“พอได้ยินคำว่าผ้าไหม เรานึกไม่ออกว่าจะใช้ในชีวิตประจำวันได้ยังไง”
‘ใส่ยาก เหมาะกับงานทางการ ดูสูงวัย’ ภาพจำของผ้าไหมทำให้ ออม-สุพัจนา ลิ่มวงศ์ ไม่คิดจะหยิบผ้าไหมมาแต่งองค์ทรงเครื่อง จนกระทั่ง 5 ปีก่อน มีคนแนะนำให้เธอรู้จักกับผ้าไหมไทยจากอำเภอปักธงชัย นับแต่นั้นออมก็ก่อร่างสร้างแบรนด์ละออ (La Orr) แบรนด์เครื่องประดับจากผ้าไหมไทย ที่เธออาสาเปลี่ยนภาพจำของผ้าไหมด้วยการผสานงานออกแบบเข้ากับภูมิปัญญาไทย จนคว้ารางวัลชนะเลิศ GIT’s World Jewelry Design Awards 2018 รางวัล DEmark (Design Excellence Award) ในประเทศไทย และรางวัล G-Mark (Good Design Award) ปี 2016 จากประเทศญี่ปุ่น

ถ้าอยากรู้ว่าเธอเปลี่ยนทัศนคติของตัวเอง และเปลี่ยนภาพจำของผ้าไหมจนได้รับการยอมรับได้อย่างไร มาฟังกัน

ความงามแรกพบ
ออมเรียนจบสาขาออกแบบเครื่องประดับ และทำงานประจำเป็นนักออกแบบ เธอฝันอยากมีแบรนด์ของตัวเอง แต่ยังลังเลว่าจะหยิบภูมิปัญญาไทยด้านไหนมาชูให้เด่น เพราะเธอสนใจงานคราฟต์ไทยทุกประเภท ทั้งจักสาน เซรามิก เบญจรงค์ ย่านลิเภา ถ้าจะเหมามาใช้ทำแบรนด์ทั้งหมด เกรงว่าคาแรกเตอร์ของแบรนด์จะไม่ชัดเจน จนกระทั่งร้านผ้าไหมสุรีพรแนะให้เธอเอาผ้าไหมไทยจากอำเภอปักธงชัยไปทำเครื่องประดับ แวบแรกเธอบอกเราว่า นึกไม่ออกว่าจะเอาผ้าไหมไปอยู่ในชีวิตประจำวันของคนผ่านเครื่องประดับได้อย่างไร แต่พอได้เห็นผ้าไหมผืนสวย เธอกลับเปลี่ยนความคิดและมองว่าผ้าไหมมีคาแรกเตอร์ชัดเจนมาก ทั้งสีสัน ความเงา และเทกซเจอร์ วันนั้นเป็นจุดเริ่มต้นความงามของแบรนด์ละออ

“เราเคยเป็นดีไซเนอร์มาก่อน หลังเลิกงานเราจะมานั่งทดลอง ระหว่างนั้นเราค้นตัวเองไปด้วยว่าคาแรกเตอร์เราเป็นยังไง ขณะเดียวกันก็ศึกษาวัสดุที่เราเลือก ความงามอยู่ตรงไหน เสน่ห์อยู่ตรงไหน จุดเด่นของภูมิปัญญาอยู่ตรงไหน เราใช้เวลาสามสี่ปีในการสร้างละออ เราเลยพูดได้เต็มปากว่าเป็นงานของเรามาจากมือและสมองของเราร้อยเปอร์เซ็นต์”
ความงามที่ปลายผ้า
แบรนด์ของเธอเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างออมและแม่ช่างทออำเภอปักธงชัย ด้วยเธอเรียนจบสาขาเครื่องประดับ เลยมีวิชาขึ้นตัวเรือนโลหะติดตัวมาด้วย ละออเลยเป็นแบรนด์ที่จับสีสันของผ้าไหมมาประดับแทนอัญมณี

“เราทดลองหาจุดเด่นของผ้าไหมว่ามีความแตกต่างจากผ้าแบบอื่นยังไง จนมาเจอความเหลือบที่คนไม่ค่อยชอบ ความจริงมันเกิดจากการทอของเส้นพุ่งกับเส้นยืนต่างสีกัน เวลาเอามาใช้งานเราจะใช้ผ้าไหมทอสองสี เพื่อเผยภูมิปัญญาของผ้าไหมผ่านความงามที่ปลายผ้า ถ้าปลายผ้าเป็นสีม่วงและสีเขียว แสดงว่าเกิดจากเส้นพุ่งสีเขียว เส้นยืนสีม่วง
“คู่สีมาจากแม่ช่างทอ เราไม่ได้เข้าไปเปลี่ยนอะไรเขาเลย เพราะเราอยากได้ความดั้งเดิมและรสนิยมทางศิลปะของเขา ส่วนเราเอาการออกแบบเข้าไปช่วยจัดการกับความเหลือบที่คนมองว่าใช้ยาก ให้ใส่ได้จริงในปัจจุบัน”

ไม่เพียงแค่สีเหลือบวิบวับ ออมยังเหมาผ้าสีฉูดฉาดค้างสต๊อกมาใช้แทบทั้งหมด เพราะเธอมองว่าเป็น ‘ความกล้า’ ของแม่ช่างทอ เพราะพวกเขามองแล้วว่าจับคู่สีแบบนั้น จับคู่สีแบบนี้ ต้องออกมาสวย บวกกับความยากในการทอแต่ละผืน ไม่ง่าย! คล้ายว่าเป็นงานศิลปะของช่างทอด้วยส่วนหนึ่ง เป็นงานศิลปะของเธอด้วยส่วนหนึ่ง แถมออมมองว่าเป็นอีกหนึ่งเทคนิคที่ไม่จำเป็นต้องไปเริ่มพัฒนาสินค้าเพื่อให้ช่างทอขายได้ในตลาด แต่เธอเข้าไปรักษาความออริจินัลของภูมิปัญญาและดึงออกมาเป็นจุดเด่นของแบรนด์ เพื่อให้คนทั่วไปใส่ผ้าไหมได้จริงในชีวิตประจำวันและเป็นปัจจุบัน
ความงามของนักสู้
ช่วงแรกของการทำแบรนด์เธอมีท้อบ้าง เพราะนึกไม่ออกว่าสุดท้ายจะออกมาเป็นแบรนด์ได้จริงหรือเปล่า ความเป็นตัวตนของเธอคนจะยอมรับมากน้อยแค่ไหน เครื่องประดับจากผ้าไหมคนจะเข้าใจและเปิดใจยอมรับหรือเปล่า

“เราลองสู้อีกครั้ง จากตอนแรกเราใส่ความเป็นตัวเราลงไปร้อยเปอร์เซนต์ เราเปลี่ยนมาเริ่มจากชิ้นเล็กที่สุดให้คนเข้าถึงได้ง่ายก่อน แล้วค่อยใส่ความเป็นตัวเราเยอะขึ้น เริ่มมีชิ้นใหญ่ มีชิ้นมาสเตอร์พีซที่เป็นตัวเราร้อยเปอร์เซ็นต์ เราไม่ได้สนใจว่าใครจะซื้อหรือไม่ซื้อ แต่เราอยากทำ และเริ่มมีชิ้นย่อยแตกออกมาจากชิ้นที่เป็นเราร้อยเปอร์เซ็นต์ ปรับสีให้อ่อนลง แต่ยังเป็นตัวเราอยู่ เป็นเราในขนาดเล็กลง ที่คนใส่ได้ง่ายขึ้น คงไม่มีใครอยากใส่ความเป็นตัวเรา (ออม) ตลอดเวลา”

ความงามของความพยายาม
ขณะละออกำลังเดินไปข้างหน้า ออมก็พัฒนาทักษะของเธอควบคู่ไปด้วยผ่านการลงสนามประกวด ล่าสุดเธอคว้ารางวัลชนะเลิศ GIT’s World Jewelry Design Awards 2018 ด้วยผลงาน ‘ARISE’ แนวคิดจากจันทรุปราคา
“โจทย์ของ GIT ตอนนั้นเกี่ยวกับไข่มุก เราเลยตั้งโจทย์ว่าจะทำยังไงให้ไข่มุกสวยที่สุด ส่วนตัวมองว่ามุกสวยทุกสี อยากจะใช้มุกตั้งแต่สีขาว เทา ดำ ให้ครบทุกเฉดในงานชิ้นเดียว เลยตรงกับแรงบันดาลใจเรื่องจันทรุปราคา คล้ายว่าดวงจันทร์ค่อยๆ ดับลง แล้วก็ค่อยๆ สว่างขึ้น เน้นไล่เฉดของสีไข่มุก สำคัญเลยต้องผลิตในระบบอุตสาหกรรมได้ด้วย”

ความจริงก่อนจะทำแบรนด์ ออมเฝ้าลงสนามของ GIT อยู่ 3 ปี เพื่อทดลองว่าความเป็นตัวตนของเธอจะไปด้วยกันกับระบบอุตสาหกรรมได้หรือไม่ และศึกษาเทคนิคที่เธอยังไม่คุ้นชิน โดยอาศัยความเห็นจากกรรมการผู้เชี่ยวชาญ
“จะเห็นว่างานสองส่วนของเราต่างกันมาก แต่กระบวนการคิดและกระบวนการออกแบบทุกอย่าง มันเป็นกระบวนเดียวกัน ต่างกันแค่โจทย์และวัสดุ ถ้าเป็นละออ โจทย์คือการทำผ้าไหมยังไงให้อยู่ในชีวิตของคน แต่โจทย์ GIT แต่ละปีไม่เหมือนกัน แต่ต้องผลิตในระบบอุตสาหกรรมและขายได้จริง จะเป็นแค่ข้อกำหนดที่ไม่มีในละออ แต่มีในการประกวด

”มันเป็นเช็กพอยต์ของเราด้วย เวลาเราไปทำงานขายจริงเรามักจะมีโจทย์ในใจว่าเราจะทำอะไร แล้วเราเช็กพอยต์ได้ตรงหรือเปล่า งานประกวดเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำอย่างอื่น ยิ่งกรรมการเลือกผลงานเรายิ่งเสริมความมั่นใจว่าเราสื่อสารได้ ต่อให้เขาให้โจทย์มายังไง สำคัญคือ มันต้องมีคาแรกเตอร์เราอยู่ในงานผ่านกระบวนการออกแบบด้วย”
ความงามจากธรรมชาติ
การออกคอลเลกชันของละออ เธอมองสิ่งใกล้ตัวจากธรรมชาติ ลองเอามาผสมผสานสร้างเป็นแรงบันดาลใจ ที่เน้นรูปธรรมเป็นหลัก เพื่อสื่อสารให้ลูกค้าเข้าใจง่าย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ ผีเสื้อสีสวย ตัวด้วงตาเดียว (ตามจินตนาการ)
เราขออาสาเราเล่า 6 คอลเลกชันสนุก เต็มไปด้วยจินตนาการและสีสันฉูดฉาดดึงดูดสายตา
คอลเลกชันแรกเธอเปิดตัวด้วย Blossom Ballet เป็นเครื่องประดับชิ้นเล็ก แรงบันดาลใจจากดอกไม้ที่ห้อยอวดโฉมอยู่ตามต้นไม้ ตัวเรือนก็น้ำหนักเบา ทำให้ใส่ได้บ่อย รับรองว่าไม่มีเบื่อ! ส่วน Overwhelm คอลเลกชันที่ได้แรงบันดาลใจจากขนนก กำลังสะบัดปีกโบยบิน บางชิ้นเธอแอบใส่ขนนกเพิ่มความสมจริงไปด้วย สีสันของผ้าไหมก็อิงมาจากสีของพันธุ์นกหลายชนิด แถมการันตีด้วยรางวัล G-Mark (2016) จากประเทศญี่ปุ่น ขอต่อด้วย Sense เน้นความงามของสรีระผู้หญิง โทนสีอ่อนละมุนเหมือนสีผิวอมชมพูของหญิงสาว แต่ถ้าคนชอบสีจัดจ้านต้องคอลเลกชัน Orchid Traps ดึงสีมาจากดอกกล้วยไม้ มาหมดทั้งสีม่วง สีชมพู ตัดกับตัวเรือนสีทอง ยิ่งสวยน่าจับจอง แต่งตัวเรียบง่ายแล้วใส่สร้อยคอสักเส้น เก๋!

ก่อนจะทำความรู้จักกับคอลเลกชันใหม่ล่าสุด ขอชวนชม Horizon เครื่องประดับเลียนแบบคลื่นทะเลที่มีแสงอาทิตย์ตกดินพาดผ่าน ท้องผ้าสีวานิลลาสกายถูกแทนที่ด้วยผ้าไหมทอมือสีสวย ด้วยตัวเรือนสีดำยิ่งขับให้ผ้าไหมดูเจิดจ้า

ล่าสุดเธอนำเสนอความเชื่อของคนไทยผ่าน ‘แมลง’ ยกทัพตัวด้วงและผีเสื้อที่มีความหมายดีมาล่อตาล่อใจ แต่หน้าตาของแมลงจะเปลี่ยนใจตามจินตนาการของเธอ ขอเพิ่มหินแท้เข้าไปอีกหน่อยเพื่อเสริมความโชคดีและเสริมสิริมงคล

ความงามจากภูมิปัญญาไทย
ละออ มาจากคำศัพท์ภาษาไทย มีความหมายว่า ‘งาม’
“เราอยากใช้รากของภาษาไทย เพราะเราทำงานจากวัสดุไทย ต่อไปถ้าเป็นวัสดุอื่นก็ต้องมาจากภูมิปัญญาและท้องถิ่นไทย เลยใช้คำว่า ‘ละออ’ เรามองว่าเครื่องประดับเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่ามันต้องมีความงามอยู่ งามในแบบของเรา งามในแบบที่ยังมีเซนส์ของความเป็นไทย และการทำงานกับผ้าไหมของเราก็เปลี่ยนไป ขณะเดียวกันเราก็นำเสนอมุมมองใหม่ของผ้าไหมมากขึ้นด้วย ผ้าผืนหนึ่งเราใช้คุณค่าของมันอย่างเต็มผืน การทอของเขาที่ทำมาไม่ได้เสียเปล่าเลย”
แม้ครั้งแรกของการสัมผัสผ้าไหมเธอจะไม่กล้าจับ ไม่กล้าพับ และไม่กล้าตัด กว่าจะทอได้แต่ละผืนล้วนใช้เวลา นับจากวันที่เธอเข้าใจและเปลี่ยนทัศนคติ เธอกล้าตัดผ้าไหม กล้าทำทุกอย่างกับผ้ามากขึ้น เพราะเธอไม่ได้ทำให้ผ้าเสียหาย เพียงแต่นำเสนอความงามในมุมมองใหม่ ที่สำคัญ เธอใช้ทุกส่วนของผ้า เหลือผ้าน้อยที่สุดและใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุด
“งานของเรามีคนใส่ตั้งแต่วัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ เพราะสีและโครงสร้างถูกทอนมาแล้ว ทำให้ผ้าไหมเข้าสู่วงกว้างมากขึ้น การที่วัยรุ่นจะจับผ้าไหมมาใส่สักชิ้น มันยากมาก แต่ตอนนี้ไม่ได้มีทัศนคติตรงนั้นมาปิดแล้วในส่วนของการทำละออ คนมองว่าเราเป็นเครื่องประดับที่ใส่ได้และคุณค่าของผ้าไหมยังอยู่” เจ้าของแบรนด์เล่าด้วยความภูมิใจในภูมิปัญญา

ในปีนี้การประกวดออกแบบเครื่องประดับและพลอยเจียระไนได้จัดพิธีมอบรางวัลในงานเทศกาลนานาชาติ ‘พลอยและเครื่องประดับจันทบุรี (International Chanthaburi Gems and Jewelry Festival 2019)’ เป็นครั้งแรก
จัดขึ้นโดย GIT หรือสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด ‘Power of Gemstones and Jewelry’ ระหว่างวันที่ 4 – 8 ธันวาคม 2562 พร้อมจัดนิทรรศการแสดงผลงานและผลิตภัณฑ์จากช่างฝีมือ ตลอดจนผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือก ณ บริเวณศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมทาง changemsfest.com