“เขาเรียกเราว่านักรบนิรนาม ผู้ปิดทองหลังพระ บางทีก็ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเราคือใคร” นักเทคนิคการแพทย์ทั้งสามเริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเล่าเรื่องราวของสายอาชีพชุดกาวน์ที่มักถูกลืม

The Cloud นัดพบกับ จุ้น-วินัย นามธง, โฆ-โฆษิต กรีพร และ บอย-สัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง Labmove บริการเจาะเลือดที่บ้านโดยนักเทคนิคการแพทย์ เพื่อ ‘ลด’ ความหนาแน่นในโรงพยาบาล ‘ลด’ ช่วงเวลาแห่งการรอคอย ‘เพิ่ม’ ความสะดวกและความเท่าเทียมในการรับบริการสาธารณสุข

แต่ทั้งหมดเป็นเพียงเป้าหมายพื้นฐานของ Labmove ที่จะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการพัฒนาระบบสุขภาพของคนไทย โดยพวกเขาเชื่อว่าคนไทยจะมีสุขภาพดีได้ ไม่ใช่เมื่อป่วยแล้วไปหาหมอ แต่เมื่อรู้ล่วงหน้าและรู้จักป้องกัน การป้องกันเกิดได้จากความรู้และผลตรวจสุขภาพ ซึ่งการเจาะเลือดคือ ‘จุดเริ่มต้น’

พวกเขาทำงานร่วมกับโรงพยาบาลรัฐทั้งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ หรือในพื้นที่เชียงรายอย่างโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ และในอนาคตยังมีพันธมิตรอีกมากที่อยู่ระหว่างการพูดคุย

จุ้น-วินัย นามธง, โฆ-โฆษิต กรีพร และ บอย-สัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง Labmove
จุ้น-วินัย นามธง, โฆ-โฆษิต กรีพร และ บอย-สัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง Labmove

เจาะ ปัญหาในโรงพยาบาล

รองเท้าวางเรียงต่อคิวเป็นแถวยาว ประชาชนต้องหาที่อื่นนั่งรอเพราะเก้าอี้เต็ม การเดินเอกสารยาวนานนับ 10 ขั้นตอน

ทั้งหมดเป็นเพียงส่วนหนึ่งของบรรยากาศความแออัดในโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศไทยที่หลายคนปฏิเสธไม่ได้ว่าเคยเห็นหรือเคยอยู่ในสถานการณ์เหล่านี้มาแล้ว โดยเฉพาะจุดคอขวดอย่าง ‘จุดเจาะเลือด’

“คนไข้ออกจากบ้านตี 3 ตี 4 ไปรอคิวเจาะเลือดตอน 8 โมง บางคนต้องงดน้ำงดอาหารมา ซึ่งช่วงเวลานั้นจะมีผู้ป่วยรอเจาะเลือดเหมือนกันประมาณ 600 ราย ถ้าไปถึงช่วง 09.30 น. กลายเป็น 1,000 ราย มีทั้งผู้ป่วยปกติ ผู้ป่วยหนัก เตียง เปล รถเข็นเต็มไปหมด ไม่เพียงแต่การรอเจาะเลือด บางครั้งต้องรอผลแล็บ รอพบแพทย์ กลายเป็นว่าประชาชนเสียเวลาตลอดครึ่งเช้าไปกับการรอ” พวกเขาเล่า

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านที่ยอมทั้งพายเรือ-ขี่รถ เพราะอยากให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพ
Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านที่ยอมทั้งพายเรือ-ขี่รถ เพราะอยากให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพ

ภาพ : Labmove

นอกจากความหนาแน่นในการจัดการระบบเจาะเลือดที่ผู้ป่วยต้องมารอคิวแล้ว การเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐยังเต็มไปด้วยความลำบากด้วยปัจจัยแวดล้อมอื่น

“ผู้ป่วยบางรายอยู่ต่างจังหวัด แต่จำเป็นต้องเข้ามารักษาที่กรุงเทพฯ พอไม่มีรถส่วนตัวก็ต้องเสียเวลาเดินทางมาเข้าคิวตั้งแต่เช้า บางคนหมอนัด 2 รอบ เจาะเลือด 1 วันแล้วค่อยตรวจในวันรุ่งขึ้น ก็ต้องเสียค่าที่พักเพื่อค้างคืน 

“เราอยากแก้ปัญหานี้ อยากให้บริการสาธารณสุขเกิดความเท่าเทียม ไม่ต้องใช้อภิสิทธิ์พิเศษ ทุกคนใช้บริการเจาะเลือดที่บ้านได้ จึงเกิด Labmove ขึ้นมา” 

เจาะ ต้นกำเนิด Labmove

“พวกเราเคยทำงานเกี่ยวกับเครื่องมือการแพทย์กว่า 25 ปี พัฒนาซอฟต์แวร์ภายในโรงพยาบาล แต่ไม่ได้ใช้วิชาชีพที่เรียนมาโดยตรง จนกระทั่งหลังช่วงโควิด-19 ที่เริ่มทำ Labmove เพื่อลดความหนาแน่นในโรงพยาบาลรัฐ และเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง ผู้ป่วยสูงอายุ”

จุ้นเล่าให้ฟังว่าอาชีพนักเทคนิคการแพทย์เป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้จัก อาจเพราะชื่อที่เรียกยาก หรือความไม่แน่ชัดว่าอาชีพนี้ทำอะไร ผิดกับแพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร

ผู้ร่วมก่อตั้ง Labmove เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่า อาชีพนักเทคนิคการแพทย์เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาวงการแพทย์และเป็นผู้ให้ความรู้ด้านสุขภาพแก่ประชาชนได้ โดยการเจาะเลือดที่บ้านเป็นส่วนหนึ่งในการลดความแออัดและเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนา

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านที่ยอมทั้งพายเรือ-ขี่รถ เพราะอยากให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพ

“วิชาชีพของเราเป็นแนวหน้า (Front Line) ในการบริการประชาชน เราเรียนสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพประชาชนมาเช่นกัน น่าจะทำได้มากกว่าเพียงนำผลไปให้คุณหมอใช้ต่อเท่านั้น”

Labmove จึงเป็นบริการเจาะเลือดถึงบ้านโดยนักเทคนิคการแพทย์ที่ได้ใช้ทั้งทักษะส่วนตัว และได้ช่วยขยายอาชีพเทคนิคการแพทย์ให้มากกว่าการทำแล็บในโรงพยาบาล รวมถึงการเป็นอาจารย์ ทั้งยังใช้อาชีพนี้เลี้ยงชีพได้โดยไม่จำเป็นต้องเป็นลูกจ้างในโรงพยาบาลเพียงอย่างเดียว

“Labmove จะตกลงกับโรงพยาบาลล่วงหน้า ขั้นตอนต่าง ๆ ต้องเหมือนกับการมาเจาะที่โรงพยาบาลให้มากที่สุด ทั้งการระบุตัวผู้ป่วย การเรียงสีหลอดเจาะเลือด เจาะตามรายการตรวจ เพื่อให้ไม่ผิดพลาดและเกิดความยุ่งยากในกระบวนการทำงานของโรงพยาบาล”

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านที่ยอมทั้งพายเรือ-ขี่รถ เพราะอยากให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพ

เจาะ เลือดที่บ้าน

หลังจากนัดวัน-เวลา ผ่าน LINE ID : @labmove เรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่เหล่านักเทคนิคการแพทย์จะได้ออกโรง ซึ่งช่วงเวลาของการเจาะเลือดมักเกิดขึ้นในตอนเช้า คิวแรกประมาณ 06.00 น. ไล่ยาวไปจนเกือบ 12.00 น. ของวัน

ส่วนสำคัญของการให้บริการไม่ใช่แค่การเจาะเลือด แต่นักเทคนิคการแพทย์ต้องเตรียมใจไปเจอเส้นทางและอุปสรรคหลากหลายกว่าจะไปถึงบ้านคนไข้ด้วย 

“ส่วนใหญ่คนไข้อยู่ฝั่งธนบุรี บ้านก็จะติดริมแม่น้ำ ริมคลองเป็นหลัก บางทีต้องพายเรือเข้าไป เดินบนทางไม้แคบ ๆ หรือคนไข้เอาแพมารับก็มี” พวกเขาเล่าประสบการณ์ที่ผู้ให้บริการ (หัวใจนักผจญภัย) พบเจอ

ภาพ : Labmove

นอกจากการเดินทาง อีกความท้าทายที่รออยู่คือคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ออทิสติก คนไข้ติดเตียง หรือผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขามีร่างกายผ่ายผอม หาเส้นเลือดยาก ถือเป็นกลุ่มที่มีความลำบากในการพาไปโรงพยาบาล ทั้งบางรายยังเกิดความกลัว เช่น ผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ไม่มีความสามารถในการเข้าใจกระบวนการจึงเกิดอาการงอแง ไม่ยอมให้เจาะเลือด กลับกลายเป็นว่าพวกเขาโดนต่อว่าจนไม่อยากไปแทน

ขณะนี้ Labmove มีนักเทคนิคการแพทย์ประจำพื้นที่กรุงเทพฯ 9 คน จังหวัดเชียงราย 2 คน และไม่ประจำอีกกว่า 30 คนที่พร้อมเดินทางไปทุกที่ โดยนักเทคนิคการแพทย์ในทีมส่วนใหญ่มาจากอาสาสมัครที่เป็นทีม Swab กันมาตั้งแต่ช่วง โควิด-19 แพร่ระบาด

ภาพ : Labmove

รถยนต์ไฟฟ้าคันเล็ก ๆ หน้าตาน่ารักแบกรับสุขภาพของชาวไทยไว้บนนั้น พวกเขาใช้มันนำส่งเลือดของผู้ป่วยภายในเวลา 2 – 3 ชั่วโมงตามเกณฑ์ของโรงพยาบาล เจ้ารถเล็กคันนี้เคยต้องวิ่งไกลถึง 40 กิโลเมตร เพื่อนำส่งเลือดจากนครปฐม สมุทรสาคร กลับมายังโรงพยาบาลในพื้นที่กรุงเทพฯ

“เราพร้อมไปทุกที่ เราบอกเสมอว่าอยากให้ผู้ป่วยคุยกับเราเหมือนญาติคนหนึ่ง ซึ่งเป็นหมุดหมายในการเป็นที่ปรึกษาเรื่องสุขภาพให้กับคนไข้ของเราเอง” หนึ่งในผู้ก่อตั้งเล่า

กลายเป็นว่า Labmove ไม่ได้เพียงนำส่งหลอดเลือดไปโรงพยาบาล แต่ยังเผยแพร่ความรู้ให้ผู้ป่วยและญาติเพื่อให้เกิด ‘ความรอบรู้ทางสุขภาพ’ หรือที่ในวงการแพทย์เรียกกันว่า Health Literacy 

“อย่างแรก เราลดความแออัดในโรงพยาบาลรัฐ แต่อีกเป้าหมายของเรา คืออยากเข้าไปให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องสุขภาพ คนไทยมักรอให้ตัวเองป่วยแล้วค่อยไปหาหมอ แต่เราอยากกลับสมการ เน้นให้พวกเขาใส่ใจสุขภาพตัวเองผ่านการตรวจสุขภาพประจำปีแทน”

จุ้น-วินัย นามธง, โฆ-โฆษิต กรีพร และ บอย-สัณห์ฉัตร ศรีอรุณสว่าง ผู้ร่วมก่อตั้ง Labmove
Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านของนักเทคนิคการแพทย์ที่อยากลดความแออัดใน รพ. ให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพเท่าเทียม

เจาะ กำแพงใจ สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ

Labmove พารถยนต์คันเล็กของพวกเขาขนส่งเลือดเพื่อช่วยแก้ปัญหาคอขวดในโรงพยาบาลรัฐ สร้างภาพจำใหม่ต่อนักเทคนิคการแพทย์ว่าเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพได้ รวมถึงส่งต่อองค์ความรู้ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพให้มากกว่าการรักษาหลังป่วยไข้

แต่เพียงการขับเคลื่อนขององค์กรเล็ก ๆ แห่งเดียวไม่อาจขยับทั้งระบบสาธารณสุขของประเทศได้ พวกเขาต้องการความช่วยเหลือ และการพัฒนาจากวงการสาธารณสุขไทยให้ทุกอย่างเข้มแข็งไปพร้อมกัน

“ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศ สาธารณสุขไม่แออัดเท่าไทย เพราะมีระบบการดูแลแตกต่างกัน อย่างประเทศญี่ปุ่น มีขั้นตอนว่าการป่วยระดับไหนจะได้เข้าโรงพยาบาลระดับใด เช่น ถ้าป่วยระดับทุติยภูมิ (Tertiary Care) ถึงจะได้เข้าโรงพยาบาลใหญ่ แต่ถ้าไม่สาหัส ต้องไปโรงพยาบาลระดับตำบลหรืออำเภอก่อน ขณะที่คนไทยเข้าโรงพยาบาลอย่างเดียว”

แม้รัฐจะพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการสร้างโรงพยาบาลให้มีขนาดใหญ่ขึ้น ผลิตบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วย แต่ก็ยังเป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เพราะประเด็นหลักอยู่ที่การส่งเสริมการตระหนักรู้ด้านสุขภาพ

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านของนักเทคนิคการแพทย์ที่อยากลดความแออัดใน รพ. ให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพเท่าเทียม

“รัฐให้งบส่งเสริมป้องกันน้อย สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 1 ปีใช้เงินราว 3 – 4 แสนล้านบาทไปกับการรักษา แต่มีงบประมาณป้องกันเพียงประมาณ 2 – 3 หมื่นล้านบาท ถ้าไม่ทำงานส่งเสริมป้องกัน งบในการรักษาจะต้องเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ หากคนไข้ทะลักเข้าโรงพยาบาลเหมือนช่วงโควิด-19 ยังไงระบบก็ล่มสลายแน่นอน ไม่ว่าจะผลิตหมอแค่ไหนก็ไม่เพียงพอ

“การเจาะเลือดเป็นเพียงขั้นตอนแรกในการแก้ปัญหาคอขวด แต่จะขยับต่อไปได้ต้องเน้นเรื่องการตรวจสุขภาพประจำปี ให้เหมือนกับการขับเคลื่อนของเภสัชกร ทันตแพทย์ ที่ต่อสู้จนปัจจุบันรับยา 32 โรค ตามร้านยาได้ หรือสิทธิในการตรวจสุขภาพช่องปาก 900 บาทต่อปีที่กำลังจะขึ้นเป็น 1,200 บาท”

ความซับซ้อนของระบบก็เช่นกัน จุ้นเล่าให้ฟังว่าการตรวจสุขภาพทั่วไปของไทยมีข้อจำกัดมาก เช่น ถ้าอายุไม่เกิน 55 ปีจะตรวจเอกซเรย์ได้เพียง 1 ครั้งในชีวิต หมายความว่าถ้าเคยตรวจตอนอายุ 20 ปี จะตรวจซ้ำไม่ได้จนกว่าจะอายุ 55 ปี ณ ขณะนี้ต้องรอหลังอายุ 55 ปีจึงจะเอกซเรย์ได้ปีละครั้ง

นอกจากนี้ จุ้นเน้นยังย้ำถึงเทรนด์ของโลกที่กำลังเข้าสู่การปรับตามบุคคล (Personalized) เช่น Personalized Marketing ที่ปรับการทำการตลาดแบบเฉพาะบุคคล วงการแพทย์เองก็เช่นกัน เขาบอกว่าเราควรมีระบบการดูแลสุขภาพแบบ 1 ต่อ 1 ไม่ใช่นโยบายเดียวใช้กับประชาชนทุกคน

“ตอนนี้คนไทยมี 3 สิทธิ์ คือ สปสช. หรือบัตรทอง ประกันสังคมสำหรับพนักงานออฟฟิศ และกองทุนบำเหน็จบำนาญ กรมบัญชีกลาง ของข้าราชการ แต่ส่วนใหญ่เป็นสิทธิ์สำหรับการรักษา รัฐบาลควรมีงบกับคนไทยในการตรวจสุขภาพประจำปีแบบเจาะจงตามอายุ ตามวัย ตามโรค อย่ารอให้ประชาชนป่วย เพราะงบในการรักษามากกว่างบในการส่งเสริมป้องกัน” พวกเขาทิ้งท้าย

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านของนักเทคนิคการแพทย์ที่อยากลดความแออัดใน รพ. ให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพเท่าเทียม

เจาะ เป้าหมาย Labmove ขับเคลื่อนประเทศไทย

ขณะนี้สังคมไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว จากการคาดการณ์จะต้องมีผู้ป่วยไหลเข้าโรงพยาบาลอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดความลำบากในการพาผู้สูงอายุเข้ารักษาในโรงพยาบาลรัฐ จุ้นพูดถึงการทำงานของ Labmove ที่จะช่วยส่งเสริมการแพทย์ทางไกล (Telemedicine) ให้เกิดขึ้นจริง โดยไม่ลืมขั้น TeleLab

ก่อนหน้านี้การแพทย์ทางไกลยังทำได้ไม่เต็มรูปแบบ เพราะมีเพียงการให้คำปรึกษา ถามไถ่อาการ และส่งยาทางไกล เนื่องจากไม่มีผลแล็บของคนไข้ ดังนั้น ผลเลือดจากแล็บจึงทำให้การตรวจรักษาละเอียดกว่าเดิม

“ในอนาคตเราจะมีบทบาทมากขึ้นในเรื่องสังคมผู้สูงอายุ เพราะคนจะป่วยเรื้อรังมากขึ้น ซึ่งเป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค แต่เกิดจากพฤติกรรม เวลาพาผู้สูงอายุไปหาหมอที่นัดต่อเนื่องก็ยากลำบาก จนเรียกได้ว่าพอครอบครัวไหนป่วย 1 คน ครอบครัวนั้นก็เหมือนป่วยทั้งครอบครัว” เขาเล่าอย่างเห็นภาพ

สุดท้าย Labmove จึงไม่ใช่แค่บริการเจาะเลือดทั่วไป แต่พวกเขาเป็นตัวเชื่อมผู้ป่วยเข้ากับโรงพยาบาลให้สะดวกยิ่งขึ้น เพื่อให้เกิดเป็นการแพทย์ทางไกลอย่างครบวงจรที่ทำได้จริงขึ้นมา

Labmove บริการเจาะเลือดถึงบ้านของนักเทคนิคการแพทย์ที่อยากลดความแออัดใน รพ. ให้คนไทยเข้าถึงการตรวจสุขภาพเท่าเทียม

Facebook : Labmove

Writer

Avatar

ปณิตา พิชิตหฤทัย

นักเรียนสื่อผู้ชอบเล่าเรื่องแถวบ้าน ความฝันสูงสุดคือการเป็นเพื่อนกับแมวสามสีทุกตัวบนโลก

Photographer

Avatar

เธียรสิน สุวรรณรังสิกุล

ปัจจุบันกำลังหัดนอนก่อนเที่ยงคืน