ขวัญจิต ศรีประจันต์ ผ่านชีวิตมา 76 หน้าฝน อยู่ในแวดวงศิลปินตั้งแต่ยุควิทยุกระจายเสียง เป็นโฆษกรายการวิทยุ แม่เพลงพื้นบ้าน หมอทำขวัญนาค นักแสดงแหล่ประกอบการเทศน์มหาชาติ นักร้องลูกทุ่ง ดาราภาพยนตร์ ดาราละคร จนถึงยุคแพลตฟอร์มดิจิทัล เรายังเห็นแม่ขวัญจิตเป็นนักร้องต้นฉบับรายการโชว์ นักร้องรับเชิญ ขับขานเพลงพื้นบ้าน Featuring ขึ้นเวทีคอนเสิร์ตกับนักร้องรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นศิลปินแห่งชาติ ในตำนานที่ทำให้เรายังไม่ลืมเพลงอีแซว เพลงฉ่อย และเพลงพื้นบ้านอื่น ๆ

The Cloud ชวนแม่ขวัญจิตมาเล่าเรื่องชีวิต 6 ทศวรรษของการสืบทอดเพลงพื้นบ้านข้ามกาลเวลา และส่งต่อความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์เพื่อต่อลมหายใจเพลงพื้นบ้าน แม้พ้นวัยเกษียณก็ยังไม่หยุดสืบสานตำนานเมืองดนตรี

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
ขวัญจิต ศรีประจันต์

ชีวิตแรกสาว ทำนา หัดเพลง รับจ้างดัดผม

ขวัญจิต ศรีประจันต์ มีชื่อเดิมว่า เกลียว เสร็จกิจ เกิด พ.ศ. 2490 ที่บ้านลาดป่อง ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นลูกสาวคนโตของ พ่ออัง กับ แม่ปลด มีน้องสาวฝาแฝดอายุอ่อนกว่า 3 ปี ชื่อ บุญนะ กับ จำนงค์ (ขวัญใจ ศรีประจันต์) ครอบครัวมีอาชีพทำนา เมื่อเรียนจบประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดพังม่วงแล้วไม่ได้เรียนต่อ ออกมาช่วยเตี่ยกับแม่ทำนา

พ.ศ. 2504 พ่อไสว วงษ์งาม และ แม่บัวผัน จันทร์ศรี พ่อเพลงแม่เพลงอีแซวมาขอน้องสาวฝาแฝดไปหัดเพลงอีแซว เกลียวอยากเรียน แต่พ่อไสวไม่รับ เพราะโตเป็นสาวแล้ว ด้วยความมุ่งมั่นอยากหัดเพลงอีแซว เกลียวไม่ลดละความพยายาม อาสาเตี่ยกับแม่ไปช่วยดูแลน้องที่บ้านพ่อไสว ทำงานในครัวไปก็คอยเงี่ยหูฟังการสอนและจดจำการต่อเพลง นอกจากงานดูแลน้องแล้ว ยังช่วยครอบครัวทำนา ไปเรียนดัดผมและหารายได้ด้วยการตระเวนดัดผมตามบ้าน

“ผมสั้นหัวละ 10 บาท ผมยาว 15 บาท เอาอุปกรณ์ใส่ตะกร้า ขี่จักรยาน หากเตี่ยใช้จักรยานไปธุระ เราก็ต้องเดินไปตามคันนา สมัยนั้นคนดัดผมกันช่วงใกล้เทศกาล ตรุษสงกรานต์มากหน่อย ช่วงใกล้เข้าพรรษามีบ้าง ส่วนมากจะชอบดัดช่วงก่อนออกพรรษาเพื่อจะได้ไปงานลอยกระทง ปีใหม่ บ้านนี้ได้แล้ว 10 คน ก็ฟรีให้ 2 คน” เกลียวเล่าบรรยากาศในยุคนั้นให้ฟัง

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
บ้านเกิด เกลียว เสร็จกิจ อยู่ตำบลวังน้ำซับ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี ข้างวัดพังม่วง

“ระหว่างทำกับข้าว เขาก็ร้องละ ตี 5 ต้องส่งเสียงร้อง ครูเขาสอน มันก็ไม่ยากนี่นา เราก็จำ” เกลียวบอกว่า นอกจากเรียนรู้การเล่นเพลงอีแซวด้วยตนเองจากการเงี่ยหูฟังแล้ว ลูกสาวแม่บัวผันเห็นความมุ่งมั่น จึงอาสาช่วยสอนทั้งการร้องและท่วงท่าการรำให้

2 ปีให้หลัง เกลียวไปดัดผมนักแสดงที่เตรียมตัวเล่นงานกฐินที่บ้านแม่บัวผัน เป็นจังหวะที่ตัวแสดงไม่ครบ แม่บัวผันจึงชวนให้ขึ้นเวทีเป็นครั้งแรก

“เสื้อครูเป็นคนเย็บ โจงกระเบนของครู ตัวเล็กมาก ในวันนั้นก็เกิด หลังจากงานแรกก็มีคนชวนมาเล่นเรื่อย ๆ ได้รับค่าจ้าง 50 บาท ดีกว่าดัดผม 50 ต้องดัด 5 หัว ต้นทุน 20” สาวเกลียวเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

เกลียวตระเวนเล่นเพลงอีแซวกับอีกหลายคณะ จนชื่อเสียงเริ่มขจรขจายโด่งดังในสุพรรณบุรีและจังหวัดใกล้เคียง

“แถบพนมทวน บ่อพลอย เมืองกาญจน์ เขาให้ฉายาว่า สร้อยเกลียว หาคณะไหนก็ตามเถอะต้องให้มีสร้อยเกลียว พอไปเล่น แฟนเพลงก็ทักทายต้อนรับอย่างดี ถ้าแถบบางระจันเขาเรียก สามเกลียว ถ้าไปทางพนมทวน บ่อพลอย กลับมาได้รางวัลถึง 500 เลยนะ ค่าตัวเป็นร้อยแล้ว ซื้อจักรยานได้ ซื้อวิทยุได้” 

สมัย พ.ศ. 2506 – 2507 สาวเกลียววัย 16 – 17 มีรายได้ 500 – 600 บาทต่อการแสดง ชีวิตความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น ทิ้งอาชีพช่างดัดผม แต่ยังช่วยครอบครัวทำนา ผัดก๋วยเตี๋ยวใส่กระทงขายตามงานวัด เวลาไปทำนา สาวเกลียวจะเปิดวิทยุ ฟังรายการเพลงลูกทุ่งและละครวิทยุ จินตนาการถึงชีวิตคนเมือง คิดอยากเข้ากรุงเทพฯ มาประกวดร้องเพลง แต่ตั้งใจบวชทดแทนพระคุณเตี่ยกับแม่ก่อน

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

ประกวดร้องเพลงในชื่อ ‘สกุณา ป่าเลไลยก์’

พ.ศ. 2509 สาวเกลียววัย 19 บวชชี 1 พรรษาที่วัดป่าเลไลยก์ ระหว่างบวชได้เรียนรู้การเทศน์มหาชาติ การทำขวัญนาคจากพระชื่อ หลวงน้าทองใบ

หลังสึก เกลียวได้ฟังประกาศจากสถานีวิทยุฯ ยานเกราะ จัดประกวดร้องเพลงชิงรางวัลขันน้ำพานรอง จึงขอให้อาช่วยพาเข้ากรุงเทพฯ ไปที่สถานีฯ ยานเกราะ การประกวดใช้วิธีร้องบันทึกเสียงผู้เข้าประกวดทั้งหมดแล้วออกอากาศภายหลัง 

เกลียวกับจำนงค์ น้องสาว ใช้ชื่อในการประกวดว่า สกุณา-สกุณี ป่าเลไลยก์ จำรัส วิภาตะวัต หัวหน้าสถานีวิทยุฯ ยานเกราะ เห็นว่าหน่วยก้านดีจึงบอกสองพี่น้องว่าไม่ต้องชิงรางวัล จะให้เป็นนักร้องวงดนตรีลูกทุ่งของ จำรัส สุวคนธ์ (น้อย)

“ตอนนั้นคิดแค่ว่าจะมาประกวดร้องเพลงเอาขันน้ำพานรอง มีชื่อเสียงแล้วคนจะได้มาว่าจ้างให้ไปร้องเพลงอีแซว อยากไปเที่ยวกรุงเทพฯ ยังไม่ได้คิดว่าต้องทิ้งครู คิดว่าหลังสงกรานต์ไม่ค่อยมีคนจ้างเล่นเพลงอีแซว กว่าจะมีงานอีกทีช่วงออกพรรษา เราก็มาร้องเพลงในกรุงเทพฯ วิ่งไปวิ่งมา”

“ฉันคุยกับหัวหน้าวงเรื่องตั้งชื่อ นักร้องดังยุคนั้นที่มาจากสุพรรณ มี ก้าน แก้วสุพรรณ, ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เลยตั้งนามสกุลตามบ้านเกิดก่อนว่า ‘ศรีประจันต์’ แล้วมาคิดชื่อว่าต้องมีตัว จ จาน ให้คล้องจอง ฉันตั้งชื่อตัวเองว่า ‘ขวัญใจ’ แต่น้องจะเอาชื่อนี้ ฉันเลยใช้ชื่อว่า ‘ขวัญจิต’ เป็น ‘ขวัญจิต-ขวัญใจ ศรีประจันต์’ นับตั้งแต่นั้น”

พ.ศ. 2510 ห้างแผ่นเสียงจ้างอัดเพลง เบื่อสมบัติ เป็นเพลงแรก ในชื่อ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แก้กับเพลง แบ่งสมบัติ ของ ไวพจน์ เพชรสุพรรณ เพลง รอพี่กลับจากเวียดนาม แก้เพลง ลาน้องไปเวียดนาม โดยยังไม่รู้จักตัวจริงของไวพจน์

“ช่วงที่มาเป็นนักร้อง พักอยู่บ้านแม่ยายของป๋าจำรัส แถวบ้านพานถม หน้าวังหม่อมเจ้าปิยะ หลังวัดตรีทศเทพ บางลำพู ได้ไปเที่ยววัดบวรที่แรก ป๋าจำรัสมีกับข้าวไปหาหลวงพ่อ – สังฆราชเจริญ เรื่อย ๆ ได้กินข้าวก้นบาตรท่าน แล้วพูดเหน่อกัน ท่านเหน่อกว่าเราอีก เหน่อพนมทวนน่ะนะ”

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
ขวัญใจ-ขวัญจิต ศรีประจันต์

แม้จะเริ่มมีชื่อเสียง เป็นนักร้องลูกทุ่งที่มีคนรู้จัก ขวัญจิตยังคงทำงานทุกอย่างเพื่อหารายได้ ยามว่างทำงานเป็นผู้ช่วยช่างที่ร้านทำผมในละแวกที่พัก ไปรับจ้างเป็นหุ่นโรงเรียนเสริมสวยเกศสยาม ได้เงินวันละ 20 บาทตามที่เพื่อนบ้านชักชวน วันหวยออก ติดตามคนในย่านนั้นไปโรงพิมพ์ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ซอยวรพงษ์ ใกล้วัดตรีทศเทพ รับจ้างใส่เรียงเบอร์ลงในหนังสือพิมพ์

“ตลกวงป๋าจำรัสบอก ป๊ะ (กำพล วัชรพล) ว่า นี่ไงป๊ะ นักร้องขวัญจิต ศรีประจันต์ แหล่เก่งอย่างนั้นอย่างนี้ ป๊ะเขาก็ถาม ไหนลองร้องให้ฟังซิ ฉันก็ร้อง เขาถาม เพลงอีแซวร้องได้ไหม ฉันก็ร้อง เพลงฉ่อยล่ะ ลิเกล่ะ แล้วก็ร้องทำขวัญนาค ป๊ะให้เงินตั้ง 500 โอ้โฮ! วันหวยออกไม่อยากไปงานแล้ว อยากจะมา ไทยรัฐ ถ้าป๊ะอยู่ ได้ ถ้าป๊ะไม่อยู่ก็ได้ 20 – 30 หัวหน้ากองเขาให้”

เริ่มดังออนแอร์ เป็นโฆษกจัดรายการสถานีวิทยุฯ ยานเกราะ

นอกจากเป็นนักร้องลูกทุ่งวงจำรัส สุวคนธ์ (น้อย) แล้ว จำรัส วิภาตะวัต หัวหน้าสถานีวิทยุฯ ยานเกราะยังสนับสนุนให้เป็นโฆษกจัดรายการเพลง โฆษณาสินค้าด้วย

“ชาวบ้านสมัยก่อนไม่มีทีวีดู เวลาไปทำนาจะพกวิทยุฟังรายการเพลง แล้วเขียนจดหมายมาหาโฆษก ขอเพลง เราจัดรายการ จะตอบจดหมาย เล่าเรื่องของตัวเองให้แฟนเพลงฟัง เปิดเพลงที่แฟนเพลงขอมามาก เช่น เพลง เด็กท้องนา ของ ละอองดาว-สกาวเดือน เพลงของ เตือนใจ บุญพระรักษา, ผ่องศรี วรนุช

“วันเสาร์-อาทิตย์ ทางสถานีมีรายการสดทั้งดนตรีลูกทุ่ง โขน ละคร เราก็ต้องคอยพูดหัวรายการ บางทีก็ร้องเพลงอีแซวว่าจบไปแล้วนะ ลิเกคณะนั้นคณะนี้ ต่อไปจะชมโขน ชมอะไร บางทีก็ร้องโขน

“สมัยนั้นโฆษกดังเท่า ๆ กับนักร้อง เวลาไปขึ้นเวที มีแฟนเพลง มีของขวัญ มาลัย พอกับนักร้องดัง แต่ไม่มีใครได้เท่ากับครูสุรพลนะ”

ช่วงเวลานั้น สุรพล สมบัติเจริญ และ ก้าน แก้วสุพรรณ คือ 2 นักร้องลูกทุ่งสายเลือดสุพรรณฯ ที่โด่งดังที่สุด โดยเฉพาะสุรพล ได้รับฉายาว่า ‘ราชาเพลงลูกทุ่ง’

หลังจากเข้ามาอยู่กรุงเทพฯ ขวัญจิตเริ่มมีชื่อเสียงจากการเป็นโฆษกและนักร้องอัดแผ่น มีเพลงติดหู แต่ยังเดินทางไปมากรุงเทพฯ – สุพรรณบุรี เพราะคนว่าจ้างครูเล่นเพลงอีแซว เจาะจงให้ขวัญจิต ศรีประจันต์ มาเล่นเป็นแม่เพลงอีแซว

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

กำเนิด กับข้าวเพชฌฆาต เพลงประจำตัว จากขนบเพลงอีแซว

พ.ศ. 2512 จุดเปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญ จำรัส สุวคนธ์ (น้อย) ยุบวง ขวัญจิตย้ายมาอยู่วงดนตรีไวพจน์ เพชรสุพรรณ ขึ้นเวทีการแสดงร้องเพลงคู่กันตลอด ทำให้ต้องตัดขาดจากงานเพลงอีแซวที่สุพรรณบุรี เพลงฮิตของทั้งคู่ เช่น หน้าด้านหน้าทน-เกลียดคนหน้าด้าน แบ่งสมบัติ-เบื่อสมบัติ

พ.ศ. 2513 เริ่มเข้าสู่ยุคเพลงเทปแคสเซ็ต ขวัญจิตขอให้ ครูจิ๋ว พิจิตร แต่งเพลงตามขนบเพลงอีแซว คือ กับข้าวเพชฌฆาต ซึ่งกลายเป็นเพลงประจำตัวของขวัญจิตจนทุกวันนี้

…ผัดเผ็ดแมวดำ ต้มยำช้าง
เฮ้ย แกงจืดเนื้อค่าง กับกอไผ่
ฉู่ฉี่คางคก ล่ะทั้งจิ้งจกปิ้ง
ทั้งตุ๊กแกผัดขิง ลิงยัดไส้
ลูกปืนแกงส้มรสกลมกล่อม
เกาเหลาลูกบอมบ์ใส่หอมหัวใหญ่…

“เพลงนี้ชอบ เป็นเพลงฉ่อย เพลงอีแซวที่ครูเขาเล่นกันอยู่ ชุดหนึ่งเขาเรียกตับ ตับเข้าบ้านจะร้องตั้งแต่พบเจอ เกี้ยวพาราสี ผู้ชายมาเที่ยวบ้าน หรือร้องชมนกชมไม้ก็แล้วแต่ ชวนขึ้นบ้าน ชวนกินข้าว กินหมาก แล้วก็ไป… นั่นแหละ ร้องแก้กันตลอด แต่บทเพลงเหล่านี้ออกอากาศไม่ได้ มันแดง เลยเล่า บอกแนวเพลงให้ครูจิ๋ว พิจิตร ช่วยแต่งให้หน่อย เดี๋ยวเดียวก็เสร็จออกมา” ขวัญจิตเล่า

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

คำว่า ‘แดง’ ที่แม่ขวัญจิตพูด คือ ‘กลอนแดง’ หมายถึง กลอนในเพลงพื้นบ้านที่มีคำกล่าวถึงอวัยวะเพศหรือพฤติกรรมทางเพศ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติสำหรับการละเล่นเพลง เมื่อนำเพลงพื้นบ้านมาประยุกต์เป็นเพลงลูกทุ่งจึงมีการปรับคำ

กับข้าวเพชฌฆาต นายห้างขายแคสเซ็ตเทปอยู่หลังวัดตรีทศเทพสมัยนั้นจ้างร้อง ทำเทปขายที่ลาว ขายดีมาก เราเอาชื่ออาหารกับท่วงทำนองจากเพลงพื้นบ้าน เล่นได้ทั้งเพลงอีแซวหรือเพลงฉ่อย แล้วแต่ว่าเราเอาทำนองไหน เวลาเล่นเพลงแสดงจะเล่าเรื่องยาว ผู้หญิงทำอาหารให้กินแล้วผู้ชายก็ติติง

“คำว่า หมาไม่แดก ไม่รู้ว่าจะมาจากเพลงพื้นบ้านหรือเปล่า มันอยู่ในเพลงฉ่อย เพลงอีแซว ผู้ชายติผู้หญิงว่า ทำกับข้าวก็หมาไม่แดก ทะเลาะกัน แล้วก็ร้องแก้เพลงกัน”

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

ร้องเพลง อัดแผ่น เล่นหนัง ตั้งวงดนตรี เปิดร้านอาหาร

ช่วง พ.ศ. 2512 – 2515 เป็นช่วงชีวิตที่ขวัญจิต ศรีประจันต์ โด่งดังเป็นพลุแตก 

หลังอยู่วงไวพจน์ได้ประมาณ 2 ปี ไวพจน์ เพชรสุพรรณ แนะนำให้ขวัญจิตตั้งวงดนตรีลูกทุ่ง เตรียมการอยู่ 6 เดือน ออกแสดงงานแรกที่วัดรวก สามแยกไฟฉาย ไวพจน์ช่วยดูเงื่อนไขการรับงาน ให้คำแนะนำการจัดการวงดนตรี และการเรียกค่าจ้างวง

จากความสำเร็จของภาพยนตร์เพลง มนต์รักลูกทุ่ง ที่ออกฉายใน พ.ศ. 2513 มีการเดินตามรอยสร้างภาพยนตร์เพลงที่ดารานักแสดงขับร้องเพลงประกอบในเรื่อง ระหว่าง พ.ศ. 2514 – 2515 ซึ่งขวัญจิต ศรีประจันต์ ได้แสดงภาพยนตร์เพลงนับ 10 เรื่อง มีเรื่อง จำปาทอง ลมรักทะเลใต้ ไอ้ทุย กลัวเมีย วิวาห์ลูกทุ่ง บุหงาหน้าฝน ฯลฯ ทุกเรื่องรับบทเป็นเพื่อนนางเอกและขับร้องเพลงประกอบภาพยนตร์ ตัวอย่างเพลงฮิต คือเพลง ผัวหาย จากเรื่อง กลัวเมีย

…ผัว ฉันหาย

เหลือ แต่ไฟแช็ค

ทีแรก ก็คิดว่าเขา จะกลับ

จนตีสี่ นั่งตาหรี่ รอรับ

ผัวไป ไม่กลับ

แปลกใจ หนักหนา…

พ.ศ. 2514 ขวัญจิตตั้งร้านอาหารย่านบางพลัด วันศุกร์-อาทิตย์อยู่ที่ร้าน รอรับแฟนเพลง แฟนภาพยนตร์

“ช่วงหน้าฝน ไม่มีงาน ป๋าจำรัสรู้ว่าไม่มีงานวงก็เรียกไปถ่ายปกหนังสือ โลกดารา อาลมูล อติพยัคฆ์ เจ้าของหนังสือเป็นเพื่อนกับอาจำรัส วิภาตะวัต ไปถ่ายก็ได้เป็นพัน ป๋าจำรัสให้ โลกดารา ช่วยจัดเสื้อผ้าให้ด้วย”

3 ปีหลังจากตั้งวงดนตรีลูกทุ่ง ขวัญจิต ศรีประจันต์ แล้ว งานว่าจ้างไม่สม่ำเสมอ ต้องยุบวงใน พ.ศ. 2516 ร้านอาหารที่บางพลัดก็ขาดทุน ต้องปิดตัวลง หนี้สินท่วม กลับมาตั้งหลักที่ศรีประจันต์

พ.ศ. 2517 ไวพจน์ เพชรสุพรรณ ชวนให้เข้ากรุงเทพฯ อยู่ช่วงหนึ่ง เพื่อมาเป็นพี่เลี้ยง น้ำผึ้ง เมืองสุพรรณ (พุ่มพวง ดวงจันทร์ ในเวลาต่อมา) อัดเพลงแรกที่ไวพจน์แต่ง คือ แก้วรอพี่

ช่วง พ.ศ. 2519 – 2520 ย้ายครอบครัวจากศรีประจันต์มาเช่าบ้านและทำร้านอาหารในตัวเมืองสุพรรณฯ วันศุกร์-อาทิตย์อยู่ที่ร้านอาหาร วันอื่นแม่ขวัญจิตวิ่งรอกเป็นนักร้องรับเชิญกับวงดนตรีลูกทุ่ง เพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว

“ช่วงนั้นเป็นยุคที่ สายัณห์ สัญญา, ยอดรัก สลักใจ กำลังดัง ตระเวนแสดงทั่วประเทศ ทั้ง 2 คนถ้าผ่านสุพรรณฯ จะแวะมากินข้าวที่ร้านแล้วร้องเพลงให้แขกฟัง”

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
ขวัญจิต ศรีประจันต์ เล่นเพลงอีแซวที่โรงละครแห่งชาติ พ.ศ. 2521 
ภาพ : เอนก นาวิกมูล

เรียนรู้และร่วมอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านภาคกลาง

ในการพูดคุย แม่ขวัญจิตให้เครดิต เอนก นาวิกมูล, มนัส พูลผล และ รศ.บัวผัน สุพรรณยศ ว่าเป็นผู้เริ่มต้นให้ความสนใจเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เก็บรวบรวมองค์ความรู้เป็นหมวดหมู่ จัดแสดงเผยแพร่ ทำให้เกิดการสืบทอดเพื่อการอนุรักษ์

ในช่วงเด็กสาว ขวัญจิตหัดเพลงอีแซว เพลงฉ่อย เพลงฉ่อยทรงเครื่อง (หมายถึง ชุดการแสดงเป็นเรื่องหรือตอน เช่น นางสิบสอง พระอภัยมณีตอนผีเสื้อสมุทร) จากครูเพลง แม่บัวผัน จันทร์ศรี เมื่อเอนก นาวิกมูล เก็บข้อมูล บันทึกการแสดงสาธิตเพลงพื้นบ้านเก่า ๆ ที่ไม่มีการเล่นแล้ว ตั้งแต่ พ.ศ. 2522 ขวัญจิตเองก็ได้เรียนรู้เพลงพื้นบ้านภาคกลางเพิ่มขึ้น เช่น เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงพวงมาลัย เพลงระบำบ้านไร่

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี
ขวัญจิต ศรีประจันต์ และ แม่บัวผัน จันทร์ศรี แสดงที่ศูนย์สังคีตศิลป์ 13 เมษายน พ.ศ. 2522
ภาพ : เอนก นาวิกมูล

Content Creator – Performer แหล่ประกอบเทศน์มหาชาติ

ฟังแม่ขวัญจิตเล่าเรื่องชีวิตในแต่ละช่วงแล้ว รับรู้ได้ถึงคุณลักษณะพิเศษที่ผสมผสานอยู่ในตัว ทั้งการเรียนรู้ตลอดชีวิต จากครูพ่อเพลง-แม่เพลง จากพระ จากการแสดงของศิลปิน จากสื่อมวลชน การเป็นคนหัวไว สติปัญญาดี หมั่นจดจำสิ่งที่ตนเองชอบตั้งแต่ยังเด็ก นำมาผสมผสานกับเพลงแหล่ เพลงพื้นบ้าน สร้างสรรค์การนำเสนอในรูปแบบใหม่ กลุ่มเพลงแหล่ของขวัญจิตที่ดังมากในยุคเทปแคสเซ็ต คือ เพลง แหล่มัทรีเดินดง กับเพลง แหล่กัณหาชาลี

“การแสดงประกอบเทศน์มหาชาติ แต่เดิมไม่มีแบบนี้ หลวงพ่อเหลื่อม วัดอุโปสถาราม หรือวัดโบสถ์ อุทัยธานี ท่านคิดให้มีมัทรีขึ้นมาแล้วจะได้ไปหาบเงินหาบทองมาตอนหาผลไม้ ท่านทำของท่านอยู่หลายปี ไม่รู้จักกัน ตอนหลังห้างบรอดเวย์ ใกล้เสียงสยามสะพานเหล็กมาชวนให้ทำเทปเพลงแหล่ ฉันคิดถึงเรื่อง พระเวสสันดร ที่ชอบอ่าน ชอบฟังตั้งแต่เด็ก เลยแต่ง แหล่มัทรีเดินดง บันทึกลงเทปไปม้วนหนึ่ง ขายดี เขาให้ทำอีกม้วน แหล่กัณหาชาลี

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

“พ.ศ. 2523 หลวงพ่อเหลื่อมไปฟังที่ไหนมาไม่รู้ ท่านคิดเองว่าฉันเก่ง พอดีท่านขัดแย้งกับนางเอกคนเก่าเลยมาติดต่อฉันถึงบ้าน ขอให้ไปแสดงประกอบแหล่ ท่านก็สอนให้ เวลามีงานเทศน์ หลวงพ่อจะบรรยาย เรียกน้ำตา ฉันแต่งตัวเป็นมัทรี เดินหาบกระจาด แหล่หาผลไม้ เข้าไปในกลุ่มผู้ชม เขาก็หย่อนแบงก์ 100 แบงก์ 500 ลงในกระจาดร่วมทำบุญ แล้วฉันก็เดินนำหาบเงินไปส่งให้กรรมการนับ

แหล่มัทรีเดินดง แหล่กัณหาชาลี ฉันเขียนเอง ตอนนี้หาต้นฉบับไม่เจอ การร้องแบบนี้เป็นทั้งแหล่ ทั้งฉ่อย ทั้งอีแซว สมมติว่าจบจากฉากที่มัทรีจะจากลูก เข้าเฝ้าลาพระเวสสันดรพร้อมลูก ตอนนี้ร้องเพลงชื่อ ตะลุ่มโปง พอยกหาบขึ้นบ่าก็ให้ปี่พาทย์รัว หาบหล่นเป็นลาง เราก็ร้อง ราชนิเกลิง คนเล่นปี่พาทย์เป็นคนของเรา รู้เนื้อเรื่องและจังหวะการร้องการเล่น” แม่ขวัญจิตเล่า

เส้นทางชีวิต 7 ทศวรรษของศิลปินแห่งชาติ ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซวแห่งสุพรรณบุรี

เข้าสู่ยุคทอง วาระ 200 ปีฉลองกรุงรัตนโกสินทร์

พ.ศ. 2525 วาระฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี แม่ขวัญจิตเล่าว่าเป็นปีที่งานล้นมากที่สุด รับงาน 3 อย่าง คืองานแสดงเป็นมัทรีประกอบเทศน์มหาชาติ งานทำขวัญนาค และงานแสดงคณะเพลงอีแซว บางวันต้องวิ่งทั้ง 3 อย่างจากงานแรกตื่นเช้ามืดตอนตี 4 จนจบงานที่ 3 ตอนตี 1

“ตอนนั้นเป็นหัวหน้าคณะเองแล้ว งานไหนใกล้ ครูไปแสดงด้วย ถ้าไกล ครูก็ไม่ไป ช่วงที่รับงานวันละ 3 จ๊อบนี่ก็ได้เงินเยอะ แต่ก็วิ่งรอกเหนื่อยมาก บางที 4 ทุ่มครึ่งเรายังไปไม่ถึงงาน แต่ยังโชคดีที่ครูแม่บัวผันกับพ่อไสวไป เขาก็จะเล่นประวิงเวลาไว้ แต่นั่นแหละ คนก็รอดูขวัญจิต” 

ในยุคทองนี้ แม่ขวัญจิตมีรายได้เป็นกอบเป็นกำจนปลดหนี้ค่าที่ดิน ค่าปลูกสร้างบ้านได้หมด ไม่มีภาระ ด้วยวัยเพียง 35 ปี

ขวัญจิตได้รับพระราชทานโล่เชิดชูเกียรติศิลปินลูกทุ่งดีเด่น พ.ศ. 2534 งานกึ่งศตวรรษเพลงลูกทุ่งไทย และใน พ.ศ. 2539 ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน-อีแซว)

นับจาก พ.ศ. 2506 ที่เริ่มอาชีพเป็นแม่เพลง เราถามแม่ขวัญจิตถึงความสามารถในการร้องและการแสดงต่าง ๆ แม่ขวัญจิตไล่เลียงให้ฟังว่ามีการแสดงประกอบการเทศน์มหาชาติ การทำขวัญนาค เล่นเพลงอีแซว เล่นเพลงฉ่อย เล่นเพลงฉ่อยทรงเครื่อง เช่น เล่นเรื่อง พระอภัยมณี เรื่อง นางสิบสอง เล่นเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เช่น เพลงพวงมาลัย เพลงเกี่ยวข้าว เพลงระบำบ้านไร่ เล่นลำตัด นอกจากนี้ยังมีการแสดงตามสถานีโทรทัศน์แบบสั้น ๆ เช่น เล่นลิเก เล่นมโนราห์ ร้องบทแบบผันหน้า เล่นโขน เล่นละครชาตรี ละครร้อง ตั้งแต่สมัยสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม

“ฉันไม่ได้คิดว่าก่อนเป็นกับหลังเป็นศิลปินแห่งชาติจะแตกต่างกัน ฉันช่วยสำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติมาตั้งแต่ก่อนตั้งกระทรวง ใครมาขอให้ช่วยไปงานอะไรเราไปช่วยตลอด” แม่ขวัญจิตเล่าเมื่อถามถึงสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติ

พ.ศ. 2533 – 2535 รศ.บัวผัน สุพรรณยศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย หรือ แม่บัว ได้มากินอยู่ที่บ้านแม่ขวัญจิต 2 ปี ระหว่างทำวิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร เรื่อง วิเคราะห์เพลงอีแซวจังหวัดสุพรรณบุรี แม่ขวัญจิตนับแม่บัวว่าเป็นลูกบุญธรรม

“แม่บัวก็เป็นอีกคนหนึ่งที่มาฟื้นฟูเพลงพื้นบ้านภาคกลาง เอนก เขาบันทึกภาพ คลิป แม่บัวเขาจด ไปสัมภาษณ์แม่บัวผัน กับพ่อเพลงแม่เพลงในสุพรรณบุรี” แม่ขวัญจิตเอ่ย

แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ กับ รศ.บัวผัน สุพรรณยศ หรือ แม่บัว

พ.ศ. 2553 รศ.บัวผัน สุพรรณยศ เสนอความคิดให้จัดกิจกรรมค่าย คัดเลือกเยาวชนที่สนใจมาอบรมเชิงปฏิบัติการเพลงพื้นบ้าน หลังจากที่แม่ขวัญจิตตระเวนไปสอน บรรยาย สาธิต ให้ตามสถานศึกษาต่าง ๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรีและใกล้เคียง10 กว่าปี 

พ.ศ. 2553 แม่ขวัญจิตวัย 63 จัดค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน ครั้งแรกที่ศูนย์การเรียนรู้เพลงพื้นบ้าน (บ้านแม่ขวัญจิต ศรีประจันต์) โดยการสนับสนุนจากกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และเครือข่าย

“ฉันไม่ได้คิดเรื่องเกษียณเลย เพราะงานมีตลอด” เจ้าของบ้านบอกกับเราเมื่อถามถึงชีวิตในวัยเกษียณ

หลังวัย 60 แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ ยังแสดงและทำงานให้สังคม เป็นนายกสมาคมเพลงพื้นบ้านภาคกลาง จัดค่ายเพาะกล้าพันธุ์เก่งเพลงพื้นบ้าน ต่อเนื่องจนปัจจุบัน วัย 76 ก็ยังไม่ได้หยุดทำงาน

“ถ้ายังไหว เราก็ต้องทำ เปิดค่ายเราต้องให้ประโยชน์กับเด็กและครู เราให้ครูมาเรียนด้วยจะได้มีลีลาหรือร้องเป็น ตรงนี้เรารู้สึกว่าต้องให้ แต่ไม่ได้เหนื่อย แม่บัวเขาสอนได้ดี ร้องได้ดี

“พอ 2 ปีมานี้ไม่สบาย ตอนนี้ก็บอกกับลูก ๆ หลาน ๆ ว่าอยากจะเกษียณบ้างแล้วนะ เดี๋ยวนี้ไปออกงาน ต้องร้องในเนื้อเพลง บอกคนดูว่าตอนนี้ป่วยอยู่ ทำงานได้ไม่เต็มที่ ไม่ได้ออกงานบ่อย ออกแต่งานที่จำเป็นต้องไปจริง ๆ” แม้วัยจะล่วงเลย แต่แนวคิดเพื่อสังคมที่ฝังอยู่ในใจของเธอยังไม่มีทีท่าจะร่วงโรยไปตามกาลเวลา

ส่งต่องานให้ลูกสาว

“เวลาคนมาให้งาน บางครั้งเราปฏิเสธเขาลำบาก เพราะเกรงใจ ถ้าเขาไม่ศรัทธา เขาคงไม่มาหาเรา เพราะในบ้านเราไม่มีใครร้องเพลงเหล่านี้แล้ว คิดว่าเป็นเรื่องที่จะสูญหาย ถ้าเรายังไหว ก็ยังไปอยู่

“ยุคนี้มีโซเชียล ก็ควรเก็บไว้ ทั้งเสียงทั้งภาพ เพราะฉันเองคงไม่อยู่จนค้ำฟ้า ลูกสาวของฉัน หญิง เดิมไม่ได้ตั้งใจจะเล่น แต่เขาช่วยทำค่ายเลยเป็นไปเอง พี่เลี้ยงงานค่ายรุ่นเดียวกัน คบกัน รักกัน เลยจับเล่นกันไปเลย ยุคนี้ยุคโซเชียล เขาก็ต่อยอดเพลงพื้นบ้าน จัดอบรมค่ายเขียนเพลงอีแซว-แรป แนวประยุกต์ให้เด็กนักเรียน พอเราไม่สบาย เขาก็ต้องแทนหมด”

ปัจจุบัน สมหญิง ศรีประจันต์ เป็นตัวแทนแม่ขวัญจิต ตั้งเฟซบุ๊กว่า ขวัญจิต ศรีประจันต์ เผยแพร่ข่าวสาร กิจกรรมของแม่ขวัญจิต รวมทั้งการทำค่าย การจัดอบรม การรับงานแสดงต่าง ๆ

ถ้ายืมภาษาคอนางงามมาใช้ แต่ต่างความหมาย ต้องบอกว่า ‘แม่ขวัญจิต ไม่จม ไม่หาย’

ไม่จม คือไม่อยู่นิ่งกับที่ เรียนรู้และพัฒนาตนเองตลอดชีวิต

ไม่หาย คือฝีมือทุกศิลปะการแสดงที่มาจากการฝึกปรือ ทำให้โด่งดังเป็นดาวค้างฟ้า

เป็น Eternal อีแซว อีแซวชั่วนิรันดร์

เมื่อถามถึงสิ่งที่แม่ขวัญจิตได้เรียนรู้ตลอด 6 ทศวรรษของชีวิตการเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้าน นักร้อง นักแสดง หมอทำขวัญ และครูผู้ถ่ายทอดความรู้เพลงพื้นบ้านให้แก่เยาวชน แม่ขวัญจิตให้บทสรุปว่า

“เรื่องการงาน การร้อง การแสดง เกิดจากความรัก ความตั้งใจ อยากแสดงต้องทำให้ได้ ถ้ายังไม่ได้ ต้องฝึกหัดอย่างเต็มร้อย เพลงพื้นบ้านเราหัดมาตั้งแต่เล็ก ทำขวัญนาค เทศน์มหาชาติ เราหัดจากครู

“ความตั้งใจเต็มร้อยนี้มีติดตัวมาตั้งแต่เด็ก ทุกเรื่องเราเต็มร้อย ทั้งเรื่องเรียนหนังสือ เรื่องทำไร่ทำนา การเป็นหัวหน้าครอบครัว พอไปร้องไปรำก็ตั้งใจ เวลาครูออกไปร้องไปรำก็ตั้งใจชมการแสดงของครู” แม่ขวัญจิตเล่าขณะที่ทีม The Cloud บันทึกวิดีโอ

คัมภีร์เตรียมตัวก่อนเกษียณฉบับแม่ขวัญจิต

เมื่อถามถึงข้อแนะนำในการเตรียมตัวก่อนเกษียณ แม่ขวัญจิตออกตัวก่อนว่าไม่รู้ว่าคำแนะนำที่ให้สัมภาษณ์นี้จะตรงใจผู้สูงอายุหรือเปล่า

“มนุษย์นี่นะ ถึงจะแก่ยังไง คิดว่าเรื่องความห่วงลูกห่วงหลานไม่หมดนะ เท่าที่เห็นจากพี่น้องหรือคนในวงการมา ไปงานก็ซื้อของฝากหลาน

“ถ้าจะเตรียมตัวก่อนเกษียณ อย่างแรก ต้องตัดใจ ต้องคิดว่าลูกหลานเขาโตแล้ว อย่าไปยุ่งเรื่องส่วนตัวของเขา 

“อย่างที่ 2 เลือกวัดวาอารามที่สงบ หาที่ทำบุญทำทานบ้าง 

“อย่างที่ 3 เตรียมทำใจว่าเราไม่ได้เก่งอย่างเก่า อายุมาก โรคภัยไข้เจ็บถามหา งานไหนที่หนักเกินไปก็อย่าไปฝืนสังขารทำ ทำงานอดิเรกที่ชอบ อย่างฉันอยู่กับหนังสือ เพราะเป็นคนชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก 

“อย่างที่ 4 ห้ามดื้อกับลูกหลานโดยเด็ดขาด เขาไม่ให้ไปไหนก็อย่าไป ไม่ให้กินอะไรก็อย่ากิน ลูกให้กินอะไรหรือพาเราไปไหนก็อย่าไปดื้อกับเขา

“สุดท้าย ขอฝากข้อคิดเอาไว้ว่าฉันไม่เคยคิดว่าคุณค่าในตัวลดน้อยลงแม้จะอายุมากขึ้น อย่ากลัวที่จะเกษียณ เพราะคนเราแต่ละคนมีคุณค่าในตัวเอง ให้คิดว่ากำลังจะหมดเหนื่อย ถ้าเป็นข้าราชการ อย่ากลัวว่าคนจะไม่เคารพนับถือ มันเป็นสัจธรรม เพราะเราออกจากตำแหน่งหน้าที่การงานมาแล้ว เราอายุมาก ให้อยู่กับงานที่เรารักและทำได้ ไม่เดือดร้อนคนอื่น”

The Cloud Golden Week : Happy Young Old คือแคมเปญสนุก ๆ ที่ The Cloud จับมือกับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระ อายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์

ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’ เปรียบเสมือนคู่มือเล่มน้อย ๆ ที่อัดแน่นด้วยคำแนะนำ การรับมือ การใช้ชีวิตก่อน-หลังเกษียณในหลากหลายมิติ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ‘การสร้างคุณค่าในตัวเอง’ เราจึงชวนวัยอิสระเล่าเรื่องราวของ แม่ขวัญจิต ศรีประจันต์ แม่เพลงอีแซววัย 76 แห่งเมืองสุพรรณฯ แม้ล่วงเลยเข้าสู่วัยเกษียณ แต่ยังมีหัวใจอาสา สืบทอด ต่อยอด และอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านมิให้สูญหาย ทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างคุณค่าในตัวเองให้คนทุกวัย

Writer

สมรักษ์ เจียมธีรสกุล

สมรักษ์ เจียมธีรสกุล

ภัณฑารักษ์ นักเขียนบทสื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์, นิทรรศการ มีประสบการณ์เป็นบรรณาธิการหนังสือฉบับพิเศษ 3 เล่ม

Photographers

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

สรรค์ภพ จิรวรรณธร

แพ้ทางสีเขียวและน้ำตาล ชอบเดินทางพอ ๆ กับชอบนอนอยู่บ้าน

ชลิต สภาภักดิ์

ชลิต สภาภักดิ์

ช่างภาพสารคดีอิสระ เติบโตมาจากชนบทในจังหวัดสุพรรณบุรี ทํางานสื่อสารเรื่องราวของผู้คนและสิ่งแวดล้อม และเป็นนักสะสมโฟโต้บุ๊ค