คำเตือน : บทความนี้มี ‘แมลง’

‘GFX Challenge Grant Program’ โดย FUJIFILM คือโครงการที่มอบทุนให้แก่ผู้ได้รับรางวัล Global Grant Awards ระดับโลก 5 รางวัล และ Regional Grant Awards ระดับภูมิภาค 10 รางวัล เพื่อสนับสนุนให้นักสร้างสรรค์ทำโปรเจกต์ภาพของพวกเขาให้เป็นจริง โดยใช้อุปกรณ์ของ FUJIFILM ในตระกูล GFX

ในแต่ละปีมีช่างภาพจำนวนมากจากทั่วโลกยื่นเสนอโปรเจกต์ของตัวเอง มีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นถึง 3 รอบ โดยกรรมการจากวงการภาพแนวหน้าของโลก เพื่อมอบทุนกว่า 10,000 ดอลลาร์ฯ ให้กับผู้ที่เหมาะสม

โดยปี 2021 ที่ผ่านมา ‘The Great Little Life’ โดย ต้น-กฤตนันท์ ตันตราภรณ์ ช่างภาพจากประเทศไทย คือ 1 ใน 5 โปรเจกต์ที่ได้รางวัล Global Grant Awards

จากเด็กที่ชอบถ่ายภาพสัตว์ป่า ต้นเดินหน้าสู่การเป็นนักศึกษาปริญญาตรีชีววิทยา นักศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ประเทศอังกฤษ และกลายมาเป็นช่างภาพแมลงชาวไทยผู้พาแมลงตัวน้อยทะยานสู่โปรเจกต์ใหญ่ระดับโลกอย่าง GFX Challenge Grant 

นอกจากนี้ ภาพ ‘แมลงภู่สีฟ้า’ ของเขายังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 4 ภาพที่ลงในนิตยสาร National Geographic Thailand ฉบับสุดท้ายของปี 2022

ต่อจากนี้คือเรื่องราวของช่างภาพผู้มองเห็นโลกใบเล็กอันแสนยิ่งใหญ่ และคุณค่าที่เขาค้นพบ 

“ผมถ่ายภาพโดยผสมวิทยาศาสตร์และศิลปะเข้าด้วยกัน ภาพเลยไม่ได้ออกแนวสารคดีทั้งหมด” 

ต้นพูดถึงลักษณะการถ่ายภาพแมลงของเขาที่เป็นลูกผสมระหว่างการถ่ายสารคดี แต่ยังแฝงความแฟนตาซีเอาไว้ หนึ่งในนั้นคือภาพที่เขาชอบที่สุดอย่าง ‘ผีเสื้อราจา’ (Rajah) 

“ส่วนใหญ่ผมถ่ายตัวอย่างแห้ง หรือแมลงที่ถูกสตัฟฟ์ไว้ในพิพิธภัณฑ์ เพราะง่ายกว่า ใช้เวลากับมันได้ หากเป็นตัวอย่างสดหรือแมลงที่ยังมีชีวิต บางทีแทบไม่มีทางได้ภาพเลย”

ถ้าอย่างนั้นอะไรคือความเหมือนและแตกต่างระหว่างถ่ายสัตว์ป่ากับแมลง เราถาม

“สิ่งที่เหมือนกันคือเราไม่อาจคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปได้ สิ่งที่ต่างคือเป็นคนละความรู้สึก เพราะแมลงมีจังหวะไวกว่า และจุดที่ยากกว่าคือสายตาของสัตว์บางตัวสื่ออารมณ์กับมนุษย์ได้ เสือมีท่าทาง ลิงมีภาษากาย แต่แมลงมันเล็กมากจนเรามองไม่เห็น บางทียังไม่รู้เลยว่าตาที่เห็นคือตาจริง ตาหลอก หรือแค่ลายของแมลง” เขาหัวเราะ

ต้นบอกว่าคนที่ถ่ายแมลงในประเทศไทยมีเยอะ แต่ช่างภาพแมลงไม่ได้เยอะขนาดนั้น เพราะส่วนใหญ่เป็นนักวิจัยที่บันทึกภาพเพื่อเก็บข้อมูลหรือทำงานวิจัยต่อ เป็นการถ่ายภาพให้ ‘ครบ’ ตามที่ต้องการ ขณะที่ต้นพยายามจัดองค์ประกอบภาพและหาพื้นหลังให้เหมาะกับแมลงแต่ละตัว

แน่นอนว่าการที่ต้นได้เข้าไปในคลังเก็บตัวอย่างแมลงในแต่ละพิพิธภัณฑ์ หรือเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีแมลงแต่ละชนิดอาศัยอยู่ได้ ก็เพราะคอนเนกชันที่สร้างไว้กับนักวิจัยที่ได้ร่วมงานกัน

“ถ้าไม่มีพี่ ๆ นักวิจัยพาไปจะเป็นเรื่องยากมาก เขาแค่มองก็รู้แล้วว่าตรงไหนมีแมลงอะไร สายตาพวกเขาจะเป็นประกายเหมือนเห็นของล้ำค่า” เราสังเกตว่าสายตาของอีกฝ่ายก็เปล่งประกายเวลาพูดถึงความงามของเหล่าแมลงเช่นกัน (แต่เขาอาจไม่รู้ตัว)

นอกจากความชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ ต้นยังมองการถ่ายภาพลักษณะนี้เป็นความท้าทาย เพราะตัวเองก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่ากดชัตเตอร์ไปแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จะสวยตรงใจขนาดไหน โดยเฉพาะเมื่อนางแบบนายแบบยังกระพือปีกบินไปมา

“นี่คือผลลัพธ์ในความบ้าบอและบ้าพลังของผม” เขาหัวเราะเขิน ๆ อย่างภูมิใจ

The Great Little Life คือโปรเจกต์ที่เขาเสนอกับโครงการ GFX Challenge Grant โดยต้องแข่งขันกับช่างภาพในประเทศตัวเองก่อน แล้วไปแข่งกับตัวแทนประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกต่อ 

ความบ้าพลังที่ต้นหมายถึง คือการเสนอขอทุนถ่ายภาพตัวอย่างแมลงในห้องพิพิธภัณฑ์ โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า ‘Focus Stacking’ หรือการถ่ายภาพเก็บรายละเอียดทีละส่วน แล้วนำภาพชุดเหล่านั้นมาประกอบกันจนเกิดเป็นภาพแมลงความคมชัดสูงเหมือนการส่องกล้องจุลทรรศน์ เห็นตั้งแต่เกล็ดบนปีก เล็บที่ขา เส้นขน จนถึงพื้นผิวดวงตา ซึ่งแน่นอนว่าชาติไหนก็ไม่มีทางเห็นด้วยตาเปล่า

“ผมคิดว่าได้รับคัดเลือกเพราะเป็นโปรเจกต์ที่บ้าพลังสุด ๆ กรรมการคงเห็นว่าใช้กล้อง Fujifilm GFX 100S ได้เต็มศักยภาพมากแน่

“ผมต้องตั้งกล้องให้นิ่งที่สุดถึงจะถ่ายได้ ในห้องเต็มไปด้วยอุปกรณ์พิเศษมากมาย เวลาเดินต้องย่อง ค่อย ๆ ขยับ เพราะถ่ายครั้งหนึ่งเป็นหมื่น ๆ ภาพ กว่าจะได้ออกมาเป็น 1 ภาพที่เห็น ใช้เวลา 2 วันในการถ่ายแมลงภู่สีฟ้าตัวนี้ รวมทำภาพอีก 2 วัน เป็นทั้งหมด 4 วัน

“แต่โปรเจกต์ที่เสนอไป ไม่ได้ถ่ายตัวเดียวไงครับ ผมเสนอไป 10 ตัว” เขาหัวเราะเสียงดังให้กับงานชิ้นโบแดง นอกจากนั้น รูปนี้ยังที่ได้ลงนิตยสาร National Geographic Thailand ฉบับสุดท้ายของปี 2022 ด้วย

Iridescent Beetle

“ส่วนภาพ Iridescent Beetle คือตัวอย่างของการที่เราถ่ายครั้งเดียวซึ่งมันจะไม่ชัด ซูมดูรายละเอียดไม่ได้ ภาพแตก แต่ถึงอย่างนั้น รูปนี้ก็ถือเป็นรูปแรกที่ทำให้ผมสนใจถ่ายแมลงสตัฟฟ์ด้วยเทคนิค Focus Stacking”

Focus Stacking คือเทคนิคที่ต้นเคยเรียนที่มหาวิทยาลัยนอตติงแฮมสมัยยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทด้านวิทยาศาสตร์ เขาบอกว่าตนเองชอบสารคดีและสัตว์มาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังมีคุณพ่อชวนถ่ายภาพ โดยเริ่มจากถ่ายภาพบุคคลและภาพแฟชั่น แต่ด้วยข้อจำกัดด้านอุปกรณ์ ความฝันที่จะเป็นช่างภาพสัตว์ป่าจึงต้องหยุดไป

“ผมลองชั่งน้ำหนักดูระหว่างเรียนปริญญาตรีด้านการถ่ายภาพกับเรียนชีววิทยา แต่คิดว่า ถ้าเลือกถ่ายภาพแล้วต้องมานั่งอ่านหนังสือชีวะเอง เราคงไม่มีไฟพอ ผมจึงเลือกเรียนชีวะเป็นพื้นฐาน แล้วค่อยฝึกถ่ายภาพเพิ่มเอาเอง” นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางช่างภาพแมลงกว่า 4 ปี

แมลงตัวเล็กสุดที่ต้นถ่ายคือแมลงหวี่ ใหญ่สุดคือตัวด้วง 

แมลงตัวแรกที่เขาถ่าย คือแมงมุมหน้าหอ สมัยเรียนที่อังกฤษ

ภาพแรกที่ถ่ายแล้วใช้ได้ คือภาพแมลงเต่าทองตัวนี้

“ย้อนกลับไปที่ภาพแมงมุม มันอยู่ในท่อมืด ๆ ต้องยิงแฟลชเข้าไป แต่ตอนนั้นผมถ่ายไม่เป็นเลย แฟลชก็ใช้ไม่เป็น ถือยิงมั่ว ๆ แย่มากครับ การถ่ายแมลงมีเทคนิคเฉพาะตัว พอถ่ายไปได้ 200 – 300 รูป ก็พบว่ามันห่วยแตก ลบทิ้งทั้งหมด”

คุณอยากบอกอะไรตัวเองในตอนนั้นไหม – เราถาม

“มันคือจุดเริ่มต้นนะ ถ่ายไม่ได้อย่าฝืน การตะบี้ตะบันถ่ายมุมเดิมไม่ได้ช่วยให้สวยขึ้น เราต้องกลับไปศึกษาก่อนว่าต้องคุมแสงยังไง เลนส์อะไรดี เพราะมันมีองค์ประกอบอื่นที่ต้องคิดและวางแผนเยอะ”

กว่าจะได้ผลลัพธ์ที่พอใจก็ใช้เวลานานพอสมควร นักศึกษาไทยคนนี้ฝึกฝนทุกวันด้วยการถ่ายเต่าทองแถวหอพักวันละหลายรอบ จนกระทั่งเลนส์ธรรมดา ๆ ของเขาสร้างสรรค์ภาพมัว ๆ ออกมาได้

“ผมถ่ายส่งอาจารย์แต่โดนว่ากลับมา (หัวเราะ) เขาบอกว่ามันอาร์ตเกินไป คุณอาจมีโอกาสแค่ 50% เท่านั้นที่จะขายได้” 

เสียงของอาจารย์ในชั้นเรียนวันนั้น ต้นยังจำได้ขึ้นใจ และเป็นข้อฉุกคิดว่า ที่อาจารย์กล่าวมาเป็นความจริง นอกจากขายความอาร์ตแล้วก็ยังต้องขายภาพได้ด้วย

“แมลงตัวนี้โดนแมงมุมปล่อยใยพัน ถ่ายตอนที่ทำโปรเจกต์เกี่ยวกับนวัตกรรมที่มนุษย์ได้มาจากแมลง ตอนถ่ายต้องใช้กล้องพิเศษ เรียกว่า SEM – Scanning Electron Microscopy หรือกล้องอิเล็กตรอน ซึ่งใช้ในทางการแพทย์ เมื่อกวาดลำอิเล็กตรอนบนผิววัสดุ หากอิเล็กตรอนไปเกาะมากก็จะเป็นส่วนสว่าง หากไม่เกาะจะเป็นส่วนทึบ”

โดยกล้อง SEM ยืมได้จากมหาวิทยาลัยหลายแห่ง ทั้งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล ส่วนใหญ่จะอยู่ในสาขาทันตกรรม

Mosquito

Blue-bot Wings

เรารู้สึกประทับใจกับภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์ที่เปี่ยมด้วยศิลปะเหล่านี้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะโลกของเหล่าภุมรา ไม่ใช่สถานที่ที่มนุษย์สัมผัสได้ด้วยตาหรือแม้กระทั่งปลายนิ้ว

กว่าจะออกมาเป็นผลลัพธ์ที่งดงาม มีคุณค่า และมีความหมายได้ ต้นต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างจริงจังก่อน ทั้งจากการอ่านและถามนักวิจัย

“ต้องถามเขาว่าแมลงตัวนี้มีอะไรน่าสนใจ เช่น วงจรชีวิต เขาจะทำอะไรช่วงไหนบ้าง ผสมพันธุ์ยังไง ฤดูไหน ตายช่วงไหน วางไข่ หรือมีอีเวนต์พิเศษไหม เพราะเราเองจะได้วางแผนการถ่ายให้เหมาะสมที่สุดด้วย”

ก่อนเริ่มถ่ายแนวสารคดี ต้นจะวางชอร์ตลิสต์เอาไว้คร่าว ๆ เกี่ยวกับภาพที่เขาอยากได้ เพื่อไม่ให้เกิดอาการช็อก (กับสภาพแวดล้อมของจริง) ตอนไปลงพื้นที่ และจะได้ร้อยเรียงเรื่องให้เป็นซีรีส์เดียวกัน

นอกจากนี้ เขายังศึกษาจากภาพที่นักวิจัยเคยถ่ายไว้ แม้องค์ประกอบในภาพเหล่านั้นจะยังไม่สมบูรณ์ แต่ใช้เป็นภาพอ้างอิงได้ โดยเฉพาะหน้าตาของสิ่งมีชีวิต นอกเหนือจากนั้น ต้นต้องมองหาว่ามีปัจจัยอะไรอื่นที่เขาควบคุมได้อีกซึ่งจะเป็นส่วนที่เจ้าตัวต้องมาคิดวางแผนต่อ

“ช่วงแรก ๆ ผมทำการบ้านไม่ดี คิดแค่ภาพในหัว แต่พอไปเจอของจริง มันไม่ได้สวยงามอย่างที่คิดเลย ถ้าทำได้ควรไปสำรวจพื้นที่ก่อนจะได้ช็อกแค่ 10 – 20% แล้วต้องหาคนให้ข้อมูลที่แนะนำเราได้

“ที่เหลือคือทำตัวให้ชินกับสถานที่ ดูข้อจำกัด ดูทิศทางแสงช่วงเช้า เย็น หรือกลางคืน คำนวณว่าจะใช้เวลาถ่ายกี่วัน ต้องเตรียมของเยอะขนาดไหน เพราะทุกอย่างมีเวลาที่เหมาะสมของมัน

“สำคัญเลยคืออย่าขนของไปเยอะ ยิ่งเวลาเดินป่ามันจะลดพลังกายเราไป แบกของหนัก กล้ามเนื้อสั่น ซึ่งตอนถ่ายภาพแมลงมือห้ามสั่นเลย เว้นแต่เตรียมไว้แล้วว่าแมลงตัวนี้ใช้ขาตั้งกล้อง มีรางสไลด์เพื่อถ่ายได้ ก็เอาไปแค่นั้นพอ” เขาแนะนำ

หนอนเรืองแสง

“ตอนที่หนอนกำลังเดิน ผมก็ไปซุ่มรอจังหวะในตำแหน่งดี ๆ ค่อย ๆ กดชัตเตอร์ไปเรื่อย ๆ โชคที่หนอนมันตื่นที่เลยไม่ค่อยขยับมาก แล้วผมก็จะพยายามจัดองค์ประกอบให้แมลงอยู่ในตำแหน่งไม่รก กำจัดสีที่ไม่เกี่ยวข้องออกไป”

เห็นภาพนี้ครั้งแรก เราเกิดความสงสัยทันทีว่าคือแมลงชนิดไหน

“มันคือหนอนเรืองแสงที่อาศัยอยู่กับหนอนหิ่งห้อย มีหางเรืองแสงเหมือนกัน แต่ไม่ได้โตไปเป็นหิ่งห้อย ผมชอบรูปพวกนี้นะ มันดูไซไฟ เหมือนเอเลียนดี”

หนอนหิ่งห้อย

เราสงสัยว่าการศึกษาแมลงหรือเก็บภาพแมลงมีความสำคัญอย่างไร

หากถามนักวิจัย แมลงคือตัวชี้วัดตามธรรมชาติเพื่อศึกษาธรรมชาติ ยกตัวอย่าง มด ซึ่งบ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมได้ดี หากที่ไหนมีน้ำท่วมหรือปริมาณน้ำขึ้นสูงผิดปกติ เรามักจะเห็นมดเดินย้ายรัง แบกไข่วิ่งกันจ้าละหวั่น

“หิ่งห้อยเป็นแมลงที่หายากมาก มันเคลื่อนที่เร็ว ไม่เกาะอยู่กับที่นาน ภาพนี้เป็นหิ่งห้อยตัวเดียวที่นักวิจัยเลี้ยงไว้ พอปล่อยก็บินหายไปเลย ตอนนั้นไม่จะรู้จะทำยังไงดี” 

ต้นเล่าความสิ้นหวังให้ฟัง แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องขอลอง

“ผมเล็งกล้องไปโง่ ๆ แล้วอยู่ดี ๆ หิ่งห้อยก็บินมาเกาะตรงหน้ากล้องพอดี ผมกดชัตเตอร์รัว ๆ เลย”

วินาทีนั้น ต้นกดชัตเตอร์แบบไม่คิดอะไรอีกแล้ว ต้องตั้งค่ากล้องให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้พลาดนาทีทอง ผลลัพธ์คือ

“10 ภาพ เบลอหมด แต่ดันมีภาพหนึ่งที่บังเอิญชัด! โชคดีมาก เพราะเขาเกาะอยู่แค่ 2 – 3 วินาทีเอง”

เราถามต้นต่อว่ามีสิ่งเร้าอื่น ๆ ที่จะมารบกวนการถ่ายภาพแมลงอีกไหม คำตอบคือ ‘ฝน’ เพราะแมลงมักไม่อยากตัวเปียก พวกมันจึงหนี แถมยังหนีก่อนที่ฝนจะตกเป็นหลักชั่วโมง

“นี่คือภาพที่บอกว่าอันตรายสุด ผึ้งตอมเต็มหัว แต่มันเป็นชันโรงตัวเล็ก ๆ ก็แค่แสบ ๆ คัน ๆ”

เขาบอกว่าเป็นครั้งแรกที่รู้สึกถึงความอันตรายกว่าทุกครั้ง เพราะในประเทศไทยก็มีแมลงที่ทำให้มนุษย์เสียชีวิตได้ แต่ถึงอย่างนั้น ผึ้งก็มีพิษอ่อนและไม่ได้อันตรายต่อมนุษย์มากนัก (หากไม่ได้แพ้)

“ผมมีรูปผึ้งเยอะมาก เพราะทำโปรเจกต์นี้นาน ปีกว่าก็ยังไม่จบด้วย เพราะต้องติดตามผลเรื่อย ๆ”

แต่นอกเหนือจากเหตุผลด้านการงาน ผึ้งยังเป็นแมลงที่เขาชอบมากที่สุดด้วย เพราะทั้งสวยและน่ารัก 

อย่างที่เคยเล่าไปตอนต้นว่า นักวิจัยคือกุญแจนำทางที่ช่างภาพแมลงขาดไม่ได้ ภาพนี้คือบทพิสูจน์

“นักวิจัยรู้อยู่แล้วว่าแมลงตัวไหนอยู่ที่ไหน อย่างปกติ พญามดทำรังอยู่ในต้นไม้ กอหญ้า หรือในดิน แต่ตัวนี้เขาอาศัยอยู่ในกิ่งไม้ และต้องเป็นกิ่งไม้ชนิดนี้ ในป่าหรือพื้นที่นี้เท่านั้น

“เราเดินตามนักวิจัยไป เขาฉีกกิ่งไม้ขนาดเล็กเท่าหลอดเป็นแนวขวางลงมา มดก็อยู่ในกิ่งนี่แหละ บางทีนักวิจัยเลยค้นพบแมลงสายพันธุ์ใหม่ได้ เขาแม่นกันมาก ทำให้เราเองก็ได้ข้อมูลใหม่ ๆ เร็วขึ้นด้วย”

ต้นถ่ายภาพอย่างจริงจังมานาน 8 ปี ครึ่งหนึ่งคือเวลาที่ได้ใกล้ชิดกับแมลง น่าสงสัยว่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา หลังได้ลองถ่ายมาแล้วหลายประเภท อะไรคือเสน่ห์ของแมลงที่เขาค้นพบ และเป็นสิ่งที่ไม่มีในการถ่ายภาพแบบอื่น

“เสน่ห์คือความงามที่ไม่อาจเห็นด้วยตาเปล่า 

“ภาพของนักวิจัยมีมุมมองเสมือนเราว่าอยู่ในโลกของแมลง ผมแค่เอาเทคนิคถ่ายภาพและองค์ประกอบมาทำเสริมให้สมบูรณ์ขึ้น คนทั่วไปอยากชื่นชมและลองเปิดโลกมากขึ้น แม้ผมจะไม่เคยรู้เลยว่า ผลลัพธ์จะออกมาดีหรือไม่ จะได้หรือเปล่า แต่ก็ยังอยากเอาตัวเองลงไปลุ้นกับพวกเขา

“พวกเขาที่ผมหมายถึง คือโลกเล็ก ๆ อันยิ่งใหญ่ของแมลง”

ไม่รู้ว่าหลอกตัวเองหรือเปล่า แต่ผมคิดตลอดว่าแมลงคือสิ่งสวยงาม ผมเลยอยากให้ความงามนี้คงอยู่ตลอดไป

Writers

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

ชลิตา สามหาดไทย

ชลิตา สามหาดไทย

นักเล่าเรื่องจากเมืองหมอลำ มักกินส้มตำตอนเที่ยง เลี้ยงแมวชื่อหมิงเรน

Photographer

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

ภรัณยู วรรณศรีพิศุทธิ์

นักศึกษาเอกญี่ปุ่นจากมหาสารคาม สนใจภาพถ่าย ชีวิตขับเคลื่อนด้วยเสียงเพลง อยากมีเงินไปมิวสิกเฟสติวัลเยอะๆ