บริษัทเล็ก ๆ แห่งหนึ่งในเกียวโตโดน Disrupt อย่างรุนแรง ผู้บริโภคยุคใหม่แทบไม่มีใครอยากได้หรือต้องการชุดกิโมโนอีกแล้ว 

ครั้งนี้ เราจะตามไปดูกันว่า 1 ในบริษัท 3 แห่งที่รับย้อมผ้ากิโมโน และยังเหลือรอดจนถึงทุกวันนี้ เขาปรับตัวอย่างไร 

‘Kyoto Montsuki’ ก่อตั้งเมื่อปี 1915 ในเมืองเกียวโต เมืองเก่าแก่ที่มีจำนวนบริษัทร้อยปีมากที่สุดในญี่ปุ่น 

ในอดีต ธุรกิจหลักของ Kyoto Montsuki คือการรับย้อมผ้ากิโมโนให้เป็นสีดำ สมัยก่อนคนญี่ปุ่นทุกคนจะมีกิโมโนแบบทางการสีดำอย่างน้อย 1 ชุด ซึ่งมีตราประจำตระกูลพิมพ์อยู่ ทาง Kyoto Montsuki จะรับผ้ากิโมโนจากร้านทอผ้ามาย้อม แล้วค่อยส่งต่อให้ร้านที่รับตัดกิโมโนต่อไป

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
ภาพ : wingsandhorns.com

กิจการย้อมกิโมโนเติบโตอย่างดีมาโดยตลอด ช่วงที่รุ่งเรืองที่สุดคือเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน อุตสาหกรรมย้อมกิโมโนนี้มียอดขายรวม 1.2 หมื่นล้านเยน แต่ปัจจุบันตลาดกลับหดเล็กลงเหลือเพียงไม่ถึง 10 ล้านเยนเท่านั้น 

สาเหตุหลักคือคนญี่ปุ่นไม่ค่อยใส่กิโมโนในชีวิตประจำวันแล้ว แต่หันไปใส่ชุดแบบตะวันตก เช่น ชุดเดรส ชุดสูท ในงานทางการมากขึ้น ส่วนคนที่ต้องใส่กิโมโนก็ใช้วิธีเช่าเอา

ความเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรมผู้บริโภคนี้กระทบกับบริษัทที่ย้อมผ้ากิโมโนโดยรวม จากแต่ก่อน สมาคมย้อมผ้าดำแห่งเกียวโตมีสมาชิกกว่า 130 บริษัท ปัจจุบันมีเพียงแค่ 3 บริษัทเท่านั้นที่ยังทำธุรกิจนี้อยู่ 

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
ภาพ : wingsandhorns.com

วิธีเดิม เปลี่ยนตลาดใหม่

ตระกูลอารากาวะ ผู้ก่อตั้งบริษัท Kyoto Montsuki เริ่มกังวลว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ธุรกิจนี้จะไปรอดหรือไม่ ท่านประธานอารากาวะรุ่นสามเริ่มสังเกตเห็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจ กล่าวคือ มีลูกค้ามาขอให้ทางร้านช่วยย้อมเสื้อเชิ้ตหรือชุดเดรสเป็นสีดำ แม้จำนวนออร์เดอร์จะไม่มาก มีเพียงปีละ 1 – 2 ครั้ง แต่ท่านประธานรุ่นสามก็คิดว่าน่าลองทำเป็นธุรกิจดู 

การย้อมใหม่ จากเสื้อสีแดงกลายเป็นเสื้อสีดำสวยแบบญี่ปุ่น
ภาพ : k-rewear.jp

เทคนิคการย้อมเฉพาะแบบของ Kyoto Montsuki ทำให้เสื้อสีดำออกมาเป็นสีดำสนิทไม่เหมือนใคร 

เมื่อออร์เดอร์เริ่มมากขึ้น บริษัทจึงพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้ามากขึ้น ลูกค้าเลือกประเภทเสื้อผ้าที่จะย้อมได้ จากนั้นกดเลือกวัสดุ ต้องการบริการรีดผ้า-อัดจีบหรือไม่ เมื่อกรอกรายละเอียดทั้งหมดเสร็จ ก็พรินต์ใบออร์เดอร์และส่งผ้าไปที่บริษัท Kyoto Montsuki ได้เลย เมื่อบริษัทย้อมเสร็จก็จะส่งคืนกลับมา

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
มีราคาบอกชัดเจน
ภาพ : k-rewear.jp

ขยายสู่แบรนด์ระดับโลก

เมื่อเริ่มจับทางตลาดได้ Kyoto Montsuki ก็ไม่หยุดอยู่แค่เป็นบริษัทรับย้อมผ้าเป็นสีดำ พวกเขาต่อยอดเทคนิคการย้อมผ้าแบบเดิม และค้นหาวิธีย้อมผ้าให้เป็นสีดำสวยยิ่งขึ้นไปอีก 

ปกติแล้ว ผ้าสีดำจะดูดแสง 3 สี คือแสงสีเขียว แดง น้ำเงิน แต่จะมีสะท้อนสีบางส่วนกลับไปบ้าง ทำให้แม้จะเห็นเป็นสีดำก็จริง แต่ก็ไม่ได้ดำสนิทเสียทีเดียว 

แต่หากใช้วิธี ‘Shinkuro’ เทคนิคใหม่ที่บริษัทคิดค้นขึ้น ผ้าจะไม่สะท้อนแสงสีอื่นออกมา สีในแสงจะถูกดูดไปหมด ไม่มีการสะท้อนแสงสีอื่น ๆ กลับไป ทำให้ตามนุษย์เห็นผ้าเป็นสีดำขลับจริง ๆ (ความลับของบริษัทคือมีส่วนผสมลับที่ทำให้ดูดแสงทั้งหมดได้)

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
ด้านซ้ายคือผ้าที่ผ่านการย้อมแบบ Shinkuro ด้านขวาคือผ้าสีดำทั่วไป
ภาพ : k-rewear.jp

เมื่อ Kyoto Montsuki เริ่มสื่อสารเทคนิค Shinkuro นี้ออกไป ก็มีแบรนด์แฟชั่นชื่อดังทั้งในญี่ปุ่นและในต่างประเทศติดต่อขอให้บริษัทช่วยย้อมเสื้อผ้าให้ อาทิ Champion, ISSEY MIYAKE, Vivienne Westwood, Jil Sander, URBAN RESEARCH จนเป็นที่ลือกันในวงการแฟชั่นว่า ‘มีบริษัทเก๋ ๆ ในญี่ปุ่นที่รับย้อมแต่สีดำ’

นอกจากนี้ ห้างหรูในญี่ปุ่น เช่น อิเซตัน ฮันคิว ก็ชวน Kyoto Montsuki ไปออกอีเวนต์ โดยชวนลูกค้าที่มาเดินห้างนำเสื้อผ้าเก่ามาย้อมสีดำเพื่อแปลงให้เป็นชุดใหม่

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง

ภาพ : mistore.jp

นอกจากการคิดค้นเทคนิคย้อมสีดำให้ลึกขึ้น ดำขึ้นแล้ว ทาง Kyoto Montsuki ยังหาวิธีย้อมผ้าแบบใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ย้อมแบบมัดย้อม ย้อมแบบไล่สี

Kyoto Montsuki กับกลยุทธ์ทำให้บริษัท 108 ปีที่เคยรับย้อมแค่กิโมโนสีดำอยู่รอดและรุ่ง
ย้อมแบบไล่สี
ภาพ : kmontsuki.co.jp
การปรับตัวของบริษัทรับย้อมกิโมโน สู่แนวหน้าเรื่องความยั่งยืนที่ร่วมงานกับ Champion, ISSEY MIYAKE, Vivienne Westwood
ย้อมแบบมัดย้อม ทำให้ผ้าดูเหมือนมีเงาส่องจากแสงอาทิตย์
ภาพ : kmontsuki.co.jp

ก้าวสู่การทำ SDGs (เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน)

ในญี่ปุ่นมีการบริโภคปีละ 2.5 ล้านตัน แต่มีเสื้อผ้าเกือบ 2 ล้านตันที่ถูกทิ้งภายในเวลาเพียงแค่ครึ่งปีเท่านั้น นอกจากนี้ จากกระแสของ Fast Fashion หรือการผลิตเสื้อผ้าทีละหลายแบบ ผลิตทีละมาก ๆ เมื่อหมดฤดูกาลหรือเสื้อผ้าคอลเลกชันนั้นขายไม่ออก ก็จะถูกกำจัดทิ้งเป็นปริมาณปีละกว่า 1 ล้านตันเลยทีเดียว 

ทาง Kyoto Montsuki จึงเริ่มมุ่งมั่นสื่อสารเรื่อง ‘Re-wear’ หรือการนำเสื้อผ้าเก่ามาย้อมใหม่เพื่อใส่อีกครั้ง อาจเป็นเสื้อที่เคยเลอะเป็นรอย เสื้อเก่าคราบเหลืองแล้ว แต่เพียงแค่ย้อมใหม่ ก็จะได้เสื้อสีดำเท่ ๆ กลับมาใส่ได้อีก 

การปรับตัวของบริษัทรับย้อมกิโมโน สู่แนวหน้าเรื่องความยั่งยืนที่ร่วมงานกับ Champion, ISSEY MIYAKE, Vivienne Westwood
ภาพ : magazine.shindo.com

ทางบริษัทร่วมกับบริษัทแฟชั่น ตลอดจนห้างร้านต่าง ๆ ในการกระตุ้นและสื่อสารเรื่องนี้ เพื่อให้ผู้บริโภคญี่ปุ่นถนอมการใช้เสื้อผ้าให้อยู่ได้นาน ๆ 

จากบริษัทที่เคยโดนผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของลูกค้า ปัจจุบัน Kyoto Montsuki กลายเป็นบริษัทแนวหน้าที่ออกมาพูดเรื่องความยั่งยืน และร่วมกับแบรนด์ระดับโลกในการนำเสนอความงดงามของสีดำต่อไป 

การปรับตัวของบริษัทรับย้อมกิโมโน สู่แนวหน้าเรื่องความยั่งยืนที่ร่วมงานกับ Champion, ISSEY MIYAKE, Vivienne Westwood
ภาพ : mistore.jp

Writer

Avatar

เกตุวดี Marumura

อดีตนักเรียนทุนรัฐบาลญี่ปุ่นผู้หลงใหลในการทำธุรกิจแบบยั่งยืนของคนญี่ปุ่น ปัจจุบัน เป็นอาจารย์สอนการตลาดที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย