20 กุมภาพันธ์ 2024
2 K

หากพิมพ์คำว่า ‘หม้อ Le Creuset’ ในช่องค้นหาและเว้นวรรค ตัวเลือกที่ปรากฏขึ้นมาลำดับแรก ๆ คือคำพ่วงท้ายอย่าง ‘ราคา’ และตามมาด้วยคำว่า ‘ดียังไง’ ทำให้เข้าใจได้ว่า 2 ความสงสัยนี้อยู่ในใจใครหลายคนที่หันมาสนใจหม้อเหล็กหล่อจากฝรั่งเศสแบรนด์นี้

เรื่องราวของหม้อปรุงอาหารราคาเรือนหมื่นใบนี้ (ที่เดี๋ยวผู้อ่านจะเข้าใจว่าทำไมต้องราคาเท่านี้) เริ่มต้นเมื่อ Armand Desaegher และ Octave Aubecq นักธุรกิจอุตสาหกรรมชาวเบลเยียม 2 คน คนหนึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานหล่อขึ้นรูปโลหะ อีกคนเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านงานเคลือบอีนาเมล พบกันในงานแสดงสินค้า Brussels Fair และนำมาสู่การผลิตหม้อเหล็กหล่อเคลือบอีนาเมลใบแรกของแบรนด์ในปี 1925

กว่าจะออกมาเป็นหม้อ Le Creuset 1 ใบ ผ่านกรรมวิธีขั้นตอนที่ทำด้วยมืออีกสารพัด ซึ่งตรงกับที่มาของชื่อ Creuset ในภาษาฝรั่งเศสที่ให้เสียงในภาษาไทยว่า เลอครูเซ่ หมายถึงหม้อที่ขึ้นรูปด้วยโลหะ (Cauldron) ซึ่งเป็นเทคนิคดั้งเดิมที่ทำมาเกือบครบศตวรรษ ออกมาเป็นหม้อเหล็กหล่อที่ทั้งรูปลักษณ์น่าใช้และคงทน ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นได้ กลายเป็นสมบัติตกทอดชิ้นสำคัญประจำครัวของชาวยุโรป

พักการเล่าเรื่องแบรนด์ไว้ตรงนี้ และขอส่งไม้ต่อให้คนที่เล่าถึงหม้อเหล็กหล่อแบรนด์นี้ได้ดีกว่าเรามาเล่าแทน เชฟปาร์ค-ภัทรวิทย์ จันทร์ไทย หนึ่งในคนรัก Le Creuset ที่มีจุดเริ่มต้นรักจากตอนเป็นนักเรียนในโรงเรียนสอนทำอาหาร และได้เห็นเหล่าเชฟมากฝีมือใช้หม้อใบนี้ 

เรียกว่าเป็นรักแรกพบก็ไม่ผิด แต่ด้วยความเป็นนักเรียน เงินในกระเป๋ายังมีจำกัด เขาไม่ได้เป็นเจ้าของครอบครองหม้อเหล็กหล่อในทันที กระทั่งย้ายสถานะมาอยู่ในวัยทำงาน เริ่มมีรายได้เพียงพอจะเป็นเจ้าของสักใบ ต้องบอกว่าหลังจากได้ใช้งานแล้วยิ่งรัก กลายเป็นหม้อใบโปรดที่เขาใช้ประกอบอาหารอยู่บ่อยครั้ง

เราตามเชฟปาร์คไปถึงตอนใต้สุดของจังหวัดนครสวรรค์ ในอำเภอตาคลี ที่ตั้งของ Grayoon House หรือบ้านเกยูร ร้านที่เขาก่อตั้งขึ้นหลังจากตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน ตอนเช้าเป็นคาเฟ่ที่มีทั้งกาแฟและขนมอร่อย ตกเย็นเป็นร้านอาหารไทยเสิร์ฟเป็นสำรับ (ที่ต้องจองก่อนไปนะ) และพื้นที่บางส่วนทำเป็นบูทีกโฮเต็ลจำนวน 3 ห้องพัก ตั้งใจให้นักกินที่เดินทางไกลได้มีที่นอน หากไม่อยากมาเช้าเย็นกลับ 

ที่นี่เป็นสถานที่จัดเก็บหม้อเหล็กหล่อ (หลาย) ใบโปรดของเชฟปาร์ค เขาบอกว่าอุปกรณ์ประกอบอาหารของ Le Creuset ทำให้เชฟคนหนึ่งได้เรียนรู้ถึงความตั้งใจและความจริงใจที่แบรนด์แบรนด์หนึ่งมอบให้กับลูกค้าได้ และยังบอกอีกว่านี่น่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ Le Creuset คงอยู่มายาวนานถึงขวบปีที่ 99 ในวันนี้ และอีกหลายเหตุผลที่เราอยากชวนมาฟังว่าทำไมเชฟปาร์คถึงรักแบรนด์นี้นัก

1

ประกอบร่างสร้างหม้อ

วัสดุและกรรมวิธีของช่างฝีมือ

Le Creuset ใช้แม่พิมพ์ที่ทำจากทรายมาขึ้นรูปวัสดุ (วัสดุอย่างทรายนั้นเอาไปรีไซเคิลเป็นแม่พิมพ์ชิ้นอื่น ๆ ต่อได้อีก) ด้วยการเทเหล็กเหลวร้อน ๆ ลงพิมพ์ พ้นจากขั้นตอนหล่อเหล็ก หม้อจะถูกส่งต่อให้ช่างฝีมือเจียระไนอีกหลายขั้นตอน ทั้งขัดสะอาด ปรับให้เรียบ เป็นการเตรียมพื้นผิวของหม้อใบนั้น ๆ ให้พร้อมรับขั้นตอนถัดไปคือการเคลือบอีนาเมล (เคลือบเซรามิกลงบนผิวโลหะ) และขั้นตอนทั้งหมดนี้อาศัยวิธีแบบดั้งเดิมที่ทำด้วยมือทั้งสิ้น เรียกได้ว่ากว่าจะผลิตออกมาวางจำหน่ายสักใบ ช่างฝีมือประจำโรงงานต้องประณีตเป็นที่สุด 

“สังเกตว่าการเอาเหล็กทั้งชิ้นไปหล่อขึ้นรูปเป็นหม้อ เทคนิคนี้ทำให้หม้อ Le Creuset ไม่มีรอยต่อให้เห็น ต่อด้วยการเคลือบอีนาเมลที่เป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ ซึ่งการเคลือบไม่ได้ทำเพื่อให้ได้สีสันอย่างเดียว แต่ทำให้วัสดุเหล็กไม่ขึ้นสนิม ไม่เก็บกลิ่น ไม่ติดก้นหม้อ ใช้งานง่าย ดูแลก็ง่ายด้วย

“Le Creuset ใช้คนในการตรวจสอบคุณภาพทั้งหมด ผ่านหลายแผนก ทั้งคนเพนต์สี เคลือบอีนาเมล การใส่มือจับบนฝาหม้อ เป็นการทำด้วยมือทุกขั้นตอน สำหรับผม หม้อใบนี้เป็นงานคราฟต์พอควร และเป็นที่มาของราคาที่สูงกว่าหม้อใบอื่นในท้องตลาด ซึ่งผมคิดว่ามีคนที่พร้อมที่จะจ่ายเงินซื้อ เพียงแต่ทุกคนก็คงอยากรู้ถึงเหตุผลที่ต้องจ่าย ซึ่งถ้ารู้แล้วก็ทำให้การตัดสินใจง่ายขึ้น”

2

หม้อแท้ไม่กลัวไฟ

คุณสมบัติที่หม้อเหล็กหล่อสักใบควรจะเป็น

“คงไม่ค่อยมีบ้านไหนที่เอาน้ำมันมาทาบนอุปกรณ์ทำครัวทุกครั้งหลังใช้งาน หม้อเหล็กทั่วไปเลยไม่เหมาะกับ Home Cook ทำให้ไม่ค่อยเป็นที่นิยม อีกอย่างคือน้ำหนักที่ค่อนข้างมาก ไม่ตอบโจทย์คนทำครัวที่บ้าน แต่หม้อเหล็กที่ถูกเคลือบด้วยอีนาเมล ไม่ต้องดูแลรักษาเยอะ แค่ล้างทำความสะอาดแบบหม้อทั่วไป ไม่ต้องคอยเช็ดด้วยน้ำมันเหมือนกับหม้อเหล็กที่ไม่ได้ผ่านการเคลือบ”

เชฟปาร์คบอกกับเราว่า ขึ้นชื่อว่าเป็นวัสดุเหล็ก นำความร้อนได้ดีก็จริง แต่ข้อเสียของหม้อเหล็กทั่วไปคือการดูแลรักษาที่ไม่ง่าย ทำให้เกิดสนิมได้ในที่สุด ซึ่ง Le Creuset แก้จุดอ่อนนี้ได้ ด้วยการเคลือบหม้อเหล็กหล่อถึง 3 ชั้น 

ชั้นแรก เมื่อเผาที่อุณหภูมิ 840 องศาเซลเซียส ออกมาจะเป็นแบบใสไร้สี ทำไปเพื่อเพิ่มความคงทนต่อการยึดเกาะของสีอีนาเมลในการเคลือบชั้นที่ 2 เคลือบรอบ 2 แล้วนำไปตากให้แห้ง ก่อนนำมาเคลือบวัสดุเพิ่มความทนทานอีกเป็นอันจบ

3

สีสันการครัวเป็นเครื่องหมายการค้า

สีสันของหม้อเหล็กใบแรก ต้องพาย้อนไปถึงช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ตอนนั้นโรงงานหม้อเหล็กแห่งนี้ได้รับผลกระทบจากสงครามและถูกยึดครองโดยกองทัพเยอรมนี แต่พอสงครามสิ้นสุดลง กลับกลายเป็นก้าวใหม่ของ Le Creuset ในปี 1952 แบรนด์เริ่มหยอดสีหลากหลายลงบนหม้อเหล็กหล่อ และตรงนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ขับให้เอกลักษณ์ของแบรนด์เด่นชัดยิ่งกว่าเดิม จากที่มีสีส้มภูเขาไฟ (Volcanique – สีของเปลวไฟขณะเหล็กกำลังหลอมละลายในเตา) เป็นสีแรกและสีเดียวมาเนิ่นนาน (แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นสีที่เป็นเครื่องหมายการค้าของแบรนด์) ก็เริ่มมีสีสันใหม่ ๆ ทยอยออกมาสร้างสีสันสู่การครัว โดยมี Elysées Yellow เป็นสีที่ 2 ของแบรนด์ที่มีการตอบรับถล่มทลายจากยอดขายกว่า 1,000 ใบในขณะนั้น และมาดังเป็นพลุแตกในปี 1999 ตอนที่คอลเลกชันของนักแสดงสาว Marilyn Monroe ถูกประมูลที่นิวยอร์กในราคา 25,300 ดอลลาร์ฯ! 

“คนชอบครัวแบบเปิดมากขึ้น ทั้งร้านอาหารและที่บ้านเดี๋ยวนี้เป็น Open Kitchen ทั้งนั้น ทีนี้อุปกรณ์ที่เชฟเลือกใช้ก็ต้องเป็นของตกแต่งไปในตัวด้วย Le Creuset เลยตอบโจทย์เรื่องการใช้งานได้ดี สีสันสวยน่าใช้ เรียกว่าปฏิวัติวงการเครื่องครัวก็ว่าได้ เพราะก่อนปีก่อตั้งของแบรนด์ เครื่องครัวยุคก่อนหน้านั้นไม่มีสีสันเลย 

“ปัจจุบัน Le Creuset มีให้เลือกเป็นร้อยเฉด แบรนด์น่าจะคิดมาแล้วว่าเครื่องครัวของเขาวางเข้าได้กับครัวทุกบ้าน สำหรับผม หม้อจากแบรนด์นี้เลยไม่ใช่แค่อุปกรณ์ทำอาหารอย่างเดียว แต่เป็นของแต่งบ้าน เป็นเครื่องบ่งบอกรสนิยมและตัวตนของคนที่ใช้ รวมถึงกลายเป็นของสะสมของใครหลายคน”

4

หม้อเหล็กหล่อ ยอดนักตุ๋น

จากการใช้งานหม้อ Le Creuset มานานปีของเชฟปาร์ค หากจะให้แนะนำผู้ใช้มือใหม่ เขาอยากนำเสนอเมนูตุ๋นและการอบซาวร์โด 

“ข้อด้อยของหม้อเหล็กหล่อคือมีน้ำหนัก และต้องยอมรับว่าอาจไม่ได้เหมาะกับทุกเมนู แต่เหมาะกับการปรุงแบบ Slow Cook ความหนักที่หม้อและฝาหม้อมีกลับกลายเป็นข้อดี ผมใช้หม้อ Le Creuset กับการตุ๋น เพราะพอปิดฝาปุ๊บ ไอน้ำจะระเหยออกจากหม้อได้ยาก วัตถุดิบจะสูญเสียน้ำได้น้อย คุณสมบัติคล้ายหม้อกึ่งแรงดัน วัตถุดิบที่ตุ๋นในหม้อเหล็กหล่อจะเปื่อยและนุ่มได้เร็ว อีกอย่างคือการอบซาวร์โด คุณสมบัตินำความร้อนได้ดีของเหล็กทำให้ขนมปังที่อบในหม้อนี้ได้สีสม่ำเสมอ พูดง่าย ๆ ว่าอบขนมปังออกมาอร่อยและสีสวยเท่ากัน 

“ที่สำคัญ หม้อนี้ใช้ได้กับเตาทุกประเภท ทั้งเตาแก๊ส เตาไฟฟ้า เตาแม่เหล็กไฟฟ้า ปรุงเสร็จจากเตาก็เอาเข้าเตาอบก็ได้เลย และจากเตาอบก็ยกเสิร์ฟได้อีก ไม่เสียเวลาเปลี่ยนถ่ายหลายภาชนะ”

5

ซื้อใบเดียวให้จบไม่มีอยู่จริง เพราะมันมีหลายคอลเลกชัน!

นอกจากฟังก์ชันที่เติมเต็มให้คนใช้งานหม้อได้อย่างเพลิดเพลิน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการคอลแล็บกับแบรนด์ต่าง ๆ รวมถึงรุ่นลิมิเต็ดอิดิชันที่ออกมาไม่ขาดสายก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้แฟนแบรนด์อย่างเชฟปาร์คถอนตัวไม่ขึ้น และรู้สึกอีกทีก็มีมากกว่า 1, 2 หรือ 3 ใบไปไกลแล้ว

“ผมมีหม้อเหล็กหล่อประมาณ 10 ใบที่ใช้จริง ๆ กับอีก 5 ใบที่เก็บสะสม แต่ถ้านับรวม Mini Pot เข้าไปด้วยก็น่าจะมีทั้งหมดประมาณ 40 ไอเทม เพราะบ้านเราไม่ใหญ่ จำเป็นต้องเลือกเก็บเฉพาะใบที่ชอบจริง ๆ “ในจำนวนที่มี ผมชอบรุ่น แฮร์รี่ พอตเตอร์ ที่สุด เป็นหม้อใบสีน้ำเงิน ส่วนที่เป็นฝาหม้อจำลองให้เป็นสนามควิดดิช ส่วนลูกบิดฝาทำเป็นลูกโกลเดนสนิชสีทอง (รุ่น Quidditch™ Signature Round Dutch Oven) ส่วนอีกแบบที่อยู่ในรุ่นนี้ แต่ผมไม่มี เป็นหม้อใบสีแดงที่จำลองส่วนฝาหม้อให้เป็นใบหน้าของแฮร์รี่ พอตเตอร์ และทำส่วนลูกบิดฝาเป็นสายฟ้าฟาดกลางหน้าผาก (รุ่น Harry Potter™ Signature Round Dutch Oven) ดีไซน์ของ 2 ใบนี้สวยมาก เป็น 2 ใบที่ชอบแต่ไม่เคยใช้เลย ตกเป็นเหยื่อการตลาดอย่างแท้จริง” เชฟปาร์คบอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ

6

Knob Handles ที่เลือกได้ กับการเรียงหม้อเก็บแบบ Stack

“Le Creuset ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมาก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะหยุดพัฒนา เพราะแบรนด์พยายามออกแบบชิ้นส่วนต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิมมากนัก เพราะเขาออกแบบมาลงตัวอยู่แล้วแต่แรก 

“Knob Handles จุกบนฝาหม้อในรุ่นคลาสสิก เป็นเหล็กหล่อที่ออกแบบให้เอาเข้าเตาอบได้เช่นเดียวกับตัวหม้อ แต่จะทนความร้อนได้ไม่มาก ทำให้จับแล้วร้อนมือ ต้องใช้ผ้าหนา ๆ มาหุ้มเวลาจับ ปัจจุบันแบรนด์เลยผลิตรุ่น Signature French Oven ออกมา เปลี่ยนวัสดุให้ทนความร้อนได้ 250 องศาเซลเซียส เข้าเตาอบได้ แต่จับแล้วไม่ลวกมือ

“ฝาหม้อรุ่นแรก ๆ เป็นฝากลมเกลี้ยง ไม่มีเส้นขอบอย่างที่เราคุ้นเคยในปัจจุบัน ซึ่งดีไซน์เส้นขอบนี้ก็ไม่แน่ใจว่ามีไว้สำหรับอะไร แต่ทำให้เวลาวางหงายไว้ ตัวฝาจะไม่กลิ้งไปมา และฝาแบบนี้ปิดแบบวางหงายขึ้นเพื่อวางหม้อซ้อนกันไปเรื่อย ๆ ได้สะดวกกว่า”

7

คุ้มครองตลอดชีวิต! ชำรุดเมื่อไหร่ก็ทักมา

“จุดนี้เป็นความใส่ใจของแบรนด์ที่คิดว่าคนยังไม่ค่อยรู้ คือหม้อเหล็กหล่อ Le Creuset มีการรับประกันตลอดชีวิต ถ้าซื้อมาแล้วเจอจุดบกพร่องเสียหายจากการผลิต หรือใช้ ๆ ไปอีนาเมลที่เคลือบไว้แตกหรือหลุดลอกออกไป ส่งเคลมได้เลย บริษัทจะส่งใบใหม่มาให้ ผมว่าไม่ค่อยมีเครื่องครัวแบรนด์ไหนที่มีบริการแบบนี้ และที่บริษัทกล้าทำแบบนี้ คิดว่าเป็นเพราะผลิตภัณฑ์ของเขาทนทานจริง ๆ จึงเกิดการส่งต่อจากรุ่นปู่ย่า พ่อแม่ มาจนถึงรุ่นลูกได้สบาย ๆ”

8

หม้อใบแรกทำขึ้นที่ไหน หม้อใบล่าสุดก็ยังทำที่เดิม

แม้วันนี้ Le Creuset จะยืนระยะมายาวนานแบบที่พร้อมฉลอง 100 ปีในเร็ววัน อีกทั้งยังมีผลิตภัณฑ์วางจำหน่ายกว่า 60 ประเทศทั่วโลกแล้ว แต่ฐานการผลิตหม้อเหล็กหล่อในแบบฉบับ Le Creuset ยังคงตั้งอยู่ที่เดิม นั่นก็คือโรงงานแห่งแรกของแบรนด์ในเขต Fresnoy-le-Grand เมือง Aisne ประเทศฝรั่งเศส ตั้งแต่วันแรกในปีก่อตั้งจนถึงวันนี้ ไม่เคยย้ายไปที่ไหน (เว้นแต่อุปกรณ์คู่ครัวชิ้นอื่น ๆ ที่อาจมีฐานการผลิตต่างกันออกไป) ไม่ใช่แค่สถานที่ที่คงเดิม แต่กระบวนการผลิตก็ยังใช้วิธีดั้งเดิมและทำด้วยมือทั้งหมดอย่างที่เป็นมาเสมอ

Big Brand Fan

Brand Member


เชฟปาร์ค-ภัทรวิทย์ จันทร์ไทย
Name
เชฟ
Occupation
Le Creuset
Brand Lover
ข้อมูลอ้างอิง
  • Facebook : Le Creuset Thailand
  • www.lecreuset.co.za
  • www.lecreuset.com

Writer

ใหม่ ศุภรุจกิจ

ใหม่ ศุภรุจกิจ

เคยเป็นกองบรรณาธิการสำนักพิมพ์ ตอนนี้เป็นนักเขียน สัมภาษณ์ ที่อิสระและจ้างได้

Photographer

Avatar

สโรชา อินอิ่ม

Freelance photographer ชอบความอิสระ ชอบเดินทางท่องเที่ยว บันทึกความทรงจำผ่านภาพถ่าย