เรื่องธุรกิจ ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย

ยิ่งเป็นธุรกิจครอบครัวด้วยแล้ว การบริหารจัดการย่อมสลับซับซ้อนมากกว่าองค์กรขนาดใหญ่ โครงสร้างและการบริหารงานของครอบครัวและธุรกิจถูกปรับมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนเหมาะสมกับบริบทของตลาด การแข่งขัน และสถานะของครอบครัว

เพราะธุรกิจครอบครัวไม่ใช่แค่หน่วยธุรกิจทั่วไป แต่เป็นตำนานจากรุ่นสู่รุ่น เป็นความภาคภูมิใจและศูนย์กลางที่รวบรวม แบ่งปันเรื่องราวค่านิยมของตระกูลที่ต้องดูแลรักษาและถ่ายทอดสู่คนรุ่นถัดไปให้ดีที่สุด

เรามักได้ยินเรื่องเล่าของคนรุ่นหนึ่งบุกเบิกสร้างธุรกิจจากน้ำพักน้ำแรงจนพลิกวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของรุ่นหนึ่ง มีคนรุ่นสองสานต่อและต่อยอดธุรกิจจากความสำเร็จเดิม จนเมื่อถึงรุ่นสามเป็นช่วงขาลง ลูกหลานไม่ลงรอยกันและเลิกกิจการในที่สุด พูดง่าย ๆ คือธุรกิจมักจะเจ๊งในมือคนรุ่นสาม 

KKP กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้เป็นที่ปรึกษาของหลากหลายตระกูลผู้มีความมั่งคั่งสูงของเมืองไทยไม่ได้คิดแบบนั้น

นั่นคือที่มาของโครงการ ‘KKP NeXtGen’ ที่ต้องการบ่มเพาะผู้บริหารรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน คือมีความพร้อมทั้งการศึกษา โอกาส และความเข้าใจในโลกธุรกิจ อายุประมาณ 24 – 30 ปี ผ่านหลักสูตรเข้มข้นต่อเนื่อง 3 สัปดาห์ที่จะทำให้ผู้เรียนไม่เพียงโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นจากความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรแถวหน้าสุดของไทยเท่านั้น แต่ยังเข้าใจตัวเองและธุรกิจของครอบครัวมากขึ้น พอที่จะเสริมสร้างธุรกิจครอบครัวให้งอกงามต่อไปได้ในอนาคตเมื่อเขาได้มีโอกาสกลับไปช่วยธุรกิจของครอบครัว  

The Cloud พาผู้อ่านไปพบกับเรื่องราวของธุรกิจครอบครัวและการวางแผนเพื่อส่งต่อความมั่งคั่งกับ คุณกุลนันท์ ซานไทโว ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen จากบทสัมภาษณ์นี้

คุณกุลนันท์ ซานไทโว ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen

พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ตลาดการลงทุนถือว่าท้าทายมาก ความมั่งคั่งของลูกค้าสินทรัพย์สูงที่ KKP ดูแลอยู่เป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยสถานการณ์ที่ผ่านมาถือว่ายากพอสมควร เพราะ พ.ศ. 2565 ดัชนีหุ้นโลกลดลงมา 18.36% และดัชนีตราสารหนี้ก็ปรับลดลงมากถึง 16.2% เช่นกัน เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดมาก่อน ประกอบกับตลาดการลงทุนมีความผันผวน มีความเสี่ยงค่อนข้างสูง นักลงทุนจึงเลือกที่จะทยอยนำไปฝากในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำจำนวนมาก นำเงินไปฝากด้วยดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น 

แต่ในภาพรวม สินทรัพย์ภายใต้การจัดการของ KKP ซึ่งมีอยู่ประมาณ 7.6 แสนล้านบาทถือว่าไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยังอยู่ระดับใกล้เคียงกับช่วงต้นปีที่ผ่านมา เนื่องจากเรามีผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย โดยในช่วงครึ่งปีแรก ลูกค้าให้ความสนใจ Private Equity (การลงทุนในหุ้นนอกตลาด) และตราสารหนี้ต่างประเทศ ซึ่งผลตอบแทนดีมากที่ 5 – 6% อายุตราสารปีครึ่งและมีเรตติ้งดีกว่าประเทศไทย อีกเรื่องคือการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน (ESG) ซึ่งเป็นเทรนด์ที่กำลังมาและได้รับความสนใจจากลูกค้ามากขึ้น

ประกอบกับหลายปีมานี้เราได้สร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ลูกค้าไปลงทุนต่างประเทศได้โดยตรงกับสถาบันการเงินระดับโลก 7 – 8 แห่ง เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนให้กับลูกค้าได้มากขึ้น หากพิจารณาว่ามูลค่าตลาดทุนประเทศไทยเรามีขนาดเพียง 0.3% ของมูลค่าตลาดทั้งโลก จะเห็นว่าโอกาสเยอะกว่าการลงทุนในประเทศค่อนข้างมาก 

โครงการ KKP NeXtGen เกิดขึ้นได้อย่างไร

เกิดจากที่เราทำธุรกิจด้านการดูแลความมั่งคั่งของลูกค้ากลุ่มสินทรัพย์สูง โดยก่อนที่ธนาคารเกียรตินาคินและบริษัทหลักทรัพย์ภัทรจะมารวมกิจการกันนั้น เราอยู่ที่บริษัทหลักทรัพย์ ลูกค้าของเรามาจากตลาดทุน ซึ่งสร้างความมั่งคั่งจากการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ และการลงทุนในตลาดทุน ในขณะที่ลูกค้าของธนาคารเกียรตินาคินจะต่างออกไป ลูกค้ากลุ่มนี้อาจจะร่ำรวยจากการทำกิจการขนาดกลาง ธุรกิจค้าขาย หรือมีโรงงานที่ค่อย ๆ เติบโตมาจากรุ่นสู่รุ่น นั่นทำให้ทายาทของลูกค้ากลุ่มนี้มีความรับผิดชอบและภาระพิเศษที่ต้องมารับช่วงกิจการต่อจากพ่อแม่ เราเลยริเริ่มทำโครงการนี้ เพื่อช่วยดูแลเรื่องการสืบทอดธุรกิจของลูกค้าธนาคารเป็นหลัก

เราเห็นว่าหลายคนเติบโตมากับการทำงานหนักร่วมกับพ่อแม่ ต้องเข้าไปช่วยกิจการที่โรงงานตั้งแต่เด็ก ๆ สุดท้ายจึงกลับมาทำงานที่บ้าน บางคนเรียนหนังสือเป็นหมอ พออายุ 30 ปีต้องกลับมาช่วยทำธุรกิจที่บ้านก็มี เพราะพวกเขารู้ว่าธุรกิจครอบครัวคือสิ่งที่ทำให้เขาได้ไปเรียนหนังสือ เป็นตัวสร้างความมั่งคั่งให้กับครอบครัว ถ้าเขาไม่ทำก็คงไม่มีการส่งมอบค่านิยมและความมั่งคั่งของครอบครัวเขาต่อ

สิ่งเหล่านี้ทำให้เราสนใจและไปเรียนเรื่อง Family Wealth Planning เพื่อดูแลและให้คำปรึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง ในโครงการเราจะเจาะเรื่องศาสตร์ของวิชานี้โดยเฉพาะ ชี้ให้เห็นว่าการวางแผนธุรกิจครอบครัวไม่จำเป็นว่าธุรกิจจะต้องมีเป็นพันล้านหรือเป็นหมื่นล้าน สิ่งสำคัญคือครอบครัวและกิจการที่ยั่งยืน ซึ่งเด็กที่มาเข้าโครงการส่วนใหญ่เป็นคนวัยเดียวกัน ประมาณ 27 – 28 ปี เป็นชีวิตจริงของคนที่จะได้รับส่งมอบธุรกิจและรู้ตัวเองว่าต้องทำธุรกิจต่อไป เจอปัญหาเดียวกัน เลยคุยแลกเปลี่ยนกันรู้เรื่อง เข้าอกเข้าใจกัน

ทุกคนเต็มใจกลับมาทำธุรกิจที่บ้านหรือเปล่า

มีผสมกันค่ะ บางคนไม่เต็มใจ อาจจะครึ่งหนึ่งด้วยซ้ำ แต่ด้วยเขารับรู้ถึงภาระหน้าที่ที่มีอยู่ รู้ว่ามันเป็นความรับผิดชอบ ความกตัญญู เพราะเวลาที่เราบอกว่าจะส่งต่อความมั่งคั่ง มันไม่ใช่แค่เรื่องเงิน แต่เป็นเกียรติยศหรือคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ (Intangible) ของครอบครัวที่ครอบครัวเขาสร้างขึ้นมา บางทีเรียกว่า Family Value อย่างบางบ้านบอกว่าเขาไม่เคยเบี้ยวจ่ายเงินธนาคารเลย หรือบางคนบอกว่าสายสัมพันธ์ธุรกิจที่พ่อแม่สร้างไว้คือสิ่งที่เราต้องรักษา ดังนั้นมันไม่ใช่แค่การเข้ามารับบริหารจัดการโรงงานหรือบริหารพวกเงินฝากเงินลงทุนที่มี แต่เป็นการสืบต่อสิ่งที่จับต้องไม่ได้ด้วย

กุลนันท์ ซานไทโว ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen คอร์สสอนผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกโจทย์อันท้าทายในอนาคต

เปลี่ยนทัศนคติคนที่ไม่เต็มใจหรือไม่พร้อมอย่างไร

เราอาจจะช่วยไม่ได้ทั้งหมด เราจึงเจาะจงช่วงวัยคนที่มาเข้าโครงการชัดเจนว่าเป็นคนในวัยที่กำลังจะมารับธุรกิจต่อจริง ๆ อาจเป็นคนที่เพิ่งเรียนจบปริญญาโท เขาจะเข้าใจกันและกันมาก เพราะเจอเรื่องเหมือนกัน เช่น พอเขาจะไปช่วยงานบางส่วนในกิจการ ญาติผู้ใหญ่ที่คุมด้านนั้นกลับไม่ให้ช่วย พวกเขาก็ได้แชร์ประเด็นพวกนี้กัน และนอกจากเรื่องธุรกิจของครอบครัว ยังมีเรื่อง ‘ธุระ’ ของครอบครัว เช่น ใช้เงินกงสีส่งลูกไปเรียนต่อที่ไหนดี ซื้อรถยี่ห้อไหนมาใช้ดี อันนี้เป็นธุระของฝั่งครอบครัวที่ทุกคนต้องบริหารจัดการไปพร้อมกับธุรกิจ และทั้งหมดมันจัดโครงสร้างอย่างเป็นแบบแผนได้ เพื่อให้การส่งมอบไม่ขัดแย้งหรือฟ้องกันภายหลัง

การจัดโครงสร้างนี่สำคัญมาก อาจยังไม่ต้องถึงขั้นมีธรรมนูญครอบครัว แต่ต้องมีข้อตกลง มีการวางแผนว่าใครจะเป็นผู้นำคนต่อไป เพื่อไม่ให้ทะเลาะกันเองภายหลัง ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะถูกปลูกฝังให้แก่ผู้มาเข้าโครงการ ซึ่งจะติดอยู่ในใจของพวกเขา ดังนั้น พอวันหนึ่งเมื่อเขาอายุสัก 40 ปีและต้องกลับมาดูประเด็นเหล่านี้ในฐานะผู้มีอำนาจตัดสินใจ พวกเขาจะมีองค์ความรู้ไปใช้ได้ เพราะมันไม่ใช่เรื่องนามธรรม แต่เป็นวิชาวิชาหนึ่งเลยที่มีโครงสร้าง มีกระบวนการ มีวิธีคิดที่เป็นระบบ

เมื่อไหร่ที่ธุรกิจครอบครัวจะต้องทำเรื่อง Family Wealth Planning

โดยมากเป็นคนรุ่นสาม เพราะคนรุ่นหนึ่งเพิ่งเริ่มสร้างตัว อาจมาจากเสื่อผืนหมอนใบ มีพี่กับน้องช่วยกันทำ ยังพูดกันรู้เรื่อง พอรุ่นสอง แต่ละคนต่างมีลูก คนเริ่มเยอะขึ้น มีสะใภ้ มีหลาน แต่ก็ยังพูดกันทั่วถึง บ้านไม่ไกลกันมาก อาจอยู่ใกล้โรงงาน เข้าไปช่วยกันได้ การสื่อสารยังอยู่ในระดับที่เขาจัดการได้เมื่อมีความขัดแย้ง อาจกินข้าวด้วยกันทุกวันหรือวันหยุด มีอะไรพ่อแม่ก็เข้ามาช่วยเคลียร์ ส่วนคนรุ่นสามมีหลายบ้าน หลานเยอะแล้ว ดูแลกันไม่ง่าย นี่คือจังหวะที่จำเป็นต้องทำเรื่อง Family Wealth Planning 

แต่ก็มีรุ่นสองบางคนมาให้เราช่วยทำธรรมนูญครอบครัวแล้ว คือบางทีเด็กที่มาเข้าโครงการเขาก็ไปบอกพ่อแม่ เวลาทำเรื่องนี้ สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือการต้องมานิยามกันให้ได้ว่าอะไรคือ ‘ค่านิยม’ ของครอบครัว ซึ่งอย่างที่บอก มันไม่ใช่แค่ธุรกิจ แต่คือคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ ต้องเขียนออกมาเลย ไม่อย่างนั้นนามธรรมนี้จะเป็นแค่เรื่องเล่าลอย ๆ เช่น บางบ้านบอกว่าความรักในครอบครัวเหนือสิ่งอื่นใด ดังนั้น เวลามีปัญหาหรือจะแย่งสมบัติกัน พอกลับมาดูค่านิยมครอบครัว มันก็จะชัดว่าใครที่ไปฝืนค่านิยมนี้เพียงเพราะจะมาแย่งสมบัติ เท่ากับไม่ทำตามที่ตกลงเอาไว้

กุลนันท์ ซานไทโว ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen คอร์สสอนผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกโจทย์อันท้าทายในอนาคต

ธรรมนูญครอบครัวควรเป็นยังไง

เวลาที่เราส่งมอบความมั่งคั่งให้ราบรื่นต้องมีวิธีคิด มีโครงสร้างและกระบวนการที่ใช่ รวมเรียกว่า ‘ธรรมาภิบาล’ เหมาะสำหรับตระกูลที่คนเริ่มเยอะ การสื่อสารยากขึ้น จึงต้องมีธรรมนูญครอบครัวขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทาง แต่มันไม่ใช่กฎหมาย มันเป็นข้อตกลงร่วมกันในฝั่งครอบครัว 

นอกจากนั้น ในฝั่งการบริหารธุรกิจก็ต้องทำเรื่องบริษัทด้วย ต้องมีคณะกรรมการอะไรต่าง ๆ ให้ชัดเจน ส่วนใหญ่แล้วบริษัทที่ยังไม่ได้จ้างมืออาชีพมาจัดการ สมาชิกครอบครัวและบอร์ดบริหารมักเป็นคนกลุ่มเดียวกัน ดังนั้น ถ้าไม่จัดระเบียบให้ชัด ก็จะแยกไม่ออกว่าใครต้องทำอะไร อันไหนเงินบริษัทเงินส่วนตัว บางทีพอจัดโครงสร้างแล้วก็แยกหุ้น แยกงาน หรือแยกธุรกิจกันไปทำเลยก็มี

แนะนำเรื่องการจัดการธุรกิจครอบครัวอย่างไรบ้าง

ถ้าในต่างประเทศจะมีกองทุนรวมเพื่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Living Trust) เพื่อปกป้อง จัดสรร และแบ่งผลประโยชน์ให้คนในครอบครัว แต่ประเทศไทยยังไม่มี จึงต้องตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งแทนเพื่อจัดการ โดยถือเป็นบริษัทแม่ที่มีหุ้นและลงทุนในกิจการของครอบครัวทั้งโรงงาน โรงแรม และธุรกิจอื่น ๆ

กรณีที่ครอบครัวใหญ่ก็มีสภาครอบครัว มานั่งคุย กินข้าวกัน ส่งตัวแทนมาบ้านละ 1 คน เวลามีอะไรเขาก็จะยึดตามธรรมนูญครอบครัว ใครไม่ทำตามก็จะโดนลงโทษ โดยตัวธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่กฎหมาย แต่ในบางส่วนอาจต้องนำไปใส่ไว้ในข้อบังคับของบริษัทให้ล้อกันไปด้วย จะได้มีกระบวนการทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติและสอดคล้องกันระหว่างฝั่งธุรกิจและฝั่งธรรมนูญครอบครัว

กุลนันท์ ซานไทโว ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen คอร์สสอนผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกโจทย์อันท้าทายในอนาคต

ปลายทางของธุรกิจครอบครัว จำเป็นต้องขายกิจการหรือเปลี่ยนไปเป็นบริษัทมหาชนหรือเปล่า

ธุรกิจครอบครัวเติบโตได้โดยไม่ต้องขายต่อกิจการไปให้ใคร เราทำให้การบริหารจัดการเป็นมืออาชีพได้ ถึงเป็นธุรกิจครอบครัวก็ต้องดำเนินการอย่างโปร่งใส มีหลักธรรมาภิบาล ทำระบบบัญชีให้ถูกต้อง มีกฎกติกาการบริหารงานที่ชัดเจน มีโครงสร้างและข้อตกลงในครอบครัวที่เหมาะสมกับค่านิยม วัฒนธรรมของครอบครัว เพื่อลดความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นระหว่างสมาชิก บางกรณีธุรกิจครอบครัวเขามีความพร้อมหรือมีโอกาสเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ต้องมาพิจารณาโครงสร้างผู้ถือหุ้นและข้อตกลงระหว่างสมาชิกครอบครัวให้ชัดเจน การจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้เกิดความชัดเจนของการแบ่งงานและผลประโยชน์ระหว่างสมาชิกในครอบครัวได้

ปัญหาที่เหล่าทายาทธุรกิจมาปรึกษาคืออะไร

ส่วนใหญ่ไม่ได้ถึงขนาดมาบอกว่าจะขายธุรกิจเดิมทิ้ง แต่มักจะบอกว่ามีไอเดียใหม่ อยากทำของตัวเอง ซึ่งพ่อแม่ยังไม่เชื่อในฝีมือ ก็ต้องพิสูจน์ให้เขาเห็น มีอยู่ปีหนึ่งช่วงก่อนโควิด-19 ทุกคนอยากมีธุรกิจของตัวเองกันทั้งนั้น ทางโครงการเลยให้แต่ละคนนำเสนอว่าธุรกิจที่อยากจะทำ เทียบกับธุรกิจที่บ้านแล้วเป็นอย่างไร จะหาเงินทุนมาจากไหน ทักษะที่ควรมีในการทำธุรกิจนั้นมีครบหรือยัง บางทีคำตอบก็ออกมาเองว่ายังเสี่ยงเกินไปสำหรับการออกไปทำเอง แต่ถ้าธุรกิจดูเป็นไปได้ บางครอบครัวก็ให้ไปขอเงินมาทำได้

กุลนันท์ ซานไทโว ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen คอร์สสอนผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกโจทย์อันท้าทายในอนาคต

กระบวนการคัดเลือกและถ่ายทอดความรู้เป็นอย่างไร

เราคัดคนเข้มข้นมาก เป็นคนอายุ 24 – 30 ปีที่จะกลับไปทำงานที่บ้าน ต้องมีประสบการณ์การทำงาน เป็นหลักสูตรเต็มเวลา 3 อาทิตย์ครึ่ง ต้องมาเรียนสม่ำเสมอ มีเวลาเรียนไม่น้อยกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ห้ามโดดเรียน เพราะวิทยากรที่มาสอนก็เป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งสิ้น อาทิตย์แรกเป็นการให้แรงบันดาลใจพวกเขา ก็มี คุณนิ้วกลม-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์ นักเขียนชื่อดังมาพูด มีคุณ เตา-บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร และ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ KKP มาคุยให้แรงบันดาลใจด้วย 

อาทิตย์ที่ 2 เป็นเรื่องการจัดการความมั่งคั่ง เรียกว่าสอนกันให้รู้จักทุกประเภทสินทรัพย์เลย แล้วพออาทิตย์ที่ 3 จะเป็นการให้ ‘เครื่องมือ’ กับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาจุดแข็งของธุรกิจ การบริหารความขัดแย้ง การทำโฆษณาและแบรนด์ การตลาดดิจิทัล อาทิตย์สุดท้ายจะเป็น CSR in Process ก่อนปิดท้ายด้วยการแข่งทำเคสธุรกิจกัน

รุ่นหนึ่งจะรับผู้เรียนประมาณ 50 – 60 คน ตอนนี้มีคนมาสมัครเยอะมาก ต้องสัมภาษณ์เยอะเลย เวลาสัมภาษณ์ก็รู้แล้วว่าเขาอยากมาเองหรือพ่อแม่ให้มาสมัคร เห็นความแตกต่างชัดเจน ผู้สมัครจะต้องเขียนเป็นเรียงความเข้ามาว่ารู้จักโครงการจากไหนและทำไมจึงอยากเข้าร่วม ตัวหลักสูตรก็ต้องไม่หยุดนิ่ง ปรับเนื้อหาให้เป็นไปตามยุคสมัยตลอด อย่างยุคนี้ เรื่องความปลอดภัยไซเบอร์หรือปัญญาประดิษฐ์ก็ต้องมีสอนเขา 

แผนการพัฒนาหลักสูตรต่อไป เราว่าเทรนด์ข้างหน้าคือเรื่องความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คนมาเรียนเขาเป็นบริษัทเล็ก ๆ เขาจะไปพึ่งเรื่องนี้กับใคร จะไปจ้างที่ปรึกษาที่ไหน ในขณะที่มันจะกลายเป็นต้นทุนของธุรกิจพวกเขามากขึ้นเรื่อย ๆ ต้องเริ่มเอาสิ่งเหล่านี้มาสอนด้วย

กุลนันท์ ซานไทโว ผู้ก่อตั้งโครงการ KKP NeXtGen คอร์สสอนผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ พร้อมรับทุกโจทย์อันท้าทายในอนาคต

7 Things you never know

about Kulnan Tsanthaiwo

1. มีคนเคยทักว่าเหมือน มิเชล โหย่ว หรือเปล่า

มีค่ะ ดร.อนุชิต อนุชิตานุกูล (ที่ปรึกษาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร) ชอบทัก แต่ว่าไม่ใช่ตอนสาวนะคะ (หัวเราะ)

2.  ดื่มกาแฟหรือเปล่า

กินกาแฟใส่นม แต่ไม่ใส่น้ำตาลค่ะ กินวันละแก้วครึ่ง

3.  เบียร์หรือไวน์

ทั้ง 2 อย่างค่ะ กินไวน์ขาวเพราะเป็นไมเกรน ลำดับที่เรากินจะเป็นเบียร์ แชมเปญ และไวน์ขาว

4. ปัญหาโลกแตกที่เราชอบถามกันคือพ่อแม่รักลูกไม่เท่ากัน จริงมั้ย

ก็อาจจะจริงค่ะ ขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว

5.  พ่อแม่เจ้าของธุรกิจมักฝากความหวังไว้ที่ใคร

พ่อแม่หลายคนคาดหวังกับคนโตมาก ๆ แต่จริง ๆ แล้วคนที่ทำหรือผลักดันธุรกิจต่อมักเป็นลูกคนกลาง ไม่ว่าเป็นลูกคนไหน เราว่าฝั่งลูกก็ทำดีของเราต่อไป นั่นสำคัญที่สุดค่ะ

6.  เลือกใส่รองเท้าส้นสูงหรือผ้าใบ

ผ้าใบค่ะ! (หัวเราะ) ตอนนี้มีอายุแล้ว ปวดขา มันเกินกว่าที่จะแคร์เรื่องใส่ผ้าใบแล้ว

7.  ชอบเดินหรือวิ่งมากกว่ากัน

ชอบเดินค่ะ จะเดินฝั่งเกาะรัตนโกสินทร์ เดินไปตลาดน้อย เยาวราช สะพานพุทธ ข้ามไปฝั่งธนฯ ยาวไปไอคอนสยาม แล้วเดินกลับมาเจริญกรุงก็บ่อยนะ

Writer

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

นักข่าวธุรกิจที่ชอบตั้งคำถามใหม่ๆ กับโลกใบเดิม เชื่อว่าตัวเองอายุ 20 ปีเสมอ และมีเพจชื่อ BizKlass

Photographer

Avatar

วรุตม์ ไฉไลพันธุ์

เมื่อก่อนเป็นช่างภาพหนังสือเดินทาง ปัจจุบันเป็นช่างภาพกักตัวครับ