ก่อนจะเล่าแคมเปญ อยากเล่าที่มาของวันแรงงานสักเล็กน้อยครับ

วันแรงงานทั่วโลกจะมี 2 ช่วงเวลา ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกาและแคนาดาจะยึดวันจันทร์แรกของเดือนกันยายน ส่วนประเทศอื่นมักจะยึดวันที่ 1 พฤษภาคม 

แม้ต่างเวลาแต่มีเป้าหมายเหมือนกัน คืออยากเชิดชูความสำคัญของแรงงาน การต่อสู้เพื่อวันหยุดนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 

ยุคนั้น เมื่อพูดถึงการพัฒนาประเทศ ทุกสายตามักจับจ้องไปที่รัฐบาลหรือคนที่เป็นชนชั้นนำ สังคมจึงเริ่มพูดถึงการให้ความสำคัญกับชนชั้นแรงงานที่คอยขับเคลื่อนประเทศ เกิดการเดินขบวนและถกเถียงเชิงนโยบาย เพื่อให้แรงงานได้รับสิทธิที่เท่าเทียม ได้รับความสำคัญ และมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นกว่าแต่ก่อน

การเพิ่มวันหยุดให้แรงงานทั้งประเทศ ถือเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่แรงงานทำได้สำเร็จ

วันแรงงานในอเมริกาเหนือเลือกหยุดวันจันทร์ เพื่อให้แรงงานได้ช่วงวันหยุดยาวไว้พักผ่อนกับครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นช่วงรอยต่อระหว่างฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วง ช่วงนี้เองแบรนด์จะออกสินค้าฤดูกาลใหม่พอดี คนอเมริกันจึงได้เห็นแคมเปญส่วนลดสินค้าสำหรับแรงงาน หรือแคมเปญการตลาดก็จะมีให้เห็นเยอะช่วงนี้

แม้จะได้วันหยุดเพิ่ม แต่การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานยังไม่จบ มูลนิธิ NGO หรือแบรนด์ที่อยากพูดประเด็นเพื่อแรงงานก็มักทำแคมเปญช่วงวันแรงงานเพื่อสื่อสารเรื่องนี้ หลายงานก็มีไอเดียเปลี่ยนส่วนลดสินค้าไปเป็นสิ่งที่สำคัญกว่าสำหรับแรงงาน

ในแง่หนึ่ง แคมเปญกลุ่มนี้เป็นตัวอย่างของการทำงานที่จับกับวาระพิเศษหรือสิ่งที่สังคมสนใจ เราอยากเล่าตัวอย่างงานดีที่กลุ่มเป้าหมายชัด จับอินไซต์ถูก เล่าผ่านเครื่องมือที่ใช่ เพื่อให้เห็นวิธีการเข้าทำที่หลากหลาย ใช้ได้กับทุกวาระ และจับใจแรงงานทั่วโลก

Labor Day On

Red Wing Shoe Company

Droga5, Part of Accenture Interactive, New York

Red Wing ไม่ใช่แค่รองเท้าหนังเท่ ๆ แต่เป็นแบรนด์ที่ทำรองเท้าคุณภาพดีเพื่อแรงงานในสหรัฐฯ ได้มีรองเท้าดี ๆ ใช้ทำงาน 

แบรนด์อยากทำแคมเปญในวันแรงงานของอเมริกาเหนือ (7 กันยายน คนละวันกับของบ้านเรา) ปกติหลายแบรนด์จะทำแคมเปญส่วนลดให้แรงงานที่ได้หยุดมาซื้อกัน แต่ปี 2021 เป็นช่วงที่แรงงานอเมริกันตกงานจากโควิดเยอะมาก สิ่งที่คนอยากได้จริง ๆ ไม่ใช่ส่วนลด แต่อยากได้งาน เพราะถ้าไม่มีเงินเดือนก็ซื้อของลำบาก

Red Wing ทำแคมเปญชื่อ ‘Labor Day On’ เปลี่ยนเนื้อหาส่วนลดให้เป็นประกาศรับสมัครงานของบริษัท เปลี่ยนโซเชียลมีเดีย เว็บไซต์ทางการ และหน้าร้านขายรองเท้า 525 แห่งให้เป็นจุดรับสมัครงานสำหรับคนตกงานในสหรัฐฯ ทั้งประเทศ 

เพื่อให้งานใหญ่ขึ้น ทีมงานเลยทำหนัง ลงทุนจ้างแบรนด์ขนาดเล็กจำนวนหนึ่งมาร่วมโพสต์ประกาศหางานด้วยกัน ติดแฮชแท็ก #LaborDayOn แจกเทมเพลตประกาศหางานเพื่อให้แบรนด์อื่นมาร่วมแคมเปญนี้ได้ง่ายและเร็วขึ้น 

ผลของมันไม่เพียงทำให้คนได้งาน แต่ยังทำให้ Red Wing กลับมาช่วยแรงงานได้ชีวิตกลับคืนมาด้วย

The secret is experience

KFC

McCann, San Jose

แคมเปญนี้เล่นประเด็นคนว่างงานเหมือนกัน แต่เจาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุในประเทศคอสตาริกา

หลังโควิดอัตราว่างงานสูงถึง 138% ปัญหาใหญ่คือคนว่างงานเป็นผู้สูงอายุที่ถูกให้ออกจากงาน ต่อให้เศรษฐกิจดีขึ้นพวกเขาก็สมัครงานใหม่ยากอยู่ดีเพราะไม่มีคนรับ

KFC ปล่อย Print Ad เรียบง่าย บอกว่าเจ้าของแบรนด์อย่าง ผู้พันแซนเดอร์ เริ่มทำ KFC ตอนอายุ 65 ปี คนรุ่นนี้มีคุณค่า เชิญชวนให้ธุรกิจอย่ามองข้ามคนกลุ่มนี้ เป็นงานเรียบง่ายช่วงวันแรงงานที่มีพลังมาก

Mums and Maids

Transient Workers Count Too (TWC2)

Ogilvy & Mather Singapore

ครอบครัวชนชั้นกลางสิงคโปร์มักจ้างพี่เลี้ยงหรือแม่บ้านมาช่วยเลี้ยงลูก งานแบบนี้แทบไม่มีวันหยุดพัก หลายครอบครัวจึงให้พี่เลี้ยงช่วยจนเลยเถิด แทบไม่ให้พวกเขาหยุดตามกฎหมายเลย

TWC2 คือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่รณรงค์เพื่อแรงงานมานาน พวกเขาปล่อยหนังตัวนี้โดยถามคำถามแม่และพี่เลี้ยง เพื่อวัดว่าใครเข้าใจลูกมากกว่ากัน 

หนังเรื่องนี้ปล่อยก่อนวันแรงงานพอดี กระแสเลยแรงมาก ที่ดีคือตอนท้ายของหนังบอกว่า ถ้าไม่อยากห่างเหินจากลูก ก็ควรให้พี่เลี้ยงได้หยุดบ้าง วกกลับมาพูดเรื่องสิทธิแรงงานโดยไม่ต้องเล่าเรื่องกฎหมายแม้แต่นิดเดียว

Forced Labor Plug-in

Human Rights Foundation

Taxi, Vancouver

1 ใน 5 ของเสื้อผ้าที่คนใส่ทั่วโลก เชื่อมโยงกับการใช้แรงงานชาวอุยกูร์ที่ไม่เป็นธรรมในเมือง Xinjiang ประเทศจีน

มูลนิธิ Human Rights อยากพูดเรื่องนี้ แต่จะทำยังไงให้คนรู้สึก พวกเขาเชื่อว่าคนรุ่นใหม่สนใจเรื่องนี้มากขึ้น ประเด็นคือแบรนด์เสื้อผ้ามักจะไม่บอกความจริงข้อนี้ 

Forced Labor Plug-in คือโปรแกรมเสริม Add On ใน Google Chrome ถ้าโหลดมาใช้ เวลาเราเข้าเว็บไซต์เสื้อผ้าที่มีการใช้แรงงานไม่เป็นธรรม ระบบจะขึ้นฟ้องแล้วถามว่าเราอยากจะซื้อสินค้ากับแบรนด์นี้ต่อมั้ย ถ้ากดว่าไม่ ระบบจะพาเราเข้าเว็บไซต์ของ Human Rights ซึ่งจะมีรายชื่อแบรนด์เสื้อผ้าที่ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ให้เราเลือกสนับสนุนแทน

ที่มาของงานนี้มาจากงานวิจัยของ Human Rights ที่บอกว่าแบรนด์จะเปลี่ยนนโยบายก็ต่อเมื่อเกิดการแบนจากลูกค้าหรือมีประเด็นที่กระทบต่อยอดขาย ปัจจุบัน Add On เปิดตัวปี 2022 และยังใช้ได้ มีผู้ใช้ระบบนี้ในเว็บไซต์ของแบรนด์เสื้อผ้ากว่า 160 แบรนด์ทั่วโลก บางแบรนด์ตัดสินใจเปลี่ยนนโยบายเลิกใช้แรงงาน ส่วนหนึ่งเพราะกระแสจากแคมเปญนี้

Writer

ศิวะภาค เจียรวนาลี

ศิวะภาค เจียรวนาลี

บรรณาธิการที่ปั่นจักรยานเป็นงานหลัก เขียนหนังสือเป็นงานอดิเรก