“คิดซะว่าลุงช่างเป็นเพื่อนที่อยู่บ้านติดกัน เอาไว้พูดคุยปรึกษาหารือทุกเรื่อง”

ใครจะไปรู้ว่าหนึ่งในประโยคที่ลุงช่าง หรือ เอ๋-เกรียงไกร ช่วยดำรงสกุล พูดในคลิปวิดีโอแรกของช่องยูทูบ ‘คุยกับลุงช่าง’ ซึ่งเผยแพร่ไปเมื่อ 7 ปีก่อน จะยังคงเป็นสิ่งที่เจ้าตัวยึดถือไว้ในการทำงานสายคอนเทนต์จวบจนปัจจุบัน และยืนยันว่าจะเป็นแบบนี้ไปจนกว่าจะถึงวันที่ทำไม่ไหว

ครั้งนี้คอลัมน์ Page Maker ขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับคุยกับลุงช่างช่องยูทูบงานช่างที่มีผู้ติดตามกว่า 8 แสนคน โดยผู้เชี่ยวชาญที่ตั้งใจเผยแพร่ความรู้ให้คนที่ไม่รู้แบบไม่มีกั๊ก และรักที่จะเป็นครูควบคู่ไปกับอาชีพวิศวกร

ก่อร่างสร้างลุงช่าง 

จากหมู่บ้านชาวประมง จังหวัดเพชรบุรี คุณแม่ส่งพี่เอ๋ไปอยู่กับญาติเพื่อเรียนหนังสือตั้งแต่อนุบาล กระทั่งกลับมาเรียนเพชรบุรีช่วงประถมศึกษาตอนปลาย ตอนเรียนจบ ม.ศ. 3 เขาเป็นหนึ่งในเด็กหลายคนที่ผิดหวังจากการสอบเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนดังของกรุงเทพฯ แต่นั่นไม่ใช่จุดที่ทำให้เขาท้อแท้ 

หลังสอบติด ช่วง ม.ศ. 4 – 5 พี่เอ๋อ่านหนังสืออย่างบ้าคลั่งเพื่อสอบเอนทรานซ์จนติดจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หลังเรียนจบวิศวกรรมโยธา พี่เอ๋ก็เดินทางบนถนนสายวิศวกรมากว่า 30 ปี ทำงานกับบริษัทออกแบบ ทำรับเหมาบ้าง ทำงานกับบริษัทออกแบบโรงงานให้ต่างชาติ ออกแบบโครงการบ้านจัดสรร รีสอร์ต 

เขามักใช้เวลาว่างเข้าไปเสพความเห็นของชาววิศวกรและสถาปนิกตามกลุ่มเฟซบุ๊ก ก่อนที่วันดีคืนดีจะอยากเปลี่ยนจุดโฟกัส จากการถกเถียงของวิศวกรด้วยกัน มาเป็นการพูดคุยกับคนทั่วไปที่ไม่มีความรู้ในเรื่องงานช่าง

“อยู่ ๆ ก็ฉุกคิดว่า แปลกนะ วิศวกรเป็นอาชีพที่คนทั่วไปไม่ค่อยได้เจอเลย ถ้าเราป่วยยังไปหาหมอได้ง่าย ๆ แล้วถ้าบ้านมีปัญหาล่ะ” และนั่นก็กลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของช่องยูทูบและเพจงานช่างที่มียอดผู้ติดตามกว่า 6 หลักของเขา

ทำไมถึงต้องเป็นลุงช่าง – เราถามคำถามที่ใครหลายคนก็คงอยากรู้เหมือนกัน

“บางครั้งพอเป็นนักวิชาการ คนเขาจะไม่พูดทุกอย่างที่เจอ ไม่กล้าเล่าปัญหา ไม่เหมือนตอนคุยเล่นกันกับเพื่อนที่พูดได้หมด 

“เราอยากให้เขารู้สึกว่า คุยกับเราได้โดยไม่ซีเรียส มีปัญหาก็เดินมาคุยกันได้เหมือนเพื่อนบ้านธรรมดา เลยสมมติว่าเราเป็นลุงข้างบ้าน” 

ด้วยการตั้งคำถามกับตัวเองเพียงเล็กน้อย เมื่อนำมาประกอบกับกล้องมือถือ 1 ตัว ลูกน้อง 1 คน และใจที่อยากแชร์ความรู้ให้คนรอบข้างด้วยภาษาที่เข้าใจง่าย จึงกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นของคลิปแรกในช่องยูทูบคุยกับลุงช่างที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

ลุงช่างคนนี้ไม่มีเหมือนใคร 

“ผมอาจจะเป็นช่องแรก ๆ ในสายช่างที่เป็นสายวิชาการ ถ้าให้ไปแข่งก่ออิฐ ผมแพ้แน่นอน แต่ถ้าจะให้บอกว่าก่ออิฐวิธีไหน ได้ผลลัพธ์แบบไหน มีข้อดี-ข้อเสียยังไง ผมมั่นใจว่าพูดได้” พี่เอ๋พูดไปหัวเราะไปด้วยท่าทีมั่นใจ แต่ก็แฝงไปด้วยอารมณ์ขันเมื่อเราถามถึงเอกลักษณ์ของเพจในความคิดของเขา

“ตอนนั้นมีวิศวกรทำยูทูบไหม มี แต่เขาจะพูดกับวิศวกรด้วยกัน แต่คนที่พูดกับคนทั่วไป ผมกล้าพูดว่าผมคือคนแรก” 

ชายวัยย่าง 60 ยังเก๋าขยายความตั้งใจในการทำเพจให้เราเพิ่มเติมว่าตั้งแต่แรกเริ่ม เขาไม่เคยมีความตั้งใจที่จะสื่อสารความรู้ที่สั่งสมมาไปหาคนในสายงานเดียวกันอย่างวิศวกรหรือสถาปนิกเลย แต่อยากเน้นไปที่คนทั่วไปที่มักจะไม่มีความรู้ในเรื่องของงานช่างมากกว่า

แม้จะถูกเพื่อนร่วมอาชีพบอกมาว่าความรู้ที่เขาตั้งใจถ่ายทอดนั้นไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร แต่พี่เอ๋ก็ยืนยันที่จะถ่ายทอดต่อไป ด้วยความเชื่อมั่นอย่างเต็มร้อยว่าเรื่องเพียงเล็กน้อยในสายตาคนที่รู้ สำหรับคนที่ไม่รู้ คือสิ่งที่มีประโยชน์มหาศาล

“มีเคสหนึ่งจำได้แม่น เขาโทรมาหาเราแล้วร้องไห้มาเลย เพราะเขาสร้างบ้านมาแล้วผนังร้าว แล้วเขาไม่รู้ว่าบ้านจะพังวันนี้พรุ่งนี้หรือเปล่า แต่เขากับลูกยังต้องอยู่ในบ้าน

“สิ่งแรกที่ผมบอกคือ ‘บ้านคุณไม่พัง’

“คุณเชื่อไหม คำตอบแค่นี้ทำให้เขาหยุดร้องไห้แล้วขอบคุณอยู่นั่น ทั้ง ๆ ที่ยังไม่รู้วิธีซ่อมเลย เพราะการจะซ่อมยังไงไม่สำคัญเท่าการที่เรายืนยันให้เขาหมดความกังวลว่าบ้านของเขาจะไม่พัง”

น้ำเสียงที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์หนักแน่นจนเราสัมผัสได้ถึงความภูมิใจของพี่เอ๋ และทำให้เราเข้าใจถึงคุณค่าที่เจ้าตัวบอกกับเราว่า เรื่องเพียงนิดเดียวของเขา อาจเป็นสิ่งยิ่งใหญ่สำหรับคนที่ไม่รู้ก็ได้ 

นั่นจึงเป็นสาเหตุที่ลุงช่างคนนี้ปักหลักในการให้ทุกความรู้และตอบทุกคำถามที่คนสงสัยมาเกือบ 10 ปี แม้จะเคยถูกปรามาสว่าสิ่งที่เขารู้ไม่ได้มากมายพอที่จะออกมาให้ความรู้ใครได้

“ถ้าคุณรู้เรื่องไข่เจียว ทอดไข่เจียวเก่ง ก็พูดแค่เรื่องไข่เจียวนี่แหละพอแล้ว สุดท้ายมันก็จะมีคนที่ไม่รู้เรื่องไข่เจียวมาเรียนรู้จากคุณอยู่ดี”

มิตรคู่เรือน เพื่อนคู่ (ข้าง) บ้าน

เมื่อเราได้ถามถึงเคล็ดลับที่ทำให้เพจงานช่างเพจหนึ่งเติบโตมาได้ถึงเพียงนี้ พี่เอ๋ก็ได้สรุปให้เราฟังอย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายไว้ 4 ข้อด้วยกัน คือทำให้เสพง่าย ทำด้วยความจริงใจ นึกถึงคนดูเสมอ และลึกซึ้งลงไปในเรื่องที่เราจะถ่ายทอด 

“ผมว่าข้อดีของผมและหลาย ๆ คน คือผมลงลึกไปในเรื่องที่ผมพูด จนไม่ใช่แค่การทำงาน ทุกอย่างที่เป็นตัวตนคุณจะออกผ่านท่าทางและสายตา ซึ่งฝึกไม่ได้ แต่มาก็ต่อเมื่อคุณเชื่ออย่างที่ทำ ที่พูดจริง ๆ ผมว่านี่คือเคล็ดลับ”

นอกเหนือจากเคล็ดลับทั้ง 4 ข้อนี้แล้ว จากมุมคนนอกอย่างเรา สิ่งที่เป็นความโดดเด่นของเพจลุงช่างก็คงจะหนีไม่พ้นความทุ่มเทในการที่จะตอบทุกคำถามที่มีคนส่งเข้ามาให้ได้มากที่สุด จนเราค่อนข้างมั่นใจเลยทีเดียวว่าเขาน่าจะเป็นคนเพียงส่วนน้อยที่ยอมให้ช่องทางการติดต่อที่เป็นส่วนตัวแทบจะที่สุดอย่าง ID LINE และเบอร์มือถือ ด้วยเหตุผลที่ว่า 

“เราเปิดรับให้คนปรึกษาปัญหา ถ้าเขาคุยกับเราไม่ได้ก็ไม่มีประโยชน์

“เราอยากให้เขาเข้าถึงเราง่าย เวลาคนมาปรึกษา ครึ่งหนึ่งเหมือนมาระบาย บางทีเขาโทรมา ผมไม่ได้ช่วยอะไรเขาหรอก แต่เขาได้พูด หน้าที่เราคือฟัง สะกิดเขานิดหนึ่งในมุมคนนอก เพราะเราจะเห็นภาพกว้างกว่าเขา”

แน่นอนว่าระยะเวลากว่า 7 ปีที่พี่เอ๋เดินบนเส้นทางของนักทำคอนเทนต์ให้ความรู้งานช่างอันดับต้น ๆ ของประเทศ บทบาทของเขาจึงไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็น Content Creator เท่านั้น และคนที่เข้ามาติดตามก็ไม่ได้มีแค่คนที่ต้องการขอความช่วยเหลืออีกต่อไป แต่พี่เอ๋ยังกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางใจให้ใครอีกหลายคน

“ผมมีแฟนคลับรุ่นใหญ่เยอะมากที่ดูยูทูบอยางเดียว เขาก็จะโทรมาบอกว่าเขาเปิดคลิปของเราไว้ตลอด ถึงจะไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะเขาชอบฟังเสียงเรา เด็กเล็ก ๆ ก็ชอบฟังเสียงเรา ทำให้รู้สึกว่าการสื่อสารไม่ใช่แค่เนื้อหา เป็นเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกด้วย” 

พี่เอ๋พูดไปยิ้มไป จนทำให้เราอดคิดในใจไม่ได้ว่า สมแล้วกับบทบาทคุณลุงเพื่อนบ้านที่เราเดินไปหาได้ไม่ว่าจะมีหรือไม่มีก็ตาม และสิ่งที่จะได้กลับมาคือความสบายใจอย่างเต็มเปี่ยม

บ้านหลังถัดไป

“เมื่อ 20 กว่าปีก่อนที่ผมทำงานบริษัทออกแบบใหญ่ ตอนนั้นก็ทำงาน เที่ยวเล่น ไม่ได้คิดอะไร อยู่ ๆ ก็มีพี่ที่เคารพคนหนึ่งมาพูดกับผมว่า ผมเนี่ยต้องเป็นครู ตอนนั้นผมขำก๊ากเลยว่าผมเนี่ยนะจะเป็นครู”

พี่เอ๋แชร์เรื่องราวในอดีตให้เราฟังด้วยเสียงหัวเราะ โดยที่เราก็นึกภาพตามไม่ออกเหมือนกันว่าคนที่ดูสนุกกับการสอนและสอนด้วยความเข้าใจง่ายเช่นนี้ จะเคยมีโมเมนต์ที่ไม่เชื่อว่าตัวเองจะสอนใครได้มาก่อน

“จากวันนี้ไปจนตาย ผมรู้แล้วว่าผมชอบเป็นครู ครูในความหมายของผมมันลึก ไม่ใช่แค่อยากให้ความรู้ แต่อยากให้คนที่เรียนรู้จากเรา เขาได้เติบโต”

และเมื่อถามถึงเป้าหมายถัดไปของ ‘คุยกับลุงช่าง’ สายตาของชายผู้นี้ก็เปล่งประกายอย่างเห็นได้ชัด

“ผมอยากออกไปซื้อที่นอกเมือง ทำเป็นสเตชันความรู้ให้เด็ก ๆ มาศึกษา ใช้สื่อที่สนุก มีโมเดล มีสถานที่จำลอง มีวิดีโอเข้าใจง่าย หรือลึกกว่านั้นอาจทำเป็นสถาบันที่ให้คนมาเรียนเรื่องเฉพาะของงานช่างได้ นี่คือปลายทางที่ตั้งธงไว้”

มาถึงจุดนี้ เราอาจจะมีความสงสัยในใจขึ้นมาว่า

ช่องทางโซเชียลมีเดียต่าง ๆ จะยังคงมีอยู่ไหม 

คอนเทนต์ความรู้ต่าง ๆ จะดำเนินต่อไปอย่างไร 

แล้วบทบาทของลุงช่างที่ทุกคนเข้าถึงได้จะเปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า

เหมือนอีกฝ่ายจะรู้ใจ เพราะตอบคำถามเหล่านี้ให้เรามั่นใจได้ในทันที

“เพจหรือโซเชียลทุกช่องทางคือบ้านหลังสุดท้ายของเราที่จะอยู่ไปตลอด ผมยืนยันว่าจะทำไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งจากไป อย่างน้อยก็มีสิ่งที่ได้ฝากไว้ และไม่ว่ายังไงจะมีลุงช่างอยู่”

ปิดท้ายก่อนจากกันในวันนี้ พี่เอ๋ได้ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า สำหรับเขา โลกนี้ไม่ต้องการยอดมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่

“ผมเชื่อมาโดยตลอดว่าโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็ก ๆ ในทุกวันโลกเราหมุนไปด้วยเรื่องเล็ก เพราะงั้นแค่ทำเรื่องเล็กในแบบที่ยิ่งใหญ่กับตัวเราเองก็พอ นี่แหละโลกมันเคลื่อนไปแบบนี้”

เจ้าของเพจวัยเก๋ายิ้มให้เรา และเราก็เชื่อเช่นเดียวกันว่าโลกนี้ขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็ก ๆ ได้ อย่างที่เพจงานช่างเล็ก ๆ ของพี่เอ๋กำลังทำให้เราเห็นอยู่ในทุกวันว่าการให้ในสิ่งที่รู้กับคนที่ไม่รู้นั้นมีคุณค่ามากมายเพียงใด

ว่าแล้ววันนี้แวะสำรวจบ้านหน่อยก็คงดี เผื่อจะมีอะไรไปคุยกับลุงช่าง

YouTube : คุยกับลุงช่าง

Writer

Avatar

วิมพ์วิภา ค้ำจุนวงศ์สกุล

เด็กนิเทศผู้หลงรักของหวาน การเล่าเรื่อง และตั้งใจจะเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกวัน

Photographer

ยุทธภูมิ บุญกอง

ยุทธภูมิ บุญกอง

เป็นคนเมืองเพชร ถนัดมือซ้าย ชอบดูภาพถ่าย มากกว่าอ่านหนังสือ และฝันอยากเดินทางไปดูสถาปัตยกรรมสวย ๆ ทั่วโลก