetimes.co.uk/article
  • th.infinitus-int.com/en
  • www.goldthread2.com/food
  • www.panfood.co.th/cooking/detail
  • www.theceomagazine.com/business/retail-wholesale
  • www.scmp.com/business/companies/article

Writer

Avatar

ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์

ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ University of California, San Diego นักวิชาการผู้หลงใหลเรื่องราวจากโลกอดีต รักการเดินทางสำรวจโลกปัจจุบัน และสนใจวิถีชีวิตของผู้คนในโลกอนาคต