สไลเดอร์มีไว้ไถลตัวลงมา ชิงช้ามีไว้นั่งแล้วแกว่งไกว 

ในวัยเด็ก เราต่างคุ้นเคยกับการเล่นที่มี ‘วิธีใช้’ ชัดเจน ยังไม่นับสิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เต็มไปด้วยกฎเกณฑ์ โรงเรียนที่สอนว่าต้องทำอะไร พ่อแม่ที่บอกเราว่าชีวิตควรไปทางไหน 

จะดีแค่ไหน สนุกแค่ไหน ถ้าเราได้มีอิสระในการสนุกกับชีวิต

และนี่คือสิ่งที่ ‘Kitblox’ แบรนด์ของเล่นของสถาปนิกอย่าง ญารินดา บุนนาค และอาจารย์สอนวิชาออกแบบสนามเด็กเล่นอย่าง Roberto Requejo Belette ตั้งใจมอบให้เด็ก ๆ

Kitblox ตัวต่อยักษ์ส่งเสริมพัฒนาการที่มอบพลังให้เด็กออกแบบพื้นที่เล่นของตัวเองได้

แทนภาพจำของเล่นหรือเครื่องเล่นที่เราคุ้นตา ตัวต่อสีสดขนาดยักษ์ของ Kitblox ชักชวนให้เด็กตัวจิ๋วผู้ใช้งานลองหยิบ ตั้ง ต่อ ซ้อน ประกอบ เพื่อสร้าง ‘สนามเด็กเล่น’ ขึ้นมาด้วยตัวเอง 

อยากเห็นพื้นที่แบบไหน อยากเห็นเครื่องเล่นอะไร อยากใช้งานมันแบบไหน ก็สร้างสรรค์ได้ดั่งใจ

อะไรทำให้นักออกแบบ 2 คนลุกขึ้นมาลงมือสร้างของเล่นที่ช่วยให้เด็กออกแบบพื้นที่เล่นของตัวเองได้ 

เราชวนญารินดานั่งลงพูดคุย ท่ามกลางโมเดลตัวต่อและลูกชายคนโตกับลูกสาวตัวน้อยที่เพิ่งตื่นจากการนอนกลางวันของเธอ

จากอาคารบ้านเรือน สู่สนามเด็กเล่น

แรกที่สุด ญารินดาและโรแบร์โต้เริ่มต้นการทำงานเหมือนนักออกแบบทั่วไป คือเรียนจบแล้วตั้งบริษัทรับออกแบบอาคารและตกแต่งภายในตามที่เรียนมาในชื่อ Imaginary Objects แต่เมื่อได้ลงมือทำงาน และรู้จักพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งชิ้นงานของพวกเขาตั้งอยู่มากขึ้น ทั้งคู่ก็พบว่าสิ่งที่เมืองนี้ขาดอยู่คือ ‘พื้นที่เล่น’ ซึ่งการเล่นนั้นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับพัฒนาการของเด็ก ๆ 

“เรามาสังเกตดูว่าเด็กไทยขาดพื้นที่เล่นและพื้นที่เรียนรู้ภายนอก นอกจากนี้ ภายในกรุงเทพฯ มีพื้นที่รกร้างซึ่งเป็นพื้นที่เหลือใช้ค่อนข้างเยอะ และเป็นพื้นที่ซึ่งชุมชนมองว่าสกปรกหรืออันตราย เราเลยเกิดไอเดียไปเสนอกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ว่า ถ้าเราสร้างสนามเด็กเล่นไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ เหล่านั้นได้ มันจะเป็นการพัฒนาพื้นที่และทำให้บริเวณนั้นกลายเป็นศูนย์รวมของชุมชน”

หลังจากนั้น พวกเขาจึงเริ่มต้นงานออกแบบสนามเด็กเล่นที่มีเครื่องเล่นถาวรอย่างที่เราคุ้นเคย เพื่อพัฒนาเมืองและเพิ่มพื้นที่เล่นให้เด็กไทย

ก่อนที่สนามเด็กเล่นเหล่านี้จะพาทั้งคู่ไปพบประเด็นน่าสนใจ ซึ่งนำไปสู่ก้าวถัดไปของการออกแบบ

จากสนามเด็กเล่นที่ผู้ใหญ่สร้าง สู่สนามเด็กเล่นที่เด็กสร้าง 

การลงมือสร้างสนามเด็กเล่นดูเป็นไอเดียที่ดี แต่ญารินดาและโรแบร์โต้พบว่าสนามเด็กเล่นแบบสร้างเสร็จ มีเครื่องเล่นชิ้นใหญ่ไปวางพร้อมสรรพอาจไม่ตอบโจทย์ชุมชนซึ่งอาจต้องการใช้พื้นที่ไว้ทำสิ่งอื่น 

นอกจากนั้น พวกเขายังได้รับโจทย์ให้ทดลองออกแบบสนามเด็กเล่นที่ถอดประกอบได้ โยกย้ายง่าย เพื่อนำไปให้เด็ก ๆ เล่นที่งาน ‘EF Festival สร้างลูก สร้างโลก’ ซึ่งจัดโดย Mappa และภาคีเครือข่ายทำให้นักออกแบบทั้งสองเริ่มจุดประกายการสร้างสนามเด็กเล่นในรูปแบบที่ต่างออกไป

มากกว่านั้น เมื่อลงพื้นที่ทำสนามเด็กเล่นและได้คุยกับเด็ก ๆ ผู้ใช้ ทั้งคู่ก็พบอินไซต์สำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้

“เราไปสัมภาษณ์เด็กในโรงเรียนที่จะไปทำสนามเด็กเล่นให้เขา เราถามเด็กว่า อะไรสนุกที่สุดในสนามเด็กเล่น เขาบอกว่าเขาชอบวิ่งขึ้นสไลเดอร์ คือคนออกแบบเขาตั้งใจให้คนปีนขึ้นไปแล้วสไลด์ตัวจากบนลงล่าง แต่เด็กมีวิธีเล่นกับเครื่องเล่นมากไปกว่าที่คนออกแบบตั้งใจไว้” 

พฤติกรรมของเด็กที่เหนือความคาดหมาย เปิดความเป็นไปได้ใหม่ให้ผู้ใหญ่นักออกแบบ 

แล้วเมื่อประกอบกับสิ่งที่ค้นพบอื่น ๆ ทั้งหมด นักออกแบบทั้งสองจึงตัดสินใจตั้งแบรนด์ของเล่นรูปแบบใหม่

นั่นคือ Kitblox แบรนด์ของเล่นตัวต่อชิ้นใหญ่สำหรับเด็กวัย 3 – 9 ปีที่เปิดโอกาสให้เด็กออกแบบและสร้างสนามเด็กเล่นได้ด้วยตัวเอง

จากการเล่นในกรอบ สู่การเล่นนอกกรอบที่ส่งเสริมพัฒนาการเด็ก 

Kitblox ไม่เพียงสร้างของเล่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของเด็กและชุมชน แต่รูปแบบการเล่นที่ Kitblox มอบให้ผู้ใช้ตัวจิ๋วนี้ยังมีประโยชน์มหาศาลซ่อนอยู่

ที่หน้าเว็บไซต์ของญารินดาและโรแบร์โต้เรียกการเล่นแบบนี้ว่า ‘Unstructured Play’ หรือการเล่นแบบอิสระ

“Unstructured Play คือการเล่นโดยที่ไม่มีขอบเขต ไม่มีข้อบังคับ ไม่มีกฎเกณฑ์ว่าอะไรถูกอะไรผิด เด็กเป็นคนสร้างกฎเอง และกฎนี้เปลี่ยนแปลงได้ มีผลวิจัยรับรองว่าการเล่นรูปแบบนี้ช่วยส่งเสริมพัฒนาการเด็ก ช่วยทําให้เขามั่นใจในตัวเองมากขึ้น และรู้จักการวางแผน” 

นอกจากนี้ การได้หยิบของชิ้นใหญ่กว่าตัวมาประกอบสร้างสภาพแวดล้อมด้วยตัวเองยังเป็นการ Empower ทำให้เด็กค้นพบพลังที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง เพราะเขาจะพบว่าตัวเองทำได้มากกว่าที่คิด ได้รู้ว่าตัวเองเป็นนักออกแบบ เป็นสถาปนิกที่สร้างสิ่งยิ่งใหญ่ขึ้นมาเองได้

และเพื่อให้เด็ก ๆ พบประสบการณ์ Unstructured Play ที่ดีที่สุด ตัวต่อยักษ์ของ Kitblox จึงได้รับการออกแบบอย่างพิถีพิถัน ตั้งแต่การใช้วัสดุโฟมอีวีเอ (EVA) แบบเดียวกับโฟมว่ายน้ำที่น้ำหนักเบาและทำความสะอาดง่าย การใช้สีสันสดใสน่าสนใจ จนถึงเรื่องสำคัญมากกับการเล่นอย่างขนาดและน้ำหนัก รวมถึงรูปทรงของตัวต่อ

“สิ่งที่เราให้ความสําคัญมากที่สุดคือขนาด ของเล่นของ Kitblox ต้องใหญ่พอที่จะสร้างพื้นที่ได้ เราอยากให้เด็กสร้างสนามเด็กเล่นจริง ๆ อยากให้เขารู้สึกว่าตัวเองทํางาน 

นอกจากนั้นยังมีเรื่องการออกแบบรูปทรงที่ต้องรักษาสมดุลระหว่างความสะดุดตาซึ่งทำให้น่าเข้าไปเล่น ความเป็นนามธรรมที่ส่งเสริมจินตนาการ และความคล้ายคลึงกับชิ้นส่วนเครื่องเล่นสนามเด็กเล่นที่ช่วยให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองสร้างสนามเด็กเล่นอยู่ รวมถึงรูปทรงเหล่านี้ต้องมีความเป็น Modular เป็นชิ้นส่วนที่สอด เสียบ ต่อเข้าด้วยกันได้”

ญารินดาและโรแบร์โต้นำประสบการณ์จากการออกแบบสนามเด็กเล่นมาปรับใช้กับ Kitblox แต่มากกว่านั้น เมื่อได้โมเดลตัวต่อยักษ์สีสดใสมาอยู่ในมือ คุณแม่ลูก 2 อย่างญารินดายังให้ลูก ๆ เป็นคนร่วมด้วยช่วยทดลองใช้ด้วย

“เราเอาลูกนี่แหละเป็นหนูทดลอง (หัวเราะ) พอได้เห็นวิธีที่เขาเล่น เราก็จะเข้าใจว่า อ๋อ ตัวต่อแต่ละชิ้นตีความได้หลายแบบ มีฟังก์ชันการใช้งานได้เยอะมาก อย่างตัวต่อชิ้นหนึ่งที่มีรูปทรงยาว ลูกก็จับวางตั้ง บอกว่ามันคือบันได เราก็เอาข้อมูลพวกนี้มาประกอบในการออกแบบ”

เมื่อออกแบบอย่างตั้งใจและด้วยความเข้าใจ Kitblox จึงกลายเป็นของเล่นที่เหมาะกับเด็ก ๆ เป็นที่สุด

แน่นอน จะมีใครยืนยันได้ดีกว่าเด็ก ๆ ผู้ใช้จริง

จากของเล่นชิ้นโต สู่เครื่องมือพัฒนาเด็กไทย 

Kitblox ได้นำไปให้เด็ก ๆ เล่นจริง ต่อจริง ที่งาน EF Festival สร้างลูก สร้างโลก โดยผลลัพธ์ที่ได้สุดแสนจะคุ้มค่า เด็ก ๆ สนุกกันลืมเวลา ขณะที่พ่อแม่เองก็ได้เห็นลูก ๆ ในมุมที่ต่างออกไป

“มันเจ๋งมากเลย เด็ก ๆ เอาไปต่อเป็นสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่หยุดเลย แล้วเราก็ได้เห็นด้วยว่าเด็กมีวิธีเล่นด้วยกัน ช่วยเหลือกัน ร่วมกันสร้างพื้นที่เล่น กลายเป็นว่าเมื่อให้เด็กเป็นใหญ่ พวกเขาก็มีจังหวะของตัวเอง แล้วในงานนั้น ผู้จัดตั้งใจไม่ให้ผู้ใหญ่เข้าไปตรงพื้นที่ที่เด็ก ๆ เล่นกัน พอพ่อแม่ได้ดูลูกเล่นจริง ๆ เขาก็เห็นว่า เด็กมีศักยภาพมาก พวกเขาทำงานร่วมกันแล้วสร้างสิ่งที่คิดไม่ถึง หรือสร้างบางอย่างที่เหมือนผู้ใหญ่สร้างได้” 

และในอนาคต ญารินดาและโรแบร์โต้ก็ตั้งใจจะมองหาทางให้ตัวต่อตัวโตเหล่านี้ไปสู่มือของเด็กไทยในความหมายกว้างที่สุด

“เราพยายามจะติดต่อโรงเรียนต่าง ๆ อยู่ เพราะมองว่ามันเป็นสื่อการสอนที่มีประโยชน์มาก และก็กำลังเริ่มคุยกับองค์กรที่จะช่วยเชื่อมเรากับชุมชนต่าง ๆ ได้ เพราะตอนนี้เด็กเห็นของเล่นของเราแล้วเล่นได้เลย ไม่ต้องมีการติดตั้ง สถานที่ไม่ได้เป็นปัญหาต่อไป จะไปเล่นที่ลานของวัดหรือหน้าโรงเรียนก็ได้”

ส่วนถ้าใครอยากเห็นตัวต่อไซซ์ยักษ์ของจริง หรืออยากพาลูก ๆ ไปลองเล่นสนุกแบบ Unstructured Play เตรียมไปพบกับญารินดาและตัวต่อ Kitblox จำนวน 100 ชิ้นได้ที่โซน 1A: Recreate our play ในงาน ‘Relearn Festival 2024’ ของ Mappa และภาคีเครือข่าย ในวันที่ 27 – 28 มกราคม พ.ศ. 2567 เวลา 16.00 – 22.00 น. ณ มิวเซียมสยาม

Website : www.kitblox.net

Writer

ธารริน อดุลยานนท์

ธารริน อดุลยานนท์

สาวอักษรฯ ผู้หลงรักการเขียนเสมอมา และฝันอยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ด้วยสิ่งที่มี ณ จุดที่ยืนอยู่ รวมผลงานการมองโลกผ่านตัวอักษรไว้ที่เพจ RINN

Photographer

Avatar

เปมิกา เลาหสินณรงค์

Full time เภสัชกร Part time ถ่ายภาพ ชอบหาคาเฟ่สงบจิบกาแฟ และทาสแมว