ตรู๊ดดดดดดดดดดดด…

“Phonelink 152 สวัสดีค่ะ ขอทราบหมายเลขที่ต้องการส่ง”

“เบอร์ XXXXXX ครับ”

“ข้อความค่ะ”

“คิดถึงเธอเพียงใด เธอไม่รู้” โอเปอเรเตอร์ทวนประโยคระหว่างพิมพ์ตาม

“ลองคิดดู เอาสองคูณ เอาศูนย์หาร”

“มีผลลัพธ์คือความรักตลอดกาล”

“นานเท่านานยังไม่คลายหายรักเธอ จากคนที่คิดถึงครับ” โอเปอเรเตอร์หัวเราะ

ต่อ-คุ้มพัฒน์ พลาเวชกิจ เนิร์ดมือถือผู้สะสมเฉพาะรุ่นที่เคยใช้ตั้งแต่ยุค 80-2000 ได้พันกว่าเครื่อง
ต่อ-คุ้มพัฒน์ พลาเวชกิจ

เจ้าของบ้านบอกเราว่า โอเปอเรเตอร์เลเวลสูงระดับผู้เชี่ยวชาญจะไม่ส่งเสียงหัวเราะแม้แต่นิดเดียว แต่ถ้าคุณเจอโอเปอเรเตอร์ที่เก็บอาการไม่อยู่ มีความเป็นไปได้สูงว่าเพิ่งมาใหม่จึงยังไม่มีวิชา

ว่าแต่มีใครคุ้นเคยกับบทสนทนานี้บ้างไหม ถ้าคุณยิ้มตามหรือคิดถึงประสบการณ์ส่วนตัวอยู่ นั่นแปลว่า คุณไม่เด็กแล้ว! 

ยินดีต้อนรับวัยรุ่น 80s – 90s สู่ตู้โชว์เครื่องมือสื่อสารอายุอานามเท่าลูกหลานของ ต่อ-คุ้มพัฒน์ พลาเวชกิจ ชายผู้ปฏิเสธการอ่านนิตยสารฟุตบอล แต่อ่านนิตยสาร What Phone Magazine ชายผู้ปฏิเสธการสะสมกางเกงยีน กระเป๋า และรองเท้า แต่สะสมเพจเจอร์และมือถือ

เขาคืออดีตเจ้าของร้านโทรศัพท์ผู้เปลี่ยนมือถือทุก 3 เดือน สะสมปัจจัยที่ 5 ของมนุษย์กว่า 1,000 เครื่อง เคยนั่งรถไฟนานสุด 16 ชั่วโมง เพื่อมาซื้อมือถือรุ่นใหม่ในกรุงเทพฯ และใช้ ‘ความบ้า’ รวบรวมจนครบทุกรุ่นที่ตัวเองเคยใช้ภายในเวลา 4 ปี มีทุกยี่ห้อ ตั้งแต่เจ้าตลาดจนถึงลูกเมียน้อย 

ไหนใครเคยใช้รุ่นไหนบ้าง มาโชว์ให้เด็กดูหน่อย!

ย้อนกลับไปยุคคลาสสิก เรียก ‘วิทยุติดตามตัว’ อาจไม่คุ้นหูสักเท่าไหร่ แต่ถ้าเรียก ‘เพจเจอร์’ ต้องรู้จักแน่ เพจเจอร์คือหนึ่งในเทคโนโลยีที่สูญพันธุ์ไปแล้ว เช่นเดียวกับ ‘PCT’ โทรศัพท์บ้านเคลื่อนที่ (ใช้เบอร์เดียวกับเบอร์บ้าน) หน้าตาเหมือนมือถือทั่วไป แต่หากเด็กยุคใหม่มาเห็นก็คงไม่รู้ความแตกต่าง และคงไม่เคยเผชิญประสบการณ์ทดสอบความพยายาม ถ้าเดินหาสัญญาณเจอแล้วห้ามก้าวเท้าเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นสัญญาณหลุด!

เจ้าของห้องเดินผ่านโซน PCT ไปเปิดตู้เพจเจอร์ที่สะสมไว้ครบทุกบริษัทซึ่งเคยเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2520 น่าเสียดายว่าเพจเจอร์ครองตำแหน่ง ‘ของต้องมี’ ของวัยรุ่น 90s เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น ตั้งแต่ พ.ศ. 2530 – 2540 โดย PACLINK ภายใต้แบรนด์ Motorola คือเจ้าแรกที่เข้ามาทำธุรกิจเชิงพาณิชย์ในประเทศไทย

“อันนี้ของบริษัท Phonelink ราคาตอนนั้นประมาณ 3,900 บาท” เขาหยิบเพจเจอร์ที่ใช้เองขึ้นมาให้ดู ด้านหลังมีรอยสีเทียนระบายอัดเอาไว้ตามชื่อบริษัทผู้ผลิต บางอันมีชื่อเจ้าของเก่าเขียนอยู่ บางอันมีสติกเกอร์น่ารัก และบางอันก็มีภาพใบหน้าเจ้าของเก่าแปะอยู่

“ผมว่าการสื่อสารสมัยก่อนเป็นอะไรที่โคตรคลาสสิก เป็นช่วงเวลาแห่งการรอคอย ต้องพกเหรียญใส่กระเป๋า โทรหาโอเปอเรเตอร์ที่เป็นใครก็ไม่รู้ แต่ต้องมาฟังคนบอกรักกัน (หัวเราะ) แล้วสมัยนั้นเพจเจอร์จะมากับสมุดกลอน ทุกวันนี้ผมยังเก็บไว้อยู่ เห็นทีไรก็นึกถึงตอนโทรไปส่งข้อความถึงแฟนแล้วพูดกลอนเลี่ยน ๆ เราพูดเราก็อาย โอเปอเรเตอร์ก็เขิน” เขาหัวเราะ

“ตัวนี้คือ Hutchison Pagephone จากค่าย Motorola เพจเจอร์รุ่นที่หายากที่สุด เครื่องนี้พวกนักธุรกิจใช้กัน เพราะมันดูราคาทองคำและตลาดหุ้นได้”

ต่อบอกว่าสมัยนี้หาซื้อเพจเจอร์มาเก็บยากมาก เช่นเดียวกับโทรศัพท์ในความทรงจำหลากหลายแบบ แม้จะไปเดินตามตลาดขายของเก่าก็มีไม่เยอะแล้ว อย่างไรก็ตาม เขายังคงมองหาเครื่องมือสื่อสารเข้าบ้านอยู่เรื่อย ๆ เพราะสิ่งนี้เป็นแพสชันที่ค้นพบหลังเคยเก็บสะสมสิ่งของมาหลายอย่าง แต่สุดท้ายทั้งหมดนั้นก็ ‘ไม่ใช่’

เขาตกหลุมรักโทรศัพท์เก่าเข้าอย่างจังขณะเดินเล่นที่ตลาดปัฐวิกรณ์ สายตาของเขาพุ่งไปยังตู้ชั้นล่างสุด ซึ่งภายในมีขุมทรัพย์ล้ำค่าหลับใหลอยู่ หลังจากนั้น ต่อเริ่มต้นสะสมอย่างจริงจัง ถึงขั้นใน 1 สัปดาห์ใช้เวลาเดินหามือถือเก่าไปแล้ว 4 – 5 วัน

ด้วยแพสชันที่แรงกล้าและ ‘ความบ้า’ เขาใช้เวลา 4 ปี ในการเก็บครบทุกรุ่นที่อยากได้

“บางเครื่องอายุเกิน 2 ทศวรรษแล้ว ส่วนใหญ่ผ่านการใช้มาก็ต้องมีรอย พังบ้าง แตกบ้าง สภาพดีก็มี แต่หายาก ถ้ามาสภาพไม่ดี ผมก็ปั้นเอง เขาเรียกสายบิวต์ เอาส่วนอะไหล่ที่ดีมาต่อกัน ส่วนใหญ่ 3 เครื่องจะปั้นได้ 1 ตัว ผมชอบเก็บของสวย และจะภูมิใจมากถ้าปั้นแล้วมันยังใช้ได้ด้วย”

ยังมีอีก 200 – 300 เครื่องที่รอเขาหยิบออกมาปั้นต่อ

มือถือเครื่องเก่าในตู้คือไทม์แมชชีนชั้นดี ต่อย้อนความทรงจำไปสมัยซื้อมือถือใช้เองเครื่องแรก รุ่น Philip Twist ซึ่งเก็บเงินซื้อด้วยตัวเองในราคา 7,900 บาท เจ้าของบอกว่า ถึงจะหน้าตาตลก แต่ในวัยนั้นมีเพียงความตื่นเต้นที่ได้มีเบอร์โทรศัพท์เป็นของตัวเอง “หลัก ๆ คือผมอยากเท่” เขาเล่าด้วยรอยยิ้ม

บนชั้นสั่งทำพิเศษเพื่อโชว์ของสะสมโดยเฉพาะ เขาคว้า Motorola DynaTAC ลงมาให้เราดู นี่คือเครื่องมือสื่อสารอายุมากกว่า 30 ปี หนาจนมีคนตั้งฉายาให้ว่า ‘กระติกน้ำ’ และ ‘กระดูกหมา’ ถือเป็นมือถือรุ่นแรกของโลกที่ Motorola ผลิตขึ้นมาขาย และเป็นรุ่นแรกที่เข้ามาขายในไทย

Motorola DynaTAC

หลังจากที่โทรศัพท์เข้ามาแทนเพจเจอร์ในช่วง พ.ศ. 2544 เขาเรียงไทม์ไลน์จากรูปลักษณ์และฟังก์ชันให้ฟัง โดยแรกเริ่มจะเน้นการใช้งานเป็นหลัก เดิมมีเพียงการโทรเข้า-โทรออกเท่านั้น แต่ก็ไม่ต้องเดินเอียง เพราะหนักเหรียญแถมยังต้องไปต่อแถวยาว ๆ อีกต่อไป

“รุ่นแรก ๆ ยังมาแบบหน้าจอขาวดำ เครื่องหนา มีเสาอากาศ น้ำหนักพอสมควร จนตอนหลังบริษัทเริ่มแข่งขันกันพัฒนาให้เครื่องมีขนาดเล็กขึ้น บางขึ้น น้ำหนักเบาขึ้น และเก็บเสาอากาศเข้าไปในเครื่อง เปลี่ยนมาเป็นฝาพับ อย่าง Motorola StarTAC คือฝาพับรุ่นบุกเบิกและเป็นต้นแบบของรุ่นถัดมา”

ในยุคที่เก็บเสาแล้ว ไม่พูดถึง Nokia Series 8 รุ่น 8850 ก็คงไม่ได้ เพราะนี่คือรุ่นสุดหล่อโคตรหรู สำหรับต่อ ความเท่นี้ถึงกับทำให้เขาเก็บเงินหลักหมื่นเพื่อให้ได้มาครอบครอง

Philip Twist
Nokia Series 8 รุ่น 8850

ต่อถามว่าเรารู้จักเกมงูไหม เพราะถ้าคุยเรื่องมือถือเก่าจะไม่พูดถึงเกมงูก็ไม่ได้ ในอดีตเคยมีปรากฏการณ์ที่ทำให้คนเล่นเกมงูกันทั้งบ้านทั้งเมืองมาแล้ว ต่อเล่าว่าเกมนี้มาจาก Nokia รุ่น 3210 แต่รู้จักเป็นวงกว้างในรุ่น 3310 เป็นต้นมา นอกจากนี้คำว่า ‘อึด ถึก ทน ตกไม่แตก ปาหัวหมาแตก’ ก็หมายถึงรุ่นนี้นี่แหละ

อีกสิ่งที่เจ้าของห้องนำออกมาให้ชมคือ หน้ากาก Xpress-on Fun Shell Nokia 3220 แกดเจ็ตสุดหายากที่เขาได้มาครอบครองถึง 2 ชุด ทั้งยังเป็น New Old Stock ที่นักสะสมล้วนตามหา ต่อบอกว่านี่คืออุปกรณ์เสริมที่แพงที่สุดของโนเกีย ราคาในสมัยนั้นเกือบ 2,000 บาท ใช้ Air Message ได้โดยใช้คู่กับ Nokia รุ่น 3220 ซึ่งมีไฟดิสโก้

Nokia รุ่น 3210
หน้ากาก Xpress-on Fun Shell Nokia 3220

จากยุคขาวดำ เทคโนโลยีก็นำสีสันเข้ามาแต่งแต้ม Sony Ericsson คือโทรศัพท์รุ่นแรกที่เป็นจอสี เริ่มต้นจาก 256 สี และพัฒนาเรื่อยมาจนมีมากกว่า 400,000 สี พร้อมความละเอียดจอที่มากขึ้น ส่งข้อความเป็นภาพได้ เรียกว่า MMS (Multi Media Message) แถมยังเริ่มเข้าสู่ช่วงโหลดแอปพลิเคชันด้วยระบบปฏิบัติการซิมเบียน (Symbian) เช่น ใน Nokia รุ่น 6600 หรือที่คุ้นกันในฉายา ‘อ้วนดำ’ นั้นเอง

Nokia รุ่น 6600

“ตอนเรียนจบใหม่ ผมเคยฝันอยากเป็นเซลส์ขายมือถือ ซึ่งตรงกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งพอดี งานสายเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาหายาก หลายอาชีพผันตัวไปเป็นเซลส์ ตอนผมไปสมัครงาน คนสัมภาษณ์ยังตกใจ เพราะความรู้ของผมแน่นมาก แค่เสียงเรียกเข้าก็บอกได้ทันทีว่ารุ่นไหน เสียดายที่ผมไม่มีรถเลยเป็นเซลส์โชว์รูมซึ่งเงินเดือนน้อยกว่าแทน

“สุดท้ายชีวิตพลิกผันให้กลับไปอยู่ต่างจังหวัดเหมือนเดิม คุณแม่ของผมมีธุรกิจอยู่ ท่านก็บอกว่าให้ลงไปช่วยแล้วจะเปิดร้านมือถือให้”

ต่อจึงได้เปิดร้านมือถือของตัวเองในวัย 26 ปี ซื้อมาและขายไปในเว็บ ThaiSecondhand หรือประมูลดอตคอม แต่ก่อนขาย เขาต้องทดลองใช้ก่อนจนรู้แทบทุกอย่าง ทั้งยังศึกษาข้อมูลจากนิตยสารโทรศัพท์อย่างสม่ำเสมอ เสียแต่ว่าการมีธุรกิจในช่วงวัยรุ่นทำให้เขาปิดร้านบ่อยเพื่อไปเที่ยวกับเพื่อน

“ปิดร้าน แต่ความชอบของผมไม่หมดตาม ผมยังอยากได้โทรศัพท์ที่เคยจับมาเลยตั้งใจไล่เก็บหมดทุกรุ่น เพราะเรามีความทรงจำกับมันทุกเครื่อง แต่จะไม่ได้เก็บตามยี่ห้อโดยเฉพาะแบบคนอื่น”

เราถามเขาด้วยความสงสัยว่าวงการมือถือสมัยก่อนแข่งขันกันเรื่องอะไรอีกบ้าง เพราะจากที่เห็นในปัจจุบัน ‘กล้องอันคมชัด’ คือสิ่งที่ขาดไม่ได้เด็ดขาด

“ถูกต้อง กล้องถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้หลายคนตัดสินใจซื้อ อย่างตัวที่หายากสุด ๆ คือ Nokia N93i เป็นรุ่นแรก ๆ ที่นำเลนส์กล้องของบริษัทชั้นนำอย่าง ZEISS มาบิวต์อินในโทรศัพท์ ต้องบอกก่อนว่าสมัยนั้นยังไม่มีคำว่ากล้องหน้า-กล้องหลัง จะเป็นกล้องตัวเดียวที่หมุนได้” อย่างเจ๋ง – เราอุทาน

Nokia N93i ที่สุดของโทรศัพท์ปั้นยากสำหรับต่อ

จบยุคระบบซิมเบียนก็ถึงคราวของ Windows Mobile แต่อยู่ได้ไม่นานนัก Android ก็ตีตลาดมาแทนที่ (เริ่มเข้าใกล้ยุคปัจจุบันแล้ว) มีคนเคยกล่าวไว้ว่าสักวัน Android จะครองโลก ตอนที่ได้ยิน ต่อนึกภาพไม่ออก จนกระทั่งได้มาเห็นโทรศัพท์ Android รุ่นแรก ๆ อย่าง HTC Dream (Android 1.0) มีปากกา แต่หลังจากนั้น ระบบ iOS ก็ถือกำเนิด ตามมาด้วยการทำให้อวัยวะที่ 33 ทำงานได้ตั้งแต่สากกระเบือยันเรือรบ

Sony Ericsson Walkman จุดเริ่มต้นของการขายความบาง และเข้าสู่ยุคทัชสกรีนที่มีมาจนถึงตอนนี้

“แต่ต่อให้มีโทรศัพท์ที่ชอบเยอะแยะ ผมก็มีรุ่นที่ผิดหวังอยู่เหมือนกัน” เขาหัวเราะแห้งแล้วลุกไปหยิบ Motorola V100 มาให้เราดู ‘รูปทรงก็เท่ สีสันก็สวย แถมยังมีหูฟัง’ ทำไมถึงผิดหวัง – เราตั้งคำถาม

“ผมชอบของแปลกเป็นทุนเดิม เจ้าเครื่องนี้ทรงแปลกเตะตา ผมเลยนั่งรถไฟจากบ้านที่ต่างจังหวัดขึ้นมากรุงเทพฯ เพื่อซื้อมัน แล้วต่างจังหวัดที่ว่าคือปัตตานี นั่งมา 16 ชั่วโมง 1,200 กว่ากิโล ซื้อเสร็จกลับไปใช้ได้ 2 อาทิตย์ ขายทิ้งเลย

“มันเป็นมือถือที่ไม่ชอบโจทย์อะไรทั้งนั้น ไม่มีไมค์ ไม่มีลำโพงในตัว ทุกอย่างต้องผ่านสายสมอลล์ทอล์ก ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์อยู่คือสนุกเลย ต้องจอดรถแล้วเปิดดู รีบใส่หูฟัง แถมยังมีหูให้แค่ข้างเดียวอีก (หัวเราะให้ตัวเองในอดีต) จะกดรับกดวางที่สมอลล์ทอล์กก็ไม่ได้ เพราะไม่มีปุ่ม!” รีบขายไปถูกแล้ว – เราคิด

Motorola V100

เนื่องจากตู้เก็บความทรงจำของเขามีสมาชิกหลับใหลอยู่ในนั้นเป็นจำนวนมาก ต่อจากนี้จึงเป็นรุ่นโดยรวมที่เจ้าบ้านเลือกขึ้นมาให้ทุกท่านลองเช็กกันเล่น ๆ ว่าเคยผ่านตา เคยใช้ หรือยังมีเก็บไว้อยู่หรือเปล่า

“Nokia รุ่น N-Gage หรือที่เรียกกันว่า โนเกียหูช้าง เป็นจอที่ใช้ 4,096 สี ทุกคนซื้อมาเพราะเน้นเล่มเกม ใส่แผ่นเกมได้ วัยรุ่นยุค 90 คลั่งตัวนี้มาก เวลาคนโทรมาก็จะเป็นท่าแปลก ๆ หน่อย ต้องหันด้านข้างฟังเอา เพราะลำโพงอยู่ตรงนั้น” เขาทำท่าประกอบ และที่วางอยู่ไม่ไกลจากกันนั้นก็คือ PanaSonic GD มือถือขนาดเล็กที่ยุคนี้ไม่มีให้เห็นแล้ว

Nokia รุ่น N-Gage

“ส่วนอันนี้เป็นอีกรุ่นที่สไตล์เท่มาก Nokia รุ่น 8910 หลายคนเรียกว่า รุ่น 8 9 10 ความเท่อยู่ตรงที่กดแล้วมันเด้งขึ้นมาได้

“อันนี้ Sony Ericsson T68 เป็นมือถือจอสีเครื่องแรกที่ได้ใช้ และเป็นจอสีแบรนด์แรก ๆ ของโลก แม้ว่าตัวมือถือไม่มีกล้อง แต่เขามีอุปกรณ์เสริม (หันไปหยิบอะไรบางอย่างออกจากซองผ้า) นี่คือกล้องเสริมครับ เอาติดไว้ที่ก้นแบบนี้ก็ถ่ายรูปได้แล้ว!” เราตื่นเต้นไม่ต่างจากเขา เวลาไม่อยากใช้ก็แค่แกะออก ง่ายนิดเดียว – หายง่ายนิดเดียว! (เราหยอก)

Nokia รุ่น 8910

นับเป็นอีกหนึ่งการพูดคุยที่สนุกสนานและเต็มอิ่ม เราส่งข้อความไม่กี่ประโยคเพื่อชวนต่อมาพูดคุยกัน และใช้เวลาอีกกว่า 4 ชั่วโมงในบ้านที่เต็มไปด้วยเครื่องมือสื่อสารแห่งความทรงจำ

การเก็บสมบัติทางใจไว้ในห้องนอนซึ่งเป็นสถานที่แห่งการพักผ่อน แปลว่าสิ่งนั้นต้องคลายความทุกข์และเติมเต็มความสงบ-สุขของเขาได้เป็นอย่างดี 

“ผมใช้เวลาตามเก็บพวกเขา 4 ปี แต่ผมใช้เวลาทั้งชีวิตในการทำความรู้จักและจดจำพวกเขา โทรศัพท์คือไทม์แมชชีน พาเรากลับไปในช่วงเวลาที่ในความเป็นจริงไม่อาจกลับไปได้ ให้เราดื่มด่ำกับช่วงเวลานั้น มันคือความสุข ผมสุขคนเดียวก็อาจพอ แต่จะมีความสุขมากขึ้นอีกถ้ามีคนมาดูแล้วอินไปกับสิ่งที่ผมเล่า ผมเลยดีใจมากที่คุณติดต่อมา” เขายิ้ม

ในวันนั้นมีเพียงเราและทีมงานอีก 2 คน พร้อมด้วยต่อที่รับรู้เรื่องราวเหล่านี้

แต่ในวันนี้ ต่อจะมีเพื่อน มีผู้อ่าน ผู้มีประสบการณ์ร่วม และ ‘ผู้คิดถึง’ มารับรู้ความสนุกของการสื่อสารเหล่านี้ไปพร้อมกัน

สะสมอะไรก็ได้ที่ทำให้คุณมีความสุข แต่ผมจะบอกว่าสิ่งที่เก็บแล้วสุขที่สุด คือสิ่งที่เรามีความทรงจำร่วมด้วย

Writers

ชาลิสา นุตตะรังค์

ชาลิสา นุตตะรังค์

คนที่ชอบฟังมากกว่าพูด ไม่ใช่พูดไม่รู้เรื่อง แต่ขอเรียบเรียงคำก่อน ใช้ชีวิตบนหลัก ‘ถ้าเครียดก็แค่กินขนม’

วโรดม เตชศรีสุธี

วโรดม เตชศรีสุธี

นักจิบชามะนาวจากเมืองสรอง งานประจำเป็นนักฟัง งานพาร์ทไทม์เป็นนักเขียน งานอดิเรกเป็นนักเล่า

Photographer

มณีนุช บุญเรือง

มณีนุช บุญเรือง

ช่างภาพสาวประจำ The Cloud เป็นคนเชียงใหม่ ชอบแดดยามเช้า การเดินทาง และอเมริกาโน่ร้อนไม่น้ำตาล