กาลครั้งหนึ่ง ณ ดินแดนสวยงามนามพระนครศรีอยุธยา มีชายท่าทางใจดีคนหนึ่งใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางของเล่นล้านชิ้น ทั้งยังมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างจากผู้คนตัวเล็กทั่วดินแดนว่าเขามีดินสอวิเศษที่ทำให้วาดเขียนหนังสือภาพสำหรับเด็ก ๆ ได้ถึง 200 เล่ม

แม้ว่าต้องเป็นผู้เบิกทางขรุขระที่แทบไม่มีใครเคยเดิน

แม้ว่าในทีแรกหลายคนมองว่าชายคนนี้เป็นพ่อมดหลอกเด็ก

เขาก็ยังไม่ทิ้งดินสอวิเศษ และลงมือสร้างสรรค์นิทานเล่มแล้ว เล่มเล่า จนถึงวันที่ทุกคนเห็นว่าสิ่งที่เขาทำมีประโยชน์นับอนันต์

ถึงจะไกล 20,000 โยชน์ เราก็ตั้งใจนั่งรถม้ามาเจอเขาถึงอยุธยา เพื่อขอให้เขาเล่าเรื่องราวชีวิตมหัศจรรย์ของเขาให้ฟัง ตั้งแต่หัดเขียน ได้รางวัล Noma จากประเทศญี่ปุ่น และรางวัลอีกมากมาย สิ่งที่เขานึกคิดเกี่ยวกับวงการหนังสือภาพ ไปจนถึงสิ่งที่เขาจะลงมือทำต่อจากนี้ไป

เมื่อได้เอ่ยปากคุยกันเป็นคำแรก ก็พบว่าเขาพูดจาจังหวะจะโคนเหมือนเล่านิทานไม่มีผิด

ท่าทางก็กระดุ๊กกระดิ๊ก กระด๊อกกระแด๊ก

ขอแสดงความยินดีกับศาสตราจารย์ด้านวรรณกรรมสำหรับเด็กคนแรกของประเทศไทยที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ คนใหม่แห่ง พ.ศ. 2565

เกริก ยุ้นพันธ์

เด็กลูกชาวนา

มีฝันแกร่งกล้า

อยากเรียนครูศิลป์

จริง ๆ แล้ว อาจารย์จบด้านไหนมาคะ

จบคณะคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกศิลปศึกษา ศึกษาศาสตร์คือจบแล้วต้องไปเป็นครูสอนศิลปะ
เราเรียนสายวิทย์มาตอน ม.ศ. 4 – 5 ยุคครู ม.ศ. 4 – 5 นะ เรียน ป.7 นะ ไม่มี ป.6 แบบนี้ จบแล้วก็จะต้องไปสอบสายวิทยาศาสตร์ แต่ประเมินตัวเองแล้วว่าเราอ่อนฟิสิกส์ เคมี อย่าไปสู้รบปรบมือกับคนสายวิทยาศาสตร์ด้วยกันเลย ก็เลยเอาความรู้ที่คิดว่าพอไหวสอบสายศิลป์เข้าไปเรียนศึกษาศาสตร์

จุดเริ่มต้นอะไรที่ทำให้อยากเป็นครู

เด็กต่างจังหวัดน่ะ พอเห็นครูแล้วมีใจศรัทธา ยิ่งครูพูดเก่ง ๆ แล้วสอนแบบน้ำไหลไฟดับอย่างนี้ เรามีความรู้สึกว่า ทำไมเก่งจังเลย ทำไมพูดแล้วสมองลื่นแล้วไม่ติดขัดเลยวะ เราต้องเป็นครูแบบเขาบ้าง แล้วจะหาความรู้ใส่ตัวเยอะ ๆ จะได้พูดเชื่อมโยงและบอกคนได้แบบครู ก่อนหน้าครูก็เคยสอนน้อง ๆ 3 คนมาก่อน พอวันเสาร์-อาทิตย์เราก็ใช้ฝาบ้าน ใช้ผนังเขียนสอนการบ้าน มันอยู่ในเนื้อในตัวลึก ๆ

ส่วนที่ชอบศิลปะนี่เพราะน่าจะเห็นรายละเอียดจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว อย่างเช่น พระอาทิตย์ขึ้น พระอาทิตย์ตก ทุ่งกว้าง เพราะเป็นคนชนบท ต้นไม้เยอะ แล้วก็เกิดความสุข ซาบซึ้งที่ได้สัมผัสจากธรรมชาติ

จากที่เคยใฝ่ฝันพอได้เข้าไปเรียนจริง ๆ แล้วเป็นยังไงบ้าง

ตอนปี 1 เข้าไปเป็นนักศึกษาวิชาศึกษาศาสตร์เฉย ๆ พอปี 2 จะต้องแยกเอก เขาไม่ให้ครูเรียนศิลปะ เพราะไม่มีทักษะการวาดรูป ถ้าไปเรียนจะเกิดเป็นเด็กมีปมด้อย ครูก็ไปขอกราบกราน ในที่สุดก็ได้เรียนศิลปะแบบคนที่มีทักษะล้าหลังที่สุด เรียนรวมในวิชาเอกเดียวกันกับพวกที่มาจากเพาะช่างและช่างศิลป

งานของอาจารย์เกริกจะเหมือนเด็กวาดรูป แต่บังเอิญเรียนที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ครูก็เข้าใจเรา เพราะเขามีธรรมชาติและจิตวิทยาของความเป็นครู ประสานมิตรสมัยก่อนผลิตครูออกมาเป็นอันดับ 1 นะ

ถึงมีกำแพงก็ไม่ต้องหาบันไดมาปีนข้าม เราใช้วิชาหายตัวทะลุมิติ ข้ามมาอีกด้านได้โดยมีครูผลักดันและความสามารถทางวิชาการที่เรามีเต็มถัง

เห็นว่านอกจากวิชาเอกศิลปะ อาจารย์เรียนวิชาโทด้านการผลิตหนังสือด้วย

ใช่ แต่ไม่ใช่การผลิตหนังสือสำหรับเด็ก ตอนนั้นยังไม่มี

ครูได้เจอกับคนที่กลายเป็นนักเขียนเก่ง ๆ ในห้องเดียวกันหลายคน รู้จักคนที่เขียนเรื่อง คนทรงเจ้า กับ งู ไหม วิมล ไทรนิ่มนวล ที่ได้รางวัลซีไรต์ แล้วก็มี มาริสา พละสูรย์ ลูก อาจารย์คำหมาน คนไค ที่เขียนนวนิยายเรื่อง ครูบ้านนอก ครูเลยกลายเป็นเหมือนกับต้องประดับประดาตัวเอง ต้องมุ่งมั่น มีความรู้ในศาสตร์ที่เรียน จะได้อยู่ในกลุ่มเขาให้ได้

เริ่มรู้ตัวว่าอยากทำหนังสือเด็กเมื่อไหร่

ตอนปี 3 เรายังไม่รู้เรื่องทฤษฎีการทำหนังสือเด็กมากนัก เพราะเพิ่งเริ่มเรียน แต่ครูประทับใจครูผู้สอน คือ ท่านอาจารย์สมบูรณ์ ศิงฆมานันท์ ท่านสอนวรรณกรรมเด็กและสร้างแรงบันดาลใจให้กับครูมาก เลยท้าทายตัวเองด้วยการส่งภาพประกอบหนังสือเด็กไปประกวดรางวัล Noma ที่ญี่ปุ่นแล้วได้ 1 ใน 13 คน ของโลก 96 ประเทศ

เรื่องที่ครูเขียนคือ ชาวนาไทย พ่อแม่ครูเป็นชาวนาอยู่ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา เราก็ถ่ายทอดเหมือนอย่างที่เราได้รู้และเห็นและเข้าใจ

พ่อแม่ของอาจารย์คิดยังไงบ้างกับการเรียนศิลปะ

สมัยก่อนศิลปะยังไม่เป็นที่ยอมรับกันมากนัก คิดกันเอาเองว่านอกจากไปเขียนป้าย เขียนโปสเตอร์หนังตามโรงต่างจังหวัด เขียนฉากลิเก หรือเขียนยางกันโคลนกระเด็นท้ายรถสิบล้อ แต่พ่อแม่ครูไม่ว่าเลย พ่อแม่ตามใจ ให้โอกาส และครูก็ได้โอกาสอย่างนั้นจริง ๆ

ครูเป็นผู้เดินทางมาด้วยสิ่งที่รักและมีความสุขมาก

กี่เล่มเพียรอ่าน

สุดท้ายถึงวัน

พบทางเฉพาะตัว

ย้อนเวลากลับไป ตอนอาจารย์เด็ก ๆ ได้อ่านหนังสือเด็กบ้างไหมคะ

(ส่ายหน้า) เด็กชนบทน่ะ ไม่ได้อ่านหรอก ไม่มีหนังสือภาพ จะอ่านก็คือที่เขาเรียกว่า พ็อกเกตบุ๊ก (Pocketbook) เป็นนวนิยายหรือวรรณกรรมเยาวชน อย่าง ลูกอีสาน หรือ บึงหญ้าป่าใหญ่ ที่ทำให้โลกแช่มชื่น สว่างไสว หนังสือยิ่งใหญ่มากกับชีวิตของเรา

หนังสือภาพนี่ หลังจากได้รางวัล Noma ก็เริ่มต้นเอาจริงเอาจัง ในห้องหนังสือเด็กที่มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เขามีหนังสือที่ได้มาจากโครงการแลกเปลี่ยนจากมหาวิทยาลัย Illinois ของสหรัฐอเมริกา เราไปนั่งขัดสมาธิอ่านเลยเห็นหนังสือของคนทั่วโลกที่ทำ

ครูอ่านหนังสือเด็กวันละ 10 เล่ม 20 เล่มทุกวัน ให้มันเข้าเนื้อเข้าตัว การเรียนการสอนวรรณกรรมเด็กในเมืองไทยยังไม่มี ก็ต้องวักใส่ตัวเอง

แต่หนังสือของคนไทยยังไม่ค่อยมี

แทบจะยังไม่มี สำนักพิมพ์ก็มีสำนักพิมพ์ชมรมเด็ก สำนักพิมพ์ปาณยา แต่ทำหนังสือเด็กปีหนึ่ง 3 เล่ม 4 เล่ม เล่ม 2 เล่ม หนังสือในตลาดมันก็น้อย

สไตล์การวาดของ ชาวนาไทย ดูจะต่างจากเล่มอื่นพอสมควร

เพราะมันวาดโดยที่ยังไม่ได้มีทฤษฎีเข้ามาเกี่ยวข้อง มีแต่อารมณ์และความรู้สึกที่อยากถ่ายทอด นั่นเป็นเล่มแรกในชีวิตเลย

ถ้ามองจากสายตาตอนนี้ รู้สึกว่าชอบเล่มนี้ไหม

ชอบมาก เพราะทำแล้วจริตไปตรงกับผู้รับ ก็คือเด็ก พอเรามีความรู้ มีชั้นเชิง มีสกิลล์ เราจะทำถูกหลักทางทฤษฎีศิลปะ ปรุงแต่งให้ไปเข้าซองของทฤษฎีทางการมองเห็นที่เขาเรียกว่า จักษุสัมผัส แม้กระทั่งภาษา ชั้นเชิงก็จะสูงขึ้น เพราะเราทำทุกวัน

เล่มแรกมาด้วยความซื่อใสไง ศิลปะแบบนี้เขาเรียกกันว่า Naïve Art หรือศิลปะแบบไร้เดียงสา

เป็นครูไปด้วย ทำหนังสือไปด้วย

เรียนจบมา ตอนที่ยังไม่มีการสอบบรรจุครูก็ไปฝึกงานในสำนักพิมพ์ปาณยา พอได้เป็นครูก็เลิกทำงานสำนักพิมพ์ สุดท้ายการทำหนังสือเด็กและวาดภาพประกอบหนังสือเด็กก็เป็นอาชีพที่เก็บไว้ทำที่บ้านตอนกลางคืน เป็นงานส่วนตัว ซึ่งไม่ได้เบียดบังการทำงานครู เราไม่ได้หอบไปทำที่โรงเรียนด้วย กระทั่งมีงานออกมาเรื่อย ๆ จนเป็นเชิงประจักษ์​ ถึงขั้นมีการรับรู้กันโดยทั่วไปว่าเราทำหนังสือเด็กด้วย

พ.ศ. 2522 เป็นปีเด็กสากล มีการรณรงค์การอ่านสำหรับเด็กในเมืองไทย งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติก็มีการประกวดหนังสือเด็กด้วย โลกมันเริ่มขยายขึ้นมา และหนังสือเด็กก็กลายเป็นอาชีพหนึ่งสำหรับคนที่จะทำฟรีแลนซ์

ตอนหลังได้ทำงานกับ คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ ท่านสอนตัวต่อตัว เพราะไปนั่งทำงานที่กรมวิชาการ โต๊ะตัวเดียวกันกับท่าน ได้ทำงานหนังสือภาพของอาเซียนเรื่อง น้ำ แล้ว คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง ก็ให้คนตามแล้วไปเขียนภาพปก สตรีสาร ภาคพิเศษ ที่เป็นหนังสือเด็กสอดไส้ในสตรีสาร เราก็เขียนคำเป็นกลอนสี่ 1 บทแล้วก็วาดภาพประกอบ

อาจารย์นิลวรรณให้โอกาสมาก ไม่เคยทำให้เสียกำลังใจ ท่านเมตตาเด็กรุ่นใหม่อย่างเรา คอยสอนแบบครูนอกตำราจนเราได้วิทยายุทธที่เข้มข้น

รวม ๆ แล้วตอนนี้ทำหนังสือเด็กไปทั้งหมดกี่เล่มแล้วคะ

ถ้านับปก รวมถึงเล่มคนอื่นเขียนด้วย รวมของตัวเองด้วย น่าจะสักประมาณ 200 เล่ม

หลังจากเล่มแรกคือ ชาวนาไทย ตอนนั้นเขายังไม่ให้เป็นนักเขียนเอง สำนักพิมพ์ยังไม่เชื่อว่าคนวาดรูปกระด๊อกกระแด๊กแบบเราจะถ่ายทอดภาษาได้ แต่กลับดีซะอีก เรากลับได้อ่านเรื่องของคนอื่นที่เข้าฝักแล้ว เราได้เรียนรู้กลวิธีหลายหลาย พอถึงเวลาเราก็มีลักษณะเฉพาะเป็นของตัวเองอีกแบบหนึ่ง เหมือนหนังจีนเลย เราไปเรียนกับครูคนนั้นคนนี้ ในที่สุดกำลังภายในของเราก็แก่กล้า จนกระทั่งประดาบกับคนเก่ง ๆ ได้

เล่มโปรดเล่มที่ 2 ที่ไม่ยิ่งหย่อนกว่า ชาวนาไทย คือ คุณลุงชอบปลูกต้นไม้ ได้รางวัล IBBY (International Board on Books for Young People) ปี 2008 ซึ่งถือเป็นรางวัลคนทำหนังสือเด็กของโลกเลย

นานาวิธี

ต้องเปลี่ยนทุกปี

ดินสอจึงวิเศษ

อาจารย์คิดว่าเนื้อหาแบบไหนที่ควรนำเสนอให้เด็กคะ

ถ้าอดีตน่ะสำคัญที่สุด คือความดี ความงาม ความรัก ความอบอุ่น

แต่ถ้าสำหรับเด็กในปัจจุบัน การรู้จักตัวตนและความพึงพอใจในตัวเองเนี่ยสำคัญ เราไม่ต้องคาดหวังว่าเราอยากเป็นอย่างเขา เพราะเราไม่รู้หรอกว่าถ้าเป็นอย่างเขา เราจะเป็นยังไง และเส้นทางกว่าที่เขาจะมาถึงจุดนั้นเป็นยังไง ส่วนมากเราจะเด็ดแต่ยอดชากันน่ะ ไม่รู้หรอกว่ากระบวนการที่จะทำให้ชาบนภูเขากลายเป็นชาชั้นเยี่ยมของของคนทั้งโลกที่ชื่นชอบ

ดังนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน เราต้องรู้จักตัวเอง แล้วประดับประดาตัวเองให้เป็นคนที่อยู่กับการปรับเปลี่ยนที่เดินหน้าของกระแสโลกให้ได้

ทำไมเนื้อหาถึงควรเปลี่ยน

โลกมันเปลี่ยนไปแล้วไง

สมัยก่อนตอนอาจารย์เกริกเป็นเด็ก เราโทรศัพท์หาคนที่อยู่ต่างประเทศ ต้องรอเวลา 2 ทุ่มไปแล้ว เพราะราคามันถูก แล้วต้องมารอกันที่ตู้โทรศัพท์แล้วก็โทรไปถึงติดต่อกันได้ แต่ถ้าสมัยนี้ เธออยากคุยเดี๋ยวนี้เธอก็คุยได้เลย ไม่ต้องเสียตังค์ด้วย เห็นหน้ากันด้วย มันเปลี่ยนขนาดนี้แล้วอะ ดังนั้นไอ้แนวความคิดรูปยอดที่จะปลูกฝังลงไป คุณต้องพัฒนาให้ทันกัน

กลวิธีการนำเสนอก็ควรต้องเปลี่ยนไป สมัยก่อนอาจใช้ภาษาสวย สละสลวย เยิ่นเย้อ แต่ดูเราพิมพ์หากันสมัยนี้สิ สั้น ง่าย ชัด มันเปลี่ยนไปแล้ว ดังนั้นสำหรับคนรุ่นใหม่ เธอต้องกระชับและชัดเจน

แก่ปูนนี้แล้วเราก็ควรเป็นผู้ที่นำคนรุ่นหลังให้เห็นโลกทัศน์ในสิ่งที่พึงเป็น เราเป็นครูด้วย เราจะเป็นผู้ที่ช้าและล้าหลังไม่ได้

ระหว่างการจบปลายเปิด กับการจบแบบ นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า… แบบไหนดีกว่า

ดีทั้งคู่ ตอนเราเป็นครูนักศึกษา ไอ้ทฤษฎีทางการนำเสนอกับเด็กเนี่ย เขาจะนิยมการจบปลายเปิด ไม่ควรมี นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

แต่ถ้าเป็นมุมมองของอาจารย์เกริกนะ ทุกวันนี้เขายังบอกกันว่าควรเป็นปลายเปิดให้เด็กเดินทางเอง เหมือนหนังฝรั่งในตอนจบ เราออกมาแล้วยังคาสมองอยู่เลยว่าพระเอกมันถูกผลักลงไปบนสะพานแล้วมันตกน้ำไป สูงขนาดนั้น มันรอดไหมวะ นั่นคือปลายเปิดเพื่อให้คนคิดติดตัวไป ส่วนนิทานอีสป จบแล้วเขาสรุปให้เลย อัตตา หิ อัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน ถ้าสรุปแบบนี้ เธอไม่ต้องไปฟุ้งซ่านเลยว่าเขาจะบอกอะไรเรา

ปลายเปิดและปลายปิด ดี 100% ทั้งคู่ ไม่มีอันไหนเสียหาย เพียงแต่เราจะมีวิธีการนำเสนอเรื่องอย่างไรให้สนุก เข้าถึงในอารมณ์และความรู้สึกในจิตใจของผู้อ่านซึ่งเป็นเด็ก

ถ้านับดู เรื่องที่อาจารย์เกริกเขียนมาเป็นแบบไหนมากกว่า

เฉลี่ยแล้วเท่า ๆ กันทั้งคู่

เราเป็นครู เราอยากบอกอะไร เราบอกแบบนั้น เราไม่ต้องทำหนังสือวิเศษ แต่ทำหนังสือที่มีคำดึงดูด คำคล้องจอง หรือบทกวีง่าย ๆ สำหรับเด็ก ถ้าเครื่องส่งมันเหมือนกับเครื่องรับจะจูนคลื่นได้เร็ว ถ้าเราทำงานเหมือนอย่างเด็ก ภาษาเหมือนอย่างเด็ก วาดภาพเหมือนอย่างเด็ก คนรับอย่างเด็กก็ไม่ต้องมาตีความซับซ้อนหรือต้องมาอธิบายอะไรอีก ครูก็ใช้เป็น เด็กอ่านก็เข้าใจเลย นี่คือสิ่งที่อาจารย์เกริกถ่ายทอด

ใคร ๆ ก็ยกย่องว่างานยาก ๆ ลึกลับซับซ้อนมันวิเศษมากเลยนะ แต่นั่นคือการใช้บรรทัดฐานของผู้ใหญ่ไปตัดสิน แต่ถ้าเราทำเพื่อเด็ก เราต้องให้เด็กตัดสิน

ถ้าเทียบกับตอนที่อาจารย์เกริกเพิ่งเข้าวงการ หนังสือเด็กเมืองไทยตอนนี้มีวิวัฒนาการอย่างไรบ้างคะ

พูดให้มองเห็นภาพนะ มันไม่ได้แค่พายเรือข้ามน้ำเฉย ๆ แต่หนังสือเด็กเมืองไทยมันเหมือนเราโยกตัวแล้วกระโดดข้ามบ่อ กลายเป็นหนังสือที่ทันสมัยเทียบเท่าต่างประเทศ ตั้งแต่ราว ๆ พ.ศ. 2540

เพราะเมืองไทยมีร้าน Asia Books กับ Kinokuniya สมมติว่าสำนักพิมพ์ Fukuinkan หรือสำนักพิมพ์ในสหรัฐอเมริกา-อังกฤษ พิมพ์หนังสือเด็กออกมา เดี๋ยวร้านหนังสือเหล่านี้ก็มีวางแผงเหมือนกับเมืองนอกแล้ว ร้านหนังสือทำให้เราหูตากว้าง เห็นการวาดภาพประกอบที่หลากหลาย คนทำหนังสือก็เรียนรู้ได้เร็ว ประหนึ่งว่าสักวันหนึ่งจะต้องเก่งอย่าง Eric Carle, Mitsumasa Anno, Oliver Jeffers หรือ Brian Wildsmith

อาจารย์มีส่วนร่วมอะไรกับเทศกาลหนังสือภาพสำหรับเด็กครั้งนี้บ้าง

วาดโปสเตอร์… โดยที่ยังไม่รู้จักคนจัด เขาขอมาเราก็มีใจอยากทำให้ เราจะได้ทำให้เห็นว่า ข้าราชการที่เกษียณไปแล้วก็ยังทำงานเป็นเชิงประจักษ์ให้เห็นอยู่ ไม่ใช่เลิกแล้วเลิกเลย มันจะกลายเป็นคนล้าหลังทันที เราจะต้องรีเช็กตัวเองทุกวัน

เทศกาลแบบนี้จะทำให้คนในแวดวงสร้างงานให้กับเด็กยกระดับขึ้น ทำตัวเองให้เข้มพร้อมเป็นผู้เล่น จากที่เห็นมาในสื่อ ครูให้การนับถือคนที่มาเข้าร่วมทุกคน เพราะเป็นผู้เข้าใจในการนำเสนอเพื่อให้คุณภาพแก่เด็ก

คนแบบไหนที่เหมาะกับการทำหนังสือเด็ก

คนที่ธรรมชาติเหมือนเด็ก คิดอย่างเด็ก โลกทัศน์คล้ายเด็ก แต่มีความซับซ้อนและมีความรู้ในตรรกะก็ดี ในวิชาการรอบด้านก็ดี จิตวิทยาการพัฒนาการของเด็กก็ดี และสร้างสรรค์เด็กได้ดี คุณต้องมีลิ้นชักที่พร้อมดึงมาใช้ ดึงลิ้นชักนี้ ดึงลิ้นชักนั้น แล้วเอามาประมวล

คุณต้องมีใจรักและทุ่มเทในสิ่งที่คุณอยากพัฒนา เพราะโลกพวกนี้เป็นโลกที่ซับซ้อน ละเอียดลออ ทำแบบผ่าน ๆ ลวก ๆ สุกเอาเผากินไม่ได้ ต้องตั้งใจ แล้วสิ่งนั้นจะไปถึงเด็กได้จริง ๆ

ส่วนกลวิธีการเป็นนักเขียน-นักวาดภาพประกอบ ถ้าทำไปเรื่อย ๆ แล้วคุณจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเอง มันไม่ง่ายเลยนะ แต่อย่าท้อ ถ้าคุณทนเหนื่อยและคุณทำมันจริงจัง แล้วสักวันหนึ่งคุณเป็นคนที่ได้รับการยอมรับในแวดวง และคุณจะรู้เลยว่าสิ่งที่เราทุ่มเทนำทางมันเป็นเรื่องดี สร้างเนื้อนาบุญกับสังคม

แล้วความอดทน

ก็ออกดอกผล

‘ศิลปินแห่งชาติ’

ทุกวันนี้ทำอะไรอยู่บ้างคะ

ตอนนี้เป็นข้าราชการเกษียณ กินบำนาญ แต่ทำพิพิธภัณฑ์ล้านของเล่น ทำหนังสือสำหรับเด็กปีละเล่ม 2 เล่มให้กับสำนักพิมพ์ แล้วก็วาดภาพแมว

นี่ก็เพิ่งส่งต้นฉบับไปเมื่อสัปดาห์ก่อน กำลังกำลังทำรูปแล้ว ชื่อเรื่องว่า ต้นไม้ใหญ่ของลุงใจ

ครูชอบเขียนเกี่ยวกับ ‘ยายเช้า’ ถ้าเธอเคยเห็นเรื่อง กระดุ๊กกระดิ๊กกระด๊อกกระแด๊ก และเล่มอื่น ๆ นะ พอได้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ยายเช้าจะเปลี่ยนบุคลิก เสื้อที่เป็นสีขาว ติดกระดุมตรงคอ อาจเปลี่ยนไปใส่เสื้อสีแดง ฟ้า เขียว ส่วนกระโปรงจะเป็นลายจุดสีลูกกวาด เหมือนขนมหลอด ๆ ที่เรากินกัน

ไม่แน่หนังสือเด็กอาจมีใครมาทำเป็นงานวิจัยก็ได้ ครูเลยทำให้เห็นพีเรียดของงานชัดเจน เมื่อถึงเวลานั้นจะได้ไม่ต้องเถียงกัน เห็นบุคลิกยายเช้าเปลี่ยนไปก็รู้เลยว่าอันนี้ต้องหลัง พ.ศ. 2566 ที่ได้ศิลปินแห่งชาติและทำงานจนสุกงอมแล้ว

อาจารย์รู้สึกยังไงบ้างที่ได้เป็นศิลปินแห่งชาติในคราวนี้

แอบดีใจ (ผู้เขียน : แอบด้วยเหรอ)

จริง ๆ ดีใจที่สุดในจักรวาลแล้ว ใครจะไปคิดว่าคนทำหนังสือเด็กได้รับการตอบรับให้เป็นศิลปินแห่งชาติ เธอก็ไม่คิด ครูก็ไม่คิด แต่เขาให้โอกาส ทำให้ครูรู้สึกว่าตัวเองเป็น Pilot Project นำร่องให้คนทำหนังสือเด็กในวันข้างหน้า ซึ่งเขาต้องทำด้วยความเข้มแข็ง มีคุณภาพสูง และยอดเยี่ยมกว่านี้อีกเยอะแยะเลย

ทำไมถึงไม่คิดว่าคนทำหนังสือเด็กจะได้ศิลปินแห่งชาติ

ถ้าเป็นทั่ว ๆ ไป หนังสือเด็กควรได้ แล้วคนจะยกย่องมาก แต่ในเมืองไทย คนทำหนังสือเด็กไม่ได้ทำอย่างยืนยงคงกระพัน แต่ทำให้เห็นว่าเก่งมาก แล้วก็จากไปทำอย่างอื่น แต่มันคงเป็นสิ่งที่ครูลงเล่นจริง ๆ และพัฒนาต่อเนื่องจนกระทั่งเป็นปัจจุบัน

มันมหัศจรรย์ไง! มันไม่น่าจะต้องเป็นครู น่าจะมีก่อนครู หรือให้บ่มต่อไปแล้วมีคนรุ่นหลังเป็นเหล็กกล้า พอเขาให้ความสำคัญกับเรา เลยรู้สึกว่าโลกนี้มันสว่างไสว ไม่ใช่ว่าเขามองข้าม

ต้องใช้คำว่า ชีวิตได้รับสิ่งที่เป็นมหัศจรรย์

ตลอดเส้นทางการทำหนังสือเด็กที่ผ่านมา เคยมีใครมาดูถูกบ้างไหมคะ

มีมากมาย ร้องไห้มาตลอด

ทำหนังสือเด็กก็ได้รับการตอบรับจากแวดวงดีในระดับหนึ่ง แต่นอกวง… บางคนก็พูดว่าเราเขียนหนังสือหลอกเด็ก แต่ถ้ามองอีกนัยหนึ่งก็เหมือนว่าเขาหยอกเรา แต่การหยอกของเขามันเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้เราเอาชนะคำพูดนั้น ครูเลยทำเต็มที่อย่างที่เธอเห็น จนกระทั่งมาถึงจุดที่หายเหนื่อยเพราะได้รับรางวัลชีวิต

ลูกศิษย์ที่เรียนวรรณกรรมเด็กมักมาฟ้องเสมอว่าวันรวมญาติชอบได้ยินว่า ถามจริง ๆ ทำไมไม่ไปเรียนวิชาอื่นที่น่าเรียน เรียนทำหนังสือเด็กจบแล้วลื้อจะไปทำอะไรกิน ไปเรียนพาณิชย์ยังดีกว่า จบมามีอาชีพแน่ ๆ คนเขายังไม่เข้าใจนะ เพราะมันเป็นสิ่งใหม่ เหมือนกับการที่เธอเริ่มเรียนกฎหมาย แล้วยังไม่มีรุ่นพี่ที่เป็นนักกฎหมาย มันก็วังเวงนะ

แต่พอมาถึงเวลานี้ หนังสือเด็กเริ่มเป็นที่ยอมรับ บางคนไปทำโรงเรียนอนุบาลแล้วประสบความสำเร็จก็มี เพราะเขามาถูกทาง

ไม่มีอะไรสวยหรูหรือโรยด้วยกลีบกุหลาบ ถ้าทนโลกภายนอกที่คอยเสียดสีเราได้ เธอจะมีสิทธิ์เดินขึ้นบันไดไปสูดโอโซนบนขั้นสูงสุด

ความหวังต่อไปในวงการหนังสือภาพสำหรับเด็ก

มันจะมีอะไรแปลก ๆ กว่านี้อีกเยอะ ครูรู้เลย

ในช่วง พ.ศ. 2540 มาจนถึง พ.ศ. 2566 เนี่ย โลกของหนังสือมีความแตกต่างกันทุกสำนักพิมพ์ มีทั้งที่เนี้ยบจัด กับสิ่งที่เป็นปลายเปิดจ๋า สิ่งที่เป็นคอนเซอร์เวทีฟชัดเจน มีทุกอย่างให้เลือกบริโภค ดังนั้น ถ้าเรามีลูกมีหลาน ควรให้เด็กได้ประดับประดาความหลากหลาย และเด็กจะเติบโตเป็นผู้ที่มีศักยภาพของความคิด ความรู้ และจินตนาการที่กว้างใหญ่ไพศาล

Writer

พู่กัน เรืองเวส

พู่กัน เรืองเวส

อดีตนักเรียนสถาปัตย์ สนใจใคร่รู้เรื่องผู้คนและรูปแบบการใช้ชีวิตอันหลากหลาย ชอบลองทำสิ่งแปลกใหม่ พอ ๆ กับที่ชอบนอนนิ่ง ๆ อยู่บ้าน

Photographer

Avatar

กษิดิศ พันธารีย์

ช่างภาพอิสระที่คลั่งไคล้ญี่ปุ่น ฟุตบอล หนังสือ คาเฟ่ และ ลาเต้เย็น