เรื่องการดูแลธรรมชาติ สังคม และธรรมาภิบาลนั้น ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเขาจริงจัง 

ยิ่งเมื่อได้มีโอกาสมานั่งพูดคุยกับ คุณโอ๋-มันตินี อัครเสริญ ผู้บริหารสายงานการตลาดลูกค้าธุรกิจของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับความสนใจในเรื่อง ESG (Environmental, Social, and Corporate Governance) และเบื้องหน้าเบื้องหลังของโครงการ Krungsri ESG Awards ที่เพิ่งประกาศผลไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ยิ่งทำให้มั่นใจว่าธนาคารกรุงศรีฯ ตั้งใจจะเป็นผู้นำและสนับสนุนทั้งองค์กรเล็กใหญ่ให้ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

Krungsri ESG Awards การผนึกกำลังของพันธมิตรและผู้ประกอบการ ลงสนามต่อสู้กับภาวะโลกเดือด

แต่หากคุณยังไม่คุ้นเคยกับความใส่ใจในเรื่อง ESG ของธนาคารยักษ์ใหญ่ในวงการ และยังไม่คุ้นหูกับโครงการ Krungsri ESG Awards เราอยากชวนให้คุณอยู่กับเราในบทความนี้ไปจนบรรทัดสุดท้าย เพื่อดูว่าธนาคารกรุงศรีฯ จะรวมพลังกับผู้ประกอบการทั่วไทยเพื่อต่อสู้กับภาวะโลกเดือดได้อย่างไรกัน

สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลเป็นเรื่องของเราทุกคน

“ในฐานะที่เป็นองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ ยังไงก็คงต้องสนใจในเรื่อง ESG ในวันนี้เนอะ องค์กรขนาดใหญ่ที่ไม่ได้สนใจหรือให้ความสำคัญกับ ESG ก็อาจกลายเป็นเรื่องแปลกแล้วก็ได้” คุณโอ๋เริ่มเล่าถึงธรรมเนียมปฏิบัติในวงการธุรกิจปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่บริษัทขนาดใหญ่ เพราะยิ่งใหญ่มาก ยิ่งโตมาก ยิ่งสร้างผลกระทบได้มาก ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมก็ต้องมากขึ้นตามไปด้วย

แต่ในขณะเดียวกัน ธนาคารกรุงศรีฯ ก็มั่นใจว่าการจะหยุดโลกเดือดได้นั้น ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกคน “แบงก์ทำคนเดียวไม่เพียงพอ เราต้องส่งพลังในเรื่อง ESG ให้กับคอมมูนิตี้ ซัพพลายเชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราด้วย เพราะฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่เราให้ความสำคัญ คือการกระตุ้นกลุ่มลูกค้าธุรกิจของเราให้ตระหนักถึงความสำคัญของ ESG”

ธนาคารกรุงศรีฯ จึงให้การสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจทุกขนาดเพื่อทำโครงการเกี่ยวกับ ESG พร้อมปล่อยสินเชื่อเพื่อช่วยให้การเปลี่ยนผ่านสู่การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น “เรามีบริษัทแม่เป็น MUFG ซึ่งเป็นธนาคารอันดับ 1 ของญี่ปุ่นและเป็นธนาคารที่ใหญ่ลำดับต้น ๆ ของโลก และเขามี Knowledge และ Know-how มากมาย เราก็ใช้ความเก่งของเขามาสนับสนุนกลุ่มลูกค้าของเรา”

นอกเหนือจากทางด้านการเงินแล้ว ธนาคารกรุงศรีฯ ยังให้ความรู้ผ่านงานสัมมนาและช่องทางออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อให้กลุ่มธุรกิจที่เป็นลูกค้าและยังไม่ได้เป็นลูกค้าของธนาคาร ได้รับรู้และรับทราบในเรื่องของ ESG โดยทั่วกัน “อย่างปีนี้เราก็จัดงานสัมมนาที่พูดเรื่องของ ESG ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เราเชิญผู้เชี่ยวชาญมาเพื่อสร้างการรับรู้ ไม่ว่าธุรกิจจะอยู่ในระดับไหนของการเข้าใจเรื่อง ESG ก็ตาม”

เบื้องหลัง Krungsri ESG Awards

แม้จะให้การสนับสนุนทางการเงินก็แล้ว ให้ความรู้แก่สาธารณชนก็แล้ว แต่ธนาคารกรุงศรีฯ ก็มองว่าตัวเองยังทำได้มากกว่านี้ “การให้ความรู้หรือการมาสัมมนาอาจไม่พอที่จะทำให้เกิดแรงกระเพื่อมที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านได้จริง ๆ เพราะเรามองในแง่ของความสัมฤทธิ์ผลด้วย ไม่ใช่แค่ให้ความรู้เป็นครั้ง ๆ แล้วผ่านไป”

ด้วยเหตุนี้ธนาคารกรุงศรีฯ จึงเปิดตัวโครงการ Krungsri ESG Awards เมื่อปลายปี 2022 ให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่มียอดขายไม่เกิน 1,000 ล้านบาทต่อปีเข้าร่วมโครงการ “เราเป็นธนาคารแรกและเป็นธนาคารเดียวที่ทำเรื่อง ESG Awards ให้กับกลุ่มลูกค้าธุรกิจในตอนนี้” คุณโอ๋เล่าด้วยความภูมิใจ

ซึ่งโครงการนี้แบ่งกลุ่มเป้าหมายออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือลูกค้าธุรกิจที่ในวันนี้อาจยังไม่ได้ตระหนักรับรู้ถึงความสำคัญหรือเข้าใจในเรื่องของ ESG ซึ่งการออกมาเชิดชูให้รางวัลแก่ผู้ทำดีในเรื่อง ESG ก็จะช่วยให้ลูกค้าธุรกิจกลุ่มนี้ตระหนักถึงความสำคัญและเริ่มหันมาให้ความสนใจในการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง

กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มธุรกิจที่รับรู้และเห็นความสำคัญในเรื่อง ESG แล้ว แต่ยังเข้าใจไม่ครอบคลุม และยังมีคำถาม เช่น แบบไหนที่เรียกว่าทำ ESG การทำ ESG ต้องทำลึกขนาดไหน แล้วที่ทำอยู่มันใช่รึเปล่า หรือว่า เอ๊ะ! ฉันไม่ได้ทำเลย ซึ่งจุดมุ่งหมายของธนาคารกับลูกค้ากลุ่มนี้คือการสร้างความเข้าใจ เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในการลงมือทำเรื่อง ESG อย่างมั่นใจ

“ส่วนกลุ่มสุดท้าย คือกลุ่มที่ตระหนักรู้แล้วว่าเรื่อง ESG สำคัญกับโลกและตัวธุรกิจของเขา และก็เริ่มทำแล้ว เราอยากให้เขาทำต่อเนื่อง ซึ่งเขาก็ยังต้องพัฒนาไปเรื่อย ๆ เพราะ ESG เป็นเรื่องเก่าก็ไม่ใช่ เรื่องใหม่ก็ไม่เชิง ทุกคนต้องพยายามตามให้ทันว่ามีอะไรที่เปลี่ยนแปลงไป แล้วก็พยายามพัฒนาธุรกิจของเขาให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ ESG ไม่ใช่ทำครั้งเดียวแล้วจบ ทำครั้งหนึ่งแล้วเรียก ESG มันก็ไม่ใช่ เราพยายามผลักดันว่า เมื่อคุณทำดีแล้วก็ควรทำดีต่อเนื่อง และเป็นกรณีศึกษา เป็นฮีโร่ให้กับธุรกิจอื่น ๆ ดูเป็นแบบอย่างได้”

เพื่อเป็นการยกย่อง เชิดชู พร้อมเป็นแบบอย่างให้กับธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างแรงกระเพื่อมและความเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง ธนาคารกรุงศรีฯ จึงร่วมมือกับหลากหลายพันธมิตรในวงการ ESG ผู้ให้เกียรติมาเป็นทั้งคณะกรรมการและผู้ให้คำแนะนำตลอดระยะเวลาโครงการ ไม่ว่าจะเป็น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย, สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน), กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสมาคมธุรกิจเพื่อสังคม ส่วนการออกแบบกระบวนการทำงานและรูปแบบการประเมินทุกมิติของธุรกิจนั้น ธนาคารกรุงศรีฯ ก็ได้สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นมือขวา เพื่อทำให้การตัดสินรางวัลในครั้งนี้มีระบบและมีหลักการสนับสนุนอย่างชัดเจน

แบบอย่างที่ยอดเยี่ยม

ธนาคารกรุงศรีฯ และพันธมิตรใช้เวลาร่วม 10 เดือนในการประเมินกว่า 40 ธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการอย่างเข้มงวด ทั้งตรวจแบบสอบถาม สัมภาษณ์ผู้ประกอบการ พิสูจน์หลักฐาน รวมไปถึงการเข้าเยี่ยมชมสถานที่ทำงานจริง เพื่อให้มั่นใจว่าธุรกิจนั้น ๆ ให้ความสำคัญกับ ESG ครบในทุก 3 มิติ ทำงานอย่างต่อเนื่อง มีเอกสารประกอบ และควรค่าแก่รางวัล Krungsri ESG Awards 

โดยธนาคารกรุงศรีฯ ได้ประกาศชื่อ 6 บริษัทที่ได้รางวัล Excellence Awards และ 12 บริษัทที่ได้รางวัล Highly Commended Awards ไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งแต่ละบริษัทที่ได้ Excellence Awards ไปนั้น มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากทีเดียว

บริษัท บิทไว้ส์ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นบริษัทเครื่องเย็นและเครื่องปรับอากาศที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ ตั้งแต่การออกแบบสินค้าไปจนถึงการออกแบบโรงงาน โดยเฉพาะนวัตกรรมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในแอร์โดยตรง ซึ่งที่นี่เป็นเจ้าแรกในประเทศไทยที่ทำได้ ส่วนการดูแลพนักงานนั้น เขาก็ให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะแม้พนักงานจะต้องทำงานในพื้นที่เปิดจนติดแอร์ไม่ได้ แต่บิทไว้ส์ก็คิดค้นอุปกรณ์ปรับอากาศสำหรับบริเวณโรงงานที่ให้ลมเย็นกว่าลมธรรมดาถึง 10 องศาเซลเซียส นอกจากนี้บิทไว้ส์ยังมีแม้กระทั่งศูนย์อบรมเพื่อให้นักศึกษาเข้ามาดูงานจริง เพราะผู้บริหารมีความหวังอยากให้คนรุ่นใหม่มาต่อยอดวิทยาการและพัฒนาอุตสาหกรรมในอนาคต

บริษัท คิง ฟรุทส์ จำกัด เป็นอีก 1 ใน 6 บริษัทที่ได้ Excellence Awards ซึ่งคุณโอ๋เล่าว่า “เขาเอาซัพพลายเชนเข้ามาเลย เช่น เกษตรกรผู้ปลูกกล้วย เขาก็เข้าไปช่วยเหลือ และเขาก็ทำต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นเกษตรกรของเขาก็จะอยู่ได้ และปลูกกล้วยคุณภาพดีให้เขาได้ต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการปลูก เขาก็ให้ความรู้เกี่ยวกับการสลับปลูกพืชเพื่อทำให้ดินมีคุณภาพ และไม่ใช้สารเคมี ส่วนที่เหลือจากกล้วย เช่น เปลือก เขาก็พยายามนำมาผลิตให้เป็นผลิตภัณฑ์อื่น ๆ หรือแม้กระทั่งพลาสติกห่อกล้วยก็มีการนำกลับมาเวียนใช้ใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน และลดขยะไปพร้อม ๆ กัน” 

อีกหนึ่งบริษัทซึ่งเป็นที่น่าจดจำคือ บริษัท เจดีฟู้ด จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตผงปรุงรสที่ตั้งเป้าว่าบรรจุภัณฑ์ของเครื่องปรุงทุกชิ้นจะต้องรีไซเคิลได้ “บริษัทนี้ใส่ใจตั้งแต่กระบวนการการผลิต การนำน้ำกลับมาใช้ในระบบ ไม่ปล่อยมลพิษสู่ชุมชน นอกจากนี้เขายังใช้หลังคาโซลาร์เพื่อผลิตไฟใช้ในตอนกลางวัน ซึ่งก็จะทั้งประหยัดพลังงาน ลดต้นทุนของตัวเองด้วย ลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย… จริง ๆ เจดีฟู้ดเป็นบริษัทที่พอได้มาร่วมโครงการของเราแล้ว เขากลับไปตั้งทีมขึ้นมาเพื่อดูแล ESG ของบริษัทโดยตรงเลยทีเดียว ซึ่งเราก็ดีใจนะที่โครงการของเรามีส่วนผลักดันให้เกิดการลงมือทำอย่างเป็นระบบ” คุณโอ๋อธิบายผลลัพธ์จากโครงการที่สร้างความเปลี่ยนแปลงเกินกว่าเป้าที่ตั้งไว้

ส่วน บริษัท เอ็กซา ซีแลม จำกัด นั้น ทางธนาคารกรุงศรีฯ กล้าพูดได้เต็มปากเต็มคำว่า “ESG นั้นอยู่ใน DNA ตั้งแต่วันแรกของการสร้างธุรกิจ” เรื่องความโปร่งใสนั้นโดดเด่นมาตลอด 28 ปี ด้านสิ่งแวดล้อมก็มีนวัตกรรมดิจิทัลที่เข้ามาใช้ช่วยลดการสร้างขยะในกระบวนการผลิต ส่วนด้านสังคมนั้น ทางบริษัทก็มีการส่งเสริมการทำความดีและคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคม ผ่านโครงการให้รางวัลกับพนักงานที่จับต้องได้

บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ไม่พูดถึงไม่ได้ เพราะบริษัทดำเนินธุรกิจโดยให้คุณค่ากับการพัฒนาทุกคนไปด้วยกัน บูรพา พรอสเพอร์ คำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคนในทุกขั้นตอนการทำงาน เพื่อสร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจนและโปร่งใส นอกจากนี้เขายังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนด้วยการสนับสนุนการเรียนรู้ เพื่อให้เป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ทั้งต่อองค์กรและเพื่อส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมและประเทศต่อไป

บริษัทสุดท้ายที่ขาดไปไม่ได้คือ บริษัท แดรี่โฮม จำกัด เพราะเขาเป็นองค์กรเพื่อสิ่งแวดล้อมที่พัฒนานวัตกรรม และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อสังคม เนื่องจากแดรี่โฮมมีเป้าหมายสำคัญในการทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมไปในเวลาเดียวกัน เขาจึงส่งเสริมการทำเกษตรกรรมและปศุสัตว์แบบออร์แกนิก และมีการนำนวัตกรรมมาใช้ในทุกกระบวนการเพื่อลดการเกิดของเสีย รวมถึงนำของเสียมาทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มกลับเข้าสู่ระบบแทน นอกจากนี้แดรี่โฮมยังให้ความรู้และดูแลพนักงานในด้านการเงินเพื่อลดการเป็นหนี้ พร้อมพัฒนาคุณภาพชีวิตพนักงานด้วยการเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้รวมกับองค์กร

Krungsri ESG Awards 2.0

แม้บางคนอาจบอกว่าข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลจะกระทบเฉพาะธุรกิจขนาดใหญ่ในปัจจุบัน แต่คุณโอ๋อยากแนะนำผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมให้เตรียมตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ 

“ทำก่อนจะมีคนบังคับเถอะ บางคนอาจมองว่าการทำ ESG นั้นเป็นค่าใช้จ่าย แต่ส่วนตัวมองว่ามันเป็นการลงทุน และโมเดลของธุรกิจน่าจะต้องเปลี่ยนไปแล้ว การที่คุณทำเรื่อง ESG สุดท้ายนอกจากจะดีกับโลก ดีกับประเทศ ดีกับสังคมแล้ว มันดีกับธุรกิจคุณด้วย เพราะมันคือการดูแลการดำเนินงานของธุรกิจจากต้นน้ำสู่ปลายน้ำ สุดท้ายแล้วมันเกิดการประหยัด เกิดผลผลิตระหว่างทาง และธุรกิจก็จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในวันข้างหน้า ยิ่งในวันนี้ที่ผู้บริโภคเริ่มรับรู้ สมมติว่าซื้อของในราคาที่ใกล้เคียงกัน คุณจะซื้ออะไรระหว่างอันที่ตระหนักถึง ESG กับอีกอันที่ไม่ได้มีเรื่องของ ESG แน่นอนอยู่แล้วว่าเราต้องซื้ออะไรที่เป็น ESG”

เมื่อคำนึงถึงปัจจัยที่ว่านี้ประกอบกับผลตอบรับและความสำเร็จของโครงการ Krungsri ESG Awards ในปีแรก คุณโอ๋และทีมจึงไม่ลังเลที่จะจัดโครงการอีกครั้งในปีหน้า และเพื่อเป็นการสร้างแรงกระเพื่อมในวงกว้างขึ้นไปอีก ธนาคารกรุงศรีฯ​ จึงตั้งใจจะเปิดรับทุกธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าของกรุงศรีฯ หรือไม่ก็ตาม “โลกเราจะเป็น Net Zero จริง ๆ ได้ มันต้องทำกันทั้งซัพพลายเชน จะทำแค่จุดใดจุดหนึ่งไม่ได้ เราจึงหวังให้ลูกค้าของเราเชิญชวนเพื่อนที่อยู่ในซัพพลายเชนมาทำ ESG ร่วมกัน ไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้ากรุงศรีฯ ก็สมัครเข้าโครงการได้”

ซึ่งสาเหตุที่ทำให้กรุงศรีฯ ตัดสินใจขยายโครงการพร้อมสร้าง Krungsri ESG Academy เพื่อช่วยผู้ประกอบการเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ ESG Awards ในปีหน้านั้นเป็นเพราะ “เราต้องการสร้างคอมมูนิตี้ของ ESG ให้ใหญ่ขึ้น สร้างการรับรู้ สร้างแรงผลักดันไปยังกลุ่มของซัพพลายเชน สุดท้ายเราก็คาดหวังว่าอยากให้มีธุรกิจที่ได้รางวัลมากขึ้นอีก เราก็จะยินดีมาก ๆ”

ยิ่งมีผู้ได้รับรางวัลมาก โอกาสที่เราจะเป็นผู้ชนะในการต่อสู่กับภาวะโลกเดือดก็มากขึ้นเช่นกัน

และไม่ว่าจะคุณจะอยู่ในอุตสาหกรรมไหน ทำธุรกิจอะไร หรือเป็นลูกค้าของกรุงศรีฯ หรือไม่ หากมีอุดมการณ์ในเรื่องนี้เหมือนกัน ขอเชิญเข้าร่วมโครงการ Krungsri ESG Awards 2024 โดยลงทะเบียนล่วงหน้ากันไว้ก่อนได้เลยตั้งแต่วันนี้ที่นี่

Writer

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ลิตา ศรีพัฒนาสกุล

ชอบอ่านหนังสือก่อนนอน ออกกำลังกาย และกำลังตามหางานอดิเรกใหม่ ๆ

Photographer

Avatar

นินทร์ นรินทรกุล ณ อยุธยา

นินทร์ชอบถ่ายรูปมาตั้งแต่เด็ก พ่อแม่ซื้อฟิล์มให้ไม่ยั้ง ตื่นเต้นกับเสียงชัตเตอร์เสมอต้นเสมอปลาย เพื่อนชอบชวนไปทะเล ไม่ใช่เพราะนินทร์น่าคบเพียงอย่างเดียวแน่นอน :)