ถ้าพูดถึงงานจิตรกรรมในไทย คงจะมีมากมายไม่หวาดไม่ไหว แต่ถ้าบอกว่างานจิตรกรรมที่เป็นภาพล้อเลียน เชื่อว่าทุกคนน่าจะร้องอ๋อเมื่อเห็นภาพของ ลำพู กันเสนาะ ไม่ว่าจะด้วยหน้าตาทะเล้น ยียวน และหัวที่โต จนทำคนดูแอบหัวเราะฮิๆ ภาพจิตรกรรมของลำพูก็ดึงคนดูด้วยความตลกแต่แอบแฝงด้วยความประชดประชันได้ตลอดมา

สายๆ วันจันทร์ เราฝ่ารถติดออกจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าล่องไปแม่กลอง เข้าอำเภออัมพวา ลัดเลาะเข้าซอยเล็กยุบยิบที่สองข้างทางเป็นสวนมะพร้าว เพื่อไปเยี่ยมชมสตูดิโอของศิลปินภาพจิตรกรรมที่โดดเด่นจากการวาดภาพล้อเลียน ซึ่งแอบแฝงตัวอยู่ท่ามกลางสวนมะพร้าวและบ้านเรือนชาวอัมพวา

เราเลยวัด ข้ามคลอง แม่น้ำ ผ่านสวน ท้องร่อง ที่จินตนาการไว้แต่แรกว่าอัมพวาจะหน้าตาเป็นแบบนี้ แต่สิ่งที่กูเกิลแมปส์ไม่ได้บอกตอนปักหมุดมุ่งหน้ามาที่นี่คือ หุ่นมาริโอ้ 8 bit หน้าบ้านปูนเปลือยยกสูงซึ่งมีบานเฟี้ยม ชานเรือนไม้ และร่มเงาของหูกระจงใหญ่ 2 ต้น เป็นส่วนประกอบ

เราว่าไม่ผิดทางหรอก เรามาถึงที่หมายแล้ว

หมาอ้วน 2 ตัววิ่งออกมาต้อนรับด้วยความเป็นมิตร ภายในสตูดิโอปูนเปลือย นอกจากผลงานรูปคุณลุงหน้ายิ้มในชุดนักเรียนแล้ว แคนวาสอื่นๆ ก็ไม่ยอมเผยตัวเพราะถูกห่อด้วยบับเบิ้ล ใต้นั่งร้านสีเหลืองมีอุปกรณ์วาดเขียน พู่กันนับสิบ และสีกองพะเนินเหมือนจอมปลวกอยู่บนเศษผ้าแคนวาส ทำให้อดจินตนาการช่วงเวลาการทำงานของเจ้าของบ้านไม่ได้

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

“งานส่วนใหญ่เป็นสีน้ำมัน ตอนทำงานจะบีบบนกองนี้เลย เราบีบมาใช้ทับๆ กันเรื่อยๆ สีน้ำมันพอแห้งแล้วจะเอากลับมาใช้ไม่ได้ ก็จะกองพะเนินขึ้นมาแบบนี้ บางครั้งสูงไปก็ต้องหักออก เราจำตำแหน่งวางของมันได้เลยไม่เปลี่ยนมัน” เจ้าของบ้านอธิบาย 

“ส่วนรูปนี้เป็นชุดที่ต่อมาจากชุด ‘อเมซิ่งไทยแลนด์’ เขียนถึงเรื่องความเป็นไทยเราที่มีกิจกรรมแปลกๆ อันนี้เป็นพวกคนที่มาขายของตามร้านอาหาร จุดขายเขาคือจะใส่ชุดนักเรียนมา ไม่รู้เดี๋ยวนี้ยังมีอยู่มั้ยนะ แต่เราก็มองออกว่าลักษณะของเขาไม่น่าใช่นักเรียนแล้ว เราก็เลยเขียนประชดให้เป็นคนแก่ไปเลย”

ลำพูพาเราดูงานคร่าวๆ เธอเรียนจบจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากรเมื่อ พ.ศ. 2550 ผ่านมา 2 ปี ก็กลับมาบ้านเพื่อดูแลแม่ที่ป่วย ก่อนจะสร้างสตูดิโอเพื่อทำงานอยู่ในเมืองที่เธอเติบโตมาตั้งแต่ 4 ขวบ

01

ออกจากบ้าน

“เราเรียนไม่เก่งค่ะ เรียนวิชาอะไรไม่เก่งเลย” ลำพูเล่าให้ฟังถึงวัยเด็ก ก่อนที่เธอจะตัดสินใจเดินตามพี่ชาย หนีไปสอบเข้าช่างศิลป์ลาดกระบัง พอสอบติดก็ออกจากบ้านที่อัมพวาเข้ามาเรียนในกรุงเทพฯ ท่ามกลางเสียงทัดทานและความเป็นห่วงจากคุณพ่อ 

“เราชอบวาดการ์ตูนมาตั้งแต่เด็กๆ แล้ว พวกเซเลอร์มูน หรือการ์ตูนตามทีวี พวกการ์ตูนสาวน้อยน่ะค่ะ”

โลกในโรงเรียนศิลปะอย่างช่างศิลป์เป็นอะไรที่ใหม่มากสำหรับลำพู 

“เหมือนไม่ได้ไปโรงเรียน ตอนเด็กๆ เราไม่รู้เลยว่าโลกนี้มีโรงเรียนแบบนี้มาก่อน

“สำหรับเราก็มีความสุขมากที่ได้เจอโรงเรียนที่เราไม่ได้ไปเรียน”

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

แต่การเรียนก็ใช่ว่าจะง่ายอย่างที่คิด เพราะในขณะที่เพื่อนๆ เคยได้ติว ได้เรียนพิเศษ กันมาก่อนแล้ว ลำพูกลับไม่เคยได้ฝึกเขียนภาพนิ่งเลย เหมือนเริ่มนับหนึ่งใหม่ ดังนั้น เธอจึงต้องขยันกว่าคนอื่น ฝึกมากกว่าหลายเท่า ถ้าอาจารย์ให้ส่ง 1 ชิ้น ลำพูจะส่ง 3 หรือ 4 ชิ้น เพื่อพัฒนาตัวเองเรื่อยๆ

ด้วยความขยัน ลำพูก็สอบเข้าคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ และภาพวาดล้อเลียนหัวโตที่เป็นซิกเนเจอร์ของเธอก็เริ่มขึ้นที่นั่น

02

หัวโต

ภาพวาดล้อเลียนของลำพูเริ่มช่วงปี 3 จากที่อาจารย์ให้สร้างสรรค์ผลงานส่วนตัว เพื่อประหยัดงบประมาณ เธอจึงเขียนรูปด้วยสีน้ำมันลงบนพลาสติกที่เป็นลายเหมือนลายผ้าปูโต๊ะแทนผ้าแคนวาส และแบบที่เธอเลือกมาวาดก็คือเพื่อนๆ ที่คณะ 

“พวกเขาผมเผ้ารุงรัง ลักษณะไม่เหมือนนักศึกษา” เธอพูดยิ้มๆ “บุคลิกพวกเขาจะต่างจากที่เห็น พอเราเป็นเพื่อนกันเราก็เห็นว่านิสัยบางคนตรงกันข้ามกับลักษณะที่เห็นเลย เราเลยวาดเล่าเรื่องของเขาที่ภายในและภายนอกต่างกัน” 

สำหรับลำพูแล้ว ภาพวาดล้อเลียนแนวหัวโตเป็นตัวแทนของเรื่องราวที่เธอนำเสนอ ตั้งแต่เรื่องที่พูดถึงกลุ่มเพื่อนและคนใกล้ชิด ไปจนถึงเรื่องราวที่เกี่ยวกับสังคมโดยตรง โดยเฉพาะเรื่องราวประชดประชัน เสียดสี ถูกนำเสนอออกมาให้สะท้อนบางมุมที่คนทั่วไปไม่ได้นึกถึง ผ่านรูปแบบที่ดูขบขัน สนุกสนาน เช่นวัฒนธรรมเซลฟี่ในผลงานแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของเธอ 

ในขณะที่ผลงานจิตรกรรมอื่นๆ จะเน้นเรื่องที่กว้างหรือเป็นนามธรรมกว่า ลำพูมองว่าการหยิบเอาอารมณ์ขันมาเล่าเรื่องราวของเธอ เป็นเหมือนแม่เหล็กที่ดึงดูดให้คนดูงานนานกว่าเดิม 

“สีหน้า แววตาที่สื่อ ไปจนถึงส่วนประกอบชวนตลกอย่างน้ำลาย น้ำตา น้ำมูก ของรูปเรา พอเขาดูรายละเอียดทีละอย่างเขาก็จะเห็นเรื่องราวที่เราสื่อในภาพ”

03

กลับบ้าน

“ตอนเด็กแม่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ มันลำบาก เราเลยรู้สึกไม่ชอบกรุงเทพฯ แต่พออายุ 15 เราเองก็ต้องไปเรียนที่นั่น ตลอดช่วงวัยรุ่นประมาณสิบกว่าปี คิดมาตลอดว่าไม่อยากอยู่ในเมือง พอแม่ป่วยปี 2009 ต้องกลับมาดูแลแม่ จึงอยากจะสร้างสตูดิโออยู่ใกล้ๆ เขา พอสร้างเสร็จแม่ก็เสีย เลยอยู่ตรงนี้มาเรื่อยๆ ความจริงเราชอบต่างจังหวัดมากกว่ากรุงเทพฯ” 

ลำพูเล่าถึงชีวิตวัยรุ่น ก่อนจะบอกว่าไม่ได้เกิดที่นี่ เธอเกิดจังหวัดน่าน แม่เป็นคนน่าน พ่อเป็นคนอัมพวาและเป็นครูที่นี่ พอ 4 ขวบจึงย้ายมาอัมพวา พักบ้านพักราชการ ส่วนบ้านและสตูดิโอที่เห็น เธอปลูกหลังจากที่โตเป็นศิลปินเต็มตัว

“ข้อดีของสมุทรสงครามคือเรามีเพื่อนตั้งแต่เด็ก ทุกคนกลับมาบ้านหมดเลย กลับมาทำงาน มีร้านอาหาร ทำตลาดปลา มีกิจการของเขา เป็นเมืองเล็กๆ เราก็มีเพื่อนอยู่ใกล้กัน วิ่งไปหากันแค่ 5 นาที จังหวัดนี้มี 3 อำเภอเอง เป็นจังหวัดเล็กๆ”

เมื่ออยู่บ้าน เธอจึงเปลี่ยนแบบที่นำมาวาด จากคนใกล้ตัว มาเป็นคนใกล้บ้านแทน 

“ใกล้ๆ นี้จะมีโรงมะพร้าว มีคนอยู่เยอะ ตั้งแต่เด็ก คนแก่ ผู้หญิง ผู้ชาย เราก็จ้างเขามาเป็นแบบถ่ายรูป เวลาวาดเสร็จ มีงานแสดง มีแคตตาล็อก ก็เอาไปให้เขาดู เขาก็ขำกันทุกที” 

เธอเปรียบเทียบการหาแบบวาดรูปกับการหานักแสดงในภาพยนตร์ที่เธออยากเล่าลงบนภาพจิตรกรรมของเธอ ที่ไม่ใช่หยิบใครก็ได้มาถ่ายในเวลานิดเดียว 

“ความซับซ้อนของการหาแบบข้างนอกคือ เขาแสดงไม่ได้ ทำสีหน้าไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยนคน ต้องรอเขาเลิกงาน แสงเองก็สำคัญ เหมือนการถ่ายแบบ ถ่ายหนังเลย คือเราต้องมีภาพในหัว มีสเกตช์ก่อน ปีนี้เรารู้แล้วว่าเราจะวาดกี่ชิ้น ก็จะสเกตช์ไว้เลย มีฉาก มีเรื่องราวอย่างไร มีใครอยู่บ้าง กี่คน หลังจากนั้นก็ออกไปหา แล้วมาสเกตช์อีกที ถึงจะทำงานจริง” 

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

ต่างกับตอนเรียนที่เธอเล่าเรื่องเพื่อนๆ ผ่านรูปภาพของเขาโดยใช้เขาเป็นแบบ การทำงานตอนโต เธอนำแบบมาแสดงในเรื่องที่เธออยากจะเล่าแทน 

“ชิ้นล่าสุดที่ไปแสดงที่ ChiangMai Art Museum เขียนไปยี่สิบกว่าคนในรูปเดียว เราเอาทั้งโรงมาผลัดกันถ่ายเลย เขาสนุกกันใหญ่ เขารู้ว่าเราเอาไปวาด ก็เลยไม่ได้หวาดระแวงว่าจะเอาไปใช้ทำอะไรไม่ดี เพราะรู้ๆ กันอยู่ บ้านก็อยู่ใกล้ๆ กัน”

04

อยู่บ้าน

หากคิดถึงอัมพวา ก็จะคิดถึงตลาดน้ำกับหิ่งห้อย และถ้าคิดถึงหิ่งห้อยแล้ว ก็จะทำให้นึกถึงต้นลำพู ต้นลำพูเป็นต้นไม้ขนาดไม่ใหญ่มาก ขึ้นตามริมแม่น้ำหรือลำคลอง เป็นต้นไม้ที่ชอบมีหิ่งห้อยมาเกาะ

“ชื่อเรามาจากต้นลำพู ตอนเด็กๆ เป็นปมด้อยมากเลย เพราะชื่อฟังแล้วตลกๆ สระอำ สระอู ลำพู” ส่วนระเบียงของบ้านอยู่ติดกับคลองจิ๋ว มีต้นไม้ขึ้นเต็มแบบบ้านสวน ทำให้รอบบ้านเต็มไปด้วยต้นไม้และคลองลำน้อยๆ ลำพูชี้ไปที่ด้านหลังคลองแล้วเล่าว่า 

“ที่บ้านนี่ก็เคยมีต้นลำพู มันโค่นไปแล้ว แต่ก็ยังมีหิ่งห้อยเต็มเลยนะคะ ส่วนใหญ่หิ่งห้อยจะอยู่ตามพื้นที่ที่สะอาด ตอนกลางคืนจะส่องแสงสวยมากเลย”

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

หลังจากที่ปรับปรุงไป 2 รอบ สตูดิโอของลำพูก็ลงตัว เธอออกแบบให้เป็นเหมือนทั้งบ้านและที่ทำงาน ข้างบนเป็นห้องนอนกับดาดฟ้าเพื่อพักผ่อนหรือปาร์ตี้กับเพื่อนๆ ส่วนครัวไปทำที่บ้านอีกหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นบ้านเดิมของเธอ ตั้งอยู่ด้านหลังสตูดิโอ เธอสร้างขึ้นมาก่อนบ้านหลังนี้ ตอนแรกมีคุณพ่ออาศัยอยู่ด้วย ก่อนเขาจะย้ายกลับไปอยู่น่าน 

ด้านล่างของบ้านเป็นส่วนสตูดิโอทำงานและโซฟารับแขก เธอเก็บสเกตช์หรือต้นแบบของผลงานเก่าๆ เอาไว้ เช่น ต้นแบบประติมากรรม ‘วันวานยังหวานอยู่’ ขนาดวางบนสองฝ่ามือได้ ในขณะที่ผลงานจริงเธอนำมาขยายเพื่อหล่อประติมากรรมออกมาเป็นชิ้นใหญ่ขนาดกว่า 2 เมตร และรูปสเกตช์ลายเส้นผลงานชุด ‘รักไม่ยอมเปลี่ยนแปลง’ เคยจัดแสดงที่ ARDEL Gallery of Modern Art เธอวาดเกี่ยวกับชีวิตคู่ของเธอกับคนรักที่อยู่ด้วยกัน ผ่านร้อนผ่านหนาวในทุกช่วงชีวิต เปรียบเทียบชีวิตคู่กับอาชีพหรือสถานการณ์ต่างๆ 

“อันนั้นเป็นรูปคู่เรากับแฟนค่ะ มัดลงโลงด้วยกันเป็นคู่ไปเลย” ลำพูชี้ให้เห็นผลงานเก่าๆ ซึ่งวางเก็บไว้ดูต่างหน้าผลงานที่เอาไปแสดงที่สตูดิโอของเธอ 

 “โซฟาตรงนี้ ตอนแรกเราเอาไว้เก็บงาน พวกเฟรมหรืองานที่เสร็จแล้ว แต่ตอนหลังก็ไปซื้อตึกอีกที่หนึ่ง ขนงานที่เสร็จแล้วไปเก็บไว้ พอบ้านอยู่ในสวนก็ชื้น ราขึ้นผ้าใบ ก็เลยเปลี่ยนไปใช้ผ้าลินินแทน ราจะขึ้นยากกว่าหน่อย” ลำพูพาเราเดินดูสตูดิโอของเธอ ส่วนปัญหาของการอยู่บ้านสวน นอกจากราแล้วก็คือ ปลวก 

“จริงๆ พื้นไม้ตรงนี้มันสภาพดีกว่านี้ แต่ตอนนี้เริ่มโดนปลวกกินไปแล้ว เมื่อก่อนเราปลูกต้นไม้ให้ปลวกกินต้นหนึ่ง มันก็กินไปหมดแล้ว ตอนนี้ก็ลามมาที่พื้น เรารอให้มันกินๆ ไปให้หมดก่อน ค่อยเปลี่ยนไม้ ตอนแรกเราก็ไม่อยากกำจัดนะ แต่ไม่ไหวจริงๆ มันจะหมดบ้านแล้ว ต้องเปลี่ยนไปใช้ไม้เทียม เลยให้มันกินไปหมดก่อน ยิ่งผ้าใบนี่มันชอบกินมากเลย ก็ต้องฉีดปลวกตรงส่วนที่ทำงาน” เธอพูดพลางหัวเราะ

“นั่งร้านนั้นเราซื้อมาเพราะต้องทำงานชิ้นใหญ่ เลยต้องปีนนั่งร้านขึ้นไปนั่งทำ ก่อนหน้านี้เราใช้บันได นั่งร้านจะเสียเวลาตอนที่ลงมาเล็งดูรูป แต่บันไดก็หอบอุปกรณ์ทั้งหมดขึ้นไปไม่ได้ ความจริงนั่งร้านพับเก็บได้นะคะ ถ้าไม่ได้ใช้ก็จะถอดเก็บ” เธอหยิบผ้าผืนน้อยขึ้นมาอธิบายว่า “พาเลตต์สีนี่เราใช้เศษผ้าจากแคนวาส ปกติจะใช้ไปเรื่อยๆ พอมันเริ่มหนักก็เปลี่ยนไปใช้เศษผ้าอันใหม่” และพอถามถึงลู่วิ่งอันใหญ่ที่วางพิงเสาอยู่ ว่าอันนี้ใช้ทำงานหรือใช้วิ่ง ลำพูก็หัวเราะพร้อมตอบว่า “ลู่วิ่งตรงนี้เราใช้วิ่งทุกวันนะ เวลาจะใช้ค่อยหยิบลงมา ไม่ได้ใช้ทำงานนะคะ” 

เราอดไม่ได้ที่จะถามถึงหุ่นมาริโอ้ 8 bit ลำพูเล่าว่า เธอไม่ได้ทำเอง แต่เพื่อนในละแวกบ้านทำ ก็เลยช่วยอุดหนุนเขา ส่วนต้นหูกระจงเธอเล่าว่า “เขาให้ปลูกห่างจากบ้านกัน เพราะรากมันชอนไชทำลายโครงบ้าน แต่โชคดีที่บ้านเรายกตัวเรือนสูง เลยไม่ได้กระทบมาก”

บรรยากาศสบายๆ ของบ้านบวกกับอากาศฤดูฝนแบบนี้ ชวนให้นอนกลางวันได้ทั้งวัน 

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

“การมีสตูดิโอที่อัมพวา ข้อดีคือมีสมาธิ ได้ทำงานมากกว่า แต่ข้อเสียคือเวลาอยู่บ้านจะคิดไม่ออก ต้องไปเที่ยว ไปเจอผู้คน มีการพูดคุย หาประสบการณ์” 

เธอเล่าว่า ช่วงแรกที่กลับมาอยู่บ้าน พอสบายเกินไปก็เลยขี้เกียจ ยิ่งเธอมีเพื่อนๆ อยู่ในละแวกบ้าน เธอก็ยิ่งเถลไถล ผ่อนผัน ทำงานบ้างไม่ทำบ้าง 

“เราเป็นแบบนั้นอยู่สักพัก จนมาคิดได้ว่าเพื่อนเราหลายคนทำงานออฟฟิศเขาได้งานทุกวันเลย เทียบกับเรา วันๆ ไม่ได้อะไรเลย” ลำพูกล่าว 

เธอเล่าว่าหลังจากนั้นจึงเริ่มมีวินัยกับตัวเอง ใน 1 ปีเธอกำหนดจำนวนงานที่ต้องทำให้เสร็จ เวลาที่ต้องใช้ในการทำงาน แม้กระทั่งเวลาพักจากงานไปเก็บประสบการณ์

“ถึงอย่างนั้น เราก็ยังได้งานน้อยกว่าตอนไปทำข้างนอกอยู่ดี” ลำพูกล่าว ทำให้อยากรู้ว่าเธอไปไหนมาแล้วบ้าง

05

ออกนอกบ้าน

ลำพูเล่าว่า หลังจากมีชื่อเสียงจากการได้รับรางวัลยุวศิลปินไทย Young Thai Artist Award นอกจากจะมีสื่อที่ให้ความสนใจผลงานเธอแล้ว ก็มีคนในวงการศิลปะทั้งในไทยและต่างชาติเห็นผลงานของเธอ สิ่งที่ตามมาคือ ลำพูได้รับเชิญไปเวิร์กช็อป หรือไปเป็นศิลปินพำนักตามมหาวิทยาลัยหรือพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศอยู่เรื่อยๆ เช่น ญี่ปุ่น เม็กซิโก เวียดนาม ล่าสุดเธอเองก็เพิ่งกลับมาจากประเทศจีน

“เราไปเป็นศิลปินพำนักที่ Fukuoka Asian Art Museum ที่ฟุกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น อยู่ที่นั่น 2 เดือน มีอพาร์ตเมนต์ที่เดินไปทำงานได้ ก็เหมือนเป็นการเปลี่ยนสตูดิโอไปเลย”

นอกจากจะเปลี่ยนสถานที่ทำงานแล้ว วิธีการทำงานของเธอก็เปลี่ยนไปเช่นกัน เช่นอุปกรณ์ที่ไม่เหมือนกันและการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ลำพูเล่าว่า “เราชอบญี่ปุ่นนะ แปลกดี มีเรื่องอะไรที่เราคาดไม่ถึง หลายอย่างที่เราวางแผนไว้ก็เอามาใช้จริงไม่ได้ บางครั้งจะมีพวกอาสาสมัครที่มาทำงานช่วยศิลปินในสตูดิโอ เด็กๆ ที่มาดูงานเรา เขาก็จะให้ความร่วมมือมาเป็นแบบให้เรา คนก็จะต่างกันไปเลย”

พอผู้คนต่างกัน ผลตอบรับต่างกันแล้วแต่ที่ ในขณะที่ผลงานบางชิ้น เมื่อแสดงในไทยจะได้รับการตอบรับอย่างดี ก็อาจจะไม่เหมาะกับบริบทต่างประเทศ ลำพูแนะนำว่า เมื่อไปทำงานต่างประเทศก็ต้องเขียนเรื่องที่สากลขึ้น เรื่องที่ทั่วโลกเข้าใจได้ หรือวิถีชีวิตและประเด็นสังคมที่กว้างขึ้น

06

จากวันนั้นถึงวันนี้

ลำพูโด่งดังหลังจากรางวัลศิลปะต่างๆ หนึ่งในนั้นก็คือรางวัลยอดเยี่ยมสาขาศิลปะสองมิติ Young Thai Artist Award โดยมูลนิธิเอสซีจี ครั้งที่ 3 ช่วงปริญญาตรีปี 5 ด้วยผลงาน ‘นางสาวภาพยนตร์’ 

นางสาวภาพยนตร์เล่าถึงคุณค่าของชีวิต เป็นภาพล้อเลียนคุณยายข้างบ้าน ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจคนหนึ่งของลำพู 

“ยายเป็นคนขยัน แล้วก็มีวินัยมาก ตื่นมาตี 4 หุงข้าว เริ่มทำงาน 8 โมงเช้า เลิกงาน 5 โมงเย็นทุกวัน เพราะเป็นคนทำงาน เขาเคยเป็นคนค้าขาย พอตอนนี้เกษียณแล้วก็ยังอยู่เฉยไม่ได้ ทำโน่นทำนี่ ทำสวนปลูกต้นไม้ตลอด” ลำพูเล่าถึงยายต่ออีกว่า “หลานเขาเรียกยายภาพยนตร์ๆ เราเลยคิดว่าเขาชื่อนี้ แต่จริงๆ เขาชื่อสุภาพนะคะ” เธอหัวเราะ “ตอนวันรับรางวัลเราไม่ได้ไปเพราะติดไปต่างประเทศ เลยให้คุณแม่ไปกับยายภาพแทน” เธอเล่าถึงเวทีประกวด “ยายตื่นเต้นมากเลย เพราะมีคนมาขอสัมภาษณ์เต็มเลยค่ะ”

รางวัล Young Thai Artist Award สำหรับเธอแล้วเป็นรางวัลที่ใหญ่มาก นอกจากเธอจะภาคภูมิใจกับความสำเร็จในฐานะศิลปินคนหนึ่ง ภูมิใจกับประเด็นสังคมที่สื่อออกไปให้คนรับรู้จนให้การยอมรับ เธอยังนำรางวัลมาต่อยอด ต่อเติมบ้านและเริ่มสร้างสตูดิโอ รวมไปถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง ก็คือการนำเงินรางวัลมาเลี้ยงดูแม่ให้แม่ได้เลิกทำงานที่กรุงเทพฯ อย่างที่ฝันไว้ตั้งแต่เด็ก และกลับมาอยู่บ้านที่อัมพวา ลำพูเล่าว่า รางวัลนี้เปลี่ยนชีวิตเธอเลยก็ว่าได้

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

เมื่อเราถามถึงการพัฒนาผลงาน ลำพูก็เล่าว่า ช่วงที่ยังเรียนอยู่เธอจะหยิบเอาเรื่องจากคนใกล้ตัวมาเล่า แต่หลังจากการได้รับรางวัล เธอก็เปลี่ยนกระบวนการคิดงาน โดยเริ่มจากการคุยกันในกลุ่มเพื่อนแทน บางทีเพื่อนจะเสริมมุกนู้นมุกนี้เข้ามา รวมทั้งการออกไปเจอเรื่องจริง ลำพูมองว่าสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังจากการประกวดจนถึงตอนนี้อีกอย่าง คือเนื้อเรื่องที่จะสื่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่ร่วมสมัยขึ้น เป็นเรื่องที่เข้าถึงผู้คนวงกว้างกว่า เมื่อมีสื่อให้ความสนใจชื่อเสียงมากขึ้น ก็มีผู้คนเห็นผลงาน สนใจผลงานมากขึ้น เรื่องที่เธอจะเล่าบนภาพวาดจึงกลายเป็นเรื่องที่ผู้ชมมีประสบการณ์ร่วมมากกว่าประสบการณ์เฉพาะกลุ่มเพื่อน กลุ่มคนในมหาวิทยาลัย

ลำพูเดินไปแกะงานที่ห่อบับเบิ้ลอยู่มาเปิดให้พวกเราดู เป็นรูปเด็กเอเชียหน้าตี๋ ผิวคล้ำ และผู้ใหญ่ในร่างเด็กผมทอง หน้าอมส้ม ที่มองปราดเดียวก็ถามเธอว่า “ประธานาธิบดีทรัมป์ใช่มั้ยคะ” ลำพูหัวเราะแล้วอธิบายว่า “อันนี้เป็นชุดใหม่ล่าสุดที่จะไปแสดงที่จีน ตอนนี้หัวเหว่ยกับอเมริกากำลังมีปัญหากันอยู่ ก็เลยเขียนเป็นนักเรียน เด็กเล่นกัน เราพูดถึงการกลั่นแกล้งกัน แต่จะวาดเด็กฝรั่งก็อาจดูเป็นการเหยียดเชื้อชาติ เลยใช้เป็นตัวบุคคลไปเลย คนดูจะได้เข้าใจกว่า”

บ้านและที่ทำงานของ ลำพู กันเสนาะ ศิลปินจิตรกรรมล้อเลียนแนวหัวโต ผู้หยิบเอาคนใกล้บ้านและอารมณ์ขันมาสร้างสรรค์งานเสียดสีสังคม

ช่วงที่ทำงานแนวภาพล้อเลียนมาได้สิบกว่าปีพอดี เธอเองก็ลังเลว่าจะเปลี่ยนสไตล์การทำงานไปเลย จนอาจารย์ท่านหนึ่งบอกเธอว่า “การที่เราจะพอหรือไม่พอ มันอยู่ที่ตัวเรา ว่าจะต้องเปลี่ยนมั้ย” สำหรับเธอแล้ว การจะวาดภาพล้อเลียนสไตล์หัวโตต่อไป ขึ้นอยู่กับว่าเทคนิคนี้ยังสื่อกับผลงานของเธอได้หรือไม่ บางเรื่องที่เธอไม่รู้สึกขำกับมันแล้ว ก็อาจจะใช้ไม่ได้อีก 

ในยุคที่มุกตลก การ์ตูนแก๊ก หรือเรื่องตลกทั่วไปสามารถหาได้ตามโลกออนไลน์ในจำนวนมาก ลำพูมองว่า “รูปที่เห็นตามสื่อออนไลน์ต่างกับเราตรงที่ลักษณะของเขาจะเป็นรูปแบบการ์ตูนเล็กๆ หาดูได้ง่าย รวดเร็ว เราอาจไม่ได้ดีกว่าเขา แต่เราคิดว่าถึงจะเป็นเรื่องตลกคล้ายๆ กัน แต่ความละเอียดลออของงานจิตรกรรม การเคลื่อนไหวของฝีแปรง ที่เกิดมิติมากกว่าการเปิดดูภาพแล้วขำเพียงชั่วขณะ สิ่งเหล่านี้ดึงดูดผู้ชมให้อยากดูผลงานของเราต่อไปเรื่อยๆ”

หากคุณอายุ 18 – 25 ปีแล้วสนใจ ขอบอกว่าโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยหรือ Young Thai Artist Award โดยมูลนิธิเอสซีจีประจำปีนี้กำลังเปิดรับผลงานแล้วตั้งแต่วันนี้ถึงช่วงปลายกรกฎาคม มีทั้งหมด 6 สาขา ประกอบด้วย สาขาศิลปะ 2 มิติ สาขาศิลปะ 3 มิติ สาขาการประพันธ์ดนตรี สาขาวรรณกรรม สาขาภาพยนตร์ และสาขาภาพถ่าย แต่ละสาขามีเงื่อนไขและวันเปิด-ปิดรับสมัครแตกต่างกัน เข้าไปดูรายละเอียดในเพจเฟซบุ๊ก YoungThaiArtistAward ได้เลย ดาวน์โหลดใบสมัครที่นี่

Writer

Avatar

พีรมณฑ์ ตุลวรรธนะ

เจ้าของเพจ ‘ศิลปะเข้าใจยากจริงหรือ’ อยากให้คนเข้าใจศิลปะ-วัฒนธรรมมากขึ้น แต่ก็อยากกินของอร่อยแล้วก็อยากมีเงินชอปปิ้งด้วย

Photographers

Avatar

ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์

นักศึกษาถ่ายภาพที่กำลังตามหาแนวทางของตัวเอง ผ่านมุมมอง ผ่านการคิด และ ดู

Avatar

กรริน วิจิตรประไพ

อดีตนักเรียนออกแบบที่สนใจการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ปัจจุบันเป็นช่างภาพอิสระ ศึกษาปริญญาโทด้านการถ่ายภาพที่มิลาน